ด้วยแผนการตลาดที่แยบยล ศิริกาญจน์สามารถทำให้กระเป๋า "Kipling"
ดังข้ามศตวรรษ ด้วยการเปิดสาขาใหม่อีกหลายแห่ง
เมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2542 มีข่าวสังคมเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง
กล่าวถึงคุณแม่ และลูกชายของตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง ที่ร่ำรวยนักหนาในจังหวัดภูเก็ตว่า
กำลังชื่นชอบกระเป๋า Kipling อย่างมาก และมีสะสมไว้หลายรุ่น ซึ่งแน่นอนแม้เป็นเพียงข้อความสั้นๆ
แต่ย่อมมีผลทำให้หลายๆ คนที่ไม่รู้จักกระเป๋ายี่ห้อนี้ต้องพูดถึง และถามไถ่กันต่อๆ
ไปแน่ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในแวดวงสังคมคนชั้นสูงในจังหวัดภูเก็ตเอง
ข่าวเล็กๆ ชิ้นนี้อาจจะเป็นข่าวซุบซิบธรรมดา หรือเป็นแผนการตลาดที่แยบยลของศิริกาญจน์
ศักดิเดชน์ ภานุพันธ์ ณ อยุธยา เจ้าของลิขสิทธิ์ Kipling ในเมืองไทยหรือไม่
ไม่มีใครรู้ แต่เรื่องจริง ที่"ผู้จัดการ" ยืนยันได้ก็คือ ในเดือนมกราคมปี
2543 ร้าน Kipling สาขาภูเก็ต ซึ่งเป็นการร่วมทุนของศิริกาญจน์ และเศรษฐีภูเก็ตรายหนึ่งจะเปิดตัวขึ้นแน่นอน
จุดที่น่าสนใจอยู่ ที่ว่าข่าวสังคม ที่มักจะเขียนถึงว่า คุณหญิงคนโน้น คุณนายคนนี้
หรือดาราหนังชื่อดังบางคนมี "ลิง" รุ่นนี้ กี่สีๆ กี่ใบ น่าจะเป็นตัวจุดประกาย ที่สำคัญทำให้สินค้าชิ้นนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วในกทม.
Kipling เป็นกระเป๋าจากประเทศเบลเยียม ซึ่งผลิตขายมานานประมาณ 12 ปีแล้ว
ศิริกาญจน์เป็นผู้นำมาขายในเมืองไทยเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันประสบความสำเร็จในการขายเป็นอย่างมาก
ศิริกาญจน์เคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าภาวะวิกฤติทางการเงิน
เป็นส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสให้สินค้าตัวนี้เป็นดาวรุ่งพุ่งแรง และยังค้างฟ้าอยู่จนถึงวันนี้เพราะเมื่อมีปัญหาทางการเงิน
ไลฟ์สไตล์ของคนไทยก็เปลี่ยนไปเป็น การใช้ชีวิต ที่ง่ายๆ สบายๆ ขึ้น ซึ่งเหมาะกับกระเป๋าไนล่อนรูปทรงเยเย
ไม่มีฟอร์ม ที่ทนแดดทนฝน และมีสีสันให้เลือกมากมายอย่างกระเป๋ายี่ห้อนี้ กระชากใจเพิ่มขึ้นด้วยลิงตัวน้อย ที่ห้อยมาเป็นสัญลักษณ์นั้น มันโดนใจสาวใหญ่
สาวน้อยทั้งหลาย และ ที่สำคัญราคา ที่เริ่มจากหลักพันต้นๆ นั้น ถูกกว่ายี่ห้อแบรนด์เนมชื่อดังอื่นๆ
จากอเมริกา และยุโรป
อย่างไรก็ดีราคาของกระเป๋ายอดนิยมนี้ก็ยังสูงเกินไปสำหรับลูกค้าทั้งหลาย ที่รายได้ต่ำแต่คลั่งไคล้ยี่ห้อนี้ตามอย่าง
พวกไฮโซฯ และนี่เป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดกระเป๋าปลอมลอกเลียนแบบขึ้นมากมาย
เกือบทั่วทุกหัวถนน ซึ่งของปลอม เองก็อาจจะมีหลายระดับราคาขึ้นอยู่กับวัสดุ ที่ทำขึ้น
โดยอาจจะเริ่มจากราคาเพียง 299-ราคาเป็นพันกว่าบาทเช่นกัน
และเมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม 2542 นักข่าวหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการรายวัน"
ไปสืบเสาะมาได้เพิ่มว่า บำรุง แซ่ตั้ง ได้ไปทำการจดทะเบียนเครื่องหมายยี่ห้อนี้มาตั้งแต่
22 พ.ค.2532 โดยมีสัญลักษณ์ ที่เป็นตัวหนังสือ และลิงหางยาว เป็นตราการค้า
เหมือนกับของจากประเทศเบลเยียม ไม่ผิดเพี้ยนเพียงแต่สินค้า ที่ระบุไว้ รองเท้า
เสื้อ และเสื้อ กีฬาเท่านั้น และเมื่อบำรุง คนไทย ที่เกิดปีวอกมีอาชีพขายของ ที่คลองถมคนนี้
ไปขอจดทะเบียนเพิ่ม เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีคนจดทะเบียนเครื่องหมายนี้ในหมวดกระเป๋าไปแล้ว
คือ บริษัทวอลเดอร์สตร้าท ซึ่งดำเนินกิจการกระเป๋ามาร่วม 12 ปี ผลิต และจำหน่ายประมาณ
100 ประเทศทั่วโลก โดยขอจดในเดือนต.ค.40 และมีนาคม 41
หลักฐานในเรื่องนี้อาจพิสูจน์กันได้ไม่ยาก แต่มันน่าคิดตรง ที่ว่าหาก Kipling
เป็นของคนไทยเอง ความดังของมันจะได้รับการยอมรับอีกหรือไม่ เพราะพื้นฐานทางจิตสำนึกของคนไทยบางส่วนไม่ได้ภูมิใจในความเป็นไทยอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังไม่มีปัญหาในเรื่องการฟ้องร้องเกิดขึ้น และศิริกาญจน์เจ้าของลิขสิทธิ์ในเมืองไทยเองก็ยังเดินหน้าขยายสาขา
ตามแผนการที่วางไว้อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อต้านรับกับของปลอม ที่มีทุกหัวถนน
โดยปัจจุบันเปิดไป แล้ว 5 สาขาคือ ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ดิเอ็มโพเรียม ตึกมณียา
เซ็นทรัลชิดลม และ ที่อิเซตัน ส่วน ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า
และเซ็นทรัล บนถนนพระราม 3 รวมทั้งสาขา ที่จังหวัดภูเก็ตกำลังอยู่ในช่วงตกแต่งบูท
และคงทยอยเปิดตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 แน่นอน