ถึงแม้ว่าไทยจะจัดเป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตชิ้น ส่วนอิเล็กทรอนิกส์อันดับต้นๆ
ของโลก มีโรงงานขนาดใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับคอมพิวเตอร์แบรนด์ดังๆ
แทบทุกยี่ห้อ แต่แทบจะไม่มีสินค้าไอทีเมดอินไทยแลนด์ฝีมือคนไทยที่ปะยี่ห้อของไทยส่งไปขายต่างประเทศ
ยกเว้น SC2000 การ์ดที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้แก้ปัญหาคอมพิวเตอร์ ค.ศ.2000
สำหรับเครื่องพีซี ซึ่งคิดค้นขึ้นมาจากมันสมองของคนไทย ใช้ยี่ห้อคนไทย ส่งข้ามน้ำข้ามทะเลไปวางขายในร้านค้าของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเทคโนโลยี แถมบริษัทเจ้าของสินค้าก็ไม่ใช่ยักษ์ ใหญ่ในวงการไอที
เป็นแค่บริษัทเล็กๆ แห่งหนึ่งในไทย
จะว่าไปแล้วปัญหาคอมพิวเตอร์ปีค.ศ.2000 ได้กลาย เป็นโอกาสทองของใครหลายคน
รวมทั้งสหรัฐ โสมาภา และเพื่อนๆ เจ้าของบริษัท SAVECOM บริษัทเล็กๆ ในไทย
ที่อาศัยจังหวะนี้ บวกกับประสบการณ์ที่มีในต่างประเทศ ผลิตการ์ดแก้ปัญหา
Y2K มีชื่อว่า SC2000 ออกวางตลาด
สหรัฐ โสมาภา ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านวิศวะหรือไอทีมาก่อน เพราะหลังจากจบนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบินไปเรียนต่อด้านเอ็มบีเอที่ออสเตรเลีย แต่อาศัยว่ามีประสบการณ์การทำงาน
และเพื่อนๆ อยู่ในธุรกิจคอมพิวเตอร์มาโดยตลอด เคยฝึกงานที่บริษัทไอบีเอ็ม
จากนั้นก็เริ่มทำงานในบริษัทคอมพิวเตอร์ และบินกลับมาทำงานที่ดาต้าแมท ก่อนจะลาออกมาร่วมกับเพื่อนคนไทย
และมาเลเซียตั้งบริษัท SAVECOM เพื่อต้องการส่งออกสินค้าไอทีไปขายในอเมริกา
แม้ว่า บริษัท SAVECOM จะมีผู้ร่วมลงทุนคือบริษัทเอ็มเทคจากประเทศมาเลเซีย
ซึ่งเจ้าของเป็นเพื่อนนักเรียนชาวมาเลเซีย และสินค้าล็อตแรกผลิตขึ้นในประเทศมาเลเซีย
แต่สหรัฐบอกว่า SC2000 เป็นผลิตผลจากมันสมองของทีมคนไทยล้วนๆ 4-5 คน ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบแต่ไปใช้ชีวิตทำงานอยู่บริษัทคอมพิวเตอร์ในสหรัฐอเมริกา
แต่ตอนหลังลาออกมาทำธุรกิจร่วมกัน และคิดค้นผลิตสินค้าชิ้นนี้ขึ้นมา
"ตอนแรก คิดกันว่าจะพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ออกมาแก้ปัญหาเรื่อง Y2k แต่ก็กลัวเจอปัญหาไวรัส
เลยเปลี่ยน มาเป็นสร้างเป็นฮาร์ดแวร์แทน ก็ออกมาอยู่ในรูปของการ์ด SC2000
ที่มีคุณสมบัติทำให้เครื่องพีซีผ่านมาตรฐาน Y2k โดยการ์ดนี้จะเป็นนาฬิกา
และ BIOS ตัวใหม่ของเครื่องพีซี" สหรัฐเล่าถึงที่มาของสินค้า
หลังปรับปรุงแก้ไขจนเป็นที่พอใจ ได้ใบรับรองมาตรฐานจาก FCC : Federation
Communications Commission หน่วยงานที่ออกมาตรฐานให้กับสินค้าไอทีที่จะเข้ามาขายในสหรัฐอเมริกาจะต้องผ่านการทดสอบ
ซึ่งสหรัฐบอกว่าเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก ต้องใช้ทั้งเงินและเวลา
"บังเอิญว่าช่วงเริ่มต้นบริษัท SAVECOM เริ่มมาจากการศึกษาในเรื่องของมาตรฐานต่างๆ
ของโลก ทั้ง FCC ไอเอสโอ เพราะตอนนั้นเราคิดไว้แต่แรกว่าอยากให้มีสินค้าไอทีของไทยไปขายในอเมริกา
ตรงนี้ก็เลยง่ายขึ้น"
และที่ขาดไม่ได้คือ การจดทะเบียนลิขสิทธิ์ ทั้งเครื่องหมายการค้า ซ้อสโค้ด
รูปแบบสินค้า ตัวแพ็กเกจที่บรรจุ ที่สหรัฐนำไปจดลิขสิทธิ์ทุกอย่างที่ทำได้
เพราะการวางขายในตลาดต่างประเทศ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือปัญหาเรื่องการถูกก๊อบปี้
หลังจาก SC2000 ออกสู่ตลาด สหรัฐก็ได้รับการแนะนำจากผู้บริหารของเนคเทค
ให้ติดต่อจากกรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อไปออกบูธแสดงสินค้าที่งานคอมเด็กซ์ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปีที่แล้ว
ผลจากการออกงานคอมเด็กซ์ครั้งนี้ ปรากฏว่า ได้รับความสำเร็จด้วยดี ได้ออร์เดอร์มา
10,000 ชิ้นป้อนให้กับร้านเซอร์กิต ซิตี้ สหรัฐอเมริกา และอีก 6,000 ชิ้นจำหน่ายในมาเลเซีย
ในขณะที่บริษัทคอมพิวเตอร์ในประเทศ เนปาล สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ฮ่องกง
ซื้อไปทดลองใช้งานให้กับลูกค้า ซึ่งนั่นหมายความว่า โอกาสที่จะมียอดสั่งซื้อตามมานั้นมีอยู่มาก
แน่นอนว่ากว่า SC2000 จะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเจอกับสินค้าของคู่แข่งที่มาจากโรงงานในสหรัฐอเมริกา
และประเทศอื่นๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตสินค้าไอทีมาเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาด
แต่สิ่งที่ทำให้ SC2000 ขายได้ในตลาด สหรัฐบอกเหตุผลง่ายๆ ว่า เพราะสินค้ามีคุณภาพดีไม่แพ้คู่แข่ง
แต่มีราคาถูกกว่ามาก ราคาขายของ SC2000 คือ 39 เหรียญ ในขณะที่ของยี่ห้ออื่นๆ
ที่วางขายอยู่มีราคาถึง 79-90 เหรียญ
ดูเหมือนว่า คำตอบของสหรัฐจะทำให้หลายคนมองเห็นถึงลู่ทางงามๆ ที่บางครั้งสินค้าไอทีเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยความซับซ้อนของเทคโนโลยีชั้นสูง
เพียงแต่หาจังหวะเหมาะๆ และศึกษาความต้องการตลาดดีๆ โอกาสจะทำเงินเข้าประเทศก็ไม่ใช่เรื่องยาก
เพราะการผลิต SC2000 นี้ สหรัฐไม่ได้ตั้งโรงงานผลิตขึ้นเอง แต่ใช้วิธีจ้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นคนผลิตให้
ซึ่งสินค้าคอมพิวเตอร์ และไอทีส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีจ้างผลิตตามออร์เดอร์อยู่แล้ว
เพียงแต่ต้องมีเทคโนโลยี เป็นของตัวเองเท่านั้น
แต่ปัญหาสำคัญของการขยายตลาด SC2000 ในเวลานี้ก็คือ การขาดเงินทุนที่จะมาใช้ในการขยายกำลังการผลิต
หลังจากที่ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 5 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ก็หมดไปกับการผลิตสินค้าล็อตแรก
10,000 ชิ้นแรกที่ส่งขายไปแล้ว "อย่างน้อยเราต้องมีเงินลงทุนอีก 10 ล้านบาท
เพื่อเอาไว้สต็อกสินค้าสัก 30,000 ชิ้น เพราะสินค้าลักษณะนี้ต้องขายเร็ว
สั่งมาปั๊บต้องส่งของทันที เวลานี้เราทำแบบนั้นไม่ได้เพราะไม่มีเงิน ก่อนหน้านี้ก็มีห้างไอทีซุปเปอร์สโตร์
ของสหรัฐฯติดต่อให้ผลิตป้อน 50,000 ชิ้นแต่เราทำไม่ได้"
สหรัฐเล่าว่า ในการไปออกบูธที่คอมเด็กซ์ บังเอิญได้ไปเจอกับผู้บริหารของธนาคารในไทยแห่งหนึ่งที่ไปดูงานที่นั่น
และก็ได้รับการทาบทามจากผู้บริหารคนนั้นจะช่วยในเรื่องเงินกู้จากธนาคาร แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องย้ายจากโรงงานที่ผลิตอยู่ในประเทศมาเลเซียมาอยู่ที่ไทย
แต่เอาเข้าจริง หลังจากจัดการย้ายกำลังการผลิตครึ่งหนึ่งมาไว้ที่ไทย โดยจ้างโรงงานพรินเซอร์กิตบอร์ดในไทยแห่งหนึ่งผลิตให้
ทุกวันนี้เขาก็ยังไม่เจอผู้บริหารคนนั้น และการติดต่อกับธนาคารอื่นๆ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคืบหน้า
"สิ่งที่สถาบันการเงินของไทยต้องการคือ เขาจะดูจากสินทรัพย์ หรือโรงงาน
ซึ่งการผลิตสินค้าคอนซูเมอร์ไอทีมันไม่ได้เป็นแบบนั้น เราไม่ได้มีโรงงาน
แต่เราถือโนว์ฮาว และออร์เดอร์ ซึ่งเป็นจุดที่ธนาคารในไทยยังไม่เข้าใจ"
ความหวังของสหรัฐก็คือบินกลับไปเจรจากับธนาคารเวลฟาโก้ ของอเมริกา เพื่อให้มาร่วมทุนในบริษัท
มีข้อตกลงอยู่ที่เงินทุน 40 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในการผลิต SC2000 จำนวน 1
แสนการ์ด
หรืออีกทางหนึ่งก็คือ ไปร่วมทุนกับนักลงทุนในประเทศมาเลเซีย ที่ให้ความสนใจที่จะนำเงินมาลงทุนร่วมด้วย
แต่นั่นหมายถึงการที่ต้องย้ายการผลิตที่ผลิตในไทยกลับไปที่มาเลเซีย ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่สหรัฐต้องการ
เพราะอย่างน้อยเวลานี้เขาก็ทำให้คนไทยมีแรงงานเพิ่มขึ้น 20-30 คนแล้ว
"ยังไงผมก็คงต้องสู้ให้สุดๆ ก่อน เพราะผมอยากให้สินค้าไอทีเมดอินไทยแลนด์ไปขายที่ต่างประเทศ"
นอกจากจะมีสินค้าของตัวเองไปทำตลาดในต่างแดนแล้ว สหรัฐก็ยังทำหน้าที่เซลส์แมนบุกเบิกตลาดให้กับสินค้าของคนไทยอื่นๆ
ที่ต้องการไปขายที่อเมริกาด้วย และ สินค้าที่ว่านี้ก็คือซอฟต์แวร์จัดการห้องสมุด
ที่ชื่อ เมจิกไลเบอร์รี่ ที่คิดค้นขึ้นจากมันสมองของคนไทย ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทโสมาภา
บริษัทของญาติที่ทำธุรกิจทางด้านคอมพิวเตอร์ ไปวางจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกา
จะเริ่มทดลองที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองออเรนจ์คัลตี้ในสหรัฐอเมริกา
"โอกาสของซอฟต์แวร์ตัวที่จะบุกเบิกตลาดในอเมริกา มีมาก เพราะผลิตตามมาตรฐานของมาร์กซ์
ซึ่งเป็นมาตร ฐานของระบบห้องสมุดทั่วโลก และที่สำคัญราคาถูกกว่าที่ผลิตในอเมริกา"
ในสายตาของสหรัฐแล้ว อุปสรรคในเรื่องของเทคโนโลยีไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับคนไทย
เพราะแต่ละประเทศไม่มีใครเหนือกว่าใคร แต่สิ่งที่ไทยจะได้เปรียบกว่าคนอื่นก็คือราคาที่ถูกกว่า
และที่สำคัญที่สุดก็คือ หน่วยงานของรัฐต้องให้การสนับสนุนมากกว่านี้
"ดูอย่างไต้หวัน หรือ อินเดีย รัฐเขาสนับสนุนเต็มที่ ไม่เหมือนของเรา คนไทยเรายังต่างคนต่างทำ
ไม่กลมเกลียวกัน ภาครัฐเองก็ควรสนับสนุนมากกว่านี้" สหรัฐกล่าวทิ้งท้าย