Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2542
พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล "ความบังเอิญที่ลงตัว"             
 


   
search resources

เฮิกซ์ เมเรียน รูซเซล (ประเทศไทย)
พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล




เมื่อเอ่ยชื่อ พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮิกซ์ เมเรียน รูซเซล (ประเทศไทย) จำกัด คนทั่วๆ ไปคง จะไม่รู้จักแต่ถ้าคนที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรม เวชภัณฑ์ยาแล้วรู้จักเขาเป็นอย่างดี เพราะเขาคือผู้บริหารบริษัทยาข้ามชาติเพียงไม่กี่คนที่เป็นคนไทย เพราะโดยปกติแล้วบริษัทยาข้ามชาติโดยเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่จะอิม-พอร์ตคนของตัวเองเข้ามากุมบังเหียน และที่น่าทึ่งพรวิทย์ไม่ได้จบการศึกษาทางด้านเภสัช เหตุผลอะไรที่ทำให้เฮิกซ์ เมเรียน รูซเซล ซึ่งเป็นบริษัทยายักษ์ใหญ่ตระกูลเยอรมันแห่งนี้ยอมรับในฝีมือเขา

"พรวิทย์ เป็นคนรอบคอบ สุขุมนุ่ม ลึกและไม่กลัว เขาเป็นคนที่กล้าตัดสินใจ แม่นยำและไม่มีช่องโหว่เลย สไตล์การทำงานอย่างพรวิทย์นี้แหละที่คนเยอรมันชอบที่จะทำงานด้วย ขณะที่ฝั่งอเมริกาชอบสไตล์โฉ่งฉ่าง" นี่คือความคิดเห็นของคนรอบข้างที่ให้คำจำกัดความต่อตัวพรวิทย์

ก่อนที่จะมาเป็น เฮิกซ์ เมเรียน รูซเซล ในอดีตกว่าร้อยปีที่ผ่านมา เฮิกซ์ เอจี ได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของวงการเวชภัณฑ์ด้วยการผลิตยาสำเร็จรูป และได้มีส่วนในการวิจัยเวชภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล เช่น โรเบิร์ต ค็อกซ์, พอล เอห์ริช และเอมิล ฟอน แบริ่ง ตลอดจนแบนดิ้ง และเบสต์ ผู้ซึ่งประสบความสำเร็จในการผลิตอินซูลิน

ต่อมาเฮิกซ์ เอจี ได้เข้าไปรวมกิจการกับเมเรียน เมอเรล ดาวแห่งสหรัฐอเมริกา เจ้าของผลิตภัณฑ์ยารักษาโรคต่างๆ เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคภูมิแพ้ ยารักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ยารักษาวัณโรค ขณะเดียวกันได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในบริษัทรูซเซล แห่งฝรั่งเศส ผู้มีความชำนาญในด้านการสังเคราะห์สารเคมีเพื่อใช้พัฒนาตัวยาใหม่ๆ อีกทั้งยังเก่งในด้านฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะอีกด้วยซึ่งการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านเวชภัณฑ์ทั้ง 3 แห่งเป็นบริษัทเดียวถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินงานในยุคก่อนที่จะย่างก้าวเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน

จากการรวมกันดังกล่าวสำนักงานของบริษัทข้ามชาติ เหล่านี้ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำต้องเลือกผู้บริหารให้เหลือเพียงคนเดียวเท่านั้น ในที่สุดแคนดิเดตที่ดีที่สุดสำหรับ เฮิกซ์ เมเรียน รูซเซล (ประเทศไทย) คือชายชื่อพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล วัย 56 ปี

พรวิทย์ จบการศึกษาจากอัสสัมชัญพาณิชย์ เมื่อปี 2509 แล้วเข้าทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมเอเชียและแปซิฟิก "ก่อนเข้าไปทำงานที่นั่นผมรู้แล้วว่ามันไม่ใช่ตัวเรา คือ ไม่ใช่องค์กรธุรกิจ ซึ่งความคิดหลังจากเรียนจบแล้วอยากเข้าทำงานในองค์กรเอกชน และเมื่อเข้าไปทำงานรู้ว่าคงจะอยู่ได้ไม่นาน" พรวิทย์ เล่าถึงอดีต

การที่ได้เข้ามาทำงานที่เฮิกซ์ฯ พรวิทย์ เล่าว่า เป็นความบังเอิญอย่างมากเมื่อเพื่อนของเขาที่ทำงานในเฮิกซ์ฯ มาก่อนได้เข้ามาบอกว่าบริษัทกำลังต้องการผู้ช่วยงานทางด้านบริหาร "ขณะนั้นทำงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมเอเชียและแปซิฟิกได้เพียง 9 เดือนเมื่อ เพื่อนมาบอกจึงตัดสินใจมาสมัครงาน ตามความตั้งใจของตัวเองที่ต้องการทำงานในองค์กรธุรกิจ ทั้งๆ ที่เงินเดือนลด ลงเกือบ 25% แต่ก็ยอม"

ความตั้งใจเดิมของพรวิทย์ เมื่อได้เข้ามาทำงานในองค์กรที่ตัวเองฝันแล้ว คือ พยายามเรียนรู้หาประสบการณ์ เพียง 10 ปี หลังจากนั้นจะออกไปทำธุรกิจตัวเอง "แต่เมื่อเข้ามาที่เฮิกซ์ฯ กลับติดลมเพราะอยู่ที่นี่มาเกือบ 32 ปีแล้ว คิดว่าเป็นโอกาสที่เสริมความรู้ให้มากขึ้น หมายถึงทำงานไปเรียนหนังสือไป" ซึ่งตำแหน่งแรกในเฮิกซ์ฯ ของพรวิทย์ คือ เป็นพนักงานขาย เพราะการเรียนรู้ให้เข้าใจธุรกิจคือการเข้าไปคลุกคลีกับธุรกิจอย่างถึงพริกถึงขิง

นอกจากจะทำงานด้วยแล้วพรวิทย์ ได้ไปศึกษาต่อในหลักสูตรปริญญาตรี (ภาคค่ำ) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2515 จากนั้นปี 2519 สอบชิงทุน Fulbright ได้ จึงเดินทางไปศึกษาต่อด้านการบริหาร (MBA) ที่มหาวิทยาลัยมิสซูรี สหรัฐอเมริกา เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ไปทำงานกับบริษัทแม่ในเยอรมนีเป็นเวลา 2 ปี และตำแหน่งล่าสุดก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง สูงสุดในปี 2539 คือ ผู้จัดการฝ่ายของบริษัทประจำประเทศไทย

จากวันนั้นถึงวันนี้ชีวิตการทำงานของพรวิทย์ในเฮิกซ์ฯ เต็มไปด้วยความสุขแม้ผลการดำเนินงานของบริษัทกำลังอยู่ในช่วงอาการย่ำแย่ก็ตาม เพราะในปี 2541 ยอดขายบริษัท ยาข้ามชาติในไทยหดตัวลงประมาณ 20% ขณะที่บริษัทยาท้องถิ่นกลับสวนทางที่มียอดขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระทรวง สาธารณสุขมีนโยบาย "สุขภาพดี ต้นทุนต่ำ" ออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ ดังนั้นงบประมาณ ในการซื้อยาตามโรงพยาบาลรัฐบาลซึ่งเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายขนาดใหญ่ของเฮิกซ์ฯ เกือบ 70% ถูกจำกัดภายใต้ข้อกำหนด ขอ IMF เมื่อเป็นเช่นนี้ลูกค้าของเฮิกซ์ฯ จึงหันมาใช้ยาที่ผลิตจากบริษัทท้องถิ่นมากขึ้นเพราะราคาถูกกว่า ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนคนไข้ก็เริ่มลดลงไปตามสภาวะเศรษฐกิจ โดยหันมาซื้อยากินเองหรือยอมทนเข้าแถวเพื่อรอรับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐบาล

"เวลาเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อไปโรงพยาบาลคนไข้ก็ไม่ได้ยาซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาถึงเราที่ไม่สามารถขายได้ เนื่อง จากหมอสั่งยาที่ถูกกว่าให้คนไข้" พรวิทย์ กล่าว ส่งผลกระทบ ที่เขากล่าว คือ บริษัทยาข้ามชาติขาดทุนสุทธิจากผลประกอบ การที่เรื้อรังมาตั้งแต่ปลายปี 2539

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของพรวิทย์ ที่ต้องการเห็นการฟื้นตัวของบริษัท คือ การพยายามรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตัวเองเอาไว้ให้ดีที่สุด อีกทั้งยังได้นำยาแก้แพ้ซึ่งเป็นยารุ่นใหม่ของบริษัทเข้ามาจำหน่าย โดยได้นำเข้ามาในช่วงกลางปีที่ผ่านมาปรากฏว่าสามารถมีส่วนแบ่งการตลาดในโรงพยาบาลได้แล้ว 6-7% นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยาช่วยการไหลเวียนของโลหิตซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยาของเฮิกซ์ฯ ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในไทยและมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 30% เป็นตัวหลักในการกระตุ้นยอดขายให้สูงขึ้น

จากแนวความคิดดังกล่าวแสดงว่าเฮิกซ์ฯ รวมทั้งบริษัทยาข้ามชาติอื่นๆ จะไม่ใช้กลยุทธ์ในเรื่องราคาเป็นตัวตัดสินในการทำตลาด "เราจะใช้คุณภาพยาทำการแข่งขัน หมายถึง จะให้คนไข้หรือหมอเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกว่าจะซื้อยาค่ายไหนในการรักษาโดยที่ไม่มองเรื่องราคา" แต่ แนวความคิดดังกล่าวดูเหมือนจะไม่ได้ผลในช่วงเศรษฐกิจขาลง เพราะแม้แต่นโยบายเบื้องบนที่สั่งลงมาจากทางราชการยังให้เน้นเรื่องราคาเป็นหลัก

"ความแตกต่างของราคาระหว่างยาที่ผลิตจากบริษัทข้ามชาติกับบริษัทยาท้องถิ่น ถ้าสูตรเดียวกันบางชนิดแตกต่างกัน 30% บางชนิด 50% หรือบางชนิดมีความแตกต่างกันสูงถึง 5 เท่าตัว เหตุผลเพราะก่อนที่จะมาเป็นตัวยาได้มันมีระบบการควบคุมคุณภาพ ซึ่งระบบดังกล่าวมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว วัตถุดิบเราผลิตเอง วิจัยเอง ยาแต่ละเม็ดได้มาด้วยการลงทุนและการผลิตให้ได้คุณภาพ นั้นเป็นเรื่องจรรยาบรรณ ดังนั้นการผลิตยาจึงมีต้นทุนสูงมากซึ่งเราไม่สามารถที่ใช้ราคามาเป็นตัวนำในการดำเนินธุรกิจได้" พรวิทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตามเขายังมีความเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นธุรกิจยา ของบริษัทยาข้ามชาติจะดีขึ้นตามไปด้วยแต่จะฟื้นช้ากว่า เนื่องจากกฎเกณฑ์ทางราชการที่กำหนดไว้แล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายๆ "แน่นอนว่าการสั่งให้ซื้อยาถูกหรือใช้ราคาเป็นตัวตัดสินก็ยังคงมีอยู่ต่อไป"

นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้วระดับการแข่งขันธุรกิจยาในไทยยังถือว่าอยู่ในขั้นรุนแรง เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นปกติ ถ้าเป็นปกติจะออกมาในรูปเมื่อหมอเขียนใบสั่งยาให้คนไข้ จากนั้นก็ไปหาซื้อยาเอง "แต่การแข่งขันที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ คือ เมื่อหมอเขียนใบสั่งยาแล้วก็บอกให้คนไข้ไปซื้อตามโรงพยาบาลนั้นๆ สมมติหมอบอกให้ซื้อยา A แล้วให้ไปซื้อในโรงพยาบาลนั้นๆ แต่อาจจะไม่ได้ยา A ก็ได้ อาจจะได้ยา B ในสูตรเดียวกับยา A แต่ราคาถูกกว่า ดังนั้นการแข่งขันในไทยนอกจากเรื่องคุณภาพแล้วยังต้องดูอีกว่าขายถูกหรือไม่ ซึ่งระเบียบ การจัดซื้อยายังมองเรื่องราคาเป็นตัวตัดสินทำให้การแข่งขันไม่เสรี กฎเกณฑ์เองยังไม่เปิดให้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่เพราะยังมีการบิดไปบิดมาอยู่"

ดังนั้นแม้ว่าแนวความคิดของพรวิทย์ ที่ต้องการออกไปเผชิญโลกตามแบบฉบับที่ตัวเองต้องการ ยังไม่จางหายไปไหน แต่จากสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจที่กำลังสุกงอมในปัจจุบันแน่นอนว่าเขาต้องเลือกองค์กรอย่างเฮิกซ์ฯ เป็นอันดับแรก "ตอนนี้ยังอยากทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่ภาระกิจในเฮิกซ์ฯ ยังมีอีกมากที่ผมต้องสะสางและทิ้งไม่ได้" พรวิทย์ กล่าวปิดท้าย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us