จากเกาะเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่ปลายคาบสมุทรมลายู ประเทศที่มีอาณาบริเวณโดยรวมน้อยกว่าพื้นที่ของกรุงเทพมหานครประมาณ
2.5 เท่า และ มีประชากรประมาณ 3 ล้านคนเศษ แผ่นดินที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักในนาม
สิงคโปร์ วันนี้พวกเขา กำลังวาดหวังที่จะกาวสู่การเป็นศูนย์กลางใหม่ของเอเชีย-แปซิฟก
ภาพของแผ่นพับและป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ บริเวณห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า
สนามบิน Changi ในตำแหน่งที่สะดุดตา และสะดวกต่อการหยิบฉวยรับรู้ ซึ่งได้รับการจัดวางไว้เป็นบริการด้านข้อมูลข่าวสาร
สำหรับผู้ที่มีโอกาสมาเยือนดินแดนแห่งนี้ เป็นสัมผัสแรกๆ ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในความสามารถในการบริหารจัดการระหว่างสิงคโปร์กับแผ่นดินถิ่นเกิดของผู้เขียน
หลังจากใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ ล่องลอยบนฟากฟ้าเพื่อเริ่มต้นบันทึกการเดินทางบทใหม่บน
เกาะแห่งนี้ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ก่อนหน้าที่ผู้เขียนจะเดินทางมาสิงคโปร์นั้น Changi International Airport
เพิ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของ โลกติดต่อกันเป็นปีที่
6 ซึ่งเป็นผลจากการสำรวจความ คิดเห็นของผู้โดยสารทั่วโลก เกี่ยวกับความประทับใจและความสะดวกที่ได้รับจากสนามบินแต่ละแห่ง
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะหากพิจารณาจากจำนวนเที่ยวบิน ที่จัดอยู่ในระดับคับคั่งแห่งหนึ่งของโลกแล้ว
การตรวจคนเข้าเมืองก็ดี ระยะเวลาในการรับกระเป๋า และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ
ภายในท่าอากาศยานแห่งนี้ กลับก้าวหน้าและไม่วุ่นวายเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน
หรือสนามบินใหญ่ๆ ของโลกแห่งอื่นเลย
ระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพควบคู่กับกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัด ทำให้หลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา
คำ กล่าวในทำนอง "fine city" หรือ "city of fine" ดูจะเป็น คำค่อนขอดจากผู้คนที่นิยมพฤติกรรมสบายๆ
และตาม ใจตัวเอง จนบางครั้งไร้ระเบียบที่บ่งบอกคุณลักษณะพิเศษของสิงคโปร์ได้เป็นอย่างดี
ถนนจาก Changi มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมือง ได้รับการออกแบบให้เป็นระบบทางด่วน
ซึ่งจะมีทางเข้า-ทางออก เชื่อมเข้าสู่ชุมชนรายทางเป็นระยะ โดยชุมชน เหล่านี้
แม้จะตั้งอยู่ริมทางแต่จะมีระยะห่างจากทางด่วน ประมาณ 10-20 เมตร โดยมีแนวต้นไม้เขียวขจีเป็นเส้น
แบ่ง ซึ่งนอกจากจะทำหน้าที่เป็นเครื่องดูดซับเสียงตาม ธรรมชาติแล้ว ยังช่วยให้แหล่งชุมชนไม่ต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศมากนัก
ความเขียวชอุ่มของต้นไม้บนทางด่วนสาย East Coast Parkway ที่เลาะเลียบแนวชายฝั่งสิงคโปร์
บ่งบอกให้เห็นทัศนะด้านสิ่งแวดล้อมและปรัชญาการ พัฒนาเมืองของผู้บริหารสิงคโปร์อย่างชัดแจ้ง
เพราะพันธุ์ไม้หลากชนิดตลอดสองฝั่งทางนั้น ย่อมมิสามารถ เกิดและเติบโตขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน
หากแต่เป็นผลมา จากการวางแผนและความจริงจังในการดูแลรักษา ซึ่งครอบคลุมสู่ประเด็นแวดล้อมอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นระบบสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ และการจัดสรรที่ดินด้วย
พ้นจากถนนเลียบชายฝั่งได้ไม่นาน ภาพของกลุ่มอาคารสูงที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้า
ไม่ได้ก่อให้เกิดความรู้สึกที่อึดอัด หรือนำพาไปสู่ทัศนอุจาดมากนัก แม้ว่าจะมีความขัดกันอย่างยิ่งก็ตาม
ก่อนที่รถโดยสาร ที่เรียกว่า Maxi Cab จะจอดเทียบที่ประตูทางเข้า โรงแรมซึ่งตั้งอยู่ถนน
Orchard ถนนที่คนไทยจำนวนไม่น้อย อาจจะรู้จักซอกมุมบนถนนแห่งนี้ดีกว่าเส้นทางหลักในหลายจังหวัด
รวมเวลา จาก Changi เข้าสู่ย่านใจกลางเมืองใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที
บนถนน Orchard ซึ่งถือเป็นแหล่งเลือกรื้อซื้อสินค้านานาชนิด พลุกพล่านไปด้วยผู้คน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงบ่ายวันเสาร์และอาทิตย์ Orchard ได้กลายเป็นศูนย์กลางของการนัดพบและกิจกรรม
สันทนาการสำหรับผู้คนต่างถิ่น ทั้งที่มาใช้ชีวิตรับจ้างทำงานระยะยาว หรือเพียงผ่านมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์แบบชั่วข้ามคืนเช่นผู้เขียนก็ตาม
นานมาแล้ว ผู้ประกอบการร้านค้าบน Orchard โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการร้านค้าเฉพาะอย่างใน
Lucky Plaza ซึ่งมีจุดเน้น อยู่ที่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เคยขนานนามผู้คนจำนวนมากที่เคยมีประสบการณ์ด้านลบจากการซื้อสินค้าที่นี่
ในฐานะของ "หมู" ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านของสิงคโปร์ ในลักษณะที่ดูเบาอย่างยิ่ง
แต่จากการสนทนากับผู้ประกอบการหลายราย ในสถานที่แห่งนี้ จะด้วยความฉลาดในการเลือกซื้อสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นหรือความละอายใจที่ได้รับการดูถูก
หรือแม้กระทั่งอำนาจซื้อที่ลดลงก็ตามที ดูเหมือนว่าลูกค้าที่เคยสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้
ลดจำนวนลงไปมากทีเดียว ซึ่งนั่นอาจไม่มีความสำคัญ มากนักที่จะกล่าวถึง
เพราะการได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตความเป็นไปบนถนน Orchard อีกคำรบหนึ่งในครั้งนี้
ทำให้ได้เห็นศักยภาพ วิสัยทัศน์ และความสามารถในการจัด การของผู้บริหารประเทศสิงคโปร์
ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก แต่มิได้หมายว่าเราจะต้องชื่นชม หรือลอกเลียนทำตาม อย่างในทุกด้าน
หากแต่ควรพิจารณาด้วยสายตาและจิตใจที่เปิดกว้าง เพื่อเก็บรับเรื่องราวที่น่าศึกษา
ทำ ความเข้าใจเหล่านี้ และนำมาประยุกต์ปรับใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองในโอกาสต่อไป
ก่อนที่ Orchard จะพัฒนามีรูปร่างหน้าตา และ มีฐานะเป็นแหล่ง shopping
centre เช่นปัจจุบันนั้น ในช่วงทศวรรษที่ 1840 ตลอดริมสองข้างทางถนน Orchard
ยังเต็มไปด้วยสวนพริกไทยและต้นจันทน์เทศ และมีผู้คนตั้งบ้านเรือนในละแวกนี้ไม่มากนัก
จะมีก็แต่เพียงเจ้าของสวน ซึ่งชื่อของพวก เขาได้กลายมาเป็นชื่อเรียก ของถนน
ในบริเวณใกล้เคียงกับ Orchard ไม่ว่าจะเป็น Scotts, Cairnhill หรือ Cuppage
ขณะที่ชื่อของ Orchard ซึ่งมีความหมายถึง "สวนผักผลไม้" ก็สะท้อนความเป็นมาส่วนนี้อย่างชัดเจน
ด้วยเหตุที่ย่าน Orchard เป็น พื้นที่ลุ่มทำให้ในแต่ละปีต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด
ขณะ เดียวกันโรคระบาดในพืชทำให้ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 การเพาะปลูกในเขตนี้ก็มีอันต้องมลายหายไป
กระนั้นก็ดี ปัญหาเรื่องน้ำท่วมยังเป็นปัญหาสำคัญของ Orchard กระทั่งในปี
1965 รัฐบาลสิงคโปร์ ได้ขุดคลอง Stamford เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ก่อนที่ในช่วงต้นของทศวรรษที่
1970 อาคารสูงรุ่นแรกๆ บน Orchard เช่น C.K. Tang, Plaza Singapura และโรงแรม
แมนดาริน จะเริ่มลงหลักปักฐานและเป็นการเปิดบทบาทใหม่ให้เกิดขึ้นบนถนนสายนี้
ภายใต้การดำเนินนโยบายการค้าเสรี ที่มีมานานแสนนาน ทำให้ franchise ร้านอาหารจากต่างประเทศจำนวนไม่น้อยเปิดดำเนินการบนเกาะแห่งนี้
ในขณะที่การจัดการของ รัฐบาลสิงคโปร์ เกี่ยวกับผู้ประกอบกิจการร้านอาหารรายย่อย
ซึ่งเป็นเรื่องราว ของคนพื้นถิ่น ได้รับการออกแบบให้มีความสามารถต่อสู้และทัดทานกระแส
fastfood ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมทางวัฒนธรรมได้อย่างกลมกลืน และมีระดับ ฐานะไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ศูนย์อาหารที่สะอาดเรียบร้อย และมีผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายราย ร่วมแบ่งสรรพื้นที่จำหน่ายอาหารประเภทต่างๆ
เพิ่มความหลากหลาย มีอยู่ ให้เห็นทั่วไป ทั้งในศูนย์สรรพสินค้า หรือตามแหล่งชุมชน
โดยผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารเหล่านี้เอง มิได้อยู่ในฐานะลูกจ้าง
ดังที่ปรากฏให้เห็นในเมืองไทย และยิ่งเป็นภาพที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับหาบเร่
แผงลอยที่พบเห็นจนชินตาในประเทศไทย ซึ่งหลายคนเชื่อว่าสะดวก แต่เต็ม ไปด้วยปัญหาด้านสุขอนามัยและการจัดการพื้นที่โดยองค์รวม
จริงอยู่ที่อาจมีผู้คนจำนวนไม่น้อยแย้งว่าผู้ประกอบการร้านอาหาร แผงลอยในเมืองไทยส่วนใหญ่
เป็นผู้ที่มีเงินทุนน้อย ย่อมไม่สามารถประกอบการในพื้นที่ที่กล่าวถึงนี้ได้
แต่เมื่อพิจารณาให้ถ่องแท้จะพบว่า นั่นอาจเป็นปัญหาปลายเหตุ และถึงที่สุดแล้วอาจเป็นเพียงข้ออ้าง
ในความไม่สามารถในการจัดการของทั้งหน่วยงานภาครัฐ ที่มีบทบาทในการกำกับดูแล
และผู้ประกอบการเจ้าของพื้นที่อาคาร ขณะเดียวกัน ยังมีนัย โดยรวมไปถึงผลประโยชน์อีกจำนวนหนึ่งจากการปล่อย
ให้อยู่ในสภาพไร้ระเบียบนี้อีกด้วย
กระนั้นก็ดี เรื่องของหาบเร่แผงลอยในประเทศ ไทยดูจะเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายปัญหาเชิงโครงสร้าง
ที่เกิดขึ้นจากผลของกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ ในช่วงกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา
ซึ่งย่อมไม่สามารถแก้ไข ได้โดยลำพัง หากแต่จำเป็นต้องรื้อ-สร้างกลไกและปรับ
กระบวนทัศน์ว่าด้วยการพัฒนาใหม่
ถนน Orchard ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเอาจริง เอาจังในการกำหนดผังเมือง
เพราะแม้ว่าบนถนนสายนี้จะเต็มไปด้วยกลุ่มอาคารสูง และมีผู้สัญจรผ่านไปมา
จำนวนมาก แต่ปัญหาด้านมลพิษกลับอยู่ในระดับที่ไม่ สูงนัก ในทางตรงข้าม Orchard
กลับเป็นถนนที่น่าไปเยี่ยมเยือนมากที่สุดของสิงคโปร์
อาคารบนถนน Orchard ทั้งสองฝั่ง ถูกออกแบบให้ทิ้งพื้นที่ว่างด้านหน้าของอาคาร
เพื่อเปิดพื้นที่สำหรับประติมา กรรมรูปทรงหลากหลาย และเป็นจุดพักผ่อนสำหรับประชาชนทั่วไป
ขณะที่พื้นที่ต่อเนื่องอีกประมาณ 6-7 เมตร ถูกกำหนดให้เป็นบาทวิถี ก่อนจะถึงผิวการจราจร
ขนาด 5-6 ช่อง ทาง ทำให้ shopping area แห่งนี้มีสภาพไม่ต่างไปจาก แหล่งสันทนาการ
และสวนสาธารณะขนาดใหญ่ไปด้วย ในคราวเดียว
คุณภาพชีวิตและการเอาใจใส่ดูแลในเรื่องของคนแต่ละกลุ่มวัยเป็นอีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย
การให้คุณค่ากับ senior citizen หรือพลเมืองอาวุโส ในฐานะผู้ผ่านประสบการณ์และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างชาติสร้างแผ่นดิน
จนมีสิงคโปร์ในวันนี้ มิได้ผูกขาด อยู่เฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำที่มียศ หรือตำแหน่งในสังคม
เช่นที่ประพฤติปฏิบัติกันในบางประเทศเท่านั้น หากแต่สิทธิดังกล่าวเป็นของประชาชนสูงอายุของสิงคโปร์ทุกคน
ขณะที่ลานอเนกประสงค์สำหรับเยาวชน บริเวณหนึ่งบนถนน Orchard ซึ่งเปิดโล่งให้ผู้สัญจรได้สังเกตเห็นกิจกรรมที่ดำเนินไป
เป็นประหนึ่งกลไกการควบคุมทางสังคม ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพากลไกของรัฐในการประกาศให้เป็นเขตลานกีฬาต้านยาเสพย์ติด
แต่หลบซ่อนอยู่ในมุมอับ ให้เสียทั้งเวลาและงบประมาณไปโดยเปล่าเปลือง และล่อแหลมต่อการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง
ผู้คนจำนวนไม่น้อยมักกล่าวถึงความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ ในรูปของทรัพยากรธรรมชาติ
และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ในลักษณะที่เกือบจะไม่ต้องทำสิ่งใดมากกว่านี้ก็สามารถดำรงคงอยู่ได้
เพราะ "มีทรัพย์ในดินมีสินในน้ำ" และ "พอเพียง" ที่จะมีชีวิตสืบไป แต่สำหรับสิงคโปร์ดูเหมือนว่าการณ์จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม
ความเป็นมาและเป็นไปของสิงคโปร์ มิได้ผูกพันอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีอยู่
มากมายเหมือนประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พื้นที่ซึ่งเป็นเกาะเล็กเกาะน้อยกระจัดกระจายประมาณ 60 เกาะ โดยมีเกาะสิงคโปร์เป็น
เกาะหลักที่ใหญ่ที่สุดนี้ ย่อมไม่มีทรัพยากรธรรมชาติให้ผู้คนบนเกาะนี้ได้แสวงประโยชน์
มากนัก
หากแต่การสร้างบ้านแปงเมืองของสิงคโปร์ เกิด ขึ้นจากผลของการเป็นเมืองท่า
ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงเส้น ทางการเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก
มาเป็นเวลาช้านาน
บันทึกของจีน ที่นับอายุย้อนไปในคริสต์ศตวรรษ ที่ 3 ได้กล่าวถึงดินแดนนี้ในชื่อของ
"Pu Luo Chung" หรือเกาะที่อยู่ปลายคาบสมุทร แต่เรื่องราวของเกาะแห่ง นี้ก็มิได้มีการบันทึกข้อมูลที่น่าสนใจไปกว่านั้นสักเท่าใด
กระทั่งในศตวรรษที่ 14 เมื่อถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งอยู่ภายในอาณาจักร Sri Vijayan
เกาะนี้จึงได้รับการกล่าว ถึงในฐานะของ TEMASEK ที่มีความหมายถึงการเป็น
"เมืองสมุทร"
ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่ชื่อของสิงคโปร์ ที่ใช้สืบเนื่องต่อมาในปัจจุบันได้รับการบันทึกไว้
โดยมีตำนานระบุเมื่อเจ้าชายแห่งอาณาจักร Sri Vijayan เดิน ทางมายังเกาะนี้และเห็นสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งพระองค์เข้าใจ
ว่าเป็น สิงโต จึงได้เรียกเกาะนี้ว่า Singa-Pura หรือเมืองสิงค์ ตั้งแต่นั้นมา
ประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ได้เริ่มเข้าสู่ยุคสมัยที่น่าตื่นตาตื่นใจในช่วงศตวรรษที่
18 เมื่อการแข่งขันในการขยายอิทธิพลของชาติมหาอำนาจในยุโรป เริ่มหนักหน่วงขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งอังกฤษ ซึ่งพยายามสร้างจุดพักการเดินเรือขึ้นที่สิงคโปร์
และทัดทานอิทธิพลของดัตช์ ในภูมิภาคนี้ด้วย
บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้ จึงไม่ใช่เทพพื้นเมือง
หากแต่เป็น Sir Stamford Raffles ข้าหลวงจากอังกฤษ ซึ่งได้นำเสนอ นโยบายที่ไม่เพียงแต่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสียจากสงคราม
หากแต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาสิงคโปร์ ให้มีบทบาทและฐานะเช่นในปัจจุบัน
Sir Stamford Raffles ได้จัดตั้งให้สิงคโปร์เป็นเมืองการค้าเสรี ซึ่งทำให้บรรดาพ่อค้าและนักเดินเรือจากทั่วทั้งเอเชีย
รวมทั้งจากตะวันออกกลาง และยุโรป หลั่งไหลเข้าสู่สิงคโปร์มากขึ้น ซึ่งในปี
1824 หรือเพียงเวลา 5 ปีนับจากการประกาศใช้นโยบายดังกล่าว ประชากรในสิงคโปร์ก็เพิ่มมากขึ้นจาก
150 คนเป็นกว่า 10,000 คน
ตลอดระยะเวลาที่สิงคโปร์ อยู่ภายใต้อาณัติของ อังกฤษ กระทั่งการอยู่ในฐานะที่เป็น
Crown Colony ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คงมิได้เป็นตราบาปที่สร้างความรู้สึกต่ำต้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ไม่เคยตกเป็น
"อาณานิคม" บาง ประเทศมากนัก
เพราะเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่สำคัญ สิ่งที่เห็นเป็นประจักษ์พยานอยู่ใน
เวลานี้ก็คือ ภายหลังจากสิงคโปร์ได้ประกาศ "เอกราช" เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม
1965 หรือเมื่อ 36 ปีที่แล้วนั้น สิงคโปร์ได้พัฒนาประเทศด้วยทรัพยากรบุคคล
ที่มีวิสัยทัศน์ และความสามารถในการบริหารจัดการ ซึ่งดูจะเป็นทรัพยากรอย่างเดียวที่สิงคโปร์มี
จนสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งในมิติของเศรษฐกิจและการเมืองด้วย
ผู้ที่ไม่ประสงค์จะเก็บรับบทเรียนจากผู้อื่นมาพัฒนาตัวเองและประเทศชาติ
มักพึงพอใจที่กล่าวถึงสิงคโปร์ ในมุมมองที่ดูเบาว่า สิงคโปร์มีความได้เปรียบจากพื้นที่
ที่มีขนาดเล็กเพียง 648 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเล็กกว่ากรุงเทพฯ ที่มีอาณาบริเวณกว่า
1,500 ตารางกิโลเมตรกว่า 2.5 เท่า ทำให้บริหารจัดการและจัดสรรทรัพยากรต่างๆ
ได้ง่ายกว่า
ขณะที่กลุ่มอำนาจนิยมมักอ้างเหตุผลในระบบการเมืองของสิงคโปร์ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักการเมืองอย่าง
ลี กวน ยู และคณะ ซึ่งรวมถึง โก๊ะ จก ตง ในปัจจุบัน กำหนดทิศทางของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการหยิบยกประเด็นดังกล่าว เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความ พยายามในการสร้างความชอบธรรม
เพื่อการยึดครองอำนาจ รัฐอย่างหยาบๆ เท่านั้น
แม้ว่าคำกล่าวอ้างนานาประดามี จะประกอบส่วนขึ้น ด้วยข้อเท็จจริงที่ยากจะปฏิเสธ
แต่ความมุ่งหมายของรัฐบาล สิงคโปร์ในห้วงเวลาปัจจุบัน มิได้มีกรอบโครงอยู่เฉพาะอาณา
บริเวณที่เรียกว่าสิงคโปร์เท่านั้น หากแต่รัฐบาลสิงคโปร์ กำลัง หยิบยื่นความทะเยอทะยานครั้งใหม่
ให้กับทุกภาคส่วนของสังคมสิงคโปร์ได้มีส่วนร่วมเสริมร่วมสร้างอีกครั้ง
ภายใต้แนวความคิด New Asia ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากความพยายามส่งเสริม การท่องเที่ยวของสิงคโปร์
ผ่านมิติทางศิลปะ วัฒนธรรม ดูเหมือนว่าปัจจุบัน New Asia ได้เติบโตและมีเนื้อหาสาระมากกว่าเดิมมากนัก
รัฐบาลสิงคโปร์ โดยการดำเนินงานผ่านบรรษัทที่มีฐานะเป็นเอกชน แต่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ
่พยายามขยายบทบาทเข้าไปลงทุนหรือประกอบกิจการในเกือบทุกประเทศในเอเชีย ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นไปเพื่อสร้างโอกาสในการดูดซับทรัพยากรของประเทศอื่นเท่านั้น
หากแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนในการสร้างเครือข่ายทางเศรษฐกิจและการเมืองให้แก่สิงคโปร์ด้วย
ความมุ่งหมายของสิงคโปร์ ในปัจจุบันอยู่ที่การเป็นศูนย์กลางใหม่ในภูมิภาค
เอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งย่อมไม่ใช่ความคิดที่เพ้อฝันหรือไกลเกินเอื้อมแม้แต่น้อย
ในอดีตสิงคโปร์อาจถูกครอบงำโดยชาวต่างประเทศจากซีกโลกตะวันตก ขณะที่ประชาชนชาวสิงคโปร์จำนวนไม่น้อยต้องอยู่ในฐานะของ
"ลูกจ้าง" ในบรรษัทข้ามชาติ แต่ในวันนี้ บรรษัทขนาดใหญ่ของสิงคโปร์ต่างว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากต่างประเทศ
ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะชาวต่างชาติจากโลกตะวัน ตกเท่านั้น หากแต่ใครก็ตามที่มีความสามารถมากพอ
ที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ย่อมมีสิทธิได้ รับการว่าจ้างมาเป็น
"ลูกมือ" ในการประกอบกิจการ
ภายใต้บริบทของ Singlish ถ้อยคำภาษาอังกฤษจำนวนมาก อาจมีความหมาย แปลกปร่าและลื่นไหลไปจากความหมายเดิมอย่างที่ไม่อาจนึกหรือจินตนาการไปสู่ต้นรากของคำศัพท์เหล่านี้ได้เลย
หวังเพียงแต่ว่า New Asia ในความหมายของสิงคโปร์ จะไม่มีนัยคาบเกี่ยวไปสู่การเป็นศัพท์บัญญัติใน
Singlish ที่มีความหมายถึง "การก้าวขึ้นสู่การเป็นเจ้าอาณานิคมของสิงคโปร์
ในยุคสมัยของ New Economy" นี้เลย