Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2544








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2544
"พาราไดส์ สคูบา" เริ่มจากเสี่ยง สู่อินเตอร์             
 

   
related stories

100 ชม. สู่การเป็นครูฝึกสอนดำน้ำ
คู่แข่ง "พาราไดส์ สคูบา"

   
search resources

พาราไดส์ สคูบา
วัชรี สีดำ
Leander Schalinski




ในวันนี้เมืองพัทยามีตัวเลขการเดินทางเข้ามาของกลุ่มนักดำน้ำและผู้เรียนดำน้ำในแต่ละปี ไม่น้อยกว่า 15,000 คน และ 70% เป็นกลุ่มนักดำน้ำจากประเทศเยอรมนี ที่เหลือเป็นกลุ่มนักดำน้ำ จากประเทศญี่ปุ่น, เกาหลี, ไต้หวัน ฯลฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เมืองพัทยามีผู้ประกอบธุรกิจ ให้เช่าอุปกรณ์ดำน้ำและสอนดำน้ำเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 14 แห่ง และเกือบทั้งหมดดำเนินงานโดยชาวต่างชาติ

เปิดฉากร่วมทุนไทย-เยอรมัน

"พาราไดส์ สคูบา" กลับเกิดจากการร่วมทุนของ "สุวรรณ สีดำ" นักลงทุนชาวจังหวัดนครสวรรค์ และ Mr.Leander Schalinski นักดำน้ำสมัครเล่นชาวเยอรมัน ผู้หลงใหลวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของคนไทย จนในที่สุดตัดสินใจเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตและ ปักหลักทำมาหากินอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2534

วัชรี สีดำ บุตรสาวของ "สุวรรณ สีดำ" ซึ่งเข้ามาดูแล "พารา ไดส์ สคูบา" ร้านจำหน่ายและให้เช่าอุปกรณ์ดำน้ำและสอนดำน้ำขนาดเล็ก ซึ่งเริ่มแรกเปิดให้บริการอยู่ที่โรงแรมสยามเบย์วิว บริเวณ ถนนพัทยาสาย 2 เล่าถึงการดำเนินกิจการในเบื้องต้นและการตัดสินใจลงทุนร่วมทำธุรกิจกับชาวต่างชาติ ทั้งที่ตนเองไม่มีพื้นฐานความรู้ทางธุรกิจใดๆ มาก่อน ที่สำคัญความรู้ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ไม่ใช่ อุปสรรคสำคัญในการบริหารธุรกิจที่เธอทำอยู่

การตัดสินใจซื้อกิจการต่อจากชาวต่างชาติของบิดาและวัชรี สีดำ ไม่ใช่การตัดสินใจลงทุนแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากบิดาและวัชรี ไม่มีพื้นฐานความรู้ในการดำเนินธุรกิจมาก่อน แต่การลงทุนครั้งนี้เป็น การลงทุนร่วมกับ Mr.Leander Schalinski ภายใต้ความเชื่อมั่นว่า Mr.Leander Schalinski จะสามารถบริหารกิจการให้อยู่รอดได้

วัชรีบอกว่า ครอบครัวของเธอนั้น พื้นเพเป็นชาวจังหวัดนคร สวรรค์ ซึ่งทำกิจการร้านอาหารตามสั่งขนาดเล็กอยู่ในจังหวัด ต่อมา ภายหลังเมื่อมาลี สีดำ ผู้เป็นพี่สาวได้แต่งงานกับชาวฮอลแลนด์ และปักหลักเปิดบาร์และร้านขายอาหารตามสั่งในบริเวณถนนพัทยาสาย 2 ซึ่งเป็นย่านที่มีบาร์เบียร์ และร้านอาหารสำหรับบริการชาวต่างชาติจำนวนมาก ทำให้เธอและบิดาต้องเดินทางมายังพัทยาบ่อยขึ้น และการเดินทางเข้ามายังเมืองพัทยาในปี 2536 ทำให้เธอได้รู้จักกับ Mr.Leander ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดลำปาง เพื่อศึกษาลู่ทางการทำมาหากินในเมืองพัทยาเช่นกัน

วัชรีเล่าที่มาที่ไปของการทำธุรกิจในครั้งแรกของเธอคือ การซื้อกิจการให้เช่าอุปกรณ์ดำน้ำต่อจาก Mr.Siggi Schalinski ชาวเยอรมัน ผู้ซึ่งเป็นอาแท้ๆ ของ Mr.Leander Schalinski ในสนนราคา 2 ล้านบาท หลังจาก Mr.Siggi ประกาศขายกิจการทั้งที่เปิดดำเนินงานได้เพียง 2 ปี เพื่อเดินทางกลับไปดูแลธุรกิจสอนดำน้ำในประเทศเยอรมนี และเกาะมัลดีฟ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศศรีลังกา ที่กำลังขยายตัว

"เริ่มแรก Mr.Leander ต้องการทำธุรกิจแต่เพราะเป็นชาวต่าง ชาติ เลยมองว่าหากมีผู้ร่วมทุนเป็นชาวไทยจะสามารถประสานงานส่วนต่างๆ ได้ดีขึ้นจึงชักชวนให้เข้าร่วมทุน ครั้งแรกที่ตัดสินใจร่วมทุน พี่เองยังไม่รู้เลยว่า จะบริหารธุรกิจอย่างไรและไม่เคยมองว่าจะพัฒนา ธุรกิจอย่างไรเพื่อให้เกิดเงินตรา มองแค่ว่าถ้ามีธุรกิจอะไรในพัทยาก็คงจะดี เช่นเดียวกับ Mr.Leander ที่มองว่าหากมีงานทำในประเทศไทย ก็จะได้ไม่ต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี"

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ Mr.Leander เลือกทำธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะเมืองพัทยา ส่วนสำคัญมาจากความหลงใหลในวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายของคนไทย ตั้งแต่ครั้งแรกที่เดินทางมาท่องเที่ยวกับเพื่อน เมื่ออายุได้เพียง 19 ปี ซึ่งการเดินทางเข้ามาในครั้งนั้นเป็นการท่องเที่ยวระยะสั้น เนื่องจาก Leander อยู่ระหว่างการฝึกขายประกันและช่วยผู้เป็นอา Mr.Siggi Schalinski ทำกิจการบริการนักดำน้ำที่เข้ามาใช้บริการในเมือง Mannheim ประเทศเยอรมนี

Leander เกิดและศึกษาอยู่ในเมือง Passau ประเทศเยอรมนี จนสำเร็จการศึกษาในระดับ Middle School จากโรงเรียน Beruts School เมื่ออายุได้ 19 ปีได้เข้าทำงานในโรงงานเหล็กดัด ซึ่งเป็นโรงงานของรัฐบาลเยอรมัน ต่อมาเดินทางไปฝึกวิชาการขายประกันที่เมือง Mannheim เป็นเวลา 2 ปี ในช่วงนั้น Leander มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการดำน้ำที่ถูกต้องจากบริษัทสอนดำน้ำของผู้เป็นอา ซึ่งเปิดดำเนินการอยู่ที่เมือง Mannheim และหมู่เกาะมัลดีฟ สลับกับการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย

หน้าที่สำคัญของ Leander ระหว่างช่วยกิจการสอนดำน้ำของ ผู้เป็นอาที่ประเทศเยอรมนีก็คือ นำนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำจากเยอรมนี เดินทางไปดำน้ำในเกาะมัลดีฟ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของศรีลังกา โดยใช้เวลาเดินทางทางอากาศ ประมาณ 10 ชั่วโมงในช่วงวันหยุดของการฝึกงานขายประกัน ในครั้ง นั้น Leander มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการดำน้ำเบื้องต้นจากความนึกสนุก และต้องการเรียนรู้

"ผมเริ่มเรียนรู้วิธีการดำน้ำเบื้องต้นตั้งแต่ปี 1979 ซึ่งที่เยอรมนี กีฬาดำน้ำเป็นที่นิยมอย่างมาก ประกอบกับอาของผม มีธุรกิจสอนดำน้ำจึงไม่ใช่เรื่องยากที่ผมจะเข้าไปเรียนรู้ ผมเรียนดำน้ำในเยอรมนี จากโรงเรียนสอนดำน้ำของอา ที่ใช้ชื่อว่า "พาราไดส์ สคูบา" เช่นเดียว กับกิจการที่เปิดในประเทศไทย จนถึงระดับ DiMaster และเข้าเรียนในระดับ Assistant Instructor ซึ่งเป็นระดับผู้ช่วยครูฝึกจากร้านของอา ผมที่เปิดอยู่ในเมืองพัทยา"

สำหรับการเรียนภาษาไทยของ Leander นั้นเริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งเดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ในไทย หลังลาออกจากงานขายประกัน ที่เมือง Mannheim ในครั้งนั้น Leander ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทย นานถึง 2 ปี ด้วยการเปิดร้านขาย อาหารไทยตามสั่งร่วมกับเพื่อนชาวเยอรมัน ที่บริเวณโชคชัย 4 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ Leander จึงเดินทางกลับบ้านเกิด และเข้าทำงานที่โรงงานทำล้อรถยนต์ที่เมือง Passau เยอรมนี ในโรงงาน แห่งนี้ Leander ได้รู้จักกับสาวไทย ซึ่งต่อมาภายหลังกลายเป็นคู่ชีวิต และทำให้ Leander ต้องเดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ที่ จ.ลำปาง

หลังจากทำงานในโรงงานทำล้อรถยนต์ได้เพียง 1 ปี Leander ลาออกมาทำงานในแผนกคลังสินค้า สนามบินแฟรงก์เฟิร์ต ทำงานได้ 2 ปี จึงตัดสินใจเดินทางจากประเทศเยอรมนีเพื่อตามมาแต่งงานกับแฟนสาวชาวไทยที่พบรักเมื่อหลายปีก่อน และใช้ชีวิตอยู่ใน จ.ลำปาง

"ผมตามแฟนคนไทยไปอยู่ที่จังหวัดลำปาง ตั้งแต่ปี 2535 ผม เริ่มเข้าใจภาษาไทยมากขึ้นจนถึงขั้นบวชเรียน และใช้ชีวิตท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือทั้งภูเขาและน้ำตกในจังหวัดต่างๆ อยู่ 2 ปี ตอน นั้นเงินที่ติดตัวมาจากเยอรมนีเริ่มหมด ผมเลยเดินทางมาหาลู่ทางทำ กินในเมืองพัทยาที่อาของผมมีธุรกิจอยู่ จนกระทั่งอาขายกิจการต่อให้"

Leander บอกสาเหตุที่ทำให้ตนเองตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ก็เพราะชื่นชอบวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนไทย ซึ่งผิดกัน มากกับการใช้ชีวิตในประเทศเยอรมนี เนื่องจากที่นั่นทุกคนต้องทำงาน ตลอด 1 สัปดาห์ และไม่มีการพักผ่อนกับครอบครัว แต่ที่เมืองไทยสามารถใช้ชีวิตแบบครอบครัวตามที่ใฝ่ฝัน ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจทำธุรกิจดำน้ำ ที่เมืองพัทยา ก็เพราะสาเหตุเบื้องต้นคือ อามีธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว ที่สำคัญจังหวัดภูเก็ตมีผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำจำนวนมาก ดังนั้นการจะเข้าไปเปิดตลาดแข่งขันจึงเป็นเรื่องที่ยากกว่าการบุกเบิก เพื่อพัฒนาธุรกิจในเมืองพัทยาให้สามารถยกระดับเทียบเท่าภูเก็ต แบ่งภาคบริหารงานไทย-เยอรมัน

และแม้ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา การขยายตัวของธุรกิจให้บริการ เช่าอุปกรณ์ดำน้ำในพัทยา จะยังไม่ขยายจำนวนเช่นปัจจุบัน โดยมีผู้เปิดให้บริการเพียง 4-5 ราย แต่การเดินทางเข้ามาเพื่อใช้บริการของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะน้ำทะเลพัทยาขณะนั้นยังใสสะอาดมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มผู้เปิด ให้บริการที่ดำเนินงานอยู่ก่อน ทั้ง ซีฟารีน ไดวิ่ง เซ็นเตอร์, เมอร์เมท ไดว์สคูล, เมอร์เมท สคูบา ไดว์ ล้วนดำเนินงานโดยชาวต่างชาติทั้งสิ้น

เหตุผลสำคัญที่วัชรีให้ความสำคัญกับการร่วมทุนกับชาวต่างชาติ ในการประกอบธุรกิจแทนการลงทุนเองทั้งหมด ก็เนื่องมาจาก "พาราไดส์ สคูบา" ซึ่งมีผู้บริหารเดิมเป็นชาวเยอรมันสามารถเปิดตลาด ธุรกิจดำน้ำจนมีลูกค้าขาประจำ และลูกค้าเกือบทั้งหมดก็คือ ชาวต่าง ชาติและชาวเยอรมัน ในครั้งนั้นแต่ละปีจะมีลูกค้าขาประจำเดินทาง มาใช้บริการไม่ต่ำกว่าพันคน

ดังนั้น การดำเนินกิจการต่อจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้ารายใหม่ ซึ่งการร่วมทุนกับชาวต่างชาติในความหมายของวัชรี ก็คือ การดึงเอาประสบการณ์ในการบริหารงาน และความรู้เกี่ยวกับการสอนดำน้ำ, เทคนิคการใช้อุปกรณ์ต่างๆ รวม ทั้งภาษาที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการติดต่อกับลูกค้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในปีแรกของการดำเนินงานหลังซื้อกิจการต่อจากเจ้าของเดิม วัชรีและผู้ร่วมทุนมีเงินลงทุนไม่มากนัก ทำให้การว่าจ้างครูฝึกสอนดำน้ำเข้ามาแทนครูฝึกสอนชุดเก่า ที่เป็นพนักงานของเจ้าของเดิมไม่ สามารถกระทำได้ โดยหลังจากครูฝึกสอนคนแรกขอลากลับประเทศ เยอรมนี และคนที่สองเสียชีวิตลง การดำเนินงานของ "พาราไดส์ สคูบา" ยุคร่วมทุนจึงต้องอาศัยบรรดาเพื่อนฝูงของ Mr.Leander ที่มีดีกรีระดับครูฝึกจากประเทศเยอรมนี ซึ่งหมั่นเดินทางมาเยี่ยมเยียนเป็นครูฝึกสอนดำน้ำให้กับลูกค้าเดิมของ "พาราไดส์ สคูบา" และลูกค้ารายใหม่

การดำเนินงานในปีที่สองวัชรีและผู้ร่วมทุน ต้องใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 2 ล้านบาท เพื่อสั่งซื้ออุปกรณ์ดำน้ำจากต่างประเทศเพิ่ม เติม และตกแต่งหน้าร้านในโรงแรมสยามเบย์วิวให้ดึงดูดใจลูกค้าในโรงแรมมากขึ้น เนื่องจากการแข่งขันของผู้ให้บริการเช่าอุปกรณ์ดำน้ำ ในพัทยาเริ่มรุนแรง

ในครั้งนั้น Mr. Leander ตัดสินใจเดินทางกลับเยอรมนีอีกครั้ง เพื่อนำทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งรถยนต์และบ้านออกขาย สำหรับเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจ และภายหลังจากขายทรัพย์สินในเยอรมนี Leander ตัดสินใจเดินทางไปยังภูเก็ต เพื่อเรียนดำน้ำในระดับครูฝึกกับ Brebd Walzin Ger ซึ่งเป็นสถาบันสอนดำน้ำของชาวเยอรมัน ที่เข้ามาเปิดดำเนินการเป็นแห่งแรกในภูเก็ต ในปี 1994

Mr.Leander บอกว่าในครั้งแรกที่ซื้อกิจการต่อจากอา ตนเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ในปีที่ 2 ของการดำเนินกิจการจึงรู้ว่า การเดินทางไปเปิดตลาดในเยอรมนี ซึ่งมีกลุ่มนักดำน้ำจำนวน มาก คือ หนทางในการเปิดตลาดลูกค้าที่สำคัญ ทำให้ปัจจุบันลูกค้าหลักของ "พาราไดส์ สคูบา" คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำจาก ประเทศเยอรมนี

"กิจการของเราเริ่มดีขึ้นในปีที่ 3 และ 4 ซึ่งผมเริ่มเปิดสอนดำน้ำด้วยการเป็นครูฝึกสอนเอง และเช่าอาคารเล็กๆ บริเวณใกล้กับ โรงแรมสยามเบย์วิว เพื่อใช้เป็นห้องเรียนแต่ลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็น กลุ่มคนที่สามารถดำน้ำได้เอง ดังนั้นการเรียนการสอนจึงไม่เน้นหนัก อย่างเช่นปัจจุบัน"

สำหรับรูปแบบการบริการลูกค้าที่ "พาราไดส์ สคูบา" ยุคร่วม ทุนยึดถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบันก็คือ การบริการลูกค้าอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นการสนองความต้องการทั้งเรื่องที่พัก, อาหาร หรือในบางครั้งแม้จะมีลูกค้าเพียงคนเดียวต้องการเรียน ก็จำเป็นต้องเปิดห้องเรียนเพื่อสอน ทำให้ในวันนี้ "พาราไดส์ สคูบา" มีลูกค้าประจำที่ ต้องแวะเวียนกลับมาใช้บริการปีละไม่น้อยกว่าหนึ่งพันคน

ทั้งนี้หน้าที่หลักของผู้ร่วมทุนชาวไทยและเยอรมัน ได้แบ่งภาค กันอย่างชัดเจน คือ วัชรีมีหน้าที่ในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ททท. เพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจให้ชาวต่างชาติรู้จัก, สำนักงานศุลกากร เพื่อติดต่อขอนำเข้าและเสียภาษีอุปกรณ์ดำน้ำที่สั่งตรงจากต่างประเทศ ซึ่งในแต่ละปีการสั่งซื้ออุปกรณ์ดำน้ำจากต่างประเทศของ "พาราไดส์ สคูบา" มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาท, เพื่อเสียภาษีการค้า รวมทั้งการติดต่อฝ่ายสนามบิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ออกจากสนามบิน นอกจากนั้นงานดูแลลูกค้าในประเทศ ทั้งการติดต่อรถยนต์เพื่อรับส่ง ลูกค้า, ติดต่อโรงแรมเพื่อนำลูกค้าเข้าพัก และงานเอกสารต่างๆ ที่เป็นภาษาไทย

ขณะที่ Mr.Leander มีหน้าที่ในการประสานงานกับลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเอเยนซีทัวร์และนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน, ญี่ปุ่น, ยุโรป และอีกหลายประเทศที่มักจะเดินทางเข้ามาดำน้ำในพัทยา เป็นประจำทุกปี และยังมีหน้าที่เดินทางไปเปิดตลาดสอนดำน้ำในประเทศต่างๆ ไม่นับรวมถึงการประสานงานกับ PADI เจ้าของหลักสูตร การเรียนการสอนดำน้ำ ที่ "พาราไดส์ สคูบา" ยึดถือเป็นหลักสูตรสำคัญในการเรียนการสอน ตั้งแต่เริ่มแรกดำเนินกิจการ เปิดสาขา 2 บริเวณชายหาดจอมเทียน

ในปี 2541 "พาราไดส์ สคูบา" สามารถขยายสาขาที่ 2 ได้ที่บริเวณโค้งหนุมาน ชายหาดจอมเทียน พัทยา สาเหตุที่ต้องขยายสาขา เป็นเพราะจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเริ่มมีจำนวนมากขึ้น ประกอบ กับการแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวเริ่มรุนแรง การสร้างภาพที่มีบริการ ครบวงจร และการมีร้านเช่าอุปกรณ์ครอบคลุมในจุดสำคัญจึงเป็นสิ่ง จำเป็นอย่างมาก

ที่สำคัญชื่อเสียงของ "พาราไดส์ สคูบา" เริ่มเป็นที่รู้จักจากผลของการทำตลาดในต่างประเทศ และการเผยแพร่เว็บไซต์ www. tauchen-thailand.de ซึ่งบอกเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับการดำน้ำ และ ค่าใช้จ่ายต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งรายการโปรโมชั่น ในแต่ละช่วงของทางร้าน ทำให้กลุ่มลูกค้าเริ่มขยายวงกว้างจากกลุ่ม ลูกค้าในเยอรมนี เป็นกลุ่มผู้เรียนในประเทศแถบเอเชีย อย่างญี่ปุ่น และไต้หวัน

และก่อนหน้าที่จะเปิดสาขาที่ 2 Leander ใช้เวลา 2 ปีในการศึกษารูปแบบและมาตรฐานการเป็น ร้านอุปกรณ์ดำน้ำ และโรงเรียนสอนดำน้ำระดับ 5 ดาว ตามมาตรฐาน PADI เพื่อนำมาปรับปรุงสาขา แห่งใหม่ที่กำลังจะเปิด ทำให้รูปโฉมของ "พาราไดส์ สคูบา" สาขา 2 สมบูรณ์ทั้งการตกแต่งหน้าร้าน, ห้อง เรียน รวมทั้งการเปิดให้บริการในส่วนซ่อมอุปกรณ์ดำน้ำ ที่สำคัญการได้มาตรฐาน 5 ดาว ของ PADI ร้านดำน้ำจะต้องมีเรือให้บริการนักดำน้ำ และมีสระว่ายน้ำสำหรับฝึกดำน้ำก่อนลงทะเลจริง การทำสัญญาเช่าเรือจากเจ้าของบริษัทเรือเอกชนในพัทยา และติดต่อขอเช่าสระว่ายน้ำเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกสอน ก่อนลงทะเล จึงเริ่มขึ้นในการบริหารงานสาขา 2 "ทำสัญญาเช่าเรือรับส่งลูกค้ารายปี กับบริษัท เดอะรีเวอร์ จำกัด และขยายขนาดการเช่าเรือ จากเดิมเรา เช่าเรือขนาดเล็กที่สามารถโดยสารลูกค้าได้เพียงครั้งละ 10-20 คน เป็น 60 คนต่อการออกทะเลหนึ่งครั้ง และเรือที่ทำสัญญาเช่ายังเป็นเรือที่สามารถบรรจุก๊าซออกซิเจนให้กับนักดำน้ำได้บนเรือ ทำให้การอำนวยความสะดวกสำหรับนักดำน้ำมีมากขึ้น ที่สำคัญการขยายขนาด เรือ ทำให้การบริการบนเรือทั้งอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับกลุ่มลูกค้า ที่ไม่ต้องการลงดำน้ำแต่ต้องการนั่งเรือชมวิวทะเลสามารถทำได้มาก ขึ้น" Mr.Leander กล่าว

สำหรับค่าใช้จ่ายในการเช่าเรือจากบริษัท เดอะรีเวอร์ จำกัด ที่ "พาราไดส์ สคูบา" จะต้องจ่ายอยู่ที่ประมาณปีละ 1-2 แสนบาท ต่อการนำเรือออกทะเล 5 เที่ยว/สัปดาห์ หรือ 20 เที่ยวต่อเดือน

ส่วนสระว่ายน้ำทำสัญญาเช่าจากวิวทะเล วิลล่า กลุ่มบ้านพัก ตากอากาศบริเวณชายหาดจอมเทียน ที่มีสระน้ำเปิดให้บริการนักท่อง เที่ยวที่เข้ามาใช้บริการบ้านพักตากอากาศ

"สระว่ายน้ำแห่งนี้อยู่ใกล้กับ "พาราไดส์ สคูบา" สาขาที่ 2 เพื่อที่นักเรียนของเราจะได้ไม่ต้องเดินทางไกลมากในการเรียนระหว่าง ห้องเรียนและสระว่ายน้ำเราทำสัญญาเช่าเป็นรายปีเช่นกัน จากเดิมที่เมื่อก่อนเราจะนำนักท่องเที่ยวอาศัยสระว่ายน้ำในโรงแรมต่างๆ เราก็ไม่ต้องทำอย่างนั้นแล้ว ส่วนห้องเรียน เราเปิดชั้น 2 ของอาคารเป็นที่ทำการสอน ซึ่งมีทั้งหมด 2 ห้องเรียน แต่ละห้องจะจุนักเรียนประมาณ 10 คน"

สำหรับโรงแรม ซึ่งจะใช้เป็นที่พักสำหรับลูกค้าที่ติดต่อขอเรียน ดำน้ำผ่านทางเว็บไซต์ และ "พาราไดส์ สคูบา" โดยตรง จะไม่มีการ ทำสัญญาผูกขาด ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถระบุอัตราค่าเช่าได้ตามที่ต้องการ ในเรื่องของรถยนต์สำหรับรับส่งลูกค้าก็เช่นกัน เราไม่มีผูกขาดแต่จะเลือกเช่าจากบริษัทต่างๆ ตามจังหวัดที่สะดวก

ในที่สุด PADI ได้ให้เครื่องหมายไฟว์สตาร์ IDC (Instructer Development Cross) เครื่องหมายที่การันตีได้ว่า "พาราไดส์ สคูบา" (ปัจจุบันร้านดำน้ำในพัทยาที่ได้เครื่องหมายดังกล่าวมี 3 แห่งคือ พาราไดส์ สคูบา, ซีฟารีน ไดวิ่ง เซ็นเตอร์ และเมอร์เมท ไดว์ สคูล) สามารถสอนดำน้ำได้ตามมาตรฐานของ PADI และรูปแบบการจัดร้าน อยู่ในมาตรฐาน PADI เช่นกัน

Leander บอกว่าหลังจากได้ไฟว์สตาร์ IDC จาก PADI ทำให้บริษัทสามารถเปิดสอนดำน้ำ ได้อย่างเต็มรูปแบบและในแต่ละปี "พารา ไดส์ สคูบา" สามารถผลิตบุคลากรในระดับครูสอนดำน้ำได้ถึง 40 คน

ในปีที่ 4 ของการดำเนินงาน Leander และวัชรี มีเงินทุนจากการดำเนินกิจการมากพอ ที่จะว่าจ้างครูสอนดำน้ำ เพื่อช่วยในการดูแลลูกค้า โดยคัดเลือกครูสอนดำน้ำที่เป็นผลผลิตจากการเรียนการสอนของทางร้าน แต่การเป็นครูฝึกดำน้ำของ "พาราไดส์ สคูบา" จะ ต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานการเป็นครูจากบริษัทอีกขั้น ด้วยการทดสอบความอดทน และจิตใจในด้านการบริการว่ามีความอดทนมาก พอที่จะให้บริการนักท่องเที่ยวได้หรือไม่ ในวันนี้ "พาราไดส์ สคูบา" มีครูสอนว่ายน้ำทั้งสิ้น 3 คน สำหรับมาตรฐานการสอนของ "พาราไดส์ สคูบา" นั้น แบ่งสัดส่วนการดูแลนักเรียน 6 คนต่อครูฝึกสอน 1 คน

และในวันนี้แม้ว่าธุรกิจที่เกิดจากการร่วมทุนของ Leander และ วัชรี ที่เริ่มต้นด้วยเงินลงทุนเพียง 2 ล้านบาท จะยังไม่สามารถสร้างเม็ดเงินหรือกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพราะรายได้ที่ได้ในแต่ละปี จะหมดไปกับการจัดซื้ออุปกรณ์ดำน้ำให้ทันสมัย และปรับปรุงหน้าร้านอยู่ตลอดเวลา แต่ Leander และวัชรี ก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ธุรกิจของเขาและเธอ มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในปีที่ 5 ของการดำเนินกิจการ คือจากเดิมที่ "พาราไดส์ สคูบา" มีสินทรัพย์จากอุปกรณ์ดำน้ำต่างๆ ในระยะเริ่มแรกเพียง 2 ล้านบาท แต่ในวันนี้ได้ขยายตัวเป็น 5-6 ล้าน บาท ต่อ 1 สาขา

ในปีที่ 5 ของการดำเนินงาน "พาราไดส์ สคูบา" สามารถ ติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ดำน้ำ จากบริษัท SEE MANN SUB จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์ดำน้ำรายใหญ่ในเยอรมนีแต่เพียง ผู้เดียวในประเทศไทย รวมทั้งนำสินค้าจากบริษัท AQUA LUNG ในเยอรมนี และประเทศอื่นๆ เข้ามาจำหน่ายได้อีกด้วย

ขยายการลงทุนเพิ่ม เปิดบริการครบวงจร

Mr.Leander ผู้เปรียบเสมือนกลไกหลักในการบริหาร ธุรกิจของ "พาราไดส์ สคูบา" บอก ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า "พาราไดส์ สคูบา" จะสามารถสร้างกำไรจาก การดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ และ แผนการดำเนินงานของบริษัทนับจากนี้ ก็คือการเปิดให้ผู้ต้องการร่วมทุนได้เข้ามาลงทุนร่วมเพื่อนำ เงินที่ได้จากการร่วมทุนมาขยายกิจการทั้งในด้านการเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ต่างๆ, จัดซื้อรถตู้สำหรับรับส่งนักท่องเที่ยว และลูกค้าที่ต้องการใช้บริการกับบริษัทจากสนามบินดอนเมืองสู่พัทยา

ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะจัดทัวร์นำนักดำน้ำที่ต้องการหาจุดดำน้ำใหม่ๆ ทั้งในภาคตะวันออกและพื้นที่อื่นๆ ในประเทศ เพื่อเพิ่มการบริการให้ครบวงจรยิ่งขึ้น และหากกิจการสามารถขยายตัวได้ อย่างต่อเนื่อง ก็อาจมองทำเลใหม่ในการเปิดสาขาที่ 3 หรือซื้อตึกสำหรับดำเนินกิจการเอง แทนการเช่าพื้นที่ในโรงแรมสยามเบย์วิว และอาคารพาณิชย์บริเวณโค้งหนุมาน สาขาที่ 1 และ 2 โดยเงินลงทุน ที่ "พาราไดส์ สคูบา" ต้องการสำหรับพัฒนาระบบการบริการในขณะนี้ก็คือ 2.5 ล้านบาท

"จากการเปิดเว็บไซต์ของเรา ทำให้ในแต่ละวันมีทั้งผู้สมัครเป็นครูฝึกสอนว่ายน้ำจากทั่วโลก สมัครเข้ามาทำงานกับเราไม่น้อย กว่า 5 รายต่อวัน แต่เรามีนโยบายคัดเลือกครูฝึกจากการผลิตของเรา เองเท่านั้น ที่สำคัญในแต่ละวันยังมีนักลงทุนต่างชาติขอร่วมทุนกับเราจำนวนมาก ทำให้เราเกิดประกายขึ้นมาว่าเราน่าจะขยายการลงทุน แต่ผู้ร่วมทุนเราก็มีเงื่อนไขในการคัดเลือก"

เงื่อนไขในการคัดเลือกผู้ร่วมทุนของ Leander และวัชรี ก็คือ
1. ต้องมีใจรักในการพัฒนาธุรกิจว่ายน้ำร่วมกับเขาและเธออย่างจริงจัง
2. ผู้ร่วมทุนต้องไม่มุ่งเน้นในเรื่องของธุรกิจจนเกินไป และ
3. ผู้ร่วมทุนจะต้องมีความรู้ในเรื่องการใช้อุปกรณ์ดำน้ำ และสามารถดำน้ำ ได้ และหากสามารถหาลูกค้าในต่างประเทศได้ก็ยิ่งเพิ่มความสนใจ ให้กับทั้งสองได้เป็นอย่างดี

Mr.Gunter Zanger คือ ผู้ร่วมหุ้นคนใหม่ที่ Leander และวัชรีกำลังจะดึงเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในการขยายงาน โดย Gunter ทำงานอยู่ในส่วนซ่อมอุปกรณ์ของ "พาราไดส์ สคูบา" มาได้ปีเศษ ที่ สำคัญ Gunter เป็นชาวเยอรมันที่มีความรู้ในเรื่องการซ่อมอุปกรณ์ดำน้ำจนชำนาญ และยิ่งกว่านั้นคือ Gunter มีธุรกิจสอนดำน้ำอยู่ในประเทศเยอรมนี ดังนั้น ลู่ทาง การจัดทัวร์ดำน้ำจากเยอรมนีสู่ พัทยาจึงมีแนวโน้มว่าจะเป็นจริงได้

Leander บอกว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม ตนจะเดินทางกลับไป เยอรมนี และจะใช้เวลาอยู่ที่นั่น 3 เดือนเพื่อเดินทางไปเปิดตลาด ดำน้ำในเมืองต่างๆ ซึ่งการไปครั้ง นี้ ยังไม่ทราบผลลัพธ์ที่จะออกมาว่า คุ้มค่ากับการเดินทางหรือไม่ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์การตลาด ที่ "พาราไดส์ สคูบา" จะ แนะนำชื่อเสียงกิจการให้เป็นที่รู้จักของเอเยนซีทัวร์ ในเยอรมนีได้มากขึ้น และ สาเหตุที่ต้องบุกตลาดนักดำน้ำในเยอรมนีอย่างหนักก็เพราะในแต่ละปีนักดำน้ำชาวเยอรมัน จะนิยมเดินทางไปดำน้ำในประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวนมาก และนักดำน้ำ กลุ่มนี้ก็คือเป้าหมายใหญ่ ของ "พาราไดส์ สคูบา"

"จุดดำน้ำที่เรานำไปเสนอ ขายก็คือ บริเวณเกาะไผ่, เกาะลิ้น และเกาะแสมสาร แต่เราไม่เน้นเรื่องความสวยงามใต้ท้องทะเลเท่ากับ ความพร้อมในการเป็นโรงเรียนสอนดำน้ำที่เราได้จาก PADI เพราะอย่างไรธรรมชาติใต้ทะเลของพัทยาก็สู้เกาะสมุย และภูเก็ตไม่ได้ แต่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีนักดำน้ำจำนวนมาก ต้องการเดินทางมาดำน้ำ ดูเรือรบที่จมอยู่บริเวณหาดแสมสาร อำเภอสัตหีบ แต่เราไม่สามารถนำไปได้ เพราะบางครั้งหากทหารเรือฝึกรบ เราก็ต้องนำลูกค้ากลับ"

Leander บอกว่าจุดขายสำคัญที่ตนเองต้องการเปิดตลาดในต่างประเทศก็คือ การนำนักดำน้ำจากทั่วโลก ให้เดินทางเข้ามาสำรวจ เรือ Vertical Wreck ซึ่งเป็นเรือรบขนาดใหญ่ที่มีเพียง 2 ลำในโลก ซึ่ง 1 ใน 2 ลำจมอยู่ใต้ทะเลบริเวณเกาะช้าง จ.ตราด มานานกว่า 50 ปี อีกลำหนึ่งคาดว่าจมอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย แต่เป็นเพราะการสนับ สนุนธุรกิจดำน้ำในพัทยายังไม่ได้รับการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องในพื้นที่เท่าที่ควร ในวันนี้จึงยังไม่มีแนวทางว่าจะประสานงานกับ หน่วยงานใด เพื่อขออนุญาตนำนักดำน้ำเข้าไปสำรวจเรือดังกล่าวได้

สาเหตุของการเน้นหนักที่ตลาดนักดำน้ำในประเทศเยอรมนีเป็นสำคัญ ก็เพราะนอกจากกีฬาดำน้ำจะเป็นที่นิยมอย่างมากในเยอรมนีแล้ว ความเป็นเยอรมันของ Leander สามารถสื่อสาร ให้กลุ่มนักดำน้ำเข้าใจถึง ความน่าสนใจของพัทยาได้เป็นอย่างดี ในแต่ละปีแผนเปิดตลาดด้วยการเปิดบูธในประเทศต่างๆ แถบเอเชีย และยุโรป ซึ่งในแต่ละปีจะมีนิทรรศการเกี่ยวกับการดำน้ำ เปิดอยู่เสมอๆ ก็จะมีบูธของ "พาราไดส์ สคูบา" รวมอยู่ด้วยเช่นกัน และอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า "พาราไดส์ สคูบา" ก็จะร่วมเปิดบูธในงาน เทศกาลดำน้ำที่มาเลเซียอีกด้วย

ปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจของ 2 นักร่วมทุนคือการ ไม่สามารถเพิ่มทางเลือกให้นักดำน้ำได้มากนัก จากการสำรวจแหล่ง ดำน้ำในภาคตะวันออกแต่ละครั้ง จะพบแต่พื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เนื่อง จากใต้ท้องทะเลส่วนใหญ่ น้ำขุ่น รวมทั้งแนวปะการังถูกทำลาย

"เท่าที่สำรวจจุดดำน้ำก็พบเพียงเกาะเดิมๆ ขณะที่ในเมืองนอก บางแห่งลงทุนซื้อเรือเก่าไปทิ้งทะเล แล้วหลอกนักดำน้ำว่ามีเรือรบจม ทำให้สามารถทำเงินได้มหาศาล ในภาคตะวันออกก็มีเรือรบที่สำคัญ จมอยู่ แต่หน่วยงานทางการท่องเที่ยวกลับไม่ประชาสัมพันธ์เพื่อเปิดตลาดดำน้ำของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เราก็ไม่รู้ว่าควรจะประสานงานกับหน่วยงานใดเพื่อให้เปิดจุดขายที่น่าสนใจนี้ได้ ที่สำคัญทะเลในภาค ตะวันออกอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ บางครั้งมีการซ้อมรบ ก็ไม่อนุญาตให้นำนักท่องเที่ยวเข้าไปดำน้ำ" Leander กล่าว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us