Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2542
วิชัย พันธุ์โภคา มาและจะไปแบบเงียบ เงียบ             
 


   
search resources

เดรสเนอร์แบงก์ - Dresdner Bank
วิชัย พันธุ์โภคา




คนไทยใจฝรั่ง คือ สมญานาม ที่คนในวงการการเงินของไทยตั้งให้กับชายชื่อ วิชัย พันธุ์โภคา กรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการ ใหญ่ธนาคารเดรสเนอร์ เอจี สาขาประเทศไทย ที่มีบริษัทแม่ตั้งอยู่ที่แฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี

ชีวิตส่วนตัวของผู้บริหารแบงก์ เดรสเนอร์ เอจี คนนี้หลายๆ คน ไม่ค่อยรู้จักเพราะวิชัย ไม่ค่อยเปิดเผยความเป็นส่วนตัวของเขาให้สา-ธารณชนรับทราบเท่าไหร่ รู้แต่เพียง ว่าเขาเป็นผู้บริหารแบงก์ เดรสเนอร์ เอจี เท่านั้น

"ผมเข้ามาทำงานในเดรสเนอร์ เอจี สาขาประเทศไทยแบบเงียบๆ เพราะไม่รู้ว่าจะประกาศไปทำไม" วิชัย กล่าวถึงการเริ่มเข้ามาในวงการการเงินสั้นๆ แต่ได้ใจความ

เดือนสิงหาคม ปี 2507 วิชัย เดินทางไปศึกษา ณ เยอรมนี ในระดับ High School ที่ เนินแบร์ก เมืองโคโลญจ์ จากนั้นเดือนมิถุนายน ปี 2509 ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโคโลญจ์ และศึกษาต่อที่เดียวกันจนได้รับปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ ในปี 2515

ชะตาชีวิตการทำงานของวิชัย ดูเหมือนว่าจะถูกกำหนดให้ทำงานที่แบงก์เดรสเนอร์ เอจี เพียงเแห่งเดียว เพราะตั้งแต่ออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เขาก็วนเวียนอยู่ในอาณาจักรแบงก์เดรสเนอร์ เอจี เป็นส่วนใหญ่ เริ่มจากเป็น Traineeship ในสำนักงานใหญ่ที่แฟรงเฟิร์ต จากนั้นในปี 2518 เข้าทำงานในฝ่าย Risk management/Credit department จนกระทั่งถึงเดือนเมษายน ปี 2527 เป็นครั้งแรกที่วิชัยเดินออกจากแบงก์เดรสเนอร์ เอจี ที่เขาผูกพันมานานถึง 11 ปี เพื่อไปรับงานในแบงก์กรุงเทพ (BBL) สาขาเมืองฮัมบรูก ประเทศเยอรมนี ฝ่าย Head of Loan & Credit department แต่ทำงานได้เพียง 4 ปี ก็ทนคิดถึงองค์กรเก่าไม่ได้จึงกลับมารับตำแหน่ง Assistant Vice president & Head of Credit Analysis ที่แบงก์เดรส เนอร์ เอจี สำนักงานใหญ่ ในปี 2530

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ประเทศเยอรมนีนานถึง 28 ปี ในที่สุดวิชัย ได้รับความไว้วางใจจากแบงก์ เดรสเนอร์ เอจี สำนักงานใหญ่ให้เข้ามาทำงานในแบงก์เดรสเนอร์ เอจี ประจำประเทศไทยในปี 2535 และปีต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ จากนั้นในปี 2538 แบงก์ เดรสเนอร์ เอจี ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เป็นธนาคารสาขาประจำ ประเทศไทย จากที่เคยเป็นเพียงระดับตัวแทน ทำให้วิชัย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการใหญ่ธนาคารเดรสเนอร์ เอจี สาขาประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

นอกจากจะทำงานในธนาคารเดรสเนอร์ เอจี แล้วเขายังเข้าไปเป็นคณะกรรมการในฐานะกรรมการหอการค้า
เยอรมัน-ไทย, คณะกรรมการ บริษัท Siemens Business Communication Systems และเป็นสมาชิกในสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย

นี่คือเส้นทางการศึกษาและการทำงานของชายชื่อวิชัย ที่โลดแล่นอยู่ในวงการการเงินในประเทศไทยอย่างเงียบๆ หลายคนที่เคยสัมผัสหรือได้คุยกับวิชัย จะรู้สึกได้เลยว่าบุคลิกของเขาเป็นคนที่ชอบให้ความรู้ด้านการเงินการธนาคาร ในเชิงวิชาการ แต่ถ้าเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องส่วนตัวหรือการดำเนินงานของแบงก์เดรสเนอร์ เอจี เขาจะไม่ค่อยเปิดเผยมากนัก

"ช่วงที่กลับจากเยอรมนีใหม่ๆ เพื่อนหลายคนเป็นห่วงผมในเรื่องการทำธุรกิจในประเทศไทยเพราะเขามองว่ายังมือใหม่อยู่ในขณะนั้น จึงได้เตือนให้ระวังเล่ห์เหลี่ยมของ นักธุรกิจไทย เช่น เวลาจะปล่อยสินเชื่อให้กับใครก็โทรมาปรึกษาก่อนเพราะกลัวว่าผมจะไม่ทันคน แต่เดี๋ยวนี้เพื่อนๆ ทุกคนเลิกเป็นห่วงแล้ว" วิชัย กล่าว

สาเหตุที่เพื่อนๆ ของเขาเป็นห่วงในเรื่องนี้นอกจากจะเป็นมือใหม่แล้ว การเข้ามาในวงการการเงินของวิชัยเป็นไปอย่างเงียบเชียบ ซึ่งแปลกกว่าผู้บริหารรายอื่นๆ ที่เข้ามาแบบอึกทึกครึกโครม แต่ปัจจุบันวิชัย คือ นักบริหารมืออาชีพที่คนในวงการการเงินให้การยอมรับ

อย่างไรก็ตามด้วยบุคลิกที่เรียบง่ายนั้น แต่อีกด้านหนึ่งของวิชัย กลับเป็นนักบริหารที่สร้างความตกตะลึงให้กับหลายๆ คนได้เหมือนกัน ด้วยความมีใจรักชาติ ดังนั้นสิ่งไหนที่เห็นว่าประเทศไทยเสียเปรียบหรือสิ่งไหนที่ได้เปรียบเขาจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง การปรากฏ ตัวของวิชัย พันธุ์โภคา ที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการและเห็นตัวจริงของเขามากขึ้น คือ การออกมาสนับสนุนการขุดคอคอดกระ ในครั้งนั้นเขามองว่าถ้าประเทศไทยสามารถ ขุดสำเร็จจะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาล

"เวลาจะออกมาพูดอะไรผมต้องมีเหตุและมีผลประกอบกัน ถ้ามีเหตุด้านเดียวแต่ไม่มีผลหรือข้อสรุปให้เห็นจริงแล้วจะไม่ออกมาพูด" วิชัย กล่าว

ล่าสุดได้ออกมาโจมตีการทำงานขององค์กรการปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.) ในเรื่องการทำงาน โดยเฉพาะ เรื่องการประนอมหนี้ที่เขามองว่าแบงก์พาณิชย์ไทยเอาเปรียบ ขณะที่แบงก์ต่างประเทศได้สูญเสียความเป็นธรรมอย่างมาก อีกทั้งยังวิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ ปรส. อย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะกับอมเรศ ศิลาอ่อน ประธาน ปรส. ที่ทั้งสองบุคคลมักจะมีความคิดแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน เช่น วิชัย แนะนำว่าควรจะนำแนวทางการแก้ปัญหาจากสวีเดนและอเมริกามาใช้ในประเทศไทย แต่อมเรศ สวนกลับทันควันว่าประเทศไทยไม่สามารถนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ได้เพราะความเสียหายต่างกันอย่างมาก หรือในเรื่องการขายสินทรัพย์ ของ ปรส. วิชัย วิจารณ์ว่า ราคาประมูลสินทรัพย์ของ ปรส. ไม่ถึง 50% ของมูลค่าจริง ความจริง อยู่ที่ระดับ 15-20% เท่านั้น

ผลจากการตีแผ่การทำงานของ ปรส. จนทำให้มีข่าวลือว่ากระทรวงการคลัง จะแต่งตั้งให้วิชัย เป็นประ-ธานตรวจสอบการทำงานของ ปรส. แต่เรื่องนี้เขาเล่าว่า "ไม่เป็นความจริงและไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ให้ข่าว" ดังนั้นเมื่อคำพูดออกจากริมฝีปากของตัวเขาเองแล้วย่อมเป็นที่แน่ชัดว่าประธานตรวจสอบการทำงาน ปรส. ไม่ใช่ชายชื่อ วิชัย อย่างแน่นอน

ปัจจุบันชีวิตการทำงานของ
วิชัย ยังคงทุ่มเทให้กับแบงก์ที่เขารัก แม้ว่าจะมีงานข้างนอกบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะไปเป็นวิทยากรตามคำเชิญขององค์กรต่างๆ

"ผมทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ ถ้ามีคนเชิญผมไปพูดก็จะไม่ปฏิเสธ ถือว่าเป็นการให้ความรู้แก่คนภายนอก เพราะช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน" นั่นหมายความว่า ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวก็จะเห็นวิชัย ออกมานำเสนอแง่มุมที่เป็นประโยชน์ ต่อสังคมโดยรวมแม้ว่าจะไม่เป็นที่ถูกใจต่อหลายๆ คนอยู่ก็ตาม

"แต่ถ้าหากเมื่อใดที่เศรษฐกิจ ดีขึ้นแล้วผมก็จะออกไปอย่างเงียบๆ เช่นเดียวกับตอนที่ผมเข้ามาใหม่ๆ โดยคิดไว้ว่าจะไปสอนหนังสือในรั้วมหาวิทยาลัย ส่วนที่มีคนสงสัยว่าจะไปเล่นการเมืองนั้นบอกได้เลยว่าไม่มีความคิดเลย" วิชัย กล่าวตบท้าย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us