เขาเป็นคนในตระกูลล่ำซำ ที่เข้าบริหารในธุรกิจประกันชีวิต หนึ่งในธุรกิจเก่าแก่ของตระกูลล่ำซำ
และเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญ ที่มีต่อการนำระบบไอทีมาประยุกต์ใช้ภายในองค์กร
หลังเรียนจบด้านบริหารธุรกิจจาก School of Business in Administration,
Northeastern University, U.S.A. และจบ Master of Science in Adminstration,
Boston University, U.S.A.
สาระเริ่มงานชีวิตการทำงานครั้งแรกในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ ฝ่ายวาณิชธนกิจ
บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในปี 2533 ทำได้ 2 ปี ย้ายมาทำงานอยู่ในทีม
Management Trainee ที่เมืองไทยประกันชีวิต
จากนั้นก็เป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมและพัฒนาเทคนิค ก่อนจะ เข้าไปเป็นหัวหน้าทีมในการรีเอ็นจิเนียริ่งองค์กร
ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ตั้งขึ้นเพื่อรอง
รับการรีเอ็นจิเนียริ่ง และเป็นการทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา Robert E
Nolan ที่ว่าจ้างเข้ามาเพื่อรีเอ็นจิเนียริ่งองค์กร
ผลของการรีเอ็นจิเนียริ่งองค์กรในครั้งนั้นเอง ทำให้สาระมองเห็นภาพรวมขององค์กรทั้งหมดในทุกๆ
ด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบ งานภายใน สภาพของธุรกิจภายนอก โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตขององค์กรแห่งนี้
และหนึ่งในนั้นก็คือ การปฏิรูประบบไอทีทั้งหมด
หลังจากแผนการรีเอ็นจิเนียริ่งถูกวาง สาระรับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน
ที่ต้องดูภาพรวมของธุรกิจ รวมถึงแผน การปรับปรุงระบบไอทีทั้งหมด ที่เริ่มขึ้นในปี
2540
และผลจากการปรับปรุงระบบไอทีในครั้งนั้น เป็นรากฐานในการพัฒนาไปสู่โครงการ
Mr.Smart และโครงการ MT-e Business ในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเก่าแก่ไม่ได้ห่างไกลจากความล้ำสมัยของเทคโนโลยี
สาระขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ 4 ปีเต็ม ก่อนจะได้โปรโมตให้เป็นรองกรรมการผู้จัดการ
ด้วยหน้าที่การงาน และความสนใจส่วนตัว ทำให้สาระต้องเรียนรู้เกี่ยวกับไอทีอยู่ตลอดเวลา
ทั้งจากการสัมมนาบวกกับการศึกษา ส่วนตัวที่ต้องมีการติดตามข้อมูลข่าวสาร
"เวลาเราไปฟังสัมมนา ก็จะเป็นเรื่องของไอที ไม่ว่าธุรกิจไหน ต้องไปทางนี้หมด
หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมคิดว่า ทุกคนโฟกัสตรงนี้ มันเป็น สิ่งที่เราต้องเห็น
แต่เราไม่ได้หลับหูหลับตา แต่ดูความเหมาะสม
นอกเหนือจากการนำระบบไอทีมาใช้ประโยชน์ในภาพรวมขององค์กรแล้ว สาระได้เคยทดลองนำเอาระบบอีเมลมาใช้ในการ
นัดหมายเพื่อเรียกประชุม แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลามีผู้เข้าประชุมเพียงแค่
3-4 คนเท่านั้น
"ผู้บริหารบางคนไม่ได้เปิดอีเมล" สาระเล่า และยอมรับว่า การนำไอทีมาใช้ต้องเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
และต้องอาศัยเวลา
ก่อนหน้าที่จะเกิดโครงการ Mr.Smart ซึ่งเป็นการนำคอมพิว เตอร์มือถือมาใช้งาน
สาระเคยมีโครงการนำเครื่องโน้ตบุ๊คมาใช้งาน ซึ่งเป็นโครงการที่คิดมาตั้งแต่
3-4 ปีก่อน
"แต่โชคร้ายออกมาในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ เพราะแล็ปทอป มีราคาแพง โครงการนี้ก็เลยระงับไป
และต่อมาเราก็เปลี่ยนมาใช้ เครื่องพีดีเอ ซึ่งเทคโนโลยีพัฒนาให้ใช้งานได้เต็มที่แล้ว"
ถึงแม้จะเป็นคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าสนใจทางด้านไอที และต้องติดตามตลอดเวลา
แต่สาระก็ไม่ใช่คนที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย หรือ ใช้เทคโนโลยีล้ำหน้า
แต่คำนึงถึงเรื่องประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก
"ผมไม่ใช่คนเก่งในเรื่องไอที แต่ผมเป็นคนที่เรียนรู้ตลอดเวลา" สาระบอก
เส้นทางไอที
บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต นับเป็นองค์กรอีกแห่งหนึ่งที่ให้ ความสำคัญกับการนำระบบไอทีมาใช้ตลอดเวลาหลายสิบปีมานี้
จุดเริ่มต้นของการวางระบบไอทีของบริษัทเมืองไทยประกัน ชีวิต เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี
2517 เวลานั้นยังเป็นการเช่าเครื่อง IBM System 3 มาจากบริษัทล็อกซเล่ย์
เพื่อนำมาใช้งานด้านประกันชีวิต การออกใบเตือนครบกำหนดชำระเบี้ยประกัน และพิมพ์ใบเสร็จ
จนในปี 2524 มีเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง เมืองไทย ประกันชีวิตเหมือนกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ
ที่ใช้วิธีการพัฒนาโปรแกรมขึ้นเอง และมีการขยายผลการใช้ไอทีไปยังระบบงานอื่นๆ
เช่น ตัวแทนนำส่งเบี้ยประกันไปที่ฝ่ายการเงินไปจนถึงการพิจารณารับประกัน
การออนไลน์ข้อมูลระหว่างสาขาและสำนักงานใหญ่เริ่มขึ้น ในปี 2532 เป็นการออนไลน์ในลักษณะของ
real-time เหมือนกับเครื่องเอทีเอ็มของธนาคาร ผลก็คือ ลูกค้าจะใช้บริการที่สำนักงาน
สาขาได้เหมือนกับสำนักงานใหญ่
ถัดมา 6 ปี คือ ในปี 2538 ได้มีการทำ Re-engineering ระบบงานของบริษัท
และผลจากการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ในปี 2540 เมืองไทยประกันชีวิต ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การนำ
เอาระบบซอฟต์แวร์จากภายนอก แทนที่จะพัฒนาเองมาใช้งานเพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานมากขึ้น
และนับเป็นปีที่มีการเปลี่ยน แปลงระบบงานไอทีมากที่สุดอีกปีหนึ่ง เว็บไซต์
muangthai.co.th ของเมืองไทยประกันชีวิต ก็ทำขึ้นในปีนี้ เป็นการให้ข้อมูลทั่วไป
หลังจากนำไอทีสร้างความพร้อมให้กับระบบ back office การใช้ไอทีในการสนับสนุนของฝ่ายการตลาดเริ่มขึ้นในปี
2543 เริ่ม จากการนำระบบ VPN (Virtual Private Networking) มาใช้ทดแทน ระบบออนไลน์แบบเดิม
เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง และเป็นจุดเริ่มต้นของ โครงการ Mr.Smart ที่ร่วมกับบริษัทพอยต์เอเซีย
จุดเริ่มต้นของโครงการ "Mr.Smart" มาจากการวางราก ฐานระบบไอทีของเมืองไทยประกันชีวิต
เมื่อข้อมูลที่เกี่ยวกับระบบ งานทั้งหมดที่ส่งผ่านจากฝ่ายต่างๆ ถูกส่งเข้ามาเก็บไว้ที่เครื่อง
IBM AS/400 เป็นระบบหลักในการรองรับระบบงานหลักๆ รวมทั้งระบบ ฐานข้อมูล ในขณะที่เครื่อง
IBM AS/400 จะรองรับการทำงานของโปรแกรมโลตัส โดมิโน ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดส่งข้อมูลในรูปของ
mail ไปให้กับผู้ใช้เครื่องพีดีเอ ที่จะต้องเข้ามา update ข้อมูลกับฐานข้อมูลของบริษัทตลอดเวลา
มินิ-คอมพิวเตอร์ทั้ง 2 เครื่องจะทำงาน คู่ขนานกัน เมื่อข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ
ของบริษัทถูกส่งเข้ามาในระบบ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังมินิคอมพิวเตอร์อีกครั้ง
เพื่อส่งข้อมูลไป ให้กับตัวแทนขายประกันชีวิตที่มีเครื่องพีดีเออยู่ในมือ
ที่จะต้องมา update ข้อมูลของตัวเอง
ในปีนี้ โครงการ MT-e business ก็เริ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้าง Data
warehouse ที่รวบรวมฐานข้อมูลหลักๆ ทั้งหมด เช่น Financial System, Investment
systems, Group Life Insurance Systems มาไว้ที่เครื่องแม่ข่ายหลัก เพื่อเป็น
Data warehouse
จากนั้นข้อมูล Data warehouse ไปใช้ในด้านของลูกค้า ตัวแทน และด้านระบบงานภายใน
Smart, Laptop, Knowledge, Management, Document WolkFlow, Messaging, Decision
Support System ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้ประโยชน์จากทั้ง 3 ส่วนหลักๆ ที่สำคัญ
และนี่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการนำไอทีมาใช้กับองค์กร ธุรกิจประกันชีวิต
ที่กำลังต้องเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันที่กำลังเข้มข้นขึ้นทุกขณะ และอย่างที่สาระกล่าวไว้
"ไอทีไม่มีภาพตอนจบ เมื่อธุรกิจยังต้องเดินหน้าต่อไป"