งานศิลปะกำลังเดินทางเข้าไปหาผู้คนมากขึ้น ทุกวันนี้ แกลเลอรี่ หอศิลป์
เกิดขึ้นแทบทุกหัวถนน แม้แต่ตามร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายหนังสือ ปฏิทินงานศิลป์ที่ถูกส่งเข้ามาให้สื่อต่างๆ
ช่วยประชาสัมพันธ์ไม่ได้ลดน้อยลงเลย
งานศิลปะในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นจะปรากฏเป็นภาพที่เคียงคู่ไปกับคนที่มีฐานะดี
มีการ ศึกษาสูง ทำหน้าที่เหมือนเครื่องประดับที่ส่งเสริมรสนิยม และความมีหน้ามีตาในสังคม
เป็นไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่งของคนรุ่นใหม่ ที่พอถึงจุดหนึ่งก็อยากมีชีวิตที่มีรถหรูๆ
ขับ มีอาหารดีๆ ทาน แล้วก็มีเวลาสำหรับพักผ่อนดูงานศิลปะ เป็นวิถีชีวิตที่ถูกหล่อหลอมมาจากสังคมตะวันตก
และ มีส่วนสำคัญที่ทำให้งานศิลปะบูมที่สุดตั้งแต่ช่วงปี 2530 เป็นต้นมา เมื่อประกอบเข้ากับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่
ทำให้ราคาภาพทะยานสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ศิลปินหน้าใหม่มีโอกาสได้ เกิด
พร้อมๆ กับแกลเลอรี่ และหอศิลป์เอกชนก็เกิดขึ้นตามมามากมาย
จนกระทั่งเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ ภาวะการซื้อขายงานศิลปะชะงักงัน แกลเลอรี่หลาย
แห่งปิดตัวไป แต่ในขณะเดียวกัน แกลเลอรี่ใหม่ๆ ก็ยังเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ
พร้อมๆ กับงานแสดง ผลงานที่ไม่ได้ลดน้อยลงเลย
"ผู้จัดการ" แบ่งแกลเลอรี่และหอศิลป์ไว้ 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1. แกลเลอรี่ที่มีการแสดงงานและขายภาพ
2. ร้านอาหารซึ่งมีการแสดงงานและขายภาพ 3. หอศิลป์ขององค์กรเอกชนและรัฐบาล
4. แกลเลอรี่บนพื้นที่ของโรงแรมและศูนย์การค้าที่แสดงงานและขายภาพ
แกลเลอรี่ที่ยังมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเหล่านั้นในกรุงเทพฯ ขณะนี้มีประมาณ
50 แห่ง (ไม่รวมแกลเลอรี่เอกชนที่ขายงานอย่างเดียว) ในขณะเดียวกัน มีการแสดงงานศิลป์ประมาณ
25-30 งานต่อเดือน
นั่นหมายความว่าโดยเฉลี่ยแล้ว มีงาน ใหม่ๆ เปิดแสดงกันอยู่ทุกวันและความจริงที่เกิดขึ้นก็คือเจ้าของแกลเลอรี่ส่วนใหญ่
ยืนยัน ว่าการจัดนิทรรศการแต่ละครั้งนั้น ขายงานแทบไม่ได้เลย แต่คนสนใจงานศิลปะและศิลปินนั้นกลับมีเพิ่มมากขึ้น
ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการ หอศิลป์ตาดู ซึ่งเปิดมานานถึง 5 ปี เล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟังว่า
"เท่าที่ตัวเองมีประสบการณ์ต้องยอม รับว่าที่หอศิลป์ตาดูนั้น มีคนมาดูงานศิลปเพิ่มขึ้น
สิ่งหนึ่งอาจจะเป็นเพราะหอศิลป์เองก็ไม่ได้แต่เพียงจัดงานนิทรรศการอย่างเดียว
แต่มีการนำเสนอกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย มากขึ้น เช่น มีฉายหนัง มีละครเวที
หรือออก ไปจัดงานตามที่สาธารณะต่างๆ รวมทั้ง พยายามหากลวิธีต่างๆ ในการประชาสัมพันธ์งานให้กว้างขวางขึ้น"
ในขณะเดียวกัน กลุ่มวัยรุ่นจะได้อิทธิพล และซึมซับงานทางด้านศิลปะ จากสื่อต่างๆ
รอบตัว ก็คอยเป็นตัวกระตุ้นอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน รวมทั้งมหาวิทยาลัยเองก็มีคณะต่างๆ
เกี่ยว กับเรื่องศิลปะเพิ่มขึ้น ทำให้มีบัณฑิตที่เรียนจบมาทางสายศิลป เพิ่มตามไปด้วย
"ที่หอศิลป์ตาดูเมื่อเทียบกับปีแรกๆ ที่เราเปิด กลุ่มเด็กระดับมัธยมที่จะเดินเข้ามาดูงานน้อยมาก
หรือโรงเรียนต่างๆ ที่พาเด็กมาดูงานศิลป์ ก็แทบไม่มีเลย ปัจจุบันเองก็ยังเป็นอย่างนี้
แต่จะมีกลุ่มวัยรุ่นเข้า มาดูเองมากขึ้น มากันเป็นกลุ่มๆ ใส่เครื่องแบบมัธยม
ส่วนพวกนักศึกษามหาวิทยาลัยก็เป็นปกติอยู่แล้วที่จะเข้ามาดูงานศิลป์"
มิติของเรื่องวัฒนธรรมที่ถูกแทรกเข้ามาในชีวิตประจำวันนั้น กำลังถูกถ่ายทอดไปยังรุ่นต่อไป
แม้ว่าหลักสูตรการศึกษา ในระดับชั้นประถมในเรื่องวิชาศิลปะในช่วง 30 ปีก่อนกับปัจจุบันนี้แทบจะไม่แตกต่างกันคือ
มีเพียง 1 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์เท่านั้น แต่เด็กๆ ในสมัยนี้จะได้รับการส่งเสริมให้เรียน
ศิลปะ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เล่นกีฬา และดนตรี โรงเรียน สอนศิลปะ สอนวาดรูปสีน้ำ
สำหรับเด็กเล็กจึงเกิดขึ้นมากมาย เช่นเดียวกับการเกิดโรงเรียนสอนศิลปะให้กับ
ผู้ใหญ่
ศิลปะเด็กจะกลายเป็นเรื่องแฟชั่นของ พ่อแม่รุ่นใหม่หรือไม่ก็ตาม แต่มันก็เป็นการปลูกฝังเด็กในเรื่องงานศิลป์ไปแล้ว
คนกลุ่มนี้หากได้รับการส่งเสริมที่ถูกต้อง ต่อไปเขาก็อาจจะเดินเข้าหอศิลป์เดินเข้าแกลเลอรี่มากขึ้นเช่นกัน
สังคมไทยกำลังสร้างศิลปินและคนสนใจงานศิลป์ให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต แต่วันนี้
คนซื้อหรือคนสะสมงานไม่ได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นทางออกของแกลเลอรี่เมื่อหวังพึ่งเปอร์เซ็นต์จากการขายภาพไม่ได้
ก็พยายามดิ้นรนหาองค์กรเอกชนต่างๆ เข้ามาสนับสนุน พร้อมๆ กับเกิดแกลเลอรี่ในอีกรูปแบบหนึ่งที่เข้าไปแฝงอยู่
กับร้านขายอาหาร ร้านขายกาแฟ หรือการขายหนังสือ
ร.ศ.วิโชค มุกดามณี เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการจัดงานแสดงตามห้องอาหาร
หรือ ตามพื้นที่เล็กๆ ไว้ว่า
"หากถามผมเมื่อก่อนจะบอกว่าไม่ควร แต่ถ้าถามผมตอนนี้จะบอกว่าควรทำ เห็นมั้ยว่า
ผมยังเปลี่ยน vision ผมเปลี่ยนวิธีคิด เมื่อก่อนนี้ผมรังเกียจ ศิลปะมีคุณค่า
แสดงได้อย่างไร ในร้านอาหารกระจอก มันต้องอยู่ในหอศิลป์ เลอเลิศ ผมคิดอย่างนั้น
เพราะถูกอบรมมาอย่างนั้น มาถึงตอนนี้คนที่จะมารับรู้รสชาติของศิลปะมันมีอยู่ทุกที่
มันไม่จำเป็นต้องอยู่ใน Museum ตรง ไหนก็เป็น Art ถ้าเราพร้อมที่จะทำอย่างเต็มที่
มาตอนหลังเนี่ย แล้วว่า คนเขียนรูปทำดีๆ แกลเลอรี่เล็กก็ได้ ในวัดก็ได้ ในโบสถ์ก็ได้
ตรงไหนก็ได้ที่แสดงแล้วเกิดปัญญาต่อผู้ดู"
ประวิทย์ หุ้นส่วนคนหนึ่งของบ้านบางกอกบนถนนพระสุเมรุ ได้เล่าให้ "ผู้จัดการ"
ฟังว่า
"ครั้งแรกที่มาเห็นบ้านเก่าหลังนี้ก็ชอบมากทีเดียว เพราะเป็นบ้านหลังใหญ่
พื้นที่กว้างมาก และมีห้องหลายห้อง เลยคิดว่าน่าจะทำส่วนหนึ่งเป็นแกลเลอรี่
มีบาร์ มีร้านอาหารอยู่ด้วยกัน ปัจจุบันรายได้หลักมาจากร้านอาหาร ส่วนแกลเลอรี่
ตั้งแต่เปิดมา ประมาณ 2 ปี แทบจะไม่มีรายได้เลย เป็นแค่เพียงอาหารตาที่จะเป็นส่วนช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับร้านเท่านั้น"
และเพราะสถานที่ที่สวยงามกว้างขวาง ทำเลดี เหมาะแก่การนัดพบ สังสรรค์ ทำให้ที่นี่มีศิลปินหน้าใหม่ๆ
เปลี่ยนเอาผลงาน มาลงเกือบทุกเดือน โปรแกรมงานศิลป์ของบ้านบางกอกจึงแน่น
ตลอดทั้งปี
ร้านหนังสือนายอินทร์สาขาต่างๆ ก็มีการจัดงานนิทรรศการ งานศิลป์ About
Cafe ของเกล้ามาศ ยิบอินซอย ที่มีผลงานดีๆ แสดงอย่างต่อเนื่องก็กำลังเป็นที่พูดถึงในวงการ
แม้แต่ร้านอาหารริมทางเล็กๆ แถวถนนพระ อาทิตย์หลายร้าน ก็มีการโชว์ผลงานศิลปะ
และประมาณเดือนสิงหาคม แกลเลอรี่ในร้าน ขายกาแฟ ของเป้ สีน้ำ ก็จะเกิดขึ้นบนถนนรามอินทรา
เพื่อเป็นการสร้างฐานของคนดูที่เข้าใจ งานศิลปะในระยะยาวบางแกลเลอรี่เริ่มมีโครง
การที่เกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่นมากขึ้น ลักขณาอธิบายในเรื่องนี้ว่า
"เด็กจะเป็นเป็นฐานที่ใหญ่มากในอนาคต ตอนนี้ทุกนิทรรศการ เราพยายามทำเวิร์กช็อปให้กับเด็ก
โดยจะใช้หัวข้อให้สอด คล้องกับงานที่แสดงอยู่คือ ให้งานมันมาเชื่อม กัน เด็กๆ
ก็จะเข้าใจว่า อ๋อ! ที่พี่เขาเอางานมา ให้ดูนี่มันเกี่ยวกับอะไร แต่เราพยายามทำในระดับที่เด็กเขาจะรับได้
เขาเองก็จะค่อยซึมซับ งานในแกลเลอรี่ไป เขาเองจะมีส่วนร่วมกับสถานที่นี้ได้อย่างไร
โตขึ้นเขาก็จะค่อยพัฒนาเป็นกลุ่มผู้ชมของเรา"
นิทรรศการงานชุด "สุดที่รัก" ของชลิต นาคพะวัน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
เป็นงาน แรกที่ทางหอศิลป์ตาดูได้พยายามดึงเด็กเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยให้เด็กได้ถ่ายทอดจินตนาการ
เกี่ยวกับเรื่องความรักเป็นรูปหัวใจที่หลากหลาย
Si-Am art space หอศิลป์น้องใหม่ที่เกิดมาประมาณ 1 ปี มีวรวุฒิ ธัมพิพิธ
ซึ่งจบจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และเปิดโรงเรียนสอนศิลปะขึ้นมาก่อนที่จะเปิดแกลเลอรี่ตามมา
ซึ่งเขาว่าจะเป็นส่วนที่ช่วยเสริมโรงเรียน ให้เด็กๆ เหล่านั้นก็จะได้เห็นผลงาน
จะได้รู้จักกับศิลปินจริงๆ
ทางด้านหอศิลป์ สเปส ก็กำลังเตรียมโครงการร่วมกับมูลนิธิ ปรีดี ดาวใจ สุจริตกุล
เพื่อ ช่วยกิจกรรมในเรื่องสาธารณะ โดยจะเริ่มโครงการสอนให้กับผู้ปกครองที่ต้องการมีความรู้เกี่ยว
กับศิลปะ รวมทั้งมีการสอนศิลปให้กับเด็กก่อนวัยเรียน อาจจะจัดหมุนเวียนไปตามชุมชนต่างๆ
และจะเริ่มโปรแกรมแรกในเดือนสิงหาคม 2544 ที่จะถึงนี้
พร้อมๆ กับการทำโครงการศิลปะสู่สาธารณชนครั้งที่ 1 ในนิทรรศการศิลปะ "ตัวปลอม"
โดยบุคคลอาชีพต่างๆ ทั้งนักเขียน นักแสดง คนขับรถรับจ้าง สื่อมวลชน ซึ่งทางวิสูตร
สุทธิกุลเวทย์ ผู้จัดการหอศิลป์มั่นใจว่า การร่วมกิจกรรมกับบุคคลทั่วไป จะมีส่วนให้บุคคลเหล่านั้น
มีความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะมากยิ่งขึ้น และยังทำให้คนรอบข้างของผู้ร่วมแสดงผลงานได้เข้ามา
สัมผัสกับศิลปะ เพื่อกระจายความรู้ด้านศิลปะให้กว้างขวางออกไปอีก
ศิลปะกำลังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อย่างน่าสนใจมากทีเดียว
รายชื่อแกลเลอรี่ และหอศิลป์ (ที่มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง)
แกลเลอรี่ที่เป็นร้านอาหาร แสดงงาน และขายภาพ 1. อะเบาท์สตูดิโอ อะเบาท์
คาเฟ่ 2. บ้านบางกอกแกลเลอรี่ 3. พระนครบาร์ & แกลเลอรี่ 4. โต๊ะคิม
อาร์ต แกลเลอรี่
แกลเลอรี่ที่แสดงนิทรรศการ และขายภาพ 1. AKKO Collectors"House 2.
บางกอกแกลเลอรี่ 3. แกลเลอรี่ 253 4. แกลเลอรี่ 55 5. การูดา ไฟน์ อาร์ต
เอกมัย 6. นำทอง แกลเลอรี่ 7. Open Art Space 8. ผ่านฟ้า แกลเลอรี่ 9. Place
of Art Gallery 10. โปรเจ็ค 304 11. โรทันดา แกลเลอรี่ 12. Si-Am Art Space
13. Sipprapa Art Center 14. Space Contemporary Art 15. หอศิลป์ตาดู 16.
ทวิบูแกลเลอรี 17. เมอคิวรี่อาร์ต แกลเลอรี่ 18. ริมสวน แกลเลอรี่ 19. เวียงตะวัน
แกลเลอรี่ 20. ภัทราวดี แกลเลอรี่
แกลเลอรี่บนพื้นที่โรงแรม และศูนย์การค้า 1. ซิตี้ แกลเลอรี่ ในโรงแรมสยามซิตี้
2. ริเวอร์ ซิตี้ 3. ริมสวน แกลเลอรี่ โรงแรมฟอร์จูน 4. ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์
5. ศูนย์การค้าดิ เอ็มโพเรี่ยม 6. ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ 7. Open Art
Space ศูนย์สรรพสินค้า เดอะสีลม แกลเลอเลีย
หอศิลป์ ในสถานศึกษา ราชการ และองค์กร 1. หอศิลป์วิทยนิทรรศน์ สถาบันวิทยบริการ
จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย 2. หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หอศิลป์ของคณะจิตรกรรม
ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร 3. หอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
4. หอศิลป์แห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า 5. หอศิลป์ วิทยาลัยเพาะช่าง 6. หอศิลป์ ของสถาบันราชภัฏสวนดุสิต
7. หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 8. สถาบันเกอเธ่
ปฏิทินงานศิลป์ หอศิลป์สเปส 6-29 ก.ค 2544 นิทรรศการศิลปะ ของรวิชญ์ เทิดวงศ์
11-29 ก.ค. 2544 นิทรรศการศิลปภาพถ่าย โดยศิลปินเยอรมัน 10-26 ส.ค. 2544
นิทรรศการศิลปะ "ตัวปลอม"
Si-am Art Space Gallery 1-31 ก.ค.2544 นิทรรศการศิลปะของสุรชัย เอกพลากร
หอศิลป์ตาดู 23 มิ.ย. - 21 ก.ค. 2544 "Four Eyes Cloudy Skies" โดยวิน เซ็น
เรียว ศิลปินหัวก้าวหน้าจากสิงคโปร์ Open Arts Space 27 ก.ค. - 6 ก.ย.2544
"หลงหู หลงตา" โดยชาติชาย ปุยเปีย
หอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 30 มิ.ย. - 4 ส.ค.2544 นิทรรศการศิลปะ "ความรู้คู่ความดี"
โดยอาจารย์ประจำภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ ร่วมกับบุคคลและองค์กรภายนอก
หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 13 ก.ค. - 10 ส.ค.2544 นิทรรศการ
"สุภาษิตที่พี่สอนน้อง" โดย ประวัติ เล้าเจริญ 16 ส.ค. - 1 ก.ย.2544 นิทรรศการ
"ประวัติศาสตร์และความทรงจำ" โดยชาติชาย ปุยเปีย, สุธี คุณายาน, อิ๋ง กาญจนะวณิชย์
และมานิต ศรีวานิชภูมิ 6 - 29 ก.ย.2544 นิทรรศการ "ประติมากรรมสีขาว" ประติมากรรมงานแบบติดตั้งจัดวาง
และวาดเส้น โดย สมบูรณ์ หอมเทียนทอง หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร 1 - 30 ก.ย.
การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ณ หอศิลปแห่งชาติ ถ.เจ้าฟ้า 3 - 21 ก.ย. การประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปิน
รุ่นเยาว์ครั้งที่ 18