ภาพของกลุ่มบริษัทโฮลดิ้งทรีนีตี้ วัฒนา ซึ่งมี บล.ทรีนีตี้, ทรีนีตี้
อินฟอร์เมชั่น และทรีนีตี้ แอ็ดไวซอรี่ 2001 เป็นธุรกิจในเครือ ดูจะแยกออกจากภาพของภควัต
โกวิทวัฒน-พงศ์ ประธานบริษัทไม่ออก เช่นเดียวกับในอดีตภาพของ บล.เอกธำรงกับภควัต
ในฐานะกรรมการผู้จัดการ
การกำเนิดขึ้นของกลุ่มธุรกิจทรีนีตี้เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง ระหว่างผู้บริหารเดิม
ของ บล.เอกธำรงกับกลุ่มคูส์ สถาบันการเงิน สัญชาติไต้หวันที่เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร
หลังจาก บล.เอกธำรงไม่สามารถยืนอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ
สุดท้ายกลุ่มผู้บริหารเดิมที่นำโดยภควัตต้องเดินออกจากบล.เอกธำรง ท่ามกลางความขมขื่น
ทรีนีตี้จึงถือกำเนิด ขึ้นโดยมีภควัตเป็นแม่ทัพ ส่วนผู้สนับสนุนทางการเงินเป็นกลุ่มบริษัทคอม-ลิงค์
กลุ่มธุรกิจผู้รับสัมปทานในองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ที่มีผู้ถือหุ้นระดับยักษ์ใหญ่แห่งวงการธุรกิจไทย
อาทิ ธนินท์ เจียรวนนท์, บัณฑูร ล่ำซำ, สันติ ภิรมย์ภักดี "เราคิดว่าตลาดทุน
เป็นของจำเป็นในไทย และคิดว่ายังมีช่องทาง ในการทำธุรกิจ และไทย ต้องมีการพัฒนาตลาดทุนไปมากกว่านี้"
ภควัตเล่า "เราเข้าไปคุยกับคอม-ลิงค์ ว่าสนใจลงทุน หรือไม่และทุกอย่างก็ลงตัว"
จากความสำเร็จในการหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนของภควัตกับการสร้างอาณาจักร
แห่งใหม่ครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น เหตุผลที่สำคัญ คือ ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน
การให้โอกาสภควัตครั้งนี้เกิดจากความมั่นใจในตัวของภควัตที่ซึ่งผ่านร้อนผ่าน
หนาวในตลาดทุนไทยมาถึง 14 ปี หลังจากทำงานเป็นนายแบงก์ที่ธนาคารกสิกรไทยถึง
13 ปีครึ่ง
ภควัตเกิดวันที่ 30 กันยายน 2492 จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยมดีมาก)
จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้น เดินทางไปเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจ การ
ตลาดและการเงินที่ Wharton School ในปี 2517 ซึ่งเรียนรุ่นเดียวกับปิ่น จักกะพาก
แต่จบทีหลังเนื่องจากได้ทุนเรียน MBA ต่อจากกสิกรไทย ซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นที่
4
"สมัยนั้นเป็นคนแรกที่เขาให้ไปเรียนด้านการตลาด เป็น bank marketing แต่ผมทราบว่าจะต้องกลับมาทำงานในสถาบันการเงิน
และ Wharton มีชื่อทางด้านการเงิน อยู่แล้วก็เรียนทั้งสองอย่าง"
ปี 2518 เข้าทำงานใช้ทุนที่กสิกรไทย แต่เอาเข้าจริง ภควัตกลับต้องทำงานด้านสิน
เชื่อเป็นส่วนใหญ่ มีโอกาสทำงานด้านสาขาต่างประเทศบ้าง "งานสินเชื่อต้องออกไปต่าง
จังหวัด คุยกับลูกค้าตั้งแต่เจ้าของโรงสีข้าว โรงบ่มใบยาสูบ โรงยางไปจนถึงโครงการขนาดใหญ่
อย่างปิโตรเคมีคอล" ภควัตกล่าว
ดังนั้น ประสบการณ์เหล่านี้ภควัตมีตั้งแต่ลูกค้าขนาดท้องถิ่นไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
รวมถึงบริษัทส่งออก ทั้งหลายจากแถวเยาวราชซึ่งมีวิธีค้าขายอย่าง หนึ่ง ดังนั้นธนาคารก็ต้องมีวิธีให้สินเชื่อ
"เราผ่านตรงนี้มา เลยเข้าใจธุรกิจว่า เป็นอย่างไร ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึง
project financing ซึ่งเป็นยุคแรกๆ ที่ดำเนินการ"
ในปี 2527 ภควัตก็ได้รับการโปรโมตให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจกสิกรไทย
ว่ากันว่าตอนที่นั่งทำงานในตำแหน่งนี้เขาเป็นคนที่มีบุคลิกภาพค่อนข้าง ซีเรียส
ไม่ค่อยยิ้มแย้มเท่าไร วันๆ นั่งคิดหา project loan ใหม่ๆ
ครั้นจะออกไปหาลูกค้าหรือนั่งเจรจา สันถวไมตรีกับลูกค้าทำตัวเป็น marketing
man ดูออกจะไม่สันทัดนัก ทำให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ค่อยสนุกเท่า "เล่นหุ้น"
ที่เขาชอบนักชอบหนา
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของภควัตเริ่มขึ้นพร้อมๆ กับอาการทำงานในแบงก์ไม่สนุก
ประกอบกับในขณะนั้นกสิกรไทยกับแบงก์พาริบาส์, ถนัด คอมันตร์, ชุมพล พรประภา
และผู้ใหญ่อีกหลายท่าน ร่วมลง ขันคนละ 10% บ้าง 25% เพื่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์โกลด์ฮิลล์ขึ้นมา
ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บล.เอกธำรง หลังจากกลุ่มธุรกิจยิบอินซอยของปิ่นซื้อกิจการจากกลุ่มของธานี
บรมรัตนธน ในปี 2529
"ช่วงนั้นตลาดทุนเป็นของใหม่และเราทำด้านสินเชื่อมาหมดแล้ว ตอนนั้นมี 2
ทางเลือก คือ ออกไปดูแลการเงินของบริษัทเอกชน หรือมาทำตลาดทุนที่เป็นของใหม่และยังไม่มีใครทำ"
ภควัตเล่า
นับตั้งแต่มานั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บล.เอกธำรง ตั้งแต่กลางปี 2530
บุคลิกภาพของภควัตก็เปลี่ยนไปจากไม่ค่อยยิ้มแย้มเท่าไร ก็มายิ้มมากขึ้น ยิ่งคุยเรื่องหุ้น
เขาจะพูดไม่หยุดสลับกับหัวเราะเป็นช่วงๆ
การดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ตามสไตล์ ของภควัต คือ การพัฒนาตลาดทุนซึ่งเขาเป็น
คนที่กระตือรือร้นต่อกรณีนี้อย่างมากเพราะหากโปรโมตตลาดทุนก็จะสร้างมาตรฐานขึ้น
มาใหม่
"คิดอยู่เสมอว่า นี่คือ หลักปรัชญาที่ว่าต้องพัฒนาตลาดทุนให้เกิดให้ได้
แล้วธุรกิจ จะตามมาเอง" ภควัตบอก และเมื่อความพยายามหามาตรฐานให้กับตลาดทุนเขาต้อง
เสียเวลาไปประมาณ 30-40% ของเวลาทำงาน
กระทั่งปัจจุบันภควัตยังคิดว่าการพัฒนาตลาดทุนเป็นเรื่องสำคัญ และพวกเขา
ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ตลาดถึงจะ active "เมื่อ ไรที่ไม่เกี่ยวข้องด้วยตลาดจะซบเซา
เพราะพวกเราเป็นพวกที่อยู่หน้าตลาด ติดต่อกับลูกค้า รู้เรื่องภาวะตลาด"
อย่างไรก็ตาม ภควัตมองว่าลักษณะความสัมพันธ์ในหมู่โบรกเกอร์ได้หายไปเพราะ
การแข่งขันมากขึ้น ดังนั้นโอกาสที่จะมานั่งทำงานร่วมกันจึงน้อยลง "เราอยากเห็นการพัฒนาตลาดทุนไปต่อเนื่อง"
นี่คือ คำประกาศของภควัต ซึ่งวันนี้เขาเป็นแม่ทัพกลุ่มธุรกิจทรีนีตี้ โดยมีกัมปนาท
โลหเจริญวนิช และขนิษฐา สรรพอาษาเป็นขุนพลคู่ใจ
การกำเนิดขึ้นของทรีนีตี้ท่ามกลางกระแสการแข่งขัน และบทบาทของนักลงทุนต่างประเทศที่ครอบงำตลาดทุนไทยเป็นข้อสงสัยต่อวงการว่า
ภควัตจะสามารถสร้างโอกาสให้กับองค์กรได้อย่างไร หรือท้ายที่สุด แล้วเขาต้องหาพันธมิตรต่างชาติเข้ามาสนับสนุน
"ถ้าเรื่องโบรกเกอร์ ถามว่าเราต้อง การต่างชาติหรือไม่ ตอนที่ทำอยู่ บล.เอกธำรง
พวกเราไม่จำเป็นต้องมีพาร์ตเนอร์ต่างชาติเลย"
ความมั่นใจเช่นนี้เกิดจากประสบ การณ์ของบุคลากรทรีนีตี้ที่สั่งสมมานาน
ถึงแม้ว่าจะเป็นชื่อใหม่ ที่สำคัญภควัตกำลังจะใช้บุคลิกของทรีนีตี้ที่เป็นธุรกิจไทยแข่งขัน
"เราอยู่ในธุรกิจไทยย่อมรู้ธุรกิจในแง่ลูกค้า และคิดว่าจะใช้ความเป็น ไทยให้บริการ"
ประกอบกับทรีนีตี้มุ่งเน้นนโยบาย การดำเนินงานโดยอาศัยความสัมพันธ์ฉันมิตรกับลูกค้าเก่า
ขณะเดียวกันยังเพิ่มความเป็นอิสระในการทำงาน และภควัตเองไม่ต้องการเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุด
แต่ต้องการเป็นผู้เข้าใจตลาดทุนได้ดีและสามารถให้บริการลูกค้าได้ในขอบข่ายที่กว้างขวาง
สิ่งท้าทายของภควัตและบริษัทเอง คือ สร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งเขาพยายามอธิบายผ่านปรัชญาที่ว่า
"มุ่งมั่นด้วยศรัทธา สร้างสรรค์ด้วยปัญญา นำพา สู่ความสำเร็จ" แต่จะทำได้หรือไม่นั้นอยู่ที่อนาคต
ปัจจุบันภควัตกำลังมองตัวเองด้วยการพยายามสร้างองค์กรพื้นฐานให้แข็งแกร่ง
ขณะเดียวกันก็เอาความเป็นไทยเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์
ดูเหมือนว่าชีวิตของภควัตยังดูสดใสเหมือนเดิม แม้ว่าที่ผ่านมาเขาต้องเจ็บปวดกับเรื่องบางเรื่องที่มีผลมาจาก
วิกฤติเศรษฐกิจ เขายังยิ้มได้และเป็นมิตร กับทุกคน และมีเวลาว่างเมื่อไร
จะเห็น ภควัตออกไปเล่นกอล์ฟ ซึ่งเขารู้ตัวว่า เล่น ไม่เคยได้ดีเลย
แต่สำหรับเรื่องตลาดทุน ภควัตไม่เคยเป็นรองใคร