นับเป็นการกลับมาอีกครั้งของนักเขียนแนวบริหารเบสต์
เซลเลอร์อย่าง โรซาเบธ มอส แคนเตอร์ (Rosabeth Moss Kanter) กับหนังสือ
Evolve ที่มาชักชวนคนทำธุรกิจให้เร่งมือเข้าสู่การค้าระบบดิจิตอลก่อนจะสายเกินไป
วิธีชีวิตและการทำงานแบบใหม่
แคนเตอร์พูดถึงวัฒนธรรมยุคอินเทอร์เน็ต หรือ e-culture ว่าเป็นวิถีการดำเนินชีวิตและการทำงานแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงองค์กรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยสิ้นเชิง
และสิ่งที่เป็นตัวการการเปลี่ยนแปลงก็คือ การพัฒนาขึ้นมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ
นั่นเอง เป้าหมายของแคนเตอร์จึงอยู่ที่การเสนอแผนการดำเนินงาน (working plan)
สำหรับผู้นำธุรกิจที่คิดนำ e-culture มาปรับให้สอดคล้องกับลักษณะการทำงานตั้งแต่บัดนี้
ซึ่งนักธุรกิจจะต้อง
‘ ถือว่ายุทธศาสตร์เป็นเหมือนโรงละครให้ผู้แสดงได้แสดง
ผลงานของตนออกมาได้ทันที
‘ สร้างเครือข่ายของผู้ร่วมธุรกิจ
‘ รื้อสร้างองค์กรเสียใหม่ให้เป็นชุมชนที่มีทั้งการออนไลน์ และออฟไลน์
‘ ดึงคนที่มีฝีมือและรักษาไว้กับองค์กร
แคนเตอร์เสนอแนวทางในการพัฒนา 3 ประการดังนี้
1. ค้นหาและค้นหา : การท้าทายกับการเปลี่ยนแปลง
แคนเตอร์เริ่มจากการพยายามท้าทายคนที่ไม่สนใจเข้าสู่ระบบออนไลน์ให้เข้ามาสู่ระบบให้ได้
โดยกล่าวถึงผลกระทบของ
อินเทอร์เน็ตที่มีต่อเราทุกคน รวมทั้งต่อธุรกิจที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงด้วย
จากนั้นอธิบายว่าเหตุใดการเปลี่ยนแปลงแต่รูปลักษณ์ภายนอกจึงใช้ไม่ได้ โดยยกตัวอย่างบริษัทเก่าแก่แห่งหนึ่งที่สร้างเว็บไซต์โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรแต่อย่างใด
ซึ่งทำให้ "มีแต่เรื่องเหลวไหล เมื่อไม่ได้เปลี่ยนวิธีดำเนินการธุรกิจ
ย่อมไม่มีทางประสบความสำเร็จจากอินเทอร์เน็ตได้"
แคนเตอร์ยังกล่าวถึงแนวคิดปัจเจกชนนิยมที่แพร่หลายอยู่ว่าเป็นตัวทำลายศักยภาพที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีในยุคอินเทอร์เน็ต
เธอบอกสิ่งท้าทายที่ธุรกิจที่เข้าสู่อี-คอมเมิร์ซกำลังเผชิญหน้าอยู่ตอนนี้ก็คือ
(1) การให้อำนาจและเชื่อมโยงผู้คนให้ติดต่อถึงกันได้ไม่ใช่กันให้อยู่โดดเดี่ยว
(2) การยอมให้เกิดชุมชนของลูกค้าขึ้นและปล่อยให้เติบโตโดยไม่เข้าไปรุกล้ำ
และ (3) การช่วยเหลือทั้งธุรกิจและชุมชนแวดล้อมโดยไม่เข้าไปทำลาย
2. ในสนาม : สาระแห่งความมีประสิทธิภาพทางอิเล็ก ทรอนิกส์ (e-effectiveness)
ความสำเร็จในยุคอินเทอร์เน็ตหมายถึงการสร้าง "ขีดความสามารถที่จะสร้างสินค้าที่เป็นที่นิยมชนิดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง"
บริษัทที่เก่งกาจด้านอินเทอร์เน็ตจะต้องมีหลักที่มั่นคงและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนและสร้างสิ่งใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที
"การริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นแบบสดใหม่ตั้งแต่วินาทีแรกที่สังเกตพบความเปลี่ยนแปลงเป็นหัวใจของ
e-culture"
จากนั้นแคนเตอร์ได้ยกตัวอย่างของซันไมโครซิสเต็มส์
รอยเตอร์ กรีนเฮ้าส์ และ Amazon.com ที่ประสบความสำเร็จได้ระดับโลกและทำรายได้ก้อนโตให้กับองค์กรโดยไม่ต้องมีแผนการที่เขียนขึ้นอย่างเป็นทางการมาก่อน
เธอบอกความสำเร็จยังขึ้นอยู่กับการร่วมมือกันของพนักงาน การคิดค้นร่วมกันในชุมชน
และการดึงคนที่มีความสามารถและรักษาไว้กับองค์กรให้ได้ด้วย
3. การผันแปร : การเปลี่ยนแปลงขั้นรากฐานด้วยความเร็วแบบอินเทอร์เน็ต
เนื้อหาส่วนนี้เป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้ผู้นำธุรกิจที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบมั่นใจได้ว่ามาถูกทางและกำลังก้าวเข้าสู่วัฒนธรรมองค์กรธุรกิจในโลกอนาคต
แคนเตอร์เรียกบริษัทในแบบเก่าที่ต้องการเข้าสู่โลกของ
อี-คอมเมิร์ซว่า บริษัทประเภท "wannadots" ซึ่งหากบริษัทประเภทนี้ต้องการประสบความสำเร็จจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างชัดเจนต่อเนื่อง
และมีทัศนคติในเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลง ต้องระดมความร่วมมือของพนักงาน ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
และเรียนรู้
ที่จะทำทุกสิ่งที่ไม่มีการห้าม
ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะสนับสนุนการคิดเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก
และให้เกิดการเปลี่ยน แปลงอย่างต่อเนื่องไป รวมทั้งยอมรับความคิดใหม่ๆ ด้วย
ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะต้องรู้ว่าจะปรับให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่อย่างไร
จะสร้างสรรค์แนวคิดที่แปลกใหม่อย่างไร อีกทั้งต้องสื่อสารให้คนในองค์กรเห็นถึงวิสัยทัศน์ที่สร้างแรงบันดาลใจได้
สร้างความร่วมมือและวางเครือข่ายการทำงาน และยืนยัน มุ่งมั่น พากเพียรเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ
นับเป็นหนังสือที่เสนอทางออกทางธุรกิจแบบมองไปข้างหน้า อ่านง่ายและสนุก
ประเด็นที่นำเสนอล้วนแต่สำคัญและมาจากประสบการณ์ในชีวิตจริง อธิบายให้เห็นถึงความสำคัญได้อย่างชัดแจ้ง
เหมาะกับผู้บริหารและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทุกคน