ดร.เชิดเกียรติ เชี่ยวธีระกุล อดีต ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทซีคอน ดีเวลลอปเม้นท์
บริษัทรับก่อสร้างบ้านและบริษัทพัฒนาที่ดินรายใหญ่ เคยให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้ชีวิตการทำงานที่ซีคอนลงตัวที่สุด
หากจะลาออกจากที่นั่นคงจะไม่ไปเป็นลูกจ้างใครอีกแล้ว
แต่ในที่สุด ดร.เชิดเกียรติก็ได้ลาออกมารับตำแหน่งกรรมการ ผู้จัดการใหญ่
ในบริษัทโรยัลเจริญกรุง เจ้าของตึก RCK. Tower บนถนนสีลม มีบทบาทและอำนาจในการบริหารรองจาก
ราศรี บัวเลิศ ทั้งๆ ที่หากย้อนเวลาไปสักประมาณปีกว่า ดร.เชิดเกียรติ แทบจะไม่รู้จักชื่อของราศรี
และโครงการโรยัลเจริญกรุงเลย อาจจะรู้เพียงคร่าวๆ ว่า เดิมเป็นของอาจารย์รังสรรค์
ต่อสุวรรณ ทางราศรีเข้าไปซื้อมาบริหารต่อเท่านั้นเอง แต่หน้าตาราศรี หรือรูปแบบโครงการเป็นอย่างไรนั้นไม่เคยรู้
และไม่เคยสนใจที่จะรู้เลย
จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อประมาณ 8-9 เดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสพบราศรีผ่านเพื่อนคนหนึ่งที่บอกว่าอยากให้เข้ามาคุย
เผื่อจะให้คำปรึกษาอะไรได้บ้างในเรื่องของงานบริหาร คุยไปคุยมา ราศรีก็ชวนให้ทำงานด้วย
"ครั้งแรกที่รู้จักผมก็ทึ่งคุณราศรีนะ ไม่ว่าในเรื่องความคิด ในเรื่องอุดมการณ์ในการทำธุรกิจ
เป็นผู้หญิงที่มีความสามารถมากคนหนึ่งทีเดียว"
แต่เพียงความประทับใจในครั้งแรกนั้นก็ไม่ได้รุนแรง พอที่จะตัดสินใจมาทำงานด้วย
ความผูกพันกับคุณกอบชัย ซอโสตถิกุลในซีคอนซึ่งทำมา 5 ปีกว่านั้น ยังเหนียวแน่นมากพอเสียจนดร.แทบจะไม่ได้เปิดดูรายละเอียดโครงการ
RCK. ที่ราศรีฝากไปให้ศึกษาด้วยซ้ำไป หลังจากนั้นเมื่อทางราศรีติดต่อกลับมาอีก
และตัวเองก็ได้มีโอกาสไปพบกับทีมงานที่ปรึกษาและทีมงานบริหารเช่น กฤษมัย
สุขุม ซึ่งเพิ่งลาออกจากกลุ่มที.ซี.ซี โฮเต็ลแอนด์ดีเวลลอปเม้นท์ ในเครือโรงแรมอิมพีเรียลมาหมาดๆ
ความสนใจก็เริ่มเกิดขึ้นและได้ตัดสินใจมารับตำแหน่งดังกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
2542
เหตุผลสำคัญหลัก 3 ประการในการตัดสินใจของดร. เชิดเกียรติ ก็คือ 1. แน่นอนเป็นงานที่ท้าทายมาก
RCK. เป็น โครงการที่ใหญ่ มูลค่าการก่อสร้างมหาศาล มีการทำงานกันในระดับนานาชาติ
2. ตนเองมีโอกาสที่ได้ใช้ประสบ การณ์ต่างๆ ในการบริหารที่เคยทำมาแล้วในบริษัทอสังหาริม
ทรัพย์หลายแห่งเช่น การเข้าไปเป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ในบริษัท เอ็ม
บี เค พร็อพเพอร์ตี้แอนด์ดีเวล ลอปเม้นท์ เป็นผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายจัดการทรัพย์สินของ
บริษัทธนายง รวมทั้งประสบการณ์บริหารงานในซีคอน ซึ่งบริษัทเหล่านั้นก็จะมีทั้งพื้นที่ชอปปิ้งเซ็นเตอร์
คอนโดมิเนียม และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์
และข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือความมั่นใจในระบบไทม์แชร์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์สุดยอดในการหาทางออก
ในช่วงที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซาอย่างหนัก
RCK ทาวเวอร์เป็นตึกที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 333,000 ตารางเมตร สูง 63
ชั้น เป็นตึกสูงแบบผสมผสาน การใช้ประโยชน์ (Mixed use) มีทั้งศูนย์การค้า
ออฟฟิศคอนโดมิเนียม และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ระดับหรูที่ถูกนำมาทำธุรกิจไทม์แชร์ประมาณ
700 ห้อง
รายได้ที่จะเข้ามาหล่อเลี้ยงโครงการทั้งหมดของราศรี 90% ก็อยู่ตรงธุรกิจไทม์แชร์นี้
ราศรีได้เซ็นสัญญากับบริษัทอาร์ซีไอ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจ ไทม์แชร์รายใหญ่รายหนึ่งของโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
2541 ซึ่งระบบนี้จะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของธุรกิจได้อย่างดี
ราคาสมาชิกของไทม์แชร์ต่อห้อง ต่ออาทิตย์ ตลอดระยะเวลา 50 ปีนั้น RCK กำหนดไว้ประมาณ
10,000 ดอลลาร์ ถ้าหากปีไหนไม่เข้าพัก ลูกค้าก็ขอใช้สิทธิ์แลกเปลี่ยนเป็นโรงแรมอื่นๆ
ในเครือได้ทั่วโลก
ดร.เชิดเกียรติได้ใช้เวลาศึกษาในเรื่องนี้จนเข้าใจอย่างละเอียด ทั้งจากเอกสาร
ผู้รอบรู้ และทางอินเตอร์ เน็ตจนมั่นใจว่าโครงการนี้หากได้ระบบนี้มาช่วยจะประสบความสำเร็จมาก
ถ้าหากยังขายพื้นที่เป็นคอนโดมิเนียมตามเป้าหมายเดิมนั้นดร.เชิดเกียรติยืนยันว่า
ณ วันนี้ต้องขายต่อตารางเมตรไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท หากขายต่ำกว่านี้เจ๊งแน่นอน
ซึ่งเป็นเรื่องที่ขายได้ยากมากสำหรับปัจจุบัน
"แต่ไม่ใช่ทางออกที่จะทำกันง่ายๆ ไม่ใช่มีตึกแล้วจะขายในระบบไทม์แชร์ได้เลย
โครงการของคุณต้องมีระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ ไว้พร้อม และที่สำคัญบริษัทใหญ่ๆ
จะยอมรับโครงการคุณเข้าเป็นสมาชิกหรือเปล่าซึ่งสำคัญมาก" ดร.เชิดเกียรติกล่าวย้ำ
ห้องพักในระบบไทม์แชร์ กำลังเริ่มขายและภายในสิ้นปีนี้จะมีห้องพักที่สมบูรณ์แบบประมาณ
200 ห้องเปิดบริการพร้อมๆ กับส่วนของชอปปิ้งเซ็นเตอร์ ส่วนที่เหลือคาดว่าจะขายหมดในระยะเวลา
3 ปี เป้าหมายจะขายตลาดต่างประเทศ 25-30% ตลาดที่เป็นนักธุรกิจในกรุงเทพฯ12-15%
ตลาดของลูกค้าที่บินมาชมแล้วสนใจซื้อ 15-20% อีก 5% จะขายให้กลุ่มคนที่ร่ำรวยภายในประเทศ
กลุ่มนี้กำลังใช้เงินจำนวนมหาศาลในการเร่งการก่อสร้างเพื่อจะเปิดโครงการให้ทันสิ้นปีนี้
การตกแต่งภายในที่เปลี่ยนจากการขายห้องเปล่าแบบคอนโดเป็นห้องพักที่หรูหรา
รวมทั้งต้นทุนการบริหารการขายที่เพิ่มขึ้นเพราะจำเป็นต้องใช้เอเยนต์ในต่างประเทศทั้งสิ้น
ราศรีเคยกล่าวว่าต้นทุนจาก 12,000 ล้านบาทเพิ่มสูงขึ้นเป็น 15,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
เห็นได้ชัดๆ ว่ารายได้จากการขายสิทธิของไทม์แชร์แม้จะเข้ามาในระยะนี้ แต่ก็ไม่ใช่เม็ดเงินก้อนใหญ่ที่จะเข้ามาทีเดียว
แต่ทยอยเข้ามาจนกว่าโครงการจะพักได้จริง นาคอนกรุ๊ปซึ่งเคยทำสัญญาซื้อขายยกชั้น
10 ชั้นอย่างที่เคยเป็นข่าว ก็ยังไม่ได้จ่ายเงินเป็นก้อนเข้ามา บ้านจัดสรรที่กำลังขายอยู่เช่นบนถนนสุวินทวงศ์
และบนถนนประชาชื่น ก็ยังคงซบเซาไปตาม กระแส โรงแรมที่โรโตรัวก็เช่นกัน ก็คงยังไม่ใช่ตัวทำกำไรมากมายอะไร
นัก
แต่ที่น่าทึ่งก็คือราศรียังมีแผนที่จะซื้อโครงการโรงแรมตามเมืองท่องเที่ยวในประเทศไทยอีก
2 โรงแรมภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ ซึ่งต้องใช้เงินก้อนอีกจำนวนหนึ่ง ด้วย
เหตุนี้จึงมักมีคำถามที่ค้างคามาตลอด ว่าราศรีมีกลยุทธ์ในการบริหารเงินอย่างไร
ต่อคำถามนี้ของ "ผู้จัดการ รายเดือน" ดร.เชิดเกียรติก็ได้ยิ้มๆ แล้วตอบว่า
"ผมไม่ทราบครับ"