คนที่รู้จักบางคนที่คิดว่าผมเป็นพวกหัวนอก นิยมฝรั่ง เพราะเวลาผมวิจารณ์ใน
เชิงเปรียบเทียบระหว่างบ้านเขาบ้านเรา ผมมักจะบ่นปนตำหนิถึงข้อด้อยต่างๆ
ที่ผมนึกได้ ที่เป็นเช่นนี้มิใช่ผมไม่รักชาติหรือเป็นอย่างข้างต้น ในทางกลับกัน
การรักชาติแบบตาบอดและหลงตัวเองเกินจริงก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซ้ำยังเป็นการฉุดรั้งความเจริญและเป็นการปิดกั้นโอกาสการพัฒนา
ผมคิดว่าการจะทำสิ่งใดให้ดีจะต้องเข้าใจความเป็นจริงของตัวเรา และมีการเรียนรู้ที่ถูกต้องเพื่อการพัฒนา
และการได้เห็นตัวอย่างที่ดี (และไม่ดี) จากผู้อื่นก็มีส่วนช่วยในการพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีได้
ตะลุยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ฉบับส่งท้ายคราวนี้ผมขอเล่าถึงพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติที่ตำบลคลองห้า
ขณะเดียวกัน ก็ขอวิจารณ์เชิงเปรียบเทียบกับที่ได้เคยพบเห็นมาในต่างแดน
เร็วๆ นี้เองพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ระดับมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทยได้เปิดดำเนินการ
แม้จะยังไม่ครบทุกส่วนดังที่วางแผนไว้ พิพิธภัณฑ์ที่ว่านี้อยู่ที่ตำบลคลองห้าจังหวัดปทุมธานี
ภายใต้การดูแลขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ผมได้ไปเยี่ยมชมมาและเกิดแรงบันดาล
ใจที่จะเขียนถึง ข้อสังเกตแรกคือสถานที่ตั้งออกจะห่างไกลใจกลางเมืองหรือเส้นทางหลัก
การเดินทางค่อนข้างลำบากถ้าไม่ได้มาด้วยรถส่วนตัวหรือเหมารถบัสมาเป็นหมู่คณะ
ข้อนี้แตกต่างกับในต่างประเทศที่มักจะให้พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (หรือพิพิธภัณฑ์สาขาใดๆ)
ของเมืองใหญ่อยู่ใกล้เขตชุมชนหรืออยู่บนเส้นทางหลักที่สามารถเดินทางได้สะดวก
เมื่อเข้าเขตตึกที่ทำการ ท่ามกลางทุ่งหญ้าที่เคยเป็นที่นาเวิ้งว้าง จะเห็นตึกรูปทรงประหลาดอยู่แต่ไกล
รูปทรงเหมือนลูกเต๋ายักษ์ 3 ลูกวางเอียงๆ ชิดกัน จัดเป็นสถาปัตยกรรมแลนด์มาร์คหนึ่งของประเทศเลย
ทีเดียว ภายในอาคารทรงลูก เต๋ายักษ์มีเนื้อที่จัดแสดงและอื่นๆ รวม 6 ชั้น
ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุม ทั้งพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิทยา-ศาสตร์เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
กับประเทศไทย วิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย
ไฮไลต์ที่ได้รับความ นิยมที่สุดโดยเฉพาะเด็กๆ คือ ชั้นที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องของวิทยา
ศาสตร์ขั้นพื้นฐานและพลังงานบนชั้นนี้ประกอบด้วยการทดลองต่างๆ เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
เป็นจุดที่สามารถสร้างความสนุกสนานให้กับผู้ชม ซึ่งผมคิดว่าเป็นการจัดแสดงที่ดีที่สุด
แต่ก็มีข้อวิจารณ์คือ ยังขาดการ แสดงเนื้อหาทางวิชาการที่เพียงพอ คือการแสดงแต่ละจุดมีคำอธิบายประกอบน้อยมากหรือบางการทดลองไม่มีคำอธิบาย
ใดๆ ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ในแต่ละจุดต้องใช้ พนักงานมาอธิบายเนื้อหาความรู้
การแสดงบนชั้นนี้เปรียบเทียบได้กับ Exploratorium หรือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แนวทดลองที่นครซานฟรานซิสโก
คือที่นั่นเน้นการเรียนรู้ด้วย ตัวเองจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ โดยมีการจัดชุดทดลองจำนวนมาก
เหมาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กนักเรียนแต่พื้นที่การจัดแสดงมีขนาดใหญ่กว่ามากคือ
ใกล้เคียงกับตึกลูกเต๋าทั้งตึก (เป็นแนวการทดลองทั้งหมด) สิ่งที่แตกต่างอีกอย่างคือที่นั่นจะมีข้อมูลเนื้อหาทางวิชาการเพื่ออธิบายเหตุผล
ของปรากฏการณ์ที่ได้จากการทดลอง ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองในกรณีเด็กโตหน่อย
หรือไม่ก็มีไว้ให้ผู้ปกครองอธิบายให้เด็กฟังอีกทอดกรณีเด็กเล็ก
ชั้นที่เหลือคือ ชั้นที่ 4, 5 และ 6 ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงแผ่นภาพคำบรรยาย
โดยมีคอมพิวเตอร์อินเตอร์แอคทีฟ หรือเครื่องเล่นวิดีโอเสริม จากการเดินชมและทดลองเล่นจออินเตอร์เเอคทีฟ
พบว่าเนื้อหาที่อธิบายทั้งแผ่นภาพและในจอสั้นมากทั้งๆ ที่สามารถบรรจุเนื้อหาได้มากกว่านี้
เนื้อหาเพื่อการเรียนรู้ไม่เป็นขั้นตอนและรวบรัดมาก ตัวอย่างเช่นเรื่องสภาวะอากาศ
ซึ่งเป็นหัวข้อที่สำคัญมากสำหรับประเทศเกษตร กรรมอย่างเรา แทนที่จะมีการอธิบายกลไกของสภาวะอากาศ
เพื่อให้ลูกหลานชาวไร่ชาวนาที่มีโอกาสมาเที่ยวชมได้เข้าใจ กลับเป็นเรื่องของการดูแผนที่อากาศและให้จำ
Pattern ของแผนที่อากาศ เนื้อหาการแสดงเป็นเช่นนี้ในหลายสาขาวิชา คือ รวบรัดมากในส่วนที่เป็นเนื้อหาสำคัญซึ่งเป็นเรื่องของความเข้าใจ
ขณะที่ไปโฟกัสในรายละเอียดอยู่บางเรื่อง
ในส่วนของวิทยา-ศาสตร์ประยุกต์และเทค โนโลยี จัดแสดงไว้ในชั้นที่ 4 และ
5 ก็ขาดข้อมูลอธิบายเพื่อสร้างความเข้าใจในเชิงวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรรม
คำถามที่อยู่ในจออินเตอร์แอคทีฟก็เป็นเรื่องของความจำ ที่ชั้น 4 มีการแสดงการทดลองสร้างสะพานซึ่งจัดไว้สำหรับเด็กเล็ก
ซึ่งเทคโนโลยีการสร้างสะพานชนิดนี้ น่าสนใจ แต่ก็อีก ไม่มีคำอธิบายในทางวิศวกรรม
ผมมีความเห็นว่าการทดลองหรือการแสดงใดๆ ไม่ว่าจะง่ายหรือยากน่าจะมีข้อมูลในระดับความลึกที่ครอบคลุมตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้ใหญ่
เพราะเราคงไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจัดพิพิธภัณฑ์หลายแห่ง อีกอย่างการใช้คอมพิวเตอร์อินเตอร์
แอคทีฟน่าจะเป็นหนทางที่สามารถจัดเนื้อหาให้ มีความลึกหลายระดับได้ (ซึ่งอาจต้องเพิ่มจำนวนจออินเตอร์แอคทีฟเพื่อให้ผู้ชมใช้เวลากับจอได้มากขึ้น)
ชั้นที่ 6 ซึ่งเป็นเรื่องของภูมิปัญญาไทยก็เน้นที่ดิสเพลย์เช่นกัน แต่มีความตั้งใจด้านศิลปะในการจัดวางตกแต่ง
เรื่องของศิลปะเป็นสิ่งที่ดีแต่เรื่องของเนื้อหายังบกพร่องอยู่ การแสดงไม่มีการอธิบายภูมิปัญญาในเชิงวิทยาศาสตร์
ที่มา เหตุผล หรือหลักการทำงานในเชิงช่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นความรู้สำหรับทำความเข้าใจเพื่อนำไปคิดค้นพัฒนาต่อได้
สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อสงสัยคือ การจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดแสดง คือสงสัยว่าน้ำหนัก
ไปอยู่ที่เนื้อหาหรือรูปแบบ สังเกตว่าหลายจุดมีการจัดแสดงที่เสียงบประมาณไปกับการประดิดประดอยเชิงศิลป์
หรือใช้อุปกรณ์ราคาแพงเช่น LCD Display ขนาดใหญ่ซึ่งมีราคาสูงมาก ผมมองว่าควรใช้งบประมาณในการพัฒนาเนื้อหาให้ดีก่อนเป็นสำคัญ
ส่วนรูปแบบการจัดแสดงก็สามารถทำให้สวยงามมีศิลปโดยใช้งบประมาณ ที่ประหยัดได้
(รวมทั้งการเลือกใช้อุปกรณ์ให้เหมาะกับฐานะ)
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นข้อคิดเห็น ที่มีจุดประสงค์อยากให้พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เป็นแหล่งความรู้ทางวิทยา-ศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับประชาชน
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความสามารถในการผลิต หรือการพัฒนาคุณภาพ ชีวิตของประชากร
แม้ข้อวิจารณ์ของผมจะออกไปทางลบแต่ก็อยากเชิญชวนท่านทั้งหลาย (หรือพาบุตรหลาน)
ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่คลองห้า ซึ่งก็มีสิ่งดีๆ ให้ชมอยู่พอสมควร
เป็นการสนับสนุนการดำเนินงาน และอาจแสดงข้อคิดเห็นเพื่อให้มีการปรับปรุงและพัฒนาให้ดียิ่งๆ
ขึ้นไป