Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2544








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2544
Bonjour de Paris             
 





6.15 น. สายการบินแอร์ฟรานซ์เที่ยวบินที่ AF.224 แตะรันเวย์สนามบิน Charles De Gaulle ปารีส ในเช้าที่ฝนตกพรำๆ อากาศหนาว อุณหภูมิประมาณ 7 องศา

สื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งจากเมืองไทยรีบฝ่าด่านตรวจคนเข้าเมือง ออกมายังด้านหน้าของสนามบินเพื่อรอขึ้นรถไปยังโรงแรม Hyatt Regency ซึ่งห่างจากสนามบินไม่มากนัก และห่างจากใจกลางกรุงปารีสเพียงประมาณ 20 กิโลเมตร

สายการบินแอร์ฟรานซ์ได้เลือกโรงแรมแห่งนี้ เป็นสถานที่ประชุมสัมมนาใหญ่ ในหัวข้อ AIR FRANCE A WORLD LEADER IN AVIATION MAINTENANCE โดยมีนักข่าวจากทั่วโลกประมาณ 200 คน และนักข่าวจากเมืองไทยอีก 6 ฉบับเข้าร่วมด้วย

ก่อนวันสัมมนาได้มีโอกาสไปสัมผัสกับบรรยากาศของเมือง Reims ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในเขตตะวันออก ห่างจากชายแดนประเทศเยอรมนีประมาณ 300 กว่ากิโลเมตร ปัจจุบันรัฐบาลฝรั่งเศสกำลังโปรโมตให้เป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะนอกจากเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในเรื่องทำแชมเปญแล้ว ยังเป็นเมืองที่เงียบสงบ สวยงาม มีโบสถ์ประจำเมืองที่ใหญ่โตและอายุประมาณ 790 ปี

บนถนนไฮเวย์ที่ทอดยาวห่างจากโรงแรมที่พักไปประมาณ 150 กิโลเมตร ก่อนจะถึงเมือง REIMS นั้นเปียกชื้นไปด้วยสายฝนที่ยังตกพรำ เมื่อขึ้นไปบนรถ กฤษณา ไกด์ กิตติมศักดิ์ จากแอร์ฟรานซ์ ซึ่งเป็นชาวลาวที่อยู่ในฝรั่งเศสมากว่า 30 ปี พูดภาษาไทย ลาว อังกฤษ และฝรั่งเศสคล่องปรื๋อได้เตือนให้รัดเข็มขัดซึ่งมีทุกที่นั่ง และบอกว่าปัจจุบันรัฐบาลฝรั่งเศส เข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่อย่างมาก เช่นความเร็วที่ใช้บนไฮเวย์ต้องไม่เกิน 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่หากมีฝนก็ไม่เกิน110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถจำนวนกี่ที่นั่ง ก็ต้องนั่งเท่านั้น จะแอบเบียดเสียดเพิ่มไปสักคนเป็นไม่ได้เด็ดขาด

ช่วงเดือนมีนาคมนี้ยังเป็นหน้าหนาวของฝรั่งเศสซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคมวิวสองข้างทาง จึงเป็นทุ่งหญ้าสีน้ำตาลหมองๆ ต้นไม้ใหญ่ริมทาง เช่น ต้นโอ๊ค ต้นสน ไร้ใบมีแต่กิ่งก้าน ดูทึบทึม เห็นแล้วอดคิดถึงสีแดงเจิดจ้าของดอกหางนกยูงริมคลอง สีม่วงของดอกตะแบก สีเหลืองสดใสของช่อราชพฤกษ์ ริมทางที่กำลังออกดอกพรูพร่างในฤดูนี้ของเมืองไทยไม่ได้

แต่ที่ดินบางแปลงกำลังเขียวขจีไปด้วยต้นหัวผักกาดหวานที่เอามาสกัดทำเป็นน้ำตาล ตรงท้องทุ่งย่านนี้จะมีการปลูกพืชเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่นในเดือนเมษายนก็จะปลูกข้าว ข้าวบาเลย์ หรือมันฝรั่ง มีบ้านเรือนหน้าตาน่ารักกระจัดกระจายเป็นหย่อมๆ

หลายคนอยากแวะลงถ่ายรูปแต่ต้องผิดหวังเพราะได้รับการชี้แจงว่า การจอดรถถ่ายรูปบนทางด่วนนี้เป็นการผิดกฎหมายที่จะต้องเสียค่าปรับสูงมาก จะจอดได้ก็ต่อเมื่อรถมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น พวกเราแนะนำกันว่าถ้ายังงั้นก็ให้คนขับแกล้งลงไปเปิดกระโปรงรถทำเป็นเครื่องยนต์เสียซิ เราจะได้ลงไปถ่ายรูปกัน แต่กฤษณาได้แต่ยิ้มๆ ไม่ยอมจอด บังเอิญข้างนอกฝนยังตกปรอยๆ ลมแรง และอากาศท่าจะหนาวเย็นจับใจก็เลยไม่มีใครตื๊อต่อ

เดือนนี้ปารีสอุณหภูมิอยู่ในระหว่าง 6-12 องศา ชาวฝรั่งเศสบอกว่าเป็นปีที่อากาศไม่หนาวเหน็บเหมือนปีที่ผ่านมา และเพิ่งมีหิมะตกลงแค่ 2-3 วันเท่านั้น ในขณะที่บางเดือนหิมะตกหนักเป็นอาทิตย์ๆ

โรงงานทำแชมเปญที่แวะเข้าไปชมในวันนั้น ยี่ห้อ MUMM เป็นแชมเปญที่มีชื่อเสียงยี่ห้อหนึ่งจากเมือง Reims ถึงแม้ว่าคนฝรั่งเศส จะชอบกินไวน์มากกว่าแชมเปญ แต่แชมเปญยี่ห้อดีๆ ราคาแพงก็ยังขายได้ และเป็นที่นิยมเช่นกัน

ไกด์สาวพาเราไปชมวิวัฒนาการของเครื่องมือต่างๆ ในการทำแชมเปญ และห้องใต้ดินที่เก็บแชมเปญนับหมื่นนับแสนขวดในอุณภูมิที่เย็นยะเยือกทั้งปี โชคดี ที่เตรียมเสื้อผ้ามาพร้อมทั้งสเวตเตอร์ และโอเวอร์โคต ก็เลยเดินชมได้โดยไม่หนาวมากนัก

วันแรกกว่าจะกลับถึงโรงแรมและแยกย้ายกันเข้านอนเป็นเวลาประมาณเที่ยงคืน ซึ่งก็คือเวลา 6 โมงเช้าของเมืองไทย เพราะเวลาของฝรั่งเศสช้ากว่าเมืองไทยราว 6 ชั่วโมง

หัวใจสำคัญของการมาฝรั่งเศสคราวนี้อยู่ที่วันที่สอง ซึ่งมีโปรแกรมสัมมนาเกี่ยวกับงานของศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของแอร์ฟรานซ์นอกเหนือไปจากธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า และการบริการอาหารให้กับสายการบิน รวมทั้งไปเยี่ยมชมแผนกซ่อมบำรุงส่วนหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่สนามบิน ปารีส ชาร์ลส เดอโกลล์

แอร์ฟรานซ์เป็นสายการบินศูนย์กลางสายการบินหนึ่งของยุโรป มีเครือข่ายเที่ยวบินที่มีจุดหมายปลายทาง 296 แห่ง และยังได้ร่วมกับสายการบินชั้นนำจากทั่วโลก 3 รายคือ แอโรเม็กซิโก เดลต้าแอร์ไลน์ และโคเรียนแอร์ ก่อตั้งพันธมิตรสกายทีม ซึ่งเป็นเครือข่ายเส้นทางบินใหม่ที่ครอบคลุมทั่วโลก และล่าสุดได้มีสายการบินเช็กแอร์ไลน์ จากประเทศเช็กเข้าร่วมเพิ่มขึ้นด้วย

งานซ่อมบำรุงของแอร์ฟรานซ์รับผิดชอบโดยฝ่ายโลจิสติกส์ อุตสาหกรรม (Industrial Logistics Division) หรือภายใต้ชื่อ แอร์ฟรานซ์ อินดัสตรีส์ ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นแผนกอุตสาหกรรม รับผิดชอบงานซ่อมบำรุงหนัก และแผนกซ่อมบำรุงย่อย

การซ่อมบำรุงหนักเช่นการซ่อมบำรุงลำตัวเครื่องบินลอกสีเครื่องบิน ถอดส่วนประกอบและเครื่องยนต์ออกเพื่อตรวจสอบตัวถังเครื่องบิน รวมทั้งเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ในห้องโดยสารเพื่อตกแต่งใหม่

การซ่อมบำรุงย่อย จะซ่อมในส่วนของเครื่องบินแอร์บัส และโบอิ้งสำหรับเส้นทางระยะไกล และระยะกลาง รวมทั้งซ่อมใหญ่เครื่องบินคองคอร์ด และยังมีเที่ยวบินประมาณ 900 เที่ยวในแต่ละวันใช้บริการจากช่างเทคนิคของแอร์ฟรานซ์มากกว่า 250 โดยผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในสถานีของแอร์ฟรานซ์ทั้งในและต่างประเทศ

วันนั้นในโรงซ่อมบำรุงของแอร์ฟรานซ์มีเครื่องบินคองคอร์ดทั้งหมด 4 ลำกำลังจอดเช็กเครื่อง และปรับปรุงครั้งใหญ่ หลังจากลำหนึ่งเกิดอุบัติเหตุเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว และกำลังรอขออนุญาตเพื่อขึ้นบินใหม่ในปลายปีนี้ นักข่าวหลายคนเลยถือโอกาสขึ้นไปเดินสำรวจความมหัศจรรย์ของเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพสูงนี้

ในปีที่แล้วลูกค้ารายใหญ่ของแอร์ฟรานซ์รายหนึ่ง ที่มาใช้บริการซ่อมบำรุงฝูงบินพิเศษมาจากกองทัพของฝรั่งเศสเอง ส่วนการบินไทยนั้นแม้จะทำหน้าที่ซ่อมบำรุงเครื่องบินโบอิ้ง 747 ลำตัวกว้างเอง แต่การดูแลระบบลมในการขับเคลื่อนและเบรกจะทำโดยสายการบินแอร์ฟรานซ์ เช่นกัน

แอร์ฟรานซ์ภูมิใจในความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของแผนกนี้อย่างมาก ด้วยเหตุที่สายการบินทั่วไปนั้นมักจะไม่จัดตั้งแผนกซ่อมบำรุงที่ครบวงจรขึ้นมาเอง เพราะเป็นการลงทุนมหาศาลทั้งด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์ ตลอดจนการสรรหาบุคลากรที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ

ในระหว่างปี 2542-2543 แผนกนี้สามารถทำเม็ดเงินให้สูงถึง10,000 ล้านฟรังค์หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 1 ใน 3 มาจากลูกค้าภายนอก และเป็นที่ยอมรับกันว่าแอร์ฟรานซ์ เป็นผู้ให้บริการด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากสายการบินโบอิ้ง

ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาแอร์ฟรานซ์ได้ให้ความสำคัญกับ เอเชียแปซิฟิกมากขึ้น มีอัตราเติบโตในเกณฑ์เฉลี่ย 7-8 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2544-2547 ได้มีการตั้งเป้าไว้ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 28 เปอร์เซ็นต์ มารี โจเซฟ มาเล่ รองประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้เปิดเผยว่าปัจจุบันแอร์ฟรานซ์เปิดเส้นทางบินทั้งหมด 15 จุดหมายปลายทางในการบิน และเป็นการบินแบบบินตรง10 เที่ยวบิน คือจากสนามบินปารีส มาเมืองต่างๆ คือกรุงเทพฯ ฮ่องกง เดลี บอมเบย์ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ โซล สิงคโปร์ โตเกียว โอซาก้า และยังมีนโยบายขยายจำนวนผู้โดยสารแทนในแต่ละเส้นทางแทนการเปิดเส้นทางการบินใหม่

สำหรับในเมืองไทยนั้นผู้โดยสารจะได้เดินทางด้วยเครื่องบินลำใหม่ที่กว้างขึ้นคือโบอิ้ง 747 13F 58J และ 321Y และยังมีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-ปารีสออกจากกรุงเทพฯ เป็นประจำทุกวันเวลา 23.25 น.

ก่อนกลับได้มีโอกาส เข้าไปแวะชมเมืองปารีสอย่างเต็มตา ปารีสยังเป็นเมืองหลวงแห่งหนึ่งที่มีมนต์เสน่ห์อย่างเหลือร้าย ภาพสวยงามของสถาปัตยกรรมการก่อสร้างในอาคารบ้านเรือน ฉายชัดให้เห็นถึงวัฒนธรรมโบราณที่ตกทอดมาหลายร้อยปี และได้ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างดีเยี่ยมภายใต้กฎหมายที่เข้มแข็งกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เมืองใหญ่ๆ ทั่วโลกซึ่งเต็มไปด้วยตึกสูงๆ เบียดเสียดฟ้า ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้

ตัวเมืองถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยแม่น้ำแซน ซึ่งลอดผ่านสะพาน 39 แห่ง ที่ทอดตัวเรียงรายไปตลอดสายน้ำทางด้านใต้ของเมืองคือฝั่งซ้ายที่เป็นเมืองเก่า ส่วนด้านเหนือของเมืองคือฝั่งขวาซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองใหม่และเป็นแหล่งท่องเที่ยว ปารีสเป็นทั้งศูนย์รวมแห่งประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ผสมผสานกลมกลืนไปกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และยังเป็นเมืองหลวงของวงการแฟชั่นโลก อุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือยของฝรั่งเศสจัดอยู่ในอันดับ 1 ของโลก สินค้ายี่ห้อต่างๆ เช่น Cartier Chanel Dior Vuitton นั้นเป็นที่รู้จักกันดี

ค่าครองชีพในปารีสนี้แพงกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป ภาษีรายได้จะสูงมาก ในขณะเดียวกันจะมีสวัสดิการทางสังคมที่ดีมาก รายได้ที่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสบายๆ ประมาณ 3-4 หมื่นฟรังค์ ต่อเดือน ห้องเช่าขนาดสตูดิโอจะประมาณ 200-300 ฟรังค์ต่อเดือน ในขณะที่ราคาที่ดินในเขตลีอองล์ มาไซน์ ตารางเมตรละ 20,000-30,000 ฟรังค์

สิ่งหนึ่งที่น่าเบื่อในปารีสก็คือรถติดมากๆ ทั้งๆ ที่ปารีสมีรถไฟใต้ดินใช้มานานถึง 101 ปีแล้ว และได้รับการพัฒนามาโดยตลอดให้มีเครือข่ายเชื่อมโยงทั่วเมือง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ คนในปารีสส่วนใหญ่จึงนิยมใช้รถแบบซิตี้คาร์ ซึ่ง มี แบบน่ารักๆ ให้เห็นมากมาย ทั้งเปอโยต์ ซีตรอง และเรโนลต์ รถโฟล์ค จากเยอรมนี เป็นรถที่ขายดี ยี่ห้อหนึ่งในฝรั่งเศส ส่วนรถญี่ปุ่นมีวิ่งให้เห็นกันไม่มากนัก สอบถามเข้าก็รู้ว่าเพราะแม้จะราคาไม่แพง แต่ค่าอะไหล่นั้นสูงมากทีเดียว

เวลาฉิวเฉียดเต็มทีเมื่อนักข่าวแปลงร่างเป็นนักชอปเพื่อซื้อและซื้อ ตามรายการที่พรรคพวกสั่ง ก่อนที่จะนั่งรถย้อนกลับมาเอากระเป๋าที่โรงแรมก่อนจะไปสนามบิน เพราะช่วงเย็นในกลางเมืองปารีสรถติดพอๆ กับกรุงเทพฯ ทีเดียว

เห็นคนไทยซื้อของกันแล้ว นึกถึงคำพูดของชาวฝรั่งเศสที่เปรียบเทียบความช่างซื้อของคนไทยไว้ ไม่ได้ว่า 1,000 คนของชาวอิตาลี ซื้อของได้เท่ากับ100 คนของชาวญี่ปุ่น และ 100 ญี่ปุ่น ซื้อของเก่งได้ไม่เท่า10 คนไทย

ในที่สุดทั้งหมดก็ได้มาเอนกายในชั้นธุรกิจของ แอร์ฟรานซ์ได้ทันเวลา ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแอร์ฟรานซ์มีการทยอยปรับปรุงที่นั่งโดยสารใหม่ และตกแต่งห้องโดยสารใหม่ ในทุกเที่ยวบิน ด้วยแนวความคิดที่มองเห็นว่า "ศิลปะการเดินทาง ก็มีความสำคัญไม่แพ้ ศิลปะการดำรงชีวิต และศิลปะการต้อนรับขับสู้" โดยได้มีการว่าจ้างทีมงานดีไซเนอร์ ของบริษัทเดสกริปเพ็ส โกเบ แอนด์ แอสโซซิเอสท์ มาออกแบบที่นั่งซึ่งสื่อถึงแนวความคิดที่ต่างกันคือ ความโอ่อ่าหรูหราในชั้นเฟิร์สคลาส ความประณีตวิจิตรในชั้นธุรกิจ และความคล่องแคล่วมีชีวิตชีวาในชั้นประหยัด

AF. 636 เหินสู่ท้องฟ้า เมื่อเวลาทุ่ม 45 นาที ทิ้งปารีสยามราตรี ที่มีดวงไฟ ระยิบระยับพริบพราว และแสงไฟจากหอไอเฟลที่โดดเด่นขึ้นมา ไว้เบื้องล่าง พร้อมๆ กับปรับที่นั่งให้เอนราบอย่างเต็มที่ 145 องศา ดิฉันดึงโทรทัศน์ส่วนตัวซึ่งมีอยู่ทุกที่นั่งออกจากที่ซ่อนทางด้านข้าง มาปรับเปลี่ยนช่องและขยับให้ได้ระยะพอดีกับสายตา ตั้งใจจะดูหนังเรื่องหนึ่งที่เคยดูผ่านตาในยูบีซีมาแล้ว แต่..เพื่อนนักข่าวที่นั่งข้างๆ บอกว่า เราหลับสนิทหลังจากนั้นไม่เกิน 5 นาที....BON VOYAGE

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us