ในที่สุดพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ที่ เรียกกันติดปากว่า
TAMC ก็ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตราเป็นกฎหมายสมบูรณ์พร้อมดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบแล้วเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
"การจัดตั้งทีเอเอ็มซีครั้งนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งเป็นขั้นตอน ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ
รวมทั้งให้นายธนาคาร ทั้งภาครัฐและ เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น"
มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการยกร่างกฎหมาย บสท.
กล่าวในการสัมมนา "วิเคราะห์เจาะลึกทีเอเอ็มซี ใครได้....ใคร เสีย" ซึ่งจัดโดยสถาบันพระปกเกล้าก่อนที่ร่างกฎหมายจะเข้าสู่สภาเพียง
1 วัน
ตามขั้นตอน หลังจากที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายมาเป็นพระราช กำหนด ก่อนนำเข้าสู่สภา
องค์กร บสท.ได้ถูกจัดตั้งขึ้นและกำลังอยู่ระหว่างการรับโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
(เอ็นพีแอล) จากธนาคาร ของรัฐ 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ไทยธนาคาร ธนาคารนครหลวง
ไทย และธนาคารศรีนคร กับหนี้ที่ของธนาคารพาณิชย์เอกชน ซึ่งมีจำนวนเจ้าหนี้มากกว่า
2 ราย เข้ามาอยู่ใน บสท.
จำนวนลูกหนี้เอ็นพีแอลที่จะรับโอนเข้ามาตามเป้าหมาย มีทั้งสิ้นประมาณ 1.6
แสนราย มูลหนี้รวมประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท
หลังจากนั้นก็จะเริ่มกระบวนการตรวจสอบบัญชี ก่อนที่จะแยก หนี้ออกเป็นกองๆ
แล้วจ้างมืออาชีพเข้ามาบริหาร
อย่างไรก็ตาม หลังการอภิปรายร่างกฎหมายนี้ในสภาผู้แทนราษฎร ทำให้เกิดข้อห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องของความโปร่งใสในการบริหาร
ของคณะกรรมการ บสท. ตามมา โดยเฉพาะประเด็นอำนาจทางกฎหมายที่ได้มีการมอบไว้ให้อย่างเบ็ดเสร็จในการจัดการกับลูกหนี้ที่รับโอนเข้ามา
ทั้งในการจัดทำแผนปรับโครงสร้างหนี้ ตลอดจนการจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าของเรื่องก็เข้าใจในความห่วงใยเหล่านี้
แต่เขาเชื่อว่าการมี บสท. คือ แนวทางในการแก้ปัญหาเอ็นพีแอลทั้งระบบได้อย่างดีที่สุดในขณะนี้
"ผมเรียนรู้จากการเมืองที่อินโดนีเซีย เขาตั้งเอเอ็มซีไม่สำเร็จเพราะเหตุผล
2 อย่าง หนึ่ง-ก็เหมือนที่เมืองไทยเรา มีการกล่าวหากัน ว่าคนนั้นไม่ดี คนโน้นไม่ดี
คนนั้นได้เปรียบ คนนี้คนรวย คนจนอะไรอย่างนี้ มันไม่จบเสียที มันเป็นอย่างนี้ตลอดเวลา
และสอง-Extra Legel Power มันไม่มี เวลาที่มันมี AMC ขึ้นมา อำนาจจริงไม่มี"
ปัจจุบัน คณะกรรมการบสท.ประกอบด้วยเชาว์ สายเชื้อ อดีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
โดยมี ร.ต.ยอดชาย ชูศรี ซึ่งขอยืมตัวมาจาก แบงก์ชาติ เป็นกรรมการผู้จัดการ
ร.ต.ยอดชาย เป็นผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการประนอมหนี้ ของแบงก์ชาติ ซึ่งลักษณะงานไม่แตกต่างไปจาก
บสท. เท่าไรนัก แต่ อำนาจตามกฎหมายกลับมีน้อยกว่ามาก ทำให้งานของสำนักส่งเสริม
การประนอมหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ไม่มีความคล่องตัวเท่าที่ควร
ในทางตรงข้าม การที่ต้องอยู่กับการประนอมหนี้มาตลอด ทำให้เขาเข้าใจวิธีการทำงาน
และมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่าง ทะลุปรุโปร่ง
การเข้ามารับบทบาทใน บสท. ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ในช่วงหลังจากนี้ น่าจะทำให้กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้
ตามนโยบายรัฐบาลใหม่ ได้เห็นผลรวดเร็วขึ้น