Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2542
ทัศนะของอานันท์ ปันยารชุน ว่าด้วยหลักการของพรบ.ข้อมูลข่าวสาร             
 

   
related stories

"คุณ" ก็เป็นคนหนึ่งที่มี "สิทธิ" รับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ??

   
search resources

อานันท์ ปันยารชุน




คำบรรยายของอานันท์ ปันยารชุน เรื่องพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการในฐานะกลไกที่จะนำไปสู่หนทางความโปร่งใสของรัฐบาล ในวาระครบรอบ 1 ปีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

"...หลักใหญ่ๆ ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นความก้าวหน้าทางความคิด เพราะอยู่บนมูลฐานหลัก 2 ประการ อันนี้เป็นการปรับความคิดอย่างมาก แต่การปรับความคิดโดยใช้กฎหมายนั้นจะไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง เพราะผู้ใช้กฎหมายหรือผู้ที่อยู่ภายใต้กฎหมาย จะต้องปรับความคิดของตนเองด้วย แต่อย่างว่ามันเป็นการก้าวหน้าอันหนึ่ง วิธีการแรกที่ปรับก็คือว่า ความ คิดเดิม "รัฐ" เป็นผู้กำหนดว่าอะไรควรเปิดเผยอะไรไม่ควรเปิดเผย ถ้ารัฐเปิดเผยอันนั้นถือว่ารัฐทำบุญคุณให้กับประชาชน และประชาชนไม่มีสิทธิที่จะมาต่อล้อต่อเถียงว่า ทำไมไม่เปิดเผย

แต่ความคิดที่เราได้ปรับไปในตัวบทกฎหมายและ จะต้องปรับไปในจิตใจของเราก็คือว่า "ทุกอย่างรัฐต้องเปิดเผย การปกปิดเป็นเพียงข้อยกเว้นเท่า นั้น" อันนี้เป็นหลักการสำคัญมาก หลักการนั้นจะต้องเปิดเผยทุกเรื่อง สิ่ง ไหนที่จะปกปิดนั้นเป็นข้อยกเว้น

คำถามว่า "แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่รัฐบอกว่าควรจะปกปิด ถึงแม้จะเป็นข้อยกเว้น" แต่สิ่งที่รัฐปกปิดนั้นมีกลไกที่จะแก้ไขได้คือ "ประชาชนมีสิทธิอุทธรณ์ได้" ถ้าเผื่อประชาชนมีความสนใจ มีความต้องการที่จะติดตาม หรือต้องการมีบทบาท ต้องการมีส่วนร่วม อันนี้มันเปลี่ยนสภาวะไปว่า ประชาชนไม่ใช่จำเลยในเรื่องประเภทนี้ รัฐต้องเป็นจำเลย และประชาชนมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ ถ้าเผื่อเห็นว่า สิ่งที่รัฐบอกว่าเป็นข้อยกเว้นต้องขอปกปิด เพราะเป็นเรื่องราชการ เรื่องความมั่นคง เรื่องโน้น เรื่องนี้ ถ้าเผื่อรัฐซึ่งเป็นจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีเหตุผลเพียงพอทั้งทางด้านกฎหมาย ทั้งทางด้านความชอบธรรม ทางด้านข้อเท็จจริงว่า ข้อมูลนี้จะต้องปกปิด ถ้าเผื่อไม่สามารถทำให้ประชาชนยอมรับข้อนี้ได้ รัฐก็จำต้องเปิดเผยข้อมูลนั้น

อีกอันหนึ่งที่เป็นหลักการใหญ่ของพระราชบัญญัติ เหล่านี้ ซึ่งอยากเรียนให้ทราบว่า จะหยุดแค่กฎหมายไม่ได้ พระราชบัญญัตินี้จะมีความหมายก็ต่อเมื่อ ประชาชนเข้าใจและประชาชนพร้อมที่จะใช้วิธีความคิดใหม่ๆ เหล่านี้ เพราะฉะนั้น "สื่อ" ถึงมีความสำคัญ

ความสำคัญประการที่สองคือ "รัฐรู้อะไร รัฐทำอะไร ประชาชนต้องรู้อย่างนั้น" อันนี้ปฏิรูปความคิดมากในสังคมไทย กฎหมายฉบับเดียวไม่พอ กฎหมาย 10 ฉบับก็ไม่พอ ถ้าเผื่อประชาชนยังไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ ถ้าเผื่อประชาชนยังไม่ตระหนักในสิ่งเหล่านี้ว่า รัฐรู้อะไร รัฐทำอะไร ประชาชนก็ต้องรู้ด้วย คงจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งที่ประชาชนจะรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงในหลักการวิธีคิดของรัฐ ซึ่งปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติ และคงจะต้องใช้เวลาอีกนานที่เมื่อประชาชนรู้แล้ว และประชาชนพร้อมที่จะใช้วิธีคิดนั้นให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง แต่ก็เริ่มมีกระแสสังคม..เริ่มมี...อาจจะมองโลกในแง่ดี...อาจ...ผมอาจจะติเตียนอย่างนั้นติเตียนอย่างนี้ แต่ก็เห็นว่าสังคมไทยวิวัฒนาการทางด้านความคิดมาก ในระยะเวลา 10 ปี 15 ปีที่ผ่านมา เห็นได้แม้แต่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตอนนั้นความคิดหลากหลาย เถียงกันหน้าดำหน้าแดง เถียงกันแทบจะเป็นจะตาย... แล้วก็ตามแบบฉบับสังคมไทยก็กล่าวหากันแบบไม่มีข้อมูล คนนั้นร่างส่งคนนี้ คนนั้นร่างส่งกลุ่มนั้น คนนั้นพรรคการเมืองส่งเข้ามา คนนี้ทหารส่งเข้ามา...เต็มไปหมด ในสังคมก็ชอบซุบซิบนินทา แต่สุดท้ายภายใน 240 วันก็มีข้อยุติในทางที่ดี และเกิดความสมานฉันท์ในเรื่องของความคิด ทั้งๆ ที่ยังมีความคิดที่แตกต่างกัน แต่เป็นการ สร้างฉันทามติว่า ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยกับข้อนั้นข้อนี้ แต่การคัดค้านอย่างรุนแรงก็หมดไป...สื่อก็ดีขึ้น แต่ยังดีไม่พอและยังจะต้องปรับปรุงตัวเองต่อไปอีก

เรื่องของการที่ต้องการให้มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐนี้ เราก็เห็นได้ในหลายกรณีที่ผ่านมา เมื่อ 5 ปี 10 ปี ที่แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ ก็ดี กระทรวงเกษตรฯก็ดี กระทรวงสาธารณสุขก็ดี ทีวีช่อง 7 ก็ดี ที่ประชาชนเรียกร้อง ขอทราบข้อมูล ขอทราบข้อเท็จจริง และที่หน่วยราชการก็ยอมปฏิบัติตามนี้เป็นความก้าวหน้าอันหนึ่ง ถ้าเผื่อ 15 ปี 20 ปี ที่แล้วก็คงเป็นคลื่นกระทบฝั่งไป

แต่คนไทยเองมีระยะการติดตามเรื่องนี้ค่อนข้างจะสั้น เวลานี้ใครให้ความสนใจในเรื่องกระทรวงศึกษาธิการ กันบ้างหรือเปล่า เรื่องที่บ่นกันดังๆ เมื่อ 2 ปีที่แล้วนี้มันไปถึงไหน และเราจะคาดหวังได้แค่ไหนในปีสองปี เรื่องที่เกิดขึ้นในกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงสาธารณสุขนั้นมันจะกลายเป็นคลื่นกระทบฝั่งไป แล้วคนไทยในสังคมไทยก็เปลี่ยนไปให้ความสนใจในเรื่องอื่นที่อาจจะเกิดขึ้นกับกระทรวงอื่นหรือหน่วยราชการอื่น

"สื่อ" ของการต่างประเทศ เขาใช้เวลา 2-3 ปี ค้นคว้าข้อเท็จจริง เขามีสิ่งที่เรียกว่า "EXPROVED" ใคร ฉ้อราษฎร์บังหลวง ใครโกงกิน ระบบไม่ดีอยู่ตรงไหน... ทำไมอเมริกาถึงมีการ EXPROVED สิ่งที่เรียกว่า "มาเฟีย" ทั้งๆ ที่นักหนังสือพิมพ์ก็ถูกฆ่าตายไปมาก หรือถูกกลั่นแกล้งต่างๆ...ทุกสังคมก็ไม่มีการได้อะไรมา ไม่มีที่จะได้ "สิทธิ" มาโดยไม่มีการต่อสู้ แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง ต้องต่อสู้ด้วยกำลัง ต่อสู้ด้วยสติปัญญา ต่อสู้ด้วยความพยายาม ความอดทน ต่อสู้ด้วยความแน่วแน่ในปณิธานของตัวเอง ต่อสู้เพื่อความชอบธรรมและความถูกต้อง...เรามีความตระหนัก เรามีความยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ถ้าเผื่อสังคมของเรานั้น ประชาชนของตัวเราเอง เรายังคิดว่าเราเป็นแกะ เป็นแพะที่อยู่ในทุ่งนาทุ่งไร่ เมื่อไรคนเลี้ยงแกะเลี้ยงแพะจะพาเดินไปไหน เอาไม้ตีไปทางไหนเราก็เดินไปทางนั้น ถ้าเผื่อเรายังคงเป็นคนประเภทนั้น ซึ่งเราเคยเป็นมาครั้งหนึ่ง ถ้าเรายังเป็นแกะเป็นแพะอยู่ มันก็สมควรที่จะให้รัฐเป็นผู้เลี้ยงและคอยต้อนให้เราไปยังทิศนั้นทิศนี้ ที่จุดนั้นจุดนี้ ทุกอย่างจะไปโทษรัฐอย่างเดียว...มันผิดด้วยกันทั้งคู่ ก็เราไม่รู้ถึงสิทธิของเรา ไม่ตระหนักถึงสิทธิของเรา และไม่พร้อมที่จะปกป้องสิทธิของเรา และเราจะไปโทษใครคนอื่นได้

ความสำคัญในเรื่องนี้จะทำให้การบริหารของเราดีขึ้น ในการบริหารราชการ การบริการทุกอย่างที่มีความชอบธรรม เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่นั้น จำต้องได้รับความแพร่หลายกับความคิดเหล่านี้ โดยอาศัย "สื่อ" เป็นสำคัญ ในการเห็นทัศนคติของทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่..."

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us