บุญเกียรติรับหน้าที่สะพานเชื่อมโชควัฒนารุ่นที่ 3
จ่ายคืนหนี้-ไม่กู้เพิ่ม, ใช้คนน้อย-ค้าขายมาก และลดสินค้าค้างสต็อก นี่คือ
3 นโยบายหลักที่บุญยสิทธิ์นำมาใช้ในการบริหารงานของเครือสหพัฒน์ในยุคปัจจุบัน
ที่ต้องเติบโตอย่างมั่นคง ไม่มีการก้าวกระโดดให้เสี่ยงมากกว่าที่เป็นอยู่
เช่นเดียวกับที่บุญเกียรติ คุมเข้ม ไอ.ซี.ซี. ลดค่าใช้จ่าย ตัดสินค้าขาดทุน
จัดโครงสร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ เปิดโอกาสให้แต่ละโรงงานบริหารสินค้าเอง นอกจากนี้เขายังรับบทบาทเป็นเจ้าสำนักฝึกสายเลือดโชควัฒนารุ่นที่
3 อีกด้านหนึ่งด้วย ส่วนการสร้างแบรนด์อินเตอร์ชื่อ "BSC" นั้น ริเริ่มมาตั้งแต่ก่อนเศรษฐกิจตกต่ำ
ผู้บริหารสหพัฒน์หวังจะให้เป็นแบรนด์อินเตอร์ที่เป็นความภูมิใจ ของคนไทยและชาวสหพัฒน์
เรื่องโดย มานิตา เข็มทอง
เป็นเวลาเกือบ 3 ปีที่ประเทศไทย ตกอยู่ในภาวะวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ถึงเวลาแล้วที่ภาคธุรกิจต่างๆ
ต้องมีการปรับตัวปรับโครงสร้าง ใหม่จากบทเรียนครั้งนี้ บุญยสิทธิ์ โชควัฒนา
ประธานเครือสหพัฒน์ หรือ "เสี่ย" ของชาวสหพัฒน์ เป็นคนหนึ่งที่มองเห็นวิวัฒนาการของโครงสร้างธุรกิจไทยมานานนับ
40 ปี และมีความ เห็นว่า วิกฤติการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่มีค่ามหาศาลสำหรับนักธุรกิจ
ไทยที่ควรใส่ใจ
"ตั้งแต่ผมค้าขายมาไม่เคยเจอแบบนี้ สมัยก่อนคนทำธุรกิจส่วนใหญ่จะเอาทุนตัวเองน้อยๆ
และกู้แบงก์มาเยอะๆ ขายของได้เงินมาก็เอาไปซื้อที่ มีปัญหาทางการเงินก็เอาที่ไปจำนอง
หมุนเงินมาใช้ แต่ต่อไปนี้จะทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ทุกอย่างต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนของตนเองตามเนื้อผ้าจริงๆ
หวังพึ่งพาประโยชน์จากที่ดินที่มีอยู่จำนวนมากไม่ได้อีกแล้ว" บุญย-สิทธิ์กล่าว
แต่กระนั้นเขาก็ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่นักธุรกิจในสมัยก่อนนิยม
กู้เงินมาลงทุนมากกว่าที่จะใช้ทุนส่วนตัว เนื่องจากต้องการเลี่ยงภาษี เพราะการกู้มา
ดอกเบี้ยที่จ่ายไปจัดเป็นค่าใช้จ่ายได้ ไม่ต้องนำมาเสียภาษี แต่หากเป็นเงินได้จะต้องเสียภาษี
"ถ้าจะเอาทุกอย่างในอดีตมาเป็นบรรทัดฐาน ผมว่าใช้ไม่ได้แล้ว เพราะวันนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว
ยุคข้างหน้าจะต้องเป็นยุคที่มั่นคง ไม่ใช่การก้าวกระโดด ต้องค่อยๆ ทำจน กว่าเหตุการณ์ทุกอย่างจะเรียบร้อยเข้าที่เข้าทาง
แล้วค่อยมาคิดกันอีกที ช่วง นี้ทำอย่างไรก็ได้ให้กิจการมั่นคงไว้ก่อน" และยุทธวิธีที่
"เสี่ย" นำมาใช้เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจในเครือสหพัฒน์ก็คือ :
1. การลดเงินกู้ทั้งในและต่างประเทศ โดยทยอยชำระหนี้ของบริษัท ในเครือให้เร็วที่สุด
2. ใช้คนทำงานน้อยๆ แต่ค้าขายเยอะๆ คือการพยายามสร้างความสามารถในการผลิตให้ได้ผลสูงสุด
โดยไม่มีการรับคนงานเพิ่ม แต่ยังไม่ถึงขั้นปลดคนงาน
3. กำจัดสินค้าคงเหลือ
"หากทำได้ครบทั้ง 3 อย่างนี้ถึงจะเรียกได้ว่ามั่นคง" เสี่ยย้ำ
ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อภาวะเศรษฐ-กิจไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน แต่คนทำธุรกิจชั้นเซียนก็ยากที่จะอยู่นิ่งเฉย
ต้องมีการปัดกวาดองค์กรให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ "เสี่ย"
จึงมีนโยบายส่งให้บริษัทในเครือที่มี ความพร้อม เดินหน้าขอใบรับรองมาตรฐาน
ISO เพื่อเป็นการเตรียมพร้อม สำหรับการบุกต่อไปในอนาคตเมื่อโอกาส และจังหวะมาถึง
"นับตั้งแต่ฟองสบู่แตก เราไม่ได้ลงทุนอะไรเพิ่มขึ้นเลย หยุดไปเลย ตอนนี้คือช่วงเวลาของการจ่ายคืนหนี้ทั้งในและต่างประเทศให้เร็วที่สุด
พร้อม ทั้งลดค่าใช้จ่ายและลดสินค้าคงเหลือ" เป็นคำยืนยันของบุญยสิทธิ์หรือ
"เสี่ย" ของชาวสหพัฒน์ทุกคน
"เสี่ย" เล่าว่า เขาได้เตรียมตัวเตรียมใจอยู่แล้วว่า ไม่วันใดวันหนึ่ง
จะต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้แน่นอน เพราะเขาเริ่มมองเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ต้นปี97
แล้ว และมีคำสั่งให้เครือสหพัฒน์หยุดการลงทุนทุกอย่างตั้ง แต่ตอนนั้นหันหน้ามาตั้งเป้าหมายใหม่เป็น"ซีโร่มาร์เก็ตติ้ง"
นี่คือสิ่งที่เขาทำ ณ วันนั้น หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ และยังคงถามอยู่เสมอว่า
"ปีนี้ตั้งเป้าโตเท่าไร" ซึ่งในปีแรกของการเกิดวิกฤติ ทางเศรษฐกิจเขาไม่ได้ตั้งเป้าการเติบโตของกลุ่มเลย
หากหันมามุ่งเน้นในการควบคุมค่าใช้จ่าย เพิ่มความสามารถ ในการผลิต และมีการทำกลยุทธ์ทางการตลาดแบบค่อยเป็นค่อยไป
และวันนี้เขาสามารถตั้งรับและควบคุมสถาน การณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างเรียบร้อยแล้ว
แม้กระนั้น เรายังคงได้เห็นกิจกรรมของเครือสหพัฒน์อยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นงานสหพัฒน์
เอ็กซปอร์ต โครงการไทยแลนด์เบสท์ หรือการเปิดตัวสินค้าใหม่อย่างแบรนด์ BSC
เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดในระยะยาวของ "เสี่ย"
ในขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งแผนระยะสั้น ด้วยการออกสินค้าใหม่ในเครือ เพื่อสร้างความฮือฮาให้กับตลาดในช่วงนี้
อาทิ แชมพูอาบน้ำโชกุบุสซึ โมโนกาตาริ, ธัญพืชหัวบุกตราคอนยัคกี้ เป็นต้น
"เราพยายามจะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่รอคิดถึงแต่ดอกเบี้ย หรือรายจ่าย
เราเอาเวลามาคิดขายของ ดีกว่า ในปีนี้ยังมีสินค้าใหม่อีกหลายตัวที่กำลังจะออกมาสร้างสีสันให้กับตลาด"
เสี่ยกล่าว
ยอมรับฝืนส่งออกไม่ไหว
หันมามุ่งตลาดในประเทศ
จากเหตุการณ์ลอยตัวค่าเงินบาทไทยเมื่อเดือนก.ค.2540 คนไทยใน ภาคธุรกิจส่งออก
หวังพึ่งพารายได้จากการส่งออกเป็นสำคัญ เครือสหพัฒน์ถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทย
ได้จัดงานสหพัฒน์เอ็กซปอร์ตขึ้นทันทีเมื่อค่าเงินบาทลดลง เพื่อแสดงสินค้าทั้งหมดในเครือให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่เชิญมาร่วมงาน
แต่หลังจากนั้น ตัวเลขส่งออกของเครือสหพัฒน์ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยอย่างที่ควรจะเป็น
กลับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2541 ที่ผ่านมา ทั้งที่เดิมเครือสหพัฒน์
มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกทั้งสิ้นประมาณ 30-40% แต่ปัจจุบันลดลงอยู่ที่ประมาณ
25% และมีแนวโน้มที่จะลดลงอีก ซึ่งหากลดลงกว่านี้ ยอดคนตกงานจะต้องมีอีกมหาศาล
บางโรงงานอาจจะไม่ถึงขั้นต้องปิด แต่จำเป็นต้องลดกำลังการผลิตลง ซึ่งเสี่ย
แห่งเครือสหพัฒน์คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นเลย
"ในเมื่อลอยตัวค่าเงินบาทแล้ว ต้องใช้ประโยชน์จากการลอยตัวมากที่สุด เสียอย่างหนึ่งก็ต้องเอาอีกอย่างหนึ่งมาชดเชย
แต่นี่ไม่เอากลับมาแล้ว ยังเสียหมดเลยอีก เททั้งกระเป๋าเลย น่าเสียดายจริงๆ"
เป็นความรู้สึกของ เสี่ยต่อการทำงานของภาครัฐบาลที่เขาคิดว่า เกินความสามารถของเขาที่จะแก้ไขแล้ว
ต้องเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องอธิบายว่าเหตุใดจึงปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าผิดปกติในช่วงนี้
และสิ่งที่ตามมาคือ ตลาดส่งออกของประเทศไทยจะค่อยๆ หายไป
"ผมเสียดายนะ ความจริงเราตั้งเป้าไว้ว่าส่งออกเราจะดี ในตอนแรก ทุกอย่างดีมาก
ออร์เดอร์เข้ามาสูงมาก แต่หลังจากที่รัฐบาลเปลี่ยนให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้น
ลูกค้าก็หนีเราไปหมด ส่วนตัวเลขที่รัฐบาลมีเมื่อปลายปีที่แล้ว ว่า ตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้น
ซึ่งความจริงแล้วเป็นออร์เดอร์เก่า แต่พอขึ้น ปีใหม่เขาหยุดสั่งหมด 3 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ออร์เดอร์เราหดลงๆ
เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ไหวแน่ ผมว่าเงินบาทน่าจะอยู่ที่ประมาณ 42 บาทต่อดอลลาร์
การส่งออกของเราจะไปได้ลื่นกว่านี้"
สิ่งที่เสี่ยแห่งเครือสหพัฒน์ทำได้ก็คือ การไม่ฝืนธรรมชาติ และหันมามุ่งเน้นตลาดในประเทศต่อไป
แต่กระนั้น ผลการดำเนินงานก็ไม่ได้ดีขึ้น เนื่องจากภาวะการค้าในประเทศก็ชะงัก
ลงไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดก็คือ การลดค่าใช้จ่าย เพื่อความอยู่รอดขององค์กร
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
"ปีที่แล้วยอดขายรวมในเครือทั้งหมดตกลงประมาณ 15-20% ผมว่าเศรษฐกิจเรายังไม่ถึงจุดต่ำสุด
เพราะ ว่าตัวแปรของปัญหาในแต่ละวันไม่เหมือนกัน แต่ถ้ารัฐบาลแก้ได้ตรงจุด
ทุกอย่างก็จะดีขึ้นทันที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทีมเวิร์กของรัฐบาลในการแก้ปัญหาให้ไปในทิศทางเดียวกัน
ไม่ใช่ต่างคนต่างเดิน จะว่าอยู่ที่หัวหน้าคนเดียวก็ไม่ได้ เพราะหัวหน้าไม่ใช่เทวดา
และปัญหาก็ ไม่ได้หมูๆ ผมรู้สึกว่า 3 ปีนี้ ประเทศ ไทยเสียโอกาสไปเยอะนะ"
เป็นความเห็นของเสี่ยต่อการทำงานของรัฐบาล
ยืนยันค้าขายกับญี่ปุ่น สบายใจที่สุด
เมื่อ 44 ปีที่แล้ว นายห้างเทียม โชควัฒนา ได้ตัดสินใจส่งบุญยสิทธิ์บุตรชายคนที่
3 ของตระกูลไปฝึกงาน กับบริษัท เคียวโกะ ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีหน้าที่ควบคุมการจัดซื้อและนำเข้าสินค้าให้แก่บริษัท
สหพัฒนพิบูล เพื่อมาจำหน่ายในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในแดน
ซากุระ ซึ่งอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากสงคราม เขาได้เรียนรู้และซึมซับ แนวการพัฒนาอุตสาหกรรมจากขนาดเล็กไปสู่ขนาดใหญ่
ได้เห็นวิวัฒนา การของเศรษฐกิจที่ซบเซาจนพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรือง และในช่วงเวลานั้นเอง
เขาสามารถเก็บเกี่ยวความรู้วิธีการและกลยุทธ์ทางธุรกิจของญี่ปุ่นได้อย่างลึกซึ้ง
จากนั้นในปี 1964 เขาได้ก่อตั้ง บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอสเมติกส์ หรือในปัจจุบันคือ
บริษัทไอ.ซี.ซี. อิน เตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดย เป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอาง
เพี้ยซ ชุดชั้นในวาโก้ และผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายชายแอร์โร่ เป็นสินค้า
หลัก โดยได้เริ่มพัฒนาระบบการขายแบบขายส่งไปสู่การขายผ่านพนักงานขาย เพื่อรองรับธุรกิจค้าปลีกที่กำลังพัฒนาในขณะนั้น
และในช่วงนั้นเอง เขาได้ริเริ่มการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ เพื่อผลิตสินค้าเครื่องสำอางเพี้ยซและชุดชั้นในวาโก้
พร้อมๆ กับริเริ่มโครงการสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ที่ ศรีราชา และประเทศที่เขาร่วมทุนด้วยก็คือ
ประเทศญี่ปุ่น ที่มีความสัมพันธ์ กับเขาฉันพี่น้องนั่นเอง
บุญยสิทธิ์ ถือได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มให้เครือสหพัฒน์ทำการค้ากับญี่ปุ่นอย่างเต็มรูปแบบเป็นคนแรก
ทั้งที่สหพัฒน์ก็ค้าขายกับญี่ปุ่นมานานแล้ว แต่ เป็นในลักษณะของการแลกเปลี่ยนสิน
ค้ากันเท่านั้น ต่อมาญี่ปุ่นพัฒนาจนกระทั่งประสบความสำเร็จในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ
ทั่วโลก จนกระทั่งหลังปี 1984 ทางสหรัฐอเมริกา ออกมาเตือนญี่ปุ่นว่า "ส่งออกมากไปแล้ว
น่าจะนำเข้าให้มากขึ้น" นั่นจึงเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการที่สหพัฒน์ ส่งสินค้าเข้าไปขายในญี่ปุ่นมากขึ้น
"สำหรับสหพัฒน์แล้ว เราคิด ว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่เป็นมิตรและเข้าใจการค้าขายแบบเอเชียมากที่สุด
เพราะวัฒนธรรมการค้าของญี่ปุ่นก็มาจากเมือง จีน เขาจะเข้าใจเรามากกว่า อย่างเช่นระบบการเงินการธนาคารของเราก็เอาแบบอย่างมาจากญี่ปุ่นหลังสงคราม
แต่อยู่ๆ ใครก็ไม่รู้เอาบีไอบีเอฟมาใช้ อยู่ดีๆ ก็ใช้ชาติตะวันตกเข้ามายุ่ง
เราเอเชีย คบกันเองก็ดีอยู่แล้ว และเราคิดว่า ในอนาคตคงจะมีการร่วมทุนกับทางญี่ปุ่นมากขึ้น"
เป็นอีกมุมมองหนึ่งของเสี่ย และการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับญี่ปุ่น เสี่ยคนนี้ถือว่า
จะสามารถ "ตู๊" กับคู่แข่งที่กำลังไหลทะลักเข้ามาจากนานาประเทศได้ดีกว่าการค้าขายตามลำพัง
สำหรับนโยบายสัดส่วนการร่วมทุนระหว่างสหพัฒน์กับพันธมิตรนั้น เสี่ยเปิดเผยว่า
"หากเป็นสินค้าที่ผลิตแล้วขายในประเทศ สหพัฒน์จะขอถือในสัดส่วน 51% ให้พันธมิตร
49% แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ผลิตและเขานำออกไปขายเองที่ญี่ปุ่น ผมจะให้เขามากหน่อย
อาจจะถึง 90% และสหพัฒน์เอาแค่ 10%"
มาถึงวันนี้ หากนับเวลาการทำการค้าระหว่างเครือสหพัฒน์กับ ประเทศญี่ปุ่นก็มีเวลายาวนานกว่า
40 ปีแล้ว โดยสัดส่วนการส่งออกสินค้า ไปยังญี่ปุ่นเฉลี่ยประมาณ 40% ของมูลค่ารายได้ทั้งหมดของเครือสหพัฒน์
หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา
เสี่ยได้รับคัดเลือกจากสำนัก งาน JETRO ให้ได้รับรางวัล PRIME MINISTERS
TRADE AWARD จากมือของนายกรัฐมนตรี เคอิโซ โอบุชิ ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรี
กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกับผู้รับรางวัลจากชาติอื่นๆ อีก 4 ชาติคือ
ญี่ปุ่น จีน อเมริกา และเยอรมนี
วัตถุประสงค์ของการมอบรางวัล นี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรม ส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
สู่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่สมดุล โดยแต่ละปีจะมีการคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้าน
การแนะนำสินค้าจากต่างประเทศเข้าสู่ญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องเป็นการดำเนินกิจกรรมร่วมกับชาวญี่ปุ่นอย่างจริงจัง
ทั้งในด้านการร่วมทุนการผลิต การจัดส่งผู้เชี่ยว ชาญจากญี่ปุ่นมาให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการผลิต
เพื่อจัดส่งสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่น
รางวัลนี้มียาวนานมาถึง 16 ปีแล้ว และในอดีตมีคนไทย 2 ท่านที่ได้รับรางวัลนี้ไปแล้ว
คือ ยุกต์ ณ ถลาง ได้รับเมื่อปี91 ในฐานะประธาน หอการค้าไทย ณ ขณะนั้น และดร.ศิววงศ์
จังคศิริ ได้รับเมื่อปี96 ในฐานะปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และบุญยสิทธิ์ถือเป็นรายที่
3 ของประเทศไทย และเป็นนักธุรกิจไทย ในภาคเอกชนรายแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
ไอ.ซี.ซี.ตั้งเป้าสวนกระแส
หวังยอดขายโต 10-15%
บุญเกียรติ โชควัฒนา กรรม การผู้อำนวยการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อิน เตอร์เนชั่นแนล
จำกัด (มหาชน) มีความเชื่อว่า ยอดขายในปีนี้ของบริษัทจะโตขึ้นประมาณ 10-15%
จากปีที่แล้ว เนื่องจากเขามองเห็นแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของยอดขายมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
โดยผลการดำเนินงานของปีที่แล้ว ไอ.ซี.ซี.มียอดขายทั้งสิ้นประมาณ 6,800 ล้านบาท
ซึ่งถือเป็นสัดส่วนรายได้เพียง 10% ของเครือสหพัฒน์ทั้งหมด และสำหรับตัวเลขยอดขายของไอ.ซี.ซี.ในไตรมาสแรกนี้ก็คาดว่า
จะโตขึ้นจากไตรมาส เดียวกันของปีที่แล้วประมาณ 10% และผลิตภัณฑ์ธงนำก็ยังคงเป็นชุดชั้นในวาโก้เช่นเคย
"ยอดขายอาจจะดูเหมือนเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่กำไรอาจจะมีการเจริญเติบโตมากขึ้น
เนื่องจากเรามีการ ควบคุมค่าใช้จ่าย และมีการจัดการกับสินค้าบางตัวที่ไม่ทำให้เกิดผลกำไรในปีที่แล้ว
ซึ่งเมื่อเราตัดสินค้าพวก นั้นออกไปก็ทำให้เรามีผลกำไรดีขึ้น" บุญเกียรติชี้แจง
ขณะเดียวกัน ทางไอ.ซี.ซี.ได้มีการจัดโครงสร้างสินค้าใหม่ โดยโอนสินค้าบางตัวที่ยังพอมีทีท่าว่าจะทำกำไรได้ไปให้แก่
กลุ่มของโรงงานเป็นผู้บริหารสินค้านั้นไป เพื่อลดขั้นตอนที่ซับซ้อนและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย
เนื่องจากเสื้อผ้าเป็นสินค้าที่มีความหลากหลาย ถ้าบริหารด้วยกันหลายกลุ่มอย่างที่เคยเป็นอยู่มักจะเกิดปัญหา
ด้านการสื่อสารอยู่เสมอ และจะไม่เหมาะสมกับภาวการณ์ในปัจจุบัน
นอกจากนั้น ไอ.ซี.ซี. ยังหลีกเลี่ยงการลงทุนในโครงการใหญ่ๆ ซึ่งบุญเกียรติกล่าวว่าเป็นปรัชญาของเครือ
สหพัฒน์อยู่แล้วที่มักจะเริ่มทำธุรกิจจากเล็กไปหาใหญ่ และหากจะทำใหญ่ ก็จะไม่ทำคนเดียว
ต้องหาพันธมิตรมาร่วมทุนด้วย "เราพยายามจะทำอะไรที่มั่นคง เป็นขั้นเป็นตอน
ไม่เสี่ยง ไม่โลภ"
ล่าสุด ไอ.ซี.ซี.ได้ออกหุ้นกู้จำนวน 500 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
และจ่ายคืนหนี้ในบางส่วน สำหรับเงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นกู้จำนวนนี้ บุญเกียรติชี้แจงว่า
ส่วนหนึ่งจะนำมาช่วยเสริมพลังให้แก่ ซัปพลายเออร์ของไอ.ซี.ซี.ด้วย
"การที่เรามีเงินสดในมือ ทำ ให้เราสามารถจ่ายค่าสินค้าให้แก่ซัปพลายเออร์ได้เร็วขึ้น
และทำให้เขามีเงินหมุนเวียนเร็วขึ้น ธุรกิจของเราและเขาต่างก็ไม่สะดุด ยิ่งกว่านั้นการจ่ายเงินสด
ทำให้เราสามารถขอให้เขาลดราคาสินค้าให้เราลงได้ด้วย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้การทำธุรกิจลื่นขึ้น
ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจรอบข้างด้วย ไม่ใช่ทิ้งแบบตัวใครตัวมัน ทุกคนก็จะเจ๊งหมด"
สำหรับนโยบายการเก็บเงินจาก ลูกค้า เขาชี้แจงว่า เป็นความจำเป็นที่ต้องเรียกเก็บเงินสดจากลูกค้า
เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกค้านำเงินสดที่ได้จากการขายของไปหมุนใช้ในเรื่องอื่นก่อน
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นลูกค้าก็จะไม่มีเงินมาจ่ายบริษัท ส่งผลให้บริษัทเกิดมีหนี้เสียจำนวนมากขึ้นได้
และเกิดการสะดุดของธุรกิจ เขาเล่าว่า หลายๆ บริษัทอาจจะใช้วิธีเลิกส่งสิน
ค้าให้แก่ลูกค้าที่ไม่จ่ายเงินตามกำหนด แต่สำหรับไอ.ซี.ซี.ไม่ทำเช่นนั้น
แต่จะมีการให้ลูกค้าจ่ายดอกเบี้ยของเงินส่วนที่ติดค้างบริษัทอยู่ และบริษัทก็ยังคงส่งสินค้าให้เขาต่อไป
เพียงแต่งวด นี้ขอเก็บเป็นเงินสด เพื่อป้องกันการนำเงินไปหมุนใช้อย่างอื่น
และหากลูกค้ามีกำไรเมื่อไรก็มาชำระเงินที่ค้างกับบริษัทต่อไป
"อยากให้แต่ละคนคิดอย่างนี้ เพื่อจะได้ไม่ทำให้ธุรกิจชะงักติดลบ แต่มีบางบริษัทใครไม่จ่าย
ไม่ส่ง คนอื่นตายหมด ตัวเขาเองอาจจะไม่ตาย เพราะใหญ่ บริษัทที่เล็กมาหน่อยก็ประสบปัญหา
เพราะเอาเงินไปหมุนอย่างอื่น ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่คนในยุคนั้นทำกัน ก็มาตายหมด
กระทบหมด ผมไม่อยากให้เกิดแบบนี้ ถ้ามีวิธีก็ช่วยกันให้ไปให้รอด ไม่ใช่เรา
รอดแล้วช่างคนอื่น เรารอดแล้วเราก็ต้องให้คนอื่นรอดด้วย ถ้าเขายังมีทีท่าว่าจะรอดได้นะ"
อีกหนึ่งมุมมองของบุญเกียรติ
BSC ฝันของตระกูลโชควัฒนา
"...จากหลักการพิจารณาว่าธุรกิจไหนน่าทำหรือไม่น่าทำของเสี่ย จะใช้หลักคิดว่า
จะต้องเป็นธุรกิจที่ตลาดยังไม่พัฒนามาก แล้วเสี่ยจะเป็น คนพัฒนาตลาดนั้น
โดยแนะนำสินค้าที่มีคุณภาพ มีวิธีการบริการที่ดีขึ้นและแปลกใหม่ โดยมีความเชื่อว่า
ถ้าลูกค้าได้ประโยชน์มากขึ้น ตลาดก็จะขยายตัวมากขึ้น
การใช้จังหวะหรือโอกาสที่เหมาะ สม ยังเป็นจุดเด่นที่สำคัญของเสี่ย เสี่ยมักเชื่อว่า
ถ้ามีธุรกิจที่มีคนแย่งกัน ทำ เสี่ยมักจะไม่เข้าไปแย่งด้วย เสี่ยจะทำธุรกิจที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ
แต่ใช้สายตาที่กว้างไกลในการหาตัวบ่งชี้ว่าธุรกิจนั้นมีแนวโน้มที่ดี และจะใช้ความ
พยายามในการสร้างธุรกิจนั้นขึ้นมาด้วยกำลังตัว กำลังใจที่มีอยู่มหาศาล และเมื่อทำสำเร็จแล้วคนอื่นๆ
จะมาทำเลียนแบบได้ยาก..."
จากสารบบความคิดที่เป็นเอก ลักษณ์เฉพาะตัวนี้เองของ "เสี่ย" ที่บุญเกียรติเป็นผู้ถ่ายทอด
สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะให้ BSC กลายเป็นสินค้าอีกตัวที่ก่อกำเนิด
ขึ้นจากฝีมือของคนไทย จากศักย ภาพของโรงงานทุกโรงจากบุคลากรทุกคนในเครือสหพัฒน์ที่ร่วมแรง
ร่วมใจกันทำให้สินค้าตัวนี้เกิดขึ้นในตลาดไทย และก้าวต่อไปคือ การออกไปสู่ตลาดสากล
ดังเช่นแบรนด์ดังๆ ของต่างชาติที่พวกเขาเป็นผู้ผลิตให้มานานนับหลายสิบปี
"พวกเราร่วมกันคิดแบรนด์ BSC ขึ้นมาก่อนที่ค่าเงินบาทจะลอยตัว เรามีความฝันร่วมกันว่า
วันหนึ่งเราอยากจะเอาสินค้าที่เราสร้างแบรนด์ของเราเองในเมืองไทยไปดังในต่างประเทศ
ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของทุกคนในเครือ จึงจะเกิดพลังอันนี้ได้"
บุญเกียรติเล่า
จากชื่อย่อ BSC ที่ทุกคนในโชควัฒนา พร้อมใจกันบอกว่าเป็นความบังเอิญที่ไปพ้องกับชื่อของ
บุญยสิทธิ์ โชควัฒนา "เสี่ย" ผู้ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับธุรกิจในเครือสหพัฒน์ทั้งหมด
แต่หากจะคิดว่า พี่น้องทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันสร้างแบรนด์ BSC ขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่
"เสี่ย" ผู้ซึ่งทำเพื่อโชควัฒนาทุกคน ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกแต่อย่างใด
เตรียมความพร้อมสู่โชควัฒนารุ่นที่ 3
แม้ว่าทัพหน้าอย่าง "เสี่ย" จะกล่าวว่า ไม่ได้มีการถ่ายทอดวิทยา ยุทธ์การบริหารงานให้แก่ลูกหลานในรุ่นต่อไปเป็นพิเศษ
เนื่องจากเขาคิดว่าสิ่งเหล่านี้ซึมซับอยู่ในสายเลือดของพวกเขาอยู่แล้ว และขณะนี้ก็ไม่ได้มีการวางตัวให้ใครดูอะไรเป็นเฉพาะ
แต่ใครถนัดอะไรก็ให้ไปทำตามความถนัดตามความชอบของแต่ละคน จะไม่มีการบังคับว่า
คนนั้นต้องมาดูตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่สมัยนายห้างเทียมแล้ว
แต่ในปัจจุบันทัพหลังอย่าง "อากู๋" บุญเกียรติ รับหน้าที่เป็นสะพาน เชื่อมประสบการณ์ของ
โชควัฒนา ในรุ่นพ่อไปสู่รุ่นลูกหลานด้วยตัวเอง เนื่อง จากเขาคิดว่า ลูกหลานแต่ละคนมาจากพื้นฐานของครอบครัวที่แตกต่างกันไป
ถึงแม้จะใช้นามสกุลโชควัฒนาเช่นเดียวกันก็ตาม ทำให้อาจจะมีทัศนคติที่แตกต่างกัน
ดังนั้นจึงรับหน้าที่เป็นผู้สร้างทัศนคติทางบวกในการทำธุรกิจให้หลานๆ ทุกคนอย่างทัดเทียมกัน
ซึ่งเขายอมรับว่า เรื่องนี้ต้องอาศัยเวลาและความสม่ำเสมอ
"ในอดีตต่างคนต่างทำต่างคน ต่างสอน จนกระทั่งคุณพ่อเสีย เราจึงมีคอนเซ็ปต์ใหม่ว่า
ต้องพยายามพบปะกับหลานๆ ในรุ่นที่ 3 อย่างสม่ำเสมอ เคยพบครบทุกคนได้อยู่
1 ครั้ง ต่อมาก็เหลือผมพบอยู่คนเดียว ผมเลยตั้งตัวเป็นเจ้าสำนักเอง" บุญเกียรติกล่าวอย่างอารมณ์ดี
ซึ่งเขาเองเข้าใจดีถึงความรู้สึกแรกที่เริ่มต้นชีวิตการทำ งาน และเขาพยายามนึกถึงประสบ
การณ์และปรัชญาคำสอนที่เขาได้รับมาจากพ่อและพี่ชายมาบอกเล่าสู่ลูกหลานต่อไป
"ทำงานใหม่ๆ ต้องเรียนรู้เยอะ ปีแรกมึนมาก เพราะต้องเรียนรู้ของใหม่มหาศาล
เนื่องจากผมไม่ได้เรียนมาทางด้านธุรกิจโดยตรง แต่ผมจบมาทางด้านวิศวกร จึงต้องปรับตัวมาก
แต่โชคดีที่ผมเป็นคนเปิดรับความคิดใหม่ๆ ได้ แต่ลูกหลานเราบางคนมีความ เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองเรียนมาจากต่างประเทศ
เราจึงต้องทำหน้าที่คอยหล่อหลอมความคิดของเขาให้เหมาะสม กับการทำธุรกิจสไตล์คนไทย"
บุญเกียรติ เล่า และเขามีความเห็นว่า ลูกหลานทุกคนในโชควัฒนาต้องแข่งขันกันในเรื่องของความสามารถ
ถ้าพิสูจน์ฝีมือไม่ได้ก็ไม่ควรอยู่ในธุรกิจ ไม่มีคนใดได้เข้ามาทำงานโดยไม่มีความสามารถ
สำหรับลูกหลานของโชควัฒนารุ่นที่ 3 ที่เริ่มเข้ามาจับงานในเครือสหพัฒน์
โดยเฉพาะที่ไอ.ซี.ซี.บ้างแล้วก็ได้แก่ ธรรมรัตน์ ลูกชายคนโตของ เสี่ยที่เข้ามาเป็นกรรมการของไอ.ซี.ซี.,
ธีรดา ลูกสาวคนโตของเสี่ย ที่เริ่มเข้ามารับผิดชอบงานสินค้าใหม่แบรนด์ BSC
และกิตยาภรณ์ ลูกสาวคนเดียวของบุญเกียรติเอง ที่เพิ่งจบคอร์สสั้นๆ ด้านการจัดการโรงแรมมาจากอังกฤษ
ซึ่งขณะนี้ได้มาเป็นผู้ติดตามเขา เพื่อค่อยๆ เรียนรู้งานอย่างใกล้ชิดมากที่สุด
"ตอนนี้ผมยังไม่ได้ให้ลูกสาวดูแลด้านไหนเป็นหลัก แต่พยายามให้เขาได้เข้ามาสัมผัสใกล้ชิดกับงานมากที่สุด
เขาเพิ่งเรียนทางด้านการโรงแรมมา ซึ่งเป็นความชอบของเขา ผมก็บอกว่าเรียนอะไรก็เรียนมาเถอะ
เพียงแต่ขอให้คิดว่า ใบปริญญาคือใบที่พิสูจน์ว่าเราเรียนได้ แต่พึงระลึกเสมอว่า
ความรู้ที่เรียนมาทั้งปริญญาโทและปริญญาตรีนั้นเท่ากับเสี้ยวเล็กๆ ของชีวิตการทำงานจริง
อย่าได้สำคัญผิดว่า สิ่งที่เรียนมาทั้งหมดเป็นเสี้ยวใหญ่ของการทำงาน เพราะหากคิดเช่น
นั้นเมื่อไร ก็จะไม่มีการเรียนรู้เพิ่มเติม ส่วนการจะทำธุรกิจได้หรือไม่ได้นั้นต้อง
พิสูจน์กันต่อไป" เป็นคำกล่าวของพ่อที่มีต่อลูกสาวหัวแก้วหัวแหวน ที่อย่างน้อยเขาก็มีความหวังจะให้เป็นตัวแทนของเขาต่อไปในอนาคต
และสิ่งที่เขาพยายามปลูกฝังในความคิดของลูกสาว และหลานทุกคนคือ "การทำงานไม่ใช่ต้องเก่งอย่างเดียว
แต่ต้องมีหลักจิตวิทยาและมนุษยสัมพันธ์ที่ดีประกอบกันด้วย ถึงจะเกิดเป็นนักธุรกิจที่ดีได้"
ปัญญาวาทะของบุญยสิทธิ์ โชควัฒนา
ปลูกต้นไม้ใช้เวลา 100 ปี สร้างคนใช้เวลา 10 ปี
หมายความว่า การทำอะไรบาง อย่างต้องใช้เวลา ใช้ความอดทน เหมือน เช่นปลูกต้นไม้ใหญ่
เปรียบเหมือนการสร้างคน ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทนถ้าจะสร้างคนที่ดีและเก่ง
การจะทำสิ่งใดต้องหาจังหวะที่เหมาะ สมจึงจะได้ผลดี
หมายความว่า การทำสิ่งใดถ้าไม่สนใจว่าทำในจังหวะหรือเวลาที่ถูกต้องเหมาะสมอาจจะไม่สำเร็จ
หรือต้องใช้กำลังมากเกินความจำเป็น และ อาจจะไม่ได้รับพลังสนับสนุนจากผู้อื่นเท่าที่ควร
คิดไปแล้วก็ต้องคิดกลับ มองไปแล้วก็ต้องมองกลับ
หมายความว่า คิดในทางใดทางหนึ่งก็ต้องทบทวนการคิดกลับอีกทาง เช่น คิดว่าน่าจะสำเร็จ
ก็ต้องคิดว่าถ้าล้มเหลวจะเป็นอย่างไร มองไปข้างหน้าก็คือการมองอนาคต ก็ควรมองกลับเพื่อทบทวนอดีต
ในเวลาที่เศรษฐกิจดีก็มีคนล้มละลาย ในเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดีก็มีคนสำเร็จ
หมายความว่า ในขณะที่เศรษฐ กิจดีก็ต้องมีความระมัดระวัง เพราะอาจจะพลาดได้
เศรษฐกิจดีเปรียบเหมือนลมดี ว่าวก็ขึ้นง่าย ก็ต้องระวังอย่าให้ป่านขาด ในขณะที่เศรษฐกิจไม่ดี
คนที่สนใจหรือขยันหมั่นเพียร คอยหาจังหวะก็อาจจะสำเร็จได้ เศรษฐกิจไม่ดีก็เหมือนไม่มีลม
คนที่ขยันก็เหมือน คนที่วิ่งดึงว่าว ว่าวก็ขึ้นได้เหมือนกัน
การค้าต้องไม่มีศัตรู
หมายความว่า เราต้องไม่ถือว่าคู่แข่งหรือคู่ค้าของเราเป็นศัตรู ทั้งด้วยสาเหตุส่วนตัวหรือในเชิงธุรกิจ
ถ้าวันนี้คุยธุรกิจกันแล้วยังตกลงกันไม่ได้ ก็พักไว้ก่อน แล้วหาโอกาสคุยกันอีกเผื่อว่าจะตกลงกันได้
ไม่กลัวคนทำผิด กลัวคนที่ผิดแล้วไม่รู้ว่าผิด
หมายความว่า คนทุกคนทำงาน แล้วย่อมต้องมีผิดพลาดบ้าง ถ้ารู้ว่าผิดก็จะมีการแก้ไขปรับปรุง
ความผิดก็จะลดลงในโอกาสต่อๆ ไป แต่ถ้าคน ที่ผิดแล้วไม่รู้ว่าผิด หรือไม่ยอมรับว่าผิด
ก็ไม่มีโอกาสที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้น
ทำผิดอะไรต้องเล่าให้คนฟังหลายๆ คน เพื่อลดต้นทุนของความผิด
หมายความว่าคนที่ทำผิดแล้วต้องพยายามเล่าให้คนอื่นฟังมากๆ เพื่อเป็นบทเรียนให้คนอื่นด้วย
และผลเสียหายที่เกิดจากความผิด ก็เสมือน เฉลี่ยเป็นต้นทุนความผิดที่ถูกลง
ธุรกิจเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าไม่มีใครยอมเป็นหมู
หมายความว่า ในการเจรจาธุรกิจ ถ้าต่างฝ่ายต่างจะเอาเปรียบฝ่าย ตรงข้าม
ส่วนมากมักสรุปไม่ได้ ถ้าฝ่ายหนึ่งยอมเสียเปรียบให้อีกฝ่ายหนึ่ง สักเล็กน้อย
ธุรกิจถึงจะเริ่มหรือสรุปได้
บริหารบริษัท ต้องคิดถึงพนักงาน ผู้ถือหุ้นและธุรกิจ
หมายความว่า ผู้บริหารที่รับหน้าที่ดูแลบริหารบริษัท ต้องสนใจความเป็นอยู่ของพนักงาน
และต้องซื่อสัตย์ ทำประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเปรียบเสมือนเจ้าของบริษัท
และต้องทำธุรกิจของบริษัทให้เจริญก้าวหน้า มีการพัฒนาอยู่อย่างสม่ำเสมอ
เป็นผู้ให้ดีกว่าเป็นผู้รับ เป็นผู้สร้างดีกว่าเป็นผู้ทำลาย
หมายความว่า การเป็นผู้ให้หมายถึงเรามีฐานะดี มีความสุขจากการให้และไม่รบกวนหรือเป็นภาระใคร
การเป็นผู้ให้ย่อมหมายความว่าเราเป็นคนที่แข็งแรง มีความคิดอ่านที่ดี จึงสามารถสร้างสิ่งต่างๆ
ขึ้นได้ ซึ่งน่าจะภูมิใจสำหรับตนเอง
ใช้ปัญหาให้เป็นโอกาส
หมายความว่า ในบางครั้งที่มีปัญหา ปัญหาอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นโอกาสที่จะแก้ไข
ปรับเปลี่ยนพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นได้ ซึ่งถ้าขณะที่ไม่มีปัญหา อาจจะทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้
ให้คนเก่าสร้างงานใหม่ ให้คนใหม่ทำงานเก่า
หมายความว่า คนเก่าก็คือ คนที่มีประสบการณ์ ต้องเอาประสบ การณ์นั้นไปสร้างสิ่งใหม่ให้กับองค์กร
และจะทำให้คนเก่านั้นไม่เกิดความเคยชิน เพราะได้ทำอะไรใหม่ๆ จะได้ไม่แก่เร็ว
คนใหม่ถ้าได้สัมผัสงานเก่า ก็จะได้สัมผัสระบบงานและได้เรียนรู้ประวัติของงานนั้นได้
เหมือนเป็นการฝึกงาน และถ้าทำแล้วมีปัญหา คนเก่าก็เข้ามาช่วยแนะนำได้
ปัญญาวาทะของบุญยสิทธิ์ข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งที่บุญเกียรติผู้เป็นน้องชายได้พยายามรวบรวมจากความทรงจำ
ที่ซึมซาบอยู่ในวิญญาณของการทำธุรกิจ นับตั้งแต่วันแรกที่เขาได้เริ่มต้นชีวิตการทำงาน
ไว้ในหนังสือที่ระลึก 60 ปี บุญยสิทธิ์ โชควัฒนา เพื่อให้เป็นแง่คิดหล่อหลอมจิตใจสำหรับลูกหลานในรุ่นต่อๆ
ไป