ธุรกิจการบริหารเงินสดหรือ cash management ใน บ้านเราออกจะเป็นของใหม่อยู่ไม่น้อย
และเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ซับซ้อนโดยเฉพาะความก้าวหน้าของซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์
การรับชำระเงิน การประมวลผลข้อมูลการชำระเงิน การจ่ายเงิน และการนำเม็ดเงินไปลงทุน
กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่หากมีความฉับไวเที่ยงตรงรวดเร็วแล้ว ก็สามารถที่จะสร้างดอกผลเกิดขึ้นมาได้
หลังจากที่เจรจาและตั้งทีมทำงานร่วมกันมาระยะหนึ่งแล้ว ในที่สุด กลุ่มบริษัท
จีอีแคปปิตอล(GECC) ในประเทศไทย ก็ได้เซ็นสัญญาแต่งตั้งให้ธนาคารดอยช์แบงก์
สาขาประเทศไทยเป็นผู้บริหารเงินสดให้ โดยธนาคารจะเป็นผู้บริหารระบบรับชำระเงินจากลูกค้าของบริษัทในเครือ
GECC คือบริษัท บางกอก แคปปิตอล เวนเจอร์ส จำกัด, บริษัท บางกอก แคปปิตอล
อีควิตี จำกัด, บริษัท เซ็นทรัลการ์ด จำกัด, บริษัท จีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย)
จำกัด และบริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน)
ลูกค้าของบริษัทดังกล่าวข้างต้นจะสามารถชำระเงินได้กับธนาคารดอยช์แบงก์ สาขากรุงเทพฯ
และเครือข่ายสาขาจำนวนมากของธนาคารพันธมิตร คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์
และธนาคารกรุงศรีอยุธยา
มร.มาร์ค นอร์บอม ประธาน จีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "จีอีได้เริ่มขยายฐานธุรกิจลูกค้าในไทยตั้งแต่เมื่อปี
1990 โดยผ่านธุรกิจด้านสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และการบริโภค ซึ่งถึงตอนนี้ก็มีฐานลูกค้าไทยกว่า
5 แสนคนแล้ว ซึ่งการที่มีฐานลูกค้ามากขนาดนี้หมายความว่า ในแต่ละเดือนลูกค้าต้องมีการทำรายการชำระเงินเข้ามาให้จีอีเป็นจำนวนมากด้วย"
การที่จะจัดการรวบรวมเม็ดเงินเหล่านี้เข้าในบัญชีและสามารถรู้ยอดเงินอย่างรวดเร็วฉับไว
ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ ณ จุดใดประเทศใดก็ตาม เพื่อที่จะนำเม็ดเงินไปลงทุนต่อหรือหากำไรให้งอกเงยขึ้นมา
ก็เป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดราย ได้ขึ้นมาได้ ทั้งนี้ GECC นำลูกค้ามาเข้าบริการของดอยช์แบงก์รวมทั้งสิ้นประมาณ
400,000-500,000 ราย ซึ่งปริมาณ การทำรายการชำระเงินก็อยู่ในระดับนี้
จุดเด่นที่ GECC เลือกดอยช์แบงก์ ก็เพราะธนาคารสามารถสนองตอบความต้องการของ
GECC ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะธนาคารมีซอฟต์แวร์ ที่ดีที่สามารถรายงานการประมวลผลยอดการชำระเงินทั้งหมดให้
GECC ได้ทราบอย่างรวดเร็วฉับไว
ในบรรดาบริษัทในเครือ GECC ที่ใช้บริการดอยช์แบงก์นี้ ลูกค้าจากเซ็นทรัลการ์ดมีมากที่สุด
รองลงมาเป็นลูกค้าเช่าซื้อรถ ทั้งนี้บริษัท บางกอก แคปปิตอล เวน-เจอร์สเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง
GECC กับโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเข้าร่วมประมูลกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณสินทรัพย์เช่าซื้อของบริษัทเงินทุน
56 รายซึ่ง ปรส. นำออกประมูล, บริษัทบางกอก แคปปิตอล อีควิตี เป็นหน่วยงานบริหารบุคลากรของบริษัทบางกอก
แคปปิตอล เวนเจอร์ส, บริษัทเซ็นทรัลการ์ดเป็นผู้ดำเนินงานและบริหารบัตรเครดิตให้กับลูกค้าหลายราย,
บริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส เป็นผู้ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และบริษัท
จีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินธุรกิจเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค
มร.นอร์บอมกล่าวว่า "จีอีเริ่มเสาะหาผู้ที่จะให้บริการ บริหารเงินสดให้จีอีมาตั้งแต่เมื่อปี
1997 ซึ่งในที่สุดก็มาลงตัวกับดอยช์แบงก์ โดยเรามองว่าดอยช์แบงก์เป็นแบงก์ที่มีความสามารถในการให้บริการด้านนี้
จุดสำคัญคือมีเทคโน-โลยีที่ดีมาก มีระบบการรับชำระเงินที่มีประสิทธิภาพสูงและวางใจได้
เพราะเป็นระบบที่สามารถรองรับการชำระเงินได้หลายแสนรายการต่อเดือน และนำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีของเราอย่างรวดเร็ว
รวมทั้งทำให้เราสามารถติดตามข้อมูลและบริหารกระแสการรับเงินได้อย่างแม่นยำ
บริการที่ดอยช์แบงก์ให้แก่เรานั้น ทำให้เราสามารถลดความล่าช้าในกระบวนการทำงานของเราลงถึง
40% ซึ่งหมายความว่าเราสามารถหาประโยชน์จากการที่สามารถเก็บเงินเข้ามาได้เร็วขึ้น
ขณะเดียวกันก็สามารถให้บริการที่ดีแก่ลูกค้าของเราด้วย"
ส่วนมร.โธมัส แฟร์โลฮร์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารดอยช์แบงก์ ประจำประเทศไทย
กล่าวว่า "สัญญาที่ทำกับจีอีครั้งนี้เป็นสัญญาบริหารเงินสดขนาดใหญ่มากของเราในประเทศไทย"
ทั้งนี้ มร.แฟร์โลฮร์ให้เหตุผลที่ธนาคารได้รับการแต่งตั้งครั้งนี้ ว่าเป็นเพราะดอยช์แบงก์มีเครือข่ายสาขาธนาคารพันธมิตรจำนวนมากไว้รองรับการชำระเงินจากลูกค้าของ
GECC ซึ่งมีจำนวนการทำรายการสูงมาก และคาด ว่าดอยช์แบงก์ต้องเพิ่มธนาคารท้องถิ่นเข้ามาเป็นธนาคารพันธมิตรรายใหม่ๆ
ในเครือข่าย เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นในเร็วๆ นี้
ด้านการคิดค่าธรรมเนียมนั้น ธราธิป ภาไชย ผู้จัดการฝ่ายสถาบันการเงิน ธนาคารดอยช์แบงก์
สาขากรุงเทพฯ กล่าวว่า "เราคิดค่าธรรมเนียมถูกมาก คือเป็นเพราะความสัมพันธ์ที่เรามีต่อกันด้วย
เราไม่ได้คิดที่จะเอากำไรตรงนี้มาก เพราะว่าจีอีเป็นลูกค้าสำคัญ ซึ่งสัญญาการบริหารเงินสดที่ทำกับจีอีครั้งนี้ไม่ได้มีแต่ในกรุงเทพฯ
ที่ยุโรป เราก็ได้ที่สเปน เยอรมนี ส่วนที่กำลังคุยอยู่คือที่อิตาลี"
ทั้งนี้ สัญญาการบริหารเงินสดที่จีอีทำกับดอยช์แบงก์ที่กรุงเทพฯ นี้ถือเป็นรายที่สองในเอเชีย
รายแรกคือที่อินโดนีเซีย เมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่ามาก เพราะมีแต่ด้านเครดิตการ์ด
แต่ที่นี่มีมูลค่ามากกว่า กล่าวคือมีการทำรายการชำระเงินเดือนละประมาณ 4-500,000
รายการ ในวงเงินวันละ 20 ล้านบาทหรือเดือนละ 400 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ดอยช์แบงก์มีความสามารถในการรับการทำรายการต่างๆ ผ่านคอมพิวเตอร์ได้วันละ
3-40,000 รายการ (full operate) แต่ตอนนี้ที่ทำอยู่ก็ประมาณ 3-4,000 รายการต่อวัน
แต่หากกลุ่ม GECC เข้ามาทั้ง 5 บริษัทในครั้งนี้ ปริมาณการทำรายการจะพุ่งขึ้นมาเป็น
25,000-30,000 รายการต่อวัน
นอกจากนี้ ธราธิปเปิดเผยว่าดอยช์แบงก์ก็บริหารเงินสดให้ลูกค้าที่เป็นคอร์ปอเรทอยู่หลายราย
ธนาคารฯ มียอดการปล่อยสินเชื่อประมาณ 25,000 ล้านบาท ซึ่งมร.แฟร์โลฮร์เปิดเผยว่ามีตัวเลข
NPL ต่ำมาก เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์
ในบรรดาธนาคารต่างประเทศที่ให้บริการด้านบริหาร เงินสดในไทยนั้น มีหลายแห่งเช่น
ซิตี้แบงก์, เชสแมนฮัตตันแบงก์, เอบีเอ็น แอมโรแบงก์, สแตนดาร์ดชาร์เตอด์แบงก์,
ฮ่องกงเซี่ยงไฮ้แบงก์ ธราธิปกล่าวว่า "ดอยช์แบงก์มีจุดแข็งในเรื่องของระบบที่มีประสิทธิภาพมาก
ขณะเดียวกันเราก็มีความยืดหยุ่นสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าได้
ซึ่งจุดนี้เองที่ชนะใจ GECC"
ทั้งนี้ธนาคารต่างชาติที่มีฝีมือและประสิทธิภาพในเรื่องการบริหารเงินสดสูสีกันคือดอยช์แบงก์กับซิตี้แบงก์
นอกจากบริหารเงินสดแล้ว ตอนนี้ก็มีเรื่องที่กำลังพัฒนาคือการเรียกเก็บเช็คต่างจังหวัด,
เรื่อง ออโต้ เดบิท, ออโต้ เพย์ และการชำระเงินให้ดีลเลอร์ต่างจังหวัด ซึ่งดอยช์แบงก์สามารถดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ได้ตามความต้องการของ
GECC
ดอยช์แบงก์เป็นธนาคารชั้นนำในยุโรป และเป็นหนึ่งในจำนวนธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ซึ่งตอนนี้ก็เข้าไปซื้อกิจการแบงเกอร์ทรัสต์สำเร็จแล้ว ในไทยนั้นธนาคารมีพนักงานรวม
200 คน หากไม่นับสาขาที่อินเดียแล้ว สาขาที่ไทยก็ใหญ่เป็นอันดับ 4 รองลงมาจากที่โตเกียว
ฮ่องกง สิงคโปร์