เจา กวาง ยุง คือ ชื่อจีนของ เชาว์ เชาว์ขวัญยืน ผู้ก่อตั้งบริษัท ไทยออยล์
จำกัด โรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกในประเทศไทย ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 10 ล้านบาท
เจา กวาง ยุง เป็นวิศวกรชาวไต้หวัน และเป็นคนจีนไต้หวันอพยพ รุ่นแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย
อีกคนหนึ่งที่ควรกล่าวถึง คือ เจ ซี ฮวง หรือ จรูญ หวังบุญสัมฤทธิ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทซัมมิท
อินดัสเตรียล จำกัด ที่ลงทุนทำโรงกลั่นแห่งที่ 2 คือ โรงกลั่นซัมมิท แต่ประสบปัญหากดดันจากกระแสความเป็นชาตินิยม
ส่งผลให้ปฏิบัติการยึดโรงกลั่นกลุ่มซัมมิทของรัฐบาลไทยเริ่มรุนแรงขึ้น ในที่สุดโรงกลั่นของ
เจ ซี ฮวง ก็กลายมาเป็นของรัฐบาล และมอบหมายให้กรมพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม
และการปิโตร เลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นผู้ดูแล ปัจจุบันโรงกลั่นของ
เจ ซี ฮวง ก็คือ โรงกลั่นบางจาก หลังจากนั้น เจ ซี ฮวง ก็เดินทางกลับไต้หวันพร้อมๆ
กับชื่อของเขาก็ได้หายไปจากวงการน้ำมันไทยจนถึงปัจจุบัน
ยังเหลือเพียง เชาว์ เชาว์ขวัญยืน ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ ปี
2501 และในปี 2504 หลังจากรัฐบาล ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีนโยบายที่ต้องการเห็นประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันเป็นของตัวเอง
เชาว์ เชาว์ ขวัญยืน จึงได้ยื่นซองการประมูลร่วมกับ จรูญ เอื้อชูเกียรติ
และก็ชนะการประมูลครั้งนั้นไปอย่างสวยหรู ในปีเริ่มดำเนินการผลิต คือ ปี
2507 จรูญ เอื้อชูเกียรติ ก็ขายหุ้นไทยออยล์ทั้งหมดให้กับ เชาว์ เชาว์ขวัญยืน
สันนิษฐานว่าเพราะจรูญกำลังอยู่ระหว่างการ เจรจาซื้อหุ้นธนาคารแห่งเอเชียจาก
ทองดุลย์ ธนะรัชต์ น้องของจอมพลสฤษดิ์ เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่และตัดสินใจไปดำเนินธุรกิจธนาคารเต็มที่
ดังนั้นการบริหาร งานในไทยออยล์ยุคแรกๆ จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของเชาว์ เชาว์ขวัญยืน
แต่ผู้เดียว
คุณเชาว์ เป็นคนฉลาด สาเหตุที่ชนะใจรัฐบาลยุคนั้นเพราะนักลงทุนรายอื่นไม่กล้าที่จะทำโรงกลั่นในลักษณะ
BOT เพราะว่าตอนนั้นไม่เคยมีในโลก ดังนั้นคุณเชาว์สร้าง net working ขึ้นมาร่วมกับตระกูล
เอื้อชูเกียรติ ทำให้ไทยออยล์ชนะการประมูล ขณะเดียวกันก็ไปทำสัญญาซื้อน้ำมันดิบจากเชลล์และขาย
น้ำมันให้เชลล์ด้วย อีกทั้งยังได้เจ้าหน้าที่ของเชลล์เข้ามาร่วมทำงาน จุลจิตต์
บุณยเกตุ กรรมการอำนวยการ ไทยออยล์ คนปัจจุบัน เล่าถึงความหลัง
นับตั้งแต่นั้นมาไทยออยล์ภายใต้การกุมบังเหียนโดย เชาว์ เชาว์ขวัญยืน ก็เติบใหญ่ขึ้นมาเรื่อยๆ
แต่อีกด้านชีวิตของเขากลับทำตัวโลว์โพรไฟล์ ไม่ค่อยออกงานสังคมเหมือนเช่นบรรดาเจ้าสัวตระกูลอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เชาว์ เชาว์ขวัญยืน คือ นักประสานผลประโยชน์กับรัฐบาลได้อย่างลงตัว
แต่การลงตัวในครั้งที่ถือว่าเขายอมเพื่อให้ไทยออยล์รุ่งเรือง คือ ยอมให้
ปตท. เข้ามาถือหุ้น ใหญ่ในบริษัท ขณะที่ตัวเองลดสัดส่วนการถือหุ้นลง อย่างไรก็ตาม
การบริหารงานก็ยังเป็นเขาอยู่ดี นั่นคือจุด เริ่มต้นของการแย่งชิงความเป็นใหญ่ในไทยออยล์ของ
ปตท.
นอกจากนี้แล้ว เชาว์ เชาว์ขวัญยืน ยังไปลงทุนในด้านธุรกิจหลักทรัพย์ด้วยการเข้าไปถือหุ้นใน
บงล. เอ็มซีซี ซึ่งในที่สุดกลายเป็น 1 ใน 56 ไฟแนนซ์ที่โดนปิดกิจการ
หลังจากสร้างไทยออยล์จนสามารถแข่งขันกับโรงกลั่นอื่นๆ ได้แล้วและพร้อมที่จะต้อนรับการแข่งขันเสรีในอนาคต
เชาว์ เชาว์ขวัญยืน จึงได้เปิดทางให้ผู้บริหารไฟแรงที่มี connection ไม่แพ้ตัวเองเข้ามาบริหารงานแทน
นั่นก็คือ ซุปเปอร์เค เกษม จาติกวณิช เมื่อปี 2528
แม้ว่าหลังจาก เชาว์ เชาว์ขวัญยืน หันหลังให้กับไทยออยล์แล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายยังลึกซึ้งหลายเท่านัก
เพราะเขาถือว่าไทยออยล์เป็นบริษัท ที่ปั้นมากับมือ ใครจะทำอะไรโดยที่กระทบต่อตัวเขาหรือสัดส่วนการถือหุ้นแล้วยอมไม่ได้
ดังนั้นจึงเป็นที่มาถึงเหตุว่าทำไมไทยออยล์จึงมีทุนจดทะเบียนหยุดอยู่ที่ตัวเลข
20 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขหนี้สินสูงถึงเกือบ 80,000 ล้านบาท
เชาว์นั่งอยู่ในคณะกรรมการบริษัทไทยออยล์ตลอด มา โดยมีบุตรชาย 2 คนคือ
แบงกอก เชาว์ขวัญยืน และ Maihin Raymond Chowkwanyun ร่วมเป็นกรรม การด้วย
แบงกอกยังมีตำแหน่งเป็นรองกรรมการอำนวย การ แต่ไม่ได้มีบทบาทด้านการบริหารอย่างจริงจัง
ส่วน Raymond นั้นก็แทบไม่ได้อยู่ในเมืองไทย จะอยู่ในสหรัฐฯ เสียเป็นส่วนมาก
หนทางออกทางเดียวที่จะเยียวยาไทยออยล์ได้มีข้อจำกัด แต่ทางออกที่นุ่มนวลที่สุด
คือ การปรับโครงสร้างหนี้ แต่การประสบความสำเร็จนั้นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ถือหุ้นว่าจะทำอย่างไร
ซึ่งขณะนี้ภาพได้ออกมา ชัดเจนแล้วว่าไทยออยล์จะต้องเพิ่มทุน โดยให้ ปตท.
เป็น ผู้ดำเนินการ เมื่อเป็นเช่นนี้แสดงว่าผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ต้อง ร่วมมือด้วยการยินยอมลดสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเองลง
ซึ่ง เชลล์ และคาลเท็กซ์ ตอบกลับมาแล้วว่ายินดีในการปรับโครงสร้างครั้งนี้
แต่ เชาว์ เชาว์ขวัญยืน ผู้มีหุ้นอยู่ในไทยออยล์ประมาณ 25.1% ยังไม่ยอม ต้องเข้าใจว่ากลุ่มคุณเชาว์
เชลล์ คาลเท็กซ์ กับ ปตท. มีสัญญาร่วม กัน เรียกว่าสัญญาร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนกับ
ปตท. สัญญานี้เข้าไปใน ครม.อนุมัติพร้อมกับสัญญาประกอบธุรกิจโรงกลั่นที่กระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติ
ฉะนั้นสัญญาดังกล่าวผูกมัดอยู่ว่าใครจะขายหุ้นจะต้องได้รับการ ยินยอมซึ่งกันและกัน
ดังนั้นเมื่อมีกรณีการเพิ่มทุนในขณะนี้ ทางกลุ่ม เชาว์ เชาว์ขวัญยืน ไม่มีศักยภาพในการเพิ่มทุน
แต่ขณะ เดียวกันถ้าไม่เพิ่มทุนตามสัดส่วน จำนวนหุ้นจะต้อง ถูก dilute ลง
แต่ด้วยความมีค่าของหุ้นที่ เชาว์ ถือเกิน 25% สามารถ block การเพิ่มทุนได้
ตรงนี้ยังเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร!!!
แล้วทางออกที่ดีที่สุดของไทยออยล์คืออะไร!!!
แหล่งข่าวในไทยออยล์พูดถึงประเด็นนี้ว่าผู้ถือ หุ้นก็ต้องมีการพูดคุยกัน
ซึ่งเป็นเรื่องระหว่าง ปตท. กับ เชาว์ เชาว์ขวัญยืน ในเมื่อปัจจุบันเขาไม่มีกำลังเพิ่มทุน
แต่ว่าการไม่มีกำลังนี้ก็ต้องมีกรรมวิธีทำให้เขายินยอมให้บริษัทดำเนินการเพิ่มทุนได้
คงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าคนอย่าง เชาว์ เชาว์ ขวัญยืน ในวัยไม้ใกล้ฝั่งตอนนี้
จะยอมให้ตัวเลขประมาณ 25.1% ในธุรกิจที่เขาสร้างมากับมือต้องหลุดลอยหายไปหรือไม่