จากรถที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบัน "จี๊ป"
ได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นรถอเนกประสงค์ที่มีคนนิยมกันอย่างแพร่หลายในเดือนกรกฎาคมนี้
เป็นช่วงที่จี๊ปจะมีอายุครบ 60 ปีเต็ม
ความเป็นมาของรถจี๊ป จึงมีหลายแง่หลายมุมที่น่าสนใจ
จี๊ป เป็นยี่ห้อรถที่คนไทยและคนทั่วโลก รู้จักกันมานาน โดยเฉพาะคนที่เคยผ่านช่วงของสงครามโลกครั้งที่
2 หรือคนรุ่นหลัง ที่ เป็นคอหนังสงคราม ต่างต้องชินตากับรถที่มีสมรรถนะและประโยชน์ใช้สอยหลากหลายยี่ห้อนี้
ต้นกำเนิดของรถจี๊ป เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม 1941 เมื่อบริษัทวิลลีส์-โอเวอร์
แลนด์ ได้เซ็นสัญญากับกองทัพสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตรถจี๊ปวิลลีส์ เอ็มบี
เพื่อนำมาใช้เป็นยานพาหนะในระหว่างสงคราม
ก่อนหน้านั้น 3 ปี เมื่อสัญญาณของสงครามเริ่มปรากฏขึ้นในทวีปยุโรป กองทัพสหรัฐฯ
ได้เตรียมความพร้อม โดยการติดต่อบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมด แจ้งความประสงค์
ว่าต้องการรถที่จะนำมาใช้ในการตรวจการณ์ และรับส่งข้อมูลแทนรถจักรยานยนต์พ่วง
3 ล้อ ที่ใช้กันอยู่เดิม
กองทัพสหรัฐฯ ได้ให้แนวคิดว่ารถที่ต้องการ จะต้องมีน้ำหนักเบา บังคับง่าย
ทน ทาน วางใจได้ และพร้อมรับทุกสถานการณ์อย่างรวดเร็ว
ในระยะนั้น มีผู้ผลิตรถเพียง 3 ราย คือ ฟอร์ด แบนแทม และวิลลีส์-โอเวอร์แลนด์
ที่มีความพร้อมสำหรับผลิตรถตามแนวคิดที่กองทัพต้องการ ทั้ง 3 รายได้พยายามพัฒนา
จนได้รถต้นแบบถึงกว่า 1,500 รุ่นที่จะใช้ทดสอบในสนามจริง และในที่สุด รถของบริษัทวิลลีส์-โอเวอร์แลนด์
ก็ได้รับการคัดเลือก ในราคาคันละ 738.74 ดอลลาร์สหรัฐ
ระหว่างสงคราม รถจี๊ปได้ถูกใช้งานทุกประเภท ตั้งแต่รถตรวจการณ์ ขนสัมภาระ
เป็นแท่นวางปืน เป็นลีมูซีน แม้กระทั่งรถแท็กซี่ รวมทั้งยังเป็นรถสำหรับลำเลียงคนเจ็บ
ช่วงเวลากว่า 4 ปี หลังเซ็นสัญญากับกองทัพสหรัฐฯ จนถึงสิ้นสุดสงคราม โลกครั้งที่
2 วิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ ได้มีการผลิตรถจี๊ปออกมาถึง 600,000 คัน
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี 2546 รถจี๊ปถือเป็นร่องรอยหนึ่ง
ของสงครามที่ถูกทิ้งไว้ทั่วโลก แต่คนที่ได้รับกลับยินดี เพราะจากสมรรถนะที่แสดงออกมาในช่วงสงคราม
ทำให้คนนิยมที่จะนำรถจี๊ปมาใช้ โดยเฉพาะในงานปรับปรุงสร้างบ้านเรือนขึ้นมาใหม่
ตลอดจนงานในไร่นา ทำให้บริษัทวิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ มองเห็นช่องทางการตลาด
ได้มีการพัฒนา และผลิตรถจี๊ปรุ่นใหม่ออกมาอีกหลายรุ่น
และจากการที่รถจี๊ป เป็นยี่ห้อที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้ ลิขสิทธิ์ความเป็นเจ้าของแบรนด์จี๊ป
ได้ถูกเปลี่ยนมืออย่างต่อเนื่องกันมาหลาย ราย จนในที่สุด ได้ตกมาอยู่กับกลุ่มบริษัทไครสเลอร์
(ภายหลังเปลี่ยนเป็นเดมเลอร์ไครสเลอร์) ในปี 1987 (รายละเอียดดูจากล้อมกรอบ)
สำหรับภายในประเทศไทย แม้ว่ารถจี๊ปจะเป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ช่วงสงคราม
แต่จี๊ปเพิ่งได้เข้ามาทำตลาดในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง ในปี 2537 นี่เอง
ผู้ที่ริเริ่มนำรถจี๊ปเข้ามาขายในไทยเป็นรายแรก คือบริษัทสวีเดนมอเตอร์ส
ที่ได้ติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายจาก บริษัทเดมเลอร์ไครสเลอร์ และมีการจัดตั้งบริษัทไทยไครสเลอร์
ขึ้นมาเป็นผู้นำเข้าในช่วงปลายปี 2536
ต้นปี 2537 รถจี๊ป เชอโรกี 4000 ซีซี ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวเป็นครั้งแรก ในงานมอเตอร์โชว์
ซึ่งจัดขึ้นที่สวนอัมพร
"ก่อนหน้านี้รถจี๊ปที่มีเห็นวิ่งกันทั่วๆ ไป จะเป็นรถรุ่นเหลือจากสงคราม
หรือเป็นรถที่นำเข้ามาในนามของกองทัพ เพื่อใช้ในราชการทหาร และกองทัพได้ปลดระวางออกมา
โดย การประมูลขายให้เอกชน "ทวีชัย บุญศรีโรจน์" เจ้าหน้าที่วิเคราะห์การตลาด
บริษัทเดมเลอร์ไครสเลอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งจับผลิตภัณฑ์รถจี๊ปมาตั้งแต่ต้น
เล่ากับ "ผู้จัดการ"
สาเหตุที่ก่อนหน้าปี 2537 รถจี๊ปไม่ได้มีจำหน่ายในไทย นอกเหนือจากหน่วยทหาร
เนื่อง จากรถจี๊ปถูกจัดอยู่ในรถประเภทออฟโรด ซึ่งในระยะนั้นมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงมาก
จนกระทั่งรัฐบาลในยุคชวน 1 ได้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของรถประเภท
ออฟโรดใหม่ เป็นการเปิดช่องทางให้รถจี๊ปได้มีโอกาสเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย
การเข้ามาของรถจี๊ป เป็นการจุดประกายให้รถออฟโรดยี่ห้ออื่นๆ เข้ามาทำตลาดแข่งขันกันอย่างมากในภายหลัง
ปี 2540 สัญญาระหว่างเดมเลอร์ไครสเลอร์ กับสวีเดนมอเตอร์สต้องสิ้นสุดลง เนื่องจากสวีเดน
มอเตอร์สประสบกับปัญหาเนื่องจากวิกฤติเศรษฐ กิจ เดมเลอร์ไครสเลอร์ได้เข้ามาทำการตลาดด้วย
ตนเองอย่างเต็มตัว
ปัจจุบัน รถจี๊ปเชอโรกี และแกรนด์เชอโรกี ที่มีจำหน่ายอยู่นั้น สามารถประกอบขึ้นเองได้ในประเทศไทย
โดยใช้โรงงานบางชัน แอสเซ็มบลี ซึ่งมีกำลังการประกอบรถจี๊ปได้ 70 คันต่อเดือน
ส่วนรถรุ่นที่ยังต้องนำเข้าอยู่คือจี๊ปแรงเลอร์ โดยตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำตลาดเมื่อปี
2537 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการจำหน่ายรถจี๊ปในไทยไปแล้วประมาณ 9,000 คัน
ปริศนาคำว่า "จี๊ป"
จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่มีคนที่สามารถให้คำตอบได้ว่า คำว่า "จี๊ป"
มีที่มาที่แท้จริงอย่างไร
บางคนเชื่อว่าคำว่า "จี๊ป" มีต้นกำเนิดมาจากการ์ตูนเรื่องป๊อบอาย
ซึ่งตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1930 โดยมีตัวการ์ตูนเอกชื่อ "ยูจีน" และ
"จี๊ป" ซึ่งเป็นตัวการ์ตูน ที่ขี้เล่น และมีความสามารถพิเศษที่จะไปที่ไหน
เมื่อไรก็ได้ และมีความสามารถแก้ไขได้ทุกสถานการณ์
ในขณะที่อีกหลายคน มีความเชื่อว่าชื่อ "จี๊ป" เกิดจากเสียงเรียกที่เพี้ยนของคำว่า
"Generaral Purpose" ซึ่งแปลว่า "อเนกประสงค์" ที่มีตัวย่อที่เรียกกันทั่วไปในวงการรถยนต์ว่า
G.P. และเป็นชื่อที่กองทัพสหรัฐอเมริกา ใช้เรียกรถตรวจ การณ์ขนาดครึ่งตัน
แต่ก็มีอีกบางคน ที่บอกว่าคำว่า "จี๊ป" มาจากชื่อของรถบรรทุกสำหรับขุดเจาะน้ำมันในรัฐโอคลาโฮมา
ในช่วงปี 2534
ลำดับความเป็น
เจ้าของแบรนด์
"จี๊ป"
1941-บริษัทวิลลีส์-โอเวอร์แลนด์ เซ็นสัญญาผลิตรถจี๊ปให้กองทัพสหรัฐฯ เพื่อ
ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2
1953-บริษัทไคเซอร์ คอร์ปอเรชั่น ได้เข้าซื้อกิจการของวิลลีส์-โอเวอร์แลนด์
มีการตั้งบริษัทใหม่ชื่อวิลลีส์ มอเตอร์
1962-เปลี่ยนชื่อบริษัทวิลลีส์ มอเตอร์ เป็นไคเซอร์ จี๊ป คอร์ปอเรชั่น
1970-บริษัทอเมริกัน มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น หรือเอเอ็มซี ได้เข้าซื้อกิจการของไคเซอร์
จี๊ป คอร์ปอเรชั่น และตั้งบริษัทจี๊ป คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทลูกขึ้นเพื่อดูแลกิจการของรถจี๊ปโดยเฉพาะ
1987-ไครสเลอร์ คอร์ปอเรชั่น ได้เข้าซื้อกิจการของเอเอ็มซี
1998-ไครสเลอร์ คอร์ปอเรชั่น ผนวกกิจการกับเดมเลอร์-เบนซ์ ตั้งบริษัทใหม่ชื่อเดมเลอร์ไครสเลอร์