ในจำนวน "จิราธิวัฒน์" รุ่นที่ 3 ซึ่ง เป็นกำลังสำคัญของเครือเซ็นทรัลในขณะนี้
ทศ จิราธิวัฒน์ เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทค่อนข้างจะโดดเด่นกว่าคนในรุ่นเดียวกัน
ปัจจุบันทศมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทเซ็นทรัล
รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) บริษัทแกนนำของกลุ่มค้าปลีก เขาเป็นหลานชายที่สุทธิชาติ
จิรา ธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร CRC ไว้วาง ใจมอบหมายให้รับผิดชอบงานในสายปฏิบัติการทั้งหมดของกลุ่มนี้
"เขาเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อว่าทุกอย่างในโลกไม่มีสิ่งใดที่ไม่สามารถทำได้
ถ้ามีความพยายาม และกล้าแสดงความ คิดเห็น จนบางครั้งดูเหมือนจะเป็นคนที่
ag-gressive" คนที่รู้จักทศ อธิบายบุคลิกของเขากับ "ผู้จัดการ"
ทศเป็นลูกชายคนเล็กของสัมฤทธิ์ จิรา ธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งเครือเซ็นทรัล
เขาจบ MBA สาขาการเงิน จากมหา วิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี
2531 หลังจากกลับมาเมืองไทย ได้เข้าทำงานเป็นวาณิชธนากรให้กับธนาคารซิตี้แบงก์
สาขาประเทศไทย อยู่ 1 ปี ก่อนที่จะลาออกเพื่อมาทำงานให้กับธุรกิจของครอบครัว
เซ็นทรัลในยุคที่ทศเริ่มเข้ามาทำงานนั้น อยู่ในช่วงของการขยายตัวด้านอสังหาริมทรัพย์
กำลังมีการก่อสร้างศูนย์การค้าเพิ่มขึ้นหลายแห่ง อาทิ เซ็นทรัล บางนา, เซ็นทรัล
ปิ่นเกล้า, เซ็นทรัล พระราม 3 ฯลฯ เพื่อสร้างจุดขายใหม่ๆ ให้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล
ความรับผิดชอบแรกที่เขาได้รับมอบหมายจากผู้เป็นพ่อ คือการเป็น Project
Ma-nager ของโครงการก่อสร้างต่างๆ ทำหน้าที่ประสานงานกับทุกฝ่าย เพื่อให้การก่อสร้างของแต่ละโครงการประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
ปี 2535 มีการจัดโครงสร้างธุรกิจในเครือของเซ็นทรัลใหม่ทั้งหมด โดยแบ่งกลุ่มการบริหารกันอย่างชัดเจน
ประกอบด้วยกลุ่ม Retail, Hotels, Property, Manufacturing, Whole-sale และ
Food Franchises
กลุ่มค้าปลีก (Retail) มีการแต่งตั้งสุทธิชาติเป็นประธาน หลังจากนั้น 1
ปี ทศถูก ย้ายเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้
ในปีแรกที่ทศย้ายเข้ามา กลุ่มค้าปลีกได้มีการประกาศแผนยุทธศาสตร์เชิงรุกออกมา
เป็นครั้งแรก โดยมีการแบ่งธุรกิจในกลุ่มออกเป็น segment ต่างๆ อย่างชัดเจน
ซึ่งหมาย ความว่าธุรกิจของกลุ่มในช่วง 3-5 ปี หลังจาก นั้น จะเจาะจงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น
แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ปรากฏ ออกมาเป็นรูปธรรมโดยการเปิดบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ขึ้นในปีต่อมา
ซึ่งนับเป็นโฉมใหม่ของ ธุรกิจค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล จากเดิมที่เน้นจุดขายหลักอยู่ในห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว
ทศมีส่วนอย่างมากในการผลักดันแนวคิดการทำบิ๊กซี และเป็นผู้ที่อาสาเข้าไปรับผิดชอบโครงการนี้ตั้งแต่ต้น
"ตอนนั้นเราคุยกัน แล้วก็มองว่าซูเปอร์ เซ็นเตอร์ ต้องเป็นแนวโน้มใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยว่าเป็น direction ที่ถูกต้อง ผมเลยบอกว่าถ้างั้นผมทำเอง
ก็ออกมาตั้งบิ๊กซี ตอนนั้นมีผมกับเลขาเพียง 2 คน เริ่มจากศูนย์" ทศเล่ากับ
"ผู้จัดการ"
ความที่ทศเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเอง เวลาประชุมระดับนโยบายแต่ละครั้ง
แม้เขาจะมีความอาวุโสน้อยกว่า แต่กลับกล้าแสดง ความคิดเห็นมากกว่าคนอื่น
ขณะเดียวกัน คน ในตระกูลจิราธิวัฒน์ รุ่นที่ 2 ก็มีข้อดีอยู่ประการหนึ่งคือ
เป็นคนเปิด พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ซึ่งจุดนี้ ได้สร้างความ
โดดเด่นให้กับทศเป็นอย่างมาก เพราะเขาสามารถผลักดันให้ CRC มีรูปแบบการค้าปลีก
ใหม่ๆ อีกหลายรูปแบบเกิดขึ้นตามมาใน ภายหลัง
ช่วงระหว่างปี 2537-2539 จัดว่าเป็นช่วงที่ธุรกิจค้าปลีกของเครือเซ็นทรัล
มีอัตราการขยายตัวสูงมาก มีการแยกแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องกีฬาออกมาเป็นบริษัทใหม่
คือ Power Buy และ Supersports มีการแยกแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต ออกมาโดยร่วมทุนกับ
Royal Ahold จากเนเธอร์แลนด์ เปิดเป็นร้าน Tops ตลอดจนการร่วมทุนกับกลุ่ม
Carrefour จัดตั้งบริษัทเซ็นคาร์เพื่อเปิดเป็นซูเปอร์เซ็นเตอร์ ขึ้นมาอีกแบรนด์หนึ่ง
ฯลฯ
ขณะเดียวกันธุรกิจดั้งเดิมคือห้างสรรพสินค้า ก็มีการควบกิจการกับห้างโรบินสัน
เพื่อแบ่งแยกตลาดให้ชัดเจนขึ้น
"เป้าหมายของเราช่วงนั้น ไม่ใช่ต้องการแค่เป็นอันดับ 1 ของห้างสรรพสินค้า
แต่ต้องการเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจค้าปลีก"
ผลของการขยายตัวอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ยอดขายรวมของกลุ่มค้าปลีกเพิ่มสูงขึ้นจากปีละ
10,000 ล้านบาท เป็นเกือบ 70,000 ล้านบาท ก่อนที่จะเกิดวิกฤติค่าเงินบาทในปี
2540 ซึ่งส่งผลกระทบกระเทือนไปยังทุกภาคธุรกิจ
ผลพวงจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ส่งผลทำให้ เครือเซ็นทรัลเกือบทั้งกลุ่ม ต้องชะลอโครงการ
ทั้งหมดลง แล้วหยุดดูตัวเอง เพื่อจัดบ้านใหม่
ในกลุ่มค้าปลีก ปัญหาหนักตกอยู่ที่โรบินสัน ซึ่งมีภาระหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ
สูงถึง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับบิ๊กซี ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุน
ขยายสาขา แต่ในช่วงนั้นธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งระงับการให้สินเชื่อ
"บิ๊กซีเองขณะนั้นปัญหาไม่ได้รุนแรง แต่ก็ซีเรียสเพราะเราเองก็มีเงินดอลลาร์พอสมควร
เราไม่เคยผิดนัดจ่ายดอกเบี้ยแบงก์ เราจ่ายตลอด แต่ทุกคนรู้ว่าความไม่แน่นอนมันสูงมากๆ
ไม่รู้ว่าเงินบาทจะตกไปเท่าไร ดอกเบี้ยจะขึ้นไปถึง 20-30% หรือไม่ มันเป็นช่วงที่แย่มากเราทำงานไม่ได้
เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตมันคืออะไร ถ้าเราอยู่ในสภาพแบบนี้อีก 5 ปีข้างหน้าเราก็ไปไหนไม่ได้
เราไม่เจ๊งแต่เรา ไม่โต คือเรายังอยู่ได้จ่ายหนี้ได้ เราไม่มีปัญหา แต่เราโตไม่ได้เพราะเราไม่มีเงินแล้ว"
เขาเล่า
ทศได้รับมอบหมายจากสุทธิชาติให้เป็นแกนนำในการปรับโครงสร้างทางการเงินให้กับโรบินสัน
และบิ๊กซี
เหตุผลที่สุทธิชาติเลือกทศ เพราะนอกจากจะมีพื้นฐานความรู้ทางด้านการเงิน
และรู้เรื่องในกลุ่มค้าปลีกดีที่สุดผู้หนึ่งแล้ว ยังเห็นว่าเขาเป็นคนที่มีความสามารถในการประสานงาน และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาของกลุ่มในขณะนั้น
คุณสมบัติทั้ง 2 ข้อ ทศเริ่มสั่งสมมาตั้งแต่ทำงานเป็น Project Manager
ให้กับการก่อสร้างในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ในช่วงที่เริ่มเข้ามาทำงานในเครือเซ็นทรัลใหม่ๆ
แนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มค้าปลีกในช่วงนั้น จำเป็นต้องหาผู้ร่วมทุน
หรือต้องขายหุ้นที่ถืออยู่บางส่วนออกไป เพื่อนำเงินใหม่เข้ามาใส่ให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
ทศได้เป็นแกนนำในการเจรจาขายหุ้นในส่วนที่ CRC ถืออยู่ในบริษัทเซ็นคาร์คืน
ให้กับกลุ่ม Carrefour พร้อมทั้งการเจรจาเพื่อดึงกลุ่ม Casino เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบิ๊กซี
แทน CRC ตลอดจนการเจรจาเพื่อนำหุ้นที่ CRC ถืออยู่ใน Tops ไปจำนำไว้กับ Royal
Ahold
ซึ่งกรณีหลัง ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาให้กับ CRC แต่เป็นการทำให้กับเครือเซ็นทรัลทั้งกลุ่ม
ซึ่งกำลังต้องการเงิน และอยู่ระหว่างการเลือกที่จะขายหุ้นในบริษัทใดบริษัทหนึ่งออกไป
ซึ่งในที่สุดก็ได้ตัดสินใจเลือกที่จะขาย Tops
"ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไร คิดว่าเอาให้เราอยู่ได้เสียก่อน แล้วมาสร้างใหม่ตอนหลังก็ได้"
เขาบอกความรู้สึก
ปัจจุบันปัญหาทางการเงินของ CRC และเซ็นทรัลกรุ๊ปได้คลี่คลายลงจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว
แต่กว่าจะคลี่คลายลงมาได้จน ถึงระดับนี้ CRC ต้องปิดบริษัทปลีกย่อยที่เปิดขึ้นมาเพื่อทำกิจการเล็กๆ น้อยไปจำนวนมาก เช่น ร้านหนังสือ ร้านเฟอร์นิเจอร์
ฯลฯ และลดสัดส่วนการถือหุ้นลงในหลายบริษัทลง คงเหลือไว้เพียงบริษัทหลักๆ
เท่านั้น
ขณะเดียวกัน ก็ถึงเวลาของธุรกิจที่เหลือต้องรุกเดินหน้าต่อไป พร้อมกับการวางแผนขยายตัว
แต่แนวทางขยายธุรกิจในช่วงหลังจากนี้ ยิ่งต้องเจาะลึกลงไปถึงลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
ร้าน Homeworks, B2S และ Just 25 คือ ตัวอย่างร้านค้าซึ่งกำลังเริ่มเปิดตัวขึ้นมา
และมีแนวโน้มว่าจะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของ CRC ในอนาคต
รูปแบบร้านค้าเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นจากแนวคิดสร้างสรรค์ และการผลักดันของทศ
"เราต้องมองว่าธุรกิจไหน ตลาดอะไรที่มันใหญ่และมีช่องทางที่โมเดิร์นเทรดจะเข้าไปได้ ตรงนั้นจะเป็นประเด็นหลัก ซึ่งเราก็มองว่าใน 4 ตลาด คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า
เครื่องกีฬา เครื่องเขียนและหนังสือ และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นตลาดน่าสนใจและมีช่องทาง และเรามีจุดแข็งพอที่จะเจาะเข้าไปได้"
การคิดค้นรูปแบบร้านค้าเหล่านี้ขึ้นมา นอกจากจะเป็นการเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการขยายสาขา เพราะร้านค้าแต่ละร้าน
ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมากเหมือนกับการสร้างห้างสรรพสินค้า ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องผูกติดการขยายตัวไว้กับห้างสรรพสินค้า
หรือศูนย์การค้า ซึ่งต้องอาศัยบริษัทเซ็นทรัลพัฒนาเป็นหัวหอกหลักในการก่อสร้างเหมือนเช่นในอดีต
เพราะร้านค้ารูปแบบใหม่นั้น สามารถเปิดได้ในทุกที่
นอกจากนี้ CRC ยังได้เปิดบริษัทเซ็นทรัล ออนไลน์ เพื่อทำธุรกิจซื้อขายสินค้าผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตขึ้น
เพื่อเตรียมรองรับการขยายตัวของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในอนาคต
มีการวิเคราะห์กันว่า ความโดดเด่นในตัวของทศ เกิดขึ้นจากหลายองค์ประกอบ
องค์ประกอบสำคัญคือบุคลิกส่วนตัวของเขา ที่เป็นคนมีความเชื่อมั่น มีความจริงจังกับงานที่รับผิดชอบ
และเป็นคนที่ชอบคิดจินตนาการถึงสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น และกล้านำเสนอแนวคิดของตนเองต่อผู้อื่นที่มีอำนาจในการตัดสินใจ
ที่สำคัญคือเขาได้รับการสนับสนุนจากผู้หลักผู้ใหญ่หลายคนในตระกูลจิราธิวัฒน์
ขณะนี้ ทศยังมีอายุไม่ถึง 40 ปี แต่จากบทบาทที่เขาได้ทำมาในช่วงก่อนนี้
น่าจะชี้สัญญาณบางอย่างให้เห็นได้แล้วว่าอนาคตเส้นทางเดินในธุรกิจในเครือเซ็นทรัล
ของลูกชายคนเล็กของสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ผู้นี้ จะเป็นอย่างไร