บลจ.กองทุนรวม (MFC) ปรับโฉมใหม่หลังจากเกิดกรณีอื้อฉาวที่ผู้บริหารระดับสูงซึ่งมีใบอนุญาตเป็นผู้จัดการกองทุนด้วยนั้น
ถูกพักใบอนุญาตการดำเนินงานจัดการกองทุนเป็นระยะเวลา 6 เดือน พร้อมผู้จัดการกองทุนอีก
3 คน โดยโฉมใหม่ครั้งนี้เปิดตัวด้วยการแต่งตั้งกรรมการจัดการคนใหม่คือดร.เจษฎา
โลหอุ่นจิตร อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทธาราสยามบิสซิ-เนสอินฟอร์เมชั่น จำกัด
สายเลือดเก่าแก่ของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือ IFCT ซึ่ง เป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญของ
MFC เขาเข้ามาเริ่มงานเมื่อ 17 ธ.ค. 2541 พร้อมดร.ชัยพัฒน์ สหัสกุล รองกรรมการจัดการซึ่งก็เป็นทีมบรรษัทฯ
เก่าเหมือนกัน
ดร.เจษฎากล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "ผมไม่ได้เป็นกรรมการและไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจเซ็นหนังสืออะไรในธาราสยามแล้ว
และที่ผมมาที่นี่ก็เพราะมีคนชวนผมมา ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับที่ผมออกจากที่นั่น
ผมออกจากที่นั่นก่อน แล้วต่อมาค่อยมีการติดต่อมา"
ทั้งนี้ มีข่าวลือตั้งแต่เดือนก.ค. 2541 ว่าดร.เจษฎาได้รับการทาบทามให้มานั่งบริหารงานที่กองทุนรวม
เขาลาออกจากบริษัทธาราสยามฯ ในเดือนส.ค. และบอกว่าได้รับการทาบทามจริงๆ คือเดือนก.ย.หรือต.ค.
ผู้ที่ทาบทามเขาเข้ามานั้นก็คือประธานกรรมการฯ ดร.อรัญ ธรรมโน อดีตปลัดกระทรวงการคลังและปัจจุบันเป็นประธานบรรษัทฯ
ด้วย ดร.เจษฎาให้เหตุผลที่เข้ามารับตำแหน่งนี้ว่า "ธุรกิจนี้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผมเคยทำมาคือเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ข้อมูล
ผู้บริหารกองทุนนี่ต้องใช้ข้อมูลและงานวิจัยมากเพื่อการลงทุน มันก็ไม่น่าจะขัดแย้งกัน
อีกทั้งงานวิจัยที่ผมทำสมัยอยู่ธาราสยามนั้น ลูกค้ากลุ่มใหญ่ของเราก็เป็นสถาบันการเงินทั้งหลาย
และเราก็ศึกษาเรื่องตลาดทุนตลาดเงินอยู่ ก็มีความเข้าใจอยู่แม้ว่าจะไม่ได้เข้ามาเป็นผู้ประกอบการเองก็ตาม
ดังนั้นในแง่ของการปรับตัวเข้ามาแล้วย่อมง่ายกว่าไปทำธุรกิจอื่น"
เนื่องจากดร.เจษฎาเข้ามารับงานบริหารบลจ.แห่งนี้ในยามที่ไม่ใช่ภาวะธุรกิจปกติ
แถมธรรมชาติของธุรกิจประเภทนี้ก็มีการแข่งขันสูงมาก และบลจ.นี้เพิ่งจะมีเรื่องอื้อฉาวมาหมาดๆ
เขามองบลจ.นี้อย่างไร
"strengh ก็คือ weakness สองอย่างนี้ไปด้วยกันเสมอ ผมมองอย่างนี้ จุดแข็งคือเราตั้งมาโดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาล
ทุกวันนี้แม้จะมีความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่เราก็ยังมีลักษณะเช่นเดิมอยู่คือเราทำอะไรต้องคิดถึงภาพอุตสาหกรรมโดยรวมและต้องพยายาม
ให้เป้าหมายทางธุรกิจของเราสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่อันนี้ อีกด้านหนึ่งเราก็ไม่ใช่ราชการ
เราก็สามารถดำเนินการแบบเอกชนมีความคล่องตัว ในสองส่วนนี้คือเราจะเอาส่วนดีของมันมารวมกันได้อย่างไร
และประสบการณ์อีกอย่างหนึ่งคือเรามีคนดีๆ ในนี้มาก และมีความสามารถสูงเพราะ
เราไม่ได้เพิ่งตั้งมา คนของเรามีประสบการณ์มาก แม้จะบอกว่าระบบเราอาจจะมีปัญหา
แต่เราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ มันยังมีอะไรอยู่ที่จะให้เราสานต่อได้ เรามีฐานอยู่
จากจุดนี้ผมคิดว่าเราคงทำอะไรได้อีกมาก"
"ผมไม่ได้คิดอะไรมาก หากผมรับมาทำแล้วก็จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้"
นี่คือวาทะของดร.เจษฎา หลังออกจากการสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขามา
เริ่มงานแรกนอกมหาวิทยาลัยกับบรรษัทฯ ตั้งแต่สมัยศุกรีย์ แก้วเจริญเป็นกรรมการผู้จัดการบรรษัทฯ
เขาตั้งสำนักวิจัยตลาดทุนในบรรษัทฯ ขึ้นมาและดึงเอาดร.ชัยพัฒน์ เข้ามาร่วมงานด้วย
ซึ่งตอนนี้ดร.ชัยพัฒน์ก็มาร่วมงานที่นี่ด้วยในตำแหน่งรองกรรมการจัดการ ดูแลงานด้านการจัดการกองทุน
จากนั้นเขาออกไปทำธุรกิจส่วนตัวโดยจัดตั้งบริษัท ธาราสยามบิสซิเนสฯ ขึ้นและดำเนินธุรกิจอยู่ประมาณ
10 ปีได้ จนกระทั่งตัดสินใจออกมาร่วมงานกับกองทุนรวมเพราะผู้ใหญ่ชักจูง ซึ่งก็ต้องถือว่าทั้งดร.เจษฎาและดร.ชัยพัฒน์ก็เป็นอดีตลูกหม้อของบรรษัทฯเก่าแก่ทั้งสองคน
ดร.เจษฎาเปิดแถลงข่าวครั้งแรกหลังจากเริ่มงานเมื่อ 17 ธ.ค. 41 (ซึ่งเป็นวันแรกที่ครบ
6 เดือนหลังจากผู้จัดการกองทุนของบริษัทฯ ถูกพักใบอนุญาตครบ 6 เดือน) เขามีเป้าหมายในเรื่องของการบริหารกำกับองค์กรให้ดีที่สุด
และ ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้มีความเป็นวิชาชีพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
เน้นเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ ปรับปรุงการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในการที่จะดำเนินการตามเป้าหมายนี้ กองทุนรวมได้ว่าจ้างบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์
คูเปอร์ส จำกัดมาเป็นที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงกรอบและวิธีการทำงานใน 3 เรื่องคือ
การพัฒนาหลักการบริหารและกำกับองค์กร (corporate good governance) แนวปฏิบัติเรื่อง
Compliance Unit และการพัฒนางานตรวจสอบภายในสู่มาตรฐานสากลหรือ Internal
audit โดยระยะเวลาการว่าจ้างนาน 150 วัน ซึ่ง ไพร้ซฯ จะยื่นแผนงานให้กองทุนรวมเพื่อพิจารณานำไปปฏิบัติต่อไป
ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กรนั้น ดร.เจษฎายอมรับว่ามีแนวคิดที่จะดำเนินการเรื่องนี้อยู่
"ก่อนหน้านี้บริษัทไม่เคยมีการปรับองค์กรมานานแล้ว สิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็เปลี่ยนไปมาก
ธุรกิจใหม่ๆ ก็เกิดขึ้น มันจึงมีความ จำเป็นที่จะต้องปรับปรุง แต่ที่จะบอกว่าระดับไหนนั้นยังพูดไม่ได้
แต่จะปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่"
ด้านดร.ชัยพัฒน์ กล่าวว่า "ในตอนนี้ผมไม่คิดว่าจะมีการปรับลดจำนวนพนักงาน
(lay off) หากสภาพเศรษฐกิจเป็นแบบปัจจุบันอย่างนี้ เราคิดว่าเราไปได้"
ข่าวอื้อฉาวเรื่องการพักใบอนุญาตผู้จัดการกองทุนนั้น ทำให้ภาพพจน์กองทุนรวมเสียหายอยู่ไม่น้อย
ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้อยากจะรู้ว่าดร.เจษฎาจะเร่งสร้างภาพพจน์ที่ดีกลับคืนมาได้อย่างไร
แต่ดร.เจษฎานั้นมีความเชื่อว่า "ภาพพจน์ที่ดีจะกลับคืนมาโดยเร็วก็ด้วยการทำงานของเรา
หากเราทำงานด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นและมีจรรยาบรรณในด้านวิชาชีพ ในที่สุดภาพพจน์ก็กลับมาเอง
การที่จะไปสร้างภาพพจน์โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรจริงๆ นั้น มันเป็นสิ่งที่ทำได้ชั่วคราว
ที่จริงๆ คือเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ในเรื่องนี้"
ดังนั้นทีมงานใหม่บวกกับผู้บริหารเดิมอีก 2 ท่านคือชัยพนธ์ โอสถาพันธุ์และ
ชรินทร วงศ์ภูธร ก็จะไม่พูดถึงเรื่องเก่าๆ ที่มีปัญหา แต่จะเดินหน้าเรื่องการปรับปรุงการทำงาน
ชัยพนธ์กล่าวว่า "เรามีการออกกฎเกณฑ์ภายในหลายอย่างเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนั้นเกิดขึ้น
การลงทุนในหลักทรัพย์ทุกอย่างต้องผ่านคณะกรรมการที่ประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายเป็นคนกำหนดนโยบาย
มีคนดูแลเกี่ยวกับเรื่องรายการที่มีความเกี่ยวโยงกันหรือ connected transaction
รวมถึงบุคคลที่มีความเกี่ยวโยงหรือ connected person ด้วยซึ่งจะมีคนดูแลและให้คำอธิบายในประเด็นเหล่านี้
ระบุเหตุผลที่อธิบายได้ ดังนั้นเหตุการณ์ต่างๆ ก็จะไม่เกิด แต่สิ่งที่เกิดไปแล้วก็เป็นบทเรียนที่สำคัญ
สำหรับบริษัท แต่การที่จะบอกว่าผิดหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถบอกได้
เว้นแต่จะให้กระบวนการทาง ศาลเป็นการพิสูจน์ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นบริษัทก็ได้จัดการแก้ไขและป้องกันต่อไป"
ทั้งนี้ ชัยพนธ์ทำหน้าที่รักษาการกรรมการจัดการอยู่ช่วงหนึ่งก่อน ที่ดร.เจษฎาจะเข้ามาเป็นกรรมการจัดการ
ปัจจุบันเขาเป็นรองกรรมการ จัดการ ดูแลสายบริหารและปฏิบัติการ เขาร่วมงานกับกองทุนรวมมานานถึง
23 ปี
ด้านผู้จัดการกองทุน 3 คนที่ถูกพักใบอนุญาต ตอนนี้แม้จะได้ใบอนุญาตคืนและสามารถดำเนินงานด้านการจัดการกองทุนได้ต่อไป
แต่กองทุนรวมได้โยกย้ายทั้ง 3 คนไปทำหน้าที่อื่นๆ ในด้านบริหาร คงเหลือผู้จัดการกองทุนอยู่ประมาณ
10 กว่าคน ซึ่งดร.ชัยพัฒน์ กล่าวว่าสามารถดูแลบริหารกองทุนที่มีอยู่รวม 37
กองได้ทั่วถึงรวมทั้งกองทุนใหม่ที่จะออกมาในปีนี้อีก
ในการบริหารกองทุนของกอง ทุนรวมนั้น มีคณะกรรมการดูแล 2 ชุด คือคณะกรรมการนโยบาย
การ ลงทุน (Investment Policy Committee หรือ IPC) ซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการจัดการ,
รองกรรมการจัดการสายจัดการกองทุน, ผู้จัดการกองทุนและนักกลยุทธ์ (strategist)
อีกชุดหนึ่งคือคณะกรรมการทบทวนการลงทุน (Investment Review Committee) ซึ่งจะ
มีผู้จัดการกองทุนและนักวิจัย ร่วมเป็นกรรมการดำเนินการเอง
คณะกรรมการทั้งสองชุดจะกำหนดกรอบการลงทุนตามที่กฎหมายอนุญาต และจะมีการทบทวนเป็นประจำว่านโยบายที่วางไว้เป็นอย่างไร
นอกจากนี้มีลักษณะและปริมาณ การลงทุนบางอย่างที่ผู้จัดการสามารถพิจารณาลงทุนได้ตาม
กรอบกฎเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต
การพักใบอนุญาต 4 ผู้จัดการกองทุนคงเป็นเสมือน "แผลเก่า" ของกองทุนรวมที่จะต้องรอดูฝีมือทีมบริหารใหม่ว่าจะรักษาแผลนี้ไม่ให้กลายเป็นแผลเป็นติดตัวตลอดไปได้หรือไม่
ดร.เจษฎากล่าวว่า "เราต้องพยายามรักษาฐานะการเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวมชั้นนำดังที่เป็นมาในอดีต
เราคงไม่พอใจกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ ปีนี้เราตั้งใจที่มีการออกกองทุนแน่ ต้องติดตามดู
เรายังไม่อยากเปิดเผยให้คู่แข่งทราบ และมีกองทุนหลายประเภทที่เราศึกษาอยู่"