ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์ เป็นนามแฝงของนักวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งนอกเหนือจากความเชี่ยวชาญในงานประจำด้านจิตเวชและจิตวิทยาแล้ว
ยังมีความสนใจ ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เขาจะเสนอมุมมองและสาระ ความรู้ที่น่าสนใจในคอลัมน์
"จากฝั่งพรานนก"
หากยังจำกันได้ ผมเคยเขียนถึงการศึกษาชิ้นหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา งานศึกษาชิ้นนี้ทำกับแม่ชีในคอนแวนต์
ซึ่งแน่นอนว่าล้วนแต่เป็นแม่ชีสูงวัย มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์
ในครั้งนั้นผลการศึกษาออกมาเพียงว่า แม่ชีที่ใช้ชีวิตในลักษณะที่มีการบริหารความคิด
หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ยังคงมีกิจกรรมทางสังคมและส่วนตัวที่ได้ใช้สมองในการ
ขบคิดแก้ไขปัญหา แม่ชีกลุ่มนี้มีโอกาสป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่าแม่ชีในวัยเดียวกัน
(ซึ่งอาศัยอยู่ในคอนแวนต์นั้นด้วยกัน) บทเรียนจากการศึกษานี้คือ แม้ว่าเราจะยังไม่ทราบสาเหตุ
หรือการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอย่างไรที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ แต่เราเริ่มทราบวิธีในการชะลอปัญหาความจำเสื่อมนี้ให้
ช้าลง
ในนิตยสารไทม์ฉบับประมาณเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมาได้รายงานส่วนแรกของผลการศึกษาชิ้นนี้
ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจ จึงได้เรียบเรียงมาเล่าสู่กันฟังดังนี้
การศึกษานี้ดำเนินโครงการโดยทีม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ ซึ่งนำทีมโดยนายสโนว์ดอร์น
ทีมนักวิจัยได้ทำการศึกษาในแม่ชีสูงวัยจำนวนเกือบ 700 คนในนอตเตอร์แดรม คอน
แวนต์ มินเนโซตา สโนว์ดอร์นและเพื่อนร่วมงานเลือกชุมชนแม่ชีแห่งนี้ในการ
ศึกษา เพราะเชื่อว่าปัจจัยเรื่องของอาหาร การกินไม่น่าจะต่างกัน รวมทั้งกิจวัตรประจำวันโดยส่วนใหญ่ควรจะเหมือนกัน
วิธีการเก็บข้อมูลของงานวิจัยนี้ที่น่าสนใจ คือ การศึกษาจากบันทึกก่อนบวชของแม่ชี
ซึ่งทุกคนจะเขียนบรรยาย ถึงอารมณ์ความรู้สึกของตนในการตัด สินใจบวชบันทึกก่อนบวชเหล่านี้ไม่ได้ให้ข้อมูลเพียงแค่ลักษณะอารมณ์ของผู้เขียน
หรือทัศนะการมองโลกแต่เพียงอย่างเดียว แต่บันทึกเหล่านี้ซึ่งแม่ชีทุกคนต้องเขียนนั้น
ประกอบไปด้วย รายละเอียดข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในวัยเด็ก ครอบครัว
และเหตุผลในการบวช ซึ่งสโนว์ ดอร์น สามารถใช้มันในการประเมินความสามารถ ทางด้านความรู้ความเข้าใจ
(cognitive ability) ของ เหล่าแม่ชีในช่วงวัยรุ่น และเปรียบเทียบกับการเกิดอัลไซเมอร์ในปัจจุบัน
ข้อสรุปที่ได้จากการศึกษาบันทึกเหล่านี้คือพื้นฐานการศึกษามีส่วนสำคัญในการช่วยลดความ
เสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ นั่นคือ คนที่มีการศึกษาสูง จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีกว่า
และมีความเสี่ยงน้อยกว่า
นอกจากนี้ยังพบว่า ลักษณะการแสดงออก ของคนเราสามารถใช้เป็นตัวคาดการณ์ถึงโอกาสที่
จะป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ในอนาคตได้ สโนว์ดอร์น พบว่าแม่ชีที่เขียนบรรยายเนื้อหาในลักษณะอารมณ์
ด้านบวก (มองโลกในด้านดี) มีโอกาสป่วยเป็น อัลไซเมอร์น้อยกว่าแม่ชี ที่แสดงออกในทางตรงกัน
ข้าม อาจจะฟังดูไม่ตื่นเต้นนัก หากเราไม่ทราบว่าบันทึกก่อนบวชเหล่านี้ แม่ชีทุกคนในโครงการศึกษา
นี้เขียนขึ้นเมื่อ 60-70 ปีที่แล้ว
สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมาของการศึกษานี้คือ สโนว์ดอร์นและทีมงานได้ศึกษาลงไปในราย
ละเอียดของวิธีการใช้คำ และไวยากรณ์ในการเขียน เรียงความของแม่ชีแต่ละคน
เขาแปรความสามารถ เหล่านี้ออกมาเป็นคะแนนเพื่อเปรียบเทียบกันโดยทีมผู้วิจัยพบว่า
แม่ชีที่ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์จะมีความสามารถในการเลือกใช้ถ้อยคำ และไวยากรณ์
ด้อยกว่าแม่ชีที่ยังคงมีความจำดี นั่นคือคะแนนที่ได้จะต่ำกว่ากัน และที่จริงแล้วความสามารถใน
การใช้ภาษาและไวยากรณ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้เสียหรือต่ำเพราะเป็นอัลไซเมอร์ แต่ผู้
วิจัยพบว่าบุคคลที่ป่วยเป็น อัลไซเมอร์ มีคะแนนความสามารถทางด้านภาษาและไวยากรณ์ต่ำมาตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่มสาวแล้ว
ผู้วิจัยสามารถอ่านบันทึกก่อนบวช แล้วให้การวินิจฉัยได้ว่าแม่ชีคนนั้นในปัจจุบันมีอาการของโรคอัลไซเมอร์หรือไม่
โอกาสถูกต้องของการประเมิน คือ 85-90% และอย่าลืมว่า นี่เป็นการอ่านบันทึกของคนในวัยยี่สิบปี
เพื่อประเมินว่าบุคคลนั้นจะป่วยเป็นอัลไซเมอร์
แต่ปัญหาที่ผู้วิจัยยังตอบไม่ได้คือ ความสามารถ ด้านภาษาและไวยากรณ์ที่สูงกว่าเป็นปัจจัยป้องกันการ
ป่วยในอนาคตหรือความสามารถที่ต่ำกว่าชี้ให้เห็นว่า บุคคลผู้นั้นเริ่มป่วยตั้งแต่อายุ
20 ปีและอาการเพิ่งจะมาแสดงออกอย่างชัดเจนในช่วงวัยชรา พูดง่ายๆ คือ ปัญหาไก่กับไข่ที่เรายังตอบไม่ได้
อีกประเด็นหนึ่งที่การศึกษานี้สนับสนุนความเชื่อ ที่เรามีกันอยู่เดิม คือ
การทำงาน หรือการบริหารสมอง โดยกิจกรรมการคิด (mental exercise) จะช่วยให้เซลล์
สมองแข็งแรง และเสื่อมช้าลง
สิ่งที่น่าทึ่งของการศึกษานี้อีกประการหนึ่ง คือ แม่ชีที่เข้าร่วมการศึกษานี้กว่า
60% ยินยอมให้ผู้วิจัยผ่าตัดตรวจเนื้อสมองของพวกเธอหลังจากถึงแก่กรรม และจากการศึกษาเนื้อสมองของแม่ชีที่ถึงแก่กรรม
พวกเขาพบว่า ในบรรดาเนื้อสมองที่พบเซลล์และแพลค (plaque) ที่บ่งถึงการเกิดอัลไซเมอร์
แม่ชีที่มีเส้นเลือดอุดตันในสมองร่วมด้วยเกือบทุกราย มีอาการของอัลไซเมอร์ร่วมด้วยในขณะที่กว่าครึ่งของแม่ชีที่เนื้อสมองไม่มีร่องรอยของการอุดตันเส้นเลือด
ไม่มีอาการของอัลไซเมอร์แม้ว่าจะมีแพลค (ซึ่งบ่งถึงพยาธิสภาพของอัลไซเมอร์)
สิ่งนี้บ่งว่าหากสมองเริ่มผิดปกติและเกิดอัลไซเมอร์ขึ้น การได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ
หรือภาวะเส้นเลือดสมองอุดตันจะทำให้การดำเนินโรคเร็วขึ้น จนอาการสมองเสื่อมปรากฏให้เห็นนัยของผลนี้บอกกับเราว่า
ในกิจกรรมทั่วไปการป้องกันอุบัติเหตุ ที่ศีรษะเป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่ง
ไม่ว่าจะ เป็นการใช้หมวกกันน็อกขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือเล่นกีฬาบางชนิด
การใช้เข็มขัดนิรภัย หรือ ถุงลมนิรภัยในการขับรถยนต์
ในอีกด้านหนึ่งการระมัดระวัง ในเรื่องของสุขภาพ ไม่ทานอาหารไขมันสูง งดสูบบุหรี่
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นเส้น เลือดสมองอุดตัน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยง
ทำให้การดำเนินโรคของอัลไซเมอร์เร็วขึ้น
ประการสุดท้าย ที่งานวิจัยชิ้นนี้ บอกกับเรา คือเรื่องของอาหารเสริมทั้งหลาย
สำหรับสารโฟเลต นั้น สโนว์ดอร์นพบว่ามีส่วนทางอ้อมโดยการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตัน
ส่วนแอนตี้อ็อกซิเดนท์ ที่หลายคนพูดกันนักหนา ว่า วิตามินอี และวิตามินซี
สามารถป้องกันอนุมูลอิสระ ที่จะมีผลทำลายเซลล์สมอง งานวิจัยนี้ยัง ไม่สามารถชี้ให้เห็นว่าวิตามินทั้งสองตัวมีบทบาทในการป้องกัน
การเกิดอัลไซเมอร์
งานวิจัยนี้ยังคงทำต่อเนื่องไปหลังจากที่ได้ดำเนินมาเป็นเวลาสิบปีเศษ และสโนว์ดอร์นกับทีม
กำลังจะศึกษาสมองของบรรดาแม่ชีที่ยังคงมีชีวิตอยู่ด้วยการใช้เครื่อง MRI
(Magnetic resonance imaging) ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากการศึกษานี้จะช่วยให้เราเข้าใจถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรค
อัลไซเมอร์ และวิธีป้องกันแต่สิ่งที่นักสาธารณสุขใน อเมริกากำลังกังวลมากเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์
คือในปัจจุบันกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัลไซเมอร์คือ คนที่เกิดในยุคเบบี้บูมคือ
ช่วงทศวรรษที่ 60 คนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นยุคที่ประชากรอเมริกันเกิดมากที่สุด
กำลังล่วงเข้าสู่วัยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ดังนั้นเวลาที่ผ่านไปในแต่ละปีบ่งถึงความเสี่ยงที่มากขึ้นเรื่อยๆ
และที่สำคัญคือ นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีความเป็นไปได้ที่อัลไซเมอร์จะเกิดเร็วขึ้นในเจนเนอเรชั่นปัจจุบัน