ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา "มาตรฐาน ISO" เป็น ที่ตื่นตัวมากในองค์กรธุรกิจของประเทศไทย
ไม่เฉพาะแต่วงการอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังระบาดไปตามโรงเรียน โรงพยาบาล
โรงแรม และหน่วยราชการด้วย ซึ่งหากกระแสดังกล่าว มิได้เป็นเพียง "แฟชั่น"
ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาวอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม หากผู้ประกอบการหวังให้กระดาษ
1 ใบ มีประโยชน์แค่เพียงติดประดับอยู่บนฝาผนังไว้โอ้อวด ก็จะเป็นการ "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ"
ไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจาก ค่าใช้จ่ายในการขอใบรับรองแต่ละครั้งกินเงินจำนวนหลายแสนบาท
และที่สำคัญเงินที่เสียไปส่วนใหญ่ตกอยู่ในกระเป๋าของบริษัทให้การรับรองที่เป็นต่างชาติทั้งสิ้น
ยิ่งไปกว่านั้น หากบรรดาผู้ประกอบการทั้งหลาย ไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบมาตรฐาน
ISO เลย ก็ต้องทำการจ้างที่ปรึกษา (CONSULTANCY) มาจัดทำระบบ เขียน เอกสาร
เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอีกเท่าตัว
ปัจจุบัน มีหน่วยงานให้การรับรองมาตรฐาน ISO ประมาณ 12 หน่วยงาน ในจำนวนนี้มี
2 บริษัทที่เป็นหน่วยงานของไทยเอง คือ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.)
ซึ่งให้การรับรองทั้ง ISO 9000 และ ISO 14000 และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่ให้เฉพาะ
ISO 14000 ในขณะที่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษามากกว่าสิบบริษัท
และหนึ่งในนั้นก็มีสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติรวมอยู่ด้วย
เป็นที่ทราบกันดีในระบบสากลว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา จะไม่สามารถทำหน้า
ที่เป็นผู้ให้การรับรองด้วยได้ เพราะจะเกิดความไม่เป็นกลางขึ้นในการประเมินตรวจสอบ
ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการจ้างที่ปรึกษาจะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดด้วยว่า
ที่ปรึกษารายนั้น ไม่มีความเกี่ยวพันใดๆ กับผู้ให้การรับรอง แต่ในความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น
มีองค์กรใหญ่หลายองค์กรที่ประกอบธุรกิจในลักษณะครบวงจร ซึ่งอาจประกอบธุรกิจทั้ง
2 ขานี้ด้วย เพียงแต่ใช้ชื่อคนละบริษัทเท่านั้นก็สามารถเลี่ยงกฎหมายได้แล้ว
ประกอบกับเรื่องนี้เป็นเรื่องของความสมัครใจ ยากต่อการที่จะมีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ
และผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังมีความรู้ในเรื่องนี้น้อยมาก ความสะดวกและรวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญ
มากกว่า "เงิน" ที่ต้องจ่าย
สำหรับในแง่ของความจำเป็นในการใช้ที่ปรึกษา เจฟฟ์ แมคโดนัล ผู้จัดการบริษัท
SGS บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 40 ปี ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า
ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละบริษัท ซึ่งหากบริษัทที่ต้องการความรวดเร็ว
ก็จะจ้างที่ปรึกษามาทำให้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรก จนถึงขั้นตอนการเขียนเอกสาร
ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ค่อนข้างจะยุ่งยากมาก เพราะต้องเขียนให้ตรงกับการดำเนินงานที่มีอยู่จริง
และการดำเนินงานก็ต้องตรงกับเอกสารที่เขียนอยู่จริง ซึ่งจากนั้น SGS จะส่งผู้ตรวจสอบ
เข้าไปทำการตรวจประเมิน ณ สถานที่จริง
"ตอนนี้ประเทศไทยมีบริษัทที่ปรึกษา ISO ที่เป็น ทางการทั้งหมดกว่า 50 ราย
มีหลายบริษัทที่ไม่มีประสบ การณ์เลย และปุ๊บปั๊บก็ได้ ISO ขึ้นมา จากนั้นทีมที่ทำ
ISO ก็ยกทีมออกมาเปิดบริษัทหากินเอง ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในเรื่องนี้
จึงควบคุมได้ยากหน่อย และในฐานะที่เราเป็น CERTIFICATION BODIES เราไม่สามารถที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องในด้านการเป็นที่ปรึกษาเลย
ถ้าเกี่ยวข้องก็ถือว่าผิดกฎหมายสากล เราทำได้เพียงแต่การให้คำแนะนำ อบรมและตรวจสอบว่า
สิ่งที่ผู้ประ กอบการเสนอมาสอดคล้องกับมาตรฐานหรือเปล่าเท่านั้น" เจฟฟ์
อย่างไรก็ดี เขาเล่าว่า ในปัจจุบันมีหลายบริษัทที่พยายามจะทำเอง ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมยังสถาบันที่มีการฝึกอบรม
จากนั้นก็กลับมาดำเนินการเอง อาจจะมีการปรึกษาที่ปรึกษาบ้างบางครั้งที่ติดขัด
ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ส่วนหนึ่ง และช่วยให้ทุกคนในหน่วยงานมีความรู้สึกภูมิใจร่วมกันว่า
มาตร ฐานที่ได้มานั้นมาจากฝีมือและความตั้งใจของพวกเขาจริง
และจากการที่ เจฟฟ์ อยู่ในธุรกิจนี้มานานปี ทำ ให้เขารู้สึกว่า ผู้ประกอบการในประเทศไทยยังขาดความรู้ในเรื่องของ
ISO อยู่มาก "หลายบริษัททำไป เพราะอยากได้กระดาษไปประดับห้องประชุม คือ หลายบริษัท
ยังไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม ซึ่งความจริงแล้ว กระดาษที่ได้มาไม่ใช่สิ่งสำคัญ
แต่ระบบมาตรฐาน ISO ที่พวกคุณ พยายามทำอยู่ต่างหากที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการทำงานของคุณในเชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง"
ล่าสุด SGS ได้ทำการมอบมาตรฐาน ISO 9002 ให้แก่ โรงผลิตเบียร์ของบริษัท
บุญรอดบริวเวอรี่ ที่สาขาปทุมธานีและขอนแก่น ซึ่งงานนี้บุญรอดฯ ได้ใช้ไพร้ซ
วอเตอร์ เฮาส์ คูเปอร์ส เป็นที่ปรึกษาในการจัดทำระบบ ISO 9000 ของโรงงานที่ปทุมธานี
ซึ่งเป็นโรงงานแรกที่ทางบุญรอดฯ จัดทำเรื่องระบบ ISO
"เผอิญเราจ้าง ไพร้ซ วอเตอร์ เฮาส์ฯ มาเป็นที่ปรึกษาเราในเรื่องอื่นอยู่นานแล้ว
พอเราอยากทำเรื่อง ISO เราจึงขอให้เขาทำเรื่อง ISO ให้เราด้วย เฉพาะที่สาขาปทุมธานี
ซึ่งค่าใช้จ่ายก็รวมอยู่ในการตกลงว่าจ้างครั้งแรก ซึ่งหากดูเป็นเม็ดเงินจะค่อนข้างสูงมาก
ส่วนที่ขอนแก่นเราทำเอง จากประสบการณ์ที่เราได้จากสาขาปทุมธานีแล้ว"
วิมลา ไตรทศาวิทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการ-ผู้จัดการฝ่ายบริหารทั่วไป เป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษา
ISO เปิดเผย และเล่าถึงสาเหตุที่ทางบุญรอดฯ ต้องการขอ ISO 9000 และเลือก
SGS เป็นผู้ตรวจสอบให้มาตร ฐานในครั้งนี้ว่า
"เราต้องการดูว่าระบบการทำงานของเราเป็นมาตร ฐานสากลหรือเปล่า เพราะสินค้าเราส่วนใหญ่มุ่งไปที่ยุโรป
จากนั้นเราก็มาดูว่า บริษัทไหนที่เป็นที่เชื่อถือในยุโรป เราก็ได้เลือก SGS
(ประเทศไทย) ซึ่งเขามีสำนักงานใหญ่ อยู่ที่อังกฤษ ให้เป็นผู้ตรวจสอบเรา"
ซึ่งทาง SGS เข้ามาหลังจากที่ทีมงาน ISO ของบุญรอดฯจัดทำระบบไปแล้วประมาณ
6 เดือน โดยได้เข้ามาให้การอบรมแนะความรู้และแนวทางในการจัดเขียน เอกสารเกี่ยวกับมาตรฐาน
ISO รวมทั้งนัดแนะการตรวจ ประเมินให้ทีมงาน ในขณะที่ ไพร้ซ วอเตอร์ เฮาส์ฯ
เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ทีมงาน ISO ของบุญรอดฯ ในแง่ ของความเป็นเหตุเป็นผลในการจัดทำระบบ
ISO 9000
"ที่เราใช้ที่ปรึกษาที่สาขาปทุมธานี เพราะว่าผู้ใหญ่ของเราไม่แน่ใจว่า
แนวทางการทำระบบ ISO ของเราถูกต้องหรือเปล่า เราจะให้ SGS มาทำให้ตั้งแต่ต้น
เขาก็ไม่ได้รับทำอย่างนั้น ผู้ใหญ่เราก็เลยบอกให้ไพร้ซ วอเตอร์ เฮาส์ฯ มาช่วยดู
เพราะเขาก็รู้เรื่องระบบของเรา ดีอยู่แล้ว และเขาก็เคยแนะนำเราตั้งแต่ต้นว่าที่สาขาปทุมธานีน่าจะขอ
ISO ได้ และการมีที่ปรึกษาก็ดี ตรงที่มีคนมาคอยจี้ให้เราทำงานให้ตรงเวลา
และช่วยวางแผน งานให้เรา ซึ่งต่อไปถ้าเราจะทำ ISO ที่สาขาอื่นอีก เราก็ไม่จำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษา
เพราะเรามีประสบการณ์แล้ว ความจริงถ้าเป็นที่อื่นเขาส่งคนไปอบรมแล้วก็กลับมาทำเองได้
แต่ของเรามีเรื่องของบุคลากรที่อยู่กันมานาน จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าให้บอกกันเองก็จะเป็นเรื่องยาก
ก็ทำให้เราต้องพึ่งคนนอกมาช่วยเราในเรื่องนี้" วิมลา ชี้แจง และงานนี้บุญรอดฯ
ต้องจ่ายค่าจ้าง ไพร้ซ วอเตอร์ เฮาส์ฯ สูงกว่าการจ้าง SGS ในการตรวจประเมินและออกใบมาตรฐาน
ISO เสียอีก ซึ่งวิมลาได้ให้เหตุผลว่า
"ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาเราแพงกว่าค่าจ้างของ SGS อีก แต่ก็คุ้ม เนื่องจากเขาจะเกาะติดเรา
และอยู่กับเราตลอดตั้งแต่เริ่มต้น เราต้องการคนนอกมาดูงานเรา โดยที่เก็บเป็นความลับ
เขาจะเข้ามาดูงานเราทุกแผนกและ บอกว่า มีข้อบกพร่องต้องแก้ไขตรงไหนบ้าง และที่เราตัดสินใจจ้างไพร้ซ
วอเตอร์ เฮาส์ฯ เพราะเราต้องการให้ เขาทำงานให้เราในเรื่องอื่นด้วย ไม่ใช่เฉพาะเรื่อง
ISO เรื่องเดียวดังนั้นค่าใช้จ่ายจึงแพง เพราะเขาเหมารวมการเข้ามาทำงานในเรื่องอื่นด้วย
รวมเวลาทั้งสิ้นก็ 18 เดือน พอดี ตอนนี้ก็หมดสัญญาแล้ว"
ส่วนค่าใช้จ่ายของ SGS สำหรับโครงการนี้คิดเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 200,000-300,000
บาท รวมการตรวจสอบประเมินและการฝึกอบรมผู้ตรวจสอบภาย ในของเราด้วย "คือเขาจะกลับมาตรวจเราทุกๆ
6 เดือน และพนักงานตรวจสอบภายในของเราที่ได้รับการอบรมจากเขาจะเป็นผู้ที่ตามตรวจสอบระบบของเราให้พร้อมอยู่เสมอ
และแผนต่อไปของเราคือ ขอ ISO 14000 ที่โรงงานขอนแก่นบริวเวอรี่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ
1 ปี จึงจะสำเร็จ"