ผลกระทบจากความเลวร้ายรุน แรงด้านเศรษฐกิจในปีนี้ทำ ให้อุตสาหกรรมยาได้รับความเสียหาย
อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
ขณะที่บริษัทท้องถิ่นกลับเติบโตขึ้นแม้จะไม่มากก็ตาม แต่นั่นสะท้อนให้เห็นถึงแนวความคิดของการบริโภคของผู้บริโภค
ที่พยายามทุกวิถีทางที่จะใช้เงินอย่างประหยัดในการรักษาสุขภาพของตนเอง นั่นคือ
เลือกซื้อยาในราคาที่ต่ำโดยมองเรื่องคุณภาพเป็นอันดับรอง
ปี 2541 มูลค่าตลาดโดยรวมทั่วไปของธุรกิจยาในประเทศไทยหดตัวลงเหลือประมาณ
29,120 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 6% จากเดิมเมื่อปี 2540 ตลาดรวมธุรกิจยามีมูลค่าประมาณ
31,000 ล้านบาท
"จากตัวเลขที่หดตัวลงมี 2 ส่วน ส่วนแรกบริษัทข้ามชาติจะได้รับผลกระทบหนัก
โดยเฉลี่ยติดลบประมาณ 19% ขณะเดียวกันบริษัทยาท้องถิ่น เช่น องค์การเภสัชกรรม
ไทยนครพัฒนา กลับโตขึ้นประมาณ 10-20% ซึ่งถ้าดูตัวเลขการโตของบริษัทยาท้องถิ่นโดยเฉลี่ยแล้ว
ในปีที่ผ่านมาโตขึ้นประมาณ 3.3%" สิทธิชัย โอฬารกุล กรรมการ ผู้จัดการ
บริษัท แอสตร้า (ไทย) จำกัด กล่าวถึงสถานการณ์ ธุรกิจยาไทยในช่วงขาลง
เหตุผลที่เกิดการสวนทางกัน เกิดจากความตระหนก ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกำลังการซื้อที่ลดลง
ส่งผลให้การนึกถึงสุขภาพย่อมหายไปด้วย แม้ไม่มากถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย
ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ที่คนเหล่านี้ยังนึกถึงเรื่องสุขภาพเป็นอันดับต้นๆ
อยู่ อีกทั้งรัฐบาลไทยยังส่งเสริม หรือเข้ามาเข้มงวดในเรื่องการประหยัด การตัดงบประมาณแม้กระทั่งการจำกัดรายการสำหรับการซื้อยาในโรงพยาบาล
"หลังจากเศรษฐกิจตกต่ำ ทางการมีนโยบายให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งหันมาใช้ยาที่ผลิตภายในประเทศเพราะราคาถูกกว่า
ทำให้เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทผลิตยาท้องถิ่น ในเวลาเดียวกันมีผลกระทบต่อบริษัทข้ามชาติ
คือ ขายไม่ได้" สิทธิชัย กล่าว
สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการเช่นนี้ สิทธิชัยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
รัฐบาลสมควรจะเน้นเรื่องประหยัด มากกว่าคุณภาพหรือไม่ เพราะถ้ารัฐบาลใช้นโยบายดังกล่าว
จากการคำนวณของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2541 จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาได้
600-800 ล้านบาท นี่คือเม็ดเงินที่กระทรวงสาธารณสุขประสบความสำเร็จ ขณะที่กระทรวงการคลังกลับได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว
คือ การเก็บภาษีกับบรรษัทยาข้ามชาติขนาดใหญ่จำนวน 48 แห่งที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์
(PPA) หายไปจากเดิมประมาณ 1,400 ล้านบาท ทั้งๆ ที่รัฐควรจะได้
"เรามองดูว่าบางทีการทำงานของกระทรวงหรือหน่วย งานจะเป็นลักษณะตัวใครตัวมัน
เหมือนกับการเล่นดนตรีที่เล่นเดี่ยวๆ ไม่เล่นเป็นวง แต่จะไม่ได้ดูการเชื่อมโยงต่อกัน
ถ้ามองในภาพของกระทรวงสาธารณสุขก็คงจะเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว คือ สามารถประหยัดเงินลงได้อย่างมาก
แต่มันถูกทางหรือไม่ โดยการซื้อยาถูกแต่คุณภาพยังเป็นที่กังขาเล็กน้อย อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อคนไข้"
สิทธิชัย ให้ทัศนะ
หลายคนสงสัยว่าบริษัทท้องถิ่นอาจจะสามารถจ่ายภาษีชดเชยในส่วนที่ขาดหายได้
นั่นเป็นข้อสงสัยที่ไม่ถูกต้อง "เพราะบริษัทยาท้องถิ่นมีอัตราการเติบโตขึ้นเพียง
3.3% เท่า
นั้น หมายถึงทุกคนแข่งขันกันด้วยราคา ดังนั้นกำไรจะไม่มี บางบริษัทขายเท่าทุนเพื่อให้อยู่รอดเท่านั้นแล้วจะนำเงินที่ไหนมาเสียภาษี"
บรรษัทยาข้ามชาติตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่าเมื่อสามารถประหยัดเงินได้ 600-800
ล้านบาท แต่กลับเสียโอกาสจากเขาไป 1,400 ล้านบาท ขณะเดียวกันสุขภาพของคนไทยไม่เหมือนก่อน
เพราะในยุครุ่งเรืองแพทย์มีสิทธิ์เลือกสั่งยาให้คนไข้ "เพราะแพทย์ทุกคนจะต้องรู้ว่ายาตัวไหน
ที่พิสูจน์แล้วและเหมาะสมต่อคนไข้ แต่ขณะนี้ความเป็นอิสระในการใช้ยาของแพทย์ถูกจำกัดลงด้วยนโยบายของรัฐ"
อย่างไรก็ดี สิทธิชัยไม่ได้สงสัยในเรื่อง ความแตกต่างของคุณภาพระหว่างบริษัทยาท้องถิ่นกับบรรษัทยาข้ามชาติ
"ยาที่ผลิตในประเทศอาจจะสู้ ได้ถ้ามีการควบคุณภาพให้ดี" เหตุผลที่เขายกขึ้นมาสำหรับราคายาที่ผลิตจากบรรษัทข้ามชาติสูงกว่าภายในประเทศเกิดจากต้นทุนการผลิตสูง
โดยเฉพาะงบประมาณที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนาจำนวน 18-20% ของยอดขาย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทเมื่อยาถึงมือคนไข้แล้ว
"ถามว่าบริษัทท้องถิ่นทำได้หรือไม่? เขาก็ทำได้ซึ่งต้องมีการควบคุมที่ดี
แต่ปัจจุบันคุณภาพยายังมีน้อยมาก จากการสำรวจของสมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ (PPA)
ปรากฏว่าประมาณ 1 ใน 3 เป็นยาที่ได้คุณภาพ ที่เหลือ ลืมไปได้เลย" สิทธิชัย
กล่าว
นอกจากนี้อุตสาหกรรมยาในประเทศไทยเป็นไปในลักษณะ "เบี้ยหัวแตก" ซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน
การแข่งขันรุนแรงอย่างมาก อย่างเช่น แอสตร้า (ไทย) ล่าสุดมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง
1.8% ถ้าเทียบกับบรรษัทยาข้ามชาติด้วยกันแล้วอยู่อันดับ 9 ขณะที่อันดับ 1
คือ เฮิกซ์ เมเรียน รูซเซล (ประเทศไทย) มีส่วนแบ่งการตลาด 3.28% เท่านั้น
ซึ่งไม่ต่างกันเท่าไหร่ "มันเป็นเบี้ยหัวแตกและไม่เคยมีใครมีส่วนแบ่งการตลาดถึง
5% แม้ว่าเศรษฐกิจจะดีแค่ไหนก็ตาม บริษัทยาข้ามชาติบางแห่งมียอดขายต่อปีไม่ถึงล้านบาทเลย"
ประกอบกับความผันผวนทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2540 และรุนแรงอย่างมากในปีต่อมา
ส่งผลให้ต้นทุนยานำเข้าได้พุ่งพรวดพราดจนไม่สามารถควบคุมได้ ขณะเดียวกันบรรษัทยาข้ามชาติเหล่านี้ยังไม่ได้รับโอกาสจากรัฐบาลไทยในการขึ้นราคามาเป็นเวลา
2 ปี ดังนั้นยุทธศาสตร์เพื่อเอาตัวรอดของบรรษัทยาข้ามชาติ คือ การหยุดนำเข้ายาบางชนิดที่ไม่คุ้มกับต้นทุน
นอกจากนี้ยังพยายามหาทางผลิตยาในประเทศเพื่อลดต้นทุน เช่น แอสตร้า (ไทย)
ยาประมาณ 55% ได้ให้บริษัท โอลิค จำกัด เป็นผู้ผลิตยาป้อนให้บริษัท แม้กระทั่งการหั่นทอนงบประมาณในด้านการประชุม
แพทย์ในต่างประเทศ การสนับสนุนด้านวิชาการ ซึ่งแอสตร้า (ไทย) สามารถประหยัดเงินไปได้
10% ในปีที่ผ่านมา
"กำไรของแอสตร้าในปี 2541 ก่อนเสียภาษียังพอมีอยู่บ้างแต่เมื่อเสียภาษีแทบจะไม่เหลืออะไรเลย
แต่ก็พอหายใจได้แต่หายใจแรงๆ ไม่ได้ ที่เราอยู่ได้เพราะบริษัทแม่ช่วยเหลือ
แต่ถ้าบริษัทนี้เป็นของผมถ้าสถาน การณ์เป็นอย่างนี้คงจะปิดกิจการไปแล้ว"
สิทธิชัย กล่าว
ในปี 2542 อุตสาหกรรมยาในสายตาของสิทธิชัย ยังมีความไม่แน่นอนอยู่เหมือนเดิม
แต่คาดว่าจะกระเตื้องขึ้นบ้างเมื่อคนหันมาใช้เงินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร้านขายยาน่าจะได้รับผลดีขึ้น
ส่วนโรงพยาบาลอาจจะมีอาการทรงๆ เนื่องจากติดปัญหานโยบายรัฐบาลที่เน้นความประหยัด
แม้ว่าจะมีบัญชีหลักออกมาทำให้โรงพยาบาลสามารถจัดซื้อยาได้มากขึ้นก็ตาม ดังนั้นโอกาสที่บริษัทยาจะขายยาได้หรือไม่ได้ยังดูไม่ชัดเจน