Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2542
แจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ เข็นครกขึ้นภูเขา             
 

   
related stories

'สตรีม' สายน้ำที่ไม่ไหลกลับ
เออาร์กรุ๊ป ปริศนาของแจ๊ค

   
search resources

สหวิริยาโอเอ
แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ
Computer




สองสามปีที่ผ่านมาสำหรับชายชื่อแจ๊คแล้ว มันต่างกันคนละเรื่องกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แจ๊คเคยเป็นแบบฉบับของนักธุรกิจสร้างตัวจนเติบใหญ่กลายเป็นผู้ค้าส่งคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของไทย มาวันนี้แจ๊คต้องรับผิดชอบหนี้สินก้อนโต 7,897 ล้านบาทของสหวิริยา โอเอ เป็นหนี้ที่เกิดจากการขยายธุรกิจเกินตัว ความหวังเดียวของเขาคือดึงต่างชาติมาซื้อหุ้น จาร์ดีน-เอเซอร์-เอปซอน จะเป็นยาขนานวิเศษที่ทำให้สหวิริยาโอเอพ้นจากมรสุมลูกนี้หรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ?

ในวัย 27 ปี แจ๊คใช้เวลา 5 ปี สร้าง สหวิริยาโอเอจากตัวแทนขายเครื่องพีซีรายเล็กๆ มาเป็นบริษัทค้าส่งคอมพิวเตอร์รายใหญ่ของเมืองไทย มีสินค้าในมือจำนวนมาก และร้านค้าแฟรนไชส์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

10 ปีให้หลัง แจ๊คพบว่าธุรกิจค้าส่งคอมพิวเตอร์ไม่ได้หอมหวนอีกต่อไป จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวด เร็วของเทคโนโลยี การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น รายได้เพิ่มไม่ทันค่าใช้จ่ายที่ถีบ ตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรหดหายลงทุกที นี่เป็นจุดล่อแหลมที่บริษัทสหวิริยาและบริษัทค้าคอมพิวเตอร์รายอื่นๆ ต้องเผชิญ

แจ๊คหาทางออกให้กับสหวิริยาโอเอ 2 หนทาง

หนทางแรก แจ๊คพยายามที่จะสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง โดยอาศัยการนำชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาประกอบเป็นเครื่องพีซีและจำหน่ายภายใต้ชื่อ "สหวิริยา" ย้ายคลังสินค้ามาไว้รวมกันที่ถนนราษฎร์บูรณะ นำระบบจัดการคลังสินค้าอัตโนมัติมาใช้ เพื่อร่นระยะเวลาในการส่งสินค้าไปยังลูกค้า ระบายสต็อกสินค้าให้เร็วที่สุด พร้อมๆ ไปกับการไปเปิดตลาดใหม่ๆ ในแถบอินโดจีน

แจ๊ค ได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์คนหนึ่ง และเขาก็ชื่นชอบที่จะให้คนมองเขาในแบบเช่นนั้น แจ๊คไม่ได้มีวิสัยทัศน์อย่างเดียว แต่ยังมีความทะเยอทะยาน การเป็นนักต่อสู้ที่อยาก ได้ชัยชนะ

เมื่อบวกกับผลจากความสำเร็จในอดีตในเวลาไม่กี่ปีของสหวิริยาโอเอ ยิ่งทำให้แจ๊คมองการขยายธุรกิจอนาคต อย่างแข็งกร้าวและท้าทายมากขึ้น

ในขณะที่บริษัทคอมพิวเตอร์อื่นๆ อาจจะสาละวนอยู่กับธุรกิจเดิมๆ นำสินค้าใหม่ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์ แวร์มาทำตลาด แต่สำหรับแจ๊คแล้ว เขาไม่ต้องการเป็นแค่ "เซลส์แมนผู้ยิ่งใหญ่" เท่านั้น

แจ๊ค มองเห็นโมเดลการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจสื่อสาร การได้มาของสัมปทานสื่อสารที่สร้างทั้งความร่ำรวยและโอกาสให้กับทักษิณ ชินวัตร และบุญชัย เบญจรงคกุล เป็นสูตรสำเร็จของการสร้างอาณาจักรในวันข้างหน้า

แจ๊คไม่ต่างไปจากนักธุรกิจทั่วไปที่มีการขยายเขตแดนทางธุรกิจอย่าง หนักในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู เป็นยุคที่เงินทุนหามาได้ง่ายดาย ซึ่งก็ทำให้พัฒนาการของธุรกิจเป็นไปอย่างเร่งรีบ และฉาบฉวย

"เวลานั้นเราอยากได้เงิน 50 ล้านบาท แค่ยกหูโทรศัพท์ไปหาไฟแนนซ์ ก็ได้มาแล้ว เงินมันได้มาง่ายมาก พอหามาได้ก็ขยายลงทุนไปเรื่อยๆ" อดีตผู้บริหารของสหวิริยาโอเอเล่า

นี่เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้สหวิริยาโอเอ เปลี่ยนจากผู้ค้าขายอุปกรณ์ปลายทางมาเป็นเจ้าของสัมปทาน กระโดดสู่ธุรกิจสัมปทานสื่อสาร ระบบ ขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ และธุรกิจ บรอดคาสติ้ง

แต่แจ๊คลืมไปว่า ธุรกิจเหล่านี้ไม่ใช่ธุรกิจซื้อมาขายไป เป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์อยู่มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่สหวิริยาโอเอยังอยู่ ในช่วงของการเริ่มต้นของการเรียนรู้ ในขณะที่ทั้งทักษิณและบุญชัยต่างไปไกลกว่านั้นมากแล้ว

ช่วงเวลาของการได้สัมปทานของสหวิริยาโอเอต่างกับชินวัตรและ ยูคอมอย่างสิ้นเชิง แจ๊คเข้ามาสู่ระบบสัมปทาน ในขณะที่ทักษิณและบุญชัยต่างหาประโยชน์จากสัมปทานกันไปเต็มที่แล้ว ตลาดส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยชินวัตรและยูคอมไปมากแล้ว

ทั้ง 2 โครงการสื่อสาร ที่สหวิริ-ยาไปได้สัมปทานมาจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) คือ บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม (วีแสท) บริการพีอาร์เอ็น และการทำตลาดบริการสื่อสารระบบดิจิตอล หรือไอเอสเอ็น จึงเรียกได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จด้วย ข้อจำกัดของเทคโนโลยี และการแข่งขัน บริการวีแสทนั้น ตลาดมีอยู่จำกัด นอกจากคู่แข่งในตลาดวีแสทด้วยกันแล้ว ยังต้องเจอกับคู่แข่งที่ใช้เทคโนโลยีอื่น ทำให้การทำตลาดในช่วงหลังยากขึ้น และสหวิริยาเองก็มาเปิดให้บริการหลังผู้ให้บริการอื่นๆ ส่วน วิทยุคมนาคม พีอาร์เอ็นนั้น ด้วยเทคโนโลยีของบริการ ที่คล้ายกับวิทยุทรังค์โมบายที่ยังไม่สามารถตอบสนอง ความต้องการได้เท่ากับโทรศัพท์มือถือ

ด้านธุรกิจบรอดคาสติ้ง แจ๊คกระโดดไปเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นในสยาม ทีวี แอนด์คอมมิวนิเคชั่น หรือ ไอทีวี ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 7% และไปร่วมมือกับคนไทยในเยอรมันทำธุรกิจ ให้บริการทีวีข้ามชาติ โดยซื้อลิขสิทธิ์รายการจากช่อง 9 กันตนา แกรมมี่ เจเอสแอล ยิงสัญญาณผ่านดาวเทียมไปให้คนไทยในยุโรปดู

แต่ธุรกิจบรอดคาสติ้งไม่เหมือน ธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์ สหวิริยาไม่ใช่เจ้าของสถานีทีวี หรือเป็นผู้ผลิตรายการที่มี "รายการ" ในมืออยู่แล้ว แทบไม่มีความหมายเลย ซึ่งในเวลาต่อมาแจ๊คก็ต้องขายหุ้นในไอทีวี และเลิกธุรกิจไทยเวฟลง

การขอสัมปทานสื่อสารรถไฟฟ้าไปลาว เป็นอีกหนึ่งในวิสัยทัศน์ ที่แจ๊คต้องการก้าวไปสู่การเป็นเจ้าของระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ สิ่งที่แจ๊คมองเห็นก็คือ เส้นทางที่วิ่งข้ามจากลาวไปสิ้นสุดในจีน เป็นเส้นทางใหม่ที่จะมีอนาคตยิ่งนัก และข้างในนั้นยังมีแร่ธาตุ ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก

แต่สัมปทานในประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ ก็ไม่ต่างไปจากสัมปทาน ของไทย ที่ความไม่แน่นอนยังมีอยู่สูง และในที่สุดโครงการนี้ก็ต้องพับไป

ผลจากความพยายามสร้างอาทิตย์ดวงที่ 2 นี้เอง จึงกลับกลายเป็นปัญหาของสหวิริยาโอเอในเวลาต่อมา

ข้อแรก-ธุรกิจสัมปทานเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูงมาก เงินที่ใช้ในการลงทุน ไม่ใช่กำไรสะสม แต่เป็นเงินกู้ยืมมาจากสถาบันการเงินต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

ข้อสอง- ความไม่เชี่ยวชาญในธุรกิจ ธุรกิจสัมปทานเป็นธุรกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ต้องอาศัยความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ ที่ต้องเกี่ยวพันกับการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่สหวิริยาโอเอ ไม่มีประสบการณ์มาก่อน

ข้อสาม-แจ๊คขาด "คน" ที่จะมารองรับธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้ พนักงานของสหวิริยาล้วนแต่เติบโตมาจากธุรกิจคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโมเดลการทำธุรกิจที่แตกต่างไปจากธุรกิจสัมปทานเหล่านี้ แม้ว่าแจ๊คมีการดึงคนนอกเข้ามาบ้าง แต่ไม่มีใครที่จะก้าวขึ้นมาเป็นขุนพลที่จะมาสานงานต่อเนื่องได้

ข้อสี่ - จากการที่แจ๊คหันมาบุก เบิกธุรกิจใหม่ๆ นี้เอง ทำให้ธุรกิจคอม พิวเตอร์ขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องขาด ไดเร็กชั่นที่ชัดเจน การแก้ปัญหาหลาย อย่างของธุรกิจดั้งเดิมนี้ไม่บรรลุผล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสต็อกสินค้า การประกอบพีซีภายใต้ชื่อสหวิริยา

แม้ว่า แจ๊คจะสร้างระบบบริหารใหม่ที่กระจายอำนาจมากขึ้น แต่งตั้งผู้บริหารขึ้นมาดูแลธุรกิจในแต่ละกลุ่ม ซึ่งแจ๊คเปรียบเปรยว่าเป็น การสร้าง "ภูเขา" ให้ "เสือ" อยู่ โมเดล นี้จะไปได้ดี หากแจ๊คทำหน้าที่เชื่อมประสานธุรกิจเหล่านี้ให้สามารถสร้างประโยชน์ร่วมกันได้

พอมาประจวบเหมาะกับมาเจอวิกฤติเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทลอยตัวทำเอาเปียกปอนกันถ้วนหน้า ปัญหาของสหวิริยาโอเอจึงลุกลามหนักขึ้น จากเลือดที่ไหลซิบๆ ก็กลายเป็นเลือดไหลไม่หยุด

ผลจากการขยายธุรกิจในวันนั้น สหวิริยาโอเอมีหนี้สินสะสมอยู่ 7,897.73 ล้านบาท

หนี้จำนวนนี้ เป็นหนี้สินที่เกิดจากเงินกู้ที่ได้จากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศ รวมกัน 50 กว่าแห่ง ซึ่งในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งที่อยู่ในสถาบัน การเงินที่ถูกปิด และอยู่ในความดูแลของปรส. เป็นหนี้สินที่กู้มาจาก เอเซอร์ และเอปซอน มาใช้เป็นเงินทุนหมุน เวียน แก้ปัญหาสภาพคล่องบริษัทในช่วงที่ปัญหาเริ่มก่อตัว

แจ๊คเองก็รู้ดีว่า หนี้ก้อนนี้มันเกินกำลังที่ธุรกิจสหวิริยาโอเอจะชดใช้ได้หมด ลำพังรายได้จากธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์ในเวลานี้ต้องประสบความยากลำบาก ตัวเลขขาดทุนยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปี 2540 มีผลขาดทุนอยู่ 2,362.08 ล้านบาท ส่วนไตรมาสแรกจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2541 มีผลขาดทุน 2,279 ล้านบาท

แม้ว่าแจ๊คจะแก้ปัญหาด้วยการ ขายทิ้งธุรกิจที่ไปลงทุนไว้ ไม่ว่าจะเป็นการขายหุ้น 7% ที่ถืออยู่ในสยามทีวี เลิกธุรกิจหลายอย่างเช่น ไทยเวฟ ขอ เลิกสัมปทานสื่อสารที่ขอมา ลดค่าใช้จ่าย ลดจำนวนพนักงานลงเพื่อตัดค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับหนี้ก้อนโตนี้

การเพิ่มทุนยิ่งไม่ต้องพูดถึง ลำพังธุรกิจเหล็กของคุณหญิงประภา วิริยประไพกิจ ก็เจอผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจไม่แพ้กัน

ธุรกิจของแจ๊ค ก็เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน หนทางเดียว คือ หาทางประนอมหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแปลงจากหนี้เป็นทุน ขอยืดเวลาชำระหนี้ ขอลดมูลหนี้ลง แต่การทำเช่นนี้ได้จะต้องมีแผนฟื้นฟูกิจการที่ทำให้เจ้าหนี้มีความมั่นใจพอว่ากิจการที่มีอยู่จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้

แผนฟื้นฟูกิจการของแจ๊ค คือ การขายหุ้นให้กับพันธมิตรรายใหม่จากต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นในบริษัท เพื่อหวังจะได้เม็ดเงินจากการขายหุ้นมา ใช้หนี้ และจะทำให้มีเม็ดเงินใหม่ที่จะเข้ามาอัดฉีด มาเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้

แจ๊คใช้เวลาในการหาพันธมิตรรายใหม่อยู่นับปี ในที่สุดก็ได้บริษัทจาร์ดีน ออฟฟิศ ซิสเต็มส์ เทคโนโลยี (เจโอเอส) บริษัทในเครือจาร์ดีน แมท ธีสัน จากฮ่องกงมาถือหุ้น

เจโอเอสนั้นเป็น 1 ใน 5 สาขาธุรกิจของจาร์ดีน แมทธีสัน ธุรกิจยักษ์ ใหญ่ของฮ่องกง ซึ่งมีเครือข่ายการตลาด วิศวกรรม อสังหาริมทรัพย์ และไฟแนนซ์ อยู่ในหลายประเทศ ธุรกิจของเจโอเอส คือ เป็นผู้ค้าส่งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และไอที มีสาขาในจีน มาเลเซีย และสิงคโปร์

การได้จาร์ดีนเข้ามาถือหุ้น ดูแล้วน่าจะเป็นทางออกที่ดีมากๆ สำหรับ สหวิริยา เพราะเจโอเอสนั้นมีทั้งฐานการเงินที่แข็งแกร่ง และมีเครือข่ายธุรกิจค้าอุปกรณ์ไอทีคอมพิวเตอร์ ที่สามารถเอื้อประโยชน์กับธุรกิจของสห-วิริยาโอเอได้โดยตรง จากระบบการบริหารงานที่เป็นมาตรฐานมากขึ้นและ ยังมีอำนาจต่อรองในการซื้อสินค้าจากเครือข่ายที่มีอยู่มากมายนี้ได้มากขึ้น

แต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิด หากไม่เป็นเพราะหนี้ก้อนโต 7,897 ล้านบาทของสหวิริยาโอเอ ที่ไม่มีนักลงทุนใหม่คนไหนจะยอมแบก

เจโอเอสนั้นไม่ได้มาถือในสห-วิริยาโอเอ แต่ต้องการเฉพาะธุรกิจช่องทางจำหน่าย หรือ IT Distribution ในลักษณะ STRATEGIC BUSINESS UNIT เท่านั้น

ตามข้อตกลงระหว่างสหวิริยาและเจโอเอส ก็คือ จะมีการตั้งบริษัทใหม่ขึ้น เจโอเอสจะถือหุ้นใหญ่ไม่ต่ำกว่า 70% ส่วนสหวิริยาโอเอจะถือหุ้นน้อย

จากนั้นสหวิริยาโอเอจะโอนธุรกิจไอทีเทอร์มินัลทั้งหมด รวมทั้งพนักงานมาไว้ที่บริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ โดยจะมีการตีมูลค่าสินทรัพย์ของไอทีเทอร์มินัลทั้งหมด เช่น สินค้าคงเหลือ ที่ดิน คลังสินค้าที่ถนนราษฎร์บูรณะ แฟรนไชส์โอเอ และสาขาทั้งหมด บวก กับค่าโอกาสทางการค้า GOOD WILL มาเป็นราคาหุ้นที่จะขายให้กับเจโอเอส

นั่นเท่ากับว่า เจโอเอสเลือกซื้อเฉพาะทรัพย์สินดีๆ เพราะธุรกิจช่องทางจัดจำหน่ายนั้น เป็นธุรกิจที่เป็น

"รากฐาน" ของสหวิริยาโอเอ เป็นธุรกิจ ที่ทำรายได้ให้ถึง 70% ของธุรกิจที่มีอยู่ ประกอบไปด้วย เครือข่ายร้านค้า โอเอเซ็นเตอร์ สาขา คลังสินค้า รวมทั้งสิทธิ์ในการเป็นตัวแทนขายพีซี และ อุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ

ปัญหาก็คือ หลังจากตัดธุรกิจช่องทางจัดจำหน่ายไปแล้ว สหวิริยาโอเอจะเหลือเพียงธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจเอสไอ และไอทีซุปเปอร์สโตร์ ซึ่งรายได้จากทั้ง 3 ธุรกิจนี้จะต้องแบกรับหนี้ 7,000 ล้านบาท เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก

ในจำนวนนี้มีเพียงแค่ธุรกิจเอสไอเท่านั้นที่ทำรายได้พอมีกำไร แต่ ก็ไม่มากพอที่จะเลี้ยงทั้งบริษัทได้ ยิ่งธุรกิจโทรคมนาคมด้วยแล้ว สัมปทาน ที่มีอยู่ก็กลายเป็นภาระหนัก สหวิริยาโอเอพยายามเดินเรื่องเพื่อคืนสัมปทาน ให้กับการสื่อสารฯแล้ว เหลือแต่เพียงแค่ธุรกิจค้าขายอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ยังพอทำรายได้

ปรากฏว่า ในช่วงที่แจ๊คประกาศ การมาถือหุ้นของเจโอเอสได้ไม่นาน

กนกวิภา วิริยประไพกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจเอสไอ ก็ยื่นใบลาออก ตามมาด้วยผู้บริหารและพนักงานในกลุ่มเอสไอ (อ่านล้อมกรอบสตรีม)

การลาออกของกนกวิภา เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน รวมทั้งแจ๊คเองด้วย ซึ่งไม่คิดว่ากนกวิภาจะลาออกในช่วงเวลานี้

"ตอนแรกผู้บริหารรู้กันว่า เจโอเอสจะมาซื้อหุ้นในสหวิริยาโอเอ แต่ไปๆ มาๆ กลับกลายมาเป็นว่า เลือกซื้อเฉพาะไอทีเทอร์มินัล ผู้บริหารของสหวิริยาก็มองว่า ผลออกมาแบบนี้ก็เท่ากับว่า ธุรกิจที่เหลือจะต้องมาแบกรับหนี้ก้อนใหญ่นี้" อดีตพนักงานสห วิริยาเล่า

แจ๊ครู้ดีว่าการตัดขายธุรกิจช่องทางจำหน่ายให้กับเจโอเอส คงไม่ง่ายแน่ บรรดาเจ้าหนี้ทั้ง 50 รายคงไม่ยอม เพราะเท่ากับว่า สหวิริยาโอเอเหลือแต่ซากเน่าๆ ซึ่งมันก็ไม่ต่างกับแผนฟื้นฟูของอัลฟาเทค ของชาญ อัศวโชค ที่ตัดธุรกิจดีให้ต่างชาติถือหุ้นเหลือแต่ธุรกิจเน่าๆ ไว้ ซึ่งแบงก์กรุงไทย เจ้าหนี้รายใหญ่ก็ออกมาคัด ค้านไม่รับแผนฟื้นฟูฯทันที

แจ๊คให้สัมภาษณ์ว่า การร่วมทุน กับเจโอเอส เป็นแค่กระบวนการเดียว มันยังมีอีกเยอะ ถ้าเป็นหนังนี่ เป็นแค่ภาค 1 ยังมีภาค 2 ภาค 3 ภาค 4

ภาคที่ 2 ของสหวิริยา ก็คือ การไปดึงเอาเอเซอร์ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศสิงคโปร์ มาถือหุ้นในสหวิริยาโอเอ

แจ๊ค ระบุว่า ในสัญญาบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างทั้งสองนั้น เอเซอร์จะมาถือหุ้นในสหวิริยาโอเอ ในสัดส่วนมากกว่า 55% โดยหุ้นที่จะขายให้กับเอเซอร์นั้นจะมาจาก 3 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ แจ๊ค, คุณหญิงประภา และวิทย์ วิริยประไพกิจ

จากนั้นเอเซอร์จะโอนกิจการของเอเซอร์ในไทย รวมทั้งทรัพย์สิน โอกาสทางธุรกิจ ลูกค้าเข้ามาไว้ในสหวิริยาโอเอ จากนั้นจะดำเนินการภายใต้ชื่อบริษัทใหม่ ซึ่งบริษัทใหม่แห่งนี้ จะทำธุรกิจไอทีเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจช่องทางจัดจำหน่าย ธุรกิจบริการวางระบบคอมพิวเตอร์ ธุรกิจไอทีซุปเปอร์สโตร์

ถัดจากนั้นไม่กี่วัน ภาคที่ 3 ของสหวิริยาก็ตามมา คราวนี้แจ๊คได้เอปซอนผู้ผลิตพรินเตอร์ พันธมิตรเก่าแก่อีกรายของแจ๊คมาถือหุ้น 10% ในสหวิริยาโอเอ แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดมูลค่าหุ้น

แจ๊คจะต้องนำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อขอความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น ต่อเจ้าหนี้ทั้ง 50 กว่าราย และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวม ทั้งบริษัทแม่ของเอเซอร์ในไต้หวัน

แจ๊คบอกว่า หากเป็นไปตามแผนทั้งหมดที่วางไว้ ปีหน้าบริษัทจะสามารถชำระหนี้ได้หมด ซึ่งจะได้มาจากเม็ดเงินของเจโอเอส และเอเซอร์ และอีกส่วนจะมาจากมูลค่าทรัพย์สินของสหวิริยาโอเอ จะทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อทุน จากที่มีอยู่ 4:1 ลดลงเหลือ 1:1 เท่านั้น

ทั้งหมดนี้คือ โมเดลการฟื้นฟูกิจการ เป็นการฟื้นฟูกิจการที่พึ่งพาพันธมิตรเป็นผู้เยียวยา

แต่ดูเหมือนว่ามันคงไม่ง่ายนักในสายตาของนักวิเคราะห์ทั่วไป

ข้อแรก-ราคาหุ้นที่สหวิริยาโอเอ จะขายให้กับเจโอเอสนั้นเป็นราคาเท่าใด ยิ่งในภาวะเช่นนี้สหวิริยาโอเอจะมีอำนาจ ต่อรองในเรื่องราคาหุ้นได้มากเพียงใด ซึ่งก็หมายความว่า สหวิริยาโอเอจะมีเงินเหลือจากการขายหุ้น และทรัพย์สินให้กับเจโอเอสมาชำระหนี้หรือไม่

เจโอเอส จะยอมอัดฉีดเม็ดเงิน มาที่บริษัทใหม่มากน้อยเพียงใด เป็นไปได้อย่างมากที่เจโอเอสจะใส่เงินลงมาเฉพาะสินค้าที่คาดว่าจะขายได้เท่านั้น

ข้อสอง - การมาถือหุ้นของเอเซอร์ และเอปซอน น่าจะเป็นเพราะต้องการแปลงหนี้ให้เป็นทุน จากการที่สหวิริยาโอเอเป็นหนี้การค้าเอเซอร์ 600 ล้านบาท และเป็นของเอปซอน 400 ล้านบาท มากกว่าจะต้องการมาลงทุนในสหวิริยาโอเอ

เพราะหากมองในแง่ยุทธศาสตร์ ของเอเซอร์ และเอปซอนแล้ว การมาถือหุ้นในสหวิริยาโอเอไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับทั้งสองเลย เพราะทั้งเอเซอร์และเอปซอนมีรากฐานมาจากธุรกิจผลิตพีซี และอุปกรณ์ ต่อพ่วง ในขณะที่สหวิริยาโอเอหลังจากตัดขายธุรกิจช่องทางจัดจำหน่ายไปแล้ว ก็เหลือแต่ธุรกิจเอสไอ โทรคมนาคม และไอทีซิตี้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทั้งเอเซอร์ และเอปซอนก็ไม่มี

ยิ่งธุรกิจไอทีซิตี้ด้วยแล้ว น่าจะเป็น "CONFLIC OF INTEREST" มากกว่า ต้องไม่ลืมว่าเอเซอร์ และเอปซอนอยู่ในฐานะของผู้ผลิต เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้า ส่วนไอทีซุปเปอร์สโตร์ เป็นร้านค้าปลีกและส่งขนาดใหญ่ ที่ต้องอาศัยความหลากหลายขายสินค้าทุกยี่ห้อ ซึ่งครั้งหนึ่งไอบีเอ็ม ก็เคยไปถือหุ้นในดีลเลอร์อย่างเอสซีทีมาแล้ว แต่ในที่สุดก็ต้องถอนหุ้นออกมา เพราะปัญหาหลายอย่าง และดีลเลอร์รายใหญ่อย่างเมโทร ก็ไม่ยอม

ข้อสาม - หากเอเซอร์และเอปซอนมาถือหุ้นในสหวิริยาโอเอจริง ธุรกิจ ในวันข้างหน้าของสหวิริยาโอเอคืออะไร ทั้งเอเซอร์กับเอปซอนเป็นผู้ผลิตสินค้าพีซีกับพรินเตอร์ เป็นเจ้าของสินค้าและมีสาขาในไทยเป็นของตัวเอง ทั้งสองต่างก็มีสินค้าที่แข่งขันกันเองอยู่

ข้อสี่- การลาออกของกนกวิภาให้ผลในแง่ลบกับสหวิริยาโอเออย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเอสไอที่เหลือทีมงานอยู่เพียงแค่คนเดียว

มันเป็นเหตุผลที่ทำให้แผนฟื้นฟูดูจะยากลำบากทีเดียว

แต่สำหรับแจ๊คแล้ว โมเดลการแก้ปัญหานี้ เป็นทางออกที่สวยงาม สำหรับตัวเขาไม่น้อย เพราะเท่ากับว่าเอเซอร์จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสหวิริยาโอเอ ซึ่งเอเซอร์จะโอนกิจการในไทย ทรัพย์สิน และโอกาสทางธุรกิจมาดำเนินการภายใต้ชื่อใหม่ เท่า กับว่า สหวิริยาโอเอจะกลายเป็นเอเซอร์ ประเทศไทย ซึ่งเอเซอร์จะต้องมีผู้บริหารมารับผิดชอบในฐานะของผู้ถือหุ้นใหญ่

ส่วนบริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจช่องทางจัดจำหน่าย เจโอเอสในฐานะของผู้หุ้นใหญ่ เจโอเอสจะต้องส่งทีมงานมาบริหารงานร่วมกับทีมของสหวิริยาโอเอ ซึ่งมีวีระ อิงค์ธเนศ น้องชายของแจ๊คเป็นหัวเรืออยู่

ทั้งจาร์ดีนและเอเซอร์เองก็คงไม่ยอมให้แจ๊คลาออกจากสหวิริยาโอเอ แน่ และเชื่อว่า แจ๊คเองก็ไม่ต้องการเช่นนั้น เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าแจ๊คจะลอยตัวขึ้นไปนั่งอยู่ในตำแหน่งประธาน กรรมการที่อยู่เหนือบริษัททั้งสองอีกที แต่ไม่ต้องมาดูงานแบบเดย์ทูเดย์เหมือนเดิม

"หลังจากแก้ไขปัญหาตรงนี้แล้ว เชื่อว่าคุณแจ๊คคงต้องเงียบหายไปพักใหญ่ เพราะวิกฤติครั้งนี้ให้บทเรียนกับเขาไม่น้อย แต่เชื่อว่าคุณแจ๊คต้องกลับมาอีกแน่" อดีตลูกหม้อสหวิริยาให้ความเห็น

ผลที่เกิดขึ้นกับสหวิริยาโอเอ น่าจะเป็นกรณีศึกษาของการขยายธุรกิจเกินตัว แจ๊คก็ไม่ต่างจากนักธุรกิจอื่นๆ ที่อยู่ในยุคฟองสบู่ เงินกู้หามาง่าย โดยลืมคิดไปว่า ธุรกิจดั้ง เดิมคืออะไร การไร้ประสบการณ์และ ความรู้อย่างถ่องแท้ในการมองธุรกิจ เมื่อเจอภาวะวิกฤติก็ยิ่งทำให้บาดแผลที่เลือดแค่ซึม กลับไหลไม่หยุด

หากแจ๊คเลือกที่ยืนหยัดอยู่ในธุรกิจคอมพิวเตอร์แบบเดิม และเลือก ที่จะต่อสู้ ปรับองค์กร ตัดค่าใช้จ่าย ลดไขมัน สร้างระบบให้แข็งแกร่ง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น หรือหากต้อง การขยายธุรกิจก็สามารถเอื้อประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ร่วมกันกับธุรกิจเดิม เช่น สร้างธุรกิจเอสไอให้แข็งแกร่งขึ้น

วิกฤติครั้งนี้จึงเท่ากับเป็นบทเรียนชิ้นสำคัญ เป็นบทเรียนยิ่งใหญ่กว่าในอดีตมากนักสำหรับชายชื่อ แจ๊ค มินทร์ อิงค์ธเนศ

แต่ก็ยังไม่สายเกินไปสำหรับเขา ที่ได้เริ่มต้นสร้างธุรกิจกับตระกูลวิริย-ประไพกิจเมื่อวัยเพียง 27 ปี ซึ่งเขาก็เคยผ่านวิกฤติมาแล้วรอบหนึ่งในวัยเพียงแค่ 31 ปี จากการที่สหวิริยาโอเอ โดนไอบีเอ็มตัดจากการเป็นตัวแทนจำหน่าย ซึ่งธุรกิจค้าคอมพิวเตอร์เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วไม่เหมือนเวลานี้ เวลานั้นบริษัทข้ามชาติอย่างไอบีเอ็มมีบทบาทสูงมากในตลาดคอมพิวเตอร์ การ ถูกตัดการเป็นดีลเลอร์จึงเป็นเรื่องสาหัส มากๆ เรียกว่าแทบหมดอนาคตทีเดียว แต่แจ๊คก็ใช้วิกฤติในครั้งนี้เป็นแรงผลักดันส่งให้สหวิริยาโอเอเติบโต กลาย เป็นผู้ค้ารายใหญ่แบบไม่ต้องง้อไอบีเอ็ม

วิกฤติครั้งนี้ แจ๊คก็อายุเพียงแค่ 42 ปี สำหรับสุภาษิตแล้วต้องถือว่า ชีวิตเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง เชื่อว่าแจ๊คจะใช้โอกาสนี้เป็นบทเรียนให้กับตัวเอง และสร้างสหวิริยาโอเอขึ้นอีกครั้ง แต่จะเป็นในรูปแบบใดนั้น

แจ๊คเท่านั้นที่จะตอบคำถามนี้ !

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us