ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่าง BMW AG กับกลุ่มตระกูล "ลีนุตพงษ์" ที่มีมาช้านานนับตั้งแต่ปี
2504 เป็นอันต้องหักสะบั้นลง ภายหลังที่ BMW AG พลิกแผนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเอง
โดยไม่มีการร่วมทุนรวมกับกลุ่ม "ลีนุตพงษ์" ตามแผนที่เคยวางไว้ ท่าม
กลางความคลุมเครือที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมชี้แจงถึงเหตุผลที่กระจ่างชัด ให้แต่เพียงเหตุผลกว้างๆ
ว่า "บริษัทแม่จะเข้ามาดำเนินการด้านการตลาดเอง" แต่แล้วเหตุใดบริษัทแม่จึงต้องเข้ามาสร้างโรงงานประกอบรถยนต์เองด้วยทั้งๆ
ที่ยนตรกิจเองก็มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์และประกอบรถยนต์อยู่แล้ว ภายใต้การนำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท
ไทยยานยนตร์ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2510 เพื่อรองรับการขายส่ง BMW เท่านั้น
แผนแรกของบริษัทแม่คือต้องการเข้ามามีฐานการผลิตในไทยผ่านทางกลุ่ม "ลีนุตพงษ์"
แต่ยนตรกิจไม่มีนโยบายให้ใครเข้ามาถือหุ้นในกลุ่มตระกูลของตัวเองอยู่แล้ว
และเมื่อเศรษฐกิจมีอันเป็นไป "ลีนุตพงษ์" ก็ยังยืนกรานที่จะไม่ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของกลุ่มตนให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย
อันสร้างความบีบคันให้แก่คนทำธุรกิจในการดิ้นเพื่อจะอยู่รอด
"ลีนุตพงษ์" ผู้บริหาร "ไทยยานยนตร์" จากที่เคย เป็นผู้นำเข้ารถยนต์
BMW แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย เริ่มมองหาช่องทางในการสร้างรายได้ด้วยการนำเข้ารถยี่ห้ออื่นเข้ามาขายด้วย
ภายใต้ชื่อ "ยนตรกิจ กรุ๊ป" ซึ่งแต่ละยี่ห้อล้วนเป็นคู่แข่งของ BMW
นี่เป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้บริษัทแม่เริ่มมีการเปลี่ยนท่าที
การจับปลาหลายมือของยนตรกิจในวันนั้น ทำให้ปลาตัวใหญ่หลุดมือไป คือทั้ง
BMW และ FORD ในกรณีของ FORD คงไม่ทำให้ "ลีนุตพงษ์" เจ็บปวดเท่ากรณีของ
"BMW" แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีพันธะสัญญาทางใจต่อกันอยู่บ้าง
คือ การประนี ประนอมผลประโยชน์ โดยบริษัทแม่ยังคงให้ "ไทยยานยนตร์"
เป็นผู้ผลิต BMW ซีรี่ส์ 5 ไปตลอดจนครบ อายุรถคือประมาณอีก 5-6 ปีข้างหน้า
รวมทั้งให้ผลิตโครงตัวถังที่พ่นสีแล้วของซีรี่ส์ 3 ใหม่ ที่คาดว่าจะเริ่มผลิตในปลายปีนี้
และออกทำตลาดในปีหน้า รวมทั้งเซ็นสัญญาให้ "บาซาโลนา" เป็นดีลเลอร์จากฝั่งยนตรกิจ
งานนี้ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายของ "ลีนุตพงษ์" ต่อการลดศักดิ์ศรีจาก "ผู้นำเข้า-ขายส่ง"
เป็นเพียง "ตัวแทนจำหน่าย" ที่แทบจะไม่มีอำนาจในการต่อรองใดๆ
และสิ่งที่น่าคิดมากกว่านั้นคือ เมื่อใดที่ BMW ประเทศไทย สร้างโรงงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว"ลีนุตพงษ์"
จะอยู่ในสถานะใด ซึ่งวันนี้ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจนนอกจากเห็นเงาลางๆ
ว่า ฟางเส้นสุดท้ายต้องปลิว หายไปพร้อมกับประสบการณ์ที่ "ลีนุตพงษ์"
ต้องเรียนรู้และพยายามไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับกลุ่มรถยนต์ที่ตัวเองจำหน่ายอยู่ทั้ง
5 ยี่ห้อ ซึ่งเป็นกลุ่มของโฟล์คสวาเก้น 3 ยี่ห้อตระกูลเยอรมันเช่นเดียวกับ
BMW คือ โฟล์ค เอาดี้ และเซียท และอีก 2 ค่ายอิสระตระกูลฝรั่งเศสคือ เปอโยต์
และซีตรอง และ "ยนตรกิจ กรุ๊ป" อาจจำเป็นต้องเลือกชูรถยนต์ในกลุ่มที่คิดว่าจะสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กลับมาได้
โดยสังเกตได้ว่าในปัจจุบัน "ยนตรกิจ กรุ๊ป" ค่อนข้างจะชู "เอาดี้"
ซึ่งเป็นรถในเครือ ของโฟล์คสวาเก้นมากเป็นพิเศษ เพราะหากเปรียบเป็นมวยรุ่นแล้ว
ค่อนข้างจะสูสีกับ BMW และสิ่งที่หวังว่าจะได้เห็นต่อไปในอนาคตคือ การประกาศปรับตัวของบริษัท
ไทยยานยนตร์ ครั้งใหญ่
"เราตอบไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นเรื่องของการตกลงกันของทั้ง
2 ฝ่าย แต่เท่าที่ดูมา ทางยนตรกิจเขาก็มีการประกอบและนำเข้ารถยนต์ในเครือโฟล์กสวาเก้นด้วย
และถ้าเขามีการขยายกำลังการผลิต เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น เขาอาจจะบอกว่าเขาไม่มีที่เพียงพอที่จะผลิตให้เราแล้วก็เป็นได้
และผมคิดว่า การผลิตหลายยี่ห้อในโรงงานเดียวกันคงเป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก แต่ผมก็ยังตอบไม่ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
เพียงแต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรเราต้องยอมรับให้ได้" เป็นความเห็นของคอร์โดบา
แต่อย่างไรก็ตาม "ลีนุตพงษ์" ยังคงถือได้ว่าเป็นกลุ่มตระกูลเดียวและตระกูลสุดท้ายที่ยังคงดำเนินธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ที่ครบวงจร
เริ่มตั้งแต่มีโรงงานผลิตชิ้นส่วนและโรงงานประกอบรถยนต์ มีบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่าย
รวมทั้งศูนย์บริการหลังการขายเป็นของตนเอง โดยที่ไม่ถูกกลืนกินจากต่างชาติดังเช่นกลุ่มตระกูลอื่นที่อยู่ในธุรกิจรถยนต์
คนทำธุรกิจต่างก็อยากได้ผลประโยชน์สูงสุดเป็นของตัวเองทั้งนั้น บริษัทแม่เขาถือว่าเขาเป็นเจ้าของธุรกิจ
หากเขามองเห็นช่องทางอื่นในการที่จะให้ผลประโยชน์แก่เขาได้มากกว่าที่ได้อยู่
เขาย่อมที่จะเลือกทางนั้น โดยไม่สนใจว่าจะเด็ดหัวใครทิ้งบ้าง