Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2542
"คุณ" ก็เป็นคนหนึ่งที่มี "สิทธิ" รับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ??             
 

   
related stories

ทัศนะของอานันท์ ปันยารชุน ว่าด้วยหลักการของพรบ.ข้อมูลข่าวสาร




ในอดีตทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นข้อมูลทางราชการถือว่าเป็น "ความลับ" วันนี้สิ่งที่เคยถูกประทับตราว่าเป็น "ความลับ" กำลังจะถูกทำไม่ให้เป็น "ความลับ" อีกต่อไป ภายใต้พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แต่การจะกะเทาะหินปูนที่ฝังลึกอยู่ในระบบวิธีการทำงานของราชการไทยไม่ใช่เรื่องง่าย กรณีของ "น้องพลอย" เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากว่าไม่ง่ายนักที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าถึงข้อมูลของราชการได้ แต่ก็ยัง ไม่สาย ทุกอย่างล้วนต้องอาศัย "เวลา" และ "ความตั้งใจจริง" ของทุกฝ่าย

เรื่องโดย มานิตา เข็มทอง

manita@manager.co.th,Internet

เหตุเกิดเมื่อประมาณต้นปีที่แล้วหลัง จากผ่านช่วงฤดูกาลสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนต่อยังโรงเรียนต่างๆของรัฐบาล และกำลังเข้าสู่ปีการศึกษาใหม่ "น้องพลอย" หนูน้อยวัยอนุบาล บุตรสาวคนเดียวของสุมาลี-พ.ต.อ.ปรีชา ลิมปโอวาท ก็เป็นหนึ่งในเด็กหลายพัน คนที่เข้าร่วมสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์

และเมื่อผลประกาศออกมา ปรากฏว่า ในจำนวนเด็กที่สอบได้ 120 คนจาก 2,500 คนไม่มีชื่อของ "น้องพลอย"

ตามประวัติ "น้องพลอย" เป็นเด็กเรียนดี สอบได้ที่หนึ่งในชั้นอนุบาล และก่อนที่เธอจะไปสอบ ผู้ปกครองของเธอได้เตรียมตัวและติวให้เธอทุก วัน วันละ 20 นาทีเป็นเวลา 2 ปีเต็ม จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะตั้งความหวังไว้ ถึงแม้จะรู้อยู่เต็ม อกว่า คู่แข่งของลูกนั้นมากเพียงใด

"เราไม่ได้มั่นใจขนาดหนักว่าลูกเราจะต้องสอบได้ เพียงแต่เรามีเหตุอันควรสงสัย และหากปล่อยไว้ก็จะค้างคาใจเราไปตลอด" สุมาลีกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"

เหตุอันควรสงสัยดังกล่าวก็คือ ในบรรดารายชื่อนักเรียนที่สอบได้ 120 คน มีนามสกุลดังๆ กว่า 70% ซึ่งสุมาลี คิดว่าไม่น่าจะเยอะมากมายขนาดนี้ และจุดนี้เองที่เธอคิดว่า ผลการสอบของลูกเธอต้องมีสิ่งที่ไม่ปกติเกิดขึ้น ความมั่นใจที่ว่า "น้องพลอย" จะต้องสอบได้กลับมาอีกครั้ง เพราะเธอคิดว่า หากลูกสาวของเธอแข่งขันกับเด็กอื่นทั่วไป ความสามารถของน้องพลอยต้องติดอยู่ใน 120 คนด้วยแน่ๆ

แต่เมื่อมีข้อสงสัยดังกล่าว เธอ จึงไม่แน่ใจแล้วว่า กระบวนการสอบคัดเลือกครั้งนี้ใสสะอาดจริง เดิมทีเธอเข้าใจว่า มีการแยกเด็กระหว่างเด็ก โควตาของอาจารย์และข้าราชการเรียบ ร้อยแล้ว ไม่ใช่รวมอยู่ในเด็กกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งหากเธอรู้ตั้งแต่แรกว่า "เด็กฝาก" จะรวมอยู่ในกลุ่มนี้ เธอก็คงไม่ให้ลูกเธอมาสอบอย่างแน่นอน

"เราตกเป็นเหยื่อของระบบการศึกษา ถ้าเรารู้ข้อมูลตั้งแต่แรก เราคงไม่ให้ลูกไปลงในสนามนี้ และมีผู้ปกครองอีกมากที่ต้องตกเป็นเหยื่อการสอบคัดเลือกที่ไม่โปร่งใส" เป็นความรู้สึกของเธอ ณ ขณะนั้น

วันที่ 3 เมษายน 2541 เธอจึงได้ทำหนังสือไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อขอตรวจดูและถ่ายสำเนากระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของน้องพลอย และเด็กที่ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2541 ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อจะได้หายสงสัยและสามารถอธิบายเหตุผลให้น้องพลอยรับรู้ได้ว่า "เพราะอะไรหนูถึงสอบไม่ได้" ไม่ใช่บอกลูกไปทันทีว่า "ที่หนูไม่ได้ เพราะมีเด็กฝาก" ซึ่งอาจจะไม่ยุติธรรมกับเด็กอีกส่วนหนึ่งที่สามารถสอบได้ด้วยฝีมือจริงๆ แต่แล้วทุกอย่างก็เงียบหายไปกับสายลม โดยไม่ได้รับคำตอบหรือ คำชี้แจงใดๆ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

"ตอนขอเข้าไปดูข้อมูลครั้งแรก ได้ใช้อำนาจพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง แต่เนื่องจากพ.ร.บ.นี้ไม่ได้ระบุระยะเวลาในการขอดูเอกสาร จึงทำให้ไม่ได้รับคำตอบใดๆ กลับมา" สุมาลีเล่า แต่เธอยังไม่ยอมถอย เธอและสามีจึงได้พยายามศึกษา ค้นหาตัวบทกฎหมาย เพื่อจะนำมาใช้อ้างในการขอดูข้อมูลที่เธอต้องการให้ได้ จน กระทั่งเธอได้ดูรายการหนึ่งทางช่อง 11 ที่มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ พูดเรื่องพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

นับเป็นการจุดประกายให้เธอยื่นหนังสือไปยังคณะกรรมการข่าวสารของราชการ ซึ่งมีคุณหญิงสุพัตรา เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 41 โดย ถือเป็นการอุทธรณ์ และทางคณะกรรมการฯ ได้ส่งเรื่องของเธอไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดข้อมูลข่าวสาร ด้านสังคม ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมายพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีอ.ชูเชิด รักตบุตร์ เป็นประธาน

ต่อมาในวันที่ 19 มิ.ย.ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีหนังสือมาถึงสุมาลี แจ้งผลการพิจารณาว่า การขอตรวจดูและถ่ายสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการสอบดังกล่าว ยังไม่มีเหตุอันสมควรที่ทางมหาวิทยาลัยจะดำเนินตามความต้องการของสุมาลีได้ ซึ่งสอดคล้องกับการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ที่มีความเห็นว่า "ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 30 วรรค 2 (6) ประกอบกฎกระทรวงฉบับ
ที่ 2 (พ.ศ.2540) ให้สิทธิแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่จะใช้ดุลยพินิจในการเปิดเผยกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้ผ่านการสอบคัดเลือกทั้ง 120 คน และของ "น้องพลอย" ดังนั้นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมฯจึงมีมติว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีสิทธิที่จะไม่เปิดเผยกระดาษคำตอบและบัญชีคะแนนของผู้สอบคัดเลือกทั้งหมดได้"

เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยฯ มีความเห็นออกมาเช่นนี้ ครอบครัว "ลิมปโอวาท" แทบจะสิ้นหวัง

"ดิฉันเดินเข้าไปใช้สิทธิอย่างชาวบ้านธรรมดา ไม่ได้เอาหน้าที่การงานเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ถ้าชาวบ้านธรรมดายังใช้สิทธิไม่ได้ ก็แสดงว่าพ.ร.บ.นี้ล้มเหลว" สุมาลีกล่าวอย่างท้อแท้

แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่จบลงง่ายๆ เมื่อเรื่องราวออกไปสู่หน้าหนังสือพิมพ์ และ "สื่อ" นี่เองที่ทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาสนใจอย่างจริงจังมากขึ้น

21 ก.ย. 41 สุมาลีได้ยื่นหนังสือ กลับไปยังอ.ชูเชิด ผู้เป็นประธานคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมฯอีกครั้ง เพื่อขอให้ทบทวนข้อพิจารณาดังกล่าวใหม่ เมื่อทางคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้รับเรื่องอีกครั้ง จึงมีการพิจารณาทบทวนกันใหม่ ซึ่ง รายละเอียดในส่วนนี้อ.ชูเชิดได้เล่าว่า "ในชั้นแรกที่ทางคณะกรรมการลงความเห็นว่า ให้สิทธิมหาวิทยาลัยเกษตรไม่เปิดเผยข้อมูลได้ โดยเขาได้อ้างพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เราได้นำพ.ร.บ.นี้มาดูในรายละเอียด และหาเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็พบว่า พ.ร.บ.นี้เป็นกฎหมายที่ประกาศ ใช้เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองขึ้นมาเท่า นั้นเอง ฉะนั้นจะเห็นว่า พ.ร.บ.นี้ไม่ใช่กฎหมาย ยกเว้นว่าหน่วยราชการไม่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริง ปัญหาต่อไปก็ดูว่ามีกฎหมายอื่นที่ระบุห้ามหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มี ฉะนั้นคณะกรรมการจึงมีมติว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้องเปิดเผยข้อมูล" เป็นอันจบกระบวนการวินิจฉัย

แม้ว่าจะมีประธานคณะกรรมการพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จะมีคำสั่งให้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดเผยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 41 แล้ว ก็ตาม แต่ทางมหาวิทยาลัยก็เลี่ยงไป เลี่ยงมา จนเรื่องจะครบ 1 ปี ใกล้เวลาที่จะมีการเปิดการสอบคัดเลือกในปีการศึกษาใหม่อีกรอบหนึ่งแล้ว ทางครอบครัว "ลิมปโอวาท" ก็ยังมิได้ดูข้อมูลใดๆ

ยังเป็นที่กังขาอยู่ว่า เหตุใด จึงไม่มีการพิจารณาหาเจตนารมณ์ของพ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตั้งแต่การพิจารณาคำอุทธรณ์ครั้งแรก เหตุใดต้องรอให้ยื่นเรื่องมาเป็นครั้งที่ 2 พร้อมๆ กับเรื่องนี้เป็นข่าวในหน้าหนัง สือพิมพ์ขึ้นมา จึงมีการพิจารณาใหม่ว่า ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และเหตุใด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงต้องบ่ายเบี่ยง ดึงเวลา หากบริสุทธิ์จริง...เชื่อว่ากรณีนี้ยังมีเกิดขึ้นได้อีกในหลายสถาบัน เพียงแต่ยังไม่ถึงคิวเท่านั้น...

"เราได้ทำหน้าที่ในฐานะประชา ชนคนหนึ่ง ซึ่งคุ้มกว่าการเป็นนักกฎหมายที่เอาคนเข้าคุก เพราะนั่นคือ การแก้ที่ปลายเหตุ แต่กรณีนี้เป็นระบบป้องกันการเกิดเหตุที่ดี" เป็นความเห็นของเธอที่ได้แปรเปลี่ยนจากการเป็น "แม่" คนหนึ่งที่สู้เพื่อขอความ ยุติธรรมและความบริสุทธิ์ต่อลูกน้อยของเธอ กลายมาเป็น "ประชาชน" คน หนึ่งที่สู้เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องและยุติธรรมของระบบกฎหมายไทย ซึ่งเธอรู้อยู่เต็มอกว่า "ไม่ใช่เรื่องง่าย" เพราะ สังคมไทยยังคุ้นเคยอยู่กับ"ระบบ อุปถัมภ์"

"ต้นทุนในการดำเนินการครั้งนี้เยอะมาก ต้องใช้เวลา ต้องทุ่มทุกอย่าง ต้องดูกฎหมายเยอะมาก ต้องช่วยกันร่วมมือกันทั้งพ่อ แม่ ลูก" สุมาลีกล่าว และเธอยังไม่ยอมแพ้

เรื่องนี้ได้กลายเป็นกรณีศึกษาที่หลายฝ่ายต้องการเข็นให้สำเร็จ อย่าง ราบรื่น ชนิดที่ไม่ต้องมีการฟ้องร้อง ไม่ต้องมีการดำเนินคดีกัน เพื่อใช้เป็นตัวอย่างสำหรับประชาชนรายอื่นที่ต้อง การทราบข้อมูลของหน่วยงานราชการต่อไป

เหตุผลที่ขึ้นต้นเรื่องนี้ไว้ว่า "ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกะเทาะหินปูนที่ฝังลึกอยู่ในระบบวิธีการทำงานของราชการไทย" จุดเฉลยก็คือ กรณีของ "น้องพลอย" ที่เล่าเสนอมาทั้งหมดนั้น ผู้ปกครองของเธอล้วนเป็นนักกฎหมายด้วยกันทั้ง 2 คน ทั้งคุณสุมาลีและคุณพ่อของน้องพลอยต่างมีความรู้และคลุกคลีอยู่กับวงการกฎหมายเป็นอย่างดี ซึ่งจะไม่ให้ช้ำใจได้อย่างไรใน เมื่อเรื่องนี้จะกลายเป็นการต่อสู้ของ"นัก กฎหมาย" ต่อ "นักกฎหมาย" ด้วยกันเองไปเสียแล้ว เนื่องจากในหน่วยงานที่สุมาลีทำงานอยู่ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของเธอ และยังมีอีกหลายคนที่มีลูกหลานที่สอบคัดเลือกผ่าน คงไม่มีใครอยากให้เปิดเผย เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อลูกหลานของตนเองด้วย

นับเป็นความโชคดีของ "น้องพลอย" ที่คุณพ่อคุณแม่ของเธอเป็นนักกฎหมาย เพราะหากเป็นคนอื่นคงปล่อยให้เป็นเรื่องแล้วก็แล้วกันไป คงไม่มีใครอยากเสียเวลาเป็นปีๆ เพียงเพื่อขอดูข้อมูลว่า ทำไมลูกถึงสอบไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า โรงเรียนนี้ไม่ได้ ไปเรียนโรงเรียนอื่นก็ได้เหมือนกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นต่อไป การพัฒนา ปฏิรูประบบราชการ การเมือง การปกครองของไทยจะไม่มีวันสำเร็จได้ เนื่องจากพ.ร.บ.นี้เป็นบันไดขั้นหนึ่งที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายนั้นได้ โดยมีประชาชนเป็นผู้ก้าวไปสู่จุดนั้นด้วยกัน


ต้องให้ "เวลา" กับเรื่องใหม่ๆ

ในช่วงระยะเวลา 1 ปี (10 ธ.ค. 40-30 พ.ย. 41) มีคำร้องเรียน และคำอุทธรณ์ยื่นเข้ามาที่สำนักงานคณะกรรมการพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทั้งสิ้น 32 เรื่อง เป็นเรื่องที่ยุติแล้ว 18 เรื่อง ซึ่งเรื่องของสุมาลีก็รวมอยู่ใน 18 เรื่องนี้ด้วย, เป็นเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยฯด้านสังคมฯ จำนวน 4 เรื่อง, เรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ด้านเศรษฐกิจการคลัง จำนวน 1 เรื่อง, เรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรม การพิจารณาให้ความเห็นเรื่องร้องเรียน จำนวน 1 เรื่อง และเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของสขร.จำนวน 8 เรื่อง

สำหรับกรณีคำร้องของสุมาลียื่นเข้ามาเป็นคำร้องแรก และเป็นเรื่อง ที่มีการกล่าวถึงกันมากที่สุด เนื่องจาก ทางคู่กรณีคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ด้วยการอ้างเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อประวิง เวลา ซึ่งกรณีนี้ทางอ.ชูเชิด ในฐานะประธานคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ด้านสังคมฯ ได้ให้ความเห็นว่า

"เหตุที่มหาวิทยาลัยเกษตรยังไม่ยอมให้ดู โดยอ้างอย่างโน้นอย่างนี้ ผมเข้าใจว่า ไม่ใช่เพราะว่าทางมหาวิทยาลัยจงใจที่จะไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย แต่ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ และผมคิดว่า ในที่สุดแล้วมหาวิทยาลัย เกษตรก็ต้องเปิด และกรณีนี้ไม่เห็นจะกระทบต่อระบบมหาวิทยาลัยเลย ถ้าทุกอย่างทำงานอย่างตรงไปตรงมาไม่ มีอะไร อยากขอดูก็ให้ดู แต่เมืองไทย แย่มานาน ทุกอย่างที่เราทำกันเป็นความลับหมด จะซุกซิกอะไรก็ไม่มีใครรู้ แต่ผมเชื่อว่าทุกอย่างจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง หน่วยราชการเองต้องมีการปรับตัว และงุบงิบทำอย่างในอดีตไม่ได้แล้ว"

สำหรับข้อจำกัดที่อ.ชูเชิดได้สรุปให้แก่ "ผู้จัดการรายเดือน" ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา "ประการแรกคือ จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอกับงาน ประการที่สอง คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่จะมีงานประจำอยู่แล้ว เวลาว่างจึงไม่ค่อยตรงกันแต่ ทางคณะกรรมการฯด้านสังคมฯ ก็สรุป ให้มีการประชุมทุกวันพุธ และต้องเข้ามาพิจารณาวินิจฉัยให้ครบทั้ง 7 คน ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ อย่างเช่น กรณีของคุณสุมาลี ที่การพิจารณาครั้งแรก กรรมการมาไม่ครบ พอครั้งที่ 2 มาครบ 7 คน จึงมีการลงมติกัน และประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ บางทีจะให้ตอบทันทีเลยก็ตอบไม่ได้ ต้องไปค้นไปศึกษาก่อนว่าปัญหาข้อนี้จะตอบอย่างไร แม้กระทั่ง เรื่องๆ เล็กก็มีปัญหาอยู่เสมอ"

จากกรณีดังกล่าวทำให้มองเห็น ข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งในแง่ของพ.ร.บ. และในแง่ของคนทำงาน คือ ในแง่ของตัวพ.ร.บ.เอง ยังไม่มีการระบุระยะ เวลาที่ชัดเจนในการให้หน่วยงานราชการ เปิดเผยข้อมูล หลังจากมีคำสั่งวินิจฉัย ว่าให้เปิดแล้ว จึงเป็นช่องว่างที่หน่วยงานราชการนำมาใช้ เพื่อถ่วงเวลาได้ รวมทั้งช่องว่างอื่นที่อาจยังมองไม่เห็น ซึ่งต้องอาศัยเวลา และหาทางแก้ไขต่อไป ส่วนในแง่ของคนทำงาน คือ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.นี้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธียืมตัวมาจากหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งอาจจะทำงานได้ไม่คล่องตัวนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สำนักงานพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารราชการ (สขร.) ยังสังกัดอยู่ภายใต้สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้การดำเนิน การต่างๆ ล่าช้าตามระบบราชการและไม่เป็นอิสระ หากสามารถทำให้เป็นองค์กรที่ปลอดจากระบบราชการและนักการเมือง เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นอิสระ รวดเร็ว และเป็นกลาง มากที่สุด น่าจะเหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us