ดูเหมือนเขามีบุคลิกขัดแย้งในตัวเอง แท้ที่จริง เป็นภาพที่สมดุลระหว่างความเป็นคนไทยที่มีความเชื่อ
ความศรัทธา ในปรัชญาเอเชียในมิติของการดำเนินชีวิต ขณะเดียวกันก็มี การบริหารธุรกิจมุ่งมาตรฐานโลก
เขาแสดงบทบาทนำและใช้ปรัชญา รวมทั้งความรู้จากตะวันตกเพื่อต่อสู้ในเกมที่ตะวันตกสร้างขึ้น
1 ทศวรรษมานี้ ชีวิตและการงาน ของบัณฑูร ล่ำซำ เดินคู่ขนานไปอย่างมีสีสัน
ในเวลาใกล้เคียงกับที่เขาขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 นั้น เขาได้สร้างบ้านหลังแรก และหลังเดียวเป็นที่พักผ่อนที่จังหวัดชลบุรี
ใกล้วัดญาณสังวราราม ซึ่งมีความหมายต่อชีวิตของเขาต่อเนื่องมา
ภารกิจในการบริหารธนาคารกสิกรไทย ซึ่งถือกันว่าแต่เดิมเป็นธุรกิจหลักของตระกูลล่ำซำ
ที่เติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่าน มา ถือเป็นการเติบโตในช่วงท้ายของมรสุม เรื่องราวการปรับตัว
ปรับยุทธศาสตร์ของครอบครัว ผมเองได้เขียนมาแล้วหลายครั้ง หากผู้อ่านต้องการเท้าความ
กรุณาไปค้นได้จาก www.gotomanager.com (ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้เป็นหนังสือเล่มโดยเฉพาะ
หากไม่มีอะไรติดขัด น่าจะวางแผงในราวต้นปีหน้า)
แผนการ Re-engineering เมื่อปี 2536-2537 นั้นทำให้วงการธนาคารและธุรกิจตื่นตัว
ขนานใหญ่นั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการทำความ เข้าใจ ประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ระบบธนาคาร
ไทยอยู่ภายใต้ความคุ้มครองโดยรัฐอย่างเข้มแข็ง ที่สำคัญเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวของธุรกิจไทยไปสู่มาตรฐานสากล
ซึ่งในขณะนั้นยอมรับกระแสตะวันตกกันมาก เพราะกระแสเงินจากตะวันตกกำลังทะลักเข้าไทย
ซึ่งมีคนที่เข้าใจความหมายในการปรับตัวรับวิกฤติการณ์ที่อาจจะก่อตัวขึ้นแท้
จริงไม่กี่คน ซึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นว่า การเตรียมตัวครั้งนั้นของธนาคารกสิกรไทย
สามารถรับกับวิกฤติได้อย่างดี ในอีกแง่หนึ่ง ก็คือจะเริ่มต้นกระบวนการปรับตัวธนาคารไทยที่เริ่มจากจุดจุดเดียวที่เน้นเรื่องบริการมาเป็นทุกๆ
มิติของธนาคาร รวมทั้ง ความเป็นเจ้าของ ธนาคารด้วย
เรื่องราวการปรับตัวของธนาคารกสิกรไทยที่สำคัญที่สุดอยู่ในช่วง 2541-2544
ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้อย่างดี จากการเปรียบเทียบลำดับเหตุการณ์
และ แผนภูมิว่าด้วยยุทธศาสตร์องค์กรธนาคาร ที่ปรากฏในล้อมกรอบประกอบเรื่องนี้แล้ว
การเรียนรู้ครั้งใหม่ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ของบัณฑูร ล่ำซำ ในการปรับธนาคารครั้งล่าสุด
คือ ความเข้าใจ ความเป็นธนาคารยุคใหม่ ที่แท้จริง
"Banking เป็นธุรกิจที่ complex มาก เลย" เขาเน้นไว้กับบทสนทนาล่าสุดกับ
"ผู้จัดการ"
"ธนาคารยุคนี้ เป็นธุรกิจที่ very information intensive ถ้าจับหลักนี้ไม่ดี
ความ เสี่ยงก็ไม่รู้ เสี่ยงอย่างไรก็ไม่รู้ มองไปมีตัวเลข เต็มไปหมด รู้ตอนจบคือเจ๊ง
รู้แค่นั้น ถ้าทำไม่ดี ผมซาบซึ้งมาก จริงๆ แล้ว เราก็ทำอะไร ไม่ดีมาก่อน"
พร้อมกันนั้นเขาได้แสดงแผนภูมิของ โครงสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ว่าด้วยการปรับระบบธนาคารล่าสุด
ซึ่งกำลังดำเนินไปตามแนวทางนี้ (โปรดดูแผนภูมิ Application Architecture)
ความคิดรวบยอดและแผนการเหล่านี้เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างเข้มข้นของทีมงานใหม่
ที่สุดท้ายก็คือแผนการ ใช้ฝรั่งมาทำงาน ไม่ให้มาเป็นนาย
ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารไทยที่มีผู้บริหารเป็นคนไทย แม้ว่าผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวนไม่น้อยเป็นกองทุนต่างประเทศ
โดยเฉพาะ GIC (Government of Singapore Investment Corporation) มากที่สุดในกลุ่ม
นั้นซึ่งถือหุ้นใกล้เคียงกับตระกูลล่ำซำ แต่เท่าที่ประเมินก็ไม่มีทางจะเข้ามาครอบงำธนาคารแห่งนี้โดยตรงได้
ธนาคารกสิกรไทย เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ใช้ชาวตะวันตกเป็นกรรมการ 3 คน รวมกับการคัดเลือกคนไทยที่มีความรู้
ประสบการณ์ ทำให้ เป็น บอร์ดที่มาร่วมวางแผนธุรกิจ ไม่เหมือนแต่ก่อน บอร์ดคือ
ตรายาง(บัณฑูร) ที่สำคัญเข้ามาเป็นผู้บริหารในหน่วยงานต่างๆ ที่ธุรกิจ ธนาคารไทยในรอบ
50 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างบุคลากรเช่นนี้ขึ้น
- Strategic program manager ซึ่งเป็นงานประสานให้แผนการปรับรื้อระบบธนาคารในภาพรวมดำเนินไปไม่ติดขัด
เป็นงานที่ธนาคารไทยไม่เคยทำมาก่อน คนที่เข้า มารับหน้าที่นี้เคยเป็นที่ปรึกษาทำงานที่
Booz Allen & Hamilton มาก่อน โดยเฉพาะเคยมีประสบการณ์ในการ Re-engineering
ธนาคาร กสิกรไทยด้วย
- Human Resource Head ซึ่งบัณฑูร ล่ำซำ บอกว่าเฉพาะงานด้าน Performance
Appraisal เป็นศาสตร์ที่ธุรกิจไทยไม่มีความชำนาญ
- Retail Banking Head "หาคนไทยที่มีความรู้กว้างขวางยาก เพราะคนไทยไม่เคยทำ
Retail Banking จริงๆ ไม่ใช่หมายถึงผู้บริหารสาขา มันคนละเรื่อง สมัยก่อนคนอยากเป็นผู้จัดการสาขา
เพราะมันมีอำนาจ มีกองทัพแต่ไม่เกี่ยวอะไรกับ retail banking เพราะต้องมองเป็นตลาด
เป็นสินค้า เป็นศาสตร์ที่ต้องเคยทำมาก่อน" (บัณฑูร)
จากนี้ไปธนาคารกสิกรไทย ภายใต้การบริหารของบัณฑูร ล่ำซำ ดำเนินไปได้ด้วยระบบ
"มาถึงวันนี้แล้ว หลังจากที่ได้แก้ปัญหา ต้องลากกระเป๋าไปรอบโลกในช่วงนั้น
ผมมีหน้าที่ หนึ่ง-จัดสรรทรัพยากรให้กระจาย ออกไปตามที่ต่างๆ พอสมควร สอง-ดูแลไม่ให้คนทะเลาะกัน
ส่วนการตัดสินใจเชิงธุรกิจ มีคนทำแทนอยู่แล้ว เมื่อสร้างระบบให้คุณให้ โทษชัดเจน
องค์กรก็เดินหน้าต่อไปได้" เขา เน้นอีกว่า ภูมิใจในทีมงานของเขาในปัจจุบัน
ซึ่งกว่าจะคัดและปรับ ใช้เวลามาถึง 7-8 ปี เขาเชื่อว่าผู้บริหารของเขาทุกวันนี้อยู่ด้วย
สิ่งที่เรียกว่า มิใช่ความจงรักภักดีแบบเดิม หากเป็นความจงรักภักดีต่อ Business
model
บัณฑูร ล่ำซำ เพิ่งได้รับมอบอำนาจอย่างเป็นทางการให้เขาดำรงตำแหน่งผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย
โดยธรรมเนียมเขาจึงเป็นไวยาวัจกร วัดบวรนิเวศ วิหาร และวัดญาณสังวรารามด้วย
เรื่องราวนี้มีความเชื่อมโยงกับประสบการณ์การบริหาร ธนาคารกสิกรไทย และการดำเนินชีวิตของเขาอย่างน่าทึ่ง
และมีความหมายมากทีเดียว
หลังจากธนาคารกสิกรไทยประกาศปรับโครงสร้างเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2542 ไป
ประมาณ 6 เดือน บัณฑูร ล่ำซำ ก็ได้รับพระ บัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชฯ ให้ดำรงตำแหน่งใหม่
ซึ่งกว่าจะจดทะเบียนเป็นทาง การก็ใช้เวลาปีกว่าทีเดียว ซึ่งเป็นสัญญาณและภาพสะท้อนของปัญหาที่ท้าทายมากของ
ภารกิจใหม่
ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นหน้าที่ใหม่ที่ท้าทาย เพื่อให้เขาจัดระบบและบริหารสิน
ทรัพย์ของพุทธศาสนาแหล่งใหญ่ที่สุดของสังคมไทยก็ว่าได้ มีปัญหาทั้งระบบ ทั้งการคอร์รัปชั่นภายใน
อันเป็นงานในการแก้ปัญหา ปรับระบบงาน คล้ายๆ ที่เขาผ่านงานด้านนี้ มาโชกโชนในการบริหารธนาคาร
ซึ่งยุ่งยากกว่าหลายเท่า
แต่ในความจริงเป็นภาพที่ต่อเนื่องอย่างชัดเจน เมื่อบัณฑูร ล่ำซำ ตัดสินใจซื้อที่ดินข้างวัดญาณสังวราราม
จังหวัดชลบุรี เป็นการตกผลึกทางความเชื่อ ความศรัทธา
ความจริงแล้ว เขามีความสัมพันธ์กับ สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันมายาวนาน
ตั้งแต่เขาศึกษาจบจากต่างประเทศมาใหม่ๆ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของอิทธิพลทางฝ่ายมารดา
(ม.ร.ว.สำอางวรรณ วรวรรณ) ต่อปรัชญาการดำเนินชีวิตในช่วงต่อมาของเขา และดูเหมือนจะเข้มข้นตามลำดับ
บัณฑูรเคยบวชเณร เมื่อปี 2509 ก่อน จะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศที่วัดเทพ
ศิรินทร์ ซึ่งเป็นวัดประจำตระกูลล่ำซำ ครั้นเขาจบการศึกษาจากต่างประเทศมา
"ผมลงจากเครื่องบิน 2 อาทิตย์ก็บวช" จากนั้นเขาตัดสินใจย้ายมาบวชที่วัดบวรนิเวศ
ตามคำแนะนำของญาติฝ่ายแม่ ซึ่งเป็นที่รู้กัน ว่า ราชนิกุลเลื่อมใสศรัทธาวัดนี้อย่างมาก
สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันซึ่งเคยเป็นพระพี่เลี้ยงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในตอนทรงผนวช เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ วิหารมาตั้งแต่ปี 2504 สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นอุปัชฌาย์ให้พระปสาสโก
(ฉายาของ บัณฑูร ล่ำซำ) ความสัมพันธ์กับความศรัทธา จึงค่อยก่อตัวขึ้น
ปี 2529 ธนาคารกสิกรไทย จัดกฐินไปทอดที่วัดญาณสังวราราม ซึ่งถือเป็นวัดที่สมเด็จพระสังฆราชฯ
สร้างขึ้นในฐานะวัดในรัชกาลที่ 9 ด้วย "เป็นครั้งแรกที่มาเห็นวัด เกิดความศรัทธาอย่างแรง
แล้วก็มีความรู้สึก อยากจะมาอยู่ที่นี่" บัณฑูร ล่ำซำ เล่า
บ้านต่างจังหวัด หรือบ้านพักตากอากาศหลังแรกและหลังเดียวของเขาจึงสร้าง
ขึ้น เสร็จตั้งแต่ปี 2534 โดยสมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จมาด้วยในวันทำบุญขึ้นบ้านใหม่
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2534 ภาพสะท้อนแห่ง ความสัมพันธ์กับปรัชญาความเชื่อ
ความศรัทธาที่มีต่อสมเด็จพระสังฆราชฯ และเชื่อม ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
ซึ่งแสดงออกด้วยบุคลิกของบ้าน ในที่สุด ก็เดินทางบรรจบกันเป็นภาระหน้าที่สำคัญที่เขาภูมิใจมาก
กับตำแหน่งผู้จัดการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย และไวยาวัจกรวัดที่มีความสัมพันธ์ของพุทธศาสนาและสถาบันระดับสูง
ตำแหน่งหน้าที่ใหม่ มิใช่มีไว้สำหรับเกียรติยศอย่างเดียวเท่านั้น หากจะต้องแก้ปัญหาอีกไม่น้อยเดียว
ซึ่งมีความหมายในการแก้ปัญหามิติหนึ่งเชิงประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนาในประเทศไทยปัจจุบัน
อันเป็นที่ทราบกันว่ามีปัญหามากพอสมควร
มูลนิธิมหามกุฎฯ ตั้งโดยรัชกาลที่ 5 เมื่อประมาณ 108 ปีมาแล้ว เพื่อบริหารทรัพย์
สินของพุทธศาสนา ธรรมยุตนิกาย เพื่อการศึกษาธรรมะ ปัจจุบันมูลนิธิมีทรัพย์สินนับหลายพันล้านบาท
โดยได้รับการบริจาคต่อเนื่องกันมานาน ไม่ว่าที่ดิน อาคารเช่า ห้องแถว ฯลฯ
ซึ่งรวมทั้งปัญหาสนามกอล์ฟอัลไพน์ด้วย ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับมูลนิธินี้ ซึ่งปัจจุบันมีปัญหามากมาย
"มีการรั่วไหลกันอย่างมาก เป็นขบวนการเอาเปรียบพุทธศาสนา" บัณฑูร ล่ำซำ
ผู้จัดการมูลนิธิคนใหม่ สรุปกับ "ผู้จัดการ" ซึ่งเป็นการเปิดเผยเรื่องราวในหน้าที่ใหม่ของเขาครั้งแรก
การบริหารมูลนิธิ มีกรรมการทั้งฝ่าย บรรพชิตและฆราวาส โดยฝ่ายบรรพชิตมีสมเด็จพระสังฆราชฯ
เป็นประธาน ประกอบ ด้วยพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ส่วนฝ่ายฆราวาส ล้วนมีความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญ
ในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสำนักพระราชวัง ได้แก่ ดร.จิรายุ
อิศ-รางกูร ณ อยุธยา, ดร.เชาวน์ ณ ศีลวันต์, ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นต้น
แต่เดิมตำแหน่งผู้จัดการมูลนิธิฯ ที่สำคัญนี้ เป็นของพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์
อดีตผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ประธานบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งต่อมาป่วยเป็นอัมพาตนานหลายปี
"หลังจากคุณพูนเพิ่มป่วยก็เป็นช่วงสุญญากาศ เกิดความไม่ปกติขึ้น" เขาวิเคราะห์
ความซับซ้อนและไม่มีระบบอย่างจงใจหรือไม่ก็ตามของบัญชีทรัพย์สิน เป็นเรื่องยากที่คณะกรรมการที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ
ในการจัดการ ทำให้เกิดปัญหาอย่างมาก ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ งบการเงินของมูลนิธิไม่มีกำไรเลย
ติดต่อกันมาหลายปี การเข้ามาของบัณฑูร จึงเป็นเรื่องที่ต้องยอม รับว่าเป็นการมองปัญหาที่ทะลุปรุโปร่งของสมเด็จพระสังฆราชฯ
รวมทั้งเข้าใจอย่างดีในการสรรหาผู้จัดการที่มีความสามารถ ในการจัดการกับทรัพย์สินที่สะสมมานับร้อยปี
ซึ่งต้องการผู้จัดการสมัยใหม่ที่กล้าตัดสินใจ "ผมไปคนเดียว ย่อมทำอะไรไม่ได้
เหมือนสมเด็จพระสังฆราชฯ และคณะกรรมการท่าน อื่นๆ เป็นมาแล้ว โชคดีที่ผมมีธนาคารกสิกร
ไทยหนุนหลัง" บัณฑูร ล่ำซำ กล่าวถึงแนวการจัดการที่นำผู้บริหารธนาคารกสิกรไทยหลายคน
ที่ต้องไปทำงานเต็มเวลาโดยเฉพาะ ผู้บริหารด้านประเมินหลักทรัพย์ และการจัดการเรื่องบัญชี
รวมทั้งต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ต้องดูแลและตีความต่างๆ ที่มีความต่อเนื่องมานับร้อยปี
เล่ากันว่า กว่าบัณฑูร ล่ำซำ จะเข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ถูกขบวน
การต่อต้านมากทีเดียว ภายใต้ระบบเดิมทำให้กระบวนการแต่งตั้งให้ถูกต้องตามกฎหมายล่าช้าออกไปเป็นปีทีเดียว
จากนี้การจัดการทรัพย์สินของพระพุทธศาสนาจะมีระบบมากขึ้น เป็นการปรับตัวครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติ
ศาสตร์ขององค์กรพุทธศาสนา ที่กำลังปรับตัวและพัฒนาไปข้างหน้าให้สอดคล้องสังคมสมัยใหม่
บัณฑูร ล่ำซำบอกว่า เขาโชคดีที่ได้จัดระบบบริหารธนาคารกสิกรไทยลงตัว มีคนทำหน้าที่แทน
เขาทำหน้าที่เพียง harmonize ให้ระบบเดินหน้าไป จึงมีเวลาเหลือทำงานที่ภูมิใจ
มีความหมายต่อชีวิตมากขึ้นได้