"อีก 5 ปี เราจะโตกว่านี้" นี่คือคำประกาศอย่างชัดเจนของผู้หญิงที่ชื่อ
วรวรรณ ธาราภูมิ ที่อยู่ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บลจ.ไทยเอเชีย แม้ว่าจะเป็นการประกาศท่ามกลางความถดถอยของภาวะเศรษฐกิจ
แต่นั่นคือคำพูดที่มีแต่ความมั่นใจและการมองเห็นอนาคตในอุตสาหกรรมที่เธอคลุกคลีอยู่มานาน
สัญญาณที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยแบบเต็มตัวของ บลจ.ไทยเอเชีย เริ่มขึ้นเมื่อธนาคารเอเชีย
(BOA) ซึ่งปัจจุบันก็โดนธนาคารเอบีเอ็น แอมโร ของเนเธอร์แลนด์ เข้ามาถือหุ้นจำนวน
75% ต้องการเข้ามาถือหุ้นในบริษัทแต่เพียงผู้เดียว เรื่องนี้วรวรรณ เล่าว่า
ลักษณะการเข้ามาถือหุ้นของแบงก์เอเชีย ใน บลจ.ไทยเอเชีย ไม่ได้มาพร้อมกับการเกิดวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจ
แต่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะมองว่าการถือหุ้นที่หลากหลายใน บลจ. ช่วง
5-7 ปีข้างหน้าจะต้องเปลี่ยนไป
ก่อนหน้านั้นบลจ.ไทยเอเชีย มีผู้ถือหุ้น 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยทนุ (TDB)
15%, ไทยประกันชีวิต 12.5%, บล.พัฒนสิน (CNS) 12.5, บงล.เกียรตินาคิน (KK)
12.5%, บงล.เอ็มซีซี (MCC) 12.5, บาร์เคลย์ แบงก์ 10%, ที่เหลือเป็นของแบงก์เอเชีย
จำนวน 25%
"แต่การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นมีความลำบากมาก เพราะแต่ละค่ายไม่อยากขายหุ้นทิ้งหรือเสียสละในช่วงนั้น
จนกระทั่งเกิดวิกฤติ แบงก์เอเชียแสดงความต้องการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อย่างเต็มตัว
ซึ่งแบงก์ไทยทนุเป็นค่ายแรกที่หลีกทางให้ แล้วตามมาด้วยไทยประกัน ชีวิตและบาร์เคลย์และสุดท้ายเป็น
CNS และ KK ที่ยอมเสียสละ" วรวรรณ กล่าว ขณะที่ MCC ซึ่งโดนระงับกิจการและเข้าไปอยู่ใน
ปรส. ดังนั้นหุ้นที่ MCC ถืออยู่ใน บลจ.ไทยเอเชีย จึงเป็นหน้าที่ของ ปรส.
ที่จะเป็นผู้เปิดประมูลขายหุ้นในส่วนนี้ออกไป แต่สุดท้ายคาดว่า บลจ.ไทยเอเชีย
จะมีผู้ถือหุ้นค่ายเดียว คือ แบงก์เอเชีย
อย่างไรก็ตามจากการที่แบงก์เอเชียมีแบงก์เอบีเอ็น แอมโร เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อาจจะมีปัญหาต่อการดำเนินงานของ
บลจ.ไทยเอเชีย โดยเฉพาะการเข้ามาถือหุ้นร่วมด้วย เรื่องนี้ วรวรรณ กล่าวอย่างเป็นกลางว่าเอบีเอ็น
แอมโร สามารถเข้ามาถือหุ้นใน บลจ.ไทยเอเชียก็ได้ถ้าต้องการ "แต่ในเมื่อเขาถือในแบงก์เอเชียอยู่แล้ว
และแบงก์เอเชียก็ถือหุ้นเราและเขาได้ประโยชน์จากเราผ่านแบงก์เอเชียอยู่แล้ว
ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเข้ามาถืออีก และขณะนี้ไม่มีผู้บริหารของเอบีเอ็น แอมโร
เข้ามานั่งทำงานใน บลจ. ไทยเอเชีย แต่เราก็ประสานงานกับ เอ- บีเอ็น แอมโร
แอสเซท แมเนจเมนท์ ซึ่งมีฐานใหญ่ที่คุมตลาดเอเชียอยู่ที่ฮ่องกง"
สิ่งที่ วรวรรณ มองเห็นอย่างหนึ่งและมีส่วนสำคัญอย่างมากหลังจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น
คือ ตลาดของบริษัทจะขยายมากขึ้น เนื่องจากสามารถนำกองทุนไปขายร่วมกันได้
ซึ่งจะทำให้กองทุนมีขนาดใหญ่ขึ้น "เช่น Country Fund ที่เรายังไม่มีแต่เขามี
ดังนั้นต้องมาคิดร่วมกันว่าทำอย่างไรที่จะมีผลประโยชน์เอื้อต่อกัน ถ้าเขาแบ่งส่วนหนึ่งมาขายโดยผ่านทางเราเขาสามารถได้รับค่าธรรมเนียม
ส่วน บลจ.ไทยเอเชีย ก็ได้รับค่าบริหาร ในฐานะเป็นผู้บริหารกองทุน" และที่สำคัญ
บลจ.ไทยเอเชีย จะมีฐานทางการเงินเข้ามาสนับสนุนอย่างเต็มที่และแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ บลจ.ไทยเอเชีย ยังได้เปลี่ยนแผน การดำเนินการจากเดิมที่เน้นลูกค้าสถาบัน
แต่ต่อไปนี้จะเน้นลูกค้าที่เป็นรายย่อยมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับแบงก์เอเชีย
"โดยช่องทางการจัดจำหน่าย จะขายผ่านสาขาแบงก์เอเชียที่มีอยู่ทั่วประเทศ โดยลักษณะกองทุนของเราต่อไปนี้จะดูที่ความเหมาะสมของลูกค้าเป็นหลัก
เช่น ลูกค้าเรามีอายุเท่าไหร่ ลักษณะการใช้เงินหรือความเสี่ยงที่ยอมรับได้มีเท่าไหร่
สมมติว่าเขามีเงิน 100 บาท 50% นำไปฝากแบงก์ อีก 30% มาลงทุนกับกองทุน แบ่งเป็นลงทุนในกองทุนตราสารหนี้15%
อีก 15% ลงทุนในกองทุนหุ้นทุน คือ จะขายที่ life style ของลูกค้า นี่คือสิ่งที่เรากับเอบีเอ็น
แอมโร ร่วมกันทำ" วรวรรณ กล่าว
อย่างไรก็ตามการเติบโตของนักลงทุนรายย่อยจะมีความเชื่องช้า และผลตอบแทนมีเพียงเล็กน้อยถ้าเทียบกับนักลงทุนสถาบัน
เพราะจะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับ consumer banking เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานจะสูงมาก
"การเติบโตจะช้าเฉพาะช่วงแรกๆ เท่านั้น แต่ถ้ามันติดแล้วการเติบโตจะเป็นไปในลักษณะก้าวกระโดด"
ส่วนการเปิดกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ที่ถือว่าเป็นช่วงนาทีทองของบรรดากองทุนต่างๆ
เรื่องนี้ วรวรรณ กล่าวว่า บริษัทเองได้ขออนุญาตกับ ก.ล.ต. ไปเพียงเล็กน้อย
"พยายามจับลูกค้าไปทีละน้อยและหาโดยตรงทั้งลูกค้าในและต่างประเทศ และจะหลีกเลี่ยงการเข้าไปประมูลใน
ปรส. เพราะไม่คุ้มกับชื่อเสียง"
เป้าหมายของวรวรรณ ใน 5 ปีข้างหน้า หลังจากทุกสิ่งทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้วจะต้องมีส่วนแบ่งการตลาดในระดับ
tier one group คือ มีส่วนแบ่งการตลาดที่สูง ซึ่งถ้าแบ่งในด้านส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่มอุตสาหกรรม
บลจ. แบ่งได้ 3 ระดับ โดยกลุ่มแรกจะมีส่วนแบ่งการตลาด 10% ขึ้นไป กลุ่มที่สองมีส่วนแบ่งการตลาดระหว่าง
5-10% และกลุ่มสุดท้ายมีส่วนแบ่งการตลาดต่ำกว่า 5%
"ปัจจุบันเราอยู่กลุ่มสุดท้าย แต่เราต้องการเคลื่อน ย้ายส่วนแบ่งตลาดไปอยู่กลุ่มแรกภายในแผนของเราคือ
5 ปีข้างหน้า เพราะแบงก์เอเชียประกาศเอาไว้ว่าต้องการเป็นใหญ่ แล้วเราจะอยู่อย่างเล็กๆ
ได้อย่างไร ส่วนเป้าหมายการบริหาร คือ ต้องเอาชนะ benchmark ของกองทุนนั้นๆ
ถ้าเป็นกองทุนหุ้นก็คือต้องดีกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือกองทุนตราสารหนี้ต้องชนะดอกเบี้ยเงินฝาก
3 เดือนของแบงก์ ส่วนปี 2542 นี้เราขอไม่ขาดทุนก็พอแล้วเพราะอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างการดำเนินงาน"
วรวรรณ กล่าวตบท้าย