Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2542
ปรับโครงสร้างหนี้ TPI ประชัยวางบริษัทเป็นเดิมพัน!!             
 

   
related stories

ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ "บัลลังก์สะเทือน"
มือการเงิน: ผู้ปิดทองหลังพระของกลุ่ม TPI

   
search resources

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย, บมจ.
ประชัย เลี่ยวไพรัตน์




"ทำไม่ได้ เขายึด : นี่คือเดิมพัน" เป็นคำประกาศของประชัย เลี่ยวไพรัตน์-นักธุรกิจที่มีบุคลิกแข็งกร้าวและมีคำพูดที่ดุดันเช่นเดียวกับแนวการดำเนินธุรกิจ วงเงินต้นและดอกเบี้ยมูลค่า 32,000 ล้านเหรียญที่เขาประกาศพักการชำระไว้ตั้งแต่เมื่อสิงหาคมปี 2540 มาบัดนี้การเจรจาเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้จำนวน 148 รายงวดเข้ามาทุกขณะ ร่างหลักการการปรับโครงสร้างหนี้หรือ Indicative term sheet ปรากฏออกมาสู่มือเจ้าหนี้ทุกรายแล้ว รอให้พวกเขาพิจารณาเพื่อโหวตรับ และดำเนินการเซ็นสัญญากันใหม่ ทดแทนสัญญาเงินกู้เดิมที่เป็นโมฆะ แผนปรับโครงสร้างหนี้ฉบับนี้เป็นแผนที่คณะกรรม การเจ้าหนี้ส่วนมากยอมรับว่าเป็นแผนที่สร้างสรรค์มาก หลักการสำคัญ คือเจ้าหนี้จะได้รับการชำระเงินต้นคืน 100% และหากประชัยไม่สามารถ ชำระหนี้ได้ภายใน 5 ปี เขายอมให้มีการยึดกิจการของเขาไปได้ อย่าง ไรก็ดี มีเจ้าหนี้ส่วนน้อยที่ยังไม่เห็นด้วย แต่คาดว่าไม่น่าจะทานเสียงส่วนใหญ่ได้ คนดวงแข็งอย่างประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เขายอมลดหุ้น แต่ไม่ยอมเสีย TPI

 

การประกาศพักการชำระดอกเบี้ยเมื่อ 22 สิงหาคม 2540 ของกลุ่มทีพีไอที่ นำโดยประชัย เลี่ยวไพรัตน์ - "ตั้วเฮีย" ของกลุ่มนั้น เป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญมากเมื่อมองจากสายตาของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศ และน่าจะถือว่าเป็นการเสี่ยงที่มาถูกทาง เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา

ช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดของผู้ประกอบการ/เจ้าของกิจการ/ผู้บริหารในประเทศ เพราะเป็นช่วงที่วิกฤติเศรษฐกิจผันแปรและทิ่มหัวลงตลอดเวลา ภาพพจน์ประเทศแย่มากๆ บวกกับการที่ทางการยังไม่มีกรอบหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องหาทางรอดของตัวเอง

15 เดือนของวิกฤติและทางรอด

หลังจากเรียกขอพักชำระหนี้ในวันที่ 22 สิงหาคม 2540 ทีพีไอก็เรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกในวันที่ 29 กันยายนถัดมา การประชุมครั้งนี้เพื่อที่บรรยายให้เจ้าหนี้ทราบสถานการณ์ของบริษัท ปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา "เป็นการ update position ของบริษัทให้เจ้าหนี้ดู" ซึ่งหลังจากนั้นเจ้าหนี้ก็มีการตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้หรือ Steering Committee

บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ มีเจ้าหนี้ทั้งหมด 148 ราย คณะกรรม การเจ้าหนี้ในเบื้องต้นมีเพียง 7 ราย แล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น 14 ราย ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากพอแล้วเพราะ คิดเป็นสัดส่วนมูลหนี้ทั้งสิ้น 72%

คณะกรรมการเจ้าหนี้ประกอบไปด้วยแบงก์ไทย 3 แบงก์และแบงก์ต่างชาติ 11 แบงก์ โดยกระจายไปในกลุ่มธนาคารเพื่อการนำเข้าส่งออก 3-4 ราย เจ้าหนี้ที่เป็น secured และ unsecured ซึ่งกระจายกันมาก แต่ก็ ถือว่าครอบคลุมเจ้าหนี้ทั้งหมด 148 ราย

นอกจากคณะกรรมการเจ้าหนี้แล้ว ก็มีการตั้งคณะอนุกรรมการหรือ sub-committee ขึ้นมาชุดหนึ่ง มี 4 ธนาคารได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, Bank of America, Commonwealth Bank และ IFC ซึ่ง 4 แบงก์นี้ถือเป็นตัวหลักในการเข้ามาเจรจากับทีพีไอ

คณะกรรมการเจ้าหนี้ยังได้แต่งตั้งให้บริษัทไพร๊ซ์ วอเตอร์ เฮ้าส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด (PWC) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาอนาคตการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยไพร๊ซ์ฯ ใช้เวลาดำเนินการศึกษาประมาณ 3 เดือน ระหว่าง 20 พ.ย. 2540 ถึง 1 มี.ค. 2541

ด้านทีพีไอได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินคือ Chase Manhattan Bank จากออสเตรเลีย ตั้งแต่เมื่อ 20 ส.ค. 2540 เพื่อศึกษาและจัดทำแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท นอกจากนี้ก็มีการตั้งผู้เชี่ยวชาญ อิสระอีก 2 รายในเวลาต่อๆ มา โดยแต่งตั้งให้ Chem System มาศึกษา อนาคตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของทีพีไอและแนวโน้มในทั่วโลก และแต่งตั้ง Pace Consulting ซึ่งเป็นผู้เชี่ยว ชาญเรื่องการปฏิบัติงานในโรงกลั่นและ โรงปิโตรเคมี มาจากฮุสตัน สหรัฐฯ เพื่อมาประเมินเกี่ยวกับระบบการปฏิบัติ งานของโรงปิโตรเคมีที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อต้นปี 2541 และเริ่มดำเนินการผลิตมา 1 ปีเต็ม

การจัดทำแผนปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทนั้นเป็นการร่วมมือกันทำระหว่างผู้บริหารทีพีไอกับที่ปรึกษาคือเชสฯ ขณะที่กลุ่มเจ้าหนี้ตั้งไพร๊ซฯขึ้นมาเพื่อให้ verify การศึกษาและแผนข้อเสนอของทีพีไอ

วชิรพันธุ์ พรหมประเสริฐ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ทีพีไอ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "แผน ที่บริษัทเสนอนั้นทางเจ้าหนี้ก็รับไว้ในใจ แต่เขาต้องการดูว่าการประกอบการมันเป็นอย่างไร ปัญหาของบริษัทอยู่ที่ไหน ปัญหาที่เราบอกไป เขาต้อง verify และลักษณะธุรกิจมันอยู่รอดหรือไม่ โครงสร้างของบริษัทในเครือเป็นอย่างไร ความซับซ้อนของโครงสร้างบริษัทเป็นอย่างไร"

ผู้บริหารระดับสูงของทีพีไอโดยเฉพาะประชัย เลี่ยวไพรัตน์ นั้นอธิบายเหตุแห่งสถานการณ์ความยากลำบากของบริษัทว่ามาจากสาเหตุเดียวคือวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะวิกฤติสถาบันการเงิน วชิรพันธุ์ก็ให้เหตุผลเช่นเดียวกันว่า "การดำเนิน งานของบริษัทค่อนข้างดี ไม่มีอะไรบกพร่องมาก มันจะมีประเด็นเดียวคือตอนที่เราทำโครงการนั้น ไม่มีใครคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้ได้ จากการเติบโตที่ + 8 มาเป็น -10 มันวูบไปเลย"

แน่นอนว่าผู้ประกอบการส่วนมากนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีวิกฤติเช่นนี้เกิดขึ้นได้ คนส่วนมากได้ดำเนิน การลงทุนสร้างโรงงานไปแล้ว ทีพีไอก็เช่นกัน ในช่วงต้นปี 2540 ก่อนเกิดวิกฤติ ทีพีไอเพิ่งเสร็จสิ้นการทำ syndication หรือกู้เงินร่วมจำนวน 500 ล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากทีเดียวในยามนี้

เมื่อมีการนำเงินเข้ามา แทนที่จะนำไปฝากเพื่อรับดอกเบี้ยเพียงแค่ 15%-16% ในตอนนั้น ทีพีไอก็เอาไปจ่ายตั๋ว PN ตั๋ว call ที่มีอัตราดอกเบี้ย ถึง 35% แต่แล้วจู่ๆ รัฐบาลก็ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทและตามมาด้วยการปิดไฟแนนซ์ 56 แห่ง ซึ่งส่งผลกระทบ อย่างรุนแรงกับทีพีไอ

วชิรพันธุ์เล่าให้ฟังว่า "การลอยตัวค่าเงินบาท ดอกเบี้ยแพงและการปิดไฟแนนซ์ 56 แห่งนี่เราโดนไปเต็มๆ ค่อนข้างแรง ปิดไฟแนนซ์นี่ทำเราเจ็บตัวมาก เพราะเงินมันหายไปจากระบบ ก่อนที่เขาจะโดนปิดนั้น ทีพีไอจ่ายเงินให้ไฟแนนซ์เหล่านี้ไปตั้ง 5,000-6,000 ล้านบาท เมื่อพวกเขาโดนปิดโดนยึดแล้ว เงินของเราก็หายไปหมด"

ระลอกถัดมาของทีพีไอคือการโดนถอนตั๋ว BE "เรามีพวก BE ระยะสั้นที่ฝรั่งถอนอีกจำนวนหนึ่ง หลายพันล้านบาท เขาไม่ต่ออายุ ผมว่าเราหมดไปร่วมหมื่นล้านบาทในช่วงเวลา 3 เดือนนี้ ซึ่งเงินจำนวนนี้ suppose ว่าจะมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท"

ผู้บริหารบริษัทในยามนั้นไม่เป็นอันกินอันนอนเมื่อเจอภาวะดังกล่าว เพราะเดิมนั้นบริษัทวางแผนการใช้เงินไว้ โดยกู้หนี้ระยะยาว 10 ปีสำหรับการก่อสร้างโรงงาน และกู้ระยะ 5-8 ปีสำหรับนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เป็นเงินระยะยาวเพื่อที่จะมาทดแทนเงินกู้ระยะสั้นที่มีต้นทุนที่แพงมากในระบบ ซึ่งได้แก่ พวกตั๋ว call ตั๋ว PN หรือเป็น OD ที่แบงก์และไฟแนนซ์ปล่อยออกมา ซึ่งเป็นระยะสั้นมีอัตราดอกเบี้ยเบ็ดเสร็จแล้วถึง 20% วชิรพันธุ์ ยอมรับว่า "เรายังมีตั๋ว PN ที่อัตรา 26%-27% อยู่เลย ตั้งแต่ตอนนั้น แล้วคิดดู จะไปทำมาหากินอะไรมาจ่ายได้"

นอกจาก 2 ประเด็นข้างต้นที่มีผลกระทบอย่างมากต่อสภาพคล่องของบริษัทแล้ว ทีพีไอยังเจ็บช้ำกับวิกฤติสถาบันการเงินหนักมากขึ้นไปอีกจากนโยบายลอยตัวค่าเงินบาท คือวงเงิน LC ต่างๆ ที่ทำอยู่กับแบงก์ถูกปิดหรือตัดไลน์หมด เพราะการที่เงินบาทมีค่าดิ่งลงเรื่อยๆ นั้นทำให้วงเงินที่เคยกำหนดไว้เพิ่มสูงจนเกินเพดานที่ธนาคารแต่ละแห่งจะอนุมัติให้ได้ (single lending limit) และเมื่อแบงก์ชาติตรวจพบก็ต้องถูกปรับและปิดไป ซึ่งมีผลกระทบต่อการสั่งซื้อวัตถุดิบและการชำระเงินอย่างมาก

"ตัวที่เรา suffer หนักมากคือเมื่อ 2 ก.ค.นั้น เรามีปัญหา เพราะพวก LC และ travelling receipt ต่างๆ ที่เราเปิดแอลซีน้ำมันไว้ เราทำเป็นการ ชำระเงิน 6 เดือนจากแอลซี เปิด LC ก็มี TR มา 6 เดือน มันเป็นดอลลาร์ อยู่ เมื่อแบงก์ชาติไปตรวจนี่ สมมติว่าผมมีหนี้อยู่ 1,000 ล้านเหรียญหรือ 25,000 ล้านบาท พอปล่อยค่าเงินมัน กลายเป็น 40-50 บาท ตัว single lending limit ของแบงก์ ที่ไม่สามารถปล่อยให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งได้เกิน 25% มันก็เกินไปทันที

งานนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ suffer อย่างมาก เพราะว่าแบงก์บอกว่าวงเงินเกินแล้ว ตัดไลน์หมดเลยแบงก์ ชาติมาตรวจ มาปรับทุกวัน"

เหตุที่ทีพีไอบาดเจ็บหนักในเรื่องนี้เพราะใช้แอลซีแบงก์ฝรั่งมาก เพราะว่าการซื้อของอย่างน้ำมันนั้นจำเป็นต้องใช้แอลซีของแบงก์ที่มีการจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ดี มีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งแบงก์ฝรั่งจะมีปัญหามากเพราะอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลดลงเรื่อยๆ จาก A ก็กลายเป็น BB นอกจากนี้ตัว country limit ก็ลดลงตามไปด้วย แบงก์ฝรั่งเริ่มเปิดแอลซีได้น้อยลง ต้องลด exposure ลง

แค่สถานการณ์ 2-3 เรื่องตรงนี้ ผู้บริหารทีพีไอก็ปวดหัวจะแย่อยู่แล้ว พวกเขาจำเป็นต้องรวมตัวกันคิดหาทางออก สิ่งที่พวกเขาพอมองเห็นได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้ ยืดอายุการชำระ หนี้ พักการชำระดอกเบี้ย เป็นต้น

ปัญหาของทีพีไอนั้นอยู่ที่หนี้ระยะสั้นจำนวน 30,000-40,000 ล้านบาทที่มีดีลอยู่เยอะมาก วชิรพันธุ์เล่าว่า "ปัญหาของเราไม่ใช่หนี้ระยะยาว เพราะว่าระยะยาวนั้นเราดีล 10 ปี และ อย่าลืมว่าโรงงานเราเพิ่งสร้างเสร็จ ดังนั้นเงินเราเพิ่ง draw เข้ามา มันยังไม่ครบกำหนดชำระสักอย่าง แต่หนี้ระยะสั้นถึงกำหนดแล้ว เราต้องหาทางแก้ปัญหาหนี้ระยะสั้น"

เงินจำนวนสามสี่หมื่นล้านบาทดูเป็นจำนวนมากมายเหลือเกิน แต่สำหรับกลุ่มทีพีไอนั้น วชิรพันธุ์ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โต "หากธุรกิจเป็นแบบเดิม เงินในระบบยังดีอยู่ เงินแค่นี้ไม่ใช่ประเด็นหลัก ไม่สำคัญ เพราะว่าทีพีไอมียอดขายหมุนไปมาอยู่แล้ว"

ทั้งนี้วชิรพันธุ์อ้างว่าบริษัทมียอดขายเดือนละ 4-5,000 ล้านบาท เดือนๆ หนึ่งมีเงินหมุนอยู่ในบริษัทประมาณ 15,000 ล้านบาท เพราะว่ามีการสั่งน้ำมันเข้ามา มี inventory มีการปล่อยลูกค้า ตั้งแต่วันแรกที่สั่งน้ำมันหรือใช้เงินจนถึงวันที่เงินกลับเข้ามาในกระเป๋าอีกทีนั้นใช้เวลาราว 4 เดือน ที่เรียกว่า cash conversion cycle ซึ่งสี่เดือนยอดขายรวม 16,000 ล้านบาท เท่ากับเงินหมุนเวียนในบริษัทมีอยู่ 16,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤติ ที-พีไอก็เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมทั่วไปที่มีแต่ข้างเงินออกอย่างเดียว ไม่มีเงินเข้าเหมือนภาวะปกติ ดังนั้นผู้บริหารบริษัทจึงตัดสินใจว่าต้องทำอะไรสักอย่าง นั่นคือที่มาของการประกาศพักชำระดอกเบี้ย ยืดอายุการชำระหนี้ และการ ทำแผนปรับโครงสร้างหนี้ในที่สุด

วชิรพันธุ์เล่าว่า "คุณประชัยท่านมองสถานการณ์ออกเร็ว เพราะอย่าลืมว่าเราเป็นบริษัทแรกที่ขอหยุดพักการชำระหนี้ตั้งแต่เดือนส.ค. เราคิดเบ็ดเสร็จว่าเดือนเม.ย.-ก.ค.นี่มันบ่งชัดแน่นอนว่าการชำระหนี้คงเป็นไปไม่ได้ในสภาพแบบนี้ และเราคิดว่าเหตุการณ์ปี "41 ต้องแย่ลงไปอีก

นอกจากนี้โครงการขยายกำลังการผลิตต่างๆ ที่เราทำมามันเริ่มเสร็จปลายปี"40 เสร็จมาเรื่อย เรามาคิดว่าหากไม่ทำอะไรสักอย่างเดี๋ยวโรงงานเดินไม่ได้ ก็เลยเรียกประชุมเจ้าหนี้ แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินทำแผนเสนอ"

นอกจากหยุดทางออกของเงินในเรื่องการจ่ายดอกเบี้ยและหนี้ระยะสั้นที่ถึงกำหนดชำระแล้ว บริษัทได้เก็บเม็ดเงินจากยอดขายที่ยังพอมีอยู่บ้างไว้เป็นทุนหมุนเวียนในบริษัท และ หันมาพิจารณาเรื่องการผลิตและการปรับปรุงปริมาณการส่งสินค้าออก

นโยบาย keep no prisoner

วชิรพันธุ์เผยเหตุที่ทำให้บริษัทประคองตัวรอดมาได้ 15 เดือนเต็มโดยมีการปรับตัวได้สอดคล้องกับสถานการณ์ว่ามาจากการดูแลเรื่องยอดขายได้อย่างสม่ำเสมอและการปรับเรื่องการส่งออก

เดิมบริษัทมีอัตราการส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศน้อยมาก ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2540 บริษัทมียอดส่งออกเพียงแค่ 15% ของกำลังการผลิตเท่านั้น ทั้งนี้เพราะบริษัทใช้นโยบายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (import substitution) แต่การขยายกำลังการผลิตของบริษัทอยู่บนสมมติฐานที่ว่าจะมีอัตราการเติบโตของการใช้เม็ดพลาสติกประมาณ 2 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือหากประเทศมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 5% การใช้เม็ดพลาสติกก็โตปีละ 10% แต่ปรากฏว่าเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว อัตราการเติบโตฯ กลายเป็นติดลบ

วชิรพันธุ์กล่าวว่าสถานการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารของทีพีไอประเมินออก ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการเร่งยอดการส่งออกเม็ดพลาสติกไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น นับแต่เดือนเมษายน 2540 ถึงเดือนมกราคม 2541 บริษัทสามารถเพิ่มยอดการส่งออกเป็น 70% ได้ แต่ปัจจุบันลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 60%-65%

ทั้งนี้การส่งออกเม็ดพลาสติกไปค้าขายแข่งในตลาดโลกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและยังเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกด้วย "เม็ดพลาสติกแม้จะเป็นสินค้า โภคภัณฑ์ก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกตัวไป เม็ดพลาสติกบางตัวต้องใช้เวลาขออนุญาตนำเข้านานมาก อย่างตัวที่เอามาใช้ทำวัสดุห่ออาหารนั้น หากส่งเข้าสหรัฐฯ ต้องขออนุญาต FDA ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา 6-8 เดือนหรือเป็นปี เพราะต้องมีการทดสอบ จะเห็นว่าเม็ดพลาสติกบางตัวของเราต้องได้รับมาตรฐาน ISO 9002 ต้องเอามาตรฐานนี้มาก่อนจึงจะเข้าตลาดโลกได้" วชิรพันธุ์อธิบาย

ในการส่งสินค้าออกไปขายในตลาดโลกมากขึ้นในปีที่ผ่านมานี้ แม้จะเป็นการปรับตัวได้เร็วแต่บริษัทก็ต้องเผชิญกับปัญหาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือปัจจัยเรื่องราคา ในช่วงต้นปี "40 นั้น ราคาเม็ดพลาสติกในตลาดโลกยังซื้อขายกันที่ตันละ 600-700 เหรียญ โดยเฉลี่ย ครั้นพอวิกฤติเศรษฐกิจไทยลามออกมายังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในเอเชีย จนกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียไปนั้น ปรากฏว่าราคาเม็ดพลาสติกในตลาดโลกลดฮวบลงเหลือตันละ 450 เหรียญโดยเฉลี่ย

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะบริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกไม่ว่าในอินโดนีเซีย หรือเกาหลีใต้ต่างใช้นโยบายเดียวกับทีพีไอ คือทุกรายส่งสินค้าออกมาขายในต่างประเทศทั้งสิ้น และยังมีการทุ่มตลาดกันด้วยการเสนอราคาขายที่ต่ำกว่า สงครามราคาเกิดขึ้นอย่างรุนแรง

วชิรพันธุ์เล่าว่า "เมื่อต้มยำกุ้งกระ จายออกไป เกาหลีก็เริ่มตามเข้ามา อินโดนีเซียด้วย พวกที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ เหล่านี้ในประเทศก็เริ่มที่จะขายไม่ออก เช่น เมืองไทยรถยนต์ขายตก การใช้ยางใช้เม็ดพลาสติกก็ลดลง เราก็ต้องเริ่มส่งออก เกาหลีก็เหมือนเราการบริโภคลดลง 70% ก็ต้องส่งออก ก็เกิดการทุ่มราคาในตลาด เพราะทุกคนมองว่าเงินของเอเชียจะอ่อน ทุกคนต้องการดอลลาร์ ก็มองกันว่าในต้นเดือนค่าเงินเป็นเท่านี้ ในสิ้นเดือนจะลดลงเหลือเท่าไหร่ ก็ลดราคาของลงเพื่อให้ได้เม็ดเงินเท่าเดิม"

ในกรณีเกาหลีนั้นลดราคาสินค้าลงถึง 20% แถมมีสินค้าคงคลังเหลือมาก ก็นำออกมาระบายอย่างเดียว ผู้ผลิตแทบทุกรายต่างใช้นโยบายแบบเดียวกันหมด คือทำเท่าไหร่ขายออกหมด "keep no prisoner" คือไม่มี ใครเก็บเชลยไว้เลย ดังนั้นจึงเกิดการสู้ ในสงครามราคาอย่างรุนแรงมากตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน ปี 2540 เป็นต้นมา

ในเรื่องของสินค้าคงคลังหรือ inventory นั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤติสภาพคล่องของบริษัทและช่วยดูแลให้นโยบายการผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิ ภาพด้วย

ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2540 นั้น ทีพีไอมีสินค้าคงคลังอยู่ประมาณ 8-12 อาทิตย์ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงอย่าง มากๆ ลองนึกเปรียบเทียบกับกำลังการผลิตปีละ 4 ล้านตัน เท่ากับบริษัทเก็บสินค้าคงคลังไว้ประมาณ 1 ใน 4 หรือคิดเป็น 1 ไตรมาสของปี หรือ 1 ล้านตัน เทียบกลับเป็นเม็ดเงินแล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่กองอยู่เฉยๆ

ปัจจุบันบริษัทจัดการลดปริมาณ สินค้าคงคลังลงเหลือเพียง 3 สัปดาห์เท่านั้น เม็ดเงินที่กองอยู่จึงเท่ากับลดลงมาเหลือเพียง 3-4,000 ล้านบาทเท่า นั้น

หากบริษัทไม่จัดการปัญหาสินค้า คงคลัง เมื่อบริษัทไปขายสินค้า ให้เครดิตลูกค้าไปอีก 60 วัน ก็เท่ากับเม็ดเงิน 8,000 ล้านบาทที่อยู่ข้างนอก บริษัทยังไม่ได้รับกลับมาเป็นเงินสดจริง นั่นเท่ากับมีเม็ดเงิน 18,000 ล้านบาทที่บริษัทยังไม่สามารถเก็บได้จริง แม้จะผลิตและขายไปแล้วก็ตาม

วชิรพันธุ์กล่าวว่า "คนอย่าไปคิดเป็นสูตรสำเร็จว่าเลิกจ่ายดอกเบี้ยแล้วจะมีเงินเหลือ มันไม่จริง เพราะอย่า ลืมว่าตัวเงินทุนหมุนเวียนนั้นมันประกอบ ด้วยลูกหนี้การค้า เจ้าหนี้การค้า สินค้า คงคลัง และพวก maintenance ที่ต้องซ่อมบำรุงโรงงาน เหล่านี้คือเงินทุนหมุนเวียน

คนสงสัยว่าทำไมทีพีไอมีสภาพคล่อง เพราะเราไม่จ่ายดอกเบี้ย จริงๆ แล้วไม่ใช่หรอก การไม่จ่ายดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยให้กระแสเงินสดดีขึ้นหากคุณไม่รู้จักบริหารตัวอื่น หากคุณไม่จ่ายดอกเบี้ยแล้วยังมีสินค้าคงคลังอยู่เป็นหมื่นล้านบาท เงินมันก็หายไปหมด ดอกเบี้ยมันก็เข้าไปอยู่ในนั้นหมด"

การระบายสินค้าคงคลังและการตามทวงลูกหนี้ของบริษัทนั้น วชิรพันธุ์ยกนิ้วให้แก่ฝ่ายการตลาดของกลุ่ม ที่นำโดยประทีป เลี่ยวไพรัตน์-น้องชายของประชัย

เขาเล่าว่า "ฝ่ายการตลาดเราบริหารลูกหนี้การค้าได้ดีมาก เอาใจใส่ดีมาก เพราะว่ามีหนี้ที่เกิน 90 วันน้อยมาก แค่ 5%-6% เท่านั้น ไม่มากเท่าไหร่ และเจ้าหนี้การค้าเราก็ใจดี เรายังใช้แอลซีได้ตามปกติ"

3 ทหารเสือและ 1 ลูกพี่ใหญ่

กลุ่มทีพีไอได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจครอบครัวรายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ เพราะมูลหนี้จำนวน 3.2 พันล้านเหรียญ ในเวลานี้ คิดเป็น 5% ของหนี้เอกชนในประเทศที่มีทั้งหมดประมาณ 60 กว่าพันล้านเหรียญโดยไม่รวมหนี้สถาบันการเงิน

ลักษณะสำคัญของธุรกิจครอบครัวคือมีการบริหารจัดการจำกัดอยู่ภายในกลุ่มตระกูล ซึ่งผู้บริหารสำคัญของทีพีไอตอนนี้ก็คือ 3 พี่น้องตระกูลเลี่ยวไพรัตน์บวกกับมือการเงินภายนอกอีก 1 คน

กล่าวได้ว่า 3 ทหารเสือของทีพีไอในเวลานี้ได้แก่ ดร.ประมวล เลี่ยว ไพรัตน์, ประทีป เลี่ยวไพรัตน์ และวชิรพันธุ์ พรหมประเสริฐ เป็นผู้บริหาร หลักที่ดูด้านการผลิต การตลาด และการเงินตามลำดับ โดยมีประชัย-ลูกพี่ใหญ่ เป็นประธานดูแลนโยบายหลักและการตัดสินใจสำคัญๆ

ประเด็นเรื่องธุรกิจครอบครัวในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมาซึ่งเป็นเวลาของการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้นั้น มีความสำคัญอยู่มาก เพราะตามธรรม-เนียมการบริหารกิจการนั้น เมื่อบริษัทเกิดปัญหาสำคัญ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบสูงสุดในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นคือทีมบริหารซึ่งต้องออกจากบริษัทเป็นอันดับแรก ในกรณีทีพีไอ ก็มีเจ้าหนี้บางรายกล่าวถึงประเด็นนี้อยู่บ้าง แต่ช่วงเวลาของการเจรจาที่ยาวนานทำให้ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์พิสูจน์ตัวเองว่าบริษัทยังต้องการพวกเขาอยู่ ขณะที่พวกเขาก็ยึดกิจการที่ได้สร้างมาไว้อย่าง เหนียวแน่น ไม่ยอมสูญเสียไปง่ายๆ

วชิรพันธุ์เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ รายเดือน" ว่า "ผมว่าในเรื่องของการเปลี่ยนผู้บริหารนั้นมันเป็น cultural difference ความแตกต่างทางวัฒน ธรรม เพราะว่าการฟื้นฟูกิจการในกฎหมายแบบอเมริกาและยุโรปนั้น มองว่าหากมีการบริหารงานผิดพลาดก็ต้องเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ เอาคนเก่าออก เอาคนใหม่เข้าไป แล้วค่อยดำเนินการต่อ ซึ่งจุดนี้เจ้าหนี้หลายแบงก์ก็เข้าใจว่า theme นี้ apply ในเอเชียลำบาก

หลังจากที่เราคุยกันมาพักหนึ่ง เขาเริ่มที่จะมองว่ามันคงเป็นไปไม่ได้ในเรื่องนี้ด้วยประการทั้งปวง เพราะว่า การปฏิบัติงานคงจะสะดุด และช่วงนี้มันเป็นเรื่อง morale ของคน เรื่องจิตใจเป็นส่วนใหญ่ หากมีอะไรเกิดขึ้นนี่ ประสิทธิภาพการผลิตคงลดลง และเจ้าหนี้จะเดือดร้อน เพราะหากบริษัท ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เขาก็ไม่ได้เงินคืน"

การที่ผู้บริหารชุดเดิมจะพยายาม บอกข้อความนี้แก่กลุ่มเจ้าหนี้นั้น เป็น เรื่องไม่ง่าย

มันต้องใช้เวลา และพิสูจน์ให้เห็นประสิทธิผลที่ดีกว่าเดิมภายใต้ผู้บริหารชุดเดิม

"พอเราบอกว่าเราแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ เราก็ต้องพยายามทำให้เขาดู ปัญหาพวกนี้มันต้องใช้เวลา มันไม่สามารถพิสูจน์ได้ในช่วง 3 เดือน ต้อง ใช้เวลาเป็น 6 เดือน - 1 ปี จะเห็นว่าการทำงานของบริษัทดีขึ้นมาก ความกระชับฉับไวในการตัดสินใจ อันนี้ต้องให้เกียรติคุณประชัย หากไม่มี จะลำบาก" วชิรพันธุ์กล่าว

ทีพีไอมีการปรับปรุงการทำงานมาหลายเดือนแล้วนับแต่ประกาศพักการชำระหนี้ โดยมีการประชุมทุกสายธุรกิจสัปดาห์ละครั้ง ทุกวันอังคาร ผู้เข้าร่วมประชุมคือระดับบริหารหรือผู้จัดการสายธุรกิจของบริษัทในกลุ่มทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเซลส์ ฝ่ายผลิต และการเงิน ซึ่งเป็นการประชุมที่ยาวมาก 4-5 ชั่วโมง ดูบริษัททั้งหมด

สามฝ่ายหลักของบริษัทในตอนนี้เป็นหัวใจสำคัญที่ต้องมานั่งจับเข่าคุยกัน โดยจะมีประชัยเป็นประธาน เจ้าหน้าที่บริหารที่นั่งอยู่ข้างบน และกรรมการผู้จัดการของแต่ละบริษัท รวมๆ แล้ว 25 คนได้ ที่มาประชุมกันประจำ "เราคุยกันแม้กระทั่งเรื่อง quality control ของบริษัท เพื่อดูว่าคุณภาพผลิตภัณฑ์บริษัทตอนนี้เป็นอย่างไร พวกบริการลูกค้าก็ต้องวิ่งออกไปหาลูกค้าและกลับมารายงานภายใน 1 อาทิตย์ว่ามีปัญหาอะไร สถาน การณ์เป็นอย่างไร ควรจะมีการปรับ ปรุงอย่างไร ทางผู้บริหารสูงสุดก็รับรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร ดังนั้นวิธีบริหารพลิกกลยุทธ์ต่างๆ นี่เร็วมาก"

นอกจากมีการประชุมผู้บริหารระดับสูงชุดใหญ่ทุกอาทิตย์แล้ว เดือนหนึ่งจะมีการสรุปว่าในเดือนที่ผ่านมาผลประกอบการเป็นอย่างไร และเดือนต่อไปคาดหมายว่าเป็นอย่างไร

การประชุมแบบเข้มข้นเช่นนี้เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2540 เมื่อเริ่มมีการ integrated ธุรกิจต่างๆ เข้ามา "ทุกอย่างมันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหมด ไม่มีทางที่จะมีการแตกแถว เพราะหากหน่วยใดแตกแถวออกไปนี่ตายแน่นอน ดังนั้นมันจำเป็นต้องมีแม่ทัพ เพราะไม่เช่นนั้นลูกน้องจะเดินซ้ายขวา มีปัญหาแน่นอน"

นอกจากนี้ สามทหารเสือของทีพีไอยังมีการประชุมพูดคุยกันอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย โดยหากมีเรื่องด่วนที่ต้องการการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว พวกเขาจะตรงเข้าหาประชัยได้ทันที

ตัวอย่างการตัดสินใจที่ว่องไวหนหนึ่งคือเมื่อเดือนม.ค. 2541 ซึ่งราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกตกต่ำลงมากถึง 30% ซึ่งต้องอาศัยการตัดสินใจที่ไวมาก ไม่สามารถรอการประชุมบอร์ดเดือนละครั้งได้ เพราะในเมื่อบริษัทมีสินค้าคงคลังอยู่ถึง 1 ล้านตันในตอนนั้น หากราคาตกไป 10 เหรียญ เท่ากับเดือนนั้นรายได้หายไป 10 ล้านเหรียญ หรือ 300-400 ล้านบาท

"เดือนม.ค.เดือนเดียว รายได้เราหายไปกว่า 200 ล้านเหรียญ หรือ 8,000 ล้านบาท หากไม่ตัดสินใจ แต่เนื่องจากว่าการตัดสินใจที่ค่อนข้างเร็วจะเห็นได้ว่ายอดขายทีพีไอนี่ขึ้นเรื่อย ทุกไตรมาสนี่จะขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ไตรมาสหนึ่งเราจะมียอดขาย 12,000 ล้านบาท ปีหนึ่งก็ประมาณ 50,000 ล้านบาท"

แน่นอนว่าการที่พยายามรักษายอดขายไว้ได้ในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำและมีการแข่งขันทุ่มราคาในตลาดภายนอกสูงมาก ต้องถือว่าเป็นฝีมือ เมื่อบริษัทมีแม่ทัพนำขบวนที่ดี มันจึงทำให้เห็นว่ามีการดูแลบริษัทอย่างดี "ดังนั้นประเด็นเรื่องการบริหารจึงเริ่มอ่อนลง มันเคยเป็นประเด็นที่สำคัญมากตอนต้นปี "41 แต่ตอนนี้เริ่มอ่อนลงแล้วหลังจากที่เราเริ่มแสดงให้เห็นว่ายอดขายเป็นแบบนี้ คงที่"

เมื่อทีพีไอสามารถสร้างความมั่นใจให้แก่เจ้าหนี้ในเรื่องของการบริหาร ดังที่กล่าวมานั้น ถึงตอนนี้วชิรพันธุ์กล่าวว่า "หากไปดูในเงื่อนไข term sheet ไม่มีสักแบงก์เลยที่บอกว่าให้เปลี่ยนผู้บริหาร"

นอกจากประเด็นที่มีการปรับ ปรุงวิธีการทำงานให้กระชับมากขึ้นแล้ว ประสิทธิภาพที่ได้ยังสามารถวัดผลได้ด้วย ทั้งนี้บริษัทได้มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญคือ Pace Consulting เข้า มาประเมินผลการปฏิบัติงานในโรงงานที่เพิ่งสร้างส่วนขยายเสร็จว่ามีผลการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนเต็มกำลังการผลิตหรือไม่

ปลายปี 2540 ที่การก่อสร้างเพิ่งเริ่มเสร็จนั้น คนมีคำถามอย่างมากว่าทีพีไอจะเดินเครื่องโรงงานหรือไม่ และจะทำได้ที่เต็มกำลังการผลิตหรือไม่ ซึ่งผลการศึกษาของ Pace Consul- tant ออกมาให้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก Pace เข้ามาประเมินผลเมื่อ 3 ธ.ค. 2541 หลังจากที่บริษัทเดินเครื่องโรงงานมาประมาณ 1 ปี

"ที่เราจ้าง Pace เพราะเขาเป็น คนที่ทำการศึกษาการปฏิบัติงานในโรงงานของเรามาตั้งแต่ต้น เพราะว่าเรามี syndication มาก การที่เราจะทำ syndication ที เราต้องไปจ้างคนมา บอกว่าเราบริหารโรงงานเป็นเจ้าหนี้จึง จะยอม Pace ติดตามทีพีไอมาเป็นเวลาหลายปี เขาจะรู้ว่าตอนเริ่มเป็นอย่างนี้ ตอนทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเป็นอย่างนี้ เมื่อทำจริงแล้วเป็นแบบนี้ และตอนนี้ที่ทำมาจนทุกวันนี้เป็นแบบนี้ ก็มีการปรับปรุง มาเรื่อย เขามีการติดตามตรงจุดนี้ เขาก็ให้รายงานมาค่อนข้างดี" วชิรพันธุ์ เล่าให้ฟัง

ดังนั้นเมื่อพิจารณาตอนนี้แล้ว การเปลี่ยนผู้บริหารทีพีไอเป็นประเด็นที่ตกไปแล้วสำหรับเจ้าหนี้และทีพีไอเอง เพราะต่อให้เปลี่ยนในตอนนี้ก็ไม่ได้ดีไปกว่านี้ ไม่แน่ว่าอาจจะเลวลงด้วย

วชิรพันธุ์ให้ความเห็นว่า "เพราะ ว่าเมื่อเอาฝรั่งมานั่ง ผมถามจริงๆ ว่าเรา 15,000 คนพูดไทยเป็นส่วนใหญ่ หรือเราเองก็มีฝรั่งมากมายในบริษัท ผู้จัดการสายธุรกิจของเรา 3 ใน 5 คนเป็นชาวต่างชาติ ในนั้น 2 คนเป็น PhD. แล้วคุณจะไปหาใครที่ไหนในโลกมาอีก คนเหล่านี้อยู่กับทีพีไอมาแต่ต้น นอตทุกตัว อะไรเกิดปัญหา เขารู้หมด และตอนนี้เป็นช่วงวิกฤติ คุณไม่มีเวลา ในการเรียนรู้ โรงงานมันมี charac-ter ของตัวเอง process ในการผลิต มีมาก licenses ที่ทีพีไอใช้ในโรงงานมีตั้ง 10 กว่า licenses"

นอกจากนี้เขาสะท้อนให้เห็นความภักดีและความชำนาญที่ผู้บริหารทีพีไอมีอยู่ว่า "คำถามคือหากจะเปลี่ยน ผู้บริหารสูงสุด 25 คน จะหาคนที่ไหน มาลงตอนนี้ในประเทศไทย หากแบงก์ คิดว่าเขาสามารถเปลี่ยนผู้บริหาร สูงสุดได้ ผมคิดว่ายังมีคนที่ภักดีต่อนาย เยอะ ตามธรรมเนียมคนไทยนั้น หาก ทำไม่ได้คือทำไม่ได้ อาจจะทำอยู่ไปวันๆ แต่ตอนนี้คุณต้องการ morale ค่อน ข้างสูง"

นั่นเป็นการ defend ของผู้บริหารระดับสูงของทีพีไอ ซึ่งตามความเป็นจริงนั้น แหล่งข่าวระดับสูงในทีพีไอก็ยืนยันเช่นกันว่า เจ้าหนี้ที่ต้องการเปลี่ยนตัวประชัยออกไปนั้นมีเพียงคนสองคนเท่านั้น และในเมื่อผู้บริหารทีพีไอพิสูจน์ตัวเองมาถึงเพียงนี้ ประเด็นนี้ก็หมดปัญหาไป

แต่จุดสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งน่าจะอยู่ตรงที่ว่าประชัยนั้นยอมถอยอย่างมากทีเดียวด้วยการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลง (dilute) ด้วยการเพิ่มทุนทีพีไอและเอาทุนตรงนั้นไปชำระเป็นค่าดอกเบี้ยที่ติดพันเจ้าหนี้ไว้ สัดส่วนที่เขายอมให้นั้นคิดเป็น 30% ของจำนวนหุ้นทีเดียว

เพิ่มทุนจ่ายดอกเบี้ยวงเงิน 300 ล้านเหรียญ
เลี่ยวไพรัตน์ dilute หุ้นลง 30%

ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ถือหุ้นอยู่ในทีพีไอประมาณ 48.58% ซึ่งหากมีการ เซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่เกิดขึ้น ทีพีไอจะต้องเพิ่มทุนโดยในรอบแรกคาดว่าอยู่ในวงเงินประมาณ 300-400 ล้านเหรียญ ซึ่งจะช่วยให้ภาระดอกเบี้ยของบริษัทลดลงอย่างมาก แม้ว่าตอนนี้ก็เริ่มลดลงเพราะเงินบาทมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ประชัยกล่าวไว้ว่า ค่าเงินบาทแข็งขึ้น 1 บาทก็ช่วยประหยัดดอกเบี้ยให้ทีพีไอได้ 4,000 ล้านบาทแล้ว

วชิรพันธุ์เปิดเผยว่า "ภาระดอกเบี้ยของบริษัทตอนนี้อยู่ที่เดือนละ 800 ล้านบาท ตาม contract rate แต่เมื่อปรับแล้วจะเหลือประมาณ 300 กว่าล้านบาท"

วงเงินที่จะเพิ่มทุนนั้นดูเป็นจำ-นวนที่มาก วชิรพันธุ์ให้เหตุผลว่า"เพราะ การแปลงหรือ convert ครั้งนี้เราจะใช้ดอกเบี้ยในอนาคตด้วย สิ่งที่เราพยายามทำคือเราพยายามรักษาสภาพคล่องของบริษัทไว้ ซึ่งเราต้องดูไปถึงปีต่อๆ ไปด้วย หากปี"42 เราไม่สามารถ ชำระดอกเบี้ยได้ตามสัญญา เราก็ขอลดดอกเบี้ยลง แล้วส่วนต่างของดอกเบี้ยนี่เราก็มาเพิ่มเป็นทุนให้บริษัท ถือว่าเป็น prepaid interest"

นอกจากการชำระดอกเบี้ยด้วย หุ้นเพิ่มทุนแล้ว บริษัทไม่ได้ขอลดวงเงินต้นกับเจ้าหนี้ หรือที่ภาษายอดนิยม คือไม่มี hair cut เงินต้นนั้นจะทยอย จ่ายโดยเริ่มในปีที่ 6 หลังครบสัญญาการประนอมหนี้ 5 ปี แต่อาจจะมีการ ลดดอกเบี้ยบ้างในช่วง 2-3 ปีแรก เพื่อ ให้บริษัทรักษาสภาพเงินสดไว้ที่จะดำเนินการต่อไปได้

วชิรพันธุ์ในฐานะ CFO ของที่นี่กล่าวว่า "ทั้งนี้การบริหารในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ไป มันต้องเป็น การบริหารเพื่อจัดการกระแสเงินสดในอนาคต หรือที่เรียกว่า cash-flow projection เมื่อมีตัวนี้แล้วก็ต้องดูว่ารายรับของบริษัทพอหรือไม่ที่จะชำระ หากไม่พอจะทำอย่างไร นั่นคือประเด็น ที่เราต้องมานั่งคุยกันกับแบงก์ว่าทำอย่างไรจึงจะให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้"

นอกจากนี้ประชัยกล่าวว่าทีพีไอ จะเริ่มจ่ายหนี้ในปี 1999 เฉพาะดอกเบี้ยก่อน เป็น bullet 5 ปี พอหลัง 5 ปี ก็จ่ายรวดเดียว 2,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นจำนวนที่คาดว่าจะเหลืออยู่หลังจากทยอยจ่ายมาในช่วงสัญญา 5 ปี

การชำระหนี้ด้วยหุ้นเพิ่มทุนนั้น ทีพีไออ้างว่าเป็นวิธีที่เจ้าหนี้ได้ประโยชน์ มาก เพราะสามารถได้เงินคืน 100% และหากหุ้นมีราคาขึ้นในอนาคต ก็ได้พรีเมียมไปอีก แต่หากหุ้นราคาไม่ขึ้นก็เสมอตัว

ประชัยกล่าวว่า "ความน่าสนใจของแผนที่เจ้าหนี้จะยอมรับคือ มัน sweet เหลือเกิน แทบจะไม่มี hair cut ได้คืนหมด แถมบางส่วนเป็น equity ไป ถ้าหุ้นราคาขึ้น เขาก็ได้กำไรจากราคาหุ้นเยอะแยะ"

นอกจากนี้ อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจและประชัยยอมเปิดเผยมาในที่สุดคือเกมครั้งนี้เขาเอาบริษัทเป็นเดิมพัน"สัญญาผูกมัดไว้หมด หากทำไม่ได้ เขายึด นี่คือเดิมพัน หากเราทำไม่ได้เขายึดทันทีได้หมด ไม่ต้องใช้กฎหมาย ยึดทรัพย์ ไม่มีประนีประนอมเหมือน กรณีขายฝากเลย"

นี่เป็นเดิมพันที่ประชัยกล้าวางไว้กับเจ้าหนี้ หากยอมเซ็นสัญญากับเขาใหม่ โดยประชัยมีความมั่นใจมากด้วยว่าเขาจะไม่เสียบริษัทไป

"ผมมีความมั่นใจว่าจะใช้ได้ หากให้ผมบริหารงานเอง แต่หากให้ใครที่ไหนมา run มันก็เจ๊งแหงๆ " นี่เป็นคำประกาศกร้าวจากเจ้าของกิจการ ที่ไม่ยอมสูญเสียธุรกิจที่ตัวเองและตระกูลสร้างมากับมือ
17 ธ.ค. ไม่มีการโหวต
ต้องรอ 31 ม.ค."42

ในที่สุด 17 ธ.ค."41 ก็ผ่านไปโดยกลุ่มเจ้าหนี้ 148 รายยังไม่มีการโหวตรับร่างหลักการการปรับโครงสร้างหนี้ (indicative term sheet) แต่ อย่างใด สิ่งนี้เป็นเรื่องที่วชิรพันธุ์คาดหมายอยู่ก่อนแล้ว

หลังจากเจรจากับเจ้าหนี้อย่างหนักในช่วงเดือนมี.ค.-ต.ค. 2541 แล้ว เริ่มเขียนแผน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ก็เขียนเสร็จ ส่งพิมพ์ออกมาเป็นเล่ม แล้วส่งให้เจ้าหนี้โดยใช้บริการของ DHL ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน ดังนั้นกลุ่มเจ้าหนี้ทั้ง 148 ราย ได้รับแผนในช่วงวันที่ 17-18 พ.ย. 2541 เมื่อเจ้าหนี้ได้แผนแล้ว ผู้บริหารระดับสูงของทีพีไอก็ออกเดินทางไปตามประเทศเจ้าหนี้รายสำคัญๆ เพื่ออธิบายเกี่ยวกับแผน ซึ่งในที่สุดได้ขอให้เจ้าหนี้ตัดสินในวันที่ 3 ธ.ค."41 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะ เจ้าหนี้มีเวลาพิจารณาแผนเพียง 3 อาทิตย์เท่านั้น

ดังนั้นทีพีไอจึงจัดแถลงข่าว ให้เวลาเจ้าหนี้ยืดออกมาเป็นวันที่ 17 ธ.ค. แต่กระนั้นเจ้าหนี้ก็เริ่มส่งสัญญาณ ออกมาว่าคงจะพิจารณาไม่ทัน

"บอร์ดแบงก์นั้นประชุมกันเดือนละหน หรืออย่างเก่งก็ 2 หน เราส่งแผนให้เขาเดือนพ.ย. ซึ่งเขาคงยังไม่เอาเข้าที่ประชุมบอร์ด" และก็เป็นจริงเช่นว่าเพราะทีพีไอได้ทราบจากเจ้าหนี้บางรายขอยืดเวลาการให้คำตอบไปถึงวันที่ 31 ม.ค."42

สิ่งที่ทีพีไอต้องการในเวลานี้คือต้องการให้เจ้าหนี้อนุมัติในหลักการ เพราะเรื่องรายละเอียดจริงๆ นั้นต้องลงไปอีกลึกมาก

ทั้งนี้สิ่งที่เจ้าหนี้ถามไถ่กันมามากที่สุดคือจำนวนหุ้นที่เจ้าหนี้แต่ละรายจะได้รับแทนการชำระหนี้ แต่ทีพีไอ ไม่สามารถให้ตัวเลขที่ชัดเจนได้ในเวลา นี้ วชิรพันธุ์อ้างว่าเขาต้องมานั่งดูว่าในวันที่เป็น closing date นั้น มีหนี้เท่าไหร่ มีดอกเบี้ยค้างชำระเท่าไหร่ แล้วจึงจะสามารถบอกได้ว่ากี่เปอร์เซ็นต์ ของตัวนั้นที่จะมา convert เป็นหุ้น แล้วแต่ละแบงก์จะได้หุ้นเท่าไหร่ นี่คือหลักการที่จะทำให้บอกตัวเลขจำนวน หุ้นได้

วชิรพันธุ์ยังมีรายละเอียดอีกหลายจุดที่ไม่สามารถตอบเจ้าหนี้ได้อย่างพอใจในวันนี้ ต้องรอพวกเขาอนุมัติหลักการแล้วจึงจะสามารถบอกได้ โดยเฉพาะวิธีการดำเนินการตามแผน ซึ่งยังต้องมีการ verify อีกหลายจุด บริษัทก็ยังอยู่ระหว่างการส่งแผนให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น แบงก์ชาติ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ

เจ้าหนี้ส่วนมากหรือเกือบจะทุกรายนั้น เมื่อได้แผนไปจะมีการถามกลับมาตลอดเวลาว่าเขาเสียสิทธิอะไรบ้าง และสิทธิที่เขาเสียไปนั้นทุกคนเสียเหมือนกันหมดไหม มีใครได้สิทธิกว่าเขา สิทธิที่มีอยู่ในสัญญาเดิมนั้น เสียแล้วได้คืนไหม ส่วนมากต้อง การให้เขียนให้ละเอียดและมีการใส่ชื่อแบงก์ลงไปเลยด้วยว่าได้อะไรบ้าง

วชิรพันธุ์ยอมให้มีการยืดหยุ่นในเรื่องคำตอบของเจ้าหนี้ได้บ้าง หลังจากเจรจามา 15 เดือน แล้วจะต้องมา แตกหักเอาง่ายๆ นั้น เป็นเรื่องไร้เหตุผล

"เราคงมีการยืดหยุ่นให้บ้าง แต่ไม่นาน ก็คงมาดูว่าเงื่อนไขที่เขาขอมานั้นมีอะไรที่เราจะรวมเข้าไปได้ไหม ถ้าเรารวมได้เราก็จะทำ หากทำไม่ได้เรา ก็จะคุยกับเขาว่าแบบนี้เพราะอะไร มันต้องมีการคุยกัน เพราะ term sheet ไม่ได้สลักอยู่บนหิน หากเราไม่เจรจาเลย ก็อาจจะมีคนรับแผนอยู่แค่ 14 แบงก์ที่เป็นคณะกรรมการเจ้าหนี้ แต่เท่าที่เราได้รับการตอบรับกลับมาในตอนนี้ก็เรียบร้อยดี"

เมื่อการอนุมัติในหลักการของแบงก์เจ้าหนี้ผ่านไปได้สำเร็จแล้วนั้น ลำดับถัดไปคือการเขียนสัญญา ซึ่งต้องมีการเขียนและเซ็นสัญญากันใหม่หมดทั้ง 148 ราย เมื่อเขียนสัญญาเสร็จ ก็ต้องส่งให้เจ้าหนี้อ่าน ซึ่งต้องอ่านทุกหน้า เซ็นกำกับกันทุกหน้า เป็นเรื่องใหญ่มาก

บริษัทกฎหมายที่จะมาเขียนสัญญาให้ทีพีไอชื่อ Link Later & Co. ส่วนทางเจ้าหนี้ใช้ JSM หรือ Johnson Stroke Master ซึ่งต่างเป็นบริษัทกฎหมายอังกฤษทั้งคู่

สัญญาจะมีหน้าตาออกมาอย่างไรนั้น วชิรพันธุ์ก็ยังคาดเดาไม่ได้ เพราะแต่ละแบงก์นั้นต้องการให้ระบุออกมาชัดเจนว่าเขาจะได้อะไรบ้างดังที่กล่าวมา นอกจากนี้เจ้าหนี้ยังมีอยู่ในหลายทวีป ซึ่งกฎหมายที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาในไทยก็ต้องใช้กฎหมายไทยเป็นแม่บท

นอกจากนี้แบงก์เจ้าหนี้ไทยก็อาจเจอปัญหาอีกเพราะที่ผ่านมาแบงก์ชาติเข้ามาควบคุมดูแลมาก เช่น การตั้งสำรองจะทำอย่างไรเมื่อมีการรับแผนของลูกหนี้แล้ว เพราะหากยังต้องตั้งสำรองเท่าเดิม ก็เท่ากับไม่มีอะไรเป็นแรงกระตุ้นให้คนทำ ดังนั้นเจ้าหนี้แบงก์ไทยต้องการรู้ตรงจุดนี้ และอยากรู้เป็นตัวเลขเลยว่าจะสามารถ ลดการตั้งสำรองลงเเท่าไหร่

อีกประเด็นหนึ่งสำหรับแบงก์เจ้าหนี้ไทยที่ถูกแบงก์ชาติยึด พวกเขาก็ต้องการรู้อย่างแน่นอนว่าลูกหนี้รายนี้ (ทีพีไอ) มีความสามารถในการชำระ หนี้ได้จริง หรือแผนการปรับโครงสร้าง หนี้ครั้งนี้เรียบร้อยดี เพื่อที่ว่าเมื่อมีการตีราคาสินทรัพย์ของแบงก์แล้วลูก หนี้รายนี้ยังมีค่าอยู่ ไม่ใช่เป็นหนี้สูญ

ประเด็นรายละเอียดยังมีอีกมาก กว่าที่ทีพีไอจะสามารถลงนามในสัญญา กับแบงก์เจ้าหนี้ 148 รายได้ เพราะดูแต่ตอนที่ทำแผนนั้น มีประเด็น (issue) ต่างๆ เป็นร้อย เมื่อเจรจามาเรื่อยๆ ประเด็นที่ถามกันก็ลดลง เดือนส.ค. เหลือ 44 ประเด็น จากส.ค.-ต.ค.เหลือ 24 ประเด็น จาก 10 ต.ค.-พ.ย.เหลือ 4 ประเด็น ซึ่งก็เท่ากับแคบลงมามาก แต่ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขกันไปเรื่อย

ทัศนะเกี่ยวกับการเจรจาของวชิรพันธุ์นั้นค่อนข้างยืดหยุ่นตามบุคลิกของเขามาก ข้อดีของเขาคือพยายามเจรจาให้เจ้าหนี้มีความเข้าใจทีพีไอมากที่สุดและเห็นว่าแผนนี้เป็น win-win game คือทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่างได้ประโยชน์กันไปทั้งสองฝ่าย ไม่มีผู้แพ้ในเกมนี้ แม้ตัวประชัยเองนั้นจะรู้สึกว่านี่ เวลา 5 ปีข้างหน้าเป็นความเป็นความตายของเขาก็ตาม

ต่อประเด็นที่ว่า หากเจ้าหนี้ 1-2 รายในคณะกรรมการเจ้าหนี้ที่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับแผนแล้วนั้น ทีพีไอ จะทำอย่างไร ประเด็นนี้แม้ประชัยจะมีอารมณ์อยู่มาก แต่ผู้บริหารท่านอื่นของทีพีไอก็เข้าใจ วชิรพันธุ์มองอย่างธรรมดาว่า "เจ้าหนี้ 1 หรือ 2 รายโดนเจ้าหนี้อีก 140 กว่ารายถามว่าทำไมเขา ไม่รับ อะไรคือเหตุผลที่ไม่รับ อย่าลืมว่าโลกของการเงินมันแคบและเล็ก และเราก็มีอีก 140 กว่าแบงก์ใหญ่อยู่ที่นี่ หากเขาทำตัวแตกแถวมากๆ คนอื่นก็คงไม่ทำมาหากินกับเขาอีกต่อไป สมมติ มีการทำปล่อยกู้ร่วมในอนาคต ก็ไม่มีใครเอาเขาแล้ว เพราะครั้งที่แล้วเขาคือตัวปัญหา"

แม้จะเป็นการมองโลกในแง่ดีว่าเกมนี้น่าจะจบลงได้ด้วยการเซ็นสัญญาประนอมหนี้ในที่สุดนั้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกหลายด่านนักที่ประชัย หรือ"ตั้วเฮีย" ของกลุ่มทีพีไอ ต้องฟันฝ่าออกไปให้ได้ เขาเปรยไว้ว่าหลัง 5 ปีแล้ว เขาอาจจะวางมือเสียที เพื่อเดินทางเที่ยวรอบโลก มันออกจะไกลเกินไปที่จะกำหนดอะไรขนาดนั้น รอให้ชนะเดิมพันเสียก่อนเถิด!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us