"เงินกู้บัวหลวง เพื่อ SMEs" เป็นโครงการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก
(SMEs) โครงการล่าสุดที่ธนาคารกรุงเทพได้เปิดให้บริการตั้งแต่เมื่อวันที่
16 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้สินเชื่อระยะยาวกับผู้ประกอบการนำไปใช้ในการลงทุน
ขยายกิจการ และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
เงินกู้ก้อนนี้ ถือเป็นโครงการต่อเนื่อง หลังจากเมื่อปีที่แล้ว ธนาคารกรุงเทพได้เปิดโครงการสินเชื่อ
"รวมใจพัฒนา SMEs" ซึ่งเป็น สินเชื่อระยะสั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนนำร่องออกมาก่อนแล้ว
ธนาคารกรุงเทพ ได้เริ่มหันมาให้ความสำคัญผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
มาตั้งแต่ปี 2542 เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
"เรามองว่าภาวะวิกฤติที่เผชิญอยู่ขณะนี้ ถ้าจะได้รับการฟื้นฟู ในระยะยาวแล้ว
จะต้องอาศัย SMEs" โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ
ให้เหตุผล
โฆสิตได้วางแนวทางในการพัฒนา SMEs ให้กับธนาคารกรุงเทพ ไว้ 4 ประการด้วยกัน
คือ
1. ในการพัฒนา SMEs ธนาคารจะต้องทำงานร่วมกับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด
2. จะต้องใช้เวลา เพื่อให้ผลงานออกมาได้คุณภาพ ไม่เน้นที่ปริมาณ
3. โครงการที่ทำต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ
4. จะต้องดำเนินการอย่างครบวงจร
เขามองว่าในระยะ 2 ปีแรก ที่ธนาคารกรุงเทพเริ่มเจาะตลาด ในกลุ่มลูกค้า
SMEs สามารถทำได้แล้วใน 3 แนวทางแรก ดังนั้นนโยบายของธนาคารในการพัฒนา SMEs
ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จะต้องเน้นในการทำให้ได้อย่างครบวงจร
"คำว่า ครบวงจร หมายถึงเราต้องปรับปรุงตัวเอง ต้องมีผลิตภัณฑ์คือ สินเชื่อที่เหมาะสม
และต้องทำงานในเชิงวิชาการกับ ผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น" โฆสิตกล่าว
เขาเล่าว่า ในการปรับปรุงตัวเองนั้น ช่วงที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพได้มีการตั้งสำนักธุรกิจขึ้น
เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้ประกอบ การขนาดกลางและเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ
โดยมีเป้าหมายว่าจะทยอยตั้งสำนักธุรกิจให้ได้ครบ 32 แห่ง ในเขตนครหลวงภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้
นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพได้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่
เป็นหน่วยงานที่จะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่อง SMEs โดยเฉพาะ ทำหน้าที่ประสานงานในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับ
SMEs กับทุกหน่วยงาน ทั้งภายในและภายนอกธนาคาร โดยหน่วยงานนี้ ได้มอบหมายให้พันธ์ศักดิ์
ลีลาวรรณกุลศิริ ผู้บริหารระดับ SVP. ปัจจุบันเป็นผู้จัดการภาคนครหลวง 1
เป็นผู้รับผิดชอบ
ขณะที่ด้านผลิตภัณฑ์ การออกโครงการสินเชื่อ "เงินกู้บัวหลวง เพื่อ SMEs"
มาในช่วงนี้ เพราะเขามองว่าสถานการณ์ปัจจุบันนักธุรกิจ ขนาดกลางและเล็กหลายคนเริ่มปรับตัวรับกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจได้
และมีความพร้อมที่จะลงทุนมากขึ้น จึงมีการแยกประเภท สินเชื่อระยะยาวเพื่อการลงทุนออกมา
หลังจากก่อนหน้านี้ โครงการสินเชื่อ "รวมใจพัฒนา SMEs" เป็นการให้สินเชื่อระยะสั้นเพื่อใช้เป็น
เงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม โครงการสินเชื่อ "รวมใจพัฒนา SMEs" ก็ยังได้ รับความสนใจจากผู้ประกอบการอยู่
จนต้องมีการขยายระยะเวลาของ โครงการไปจนถึงสิ้นปีนี้ จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะหมดอายุโครงการในเดือนธันวาคม
2543 ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีคำขอสินเชื่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เมื่อต้นปี
จนกระทั่งถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคาร กรุงเทพได้อนุมัติสินเชื่อตามโครงการนี้ไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น
4,482 ล้านบาท
"ส่วนใหญ่จะเป็นพวกธุรกิจเพื่อการส่งออก และอุตสาหกรรม สิ่งทอ" เขาระบุ
ส่วนงานด้านวิชาการ ขณะนี้ธนาคารกรุงเทพกำลังอยู่ระหว่าง การออกแบบหลักสูตรในการฝึกอบรมผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้า
โดย จะเน้นลงไปในด้านความรู้พื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องบัญชีและต้นทุน เพราะสามารถนำไปใช้ได้กับธุรกิจทุกประเภท
โดยมีเป้าหมายที่จะเริ่มทดลองหลักสูตรดังกล่าว ภายในไตรมาส 4 ของปีนี้
แม้ธนาคารกรุงเทพ จะให้ความสำคัญกับการพัฒนา SMEs โดย การทุ่มเททรัพยากรบุคคล
และเงินจำนวนมากลงไปในการนี้มากว่า 2 ปี แต่โฆสิตก็ยอมรับว่าในทางปฏิบัติแล้วเป็นเรื่องค่อนข้างยาก
เพราะ SMEs ก็มีองค์ประกอบเหมือนกับธุรกิจประเภทอื่น แต่จะยุ่งยากกว่าตรงที่ความต้องการสินค้านั้นมีน้อยกว่ากำลังการผลิต
ที่สำคัญคือประเทศไทย เพิ่งเริ่มจะตื่นตัวกับเรื่องของ SMEs มาเพียงไม่กี่ปี
หลังจากประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจเท่านั้น
"ประเทศอื่นที่เขาพัฒนาแล้ว เขาให้ความสำคัญกับเรื่องของ SMEs มาตั้งแต่สมัยผมยังเรียนหนังสืออยู่ต่างประเทศ"
เขาเล่า
ดังนั้นการพัฒนา SMEs จึงจำเป็นต้องใช้เวลา และทำเป็นขั้นตอน ไม่สามารถทำให้เห็นผลได้ภายใน
1-2 ปี