Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2542
เศรษฐกิจไทยปี 2541 และแนวโน้มปี 2542             
 





1. สรุปภาพรวม

1.1 ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2541 ถดถอยลงด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real Gross Domestic Product - Real GDP) ประจำปี 2541 หดตัวมากกว่า 7% จากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการลดลงทั้งทางด้านการผลิตและการบริโภค ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ทำให้ประชาชนโดยเฉลี่ยมีรายได้ต่อหัวที่แท้จริง (Real Income per capital) ลดลงเหลือเพียง เดือนละ 3,900 บาท ณ ปลายปี 2541 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเมื่อปี 2538 จากที่เคยเท่ากับเดือนละ 4,290 บาทในปี 2539

1.2 จำนวนผู้ประกอบการที่ปิดกิจการเพิ่มจำนวนขึ้นมาก การว่างงานรวมเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.5% ของกำลังแรงงานรวม อันเป็นระดับการว่างงานที่สูงที่สุดที่เคยมีมาในช่วง 10 ปี เพิ่มขึ้นจากอัตราการว่างงานเฉลี่ย 4% ในระหว่างปี 2538-2540

1.3 นโยบายด้านเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงจากนโยบายเศรษฐกิจการเงินและการคลังที่เข้มงวด มาสู่มาตรการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การขาดดุลการคลังปรากฏ ตั้งแต่หนังสือแสดงเจตจำนงฉบับที่ 3 ที่รัฐบาลไทยยื่นต่อกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นต้นมา ในขณะที่นโยบายทางการเงินก็ได้ผ่อนคลายความเข้มงวดลงด้วยเป้าหมายการขยายตัวของปริมาณเงินที่ปรับสูงขึ้นและการเข้าแทรกแซงตลาดเงินระยะสั้นโดยธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศลดลง

1.4 การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ดำเนินการในปี 2541 ประกอบด้วย การปรับปรุงโครงสร้างระบบสถาบันการเงินในประเทศ รวมทั้งการปฏิรูประบบกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขระเบียบข้อบังคับเพื่อกำกับสถาบันการเงินในเรื่องสัดส่วนการเพิ่มทุน การ ตั้งสำรองหนี้ การแก้ไขกฎหมาย ประกาศคณะปฏิวัติ ที่ 281 เกี่ยวกับการประกอบอาชีพของคนต่างด้าว รวมทั้งการยกร่างและนำเสนอการปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย และการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวกับการฟ้องดำเนินคดีเพื่อพิทักษ์ทรัพย์ เป็นต้น

1.5 เศรษฐกิจไทยแสดงแนวโน้มการปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพในช่วงครึ่งหลังของปี 2541 อัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงในเดือนสิงหาคม จากที่อยู่ระดับสูงสุดที่ 10.65% ในเดือนมิถุนายน เป็นผลให้อัตราเงินเฟ้อรวมในปี 2541 เท่ากับ 8.12% ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทปรับสูงขึ้นและลดความผันผวนลง จากระดับ 43.8 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2541 มาอยู่ที่ 39.09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในครึ่งหลังของปี

1.6 ปัญหาภาวะตลาดเงินตึงตัวได้ผ่อนคลายลง ด้วย สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2541 อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินระยะสั้น เช่น อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมข้ามคืนระหว่างธนาคารลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่เคยอยู่ที่ระดับสูงกว่า 20% ในช่วงไตรมาสที่ 2 เริ่มปรับลดภายหลังการเข้าแทรกแซงโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นโดยทั่วไปลดลงมาที่ระดับต่ำกว่า
10% ในช่วงปลายปี โดยในเดือนตุลาคม อัตราดอกเบี้ยข้าม คืนระหว่างธนาคารโดยเฉลี่ยเท่ากับ 5.4% ส่งผลให้อัตรา ดอกเบี้ยระยะปานกลางและระยะยาวของสถาบันการเงินปรับ ลดลงทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างไรก็ดีการขยายตัวของสินเชื่อของสถาบันการเงินยังคงลดลงจากปัญหาความไม่แน่นอนของภาวะธุรกิจ ประกอบกับ ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงินที่ยังคงเพิ่ม สูงขึ้นจากความล่าช้าในการปรับโครงสร้างหนี้ของภาคเอกชน

1.7 การคาดการณ์ภาวะทางเศรษฐกิจในปี 2542 มีความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างสถาบันและนักวิชาการต่างๆ ในเรื่องระยะเวลาและความเป็นไปได้ในการฟื้นตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอก โดยล่าสุดธนาคาร แห่งประเทศไทยได้ประมาณอัตราการเจริญเติบโตของ Real GDP เท่ากับ 1.0% สอดคล้องกับที่ได้ระบุไว้ในหนังสือแสดง เจตจำนงฉบับที่ 6 ที่ประเทศไทยทำไว้กับ IMF ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2542

1.8 ในช่วงต้นปี 2542 ปัญหาที่ได้เกิดขึ้นจากการถดถอยทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาและต้องดำเนินการแก้ไขที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นไปได้ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้แก่ ปัญหาระบบสถาบันการเงินซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการบริโภคและการลงทุนจากระดับของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ส่งผลถึงความสามารถในการดำเนินธุรกรรมต่างๆ การปล่อยกู้ลดลง

1.9 ในขณะเดียวกันการส่งออกที่ขยายตัวอย่างรวด เร็วจากผลของการลดค่าเงินบาทในปี 2540 ได้เริ่มส่งเค้าการชะลอตัวในปี 2541 เนื่องจากปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงิน บาทที่แข็งค่าขึ้น ข้อจำกัดจากสภาพคล่องในการลงทุนของผู้ส่งออก ประกอบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ขยายตัวครอบคลุมส่วนต่างๆ ของโลกทำให้ความต้องการนำเข้าของตลาดในต่างประเทศโดยรวมลดลง

1.10 ปัจจัยที่กำหนดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2542 ประกอบด้วย 1) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และเสถียรภาพของค่าเงินบาท รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ 2) ความสำเร็จของการแก้ปัญหาระบบสถาบันการเงิน 3) เสถียรภาพทางการเมืองที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ 4) ประสิทธิภาพในการบริหารนโยบายการเงินการคลังที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด 5) ความสามารถของผู้ผลิตโดยรวมในการเพิ่มยอดขายสินค้าทั้งภายในประเทศและการส่งออกรวมทั้งการแก้ปัญหาสภาพคล่องของกิจการ

1.11 ทริสคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2542 ว่าจะยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับปี 2541 โดยมีอัตราการเจริญเติบโตเท่ากับ 0-0.5% และมีอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3.5-4.0% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าปี 2541 แต่สูงกว่าเป้าหมายที่ภาครัฐประมาณไว้ ส่วนการส่งออกคาดว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่องจากปี 2541 เนื่องจากขาดปัจจัยสนับสนุน ทั้งจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้น ปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น และแนวโน้มความเป็นไปได้ในการลดค่าเงินหยวนของจีน ในขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

2. ภาวะเศรษฐกิจโลก และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย

2.1 ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2541 มีความผันผวนอย่างมาก ต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจในเอเชียที่เริ่มในกลางปี 2540 เป็นต้นมา โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศซึ่งทำให้มีการไหลออกของเงินทุนออกจากประเทศกำลังพัฒนา ประกอบกับการเก็งกำไรโดยกลุ่มทุน (hedge fund) ทำให้เกิดปัญหาการขาดเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน และการแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศโดยองค์กรกำกับนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ทำให้มีการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก ในขณะที่ปัญหาทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสังคมและการเมือง

2.2 วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย รัสเซีย และบราซิล แสดงถึงการแพร่กระจายของปัญหาจากภูมิภาคเอเชีย ไปยังยุโรปตะวันออก และละตินอเมริกา ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ (นอกจากญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมากว่า 5 ปี) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และสหพันธรัฐเยอรมัน ก็เริ่มส่งสัญญาณการ ชะลอตัวของการผลิตในประเทศลงจากผลกระทบของการที่ประเทศคู่ค้า และแหล่งลงทุนของตนในประเทศกำลังพัฒนา เกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้น

2.3 ปัญหาในระบบสถาบันการเงินเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียทำได้ยาก จากการประมาณการของกองทุนการ เงินระหว่างประเทศ (IMF) ต้นทุนการปรับโครงสร้างสถาบันการเงินของประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยรวมค่าใช้จ่ายในงบประมาณและนอกงบประมาณ (ทั้งนี้ยังไม่หักรายได้จากการขาย สินทรัพย์ที่มีปัญหาในภายหลัง) อยู่ในระหว่าง 40-60 พันล้าน เหรียญดอลลาร์สหรัฐ สำหรับประเทศอินโดนีเซีย เกาหลี และประเทศไทย

2.4 ล่าสุด IMF ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกและประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เพื่อสะท้อนถึงการชะลอตัวทางด้านเศรษฐกิจโลกในปี 2541 และ 2542 ดังปรากฏในตารางที่ 1

2.5 นอกจากความรุนแรงของปัญหาเศรษฐกิจดังที่ปรากฏในประมาณการของ IMF ข้างต้นแล้ว การปรับลดประมาณการดังกล่าวในเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูงแสดงถึงการที่ IMF ไม่ได้คาดว่าผลของวิกฤติเศรษฐกิจจะมีความรุนแรงดังที่เป็นอยู่มาก่อน ซึ่งในประเด็นนี้สะท้อนอยู่ในมาตรการกู้ภาวะวิกฤติที่ IMF ได้แนะนำแก่ประเทศที่เข้าโครงการความ ช่วยเหลือต่างๆ ตั้งแต่ปี 2540 และเป็นสิ่งที่ IMF ถูกโจมตีโดยนักวิชาการและสถาบันต่างๆ ว่าดำเนินนโยบายผิดพลาดและเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการถดถอยทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

2.6 การชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก กระทบต่อปริมาณการค้าระหว่างประเทศ ซึ่ง IMF ได้คาดการณ์ว่าปริมาณการค้าสินค้าและบริการของโลกในปี 2541 จะเพิ่มขึ้นเพียง 3.3% จากที่เคยขยายตัวถึง 9.9% ในปี 2540 กดดัน ให้ราคาสินค้าในตลาดโลกไม่รวมผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลงในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ถึง 13.9% ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออกโดยทั่วไป รวมทั้งการส่งออกของประเทศไทยซึ่งเริ่มมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปในภายหลัง

2.7 ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2540 และในปี 2541 ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันยังคงลดลง โดยราคาได้ลดสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปีในวันที่ 7 ธันวาคม 2541 เมื่อน้ำมันดิบ UK.Brent ที่ตลาด ซื้อขายล่วงหน้าเท่ากับ 9.90 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยมีสาเหตุสำคัญจากปัญหาความขัดแย้งของกลุ่ม OPEC ที่ไม่สามารถ บรรลุข้อตกลงในการจัดสรรการผลิตน้ำมันได้ ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยประจำปี 2541 คาดว่าจะลดลงอีกประมาณ 31.1% จากปีก่อนหน้านี้

2.8 การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับการโจมตีค่าเงินโดยกลุ่มทุนนักเก็งกำไร (hedge fund) กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน เช่น รัสเซีย และประเทศ ในละตินอเมริกัน ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศเหล่านี้ขาดเสถียรภาพ ในขณะที่การแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศโดยองค์กรกำกับนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ก่อให้เกิดการสูญเสียเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ขาดเสถียรภาพ เป็นสาเหตุที่สำคัญของปัญหาเศรษฐกิจในรัสเซียซึ่งนำไปสู่ประกาศหยุดพักการชำระหนี้ในเดือนสิงหาคม 2541 และการขอเข้ารับความช่วยเหลือทางการเงินรอบใหม่จาก IMF ในวงเงิน 20.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

2.9 ผลกระทบของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกกระทบในแง่ลบต่อความสามารถในการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจของไทยเนื่องจากนักลงทุนยังลังเลในการนำเงินทุนเข้ามาลงทุนในประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทำให้การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจทำได้ลำบากจากการขาดแคลนเงินทุนภายนอก การออกพันธบัตรของรัฐบาลไทยในตลาดโลกซึ่งได้วางแผนไว้ในเดือนเมษายน 2541 จำเป็นต้องเลื่อนกำหนดออกไป เนื่องจากสถานการณ์ตลาดโลกไม่เอื้ออำนวย

2.10 จากปัญหาเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่าจะบานปลายและส่งผลกระทบในแนวกว้างต่อประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคอื่นๆ ทำให้เกิดการพยายามพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเอเชีย เช่น การเสนอกองทุนภายใต้แผน Miyasawa ของ ญี่ปุ่น การปฏิรูปโครงสร้างของ IMF ตลอดถึงการผลักดันให้มีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยประเทศอุตสาหกรรม ต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 29 กันยายน และ 15 ตุลาคม 2541 ตามด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยของประเทศใน Euroland เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2541

3. ภาพรวมเศรษฐกิจไทยประจำปี 2541

3.1 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตามที่ปรากฏในหนังสือแสดงเจตจำนงที่ประเทศไทยเสนอต่อ IMF

3.1.1 ดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญในหนังสือแสดงเจตจำนงที่ประเทศไทยทำกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นการปรับลดการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึงฉบับปัจจุบันซึ่งเป็นฉบับที่ 6 ที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อธันวาคม 2541

3.1.2 ภาวะเศรษฐกิจไทยแสดงแนวโน้มเข้าสู่การถดถอยเกินกว่าที่รัฐบาลและ IMF ได้คาดการณ์ไว้ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงวัดจากอัตราการเปลี่ยน แปลงของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (Real Gross Do-mestic Product - Real GDP) ประจำปี 2541 ถูกปรับลด อย่างต่อเนื่องจากระดับที่ประมาณการไว้เท่ากับ -3.0% ถึง -3.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ระดับ -7.0% ถึง -8.0% ในเดือนธันวาคม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และดุลบัญชีเดินสะพัดมีฐานะเกินดุลมากขึ้น

3.1.3 การลดลงของรายได้ประชาชาติทำให้ Real GDP ณ สิ้นปี 2541 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.87 ล้านล้านบาท โดย ประชาชนแต่ละคนมีรายได้ที่แท้จริง (real income per capital) เท่ากับประมาณ 46,600 บาทต่อปี หรือเดือนละ 3,900 บาท ซึ่งเป็นระดับ real income per capital เมื่อ 4 ปีที่แล้ว คือในปี 2538

3.1.4 การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจสะท้อนในหนังสือแสดงเจตจำนง ที่ได้มีการปรับเป้าหมายฐานะงบประมาณภาครัฐจากเกินดุลมาเป็นขาดดุล แสดงความพยายามในการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มการใช้จ่ายในขณะที่รายได้จากภาษีอากรยังคงลดลงต่อเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ในขณะที่นโยบายด้านการเงินได้ให้ความสำคัญกับการควบคุมปริมาณ เงินมากขึ้นพร้อมไปกับการกำกับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

3.2 สถานการณ์การผลิต การลงทุน

3.2.1 สภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจกระทบต่อความต้องการในการลงทุนของภาคเอกชนอย่างรุนแรงจากระดับรายได้ที่ลดลงโดยทั่วไป ประกอบกับปัญหาของระบบสถาบันการเงินทำให้การปล่อยสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ส่งผลต่อผู้ประกอบการในการหาเม็ดเงินใหม่เพื่อการบริหารและการลงทุน

3.2.2 การลงทุนของภาคเอกชนลดลงต่อเนื่องจากปี 2540 เห็นได้จากดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (private investment index) และดัชนีการผลิตอุตสาหกรรม (manufacturing production index) ดังปรากฏในแผนภาพที่ 1 ซึ่งแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงเฉลี่ย 12 เดือนย้อนหลัง (เพื่อขจัดผลกระทบทางฤดูกาลออก) ปรากฏว่าดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมและดัชนีการลงทุนภาคเอกชนมีการหดตัวในอัตราที่รุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2541 ก่อนที่อัตราลดเริ่มทรงตัวในช่วงปลายปี

3.2.3 อุตสาหกรรมที่มีการหดตัวที่สำคัญในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2541 ได้แก่ อุตสาห-กรรมรถยนต์และอุปกรณ์การก่อสร้าง โดยได้รับผลกระทบจากความต้องการในประเทศที่ลดลง ในขณะที่อุตสาหกรรม ยาสูบก็มีการผลิตที่ลดลงมากเช่นกัน เนื่องจากผู้ผลิตลดการผลิตตามปริมาณการบริโภคที่ลดลง โดยมีสาเหตุสำคัญจากผู้สูบบุหรี่ในส่วนภูมิภาคได้หันไปสูบบุหรี่ประเภทอื่นที่ราคาถูกลง รวมทั้งบุหรี่ใบยามวนเอง เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย

3.2.4 การหดตัวของความต้องการรถยนต์ส่งผลให้มีการลดขนาดการผลิตและประกอบรถยนต์ในประเทศรวมทั้งลดปริมาณนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศจำนวนมาก การลดปริมาณการผลิตมีทั้งในรูปการปิดโรงงานรถยนต์ การลดจำนวนคนงานในโรงงาน หรือลดเวลาการทำงานลง ยอดขายรถยนต์ในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2541 เท่ากับ 112,808 คัน ลดลงจาก 335,203 คัน ในปี 2540

3.3 การจ้างงาน และการบริโภคภาคเอกชน แสดงภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย

3.3.1 การปิดกิจการมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยในปี 2541 มีจำนวนสถานประกอบการที่ปิดกิจการแล้วรวมทั้งสิ้น 12,201 แห่ง เพิ่มขึ้นถึง 22.9% จากปี 2540 เท่ากับเงินทุนจดทะเบียนรวม 31,935 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการปิดกิจการเดือนละ 1,016 แห่ง ซึ่งเดือนที่มีการปิดกิจการมากที่สุด ได้แก่ เดือนสิงหาคม ซึ่งมีการปิดกิจการถึง 1,660 แห่งในเดือนเดียว

3.3.2. อัตราการว่างงานโดยรวมทั้งประเทศสูงขึ้นจาก ระดับโดยเฉลี่ยที่ 1.5%-2.0% ของจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงานทั้งสิ้นในช่วงปี 2538-2540 เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4.4% ในปี 2541 หรือประมาณ 1.5 ล้านคน ตามการคาดการณ์ของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ทั้งนี้ยังไม่รวมผู้ว่างงานตามฤดูกาลซึ่งมีจำนวนโดยเฉลี่ยปีละ 2.0%-2.5% ของจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงาน ซึ่งหากรวมการว่างงานตามฤดูกาลดังกล่าวจะทำให้อัตราการว่างงานในปี 2541 เท่ากับ 6.5% (เท่ากับ 2.1 ล้านคน) สูงที่สุดในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา (2531-2540) ซึ่งมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยเท่ากับ 3.7% ของกำลังแรงงาน

3.3.3 ปัญหาการว่างงานที่เพิ่มความรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อระดับรายได้และความสามารถในการใช้จ่าย ในขณะที่การให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคยังคงจำกัด ด้วยปัญหาในระบบ สถาบันการเงินดังที่จะได้กล่าวถึงต่อไป ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่อยู่ในระดับสูงตลอด 6 เดือนแรกของปี 2541 และผลทางด้านจิตวิทยาจากความไม่แน่นอนของสภาพเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ความต้องการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศโดยรวมลดลงอย่างมากในช่วง ครึ่งแรกของปี 2541

3.3.4 อย่างไรก็ดี อัตราการหดตัวของดัชนีที่สะท้อน การบริโภคเอกชนหลายตัวเริ่มชะลอความรุนแรงลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2541 จากปัจจัยด้านบวกบางประการ ได้แก่ การลดลงของอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพมากขึ้น และมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นการใช้จ่าย ประกอบกับช่วงเทศกาลประจำฤดูกาลที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ในช่วงวันที่ 6-20 ธันวาคม 2541 ซึ่งทำให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวและช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ทั้งนี้การบริโภคที่เพิ่มขึ้นน่าจะเห็นผลได้ชัดเจนในไตรมาสที่ 4 และทำให้คาดว่าการบริโภคโดยรวมในปี 2541 อาจปรับตัวลดลงไม่มากนักเมื่อเทียบกับปี 2540

3.3.5 การบริโภคในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) ของปี 2541 ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2540 ระดับการใช้จ่ายของห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2541 ลดลง 5.2% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2540/2541 มีมูลค่าเพียง 232.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่แล้ว 18.73% (ลดลงจากที่เคยมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 29.4% ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2539/2540)

3.3.6 รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นตัวแปรที่สำคัญที่กระทบต่อระดับการบริโภคในประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2541 เท่ากับ 6.24 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2540 เท่ากับ 7.34% ทั้งนี้รายได้จากการท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิ-กายนและธันวาคม 2541 คาดว่าเพิ่มขึ้นมากจากการเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ในเดือนธันวาคม องค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประมาณว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยรวมในปี 2541 จะเท่ากับ 7.72 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 7-8% และก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศจำนวน 272 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2540 เท่ากับ 23.4% นอกจากนี้ ยังได้ประมาณการว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยรวม ในปี 2542 จะเท่ากับ 8.28 ล้านคน และก่อให้เกิดรายได้เข้า ประเทศจำนวน 310 พันล้านบาท

3.4 งบประมาณของรัฐบาล แสดงสถานะทางการเงินภาครัฐที่อ่อนแอลงและภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น

3.4.1 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2540/2541 ซึ่งสิ้นสุดเมื่อ เดือนกันยายน 2541 รัฐบาลได้ใช้จ่ายไปเป็นเงินทั้งสิ้น 835.3 พันล้านบาท ลดลง 6.0% จากปีงบประมาณก่อนหน้านี้แต่ต่ำกว่างบประมาณการใช้จ่ายที่ตั้งไว้ 850 พันล้านบาท (ซึ่งรวมการปรับเพิ่มงบประมาณขาดดุลในภายหลังอีก 1% ของ GDP หรือเทียบเท่ากับประมาณ 50.0 พันล้านบาท ในเดือนมิถุนายน 2541 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอัตราแลกเปลี่ยน)

3.4.2 เศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้รายได้จากภาษีที่เก็บจาก สถานประกอบการ และจากการบริโภคยังคงลดลง รายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2540/2541 เท่ากับ 727.4 พันล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2539/2540 เท่ากับ 14% โดยส่วนใหญ่เป็นการลดลงของรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิต (โดยเฉพาะที่เก็บจากรถยนต์) และภาษีศุลกากรที่เก็บจากการนำเข้า

3.4.3 การขาดดุลในงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2540/2541 เท่ากับ 107.9 พันล้านบาท ดุลเงินสด ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2540/2541 เท่ากับ -115.0 การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.2% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2540/2541 จากที่เคยมีฐานะเกินดุล 9 ปีติดต่อกันระหว่างปี 2531-2539

3.4.4 จากการหดตัวของการผลิตและการบริโภคในประเทศ รัฐบาลได้ปรับนโยบายด้านเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นนโยบายกระตุ้นการเจริญเติบโตเป็นสำคัญ นโยบายการคลังได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศในขณะที่การลงทุนโดยภาคเอกชนไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มที่ภายใต้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และปัญหาของระบบสถาบันการเงิน

3.4.5 งบประมาณรายจ่ายส่วนหนึ่งยังถูกจัดสรรไปเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้จากการออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อนำมาชดใช้ความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund-FIDF)

3.4.6 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2541/2542 กำหนดอยู่ที่ระดับ 825 พันล้านบาท ลดลง 10.3 พันล้านบาท หรือ 1.2% จากรายจ่ายที่จ่ายจริงในปีงบประมาณ พ.ศ. 2540/2541 ในขณะที่รายได้ภาครัฐโดยรวมคาดว่าจะเท่ากับ 800 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 72.6 พันล้านบาทจากที่เก็บได้จริงในปีงบประมาณก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณเท่ากับ 25.0 พันล้านบาท

3.4.7 เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งเพื่อรับภาระหนี้ของ FIDF รัฐบาลได้กู้ยืมเงินทั้งจากในประ-เทศและต่างประเทศ ที่สำคัญได้แก่ การออกพันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นการกู้โดยตรงจากสาธารณะในประเทศ และการ กู้ยืมจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น Asian Development Bank (ADB) และ World Bank เพื่อโครงการทางสังคม เป็นต้น ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการกู้ยืมเงินจาก IMF และประเทศ อื่นๆ เพื่อเป็นเงินสำรองทางการระหว่างประเทศตามโครงการความช่วยเหลือจาก IMF

3.4.8 ภาระหนี้คงค้างที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2531 เป็นต้นมา ได้ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2540/2541 รัฐบาลไทยมีภาระหนี้คงค้างเท่ากับ 1,212.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.8% จากปีงบประมาณก่อน หน้านี้ ที่สำคัญเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะในประเทศ 60.5% จากปีงบประมาณที่แล้ว ในขณะที่หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคือเพิ่มขึ้นเท่ากับ 19.86%

3.4.9 ภาระหนี้คงค้างของภาครัฐเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเช่นกันเมื่อเปรียบเทียบกับ GDP โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2540/2541 หนี้สาธารณะคิดเป็น 24.9% ของ GDP สูงที่สุดในช่วง 9 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่ประเทศไทยได้ชำระหนี้เงินกู้งวดสุดท้ายแก่ IMF หมดในปี 2533

3.4.10 ทั้งนี้ ภาระหนี้คงค้างที่กล่าวถึงข้างต้นยังไม่ได้รวมหนี้เงินกู้ยืมตามโครงการเงินช่วยเหลือจาก IMF ที่ได้รัฐบาลไทยทำสัญญาไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2540 ในวงเงิน 17.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยได้เบิกจ่ายมาแล้วรวมทั้งสิ้น 9 งวด เป็นเงินรวม 12.42 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ สิ้นปี 2541


3.5 อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน แสดงการปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพในครึ่งหลังของปี 2541

3.5.1 ภาวะเงินเฟ้อวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วประเทศ (Consumer price index of the whole kingdom-CPI) เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2541 ภายหลังจากที่อัตราเพิ่มสูงสุด ณ กลางปี 2541 ที่ระดับ 10.65% โดยมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยทั้งในช่วง 6 เดือน แรก เท่ากับ 9.66% ก่อนที่จะปรับลดลงเหลือ 6.58% โดยเฉลี่ยในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม 2541 ทำให้อัตราเงิน เฟ้อโดยเฉลี่ยของปี 2541 เท่ากับ 8.12%

3.5.2 การเพิ่มขึ้นถึง 11.8% ของดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มในช่วงครึ่งแรกของปี 2541 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์แป้งมีอัตราเพิ่มขึ้นของราคาสูงสุดในช่วงเดือนมกรา-คมถึงมิถุนายน 2541 จากผลของการลดค่าเงินบาท ประกอบ กับความต้องการในต่างประเทศอยู่ในระดับสูงจากภาวะแล้งในประเทศอินโดนีเซีย และละตินอเมริกา ทำให้ราคาส่งออกสูงขึ้นผลักดันราคาในประเทศให้เพิ่มขึ้น

3.5.3 ในขณะเดียวกันระดับราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร เช่น หมวดอุตสาหกรรม มีราคาเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แม้ว่าผู้ผลิตบางแห่งต้องประสบกับต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศที่สูงขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการลดลงของต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง การแข่งขันตัดราคาเพื่อส่งเสริมการขายในขณะที่ความต้องการในประเทศโดยรวมลดลง

3.5.4 อัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยของดัชนีสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารในช่วงครึ่งแรกของปี 2541 เท่ากับ 8.4% โดยที่สำคัญเป็นการเพิ่มขึ้นของราคายาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จากผลการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตในช่วงปลายปี 2540

3.5.5 ในช่วงครึ่งหลังปี 2541 ระดับราคาสินค้าทั้งหมวดอาหาร และที่ไม่ใช่อาหารชะลอตัวลง โดยมีอัตราเพิ่ม ขึ้นของดัชนีราคาระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม เท่ากับ 7.49% และ 6.24% ตามลำดับ

3.5.6 เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราเพิ่มของดัชนีราคาขายส่งมีการปรับตัวสอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วงเวลาเดียวกัน จากระดับที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2541 ถึง 19.2% และลดลงอย่างรวดเร็วใน 6 เดือนหลังมาอยู่ที่ระดับ 8.9% ทำให้ดัชนีราคาขายส่งรวมของปี 2541 เท่ากับ 14.04% เพิ่มขึ้นจากปี 2540 โดยสินค้าหมวดที่มีการปรับราคาเคลื่อนไหวขึ้นลงอย่างมาก ได้แก่ สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากราคานำเข้าสินค้าและวัตถุดิบที่ลดลงจากการแข็งขึ้นของเงินบาท ประกอบกับช่วงพืชผลออกสู่ตลาด ในขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา

3.5.7. อัตราดอกเบี้ยในประเทศผันผวนรุนแรงต่อเนื่องจากปี 2540 จากปัญหาระบบสถาบันการเงินที่ยังไม่มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะในครึ่งปีแรกของปีที่อัตราดอกเบี้ยข้ามคืนระหว่างธนาคารได้ปรับสูงขึ้นในช่วงมกราคมถึงมิถุนายน 2541 ที่ระดับโดยเฉลี่ย 20% แสดงถึงการขาดสภาพคล่องของระบบสถาบันการเงิน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ปรับสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยของธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มุ่งหวังดึงดูดเงินฝากจากการให้ดอกเบี้ยระดับสูง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารขนาดใหญ่มีการปรับสูงขึ้นไม่มากนัก

3.5.8 ในช่วงครึ่งหลังปี 2541 อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับลดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นภายหลังการลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2541 ตามมาด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอย่างรวดเร็ว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลงไม่มากนัก ระดับของความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ย (interest spread) คาดว่าได้สูงขึ้นถึงระดับ 7%-8% โดยเฉลี่ย โดยการประมาณจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น

3.5.9 อย่างไรก็ดี สถาบันการเงินต่างๆ ได้ทยอยประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของตนลง ในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2541 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยข้ามคืนลดลงมาอยู่ที่ 5.4% โดยเฉลี่ยในเดือนตุลาคม และคาดว่าในปี 2542 ธนาคารอีกหลายแห่งจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศในเดือนธันวาคม 2541 ว่ามีเป้าหมายการกำกับธนาคารพาณิชย์ในปี 2542 ให้มี interest spread ไม่เกิน 5%

3.5.10 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแสดงทิศทางปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพมากขึ้น โดยลดความผันผวนในครึ่งหลังของปี 2541 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเปรียบเทียบกับดอลลาร์ สหรัฐโดยเฉลี่ยทั้งปี 2541 เท่ากับ 41.35 บาท อ่อนลง 31.8% จากค่าเงินบาทเปรียบเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2540 โดยเงินบาทมีระดับอ่อนที่สุดในวันที่ 12 มกราคม 2541 เท่ากับ 56.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และแข็งที่สุดในวันที่ 14 ธันวาคม 2541 เท่ากับ 35.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

3.5.11 อัตราแลกเปลี่ยนโดยเปรียบเทียบของเงินบาท กับสกุลหลักถ่วงน้ำหนักด้วยอัตราเงินเฟ้อและสัดส่วนมูลค่าการค้า (relative effective exchange rate-REER) แสดง ค่าเงินบาทที่มีค่าแข็งขึ้นถึง 30% จากระดับต้นปี จนถึงเดือน เมษายนที่เงินบาทมีค่าแข็งที่สุด ก่อนที่จะปรับตัวอ่อนลงเล็กน้อยในเดือนหลังๆ เงินบาทที่มีค่าแข็งขึ้นส่งผลกระทบในด้านลบต่อการส่งออกของไทย ดังที่จะได้กล่าวถึงต่อไป


3.6 การค้าระหว่างประเทศชะลอตัวลงจากปัญหาในประเทศ และต่างประเทศ ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่าที่คาดไว้

3.6.1 การค้าระหว่างประเทศ วัดจากมูลค่าส่งออกและนำเข้าชะลอตัวลง โดยเฉพาะในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าและส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2541 โดยมียอดการส่งออกรวม 11 เดือน เท่ากับ 48,338 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.9% จากช่วงเดียวกันปี 2540 ในขณะ ที่มูลค่าการนำเข้าในช่วงเวลาเดียวกันเท่ากับ 37,340 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงถึง 25.5%

3.6.2 เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกในครึ่งหลังของปี 2541 ทั้งในรูปดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาทมีมูลค่าลดลง ทั้งนี้สาเหตุส่วนหนึ่ง ได้แก่ การแข็งค่าขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ซึ่งมีผลให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยราคาแพงขึ้น ประกอบกับความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดลงจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เริ่มลุกลามไปยังส่วนอื่นของโลก

3.6.3 การส่งออกที่มีมูลค่าลดลงในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ การส่งออกสินค้าภาคการเกษตรซึ่ง มีมูลค่าส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2541 ลดลงถึง 15.5% เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2540 รองลงมา ได้แก่ การส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาห-กรรมที่ใช้แรงงาน ซึ่งมีมูลค่าลดลง 13.0% และ 12.1% ตามลำดับ

3.6.4 ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยยังคงอยู่ในกลุ่มของประเทศในยุโรปและอเมริกา อย่างไรก็ดี การส่งออกไปสหรัฐอเมริกาเพิ่มความสำคัญยิ่งขึ้นจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในเอเชียไม่มากนัก โดยมีสัดส่วนตลาดสูงขึ้นจาก 19.6% ในปี 2540 มาเป็น 22.4% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2541 ในขณะที่ตลาดอาเซียนได้ลดความสำคัญลงอย่างชัดเจน ด้วยสัดส่วนการส่งออกไปอาเซียน ลดลงจากที่เคยอยู่ระดับ 21% โดยเฉลี่ยในปี 2538-2540 มาอยู่ที่ 17.7% ในปี 2541

3.6.5 สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 อันดับแรกที่ไทยส่งออกในเดือนมกราคมถึงตุลาคม 2541 ประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ข้าว อาหารทะเลกระป๋อง ยานพาหนะและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา และกุ้งสดแช่แข็ง

3.6.6 การนำเข้าของไทยลดลงต่อเนื่องจากปี 2540 ทั้งในรูปเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ เช่นกัน แสดงถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการปิดกิจการของผู้ประกอบการในปี 2541 สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าลดลงมาก ได้แก่ น้ำมันและผลิตภัณฑ์ โดยมีมูลค่านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2541 ลดลงถึง 43.8% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว รองลงมา ได้แก่ เครื่องจักร และวัตถุดิบนำเข้า ซึ่งมีมูลค่านำเข้าลดลง 33.5% และ 33.4% ตามลำดับ

3.6.7 ดุลการค้าของไทยมีฐานะเกินดุลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540 จนถึงปัจจุบัน เพิ่มฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงิน โดยใน 10 เดือนแรกของปี 2541 มียอด ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลรวมเท่ากับ 496.3 พันล้านบาท (11.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากที่เคยมียอดขาดดุล 10.4 พันล้านบาท (3.1 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2540

3.6.8 ดุลการชำระเงินถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2541 มียอดเกินดุลรวม 44.4 พันล้านบาท (1.5 พันล้านเหรียญ ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากที่เคยขาดดุล 299.2 พันล้านบาท (10.6 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2540

3.6.9 อย่างไรก็ดี การลดลงของการนำเข้าสินค้า โดย เฉพาะสินค้าประเภทเครื่องจักรและวัตถุดิบนอกจากแสดงถึงการลดขนาดการผลิตหรือปิดกิจการของผู้ประกอบการในประเทศแล้ว ยังชี้ถึงแนวโน้มการผลิตในอนาคตว่าจะยังคงลดลงต่อไป รวมทั้งสะท้อนถึงทิศทางการส่งออกในอนาคตอันใกล้ซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวเช่นกัน ซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดในเรื่องทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2542 ต่อไป


3.7 ปัญหาระบบสถาบันการเงินซ้ำเติมภาวะถดถอย และขัดขวางฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

3.7.1 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำส่งผลที่รุนแรงและต่อเนื่องต่อธุรกิจการเงินของประเทศ สถาบันการเงินประสบปัญหาขาดทุนติดต่อกันตั้งแต่ไตรมาสที่หนึ่งของปี 2541 โดย มีขาดทุนสุทธิเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่สามของปี 2541 เท่ากับ 115 พันล้านบาท ซึ่งเป็นขาดทุนสุทธิ 96 พันล้านบาทของธนาคาร พาณิชย์ และ 18 พันล้านบาทของบริษัทเงินทุน

3.7.2 สาเหตุการขาดทุนที่สำคัญคือต้นทุนเงินฝากที่สูงขึ้นจากปัญหาขาดสภาพคล่องในระบบการเงินภายหลังการลดค่าเงินบาท และต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเร่งตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมากเพื่อให้เข้าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ทั้งนี้คาดว่าสถาบันการเงินไทยจะยังคงขาดทุนต่อเนื่องแต่จะอยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าสามไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่ต่ำลง และภาวะเศรษฐกิจ ที่เริ่มทรงตัวทำให้คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น

3.7.3 ปัญหาสำคัญที่สถาบันการเงินประสบอยู่ ได้แก่ คุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลง ซึ่งเป็นผลจากปัญหาเศรษฐ-กิจที่กระทบต่อการประกอบการและการขาดสภาพคล่องของธุรกิจซึ่งเป็นลูกค้าของสถาบันการเงิน ทำให้ลูกหนี้สถาบันการเงินหยุดผ่อนชำระหนี้ และได้ส่งผลให้สถาบันการเงินมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loan : NPL) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการกันสำรองหนี้ที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย จนเป็นผลให้สถาบันการเงินต้องเร่งเพิ่มเงินกองทุน และชะลอหรือหยุดการปล่อยสินเชื่อใหม่

3.7.4 ระดับ NPL ในระบบสถาบันการเงินของไทย ณ เดือนตุลาคม เท่ากับ 2.55 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 42.3% ของสินเชื่อรวม โดยเป็น NPL ของบริษัทเงินทุน 3 แสนล้านบาท และของธนาคารพาณิชย์ (ทั้งที่ยังไม่ถูกแทรกแซง และที่เป็นของรัฐ และสาขาธนาคารต่างประเทศ) 2.25 ล้านล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากระดับ 20.1% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2540 และ 29.9% ณ กลางปี 2541 จากการประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุดระบุ NPL ของระบบธนาคารไทยจะเพิ่มเป็น 45% ของสินเชื่อรวม ในไตรมาสแรกของปี 2542

3.7.5 สินเชื่อที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินลดลงอย่างรวดเร็วจากการหยุดกิจการของบริษัทเงินทุนและธนาคารพาณิชย์ที่ถูกรัฐบาลเข้าแทรกแซง โดยสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2541 เท่ากับ 6.7 ล้านล้านบาท ลดลง 4.38% จากปี 2540

3.7.6 สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ลดลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเมื่อสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2541 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อนลดลง 4.31% จากเดิมที่เคยขยายตัวถึง 20% ต่อปีในช่วงปี 2534-2538 สะท้อนถึงการเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และเป็นที่มาของปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจต่างๆ ในปี 2541

3.7.7 การแก้ปัญหาสถาบันการเงินของรัฐบาลไทยที่ผ่านมา มุ่งที่การปรับโครงสร้างสถาบันการเงินให้มีความแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นมาตรการที่จะเห็นผลในระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาตรการที่ดำเนินการไปแล้วประกอบด้วยการปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับรู้รายได้ การกันสำรองสำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เป็น ต้น นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2541 รัฐบาลได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือทางด้านกองทุนแก่สถาบันการเงินที่ไม่สามารถเพิ่มทุนได้เอง และส่งเสริมให้เกิดการปรับ ปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อลดจำนวนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยการออกมาตรการต่างๆ เช่น การผ่อนผันให้ใช้อัตราดอก เบี้ยตลาดเป็นอัตราส่วนลดในการคำนวณมูลค่าปัจจุบันของหนี้ การปรับเพดานการลงทุนในบริษัทเอกชนของธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุน เป็นต้น

3.7.8 การแก้ปัญหา NPL ที่รัฐบาลพยายามผลักดันยังมีผลสำเร็จไม่มากนักได้แก่ การสนับสนุนการปรับโครง สร้างหนี้ จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ณ สิ้น เดือนตุลาคม 2541 สถาบันการเงินได้ดำเนินการปรับปรุงโครง สร้างหนี้สำเร็จไปเพียง 660 ราย คิดเป็นจำนวนหนี้ทั้งสิ้น 36,557 ล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ทั้งระบบที่มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 2.25 ล้านล้านบาทในขณะนั้น ทั้งนี้ยังมีหนี้ที่กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาอีกจำนวน 2,390 ราย คิดเป็นมูลค่า 569,484 ล้านบาท

4. ทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2542

4.1 การคาดการณ์เศรษฐกิจโดยสถาบันต่างๆ

4.1.1 เศรษฐกิจของปี 2542 ได้มีการประมาณการไว้โดยหลายสถาบัน โดยรวมมีความไม่แตกต่างกันมากนัก คือ มีอัตราการเจริญเติบโต -1 ถึง +1% นอกจากธนาคารไทย พาณิชย์ที่ได้พยากรณ์อัตราการเจริญเติบโตไว้ที่ระดับ 5.2% ดังนี้

4.1.2 การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความเป็นไปของเศรษฐกิจของโลก ซึ่ง IMF ได้คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2542 จะมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น 2.2% เช่นเดียวกับอัตราการเจริญเติบโตในปี 2541 และจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.5% ในปี 2543 อย่างไรก็ดี ปริมาณ การค้าโลกในปี 2542 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นโดยมีการขยายตัว 4.4% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นจากอัตราขยายตัว 3.3% ในปี 2541

4.1.3 การผลิตและการจ้างงานในประเทศคาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2541 จากปัญหาของระบบสถาบันการเงินที่ยังอยู่ในระหว่างการปฏิรูปซึ่งจะเป็นข้อจำกัดสำคัญที่กระทบต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจ โดยมีการคาดการณ์จากกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมว่าในปี 2542 จะมียอดคนว่างงานรวมประมาณ 2 ล้านคน

4.1.4 การผลิตภาคเกษตรในปี 2542 คาดว่าจะมีปริมาณลดลงจากปี 2541 จากผลกระทบของภาวะความแห้ง แล้งที่ยาวนานในช่วงหลังของปี 2541 ทำให้ผลผลิตพืชผลลดลงและจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อระดับการจ้างงานภาคเกษตร ราคาสินค้าเกษตรและอัตราเงินเฟ้อในประเทศ

4.1.5 อย่างไรก็ดี การลงทุนจากต่างประเทศได้เริ่มแสดงทิศทางที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังของปี 2541 รวมทั้งการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มปริมาณขึ้น ซึ่งคาดว่าการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2542 จะดีขึ้น แต่ก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ

4.1.6 ในขณะเดียวกัน การส่งออกในปี 2542 ซึ่งมีการชะลอตัวในช่วงปลายปี 2541 จะยังคงลดลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2542 เนื่องมาจากผลกระทบของปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลงในขณะที่สภาพคล่อง ทางการเงินของผู้ส่งออกยังคงถูกจำกัดจากการชะลอตัวของการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ประกอบกับการยก เลิกสิทธิพิเศษศุลกากรทั่วไป (Generalized System of Preferences - GSP) ของสหภาพยุโรป จะทำให้สินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศในสหภาพยุโรปได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตร ประมง และอาหารปรุงแต่ง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 9 เดือน แรกปี 2541 เท่ากับ 794 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2% ของมูลค่าส่งออกรวม) จะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

4.1.7 การนำเข้าจะขึ้นอยู่กับระดับการเข้ามาลงทุนจาก ต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยดังที่กล่าวมาแล้ว ประกอบกับเป้าหมายการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐตามที่ระบุในหนังสือแสดงเจตจำนงฉบับที่ 6 เท่ากับ 5% ของ GDP หรือประมาณ 250,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า จากยอดขาดดุลในปีงบประมาณ พ.ศ.2540/2541 ซึ่งเท่ากับ 2.2% ของ GDP

4.1.8 อัตราเงินเฟ้อที่ประมาณการโดย IMF และธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2542 อยู่ที่ 2.5% น่าจะเป็นระดับที่ต่ำเกินไปเมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2541 เท่ากับ 8.12% โดยมีอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม เท่า
กับ 4.32% เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งที่เป็นมาตั้งแต่กลางปี 2541 และผลผลิตการเกษตรที่ลดลงจะทำให้ราคาสินค้าประเภทอาหารสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว นอกจากนี้ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง และสงครามระหว่างอิรักกับสหรัฐฯ จะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตในประเทศ

4.1.9 การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ตามที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับปี 2542 อยู่ที่ระดับโดยเฉลี่ย 4%-7% เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ อย่างไรก็ดีเป้าหมายดังกล่าวจะบรรลุผลหรือไม่ขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหา NPL

4.1.10 นโยบายด้านเศรษฐกิจการเงินการคลังในปี 2542 มุ่งเน้นการกระตุ้นการผลิตและการลงทุนโดยใช้นโยบายการคลังที่ผ่อนปรนด้วยการขยายการใช้จ่ายและการขาดดุลภาครัฐ ส่วนนโยบายการเงินก็เริ่มมีการผ่อนปรนลงและสนับสนุนให้ดอกเบี้ยในประเทศลดลง โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 2542 อยู่ที่ 3%

4.1.11 เงินบาทมีแนวโน้มปรับค่าแข็งขึ้นเล็กน้อยจากการอ่อนตัวของดอลลาร์สหรัฐ จากการเริ่มใช้เงิน Euro ในวันที่ 1 มกราคม 2542 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะอ่อนตัวลง ทั้งนี้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ประกอบการจัดทำหนังสือแสดงเจตจำนงฉบับที่ 6 เท่ากับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

4.2 ประมาณการโดยทริส

4.2.1 ทริสประมาณการว่าอัตราการเจริญเติบโตของประเทศประจำปี 2542 อยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับปี 2541 โดยมีอัตราเพิ่มของ Real GDP เท่ากับ 0-0.5% เนื่องจากปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่ยังคงอยู่ประกอบกับสถาน การณ์การส่งออกที่คาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ในขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐจะสามารถกระตุ้นการผลิตและบริโภคได้เพียงบางส่วนจากข้อจำกัดทางการเงินของผู้ประกอบการเอกชน

4.2.2 อัตราเงินเฟ้อประจำปี 2542 คาดว่าจะสูงกว่าที่รัฐบาลประมาณไว้เนื่องจากผลของราคาสินค้าเกษตรที่จะปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของปี 2542 จะเท่ากับ 3.5-4.0%

4.2.3 การส่งออกของประเทศในปี 2542 คาดว่าจะลดลง โดยขึ้นอยู่ปัจจัยหลายด้าน ได้แก่ 1) การเกิดขึ้นของเงินสกุลยูโรที่กระทบต่อค่าเงินบาทให้มีทิศทางแข็งขึ้น 2) ความเป็นไปได้ที่จีนอาจปรับลดค่าเงินหยวนลงจากแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศและการว่างงานที่เริ่มสูงขึ้น 3) การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกาซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย และ 4) ปัญหาสภาพคล่องของผู้ส่งออกในประเทศ

4.2.4 ในขณะเดียวกันการนำเข้าอาจสูงขึ้นเล็กน้อยจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทำให้มีการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นส่งผลให้มีความต้องการสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น

4.2.5 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทในปี 2542 ยังคงมีความไม่แน่นอนจากการเข้ามาของเงินยูโร ประกอบกับความ เป็นไปได้ในการลดค่าเงินหยวน และเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงของสหรัฐฯ อาจผลักดันให้มีความพยายามให้ค่าเงินดอลลาร์ อ่อนตัวลง ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งขึ้นจากปี 2541 โดยคาดว่าอยู่ที่ระดับ 35-36 บาทต่อดอลลาร์ สหรัฐ

4.2.6 โดยสรุปปัจจัยที่กำหนดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของไทยในปี 2542 ประกอบด้วย
1) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และเสถียรภาพของค่าเงินบาท รวมทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ
2) ความสำเร็จของการแก้ปัญหาระบบสถาบันการเงิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น
3) เสถียรภาพทางการเมืองที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ ประกอบกับความต่อเนื่องในการดำเนินมาตร การเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
4) ประสิทธิภาพในการบริหารนโยบายการเงินการคลังที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
5)ความสามารถของผู้ผลิตโดยรวมในการปรับกลยุทธ์และเทคนิคการผลิตและการค้าเพื่อเพิ่มความสามารถในการขายทั้งภายในประเทศและการส่งออก และแก้ปัญหาสภาพคล่องของกิจการ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us