จากบทบาทแห่งความเป็นสื่อกีฬา กระโดดเข้ามากอบกู้ ฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศในฐานะผู้จัดการแข่งขัน
หลังจากล้มเหลวไม่เป็นท่า ความทะเยอทะยานครั้งนี้ จะสามารถตอบคำถามตนเองและปลอบประโลม
วงการฟุตบอลไทยได้หรือไม่ อีกไม่นานเกินรอ
"สูงสุดการแข่งขันฟุตบอลลีก และสุดยอดของระดับฝีเท้าสะท้านพสุธา จีเอสเอ็ม
ไทยลีก สงครามลูกหนังเริ่มแล้ววันนี้"
แว่วเสียงโฆษณาการแข่งขันจีเอสเอ็มไทยลีกดังมาจากสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 99
MHz. คลื่นกีฬาแห่งค่ายสยามสปอร์ต ซินดิเคท สะท้อนให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังในการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกในฐานะผู้จัดการการแข่งขันฟุตบอล
"จีเอสเอ็มไทยลีก"
การกระโดดเข้ามาของค่ายสยามสปอร์ตในการเสนอตัว เป็นผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศเป็นเวลา
3 ปี เพื่อต้องการปฏิวัติฟุตบอลลีกในประเทศ หลัง เห็นความล้มเหลวเมื่อช่วง
5 ปีที่ผ่านมาจนทำให้ไปถึงความสำเร็จล่าช้า
พูดง่ายๆ สยามสปอร์ตเข้ามากู้ซากฟุตบอลลีกสูงสุดให้มีชีวิตชีวา
นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการแข่งขัน ฟุตบอลอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี
พ.ศ. 2443 ณ ท้องสนามหลวง ดูเหมือนว่าความสนใจของประชาชนยังไม่ค่อยชัดเจนมากนัก
จนกระทั่ง 15 ปีให้หลัง ความสนใจกีฬาฟุตบอลถึงเริ่มกว้างขวางมากขึ้น เนื่องจากมีการแข่งขันฟุตบอลประเภทสโมสรเป็นครั้งแรก
ความเจริญก้าวหน้าของฟุตบอลภาย ในประเทศได้แผ่ขยายกว้างขวางทั่วประเทศไปสู่สโมสรกีฬา-ต่างจังหวัดหรือชนบทอย่างรวดเร็ว
ซึ่งเป็นที่นิยมกันทั่วไป และปี 2549 สมาคมฟุตบอลแห่งสยาม (ปัจจุบันคือสมาคม
ฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูป-ถัมภ์) ถูกสถาปนาขึ้น
นับตั้งแต่ พ.ศ.2504-ปัจจุบัน สมาคมฟุตบอลฯ ได้จัดการแข่งขันฟุตบอลถ้วยน้อย
และถ้วยใหญ่ ซึ่งภายหลังได้จัดการแข่งขันแบบเดียวกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาวงการฟุตบอลไทยพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความเป็นจริง
แล้วถือว่ายังไม่ถึงขั้นสูงสุดจากอาการสะดุดแห่งความต่อเนื่อง เพราะไม่สามารถพัฒนาให้เป็น
"ฟุตบอลอาชีพ" ได้จนกระทั่งปัจจุบัน บางช่วงของเวลารูปการกลับถอยหลังเข้าคลอง
มีอาการล้าหลังอยู่เป็นพักใหญ่
ล่าสุด เมื่อช่วง 5 ปีที่ผ่านมาความล้มเหลวของวงการฟุตบอลไทยลีกเห็นได้อย่างเด่นชัด
อันเนื่องมาจากการเข้ามาเป็นผู้จัดการ แข่งขันของอินเตอร์เนชั่นแนล แมเนจเมนท์
กรุ๊ป (IMG) สัญชาติอเมริกัน โดย 2 ปีแรกได้จอห์นนี่ วอล์คเกอร์เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลัก
ส่วน 3 ปีหลังเปลี่ยนเป็นคาลเท็กซ์
ปรากฏว่าการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดของประเทศภายใต้การบริหารงานของ
IMG ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง อันเนื่องมาจาก ระบบการจัดการ การประชาสัมพันธ์ อีกทั้งข้อจำกัดของผู้จัดการเอง
ที่ตัวองค์กรซึ่งตั้งอยู่ในไทยมีขนาดเล็กและเป็นองค์กรต่างถิ่น ความเข้าใจในความคิดความอ่าน
และความต้องการของคนท้องถิ่นมีความขัดแย้งกัน
"เขาเป็นพ่อครัวที่ปรุงอาหารไทยไม่ได้" พงษ์ศักดิ์ ผลอนันต์ กรรมการผู้จัดการสยามสปอร์ต
ซินดิเคทชี้
แม้ว่า IMG จะเป็นบริษัทที่มีประสิทธิ ภาพด้านการจัดกีฬาระดับโลก อย่างกรณีจัดฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ขึ้นมา
สามารถมีสปอนเซอร์หรือหาเงินเข้ามาได้ และเม็ดเงินจำนวน 20-30 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศถือว่าไม่มากมายอะไร
แต่สิ่งหนึ่งที่ฟุตบอลไทยลีกไม่ประสบความสำเร็จภายใต้การทำงานของ IMG เมื่อ
5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการนำเอาระบบการทำงานต่างประเทศเข้ามาจัดการ เมื่อสปอน
เซอร์ให้การสนับสนุน ธุรกิจย่อมเห็นกำไรเป็นอันดับแรก
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งจะถูกกันไว้ อีกส่วนจะให้สมาคมฟุตบอลฯ ที่สำคัญ
IMG ไม่ลงมาจัดการแข่งขันด้วยตัวเอง "เขาขาดการประชาสัมพันธ์ ขาดการ จัดการที่ดีด้านการตลาดทำให้ฟุตบอลได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อย"
วิฑูร นิรันตราย กรรมการบริหารสยามสปอร์ตให้ความเห็น
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาสังเกตว่า นักฟุตบอลไทยเกิดขึ้นมากมาย แต่สิงคโปร์
หรือมาเลเซียแย่งซื้อตัวไปเตะลีกตัวเองหมด ตรงกันข้ามปรากฏว่าฟุตบอลอาชีพในประเทศไทย
กลับเจอวิกฤติและล้มเหลวไม่เป็นท่า กระทั่งรัฐบาลชุดที่แล้ว พยายามเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันฟุตบอล
"โปรวิเชี่ยนลีก" ในความรู้สึกของคนวงการฟุตบอลมองว่าเป็นไปลำบากที่ฟุตบอลรายการนี้จะได้รับความนิยม
เนื่องจากการประชาสัมพันธ์ วิธีคิด วิธีการจัดการ ไม่ได้อยู่ในคอนเซ็ปต์ที่จะทำให้เกิดขึ้นได้
เมื่อ IMG ถอนตัวออกไป ทางสมาคมฟุตบอลฯ เริ่มร้อนใจในการพยายามหาผู้ที่จะมาทำงานในฐานะผู้จัดการแข่งขันแต่ไม่มีใครสนใจ
สปอนเซอร์ก็หาไม่ได้และการแข่งขันก็ว่างเว้น และดูเหมือนจะไม่ได้จัด รวมไปถึงฟุตบอลเอฟเอ
คัพ เมื่อปีที่แล้วก็ไม่ได้จัด และความเป็นจริง แล้วสมาคมฟุตบอลฯ ไม่รู้จะทำอะไรต่อหลังจากไม่มี
IMG
ในที่สุดสยามสปอร์ต ในฐานะเป็นองค์กรสื่อและมีประสบการณ์ด้านการจัดฟุตบอลเข้า
ไปขายความคิด "ไม่อยากให้ฟุตบอลในไทยตาย" พงษ์ศักดิ์เล่า "เรามีความคิดว่าน่าจะเข้าไปช่วยเหลือสมาคมฟุตบอลฯ
ในการจัดการแข่งขันและใช้ระบบการจัดการ ระบบประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเน้นที่ความร่วมมือของสโมสร
สมาคม กรรมการ นักฟุตบอล สปอนเซอร์ เอาเข้ามา brainstorm หาความคิดว่า ที่ผ่านมาจุดอ่อนอยู่ตรงไหน
จะแก้ไขอย่างไรและจะทำอย่างไร"
ข้อเสนอครั้งนี้ใช้เวลานานพอสมควร กว่าที่สมาคมฟุตบอลฯ จะยอมรับแผนการของสยามสปอร์ต
ทั้งๆ ที่รู้มานานแล้วว่าความจริงเป็นอย่างไร
เป้าหมายของสยามสปอร์ต คือ การทำให้ฟุตบอลลีกเกิดขึ้นใหม่และเติบโตต่อไป
ส่วน เป้าหมายสูงสุด หนีไม่พ้นความต้องการเห็นฟุตบอลอาชีพเกิดขึ้นอย่างเต็มตัว
ซึ่งไม่จำเพาะเจาะจงเพียงแค่การแข่งขันแต่จะกลายเป็นอาชีพใหม่ของคนไทย และสิ่งที่ตามมา
คือ มูลค่าที่ซ่อนอยู่ภายในจีเอสเอ็มไทยลีก
"เมื่อฟุตบอลไทยลีกประสบความสำเร็จ หนังสือพิมพ์ของเราก็ขายดีตามไปด้วย"
วิฑูรบอก
หมายความว่าสยามสปอร์ตจะสร้างฟุตบอลลีกไทยให้เป็นอุตสาหกรรมฟุตบอล เป็นสินค้าตัวใหม่
สภาพของสโมสรฟุตบอลไทยจะต้องเปลี่ยนจากสโมสร ชมรม หรือหน่วยงานหนึ่งขององค์กรไปเป็นบริษัทจำกัด
โดยมีเป้าหมายแห่งผลกำไรและความอยู่รอด
ปัจจุบันภาพลักษณ์ของสโมสรฟุตบอล แต่ละแห่ง คือ การรองบประมาณของต้นสังกัดและมีหน้าที่ใช้ให้หมด
แต่จากนี้ไปด้วย แนวคิดของสยามสปอร์ตต้องการให้แต่ละสโมสรคิดวิธีหาเงินด้วยตนเองและบริหารทีมเพื่อให้มีกำไร
ไม่ว่าจะเป็นการขายหุ้น หานัก ลงทุน หาสปอนเซอร์ ทำตัวเหมือนการบริหาร งานบริษัทเอกชนทั่วๆ
ไป
"ทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อผลประโยชน์ ที่จะตามมา ตอนแรกเราจะรวบอำนาจการจัดการเอาไว้ทั้งหมด"
พงษ์ศักดิ์ชี้ "ต้องยอม รับว่าทุกวันนี้ฟุตบอลไทยค่อนข้างจะเป็นธุรกิจ แล้ว
นักเตะก็หวังว่าจะมีรายได้ และด้วยคำว่า บริษัทจำกัด ใครที่มาเกี่ยวข้อง
ย่อมหมายถึงการจับด้วยหลักของธุรกิจ"
ก่อนที่สยามสปอร์ตตัดสินใจเข้ามาจัดการแข่งขันฟุตบอลจีเอสเอ็มไทยลีก ต้องทำ
การบ้านอย่างหนัก จนพบสาเหตุความล้มเหลวอยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะไม่มีคนดู
ในอดีตมีคนเข้าสนามฟุตบอลเพียงนัดละไม่กี่ร้อยคนเท่านั้น
หลังจากสยามสปอร์ตเข้ามารับผิดชอบ ดูเหมือนว่า จำนวนผู้ชมเพิ่มขึ้นหลายเท่า
แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจในฐานะผู้จัดการ ซึ่งต้องพยายามเสนอแผนงานให้กับสปอนเซอร์ว่าจะทำอย่างไรที่จะให้มีคนดู
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของคำว่า sport marketing หรือ sport business
"เพียงแค่ซื้อบัตร 50 บาท แต่ได้ผลตอบแทนมากมายก่ายกอง" วิฑูรเล่า "เราอยากเปิดให้ดูฟรี
แต่ไม่ทำให้เกิดความเป็นอาชีพ และจะซบเซาลงไปเรื่อยๆ"
กลยุทธ์ทางการตลาดที่สยามสปอร์ตนำมาใช้กับฟุตบอลไทยลีกครั้งนี้ เป็นการปฏิวัติวงการฟุตบอลอย่างแท้จริงเพราะหากประสบความสำเร็จ
ทุกฝ่ายมีแต่ได้กับได้ ดังนั้นวิธีการดึงคนเข้าสนามมีวิธีเดียว นั่นคือ การคืนกำไรให้กับผู้ชม
ปัจจุบันวิธีกระตุ้นคนดู คือ การลด แลก แจก แถม เช่น การแจกบัตรซ้อมแมนเชสเตอร์
ยูไนเต็ด หรือซื้อบัตร 50 บาทสามารถชมการแข่งขันได้ 2 คู่ภายในวันเดียวกัน
ซื้อบัตร 1 ใบ รับคูปองเลขนำโชค 1 ใบ หรือรับสติ๊กเกอร์สะสมเพื่อแลกของสมนาคุณ
2 ดวง
นอกจากนี้ หมายเลขบัตรเข้าชมฟุตบอลยังสามารถนำไปตรวจสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่
1 และที่ 2 ได้ ผู้โชคดีจะได้รางวัลเป็นเงินสด หรือหากซื้อบัตร 10 นัด จะได้รับส่วนลด
20% เป็นต้น
องค์ประกอบสำคัญอีกอย่าง คือ ฟุตบอลต้องเล่นให้สนุก เพราะในอดีตส่วนใหญ่นักฟุตบอลจะเดินเล่นเนื่องจากไม่มีสิ่งกระตุ้นให้ขามันวิ่ง
จุดอ่อนตรงนี้สยามสปอร์ตเข้ามาแก้ด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไป ขณะนี้ให้ไปแล้วทีมละ
2 แสนบาท อีกทั้งการเพิ่มรางวัลให้ทีมชนะ อันดับ 1-4 หลังสิ้นสุดฤดูกาล และยังมีรางวัลในระหว่างการแข่งขันแต่ละนัดอีก
นี่คือการกระตุ้นผู้ชมเข้าสนามและหากฟุตบอลเล่นกันสนุกคนดูจะตามมาเอง ซึ่งเป็นทฤษฎีง่ายๆ
ที่วงการฟุตบอลทั่วโลกรับรู้ "หากไม่ทำอะไรเลย และเดินเล่นกันในสนาม เทวดาก็ช่วยไม่ได้
จะต้องช่วยเหลือตนเองด้วย เราจุดเชื้อให้แล้ว ไฟจะลุกไม่ลุกอยู่ที่เชื้อเพลิง"
พงษ์ศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ ยังพยายามสร้างกลุ่มคนขึ้นมากลุ่มหนึ่ง นั่นคือ การรับสมัครสมาชิกแฟนคลับฟุตบอลจีเอสเอ็มไทยลีก
หากใครเป็นแฟนคลับจะได้รับส่วนลดเมื่อซื้อสินค้าจากร้านเครือ สยามสปอร์ต
หรือหากมีโปรโมชั่นอะไรในอนาคตพวกเขาเหล่านี้ย่อมมีสิทธิ์ก่อนใคร
"เงินที่ได้มา เราแทบไม่ได้อะไรเลย เพราะกลับคืนให้กับคนดู สโมสร เงินสวัสดิการนักเตะ"
วิฑูรชี้ "นี่คือกลยุทธ์การตลาดที่พยายามกระตุ้นให้เกิดฟุตบอลอาชีพ เป็นการจัดการสมัยใหม่ในโลกฟุตบอล"
สำหรับการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก เป็นหนทางหนึ่งที่สยามสปอร์ตเห็นความสำคัญ
แม้ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อเวลาโทรทัศน์ก็ตามแต่จะเป็นผลดีในระยะยาว
เหตุการณ์รูปแบบนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติของวงการฟุตบอล โดยในต่างประเทศโทรทัศน์
แต่ละช่องจะต้องมาประมูลแข่งกันเพื่อให้ได้สิทธิการถ่ายทอดสด "นี่คือสิ่งที่เราจะต้องสร้างขึ้นมา
และวันหนึ่งฟุตบอลไทยลีกจะต้องเข้าระบบสากล" พงษ์ศักดิ์บอก "เราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ต้องได้เงิน"
ความล้มเหลวเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ สปอนเซอร์ไม่ได้ภาพอย่าง
ชัดเจน ข้อได้เปรียบของสยามสปอร์ต ได้แก่ อาศัยความเป็นธุรกิจสื่อกีฬาเข้ามาแก้ไข
ขณะที่ IMG กับจอห์นนี่ วอล์คเกอร์ และคาลเท็กซ์ ความสัมพันธ์อาจจะไม่เด่นชัด
อย่างไรก็ตาม การจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกมีค่าใช้จ่ายสูง เมื่อสยามสปอร์ตเข้ามารับผิดชอบเต็มตัว
สิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ หาสปอนเซอร์เพื่อให้งบประมาณครอบ คลุม โดยคำว่าสปอนเซอร์
หมายถึงทุกๆ เรื่อง เพียงแต่สยามสปอร์ตเป็นหัวหอกมีความเชี่ยวชาญ จึงพยายามชี้ช่องให้เห็นว่าการ
ลงทุนครั้งนี้สามารถหมุนกลับเป็นรายได้
โชคดีของสยามสปอร์ต เมื่อ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เจ้าของระบบ
จีเอสเอ็ม 2 วัตต์ เข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลักด้วยการสนับสนุนปีละ 30 ล้านบาท
เป็นเวลา 3 ปี
การหาประโยชน์ระหว่างทางให้มากที่สุดเป็นสิ่งที่ต้องไขว่คว้า และเอไอเอสมั่นใจถึง
ความเป็นไปได้ในแผนงานว่าจะประสบความสำเร็จ "หน้าที่ของเรา คือ ทำให้ไม่ขาดทุน
ถ้าทำแล้วขาดทุนเราไม่ทำ กำไรมากน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถและในปีนี้คาดว่าไม่ขาดทุน
มัน เป็นความหวังและหากไม่มีความหวังจะทำไปเพื่ออะไร" พงษ์ศักดิ์อธิบาย
หน้าที่โดยตรงของผู้จัดการ คือ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด
แต่ การที่จะคิดค้นกลยุทธ์อะไรขึ้นมานั้น ต้อง คำนึงถึงสปอนเซอร์ด้วยเพื่อให้เกิดประโยชน์สำหรับทุกๆ
ฝ่าย
สำหรับสปอนเซอร์จะได้ภาพที่ดีสำหรับประชาชน เมื่อทุกคนทำงานและเป็นระบบธุรกิจแล้ว
ทุกฝ่ายต่างหวังผลตอบแทนแต่จะออกมาในรูปไหนปัจจุบันยังไม่มีคำตอบ
การเข้ามาของสยามสปอร์ตในฐานะผู้จัดการแข่งขันจีเอสเอ็มไทยลีก ครั้งที่
6 นี้ ดูเหมือนว่ามีความมั่นใจสูงมาก แม้หลายคนอาจจะมองว่าไทยลีกจะเกิดขึ้นได้ต้องสยามสปอร์ตเท่านั้น
คำกล่าวนี้ คำตอบไม่ใช่เรื่องเก่งหรือไม่เก่ง เพียงแต่ดูว่าฟุตบอลไทยลีกปัจจุบันตกต่ำถึงขีดสุด
เมื่อสยามสปอร์ตเข้ามาจึงมองอะไรดูดีไปหมด และถูกยกย่องให้เป็น "อัศวิน"
แห่ง ฟุตบอลไทยลีก อย่างไรก็ดีอย่าลืมว่าอะไร ก็ตามเมื่อตกต่ำสุดแล้ว เมื่อมีใครกระโดดเข้า
มาทุกสิ่งทุกอย่างมองเป็นสีขาวไปหมด
ดังนั้น ต่อไปนี้ก็คงจะขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวเองว่า จะทำได้ดีขนาดไหน
"เป็นความกล้าหาญของพวกเรามากกว่า" วิฑูรบอก
หลายคนในวงการฟุตบอลบอกกับสยามสปอร์ตว่า บ้าหรือเปล่าที่คิดจะไปกู้ซากเรือขึ้น
มาปรับปรุง จากนั้นก็ประกาศออกไปว่าเรือลำเก่าจะต้องแล่นได้เหมือนกับเรือยังไม่จม
ซึ่งไม่ใช่ ความคิดที่ถูกต้องนักเพราะเรือที่จมไปแล้วก็ปล่อยไป แต่บริษัทกำลังจะสร้างเรือลำใหม่ขึ้นมาและแล่นเร็วกว่าลำเดิม
เพียงแต่ติดโลโกเดิมเท่านั้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าว เกิดจากสยามสปอร์ตมีความเชื่อว่าจีเอสเอ็มไทยลีกจะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องมีการตลาดที่สำเร็จรูป
เนื่องจากปัจจุบันกีฬาในประเทศเป็นสินค้าที่น่าจับตาแต่ขาดกลยุทธ์ทางการตลาดเท่านั้น
โชคดีที่สยามสปอร์ตอยู่ในฐานะความเป็นสื่อด้านกีฬา จึงพยายามนำประสบการณ์ด้านนี้เข้ามาช่วย
ทุกสิ่งทุกอย่างจึงดูเหมือนจะดีขึ้น
"หากคิดจะทำอะไรสักอย่าง ไม่ใช่มีแค่ความอยากเท่านั้น ต้องมีระบบการจัดการที่ดีด้วย"
วิฑูรชี้ "อย่างน้อยที่สุดก็เป็นสิ่งที่ตอบคำถามให้กับคนไทยว่าเราจะทำอย่างไรบ้าง
เมื่อมีแบบแผนที่จะทำแต่อาจจะล้มเหลวก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ทำให้ทุกอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น"
เมื่อเป็นเช่นนี้ มองอีกด้านก็เป็นภาระหน้าที่ของสยามสปอร์ตโดยส่วนตัวด้วย
ไม่ใช่ว่าหยิบหนังสือพิมพ์ในเครือสยามกีฬาขึ้นมาก็เหมือนกับนั่งอยู่ในอังกฤษ
เยอรมนี หรืออิตาลี ซึ่งเป็นการบ้านสำหรับการทำให้กีฬาในประเทศพัฒนาขึ้น
หากย้อนกลับไปในอดีตเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของประธาน
บริหารเครือสยามสปอร์ต ระวิ โหลทอง คนที่รักกีฬามากคนหนึ่งได้เข้าไปเสี่ยงทำธุรกิจกับฟุตบอลอังกฤษ
ความคิด ณ เวลานั้นทุกคนมองระวิว่า "บ้า" ไม่มีใครสนใจฟุตบอลลีกอังกฤษ
แต่เขาก็เริ่มจากตรงนั้น แต่ทุกวันนี้คนไทยคลั่งฟุตบอลอังกฤษและให้การยอมรับระวิอย่างไม่ต้อง
สงสัย
ช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน ระวิได้ร่วมมือกับทางสมาคมฟุตบอลฯ จัดการแข่งขัน
"ฟุตบอลไทยแลนด์ลีก" ขึ้นเป็นครั้งแรก ครั้งนั้นมีเพียงเขาเท่านั้นที่ให้การสนับสนุน
ผลสุดท้าย ขาดทุนย่อยยับ
อีกทั้งเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา สยามสปอร์ตยังพยายามที่จะสร้างรายการฟุตบอล
"ยามาฮ่าไทยแลนด์คัพ" แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ สาเหตุเกิดจากความไม่พร้อมในหลายๆ
อย่าง
ถึงวันนี้สยามสปอร์ต นำโดยระวิกำลังเสี่ยงลงทุนกับฟุตบอลไทยลีกอีกครั้ง
เพื่อทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ซึ่งเป็นความพยายามอีกครั้งหลังจากผ่านบทเรียนมาค่อนข้างมาก
สยามสปอร์ตมองตัวเองว่ายังไม่พร้อมเต็มที่ อีกทั้งการจัดฟุตบอลไทยลีกในลักษณะการนำเอาธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องนั้นปีแรกไม่มีกำไร
แต่นั่นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับการทำธุรกิจ แต่ในฐานะนักลงทุนย่อมมีความหวังอยู่ลึกๆ
ว่าการลงทุนในจีเอสเอ็มไทยลีกครั้งนี้ในกล่องน่าจะมีเงินอยู่บ้าง
แม้แต่คอลัมนิสต์แห่งค่ายสยามสปอร์ต อย่างชัยยะ ปั้นสุวรรณ ถึงกับฟันธงว่า
"มีแจก มีแถมกันถึงขนาดนี้จีเอสเอ็มไทยลีกไม่บูมก็ต้องผูกคอตายกันมั่ง"
การเปิดฉากการแข่งขันฟุตบอลจีเอสเอ็มไทยลีก เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา
เป็นปรากฏการณ์ที่จะชี้ชะตากรรมและอนาคตของสยามสปอร์ต