ก่อนที่วิทยาการด้านการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าเหมือนอย่างในปัจจุบันนั้น ในช่วง
20-30 ปีที่ผ่านมาหากมีผู้ป่วยตายอย่างปุบปับ การลงมรณะบัตรมักจะบอกว่าสาเหตุการตาย
เกิดจากเป็นลมปัจจุบัน แต่แท้จริงผู้ป่วยอาจเป็น heart attack คือกล้ามเนื้อหัวใจตาย
เนื่องจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจที่เรียกว่า coronary arteries
ถูกอุดตัน ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้ แต่สมัยก่อนไม่มีการตรวจฉีดสารทึบแสงเข้าเส้นเลือด
(coronary angio- graphy) เหมือนสมัยนี้ ปัจจุบันคนมีความรู้มีการศึกษาที่ดีขึ้น
มีความสนใจในสุขภาพและศึกษาหาความรู้ เพื่อเข้าใจในโรคต่างๆ มากขึ้น และรู้จักที่จะไปพบแพทย์เฉพาะทาง
ทำให้การตรวจและวินิจฉัยโรคเป็นไปได้รวดเร็วไม่หลงทาง ไม่ล่าช้าเสียเวลาและทำให้การรักษาเป็นไปโดยรวดเร็วในขณะที่โรคยังเป็นในระยะต้นๆ
ซึ่งทำให้ผลการรักษาดีขึ้น มีโอกาสหายมากขึ้น
โรคมะเร็งต่อมลูกหมากก็เช่นกัน โรคนี้พบมากที่สุดในจำนวนมะเร็งของผู้ชายในสหรัฐอเมริกา
โดยคนผิวดำเป็นมากถึง 1.5 เท่าของคนผิวขาว และเป็นสาเหตุของการตายอันดับที่
2 รองจากมะเร็งปอด
สำหรับชายไทย มะเร็งต่อมลูกหมากพบมากเป็นอันดับที่ 19 แต่ความจริงอาจพบบ่อยกว่านี้
แต่ชายไทยไม่ได้ไปตรวจวินิจฉัยและรักษา ทำให้สถิติที่มีอาจจะไม่แท้จริง
ต่อมลูกหมากมีแต่ในเพศชาย (นอกจากหญิงที่ผ่าตัดแปลงเพศมาจากชาย และไม่ได้ผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกไปด้วย)
อวัยวะนี้อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะ และห่อหุ้มท่อ ทางเดินปัสสาวะส่วนต้นๆ ขนาดเท่าลูก
walnut ซึ่งคงเท่าลูกหมากของคนไทย (จึงได้ชื่อว่าต่อมลูกหมาก) น้ำหนักประมาณ
20 กรัม เนื้อเยื่อแข็งอย่างนิ่ม หรือนิ่มอย่างแข็ง เหมือนยางในรถยนต์ รูปร่างคล้ายหัวใจหรือใบโพธิ์
ส่วนแหลมอยู่ด้านล่าง
หน้าที่ของต่อมลูกหมากคือสร้างของเหลว (fluid) เพื่อ ปกป้องและส่งเสริมการทำงานของสเปิร์ม
(sperm) โดยปกติน้ำอสุจิซึ่งมีประมาณ 3.5 ซี.ซี. จะประกอบด้วยของเหลวจากต่อมลูกหมาก
0.5 ซี.ซี. และจากในลูกอัณฑะ (seminal vesicles) 2.0-2.5 ซี.ซี. ของเหลวที่หลั่งออกมาจากต่อมลูกหมากประกอบด้วยสังกะสี
(ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ต่อมลูกหมากติดเชื้อโรค), acid phosphatase และ
Prostate specific antigen (PSA) ซึ่งเป็น enzyme ชนิดหนึ่ง (serine protease)
ซึ่งมีหน้าที่ช่วยทำให้น้ำอสุจิเป็น ของเหลวใส (liquify) เพื่อสเปิร์มซึ่งตัวเล็กมาก(มองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น)
จะได้เคลื่อนไหวว่ายไปได้สะดวก PSA นี้พบเมื่อปี ค.ศ. 1979 ในจำนวน PSA ในเลือด
(serum) ยังแบ่งเป็น Complexed PSA และ Noncomplexed (free) PSA ผู้ชายสูงอายุจะมี
PSA ใน serum สูงกว่าปกติเนื่องจากต่อมลูกหมากโตขึ้น (นั่นคือเหตุผลที่ว่าชายสูงอายุปัสสาวะขัด
เพราะต่อมลูกหมากไปกดรัดท่อทางเดินปัสสาวะ) แต่ไม่มากนัก ผู้ที่เป็นมะเร็งจะมีจำนวนเปอร์เซ็นต์ของ
free PSA ต่ำ เมื่อคำนวณเทียบกับ PSA ทั้งหมด และมะเร็งที่โตอย่างรวดเร็ว
(aggressive) ยิ่งมีเปอร์เซ็นต์ของ free PSA ต่ำยิ่งขึ้น
การเจริญเติบโตและการทำงานของต่อมลูกหมาก ขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเพศชายคือ testosterone
จากลูกอัณฑะ (testicles) ฮอร์โมนเพศชายตัวอื่นเป็นจำนวนน้อยได้แก่ androgen
หลั่งมาจากต่อมหมวกไต (adrenal glands) นั่นคือเหตุผลที่ว่าคนที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากอาจจะถูกแนะนำให้ผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออก
(เหมือนการตอน) เพื่อจะได้ไม่มีฮอร์โมนไปกระตุ้นมะเร็งให้เจริญเติบโต
สาเหตุที่ทำให้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากไม่เป็นที่ทราบแน่นอน มีการคิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนมีส่วนที่ทำให้เกิดมะเร็ง
(ขันทีไม่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะไม่มีฮอร์โมนไปเลี้ยงต่อมลูกหมาก) กรรมวิธีของการเกิดมะเร็ง
มีความสลับซับซ้อนมาก สรุปง่ายๆ คือ เซลล์ (cells) ที่บุ (line) ต่อมและท่อเปลี่ยนจาก
cells ธรรมดา ไปเป็น cells ผิดปกติ และแบ่งตัวเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ แต่อะไรไปจุดชนวน
(trigger)ให้กรรมวิธีอันนี้เกิดขึ้น ยังไม่เป็นที่ทราบกันแน่นอน (ถ้าพบแน่เราก็อาจจะป้องกันได้)
สิ่งแวดล้อมอาจจะมีส่วนทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา เหตุที่คิดเช่นนี้เพราะพบว่าคนงานที่ทำงานอุตสาหกรรมบางอย่าง
มีอัตราการตายจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าคนธรรมดา เช่นคนที่ทำงานเกี่ยวกับ
cadmium (ซึ่งมีฤทธิ์ตรงข้ามหรือ antagonist ต่อสังกะสี) ยางรถยนต์ (tyre)
ยาง (rubber) ช่างเครื่อง (mechanists) และคนที่ทำงานเกี่ยวกับโลหะหนักทั้งหลาย
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว สาเหตุของมะเร็งอาจเกิดจากอาหารที่มีไขมันสูง (ซึ่งทำให้มีโอกาสของการเกิดโรคมะเร็ง
อื่นๆ เช่น ลำไส้ใหญ่ สูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ไขมันสูงยังเป็นสาเหตุของโรคที่ไม่เกี่ยวกับมะเร็งเช่น
โรคความดันสูง โรคเส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจและสมองตีบ กล้ามเนื้อหัวใจและ cells
สมองตาย เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง) ในผู้ชายที่มีญาติพี่น้องผู้ชายหรือบิดาเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
จะมีโอกาสเป็นมะเร็งชนิดนี้มากกว่าคนธรรมดา
อาการมะเร็งต่อมลูกหมาก อาจจะไม่มีในระยะต้นๆ แต่เมื่อ cells มะเร็งแบ่งตัวไปเรื่อย
ทำให้ก้อนมะเร็งโตขึ้นจะไปกดท่อทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะขัดและลำบาก ใช้เวลานานกว่าน้ำปัสสาวะจะออกมาได้
หรือกระปริบกระปรอย ถ่ายไม่สุด ถ่ายบ่อยโดยเฉพาะกลางคืน ถ้ามะเร็งเติบโตเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
อาจจะทำให้ปัสสาวะเป็นเลือด อาจไปกดทางเปิดของท่อไต ทำให้ไตเสีย นอกจากนี้มะเร็ง
อาจแพร่เข้าไปสู่ต่อมน้ำเหลืองและเข้าไปสู่ระบบไหลเวียนของโลหิตและแพร่ไปยังส่วนต่างๆ
ของร่างกาย โดยเฉพาะกระดูกและทำลายกระดูก ทำให้เจ็บปวดมาก ถ้ากระดูกส่วน
ที่ถูกทำลายคือกระดูกสันหลัง มะเร็งอาจจะโตเข้าไปกดไขสันหลัง (spinal cord)
ทำให้เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ เดินไม่ได้ ปัสสาวะ อุจจาระไม่ได้ เป็นที่ลำบากในการดูแลของภรรยาและลูกหลาน
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ประกอบด้วยการผ่าตัดเอาต่อมออก ซึ่งได้ผลดีในระยะต้นๆ
เท่านั้น การรักษามะเร็งโดยรังสีได้ผลดีในโรคระยะต้นๆ เท่ากับการผ่าตัด แต่ในโรคระยะหลังๆ
การผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกไม่เป็นที่แนะนำ ควรเป็นการรักษาโดยฉายรังสีซึ่งครอบคลุมทั้งต่อมลูกหมากและต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน
ในรายที่มะเร็งแพร่กระจายไปแล้วมักจะรักษาโดยการใช้ฮอร์โมน เช่น ผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออก
เพื่อเอาฮอร์โมนที่กระตุ้นมะเร็งออก
ไปและให้ยาฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งทำกันมา 50 ปีแล้ว ปัจจุบันมีการใช้ฮอร์โมนซึ่งไปกดการปล่อยฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง
(Pituary gland) ซึ่งไปกระตุ้น testicles และ/หรือให้ฮอร์โมน ซึ่งไปกีดกันขัดขวางไม่ให้
cells มะเร็งถูกกระตุ้นโดยฮอร์โมนธรรมชาติของร่างกาย ในรายที่มะเร็งแพร่ไปที่กระดูก
อาจให้รังสีรักษา เพื่อบรรเทาอาการปวด ซึ่งมักจะได้ผลดี บางรายที่มะเร็งไปที่กระดูกสันหลังและทำท่าว่าจะกดไขสันหลัง
อาจจะต้องให้รังสีรักษาเพื่อหยุดการเติบโตของมะเร็งและป้องกันการเกิดอัมพาต
อัมพฤกษ์
เนื่องจากการรักษาอาจจะโดยการผ่าตัดหรือให้รังสี ได้ผลดีเฉพาะในระยะต้นๆ
ดังนั้นการตรวจพบโรคในระยะแรกๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าท่านมีอาการปัสสาวะเช่นที่กล่าวมาแล้วก็ควรรีบไปหาแพทย์เพื่อรับการตรวจโดยเร็ว
ก่อนที่มะเร็ง(ถ้าเป็น)จะโตเข้าสู่ระยะสูงขึ้น แต่ที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้โรคเกิดขึ้น
จริงอยู่ที่เราไม่ทราบสาเหตุแน่นอนที่ trigger ให้ cells ธรรมดากลายเป็น
cells มะเร็งขึ้นมา แต่เมื่อทราบปัจจัยเสี่ยงซึ่งส่งเสริมให้เกิดการเป็นมะเร็งดังที่กล่าวไว้แล้ว
ก็ควรจะหลีกเลี่ยงหรือป้องกันเสีย ส่วนคนที่ทำงานเกี่ยวกับโลหะและยาง ซึ่งเปลี่ยนงานไม่ได้เพราะหางานยากในสมัยนี้
ก็ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ รวมทั้งตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งแพทย์ทำได้ง่ายๆ
โดยการตรวจ ร่างกายและตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก(digital rectal examination)
และตรวจดูระดับ PSA ในเลือด อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพราะมันอาจช่วยชีวิตท่านได้