จากลูกช่างกลึงชื่อดังในอดีต สามารถถีบตัวเองขึ้นมาเป็นนักธุรกิจและเคลื่อนตัวสู่ระดับประเทศ
พร้อมๆ กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและก่อร่างสร้างความมั่งมีศรีสุขได้
นับว่า สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ไม่ธรรมดา แต่หลังจากฟองสบู่ทางเศรษฐกิจแตกกระจายเมื่อปลายปี
2539 ธุรกิจของบุรุษผู้เรืองนามคนนี้ก็เริ่มซวนเซจนกระทั่งปัจจุบันนี้เขาต้องดิ้นรนสุดฤทธิ์เพื่อ
หาทางออกให้กับกลุ่มบริษัทที่เขาได้ออกแบบสร้างมา ให้รอดพ้นจากวิกฤติการณ์นี้
แน่นอนว่าความสำเร็จในอดีตเกิดจากการผสมผสานกันระหว่างมันสมองกับเงินทุนก้อนโต
ขณะเดียวกันสิ่งส่งเสริมบารมีให้เขาก้าวขึ้นมาในระดับนี้ได้และปฏิเสธไม่ได้
คือ ความเป็นนัก "ล็อบบี้" และ "สายสัมพันธ์กับนักการเมือง" เพราะจากความมีนิสัยกล้าได้
กล้าเสีย ที่ติดตัวมาตั้งแต่ซอยวัดพระพิเรนทร์ ในอดีต ปัจจุบันบุคลิกภาพของเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปนัก
บุคลิกนี้แทรกซึมลึกเข้าไปในชีวิตประจำวันของเขา นี่คือ สีสันในตัวสวัสดิ์
หอรุ่งเรือง
พรสวรรค์ทางด้านการล็อบบี้ที่เริ่มต้นในสมัยเรียนชั้นมัธยม เขาได้สั่งสมประสบการณ์และแกร่งกล้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อนำมาใช้กับการดำเนินธุรกิจของเขาจนขั้นสุดยอด
ของการเจริญเติบโตขนานใหญ่
ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ถือเป็นยุค "บุฟเฟ่ต์ คาบิเนต"
ช่วงนั้นสวัสดิ์ บูมสุดๆ ครั้นเกิดเหตุการณ์พฤษภา 2535 เมื่อ รสช. ยึดอำนาจ
สวัสดิ์ เริ่มเงียบหายไปบ้าง แต่ก็เป็นช่วงระยะเวลา สั้นๆ และเมื่อหมดยุค
รสช. พร้อมๆ กับการขึ้นสู่อำนาจของพรรคชาติไทย นำโดยบรรหาร ศิลปอาชา สวัสดิ์
เริ่มขยับตัวได้คล่อง และเริ่มคึกคักขึ้นมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในแถบชายฝั่งตะวันออก
เมื่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเหมราชพัฒนาที่ดิน ที่เงียบเหงามานาน กลับมีงานเซ็นสัญญาซื้อขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
200 ไร่ มูลค่าราว 600 ล้านบาท ภายใต้บริษัท อีสเทิร์น อินดัสเตรียลเอสเตท
จำกัด
นับว่ามีความชัดเจนในตัวสวัสดิ์ ที่กลายเป็นนักธุรกิจสายพรรคชาติไทย จากการสรรค์สร้างของเขาเองและการสนับสนุน
เพื่อตั้งมั่นในแนวทางที่เขามุ่งหวังให้มีอำนาจ
เงื่อนไขและเส้นทางของกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาสร้างสายสัมพันธ์และให้การสนับสนุนพรรคการเมือง
ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงซึ่งเป็นเส้นทางการอยู่รอดของธุรกิจ และการเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาล
บรรหาร ศิลปอาชา ในขณะนั้นที่ประวัติในอดีตชัดเจนและเข้าทำนอง "ผลประโยชน์
ต่างตอบแทน" และ วิธีการสร้างสายสัมพันธ์ลักษณะนี้มีมานานหลายยุคสมัย ซึ่งเป็นวิธีโบราณที่ยังใช้ได้ผลเสมอ
ซึ่งนายทุนที่พยายามสร้างสายสัมพันธ์กับรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์ ทางธุรกิจอาจเรียกได้ว่าเป็นการแสวงหาส่วนเกิน
(rent-seekers) เพราะว่าบุคคลเหล่านี้มุ่งหาโอกาสเข้ามาเป็นผู้รับส่วนเกิน
(rent) ที่รัฐบาลให้โดยการโอนทรัพยากรของรัฐบาลให้จัดการ หรือโดยการที่รัฐให้การปกป้องหรือให้อำนาจในการดำเนินกิจการบางอย่างที่รัฐเป็นผู้ควบคุม
"ส่วนเกิน" ในที่นี้หมายความถึงส่วนต่างระหว่างมูลค่าตลาดของ "สิทธิพิเศษ"
ที่ได้จากรัฐบาลกับสิ่งที่ผู้ได้รับจ่ายให้รัฐบาล และ/หรือสิ่งที่เขาจ่ายให้เป็นการส่วนตัว
แก่ผู้มีพระคุณต่อเขาในรัฐบาล (กำเนิดทุนนิยมเทียมใน เอเชียอาคเนย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
2537)
ลักษณะดังกล่าว โยะชิฮะระ คุนิโอะ ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว
กล่าวไว้ในหนังสือ The Rise of Ersatz Capital-ism in South-East Asia ว่าเป็นลักษณะนายทุนอิทธิพล
(crony capitalist), และนายทุนขุนนาง (bureaucratic capitalists) และในหนังสือกำเนิดทุนนิยมเทียม
ได้ให้คำจำกัดความดังกล่าวว่า "นายทุนหรือนักธุรกิจซึ่งมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนักการเมืองที่ม
ีอำนาจและใช้ความสัมพันธ์ดังกล่าว แสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง"
กรณีการขายหุ้นใน NSM ที่สวัสดิ์ถืออยู่ทั้งหมดให้ NTS ในสัด
ส่วน 45% รวมมูลค่า 2.25 พันล้านบาท และขายให้กับซันเทคกรุ๊ป อีก 10% มูลค่า
500 ล้านบาท นับว่า เป็นการซื้อขายหุ้นที่โด่งดังครั้งหนึ่งที่ทำให้สวัสดิ์
สามารถเรียกเงินเข้ากระเป๋าได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ครั้งนั้นเขายืนยันว่า "ผมทำ
ทุกอย่างเคลียร์ ไม่สับสน ไม่มีลับลมคนในทั้งสิ้น"
เหตุการณ์ซึ่งถือว่าเป็นนักล็อบบี้ข้ามทวีปที่โด่งดังไปทั่วโลก คือ การได้มาซึ่งแฟรนไชส์บล็อกบัสเตอร์
หลังจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่านักธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย สวัสดิ์
หอรุ่งเรือง และพอลลีน กาญจน ลักษณ์ นักธุรกิจหญิงไทยในเวอร์จิเนียได้เข้ามามีส่วนพัวพันกับ
กรณีบริจาคเงินให้กับพรรคเดโมแครตของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยมีวัตถุประสงค์ให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของสหรัฐ ปล่อยสินเชื่อ
6.5 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับซันเทคกรุ๊ป เพื่อนำเงินจำนวนดังกล่าวไปจ่ายลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ที่มีมูลค่าทั้งสิ้น
7.7 ล้านเหรียญ สหรัฐ เพราะกว่าสวัสดิ์จะสามารถเข้าพบ ประธานบริษัทเจ้าของแฟรนไชส์
บล็อคบัสเตอร์ ได้ต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี และเมื่อได้มีโอกาสเข้าพบคำคม ที่สวัสดิ์ใช้ในการเจรจา
คือ
"ยูจะเลือกใครระหว่างคนที่อยู่ในวงการบันเทิงมาชั่วชีวิตแต่ไม่เคยสนใจลื้อ
แต่อั๊วอยู่นอกวงการแต่มองลื้อมาถึงสามปี แล้วอั๊วต้องลำบากลำบนใช้วุฒิสมาชิกมาล็อบบี้ลื้อกว่าจะยอม
ให้ลื้อตัดสินใจเอาเองก็แล้วกัน"
สุดท้ายเขาเป็นผู้ชนะ
แม้กระทั่งความเป็นผู้มีบารมีสูงส่ง ขนาดเป็นถึงนักเจรจาให้ผู้ที่ให้ความนับถือยุติสงครามได้
เช่น กรณีความขัดแย้งระหว่างอภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ
บริษัท ไทยฟากรุ๊ป จำกัด กับ ปิยะพงศ์ กณิกนันต์ กรรมการอำนวยการ บงล.ธนไทย
ซึ่งบทบาทของสวัสดิ์ คือ การทำหน้าที่คนกลางในเจรจาให้ทั้งสองหันหน้าเข้าหากัน
งานนี้ให้เครดิตสวัสดิ์ไปเต็มๆ และเขาเองก็มั่นใจว่าทุกอย่างจะจบลงด้วยดี
และหากทั้งสองฝ่ายยังดื้อดึงกันต่อไป คำพูดที่ออกจากปากสวัสดิ์ในวันนั้น
คือ "ถ้าไม่สำเร็จ ผมจะฆ่ามันทั้งคู่เลย"
จากวันนั้นถึงวันนี้บทบาทต่างๆ บ่งบอกนิสัยความเป็นนักเลงของผู้เรืองนามคนนี้
บางครั้งอาจจะได้รับบาดเจ็บหรือความว่างเปล่าจากการ สร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ
หรือนักการเมืองที่มีฉายาว่า "ผู้ไม่มีจุดยืนแน่นอน" เรื่องนี้เจอกับสวัสดิ์
โดยตรง ซึ่งได้กล่าวว่า "ตอนนี้ทุกๆ คนมีแต่ความไม่ไว้วางใจกัน เมื่อก่อนผมกู้เงินต่างชาติมาทำธุรกิจ
เขาไว้ใจให้กู้ แต่เมื่อบ้านเมืองเรามีปัญหากลับไม่ไว้ใจ ไม่ให้กู้ เจ้าหนี้ก็ทวงหนี้แทบทุกวัน
ผมไปหาเพื่อนที่เป็นแบงก์ก็ไม่ช่วยเพราะเพื่อนไม่ไว้วางใจด้วยกัน สนิทกันมันยังไม่เชื่อใจกันเลย"
ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร คือ คำอธิบายได้ดีที่สุด
หลังจากสถานการณ์เข้าสู่ยุคมืดและธุรกิจของสวัสดิ์ก็เข้าสู่การดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้
แน่นอนว่าเมื่อรายการปรับโครงสร้างหนี้เสร็จเรียบร้อยการเปลี่ยนแปลงในฐานะ
ผู้กุมอำนาจบริษัทในเครือของเขาต้องถูกบั่นทอนลงไปอย่างแน่นอน ประกอบกับการที่ประเทศไทยได้ออกกฎหมายล้มละลายมาเพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตัวสวัสดิ์ และเพื่อนๆ นักธุรกิจ คือ กรณีการค้ำประกันส่วนบุคคล
เนื่องจากธุรกิจไทยมักใช้วิธีการระดมทุนในลักษณะใช้ตัวเองค้ำประกันเงินกู้
เมื่อกฎหมายล้มละลายคลอดออกมาย่อมส่งผลกระทบต่อตัวผู้ค้ำประกัน
สวัสดิ์ ก็เป็นคนหนึ่งที่เอาตัวเองเข้าไปค้ำประกันเงินกู้สูงถึง 80,000
ล้านบาท ดังนั้นในฐานะวุฒิสมาชิกสายนักธุรกิจคนหนึ่ง การเรียกร้องจึงก่อตัวขึ้นเมื่อเขาไม่ต้องการให้คน
ค้ำประกันต้องชดใช้หนี้หรือล้มละลายไปตามบริษัท "ถ้าหากบริษัทถูกฟ้องล้มละลายไปก็ขอให้จบไป
อย่าให้ต้องมีภาระผูกพันต่อไป กฎหมายล้มละลายของไทยนั้นรุนแรงมาก เพราะยึดทรัพย์
ไปหมดแล้ว ตัวบุคคลยังต้องถูกฟ้องล้มละลายด้วย ผมไม่ว่า อะไรถ้าจะยึดทรัพย์ไปหมดแต่จากนั้น
ผมขอเริ่มชีวิต ใหม่ผมจึงไม่ต้องการให้ใช้ชื่อ ว่ากฎหมายล้มละลายควรเรียกว่ากฎหมายฟื้นฟูกิจการมากกว่า"
แม้ผลสรุปจะออกมาในรูปใดก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันสวัสดิ์ กำลังตกที่นั่งลำบาก
แม้ในบางแง่มันเป็นงานที่คุ้มค่า แต่เขาไม่อาจหลบหนีไปจากยุคสมัยนี้ไปได้
เพราะเป็นปัญหาร่วมสมัย และเป็นความจริงที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้