Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2544








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2544
sport marketing แนวรบใหม่ของ AIS             
โดย ไพเราะ เลิศวิราม
 

   
related stories

สัมภาษณ์ ยรรยง อัครจินดานนท์
ปีศาจแดง The Business Model
Premier League The Real Global Sports Business
Liverpool & Coca-Cola สองแดง ที่แรงไม่พอ
The man behind…
สยามสปอร์ต Keeping Score?

   
search resources

แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส, บมจ.
ยรรยง อัครจินดานนท์




ฟุตบอล เกมกีฬาที่ไม่ได้มีความหมายอยู่เพียง แค่ 90 นาทีของการแข่งขัน หรือ ป้ายโปสเตอร์ที่ติดอยู่ข้างขอบสนาม แต่ความต่อเนื่องกีฬาที่ดึงดูดกลุ่มคน การสร้างกิจกรรมบันเทิงทุกรูปแบบ ทำให้ฟุตบอลกลายเป็นเครื่องมือการตลาด ที่มีความหมายมากกว่าเกมกีฬา

ก่อนหน้านี้ ยรรยง อัครจินดานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ก็เหมือนกับอีกองค์กร ธุรกิจทั่วไปที่มองว่า เกมกีฬา เป็นส่วนหนึ่งของ กิจกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้กับองค์กรมากกว่าผลประโยชน์ทางตรงที่มีต่อธุรกิจ

มีหลายครั้งที่เอไอเอสเข้าไปมีส่วนในการเป็นผู้สนับสนุนกีฬาสำคัญๆ อย่างการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งการสนับสนุนนักกีฬาที่ไม่โด่งดัง แต่มีความสามารถ มีวินัย ขยันฝึกฝน แต่ขาดผู้สนับสนุนอย่าง ประสบโชค กลั่นเงิน หรือนัก แบดมินตันหญิง สุจิตรา เอกมงคลไพศาล ทั้งสองไม่ใช่นักกีฬามีชื่อเสียงโด่งดัง

"เป็นสิ่งที่เราทำ และภูมิใจว่าเรามีโอกาสเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือนักกีฬาที่มีความ ใฝ่ฝันอยากสร้างชื่อให้กับชาติ โดยไม่มีพันธะ ทางธุรกิจกับบริษัทอย่างใด"

ที่แล้วมา กิจกรรมทางสังคมมีแนวคิดของสถาบันครอบครัวของเอไอเอส จึงมุ่งเน้นกิจกรรมด้านดนตรีเป็นหลัก ยรรยงให้เหตุผลว่า กิจกรรมด้านดนตรีจะมีความต่อเนื่องและยาวนาน และตอบสนองความต้องการหลากหลายได้มากกว่ากิจกรรมด้านกีฬา ที่ยังเป็นกลุ่ม ลูกค้าที่จำกัดไม่เหมือนกับในปัจจุบัน

แต่จากสภาพตลาดของโทรศัพท์มือถือเปลี่ยนแปลงไป การขยายตัวของตลาด อันเป็นผลมาจากสภาพของการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การเข้ามาของคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น ราคาเครื่องที่ถูกลง ฐาน ลูกค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น นับเป็นแรงกดดันอีกทางหนึ่งที่ทำให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ต้องหันมาใช้กลยุทธ์การตลาดทุกรูปแบบ เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด และรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้

เงินทุนจำนวนมากที่ถูกใช้ไปกับการติดตั้งไอที เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารฐานข้อมูล ลูกค้า ใช้วิเคราะห์ และจำแนกแยกแยะความต้องการของลูกค้าที่ซับซ้อนก็เพื่อประโยชน์เหล่านี้ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องทำมากกว่านั้น ก็คือ การใช้ฐานข้อมูลให้เกิดประโยชน์ และหากิจกรรมที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้า

"ปัญหาอยู่ตรงที่ปัจจุบันเรามีลูกค้า 2.7 ล้านคน ปลายปีจะเพิ่มเป็น 4 ล้านคน เรามีความสัมพันธ์กับบุคคลมากมาย ที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในสังคมตรงนี้"

ความหมายของยรรยงก็คือ การที่เอไอเอสจำเป็นต้องหันมามุ่งเน้นกิจกรรมกีฬามากขึ้น แทนที่จะมุ่งแต่กิจกรรมด้านบันเทิงเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของ ลูกค้าที่ชื่นชอบกีฬา และกำลังขยายตัวมากขึ้น

การเป็นสปอนเซอร์หลักในการแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมปิศาจแดง ที่มีนัดดวลแข้งกับทีมชาติไทยในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ ภายใต้ชื่อ "ซีเมนส์ จีเอสเอ็ม แมนยู อินไทยแลนด์" ก็ด้วยเหตุเหล่านี้

นอกจากนี้ เอไอเอส ยังตัดสินใจขยายผลสปอนเซอร์หลักให้กับฟุตบอลไทยลีก ในระยะ เวลา 3 ปีเต็ม แลกกับเงินเม็ดเงิน 90 ล้านบาท สำหรับการเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับเกมฟุตบอล ของไทยลีกที่กำลังถูกปลุกขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

ประเด็นสำคัญของความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อการทำกิจกรรมทางสังคม หรือ การมีเพียงแค่ป้ายโลโกของ GSM 2 วัตต์ อยู่ขอบสนามเหมือนกับการแข่งกีฬาซีเกมส์ หรือคราว ที่มีโลโก GSM 2 วัตต์ ติดอยู่ที่ล้อในการแข่งขัน เฟบบลิกเกมที่ผ่านมา แต่มีความหมายของการเป็นสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งอย่างเต็มตัว

ภายใต้เกมฟุตบอลทั้ง 2 นัดนี้ สำหรับ ยรรยงเปรียบเป็นสินค้าที่มีความแตกต่างกัน ทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จัดเป็น สินค้าสำเร็จรูปที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ในแง่ของ ความนิยมของผู้คน ความสนุกจากการเป็นทีมอันดับ 1 ของโลกที่จะใช้ทำกิจกรรม จะมีความหลากหลายมากกว่า

ภาพสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง ของการเป็น สปอนเซอร์ให้กับทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดของยรรยงในเวลานี้ จึงแจ่มชัดมากกว่าการเป็นสปอนเซอร์ฟุตบอลไทยลีก ที่ยังต้องอาศัยเวลาการลงทุน และลงแรง การร่วม มือกับสยามสปอร์ตอีกพักใหญ่ เพื่อผลักดันให้ ฟุตบอล "ไทยลีก" ที่ยังเป็นแค่วัตถุดิบเป็นสินค้าสำเร็จรูป ที่จะนำมาใช้ได้ดีเหมือนกับที่ทำในแมนยู

ตลอดทั้ง 6 เดือนที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาที่เอไอเอสใช้สำหรับการสร้างกิจกรรมการตลาดทุกรูปแบบอย่างเต็มที่กับคำว่า สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง "เราไม่ต้องไปปรุงแต่งอะไรเลย เราแค่ ใช้ชื่อแมนยู แล้วคิดกิจกรรมทางการตลาดเข้าไปให้คนสนใจก็พอ" ยรรยงบอก "ขึ้นอยู่กับว่า เราจะหยิบอะไรมาใช้ และจะยืนตรงไหนให้เหมาะสม"

นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาต้องสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ และใช้ประโยชน์ จากสิ่งเหล่านี้ให้คุ้มค่าที่สุด

โลโกกราฟิกของทีมฟุตบอลแมนยู ที่ให้ลูกค้าจีเอสเอ็มดาวน์โหลดบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งเพลงประจำทีมของแมนยูใช้เป็นเสียงโทรศัพท์มือถือ รวมถึงการเล่นเกม ทายผล การแข่งขัน การโหวตดาราที่ชื่นชอบผ่านบริการ short messaging service หรือ SMS ซึ่งเป็น การใช้ประโยชน์กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ

ถึงแม้ว่ากิจกรรมเหล่านี้จะไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มจำนวนลูกค้าทางตรง เหมือนกับการทำโปรโมชั่นลดค่าแอร์ไทม์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลที่เอไอเอสจะได้รับจากการจัดกิจกรรมเหล่านี้ ก็คือการเพิ่มจำนวนการใช้แอร์ไทม์ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหมายถึงรายได้จากค่าแอร์ไทม์ที่จะเพิ่มขึ้น

ยรรยงยอมรับว่า ที่แล้วมาการสร้างพฤติกรรมการเรียนรู้ให้กับลูกค้า ให้เกิดการใช้บริการ เหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก "ถ้าเราบอกว่ามาดาวน์โหลดรูปกัน แน่นอนว่าพวกเขาไม่ทำ แต่ถ้าบอกว่าดาวน์โหลดโลโกแมนยูกันไหม มันคนละอารมณ์กันเลย"

การจัดงาน "รวมพลพรรคปิศาจแดง" ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ หมุนเวียนกันไปตามห้างสรรพสินค้าของกรุงเทพฯ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกิจกรรมร่วมกับกลุ่มผู้ชื่นชอบกีฬา

เอไอเอส พยายามขยายบทบาทของการเป็นสปอนเซอร์ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดงานหลายๆ ด้าน รวมทั้งการหาสปอนเซอร์ร่วม โดยอาศัยประสบการณ์ในธุรกิจเข้ามาช่วย

เอไอเอส รับหน้าที่เป็นผู้หาสปอนเซอร์หลักมาร่วม ด้วยการไปติดต่อบริษัทซีเมนส์ ประเทศไทย หนึ่งในพันธมิตรคู่ค้าของเอไอเอส และซีเมนส์เองก็อยู่ระหว่างการใช้นโยบายในเชิงรุก เพื่อเร่งขยายส่วนแบ่งโทรศัพท์มือถือให้ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในตลาด การได้ซีเมนส์มาเป็น สปอนเซอร์ร่วม นอกจากจะมาช่วยแบ่งเบาในเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว การได้ซีเมนส์ ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมเหมือนกัน ทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้ากับการจัดแข่งขันให้เดินไปในทิศทาง เดียวกัน นี่ก็คือที่มาของการใช้ชื่อ "ซีเมนส์ จีเอสเอ็ม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด อินไทยแลนด์" นอกจากนี้ เอไอเอสยังได้ยื่นขอซื้อลิขสิทธิ์โลโกแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จากบริษัท pro-events สำหรับใช้ในการผลิตของที่ระลึกในการทำกิจกรรมต่างๆ กับลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์มือถือ การลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มาใช้เป็นโลโก ที่จะสามารถใช้ประโยชน์แปลงเป็นกิจกรรมต่างๆ ได้มากมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ merchant maketing ไม่ได้มุ่งหวังแต่เพียงต้องการให้มีลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ในอีกด้านหนึ่งเอไอเอสยังคาดหวังที่จะนำประสบการณ์ และกิจกรรมการตลาดที่ทำกับสินค้าสำเร็จรูปอย่างแมนยูไปใช้เป็นโมเดลที่จะทำ "จีเอสเอ็มไทยลีก"

ถึงแม้ว่าฟุตบอลไทยลีก จะไม่ได้เป็นสินค้าสำเร็จรูป ที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ทันทีเหมือนกับฟุตบอลแมนยู แต่ "ไทยลีก" สปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง ในอีกรูปแบบหนึ่งที่เอไอเอสจะใช้ในการจัดกิจกรรมกับลูกค้าในกลุ่มที่ชื่นชอบฟุตบอล ที่นับวันจะเติบโตขึ้น โดยมีข้อดีก็คือ จะมีความต่อเนื่องและยาวนานมากกว่า

โมเดลกีฬา คือ โมเดลที่มีพลังของกลุ่มคน และมีความต่อเนื่อง การเป็นแฟนคลับ ความ จงรักภักดีของผู้คน ที่ก่อให้เกิดพลังของผู้คน และความต่อเนื่องของชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่กิจกรรมดนตรีก็ยังมีไม่มากเท่า

ยรรยงบอกว่า ในช่วงแรกเขาไม่ได้ให้ความสนใจเป็นสปอนเซอร์ให้กับฟุตบอล "ไทยลีก" เนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จตลอดทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมา ทั้งในเรื่องของจำนวนผู้ชม และรูปแบบ ของการแข่งขันที่ไม่ดึงดูดความสนใจ

จนกระทั่งสยามสปอร์ตได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจุดอ่อนในด้านต่างๆ ที่ทำให้ฟุตบอล ไทยลีกไม่ได้รับความนิยม ด้วยการนำกลยุทธ์การตลาดมาใช้ในการสร้างกีฬาให้กลายเป็นธุรกิจ อีกรูปแบบหนึ่ง

จุดแข็งอย่างหนึ่งของสยามสปอร์ต ก็คือ การมีสื่อในมือ บวกกับประสบการณ์ของการจัดกีฬาและพันธมิตรในแวดวงกีฬา แนวคิดที่ตกผลึกร่วมกันเหล่านี้ จึงได้รับการตอบรับจากเอไอเอสได้ไม่ลำบากนัก

แนวคิดที่ตกผลึกร่วมกันของทั้งสอง ก็คือ การแปรเปลี่ยนเกมฟุตบอลให้เป็นความบันเทิง ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้สิ้นสุดอยู่เพียงแค่ระยะเวลา 90 นาทีของการแข่งขัน แต่หมายถึงกิจกรรมบันเทิงทุกรูปแบบ การสร้างกิจกรรมร่วมกับคนดูที่จะมีความต่อเนื่อง

"เหมือนกับเราซื้อบัตรเข้าชมคอนเสิร์ตหรูๆ ไม่ใช่ว่าซื้อบัตรแล้วก็เข้าดูเลย แต่เราต้องแต่งตัวให้งดงาม และเดินไปให้คนเห็นว่าเรามาดูคอนเสิร์ต"

นัยที่สำคัญของยรรยง ก็คือ การที่จะทำให้เกมฟุตบอลไม่สิ้นสุดแค่การแข่งขัน แต่ยังหมายถึงกิจกรรมร่วมกับคนดูได้ ตั้งแต่ช่วงเวลาของการซ้อม การโหวตดาวซัลโว ผู้ยิงประตู นักเตะที่ชื่นชอบ

พลังของเกมกีฬา ดึงดูดกลุ่มคนดูผู้ชื่นชอบเหล่านี้ ให้ซึมซับภาพลักษณ์ของสินค้าและบริการผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกทำขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่สื่อโฆษณาในรูปแบบเดิมๆ นั้น ไม่สามารถ ทำได้

สำหรับเอไอเอสแล้ว ไม่เพียงแต่จะทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อจีเอสเอ็มไทยลีกมาก ขึ้นแล้ว นี่คือ โอกาสของการทำสปอร์ตมาร์ เก็ตติ้ง ที่จะนำมาใช้ในการสร้างกิจกรรมให้กับลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์มือถือ บริการเสริม เหมือนอย่างที่ใช้มาแล้วกับการเป็นสปอนเซอร์ ให้กับทีมแมนยู

"สิ่งที่เราจะทำได้ง่ายๆ ก่อนเลยคือ การนำโทรศัพท์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเกมกีฬา"

รูปธรรมที่เกิดขึ้นก็คือ การนำประโยชน์ จากเนื้อหาเหล่านี้มาใช้ในการสร้างกิจกรรมกับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ รูปภาพกราฟิกบนจอภาพ ที่เป็นรูปโลโกของทีมบอลแต่ละทีม จะถูกโหลดอยู่บนโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้จีเอส เอ็ม เช่นเดียวกับเพลงประจำทีมฟุตบอลที่จะโหลดไปอยู่บนจอโทรศัพท์มือถือของลูกค้าที่ใช้จีเอสเอ็ม

แน่นอนว่า ความมุ่งหวังของเอไอเอส ในการเป็นสปอนเซอร์ฟุตบอล "ไทยลีก" ที่เอไอเอสตอบรับเป็นสปอนเซอร์ตลอด 3 ปีเต็ม ปีละ 30 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 90 ล้านบาท ย่อมเป็นการลงทุนที่มีนัยสำคัญและมีความหมายในเชิงการตลาดที่ไม่ใช่แค่ความต้องการ "เนื้อหา" เพียงอย่างเดียว

ระยะเวลา 3 ปี ของการสร้างกิจกรรม เหล่านี้กับกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอล ย่อมหมายถึงการซึมซับแบรนด์ของ "จีเอส เอ็ม" เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป็นกิจกรรมที่ "สื่อโฆษณา" ทำไม่ได้

"โฆษณาวันนี้ ทำหน้าที่เพียงบอกข่าว สาร ตอกย้ำให้ระลึกถึงสินค้า และแนวโน้มคน จะเชื่อโฆษณาก็น้อยลงทุกที ต้องมีเรื่องของกิจกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย"

เอไอเอสยังต้องการสร้างให้ชื่อของ "จีเอสเอ็ม ไทยลีก" กลายเป็นโลโกที่มีคุณค่าในตัวเอง การลงทุนทำของที่ระลึกเป็นส่วนหนึ่งของจุดมุ่งหมายเหล่านี้

"สิ่งที่เราอยากให้เกิด ก็คือ อยากเห็น จีเอสเอ็ม ไทยลีก ไปอยู่บนสินค้าอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่บนโทรศัพท์มือถือเท่านั้น"

แผนการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการตลาด ความบันเทิงจะถูกนำมาใช้ในการดึงดูด คนดู และสื่อต่างๆ ที่จะถูกใช้อย่างเต็มที่ ตลอดระยะเวลา 3 ปีเต็ม เพื่อทำให้เกมฟุตบอลที่เคยล้มเหลวเกิดขึ้นได้ในตลาด ย่อมหมายถึงชื่อของ "จีเอสเอ็ม ไทยลีก" ที่จะถูกเผยแพร่ออกไปพร้อมๆ กับเกมกีฬาฟุตบอล

ถึงแม้ว่าภาพของสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งในความหมายของเอไอเอสจะลึกซึ้งมากกว่าการเป็น สปอนเซอร์ธรรมดา แต่ไม่ได้เป็นแรงผลักดันที่จะทำให้เอไอเอสต้องเป็นสปอนเซอร์ที่มีทีมนักกีฬาเป็นของตัวเอง "ยังไม่ถึงตรงนั้น เราต้องมองภาพในวงกว้างมากกว่า"

นัยสำคัญเหล่านี้ ก็คือ การเป็นสปอนเซอร์ร่วมในการแข่งขันฟุตบอลระดับท้องถิ่นในภูมิภาค "ซุปเปอร์ไลอ้อน" ที่จัดขึ้นโดยบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ที่จะเป็นการแข่งขันระดับตำบล

ชื่อของบริการจีเอสเอ็ม ที่เข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมฟุตบอลทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 ทีม จะไปปรากฏอยู่ทั่วประเทศ เช่นเดียวกับชื่อบริการโทรศัพท์มือถือ และเครือข่ายร้านค้าภายใต้เครือข่ายของเอไอเอส โลโกของ one 2 call และเซลลูล่าร์ 900 และเทเลวิซ ที่จะเป็น สปอนเซอร์ให้กับทีมฟุตบอลในแต่ละจังหวัด

และนี่คือ กลยุทธ์ที่จะเข้าถึงลูกค้าระดับรากหญ้าที่เป็นชาวบ้านทั่วไป อันเป็นส่วนหนึ่งของการโปรโมตในเรื่องของเครือข่ายทั่วไทยของจีเอสเอ็ม ที่ทำมาตลอดหลายปีนี้

ความหมายของ "ฟุตบอล" ไม่ใช่เกมกีฬาที่อยู่บนสนาม และความหมายของสปอนเซอร์ ไม่ใช่แค่ป้ายบนขอบสนาม แต่นี่คือ ความหมายของสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us