ขณะที่กระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่สนใจของประชาชน และท่ามกลางการแข่งขันในด้านยอดการจำหน่ายของค่ายรถยนต์ต่างๆ
นั้น ดูเหมือนว่า มาสด้าจะอาศัย สถานการณ์ดังกล่าวช่วงชิงการนำ และวางตำแหน่งของมาสด้า
ไฟเตอร์ ไว้ในจุดที่น่าจับตามองมากที่สุดในช่วง ที่ผ่านมา
การแนะนำ มาสด้า ไฟเตอร์ ด้วยเครื่องยนต์ดีเซลซีรี่ส์ W รุ่น W9 2900 ซีซีใหม่
เมื่อเร็วๆ นี้ นอกจากจะเน้น ที่ขุมกำลัง และสมรรถนะ ที่เปี่ยมพลังตามคุณลักษณะพื้นฐานแล้ว
สิ่งที่มาสด้าพยายามเน้นอีกประการหนึ่งก็คือ การผ่านการตรวจ สอบมาตรฐานสากลไอเสียต่ำสุด ที่เรียกว่า
EC Step II หรือ ที่คุ้นตาในนามมาตรฐานยูโร ทู ซึ่งกำลังจะเป็นมาตรฐาน ที่มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในระยะเวลาอันใกล้นี้นั่นเอง
เครื่องยนต์ดีเซลซีรี่ส์ W ของมาสด้า ในปัจจุบันประกอบด้วยเครื่องยนต์
WL 2500 ซีซี ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ยอดนิยม, เครื่องยนต์สปอร์ต WL-T 2500 ซีซีอินเตอร์คูลเทอร์โบ
และล่าสุด W9 2900 ซีซี ซึ่งมีสมรรถนะสูงสุด แต่ประหยัดน้ำมัน และให้ความเงียบที่สุดในกลุ่มรถกระบะระดับเดียวกัน
ทั้งนี้ในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม ที่ผ่านมา ยอด การจำหน่ายมาสด้า ไฟเตอร์
ได้เพิ่มขึ้น 108% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งชิเกมิ อูโอตานิ
ประธานบริษัทมาสด้า เซลล์ (ประเทศไทย) เชื่อว่าการแนะนำเครื่องยนต์ใหม่ของ
มาสด้า ในครั้งนี้จะส่งผลให้ยอดการจำหน่ายมาสด้า ไฟเตอร์ จะเพิ่มขึ้นอีก
50-60%
ก่อนหน้านี้ ได้มีความเคลื่อนไหวในวงการรถยนต์กระบะเกี่ยวกับอัตราภาษีสำหรับรถยนต์กระบะสี่ประตู
ซึ่งมีฟอร์ด ในฐานะ Parent Company ของมาสด้าเป็นหัวเรี่ยว หัวแรงหลักในการผลักดัน
ซึ่งส่งผลให้ยอดจำหน่ายของทั้ง ฟอร์ด และมาสด้า ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วในฐานะ ที่เป็นรายแรกๆ
ที่ผลิตรถยนต์กระบะสี่ประตูออกสู่ตลาด
อย่างไรก็ดี แม้ว่ามาสด้าจะชิงจังหวะแนะนำเครื่องยนต์ชนิดใหม่ พร้อมกับการออกแบบรถกระบะแบบสี่ประตู
ซึ่งสอดรับกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวางก่อนคู่แข่งขันรายอื่นๆ
แต่ภายใต้กระแสการแข่งขัน และปัจจัยเรื่องความเชื่อถือของผู้ใช้รถยนต์ สิ่งที่มาสด้าต้องพิสูจน์ต่อไปจึงอยู่ ที่
เมื่อผู้ผลิตรายอื่นๆ ขยายสายการผลิต และปรับตัวเข้ามาต่อสู้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว
มาสด้าจะยืนระยะการเติบโตของส่วนแบ่งตลาดนี้อย่างไร