สืบเนื่องจากผลการประมูลพอร์ต สินเชื่อของ 56 สถาบันการเงินรอบแรก เมื่อวันที่
15 ธ.ค.ปีที่ผ่านมา ทำให้ ปรส.ในสายตาของประชาชนยิ่งมีภาพลักษณ์เลวร้ายมากขึ้น
แต่เวลา 1 เดือนที่ผ่านไป ดูเหมือนจะทำให้ปรส.ตั้งหลักได้ และพยายามที่จะออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆ
ให้มากขึ้นกว่าเดิม
ความเปลี่ยนแปลงของปรส. ในปีที่ 2 นี้ เริ่มจาก ดร.มนตรี เจนวิทย์การ ผู้ช่วยเลขาธิ
การปรส. ได้ปรับขึ้นมารักษาการในตำแหน่งเลขาธิการปรส. และกลายมาเป็น SPOKESMAN
ของปรส. แทน วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ ที่ลาออกไปรับตำแหน่งที่ธนาคารกรุงไทย
แต่ก็ยังคงนั่งเป็นที่ปรึกษาในบอร์ดของปรส.อยู่
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของการทำงานของปรส. ดร.มนตรี จะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทำงานมาตลอด
เขาเพิ่งจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในช่วงขึ้นปีที่ 2 ของปรส.นี้เอง พร้อมๆ กับประเดิมด้วย
"ความล้มเหลว" ในการประมูลพอร์ตสินเชื่อธุรกิจของ 56 สถาบันการเงินรอบแรกของ
ปรส.ที่อมเรศ ศิลาอ่อน ยอมรับความผิดพลาด ณ วันนั้น แต่วันนี้ ผู้บริหารของปรส.ได้พยายามบอกว่า
"ปรส.ทำดีที่สุดแล้ว" เพื่อเป็นการย้ำจุดยืนของปรส. รวมทั้งปลอบขวัญและเรียกกำลังใจให้แก่ทุกคนในปรส.
แต่ในแง่ของความเชื่อมั่นของประชาชนจะยังคงหลงเหลืออยู่อีกหรือไม่ ต้องเอาผลงานที่เหลือเป็นเครื่องพิสูจน์
"ในระดับพนักงาน ปกติพวกเขาจะไม่รู้สึกอะไรเท่าไร เพราะส่วนใหญ่จะเป็นช่างเทคนิคที่ดูเรื่องรายละเอียดต่างๆ
ก็ อยู่ที่ผู้บริหารระดับสูงจะต้องให้กำลังใจและให้การคุ้มครองใน แง่ถ้าเขาถูกโจมตีในลักษณะผิดๆ
ถูกๆ" ดร.มนตรีกล่าว พร้อมกับเปิดเผยความรู้สึกในใจกับ"ผู้จัดการรายเดือน"
ว่า
"ในระดับคุณอมเรศหรือผม มีความชินกับการถูกโจม ตีในชีวิตการงานแล้ว ฉะนั้นเราก็พยายามทำให้ดีที่สุด
ไม่ให้มีข้อบกพร่องที่เป็นเรื่องจริง คือ ถ้าเป็นเรื่องจริงเราก็จะมีความผิด
แต่ถ้าเป็นข้อบกพร่องที่เขาคิดกันขึ้นมาเอง หรือกล่าวหาเรา ก็ไม่จำเป็นต้องไปวิตกกังวลใดๆ
ซึ่งบางสิ่ง เขาพูดก็ถูก แต่พูดไม่หมด หรือว่าบางเรื่องเป็นเรื่องเล็ก แต่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่
เช่น บอกว่าผู้ประมูลไม่ได้ชำระเงินมา 2 เดือนแล้ว ผมว่ามันเป็นเรื่องปลีกย่อยมากกว่า
ไม่ใช่เรื่องใหญ่ คือ ไปจี้ในจุดเล็กๆ ที่ไม่สำคัญ เหมือนจงใจจะให้เกิดความเสียหาย
หรือบอกว่า คนโน้นสนิทกับคนนี้ คนนี้สนิทกับคนนั้น ผมว่ามันไม่มีความสำคัญอะไร
การทำงานก็ต้องมีความสนิทสนมกันตามสมควร ไม่งั้นก็ทำงานกันเป็นทีมไม่ได้"
จากการที่ดร.มนตรีสอนหนังสืออยู่ในหลายสถาบัน อาทิ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต
สาขารัฐประศาสนศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกริก สาขาสื่อสารมวลชน เป็นต้น เขาได้นำประสบการณ์ที่ประสบด้วยตนเองมาเล่าเป็นแง่คิดแก่นักศึกษาด้วย
และต่อไปนี้คือสิ่งที่เขาอยากจะบอกแก่ประชาชนทุกคนว่า
"ขณะนี้เรามีสื่อมวลชนมากหลายสาขา หนังสือพิมพ์ก็เป็นอิสระมาก วิทยุก็มีหลายสถานี
ทีวีอีก แต่ว่า ข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับปรส.มีลักษณะที่ไม่เป็นข้อเท็จจริงค่อน
ข้างมาก และเราก็ได้รับการสอบถามจากประชาชนหรือบางส่วนที่เชื่อไปเลยว่าข่าวที่ได้รับเป็นจริง
ผมอยากจะบอกว่า ถ้าจะพิจารณาเรื่องปรส. 1.ให้ถามมาก่อน ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
2.ต้องคิดว่าเรื่องที่เขาบอกเป็นไปได้หรือเปล่า 3. ต้องดูว่า ปรส.มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายและขอบข่ายการ
ทำงานอย่างไร อย่าลืมว่าเรารับผิดชอบสินทรัพย์เพียง 10% ที่ตายแล้วเท่านั้น"
ทั้งหมดนี้คือ อารมณ์และความรู้สึกของคนที่ทำงานอยู่ภายใต้ความกดดันในหลายๆ
เรื่อง และตัวเขาเองเท่านั้นที่จะพิสูจน์ว่า การทำงานทุกอย่างเป็นไปอย่างโปร่งใสและซื่อสัตย์เพียงใด
โดยสื่อมวลชนทำหน้าที่เป็นเพียงกระจกสะท้อนให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
ส่วนความล้มเหลวในการประมูลพอร์ตสินเชื่อธุรกิจของ 56 ไฟแนนซ์ในรอบแรก จะกลายมาเป็นบทเรียนให้แก่
ปรส. ในการประมูลรอบสองหรือไม่ คำตอบจะอยู่ในวันที่ 10 มี.ค. 42 ซึ่งเป็นวันที่เปิดให้มีการประมูลสินเชื่อธุรกิจในรอบสอง
โดยการประมูลในรอบนี้ทางปรส.ได้แยกสินทรัพย์ออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มสินเชื่อขนาดเล็กที่มียอดเงินต้นคงค้างเฉลี่ยกลุ่มละ
1,000-1,500 ล้านบาท และกลุ่มสินเชื่อขนาดใหญ่ที่มียอดเงินต้นคงค้างตั้งแต่
10,000 ล้านบาทขึ้นไป จากสินเชื่อที่มีอยู่ทั้งสิ้น 7,124 สัญญา คิดเป็นมูลค่ายอดเงินต้นคงค้างตามบัญชี
ณ วันที่ 30 ก.ย.41 เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 231,128 ล้านบาท หรือประมาณ 6,250
ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยสินเชื่อกลุ่มขนาดเล็กจะจำหน่ายในลักษณะขายขาด และสินเชื่อกลุ่มขนาดใหญ่จะใช้วิธีการเปิดประมูลในรูปแบบของการแบ่งปันผลกำไร
(PROFIT SHARING) ซึ่งทางปรส.จะประกาศรายละเอียดและวิธีการของการประมูลในรูปแบบของการแบ่งปันผลกำไรก่อนถึงวันประมูล
โดยทางปรส.ต้องการให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้มาสมัคร ขอรับแฟ้มข้อมูล
ซึ่งบรรจุอยู่ในซีดีรอม พร้อมทั้งยื่นแบบคำขอเข้าศึกษาข้อมูลในห้องเก็บข้อมูลจากปรส.ให้เร็วที่สุด
เพื่อที่จะได้มีเวลาในการทำความเข้าใจและเสนอความเห็นต่อปรส. ในการจัดกลุ่มสินทรัพย์ให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อมากที่สุด
และผู้ที่ชนะการประมูลสินทรัพย์ทั้งกลุ่มขนาดเล็ก และขนาดใหญ่จะต้องชำระราคาประมูลในรูปแบบของเงินสดหรือไม่ก็ตราสารทันที
ซึ่งทางปรส.ไม่อนุญาตให้ผู้ประมูลทำข้อตกลงใดๆ กับลูกหนี้หรือตัวแทนลูกหนี้จนกว่าจะถึงวันปิดจำหน่าย
การประมูลสินทรัพย์ในรอบสองนี้ ทางบรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน
หรือ บบส.จะเข้าร่วมประมูลด้วย โดยบบส.จะปฏิบัติ ตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของการประมูล
และวิธีการชำระราคาประมูล เหมือน กับผู้ประมูลรายอื่นทุกประการ ซึ่งงานนี้ต้องรอดูกันต่อไปว่า
จะมีใครประมูลได้บ้าง และ บบส. จะประมูลได้ไปทั้งสิ้นเท่าไร และจะเหลือของเน่าไปขายต่อหรือไล่แจกในรอบสามอีกหรือไม่