ยูคอม เป็นบริษัทโทรคมนาคมที่เติบโต มาเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับชินวัตร
โมเดลการสร้างธุรกิจของทั้งสองจึงไม่แตกต่างกันนัก โดยเฉพาะการมีโทรศัพท์มือถือเป็นธุรกิจหลักที่เป็นตัวสร้างเม็ดเงินให้
แต่การแก้ปัญหาของยูคอม หลังเศรษฐกิจล่มสลายกลับไปได้ล่าช้ากว่า ด้วยเงื่อนไขสำคัญก็คือ
หนี้ก้อนโตที่เป็นผลมาจากการขยายธุรกิจออกไปแบบไม่ลืมหูลืมตาในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่
"เมื่อก่อนกระแสพาไป เรามองแต่เพียงว่า เราจะโตอย่างไรเพื่อจะได้เป็นที่
1 เงิน หามาง่าย ผมไปขายบอนด์ที่นิวยอร์ก วันเดียวขายได้ 400 ล้านเหรียญ
แต่พอเขาเอาคืนก็ล้มกันเป็นแถวเลย" บุญชัย เบญจรงค-กุล ประธานกรรมการบริหารของยูคอม
สะท้อน
18 เดือนเต็ม คือ เวลาทั้งหมดที่ ยูคอมใช้ในการประนอมหนี้สิน 573 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในที่สุดเจ้าหนี้ทั้ง 28 รายก็ยอม ยืดระยะเวลาออกไป 5 ปี เป็นการแบ่งจ่ายเป็นงวด
เพื่อให้มีกำลังชำระหนี้ในปีที่ 1-4 ยูคอมจะจ่ายน้อยมาก จนกระทั่งปีที่ 5
ที่ ยูคอมต้องเทจ่ายทีเดียว 308 ล้านบาท
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าแบงก์ ชาติ ถึงกับยอมให้ใช้ตำหนักใหญ่ของแบงก์
ชาติ และเป็นประธานเซ็นสัญญาให้กับยูคอม และเจ้าหนี้ 26 ราย คนดีใจที่สุด
หนีไ ม่พ้นบุญชัย และวิชัย เบญรงคกุล-พี่คนโตกับน้องชายคนเล็ก
โดยเฉพาะวิชัย หลังจากแสดงฝีมือประนอมหนี้ให้ยูคอม เขาก็ได้นั่งเก้าอี้
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หลังจากใช้เวลาเรียนรู้และหาประสบการณ์มาถึง 10 ปีเต็ม
" 18 เดือนที่ผ่านมา ต้องถือว่าเป็นช่วงที่หนักที่สุดของยูคอม ถ้าเป็นช่วงการเรียน
ก็ต้องถือว่าได้ปริญญาโทไปแล้ว อันนี้ต้องยกเครดิตให้วิชัยเขา ถือว่าเป็นการพิสูจน์ฝีมือแล้วว่า
เขาพร้อมสำหรับตำแหน่งนี้" บุญชัยกล่าว
จะว่าไปแล้ว การประนอมหนี้ของยูคอมในครั้งนี้ก็เป็นเพียงการคลี่คลายปัญหาแค่เปลาะแรกเท่านั้น
เพราะการ ยืดเวลาชำระหนี้ไปอีก 5 ปี เท่ากับว่าจะทำให้ยูคอมมีเวลามาก ขึ้น
แต่ยังไม่มีเงินสดก้อนใหม่เข้ามาเพื่อจะใช้ลงทุนในอนาคต
ยูคอมลงมือปัดกวาดบ้านตัวเอง ตัดธุรกิจที่ไม่ทำกำไรทิ้ง หันมาหารายได้จากธุรกิจที่เกิดจากความชำนาญแท้จริง
นั่นก็คือ ธุรกิจออกแบบและติดตั้งระบบโทรคมนาคม ธุรกิจค้าอุปกรณ์ปลายทาง
และธุรกิจให้บริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูล ทั้งหมดนี้จะเป็นธุรกิจที่ยูคอมเชื่อว่าจะสามารถนำมาชำระหนี้ได้
แต่สิ่งที่รออยู่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จะเป็นสิ่งที่ท้าทาย ยิ่งกว่าครั้งไหนๆ
เพราะเดิมพันเพื่อความอยู่รอดหลังการเปิดเสรีโทรคมนาคม ภายใต้กฎกติกาใหม่จะเกิดขึ้น
การเข้ามาของบริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติ ที่มีทั้งเงินทุนและเทคโนโลยี
มันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้กลุ่มสามารถจำเป็นต้องมีเทเล-คอมมาเลเซียมาเป็นพันธมิตร
และเอไอเอสของชินวัตรต้องเปิดทางให้สิงคโปร์เทเลคอมเข้ามาถือหุ้น
"ธุรกิจโทรคมนาคมต้องลงทุนตลอด เทคโนโลยีอยู่ได้แค่ 4-5 ปีก็ต้องเปลี่ยน
อย่างแทค มันเหมือนกับการเล่นไพ่ เราจะตามหรือเราจะทิ้งไพ่ ถ้าเราตามเราก็ต้องหาพาร์ตเนอร์
เพราะมันต้องใช้เงินอีก 4-5 หมื่นล้าน ธุรกิจโทรคมนาคมก็ไม่ต่างไปกับแบงก์
เป็นธุรกิจไม่มีพรมแดน"
ในยุคนี้จึงเห็นความล่มสลายของวิธีบริหารแบบกลุม ตระกูลในธุรกิจสื่อสาร
ที่บริษัทโทรคมนาคมของไทยทุกแห่งไม่ว่าจะเป็น ชินวัตร สามารถ และยูคอมต้องยอมรับ
ขึ้นอยู่กับว่าใครจะรับมือได้มากกว่ากัน
ยิ่งไปกว่านั้นการประนอมหนี้ในครั้งนี้ ทำให้ตระกูลเบญจรงคกุลต้องแปรสภาพจากผู้ถือหุ้นใหญ่ในยูคอม
กลาย เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 รองจากซัมเมอร์ยูเค ที่แปลงหนี้เป็นทุน และกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ที่เข้ามาถือในสัดส่วน 36%
"ตอนแรกๆ เราทำใจไว้ว่าอาจจะไม่เหลืออะไรเลยตั้ง แต่เจ้าหนี้เข้ามาดูทรัพย์สินของเราแล้ว
เราคิดว่าเหลือหุ้นอยู่ 10% ก็ยังดีกว่าเหลือ 5%, เหลือ 5% ก็ยังดีกว่าไม่เหลืออะไรเลย"
บุญชัยกล่าว
บังเอิญว่าซัมเมอร์ยูเค เป็นกองทุนจากอังกฤษ มีหน้าที่ลงทุนอย่างเดียว
การบริหารงานทั้งหมดจึงยังคงเป็นของผู้บริหารชุดเดิมของยูคอม
แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ โครงสร้างธุรกิจโทรคมนาคมเมืองไทยที่ผ่านมา
เป็นลักษณะของการซื้อเทคโน-โลยีจากต่างชาติเข้ามาและเปิดให้บริการ ไม่มีเทคโนโลยีเป็น
ของตัวเอง มีแต่เพียงการตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายทั่วประเทศเท่านั้น
หลังเปิดเสรีโทรคมนาคมแล้ว สิ่งเหล่านี้จะหมดไป สนามการแข่งขันจะต้องเปิดรับบริษัทโทรคมนาคมข้ามชาติที่มีความพร้อมทั้งเทคโนโลยีและเงินทุน
บุญชัย ตั้งความหวังไว้ว่า หลังเปิดเสรียูคอมจะต้องเป็นบริษัทที่มีบริการสื่อสารโทรคมนาคมแบบครบวงจร
ดังนั้นหน้าที่ของยูคอมต่อจากนี้ก็คือเติมในจุดที่ยังขาด หรือ FILL IN THE
BLANK เพราะมันจะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ยูคอมสู้อยู่บนสนามหลังเปิดเสรีได้
เงื่อนไขของยูคอมไม่ได้อยู่ที่ตัวยูคอมอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยู่ที่แทค
บริษัทลูกที่มีบทบาทมากทั้งในเรื่องเงินลงทุนและรายได้
ระบบดิจิตอลพีซีเอ็น 1800 ที่แทคลงทุนไปหลายหมื่นล้านเพื่อเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกมาเป็นดิจิตอล
กำลังจะล้าสมัยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ ทุกวันนี้กำลังมุ่งไปสู่
3 GENERATION เทคโนโลยีล่าสุด ของโทรศัพท์มือถือ
"โทรคมนาคมมันอยู่ได้ระยะเดียว พอเปลี่ยนเทคโน-โลยีก็ต้องมีเงินมาลงอีก
เท่าที่ผ่านมาใช้เงินไปตั้ง 4-5 หมื่น ล้านบาท รองรับไปได้ 4-5 ปี เราก็ต้องหาเงินมาลงเทคโน-โลยีใหม่แล้ว
ก็เหมือนกับการเล่นไพ่โป๊กเกอร์จะตามหรือ จะหมอบ"
ปัญหาอยู่ที่ว่า แทคเป็นโอเปอเรเตอร์รายเดียวในตลาดที่ยังไม่มีพันธมิตรมาถือหุ้น
แม้ว่าช่วงปีสองปีที่ผ่านมา บุญชัย และภูษณ ปรีย์-มาโนชจะแยกย้ายกันไปสร้างดาวคนละดวง
ทั้งในแง่บทบาททางธุรกิจและสังคม บุญชัยดูแลยูคอม ภูษณรับผิดชอบแทค บุญชัยสร้างมูลนิธิยูคอม
ภูษณ มีมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกัน แต่งานนี้ทั้งสองคงต้องกลับมาร่วมมือร่วมใจกันอีกครั้ง
"การหาพันธมิตรจะเป็นหน้าที่ของผมกับคุณภูษณที่ต้องไปช่วยกัน อนาคตข้างหน้าแทคอาจจะเข้ามารวมกับยูคอมก็ได้
ธุรกิจบางอันก็ไม่จำเป็นต้องอันนี้ มันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ทั้งนั้น"
เพราะการร่วมมือกันในครั้งนี้ คงไม่ต่างไปจากการสร้างยูคอมขึ้นใหม่อีกครั้งการ
หาพันธมิตรมาถือหุ้นในแทคและยูคอม จะเป็นไพ่ใบเดียวที่จะอยู่รอดได้ในสนามข้างหน้า
แต่เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้การหาพันธ มิตรของแทคและยูคอมไม่ง่าย ก็คือ หนี้
ซึ่งครั้งหนึ่งสิงคโปร์เทเลคอมเคยคิดจะมาร่วมหุ้นในแทคต้องถอยฉากออกไป และราคาหุ้น
ที่เหมือนกับการซื้อของหลังไฟไหม้ ย่อมโดนกดราคา
ในสายตาของบุญชัย เขาก็ยังเชื่อว่า การที่แทคและยูคอม เป็นรายเดียวในตลาด
มือถือที่ยังไม่มีพันธมิตร ไม่ต่างไปจากเจ้าสาวที่มีอยู่รายเดียวในตลาดไทย
ย่อมเนื้อหอมเป็นธรรมดา ส่วนเจ้าบ่าวจะเป็นใคร งานนี้ต้องอดใจรอกันต่อไป
ที่แน่ๆ เมื่อถึงวันที่แทคและยูคอม หาเจ้าบ่าวได้ โฉมหน้าใหม่ของแทคและ
ยูคอมคงได้ปรากฏอีกครั้ง