บุญชัย รับสืบทอดกิจการของครอบครัวในฐานะของลูกชายคนโต ทำให้เขา
ทำหน้าที่และรักษาบทบาทนี้อย่างเข้มข้น และบทบาทนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว
แต่พื้นฐานความเป็นผู้นำครอบครัว ที่หล่อหลอมให้เขามีวันนี้
บทบาทความเป็น "พี่ใหญ่" ของบุญชัย ที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตระกูลเบญจรงคกุล
ที่มีกฎระเบียบ กติกา ของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ สามารถสะท้อนได้จากรูปแบบครอบครัว
"บ้าน" ที่อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ บนเนื้อที่ 5 ไร่ ในซอยวิภาวดี
64 เป็นที่ดินที่ซื้อต่อมาจาก ดร.ประกอบ จิรกิติ น้องเขย สามีของวรรณา น้องสาวคนเล็ก
เป็นความตั้งใจที่ต้องการให้พี่น้องทั้งหมดอยู่รวมกัน
บุญชัย แม่ และน้องๆ รวม 4 ครอบครัว ย้ายเข้ามาอยู่ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ซึ่งเป็นช่วงก่อนหน้าวิกฤติเศรษฐกิจเริ่มขึ้นไม่นาน
บ้านหลังที่บุญชัยอยู่ในปัจจุบัน เป็นบ้านเดิมของแม่ ที่ปลูกสร้างอยู่ใจกลางของบริเวณที่ดิน
และใช้พื้นที่มากกว่าหลังอื่นๆ ตั้งใจให้เป็นศูนย์กลางของครอบครัว
โอบล้อมด้วยบ้านของสมชาย ลูกชายคนรองอยู่ด้านซ้าย และด้านขวาเป็นบ้านของวรรณา
และสามี น้องสาว ถัดไปเป็นบ้านของวิชัย น้องชายที่เยื้องไปด้านหลัง
ภาพรวมของบ้านภายใต้อาณาเขต แม้จะบ่งบอกถึงฐานะที่มั่งมี แต่ไม่มุ่งเน้นเรื่องความหรูหรา
ที่ต้องปลูกสร้างสไตล์ตะวันตก แต่เป็นสไตล์ที่เรียบง่าย ที่ออกแบบมาอย่างดี
มีพื้นที่ใช้สอยส่วนกลาง ที่ใช้ร่วมกัน และใช้เป็นประจำคือ สระว่ายน้ำ ที่อยู่ใจกลาง
บ้านที่ปลูกสำหรับแม่ เป็นศูนย์กลางที่จะมีลูกๆ และหลาน แวะเวียนมาพักอยู่ร่วมกันในบ้านหลังนี้อยู่เสมอ
จะปลูกอยู่ใจกลางของพื้นที่ เพื่อที่จะมองเห็นอาณาบริเวณทั้งหมด
เดิมทีบุญชัยจะปลูกบ้านเป็นของตัวเอง เป็นเนื้อที่เล็กๆ อยู่ท้ายสุดพื้นที่ด้านหลัง
แต่ไม่ทันสร้าง แม่ก็มาเสียชีวิตลง บุญชัยจึงย้ายมาอยู่ในบ้านหลังนี้แทน
เพื่อทำหน้าที่เป็น "พี่ใหญ่" ของครอบครัวแทนแม่ ที่เป็นผู้นำที่เข้มแข็ง
และเสียสละ
"แม่เคยทำหน้าที่เหล่านี้ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคงของครอบครัว
แม่ต้องออกมารับหน้าก่อนใคร แม่เคยเป็นคนคนนั้น" บุญชัยเล่าถึงความเป็นผู้นำของแม่
ซึ่งเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลทางความคิดของการเป็นผู้นำ และผู้ที่บ่มเพาะความรู้ด้านธุรกิจแก่เขา
และสิ่งที่มาพร้อมกับการเป็นผู้นำครอบครัว ที่ต้องอาศัยความเข้มแข็งและเสียสละ
ก็คือ การตัดสินใจของบุญชัยในฐานะผู้นำ ที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องว่าตามกัน
การอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ นับเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัวเบญจรงคกุล
ซึ่งเหมือนกับครอบครัวธุรกิจขนาดใหญ่เชื้อสายจีนของเมืองไทย แต่สำหรับ
บุญชัยแล้ว นี่คือ กฎระเบียบของครอบครัว ที่จะมีผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจ
จำเป็นต้องอาศัยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงหลายครั้งของกลุ่มยูคอม ที่ผ่านช่วง
หัวเลี้ยวหัวต่อ ในหลายเหตุการณ์สำคัญ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา
จำเป็นต้องอาศัยการตัดสินใจที่เด็ดขาด
จึงไม่มีเรื่องความขัดแย้งของครอบครัวมาเป็นอุปสรรค
"ผมค่อนข้างโชคดี ที่ครอบครัวอยู่กันอย่างมีระเบียบ"
บุญชัยไม่ได้สะท้อนความเป็นพี่ใหญ่ภายในครอบครัวเท่านั้น ทุกวันนี้เขาได้กลายเป็น
"พี่ใหญ่" ของเด็กๆ ในโครงการสำนึกรักบ้านเกิด เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเพื่อสังคม
ที่กำลังดำเนินไป
อย่างเข้มข้น เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกลไกในการเกิดโมเดล
ทางธุรกิจใหม่ ที่จะเกื้อกูลโดยตรงกับธุรกิจ ที่ต้องอาศัยเวลา และความเข้าใจ
ที่มาคำว่าพี่ใหญ่ เป็นคำที่เขาคิดได้ในวันหนึ่ง ขณะที่เขาต้องกล่าวกับนักเรียนในพิธีเปิดงานโครงการรักบ้านเกิด
เพื่อให้ทุนแก่เด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาส ตั้งแต่ประถม เพื่อให้กลับไปทำงานพัฒนาท้องถิ่น
ในโรงเรียนต่างจังหวัดแห่งหนึ่งเป็นครั้งแรก
บุญชัยเลือกถ่ายทอดประสบการณ์ของธุรกิจที่เคยผ่านทั้งความสำเร็จ จนถึงจุดสูงสูด
และผ่านวิกฤติการณ์ที่เกือบเอาตัวไม่รอด เขาใช้เวลา 1 ชั่วโมงเต็มกับการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้
ไม่มีการ
เตรียมตัวล่วงหน้ามาก่อน
"มีคำถามมากมายจากเด็กว่า เรียนจบปริญญาตรีแล้วจะทำอะไรกิน เขาก็ถามว่า ทำไมต้องให้เรียกผมว่าพี่ใหญ่"
บุญชัย ไม่ได้อธิบายทันที จนกระทั่งปีถัดไป ความหมาย และ
การตกผลึกของของคำว่า "พี่ใหญ่" จึงถูกถ่ายทอดสู่เด็กๆ
ในโครงการ
"พี่ใหญ่ หมายถึงคนที่ต้องเสียสละให้น้องกินก่อน
เป็นคนที่ต้องขันอาสาแก้ปัญหา เป็นคนที่ต้องมีความกล้าหาญมากกว่าใคร"
บุญชัยอธิบายบุคลิกของความเป็นผู้นำ
นอกเหนือจากความเป็นพี่ใหญ่ในครอบครัว ความชื่นชอบงานศิลปะ เป็นสิ่งที่สะท้อนบุคลิกภาพทางความคิดของเขา
ภาพงานศิลปะที่ประดับอยู่บนฝาบ้าน ในทุกมุมของห้อง สิ่งเดียวที่สะท้อนสไตล์ความชอบของบุญชัยได้อย่างดี
การสะสมงานศิลปะเป็นจำนวนมากของบุญชัย ไม่ได้
เกิดขึ้นเพื่อบอกถึงความมั่งมี แต่เป็นความใฝ่ฝันที่ยึดอาชีพ
อาร์ตติสต์มาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อเป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ที่ต้องสืบทอดกิจการของครอบครัว
เขาจึงเปลี่ยนมาเป็นผู้เกื้อกูล งานศิลปะแทน
"ผู้เกื้อกูลศิลปะ ไม่ใช่คนเสพศิลปะ แต่เป็นผู้ที่สนับสนุนงานศิลปะ จำเป็นต้องมีใจรัก
และเข้าใจงานศิลปะ
มีจิตใจที่อ่อนไหว"
การเป็นผู้เกื้อกูลงานศิลปะ เขาจึงกลายเป็นเจ้าของงานผลงานศิลปะจำนวนมาก
จนต้องเปิดเป็นหอศิลปะ ที่ตั้งอยู่บนอาคารเบญจรงคกุล เขาใช้พื้นที่ของอาคารแห่งนี้
จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อแสดงงานศิลปะเหล่านี้ให้สถาบันต่างๆ เข้าชม
หอศิลปะนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่ถ่ายทอดความรู้ในแง่มุมของศิลปะ แต่ยังเป็นสิ่งที่บุญชัยต้องการสะท้อนถึงความเข้าใจงานศิลปะอย่างแท้จริง
ที่คุณค่าของงานเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่ภาพบนผืนผ้าใบ หรือปลายพู่กันเท่านั้น
แต่ยังหมายถึงการมองเห็นคุณค่าของงาน ที่จะต้องสะท้อนออกมา
บ้าน จึงเป็นที่เก็บสะสมงานศิลปะในยุคเริ่มต้น บุญชัยเริ่มสะสมมาตั้งแต่เรียนจบเริ่มทำงานมีเงินเดือน
7,000 บาท
งานศิลปะชิ้นแรกที่เขาสะสมเป็นของศิลปินไทย คือ ศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสต์
วาดโดย อานันท์ ปานิน เป็นภาพ
ผู้หญิงกับดอกไม้ งานของสมพงศ์ อดุลย์พันธ์ ถวัลย์ ดัชนี
ทวี นันทขว้าง
นอกจากภาพปลายพู่กันของนักวาดภาพชื่อดังของ
เมืองไทยแล้ว บุญชัยยังเป็นเจ้าของงานศิลป์เก่าแก่จากต่างประเทศ ของศิลปินที่อยู่ในช่วง
ค.ศ.1860 John William Godward, Munier
ภาพเหล่านี้ซื้อมาจากร้าน ริชาร์ด กรีน แกลเลอรี่เก่าแก่เจ้าประจำของเขาที่ประเทศอังกฤษ
เริ่มเก็บสะสมเมื่อ 7-8 ปี ที่แล้ว เป็นช่วงที่ธุรกิจกำลังขยายตัว
"ผมซื้อภาพที่นี่มาตลอด สมัยวิกฤติเศรษฐกิจผมซื้อภาพไว้แล้ว ยังเป็นหนี้ร้านเขาอยู่ก้อนหนึ่ง
ผมก็เลยขายภาพคืน ได้กำไรเท่าตัว" แต่การทำเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องเข้าใจและเรียนรู้งานศิลปะได้ดี
"ถ้าซื้อไม่เป็นขายต่อยังไม่ได้เลย"
ภาพงานศิลปะเหล่านี้ ยังเป็นส่วนที่สะท้อนเรื่องราวทางความคิด และความเป็นไปในช่วงชีวิตของเขา
แนวทางในเรื่องของพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่บุญชัยให้ความสนใจ และยึดถือ
อย่างลึกซึ้งในช่วง 5 ปีมานี้ ซึ่งบุญชัยเล่าว่า ความสนใจศาสนา เริ่มมาจากความชอบในไสยศาสตร์
"ผมชอบเรื่องไสยศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เป็นเรื่องของการเอาชนะ ต้องการเอามาให้ได้
ซึ่งคอนเซ็ปต์ของมันเอื้ออำนวย" บุญชัยย้อนอดีต
จุดเปลี่ยนความสนใจในเรื่องไสยศาสตร์มาคลี่คลายกลายเป็นความเชื่อในเรื่องของพระพุทธศาสนา
เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ที่เขามีโอกาสได้เข้าไปที่วัดพระธรรมกาย เป็นหนึ่งในสิ่งที่
บ่มเพาะแง่มุมทางพุทธศาสนากับนักธุรกิจหลายคนในสังคมไทย และเป็นที่ปลุกปลอบแง่คิดในช่วงการผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ
การเป็นผู้เกื้อกูลงานศิลปะของเขา ทำให้มีภาพศิลปะที่
เก็บสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก อยู่บนอาคาร 4 ชั้น ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานเก่าที่ซื้อมาพร้อมกับที่ดิน
และด้วยบทบาทเหล่านี้
การเป็นประธานเปิดงานแสดงภาพ จึงเป็นสิ่งที่เขาทำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ
เขาจึงเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับเหล่าบรรดาศิลปินชื่อดัง
วันที่ "ผู้จัดการ" มีโอกาสไปที่บ้าน ไม่ได้เห็นภาพวาดขนาดใหญ่ ในช่วงเริ่มต้นของการสะสม
ที่เป็นผลงานของอาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร เพิ่งถูกยกไปซ่อมแซม เนื่องจากความหนักของกรอบ
ทำให้หล่นลงมา
"อาจารย์ปัญญาบอกให้รีบเอามาซ่อมให้เลย ทำให้ฟรี อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ก็ให้รูปฟรีไม่คิดเงิน
เขารู้ว่าเรายังลำบาก"
ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หากไม่ติดธุรกิจ บุญชัยจะไปตลาดนัดจตุจักร พบปะกับกลุ่มร้านค้าธนบัตรเก่า
คนขายแสตมป์ ร้านค้าหนังสือ "ของพวกนี้ไม่ได้ไร้สาระ ผมได้ข้อมูล inside
เยอะ ทำให้
ผมเป็นคนฉลาดขึ้นมาอีกเยอะ"
สำหรับการเป็นพี่ใหญ่ของเขา ที่ต้องไปชิงพื้นที่ในอนาคตแล้ว เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องรู้หลายๆ
เรื่อง
แนวคิดการสะสมของเขา ไม่ใช่เพราะความสวยงามเท่านั้น แต่จะต้องเป็นของเก่าที่มีประวัติศาสตร์
ความเป็นนักสะสมของเขาจึงครอบคลุมไปถึงการสะสมธนบัตร แสตมป์ เปลือกหอย ล้วนเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์
และเรื่องราวที่เกิดขึ้น
"การรำลึกประวัติศาสตร์ ทำให้เรามีสติ มีแบบแผนให้เราเลือกเดินได้ และเท้าที่ยังคงสัมผัสพื้นฐานตลอดเวลา"
การสะสมกล้อง มาจากการรำลึกถึง "พ่อ" ที่เคยทำงาน
เป็นผู้จัดการร้านขายกล้องเก่าแก่ Black and White ทำให้มีโอกาสพบปะผู้คนจำนวนมาก
จะว่าไปแล้วเป็นประสบการณ์ ที่วาง รากฐานของการค้าขายกับหน่วยงานรัฐ
อีกไม่นาน บ้านพักตากอากาศหลังแรกที่จังหวัดพังงา
ยอดเขาบาชัน ปลายพังงา ต้นภูเก็ต จะเสร็จสมบูรณ์ จะเป็นบ้านแห่งความสุขของครอบครัว
และเพื่อนฝูง อีกแห่งสำหรับเขา
ในฐานะของ "พี่ใหญ่"