บ้านศิลาดล เป็นหนึ่งในเจ้าของธุรกิจประเภทเครื่องปั้นดินเผา งานฝีมือที่เรียกได้ว่าเป็นภูมิปัญญาประจำท้องถิ่นของชาวเชียงใหม่
ที่เชี่ยวชาญกับการทำเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่บรรพบุรุษ
แม้จะอยู่ไกลถึงเชียงใหม่ อินเตอร์เน็ตจึงไม่ใช่ของแปลกใหม่สำหรับบ้านศิลาดล
รวมทั้งผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้เลย เมื่อหลายคนมองว่า งานประเภทเครื่องปั้นดินเผา
ถ้วยชามเบญจรงค์ ที่ต้องอาศัยแบบแฮนด์เมด ที่ต้องอาศัยฝีมือที่ฝึกปรือมานาน
เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่หลายคนหวังว่ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ของไทยให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้
ก่อนหน้าที่บ้านศิลาดลจะเป็นหนึ่งในร้านค้าที่มีชื่ออยู่ "thaimarket market.net
ห้างสรรพสินค้าบนเว็บ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นเจ้าของ บ้านศิลาดลเป็นลูกค้าของ
"เชียงใหม่ออนไลน์" เว็บไซต์ที่รวบรวมสินค้าพื้นเมืองของชาวเชียงใหม่ แต่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของ
"เราเป็นลูกค้าของเว็บไซต์เชียงใหม่ออนไลน์มาปีกว่าแล้ว เสียค่าเช่าเดือนละ
1 พันบาท พอแบงก์ไทยพาณิชย์ ซึ่งเราเป็นลูกค้าของเขาอยู่ ส่งเรื่องมาให้เราก็สมัคร
เพราะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย" ทัศนีย์ ยะจา หุ้นส่วนผู้จัดการ บ้านศิลาดล
เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟัง
สำหรับทัศนีย์แล้ว เธอไม่ได้คาดหวังตัวเลขยอดขาย จากร้านค้าบนอินเตอร์เน็ตเท่าใดนัก
แต่สิ่งนี้ก็ทำให้เธอได้ลูกค้าชาวต่างชาติที่เคยแวะเวียนมาที่เว็บไซต์ ของบ้านศิลาดล
เมื่อมาเที่ยวเมืองไทย ขึ้นมาเชียงใหม่ก็ต้องแวะมาที่บ้านศิลาดลอยู่ไม่น้อย
"เราเองก็ไม่ได้หวังว่าจะเป็นจุดขายอะไร แต่ก็ให้ประโยชน์กับเราไม่น้อย
ทำให้เราได้ลูกค้าใหม่ๆ ซึ่งไม่เคยรู้จักเรามาก่อน เพราะเขาเห็นเราในอินเตอร์เน็ต"
และแม้ว่าเธอจะไม่มีคอมพิวเตอร์ออนไลน์เข้ากับอินเตอร์เน็ตแม้แต่เครื่องเดียว
แต่ก็ดูเหมือนจะไม่มีอุปสรรคใดๆ เพราะเธอก็ยังได้รับการติดต่อจากลูกค้า ผ่านมาจากเชียงใหม่ออนไลน์
ที่ส่งแฟกซ์มาให้เธอ และขั้นตอนหลังจากนั้นเธอจะติดต่อกับลูกค้าอีกครั้งหนึ่ง
ด้วยวิธีการแบบดั้งเดิมที่ต้องใช้แฟกซ์ หรือโทรศัพท์ติดต่อกลับไป แต่นั่นก็ทำให้เธอได้รายได้เพิ่มขึ้นมา
แม้จะไม่มากมายก็ตาม
สำหรับทัศนีย์แล้ว อี-คอมเมิร์ซจึงเป็นประโยชน์ อย่างมากในความเห็นของเธอ
แม้จะไม่ได้สร้างรายได้ขึ้นมาให้มากมาย แต่อย่างน้อยก็เป็น "สื่อ" ที่สามารถทำ
ให้ชื่อของบ้านศิลาดลไปอยู่ในสายตาของชาวต่างประเทศ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนได้มาเยี่ยมชมบ้านศิลาดล
และจะกลายเป็นลูกค้าในอนาคต
และนั่นก็ทำให้ทัศนีย์ตระเตรียมที่จะซื้อคอมพิว-เตอร์มาออนไลน์เข้ากับอินเตอร์เน็ตเสียที
แต่ในอีกมุมหนึ่งของอี-คอมเมิร์ซ ก็ไม่ได้มีแต่รอยยิ้มเสมอไป เมื่อร้านค้าแห่งหนึ่งที่ค้าขายสินค้าเกี่ยวกับสุนัข
ต้องการทดลองส่งออกสินค้าของตัวเองที่ขายดีในไทยออกไปสู่ตลาดในต่างประเทศดูบ้าง
โดยอาศัยเว็บไซต์ "ไทยอีคอมเมิร์ซ" เป็นช่องทางในการนำร่องสินค้าไปสู่ชาวโลก
แต่นั่นทำให้เธอพบว่า อี-คอมเมิร์ซ เป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์สำหรับเธอ
เพราะแม้จะมีผู้แวะเวียนมาที่เว็บไซต์ของเธอ แต่หลังจากติดต่อีเมล์ถึงกันแล้ว
เธอก็ต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อลูกค้าไม่เชื่อถือในผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตจากเมืองไทย
เธอจึงได้เพียงใบสั่งสินค้าเป็นตัวอย่างเป็นเงินจำนวนน้อยมาก
และนั่นทำให้เธอพบว่า ไม่ใช่สินค้าทุกชนิดจะค้าขายในโลกของอี-คอมเมิร์ซได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิต ภัณฑ์สำหรับสุนัขเมดอินไทยแลนด์เช่นของเธอ
ในทัศนะของเธอแล้ว อี-คอมเมิร์ซเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจในสหรัฐอเมริกามากกว่า
จะให้ประโยชน์กับผู้ประกอบธุรกิจในประเทศอื่นๆ
บางกอกวู้ดเดิล ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ของเมืองไทย เป็นผู้ประกอบการอีกแห่งที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
ในฐานะผู้ส่งออกรายหนึ่ง ที่ต้องการอาศัยเครือข่ายนี้เป็นช่องทางในการหาลูกค้าในต่างแดน
โฮมเพจของเว็บไซต์แห่งนี้ทำขึ้นเองโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งออกของบริษัท ที่ศึกษาการออกแบบและทำขึ้นเอง
และเสียค่าเช่าโฮสติ้งปีละ 16,000 บาท ซึ่งเขาบอกว่าคุ้มค่าในแง่ของการโฆษณาถ้าเทียบกับไปโฆษณาในสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง
แต่ปรากฏว่า จนถึงวันนี้เขายังไม่เคยได้รับออร์เดอร์ จากเว็บไซต์แห่งนี้เลยสักชิ้นเดียว
มีแต่ติดต่อผ่านอีเมล์มาบ้างประปราย ปัญหาใหญ่ที่พบก็คือ ค่าส่งสินค้าทำให้
การสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตไม่ได้ผล
"ผมว่าสินค้าชิ้นเล็กๆ จะเหมาะกับอี-คอมเมิร์ซมากกว่า สินค้าเราเป็นเฟอร์นิเจอร์เสียค่าส่งทีก็ไม่คุ้มแล้ว"
แต่ในทัศนะของเจ้าหน้าที่บางกอกวู้ดเดิล เขาก็ยังเชื่อว่า อี-คอมเมิร์ซยังคงมีประโยชน์สำหรับผู้ส่งออก
หากยังคงคิดจะค้าขายกับต่างประเทศซึ่งจะติดต่อผ่านทางอีเมล์กันหมดแล้ว หรืออย่างน้อยก็เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ได้ระดับหนึ่ง
เป้าหมายของบริษัทก็คือ จะหันไปผลิตตุ๊กตาไม้ ที่มีขนาดเล็ก เพื่อให้สอดรับกับสินค้าที่จะซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซได้
"ผมว่า อี-คอมเมิร์ซให้ความสะดวกมาก ประหยัด เวลา สั่งซื้อสินค้า จ่ายเงินและก็ส่งของเลย
เมื่อก่อนทำอย่างนี้ไม่ได้เลย สำหรับผมแล้วมีประโยชน์มาก"
ขาวละออ เป็นบริษัทผลิตสินค้าที่ทำจากสมุนไพร เป็นผู้ประกอบการอีกราย ที่มองว่า
อินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญมากสำหรับการค้าขายไปได้ทั่วโลก ซึ่งตรงกับเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการขยายตลาดไปต่างประเทศให้มากขึ้น
ตลาดส่วนใหญ่อยู่ในประเทศถึง 80% ส่งออก 20% ซึ่งก็เป็นแถบเอเชีย
เป้าหมายของบริษัทขาวละออ คือ ต้องการขยาย ไปยังตลาดใหม่ๆ แถบอื่นของโลก
โดยอาศัยเว็บไซต์ของไทยอีคอมเมิร์ซ โครงการนำร่องของกรมเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์
ที่ขาวละออสมัครเป็นรายแรกๆ
แม้เวลานี้ ขาวละออยังมีผู้แวะเวียนมาที่เว็บไซต์ประปราย เป็นตัวเลขถึง
300-400 ราย แต่ก็ยังไม่มีออร์-เดอร์สั่งซื้อแม้แต่ใบเดียว แต่วัชรพงษ์ก็ยังเชื่อมั่นในอินเตอร์เน็ต
เขาเปรียบว่า การทำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ต เหมือนกับการหาปลาในทะเลกว้างใหญ่
ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องอาศัยการลองผิดลองถูก แต่ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
จำเป็นต้องเริ่มเรียนรู้ ลองผิดลองถูก แม้จะไม่เห็นผลระยะสั้น เพราะมิฉะนั้นก็จะไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ในโลกของอี-คอมเมิร์ซ แม้จะเต็มไปด้วยรอยยิ้ม ของความสมหวังจากตัวเลขรายได้ที่เพิ่มขึ้น
แต่ก็มีสินค้าจำนวนไม่น้อยที่ต้องผิดหวัง เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบธุรกิจบนเว็บเหล่านี้
เป็นส่วนหนึ่งที่บอกว่าไม่ใช่ว่า สินค้าทุกอย่างจะขายบนโลกของอินเตอร์เน็ตนี้ได้
และยังมีเงื่อนไขอื่นๆ แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือ ความคิดสร้างสรรค์ และลงมืออย่างจริงจัง
เพราะอะไรก็เกิดได้ในโลกไซเบอร์สเปซ !