เขามาไกลเหลือเกิน เกินกว่าจะหยุดยั้ง อดีตคลุกคลีอยู่กับนักเลง เซียนพนัน
แล้วพลิกผันสู่นักธุรกิจจนบรรลุขั้นสุดยอดแห่งความมั่งคั่งสมบูรณ์จนไต่เต้าสู่ฐานะอันเด่น
และเต็มไปด้วยอำนาจที่เขาสรรค์สร้างขึ้นมามันสมองและเงินกู้ก้อนใหญ่ พร้อมการสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับนักการเมือง
ครั้นเศรษฐกิจพังทลายชีวิตและธุรกิจเขาเริ่มเข้าสู่มุมมืด และต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความยุ่งเหยิง
ถ้าแก้ไขไม่ได้เขาต้องแพ้แต่ ด้วยความกล้าและบ้าบิ่น เขายังไม่ยอมยกธงขาวขณะที่ทางออกมีไม่กี่ทาง
เขาจะทำอย่างไรเพื่อดำรงรักษาชีวิตและธุรกิจเขาไว้ 30 มิถุนายน 2542 คือวันตัดสินอนาคตเขา...สวัสดิ์
หอรุ่งเรือง
เรื่องโดย ฐิติเมธ โภคชัย
เขาคือนักอุตสาหกรรมที่เติบใหญ่มา จากลำแข้งตัวเอง ชอบทำตัวสบายๆ ไม่มีพิธีรีตรอง
ไม่ชอบทำเรื่อง ง่ายให้เป็นเรื่องยาก ไม่ฝันอะไรเกินจริง ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ
ไม่พยายามสร้าง ช่องว่างระหว่างตัวเขากับคนที่อยู่เหนือหรือใต้เขา เขาเป็นผลผลิตของโรงเรียน
สาธรวิทยา ชอบโดดเรียน เก่งภาษาจีนกลาง แต่เกลียดภาษาอังกฤษ เขายกย่องหนังสือสามก๊ก
ครั้งหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ที่หนีเรียนไม่ได้ไปไหน เพราะไปอ่านหนังสือที่ตัวเองชอบ"
เขาเป็นผู้ก่อตั้งอาณาจักรกลุ่มบริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป จำกัด (NTS)อันเป็นกลุ่มธุรกิจผลิตเหล็กยักษ์
ใหญ่ของประเทศไทย ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท เป็นวุฒิสมาชิกสายนักธุรกิจ
ได้รับปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา เป็น นักธุรกิจตัวอย่างประจำปี 2533 สาขาอุตสาหกรรม
วิธีการบริหารงานของเขาใช้วิธีการรวมเอางานไว้ให้มากที่สุดในจุดเดียว เพื่อสะดวกในการบริหารงานและการติดต่อ
ในสมัยเรียนเขาขาดทักษะด้านการกีฬา แต่กลับหาทางออกด้วยการ "ล็อบบี้" อาจารย์ผู้สอนได้สำเร็จ
เขาปรารถนาที่จะเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรม เหล็ก เพราะมองว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทย
ณ วันนี้ไม่มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย หรือ การไร้เทคโนโลยี (technologyless)
เมื่อเทียบกับต่างประเทศ
เขาเกือบทำสำเร็จแต่โชคร้าย เหมือนชีวิตเขา "บุญมีแต่กรรมบัง" ที่ถูกกระชากลงด้วยวิกฤติเศรษฐกิจพังยับเยินรวมทั้งเวลาแห่งความยุ่งเหยิง
ทั้งปวงที่เริ่มขึ้นในปลายปี 2539 เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจกลับเลวลง ทุกอย่างก็ค่อยๆ
สลายตัวไป
ชายผู้นี้คือ สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ผู้มีสมญานาม "เจ้าพ่อวงการเหล็ก หรือ
Iron King" "นักเลงเหล็ก" หรือ"คน เล็กใจใหญ่" ผู้ซึ่งถูกกล่าวขวัญได้ทุกยุคสมัย
ในช่วงเศรษฐกิจกำลังเบ่งบาน สวัสดิ์เป็นนักธุรกิจยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ของประเทศไทยที่เขาพยายามสร้างสถิติที่ไม่มีใครลบได้
ในฐานะบุคคลผู้ประสบความสำเร็จมากมายด้วยตัวเองภายในช่วงหนึ่งชั่วอายุคน
เขาคิดอย่างนั้นจริงหรือ แน่นอนเพราะก่อนหน้าสวัสดิ์จะสร้างอาณาจักรให้ยิ่งใหญ่ก่อนพังทลายในปัจจุบัน
เขาต้องฟื้นฟูโรงงานนครไทย สตีลเวอร์ค ที่พี่ชายเขาสร้างหนี้เอาไว้ 200 ล้านบาท
ขณะที่มีสินทรัพย์เพียง 50 ล้านบาท เหตุการณ์นี้เขากล่าวว่า เมื่อออกจากธุรกิจเหล็กไม่ได้ก็ต้องทำให้ใหญ่ไปเลย
ทำสิ่งไหนเมื่อขึ้นแล้ว ก็ลงไม่ได้ และ To Be Number One บทเพลงประกอบการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี
1994 เป็นเสียงเพลงที่กระตุ้นให้ สวัสดิ์ อยากเป็นที่หนึ่ง "มันเป็นกิเลสที่หนาเตอะ
ฉะนั้นผมต้องใช้กรรมมาจนกระทั่งทุกวันนี้"
กระทั่งวิกฤติการณ์เศรษฐกิจพังครืน อาณาจักรของสวัสดิ์ ที่กำลังเติบโตถึงจุดสุดยอดต้องสะดุดลง
จนเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างหนี้จำนวนมหาศาลที่เขาก่อขึ้นจำนวนหลาย หมื่นล้านบาท
แน่นอนว่าเขาต้องพยายามประนีประนอมกับบรรดาเจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศให้เข้าใจธุรกิจ
และตัวเขา เพื่อดำรงสถานะความเป็น นักอุตสาหกรรมต่อไป และแน่นอนจากความมีนิสัยชอบเปิดเผย
คำพูดที่พรั่งพรูออกมาจากริมฝีปากเขาหลายๆ ครั้ง ไม่เว้นแม้แต่คำพูดที่ว่า
"ไม่มี ไม่ หนี ไม่จ่าย" ก็ได้แสดงถึงพฤติกรรมที่ชัดแจ้งถึงความจริงข้อนี้ดีในการต่อสู้กับปัญหาร่วมสมัยของเขา
ชายผู้ไม่หยุดนิ่ง
แม้ทุกวันนี้ สวัสดิ์ กำลังดิ้นรน สุดฤทธิ์ในการนำพากลุ่มธุรกิจของเขาฝ่าฟันอุปสรรคให้ก้าวพ้นออกจากวงจร
อุบาทว์ในปัจจุบันให้ได้ แต่การปรับ ปรุงสภาพธุรกิจนั้นมีทางเลือกไม่กี่ทางที่จะหลุดพ้นออกไป
เกือบตลอดชีวิตของสวัสดิ์ เขาทุ่มเทพลังในการพยายาม ช่วยตัวเองให้รอดพ้นจากชีวิตวัยเด็กที่ไม่ค่อยราบเรียบซึ่งคอยตามหลอกหลอน
และผลักดันในเวลาเดียวกัน บุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อเขาในช่วงเวลานั้น คือ
เถ้าแก่ตั้ก บิดาผู้มีฝีมือออกแบบและตั้งหีบอ้อยที่ใช้ในโรงงานน้ำตาลและวสันต์
พี่ชายของเขาเอง
"ฮ่อก๊กห่ง" คือ ชื่อภาษาจีนของสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง เกิด 1 ตุลาคม 2484
ครอบครัวของเขาเป็นเชื้อสายจีนกวางตุ้งทำกิจการโรงกลึง "เขื่องหว่า" เขาเป็นลูกคนที่
5 ในบรรดาพี่น้อง 7 คน ครอบครัวเขาเติบโตขึ้นมาในซอยวัดพระพิเรนทร์ แถววรจักร
ที่สมัยนั้นแถบนี้คลาคล่ำไปด้วยนักเลงและเซียน พนัน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมสวัสดิ์
ถึงมีนิสัยใจคอค่อนข้างนักเลง เนื่อง จากได้คลุกคลีอยู่กับคนเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กและก่อตัวขึ้นจนเป็น
ส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตนักเลงและเซียนพนันและ นิสัยที่กล้าได้กล้าเสียที่ติดตัวเขามาจนทุกวันนี้
สิ่งเหล่านี้หลายคนบอกว่า"เป็น ความเสี่ยงต่ออนาคต" เพราะบทบาท ต่างๆ ของเขาบ่งบอกถึงนิสัยความ
เป็น นักเลง "กล้าและบ้าบิ่น" กระเดื่อง นามคนนี้
หลังจากสวัสดิ์เกิดมาครอบครัว หอรุ่งเรือง เริ่มมีฐานะขึ้นบ้างแล้วแต่
ด้วยความเป็นคนเชื้อสายจีน ตามธรรมเนียมทุกคนยังต้องทำงานหนักต่อไป และด้วยความสนิทสนมกับบิดา
และพี่ชายของเขาที่ได้รับความรักและเอาใจใส่ โดยเฉพาะสองพี่น้องหอรุ่งเรืองคู่นี้จึงชอบเรียนรู้งานช่างฝีมือเป็นอย่างมาก
ซึ่งพี่ชายเขานี่เองที่มีอิทธิพลในด้านการทำงาน พิจารณาจาก ความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องของพลังเหตุการณ์ตลอดจนแนวความคิดของสวัสดิ์
ในทุกวันนี้
ครั้นอายุ 8 ปี สวัสดิ์ ถูกส่งตัวไปเรียนที่โรงเรียนจีนกวางตุ้งที่กวางเจ้า
เพราะตามธรรมเนียมคนเชื้อสายจีนจะต้องส่งลูกไปศึกษาตามต้นสังกัด "หากเป็นคนจีนสายแต้จิ๋วก็ต้องเป็นศิษย์เผยอิง
ที่บ่มสุดยอดเจ้าสัวในยุทธจักรธุรกิจเมืองไทย อย่าง เจริญ สิริวัฒนภักดี
หรือบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ถ้าเป็นสายไหหลำก็ต้องศึกษาที่ยกหมิ่น เมื่อเป็นสายคักหยิ่น
ต้องศึกษาที่จิ้นเต๊อะ"
สวัสดิ์ ใช้เวลาศึกษาที่กวางเจ้า 5 ปี ขณะที่จบการศึกษาประถมปีที่ 4 อายุปาเข้าไป
14 ปี และหลังจากจบการศึกษาที่นี่ สวัสดิ์ จึงเดินทางกลับมาเมืองไทยและได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนธีรพัฒน์วิทยา
ซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาของบุตรหลานผู้มีอันจะกินนิยมส่งเข้ามาหาความรู้ อย่างไรก็ดีแม้ว่าจะ
เป็นโรงเรียนมีชื่อเสียง แต่สวัสดิ์มักจะโดดเรียนเป็นประจำซึ่งเกิดจากอาการเบื่อ
โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่ ตัวเขาเองไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าคำว่าภาษาอังกฤษคืออะไร
"ครูบางคนไม่เข้าใจเห็น หน้าตาฉลาดๆ แต่ไม่น่าโง่เลย" สวัสดิ์ กล่าว
สิ่งที่มาทดแทนความน่าเบื่อก็คือ หนังสือสามก๊กที่เขาติดงอมแงม และเหตุผลบางครั้งที่ยอมโดดเรียนเพราะว่าจะได้เอาเวลามานั่งอ่านสามก๊ก
อย่างไรก็ตามด้วยการแสดงออก ถึงความเป็นผู้นำและใจนักเลง ทำให้อาจารย์โรงเรียนธีรพัฒน์วิทยาอนุญาต
ให้สวัสดิ์โดดเรียนได้ด้วยเงื่อนไขการ เป็นตัวแทนในการระดมทุนหาเงินเพื่อนำมาทำกิจกรรมในโรงเรียน
แม้ว่าเขา จะไม่มีความถนัดทำกิจกรรม แต่แววความเป็นผู้นำในสายตาอาจารย์ในขณะ
นั้นประกอบกับหนังสือสามก๊กที่กำลังรอคอยให้เขาเปิดอ่าน สวัสดิ์จึงปฏิเสธ
เงื่อนไขดีๆ เช่นนี้ไม่ได้
นี่คือวิวัฒนาการที่เป็นมาในอดีต ทางด้านการต่อรองจนประสบความสำเร็จของสวัสดิ์มาตั้งแต่อายุยังน้อย
เห็นได้ชัดอีกสิ่งหนึ่ง ก็คือ ทางการกีฬา ที่เขาคิดว่าค่อนข้างเป็นอันตรายต่อตัวเอง
โดยเฉพาะกีฬาประเภทโลดโผนโจนทะยาน ดังนั้น เขาจึงไม่มีความถนัดเอาเสียเลย
แต่ด้วยความเป็นนักต่อรอง หรือนัก "ล็อบบี้" ตัวยงคนหนึ่งเขาจึงเอาตัวรอดมาได้โดยที่ไม่ต้องเล่นกีฬาเหมือนเพื่อนร่วมห้อง
ด้วยการเสนอข้อแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ด้วยการเก็บอุปกรณ์กีฬาก่อนและหลังเรียนทุกครั้ง
แม้ว่าความสำเร็จที่ได้มาจะไม่ละเอียดหรือซับซ้อนอะไร แต่ก็มีการเปลี่ยน
แปลงให้รุดหน้าอยู่ตลอดเพื่อให้คำว่า "ล็อบบี้" สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
แต่คำว่า "ล็อบบี้" ในความหมาย ของสวัสดิ์ มันหมายถึงเป็นการนำเอาความจริงไปพูดและชี้ให้เห็นมากกว่า
นอกจากจะเป็นนักล็อบบี้ที่หาตัวจับยาก พรสวรรค์ในการหาเงิน คือ อีกสิ่งหนึ่งที่สวัสดิ์มีความถนัดไม่แพ้กัน
อย่างเช่น เมื่อทางโรงเรียนต้องการจัดกิจกรรม สวัสดิ์ คือ หัวหน้าในการระดมทุน
โดยใช้วิธีเรียกเก็บจากเพื่อน นักเรียน "ถ้าอาจารย์ต้องการเงิน 5,000 บาท
สวัสดิ์จะรวบรวมมาได้ 6,000 บาท ที่เหลือเกินมาก็จะกลายเป็นเงินของเขาในทันที"
หลังจากจบการศึกษาที่โรงเรียน ธีรพัฒน์วิทยา สวัสดิ์ได้เข้าศึกษาต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนสาธรวิทยา
ณ ที่แห่งนี้ก็เช่นเดียวกันวิวัฒนาการการหาเงินของเขาก็ยิ่งมีรูปแบบ มากขึ้น
แม้จะไม่ใชจำนวนมากมายอะไรก็ตาม เพราะทุกๆ เที่ยงวันในเวลาพักรับประทานอาหาร
สวัสดิ์ จะรับอาสาไปซื้ออาหาร มาให้บรรดาลูกเศรษฐีในโรงเรียนสาธรวิทยา โดยได้ค่าจ้างห่อละ
1 บาท ซึ่งในทุกวัน เขาสามารถทำเงินในลักษณะนี้ได้ประมาณ 20 กว่า บาท แม้กระทั่งการที่อาจารย์นำ
ห้องเรียนมาเป็นห้องอาหารมื้อเที่ยงสำหรับลูกเศรษฐี สวัสดิ์จะต้องนำอาหาร
มาเสิร์ฟซึ่งเขาเห็นว่าไม่มีความยุติธรรมเลย ดังนั้นการล็อบบี้อาจารย์ จึงเกิดขึ้น
นั่นคือ ตักอาหารรับประทานก่อน ที่ลูกเศรษฐีจะมีโอกาสลิ้มลองรสชาติอย่างเป็นทางการ
แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะดำเนินไปอย่างราบรื่นทั้งที่มีความขัดแย้งทางด้าน
ความคิด ที่สวัสดิ์เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่เสมอ แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของการเป็นเลือดนักสู้ทั้งที่ลับที่แจ้ง
แม้แต่ตัวของ เขาเองก็ยังเกิดความสับสนในจิตใจว่าวัน ข้างหน้าชีวิตคงหนีไม่พ้นเป็นนักพนัน
อย่างไรก็ตามหลังจากจบมัธยมปีที่ 6 ในปี 2502 และเขาก็หันหลังให้กับการศึกษา
เนื่องจากความเป็นเชื้อสายคนจีน แต่เขาก็ไม่ได้เสียใจ "ไม่คิดว่าตัวเองเสียเปรียบคนอื่นที่ไม่ได้เรียนสูง"
แต่ด้วยความสามารถทางด้านเครื่องจักรที่เขาฝึกฝนที่โรงกลึงของบิดา บวกกับพรสวรรค์
ด้าน ภาษาจีนกลาง ทำให้เถ้าแก่หลิ่น หรือสุรีย์ อัษฎาธร ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทบิดาของสวัสดิ์
ได้มาขอตัวเขาไปทำงานที่โรงงานน้ำตาลทรายศรีราชา สุรีย์ ยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทร่วมกำลาภ
(บริษัท การค้า) ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลหลายแห่ง และกลุ่มธุรกิจ"ไทย
รุ่งเรือง" ด้วย
สวัสดิ์ ทำงานที่โรงงานน้ำตาลศรีราชาของกลุ่มไทยรุ่งเรืองได้ 4 ปี ก็เกิดภาวะวิกฤติขึ้นกับโรงงานน้ำตาลแห่งนี้
โดยธนาคารกรุงเทพ เจ้าหนี้รายใหญ่ของเถ้าแก่หลิ่นเข้ามาควบคุมการทำงานในโรงงานเอาไว้
ทำให้สวัสดิ์ ตัดสินใจลาออกและกลับมาทำงานร่วม กับวสันต์-พี่ชายของเขาที่กำลังขยายกิจการเขื่องหว่าออกไปด้วยการตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด
รุ่งเรืองจักรกลอุตสาห-กรรม รับผลิตเครื่องจักรให้กับโรงงาน น้ำตาลทั่วประเทศ
แต่ด้วยความเขี้ยว ของโรงงานน้ำตาล สองพี่น้องจึงหยุดผลิตเครื่องจักรกลให้กับบรรดาโรงงาน
น้ำตาล แล้วหันมาผลิตเครื่องจักรกลจำหน่ายทั่วไปแทน โดยเฉพาะเครื่องสูบน้ำ
"ตราดาว หรือเซ็นเตอร์" ที่ใช้ในอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ซึ่งเป็นฝีมือของพี่ชายล้วนๆ
ขณะที่สวัสดิ์ ได้ฝากฝีมือเอาไว้ด้วยการผลิตเครื่องผสมปูนซีเมนต์โดยไม่ต้องแยกเครื่องยนต์
และนี่คือส่วนหนึ่งของสองพี่น้องที่ทำให้ได้รู้จักกับบรรดาผู้รับเหมาก่อสร้าง
ที่ส่งผลให้ "หอรุ่งเรือง" รู้จัก ธุรกิจ "เหล็กเส้น"
ก่อตั้งบริษัทเหล็กเส้น
จากการถูกหล่อหลอมในหม้อต้มที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิด ขึ้นในอดีต
บริษัท กรุงไทยสตีลเวอร์ค จำกัด ที่ ต.บางปลากด สมุทรปราการ ทำการผลิตเหล็กเส้นหลังจากดำเนินกิจการรุ่งเรือง
จักรกลอุตสาหกรรมได้เพียง 5-6 ปี ซึ่งกรุงไทยสตีลเวอร์คเกิดขึ้นได้เนื่องจากเงินทุนของครอบครัว
หอรุ่งเรือง และการดำเนินงานก็เติบโต ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2500
สองพี่น้องจึงตัดสินใจขยายกิจการด้วย การก่อสร้างโรงงานผลิตเหล็กเส้นแห่งที่สอง
ใช้ชื่อ บริษัท นครไทยสตีล เวอร์ค จำกัด ที่ ต.แหลมฟ้าผ่า สมุทร- ปราการ
เปิดดำเนินงานได้ไม่นานบริษัท เข้าสู่ภาวะวิกฤติขาดทุนอย่างหนักขณะ นั้นมีหนี้ประมาณ
200 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์มีเพียง 50 ล้านบาท สองพี่น้องตัดสินใจขายกรุงไทยสตีลเวอร์คเพื่อนำเงินมาใช้หนี้
และเงินอีกส่วนหนึ่งก็นำมาซื้อหุ้นในนครไทยสตีลเวอร์ค ที่หุ้นส่วนเดิมต้องการขายออกไป
ขณะเดียวกันการประสบอุบัติ เหตุของวสันต์ ทำให้การตัดสินใจในงานบริหารต่างๆ
ตกมาอยู่ที่สวัสดิ์เพียง คนเดียว ซึ่งเป็นเรื่องหนักอกสำหรับเขา พอสมควรสำหรับหนี้ก้อนโตเช่นนี้
แต่ ด้วยความมุ่งมาดปรารถนาในการฟื้นฟู กิจการ เขาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลังจากนครไทยสตีลเวอร์คสามารถล้างหนี้ได้หมดแล้ว แต่อีกด้าน หนึ่งที่สวัสดิ์ต้องสะสางและมีความสำคัญยิ่งต่อเขา
ก็คือ ภาพพจน์ที่ยังคาใจคนรอบข้าง แต่ความปรารถนาที่ จะไปถึงจุดหมายปลายทางจากความเย้ายวนในธุรกิจเหล็ก
เขาจึงมีความหวังอยู่ประกอบกับความโชคดีที่โรงงานกรุงไทยสตีลเวอร์คอยู่ติดกับโรงงานเหล็กรีดซ้ำชื่อ
"พลายมารี่แอลลายสตีล" ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งสวัสดิ์ ก็ได้เล็งๆ เอาไว้เหมือนกัน
เมื่อเขาติดต่อขอซื้อก็ไม่ทำให้สวัสดิ์ผิดหวัง เมื่อเจริญยินดีขายให้ในราคาที่ต่ำกว่าคนอื่นเสนอในปี
2530 นี่คือ บททดสอบความสามารถทางด้านการล็อบบี้ของสวัสดิ์อีกครั้งหนึ่ง
แต่เหตุผลข้อหนึ่งที่ดีลนี้ประสบความสำเร็จเกิดจากเจริญไม่ต้องการเน้นธุรกิจเหล็ก
อีกต่อไป กระนั้นก็ดีเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการกู้หน้าให้กับสวัสดิ์ ที่ฟื้นฟูโรงงานที่ถูกทอดทิ้งมานานถึง
3 ปีขึ้นมาได้
มโนภาพของสวัสดิ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็ก คือการนำพาไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง
และความอุดมสมบูรณ์ เขาได้ดึงชำนิ จันทร์ฉาย มือบริหารการเงินจาก 3 เอ็ม
(ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ NSM) เข้ามาช่วยเหลือในด้านการหา
แหล่งเงินทุนโดยมีธนาคารทหารไทยเป็นผู้ช่วยเหลือรายใหญ่ และอีก 2 ปี ต่อมาสวัสดิ์
ทำการก่อสร้างโรงงานรีดเหล็กขึ้นมาอีกที่ ต.บางปลากด ใช้ชื่อว่า เมเทิล สตาร์
สวัสดิ์ ถูกทดสอบฝีมืออีกครั้ง ในสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ที่ขณะนั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำพร้อมๆ กับราคาเหล็กตกต่ำ เขาแก้ปัญหาด้วย
การนำผลิต ภัณฑ์เหล็กไปจำนำไว้กับ เอเชียคลังสินค้า ของเจ้าสัวชิน โสภณพนิช
แห่งธนาคารกรุงเทพ แต่สวัสดิ์กล้าพอ ที่จะไม่ยอมขายผลิตภัณฑ์ในราคาต่ำๆ ออกไป
เพราะมั่นใจว่าขายได้ราคาสูงกว่านี้
หนทางออกของสวัสดิ์ คือ วาง แผนการส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กซึ่งขณะ นั้นกำลังเกิดภาวะล้นตลาด
(over supply) พร้อมทั้งพยายามผลักดันให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ กล่าวกันว่าสวัสดิ์ทั้งล็อบบี้
และกดดันรัฐบาลว่าหากไม่สนับสนุนเขา คนงานทั้งหมดจะต้องถูกเขาปลดทันที
ในที่สุดสุธี สิงห์เสน่ห์ ขณะนั้นเป็น รมว.คลัง และโกศล ไกรฤกษ์ เป็น รมว.พาณิชย์
ยอมเปิดไฟเขียวให้ เขา มีทั้งการยกเลิกภาษีนำเข้าวัตถุดิบ ลดค่าไฟฟ้าในการรีดเหล็ก
คืนภาษีเหล็กเส้นส่งออกและการให้ packing credit เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เพียงแต่เขา
จะได้ประโยชน์จากรัฐบาลเท่านั้น ชื่อเสียงยังโผล่ขึ้นมาราวกับดาราดังคนหนึ่งเลยทีเดียว
เมื่อประสบความสำเร็จอย่างงดงามประกอบกับตลาดเริ่มขยายตัวขึ้น สวัสดิ์ก็สามารถจะผลักดันในสิ่งที่ตนเองถนัด
และได้เปรียบจากประสิทธิภาพ การผลิตที่เพิ่มขึ้น ตลาดที่กว้างออกไปจะนำไปสู่การผลิตสินค้าเฉพาะอย่างที่
มากกว่าเดิม สู่ผลิตภาพที่สูงขึ้นตลอด จนความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นและก่อให้เกิดการใช้เงินเพื่อเอาชนะความยุ่งยาก
ส่ง ผลให้สวัสดิ์สร้างโครงสร้างเหล็กเตาหลอมประเภท full hitech ต้นทุนต่ำ
เพื่อรองรับโรงงานรีดเหล็กทั้ง 3 แห่ง เพราะความคิดเขาคือต้องมีเตาหลอมเหล็กเอง
แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นต้องมีเงินทุน และธนาคารทหารไทย คือ แหล่งเงินทุนแห่งแรกที่สวัสดิ์เดินเข้า
ไปหา แต่เงื่อนไขการปล่อยกู้ครั้งนี้ คือ ต้องมีพันธมิตรจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนด้วย
โดยธนาคารทหารไทยต้อง การให้ซูมิโตโม เข้ามาถือหุ้นจำนวน 25% ถึงจะยอมปล่อยเงินกู้
แต่สวัสดิ์รับไม่ได้กับเงื่อนไขสุดโหดนี้ จึงให้ชำนิ จันทร์ฉาย เขียนโครงการความเป็นไปได้เสนอไปที่ธนาคารกรุงไทย
เพียง 3 เดือนโครงการนี้ได้รับอนุมัติ สวัสดิ์จึงก่อตั้งบริษัท เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป
จำกัด (NTS) ในปี 2531 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โรงงานแห่งนี้ผลิตเหล็กเส้นและเหล็กลวดด้วยเทคโนโลยีแบบรีดซ้ำ
(Re-Rolling) และแบบใช้เตาหลอมไฟฟ้า (Electric Arc Furnace)
การขยายตัวเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเคลื่อนย้ายจากธุรกิจไปสู่ธุรกิจอย่าง
รวดเร็ว สวัสดิ์ พุ่งความสนใจไปยังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยการตั้งบริษัท
เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (HEMRAJ) เริ่มประกอบธุรกิจเมื่อปี 2531 โดยเริ่ม
โครงการนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี (บ่อวิน) จ.ชลบุรี เพื่อเป็นที่รวมของอุตสาหกรรมเหล็ก
อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก วัสดุก่อสร้างทั่วไป และต่อมาในปีเดียวกันได้จัดตั้งบริษัท
อีสเทิร์นอินดัสเตรียลเอสเตท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมตะวันออก
(มาบตาพุด) จ.ระยอง เป็นแห่งที่สอง
เหตุผลที่หันเหมายังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สวัสดิ์ ได้อธิบายในแง่ของแรงกระตุ้นของการทำธุรกิจนี้ว่า
"ผมเป็นคนคิดไกล ไม่อยากตั้งโรงงาน ที่ปทุมธานีหรือสมุทรปราการ เพราะท่าเรือคลองเตยถึงที่สุดแล้วไม่อาจรับไหว
เลยกระโดดไปที่อีสเทิร์นซีบอร์ด เพราะไหนๆ รัฐบาลก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
ดังนั้นแทนที่จะซื้อที่ดิน 500 ไร่เพื่อสร้างเป็นโรงงาน ก็น่าจะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมไปเลยเพื่อให้เกิดความคุ้มค่า"
วิธีที่สวัสดิ์ดำเนินการครั้งนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงอีกครั้ง เมื่อเขามัดจำเงินซื้อที่ดิน
2,484 ไร่ บริเวณใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจำนวน 10 ล้านบาท เพราะการเดิมพัน
ครั้งนี้ถ้าสามารถล็อบบี้รัฐบาลให้เปลี่ยน เป็นพื้นที่สีม่วงได้ สวัสดิ์จะได้กำไรจาก
การพุ่งขึ้นของราคาที่ดินประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่ถ้าไม่ได้ 10 ล้านบาท จะกลายเป็นอากาศธาตุทันที
สุดท้ายเขาทำได้สำเร็จในสมัยบรรหาร ศิลปอาชา เป็น รมว.อุต-สาหกรรม แม้ว่าสวัสดิ์จะอธิบายเหตุผลว่าเป็นเพราะความต้องการของรัฐบาล
ที่จะขยายขอบเขตอุตสาหกรรมเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ในขณะนั้น
คือสายสัมพันธ์ อันลึกซึ้งกับกลุ่มการเมืองซอยราชครู
ด้วยการคิดค้นวิธีการใหม่ๆ แน่นอนว่าวิธีทางการเมืองซึ่งเป็นที่มั่นแหล่งสุดท้ายของสิทธิพิเศษ
สามารถไต่เต้าสู่ฐานะอันเด่นและเต็มไปด้วยอำนาจ ความเจริญเติบโตเกิดขึ้นเรื่อยๆ
ประกอบกับแรงผลักดันจากภาวะตลาด อาจจะสะดุดไปบ้างในบางครั้งแต่ก็ยังอยู่ในทิศทางที่รุดไปข้างหน้า
เพราะไม่เพียงเท่านี้ สวัสดิ์ยังเข้าไปร่วมลงทุนกับกลุ่มไพโรจน์ เปี่ยม
พงษ์สานต์ แห่งบ้านฉางกรุ๊ป ขนาดเข้าไปถือหุ้นในบ้านฉางกรุ๊ป หรือร่วมกับอนุศักดิ์
อินทรภูวศักดิ์ นักธุรกิจชิปปิ้งกับเดวิด เหลียง เจ้าของกิจการ เรือไฮโดรฟอยด์
ฮ่องกง-มาเก๊า จัด ตั้งบริษัท ไทย-ฮ่องกงเรียลเอสเตท จำกัด เพื่อสร้างอาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์
บนถนนสาธร ซึ่งใช้เงินสูงถึง 7,000 ล้านบาท อีกทั้งยังเริ่มขายที่ดินที่ซื้อมา
พัฒนาบางส่วนเพื่อทำกำไร เช่น ที่ดิน ตรงข้ามห้างสรรพสินค้าพาต้า ปิ่นเกล้า
ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร พร้อมๆ กับจัดตั้งบริษัท เทพทักษิณ จำกัด ขึ้นมาเพื่อสร้างโรงแรมและสร้างบ้านภายใต้โครงการเขมรัฐ
ย่านปิ่นเกล้า
ออกสู่สายตาประชาชน
หลังจากถูกหล่อหลอมด้วยเพลิง ของการขยายตัวชนิดรั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ทำให้เป็นจุดหนึ่งของการปรากฏตัวออกสู่วงกว้างมากขึ้นในฐานะนักอุต-สาหกรรมผลิตเหล็กด้วยการคิดค้นวิธีการใหม่ๆ
ทำให้สวัสดิ์กลายเป็นที่ถูกจับตามองมากคนหนึ่งในขณะนั้น แน่นอนการขยายตัวจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจาก
ทุนก้อนใหญ่ซึ่งรวบรวมมาได้จากเงินกู้ยืม และนำมาใช้ในการเพิ่มการผลิต และส่งเสริมให้เกิดการผลิตเฉพาะอย่างมากขึ้นกว่าเดิมตลอด
จนใช้ขยายตลาดให้กว้างไกลออกไป จึงถือว่าการกู้เงินก้อนมหึมาเป็นกุญแจ แห่งการขยายตัวของอาณาจักร
สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง
แน่นอนว่ารูปแบบการระดมทุน จึงหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ในปี 2535 NTS
เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3,000 ล้านบาท และเพื่อลดต้นทุนการระดมทุน ในปีถัดมา
แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมๆ กับออกจำหน่ายหุ้นกู้และตั๋วเงินแปลงสภาพต่อนักลงทุนต่างประเทศ
มูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 80 ล้านสวิสฟรังก์ เพื่อขยายกำลังการผลิต
ซึ่งการระดมทุน 2 สกุลดังกล่าวเป็นไปในลักษณะ "ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน"
นี่คือความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินที่มีต่อตัวสวัสดิ์
สาเหตุที่สวัสดิ์ตัดสินใจระดมทุนในรูปแบบใหม่นี้ หลังจากพึ่งพาเงิน กู้จากสถาบันการเงินมานาน
เรื่องนี้ชำนิ จันทร์ฉาย อธิบายว่า "การลงทุนในอุต-สาหกรรมหนัก (heavy industry)
อย่างนี้ถ้าใช้แต่เงินกู้จำนวนมากแล้วพังแน่ ถ้ามัวแต่อาศัยตลาดเงิน bank
เป็น supply ใหญ่ เมืองไทยไม่ต้องขยายตัว เราจึงต้องไปอาศัยตลาดทุนเพื่อ
save cost การออกตราสารหนี้ จึงเป็นทางออก" และครั้งนี้ก็เป็นการระดมทุนในรูปแบบ
ตราสารหนี้เป็นครั้ง ที่สองของกลุ่มสวัสดิ์ หลังจากเหมราชฯ ออก EURO-CDs
มูลค่า 1,500 ล้านบาท (60 ล้านเหรียญสหรัฐ) ที่เป็น ลู่ทางหนีของเหมราชฯ
ให้พ้นแรงบีบคั้นจากอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ เพราะภายใต้รูปแบบของ EURO-CDs
ที่ออกมา ผลเชิงบวกโดยตรงในครั้งนั้นเกิดขึ้นกับบริษัท คือ การได้มาซึ่งเงินทุนที่มีต้นทุนการเงินต่ำมาก
ทำให้เกิดการประหยัดต้นทุนประมาณ 10.5% หรือ 142 ล้านบาท จากส่วนต่าง ดอกเบี้ยกู้ในประเทศขณะนั้นอยู่ที่ระดับ
13-14% กับดอกเบี้ยที่เกิดจาก EURO-CDs ที่อัตรา 3.5%
การประสบความสำเร็จของการ ระดมทุนในครั้งนั้นทำให้สวัสดิ์มีสุขภาพจิตดีขึ้น
หูตาเปิดกว้างมากขึ้น และแน่นอนเหมราชฯ ก็แปรสภาพเป็น บริษัทมหาชนในปี 2537
ความมุ่งมาดปรารถนาของสวัสดิ์ เพื่อไปให้ถึง จุดหมายปลายทางจากความ เย้ายวนมนต์วิเศษแห่งเงินตราและเกียรติยศ
แม้ว่าแนวความคิดในเรื่องการลงทุนของเขาแต่ละครั้งจะมีประ-โยชน์ต่อการกระจายรายได้และทรัพย์สมบัติ
และต่อโครงสร้างแห่งอำนาจ และนำไปสู่ความก้าวหน้าของธุรกิจ แต่ บางครั้งบทสรุปอาจลงเอยด้วยความฟุ่มเฟือย
ท่าเรือน้ำลึกเพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าศรีราชาฮาเบอร์ ที่เขาทุ่มสุด
ตัว 1.7 พันล้านบาท ณ ที่แห่งนี้ซึ่งเขา สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นไม่ต่างไปจากเหมราชฯ
มากนัก นั่นก็คือ ไม่มีความจำเป็นต้องไปใช้บริการเช่าท่าเรือคนอื่น "ทำเองดีกว่า
เมื่อทำแล้วก็ทำให้ใหญ่ไปเลยเพื่อให้คนอื่นได้ใช้ด้วย และ ถึงที่สุดแล้วก็ยังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ได้อีกด้วย" เท่านั้นยังไม่พอ ความฝันของเขายังโยงใยไปถึงระบบขนส่งทางบกที่เป็น
การเชื่อมกันระหว่าง การขนส่งด้วยรถบรรทุกกับรถไฟ โดย อาศัยเทคโนโลยีระบบเครือข่ายที่จัดผ่านดาวเทียมและออนไลน์รถบรรทุกแต่ละคันด้วยคอมพิวเตอร์
"ระบบขนส่งบ้านเราเลวที่สุด" นี่คือวาจาของสวัสดิ์ที่เขาใช้อ้างเป็นเหตุผล
และแรงกระตุ้นให้เขาต้องพยายามสร้างระบบขนส่งแบบครบวงจร เนื่องจากธุรกิจเหล็กต้องกระจายการขนส่งไปทั่วประเทศ
หลังจากสวัสดิ์ได้วางรากฐานธุรกิจตัวเองไว้แข็งแรง เกิดจากความเฉลียวฉลาดของเขา
แม้ว่าจะจบการศึกษาเพียงแค่มัธยมปลาย แต่ความคิดสร้างสรรค์ด้านการบริหารงานก็ทัด
เทียมกับนักธุรกิจคนอื่นๆ ซึ่งเหตุการณ์ ต่างๆ ตลอดจนแนวคิดเขาก็ถูกตอกย้ำโดยการเข้าไปถือหุ้นใน
บมจ. ซันเทคกรุ๊ป (SUNTEC) ที่ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแบบครบวงจรเมื่อ
ปี 2534
ดีลนี้ถือว่าเกรียวกราวที่สุดในตอนนั้น เนื่องจากหลายฝ่ายจับตามอง ถึงจุดมุ่งหมายการเข้าไปถือหุ้นของสวัสดิ์
จนมีข่าวลือว่าเขาจะใช้โอกาสนี้เพื่อนำไปเทคโอเวอร์กลุ่มบริษัทบ้านฉาง แต่ชำนิ
ก็ได้ปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า "ไม่มีความคิดเช่นนั้นในสมองเลย เพียงแต่ช่วงนั้นมีเงินมากจึงหาทางลงทุน
ขณะเดียวกันราคาเหล็กยังดีอยู่ และมีเงินเหลือจากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ก็เท่านั้น" ซึ่งการตัดสินใจของสวัสดิ์ในดีลนี้ถือว่ามีความถูกต้องภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์ในขณะนั้น
เหตุผลที่สวัสดิ์ เข้าไปถือหุ้นเกิดจากความขัดแย้ง ในกลุ่มผู้บริหารของซันเทคกรุ๊ป
อีกทั้งผลประกอบการขาดทุนมาตลอด จึงเป็นการเปิดช่องว่างให้สวัสดิ์ เข้าไปลงทุนเพื่อพิสูจน์ฝีมือ
แต่การเข้าไปของเขาเรียกว่าเพื่อรับภาระขาดทุนได้อย่างเต็มปาก
ภายหลังเข้าไปบริหารงานในซันเทคกรุ๊ป สวัสดิ์สามารถจัดการความขัดแย้งของผู้บริหารและคนงานได้หมด
แต่เหตุสุดวิสัยคือเรื่องดินฟ้า อากาศแปรปรวน ทำให้ไม่ประสบความ สำเร็จในเรื่องรายได้
ส่งผลให้ต้องดึงผลิตภัณฑ์จากสับปะรดเข้ามาเสริม โชคร้ายเมื่อเจอกับภาวะราคาดิ่งเหวหลังจากอเมริกาผลิตออกมาจนล้นตลาด
"แล้วจะดันทุรังทำธุรกิจเกษตรไปทำไม" นี่คือปัจจัยที่ทำให้ซันเทคกรุ๊ป จำเป็น
ต้องพลิกผันมาสู่ธุรกิจแปรสภาพเศษเหล็ก (steel scrap) เพื่อชดเชยภาวะ ขาดทุน
อีกทั้งยังเป็นการช่วยยืดอายุให้บริษัทอยู่ในตลาดต่อไป
"ฝนไม่ตก 7 วัน ธุรกิจก็เจ๊งแล้วเพราะเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ
ตลาดก็ไม่แน่นอน" สวัสดิ์ กล่าว
แผนการขั้นสุดยอดของซันเทค กรุ๊ป ภายใต้ผู้บังคับบัญชาอย่างสวัสดิ์ คือ
ทำให้บริษัทเป็น โฮลดิ้ง คัมปานี เพื่อจะมีรายได้หลักมาจากการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ
ซึ่งแผนการเป็นโฮลดิ้งฯ ได้ทำให้ซันเทคกรุ๊ป ต้องใช้นโยบายเชิงรุกในการเข้าไปลงทุนในบริษัทอื่น
และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรายได้ไปในตัว เพราะเป้าหมายการดำเนินงานบริษัทในเครือของสวัสดิ์
จะให้ซันเทคกรุ๊ป เป็นตัวหลักในการเข้าไปลงทุนในกิจการต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม
เช่น เข้าไปถือหุ้นใน NSM 6.96% เหมราชฯ 20.56% บริษัท ชลบุรี สตีล มิลล์
29% หรือ บริษัท ซัน-มาสเตอร์เนชั่นแนล เอ็นเตอร์เทน เมนท์ เจ้าของแฟรนไชส์ร้าน
"บล็อคบัสเตอร์" ให้เช่าและจำหน่ายวิดีโอเทป และแผ่นเลเซอร์ดิสก์ 58% ซึ่งเป็นที่ฮือ
ฮามากที่สุดที่สวัสดิ์เข้าไปจับธุรกิจบันเทิง แต่เขาก็ให้เหตุผลตามสไตล์เถ้าแก่ว่า
"ทำธุรกิจอะไรก็ได้ที่สุจริตและบริษัทมีกำไรก็แล้วกัน" อย่างไรก็ดีขณะนี้รายได้จากบล็อคบัสเตอร์
ยังติดดินอยู่ คือ ประมาณ 3% ของราย ได้รวมทั้งหมดของซันเทคกรุ๊ป
NSM ความหวังใหม่ของสวัสดิ์
บริษัท นครไทยสตริปมิล จำกัด (NSM) ประกอบกิจการโรงงานผลิตแผ่นเหล็กรีดร้อน
(hot-rolled steel coil) เพื่อทดแทนการนำเข้าด้วย ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10
ล้านบาท ในปี 2537 และเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯ ปี 2539 บริษัทแห่งนี้ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของสวัสดิ์
ที่จะให้ NSM เป็นหัวหอก ในการสร้างรายได้ เพราะผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อน
กำลังเป็นที่นิยมในตลาดก่อสร้างอย่างมาก อย่างไรก็ดีกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างได้เล่นเอาสวัสดิ์เหนื่อยทีเดียว
หลังจากได้รับบาดแผลในการดำเนินงานของ NTS ปี 2538 ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนและฐานะทางการเงินของบริษัท
อยู่ในภาวะที่ไม่คล่องตัวนักเนื่องจากภาระหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ยอดขายเพิ่มขึ้นแต่ความสามารถในการทำกำไรไม่เพิ่มขึ้นตาม
เนื่องด้วยสินค้าที่มีการผลิต คือ เหล็กรูปทรงยาวมีคู่แข่งสูงมาก แม้ว่าบริษัทจะมีความได้เปรียบเพราะเครื่องจักรมีขนาดใหญ่
แต่ปัญหาเรื่องของ learning curve ที่ยาว เพราะการเดินเครื่องช่วงนั้นไม่มีที่ปรึกษาต้องอาศัย
การลองผิดลองถูก ดังนั้นสวัสดิ์จึงใช้ประสบการณ์จาก NTS เป็นครู
อย่างไรก็ตามปัญหาหนักอึ้งอยู่ที่การระดมทุนแม้ว่าจะได้เงินกู้เข้ามาก่อสร้างโรงงาน
11,000 ล้านบาทแต่ นั่นยังไม่เพียงพอโดยเฉพาะเงินทุนหมุนเวียน "แล้วจะทำอย่างไร"
เพื่อจะหาทางออกในช่วงวิกฤติอีกทั้งประเทศไทยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือตลอด
จนการลดค่าเงินบาท "หุ้นกู้" คือ แสง สว่างของสวัสดิ์ แต่แล้วหุ้นกู้ก็ออกไม่ได้เนื่องจากติดเงื่อนไข
ของคณะกรรม การกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลัก ทรัพย์ (ก.ล.ต.) เขาแก้ปัญหาด้วยการตั้งบริษัท
เอ็นเอสเอ็ม โฮลดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทย่อยตั้งอยู่ที่เกาะเคย์แมน เพื่อดำเนินการออกหุ้นกู้ให้กับ
NSM และก็ได้เงินเข้ามาจำนวน 2,300 ล้านบาท อีกทั้งยังได้เงินกู้ยืมจากธนาคารแห่งปารีส
จำนวน 125 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้วย
เหมือนจะดูดี แต่หลังจากเศรษฐกิจพังทลายลงเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าจะฟื้น ความเสี่ยงจึงประดังเข้ามาหา
NSM ทั้งทางด้านความพร้อมของบุคลากร อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา การตลาด ราคาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์
ด้านการผลิต และในที่สุดสวัสดิ์จึงต้อง ยอมเปิดทางให้พันธมิตรใหม่เข้ามากอบ
กู้ และอัศวินม้าขาว คือ Steel Dynamics Inc. (SDI) บริษัทในเครือ พ่อมดการเงิน
จอร์จ โซรอส
การเข้ามาของ SDI ผ่านทางการ ซื้อหุ้นกู้จำนวน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ และได้ลงทุนอีกจำนวน
143 ล้านบาท ส่งผลให้ NSM ดูจะมีสถานภาพดีขึ้นทั้งในด้านเงินทุนและการผลิต
แต่ผลกระทบโดยตรงต่อสวัสดิ์ ก็คือ สัด ส่วนการถือหุ้นของเขาเหลือเพียง 43.6%
จากเดิม 55.9% อีกทั้งหลังจากที่วอแรนต์ มีการแปลงสภาพภายในปี 2542 สัด ส่วนการถือหุ้นของสวัสดิ์
ใน NSM จะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 36.4% ขณะที่ SDI จะมีสัดส่วนถือหุ้นถึง 34.8%
และถ้าหากในอนาคต SDI ตัดสินใจจะถือหุ้นเพิ่มขึ้นคาดว่าสัดส่วนการถือหุ้นของสวัสดิ์
จะตกเป็นรองทันที ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้น เมื่อดูจากแนวความคิดของพ่อมดการเงินคนนี้ที่เขียนไว้ใน
"The Crisis of Global Capitalism" ตอนหนึ่งว่า ถ้าวิกฤติเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ต่อไป
สถานการณ์ บริษัทประเทศเอเชียที่มีภาระหนี้สินมาก โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศพบว่าสัด
ส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) จะเสื่อมลง หนทางเดียวที่จะให้รอดปลอดภัย คือ เพิ่มทุนหรือแปลงหนี้เป็นทุน
แต่ปัจจุบันผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทเหล่านั้นทำไม่ได้แม้กระทั่งทำภายในประเทศ
ดังนั้น "ไม่มีทางเลือกนอกจากการขายให้กับต่างประเทศ"
แม้ว่าในปัจจุบัน SDI จะถือหุ้นต่ำกว่าสวัสดิ์ แต่เงื่อนไขที่เขาประกาศเอาไว้ดูเหมือนจะดังกึกก้องมากกว่า
โดยเฉพาะการริดรอนอำนาจการบริหาร งาน ผลประโยชน์ที่จะได้ตลอดจนค่าธรรมเนียมต่างๆ
ที่ SDI เข้ามาช่วยเหลือ NSM ขณะที่สวัสดิ์ถูกกำกับให้ดูแลด้านนโยบายและการประสานงานกับรัฐบาลเท่านั้น
แต่หลังจาก SDI เข้ามาบริหารงานแล้วโดยเฉพาะในสายการผลิต กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า
จากความไม่เข้าใจระบบ และปัญหาอย่างแท้จริง จนทำให้ SDI บอกเลิกความสัมพันธ์ด้านการให้คำปรึกษาไปแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
จนสวัสดิ์เริ่มหนักใจแต่ทำอะไรไม่ได้ รอเพียงทีมงานชุดใหม่ที่ SDI จะส่งมา
"คาดว่าทีมชุดใหม่จะเข้าใจสภาพของอุตสาห-กรรมเหล็กดีกว่าชุดก่อน"
คงต้องร้องเพลงรอไปก่อน เพราะปัจจุบันโรงงาน NSM หยุดการผลิตชั่วคราว เนื่องจากขาดสภาพคล่อง
หนัก ถ้าจะเปิดต่อไปต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนประมาณ 50 ล้านเหรียญ สหรัฐ อีกทั้งต้องการเงินที่เป็นค่าใช้จ่าย
ในโครงการ(capital expenditure) ประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐดังนั้นสวัสดิ์จำเป็นต้องหาพันธมิตรรายใหม่
เพราะตั้งแต่กลุ่มโซรอสเข้ามาร่วมทุนยังไม่สามารถช่วยให้ NSM ฟื้นได้
สูงสุดสู่สามัญ
ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับยุคทองของสวัสดิ์กับธุรกิจที่เขาปั้นแต่งขึ้นมา จนบรรลุจุดสุดยอดด้วยผลงานของเขา
ก่อนที่จะถูกขีดคั่นการเจริญเติบโตด้วยวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2539 ส่งผลให้การดำเนินงานของแต่ละบริษัท
ในอาณาจักรสวัสดิ์ เริ่มเสื่อมทรุดลง
ปี 2535-2537 NTS มีกำไรสุทธิ 81.41 ล้านบาท, 195.43 ล้านบาท และ 242.64
ล้านบาท ตามลำดับ แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาขาดทุนยับเยิน ปี 2538-2541 ขาดทุนสุทธิ
68.13 ล้านบาท, 936.23 ล้านบาท, 3,536.43 ล้าน บาท และ 4,202.88 ล้านบาท
ตามลำดับ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะถดถอยในปัจจุบัน คือ วิกฤติเศรษฐกิจ
ขาดสภาพคล่องในธุรกิจ ยอดขายลดต่ำลง ทำให้บริษัทต้องปรับแผนการผลิต โดยลดกำลังการผลิตลงเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะการตลาดและเงินทุนหมุนเวียน
ในปี 2541 บริษัทมีดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 1,483 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับเพิ่มการตั้งสำรองเพื่อการไถ่ถอนหุ้นกู้แปลงสภาพ
(put option) เป็นเต็มจำนวน 496 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทมีสินทรัพย์หมุน
เวียน 17,492 ล้านบาท ขาดทุนส่วนผู้ถือหุ้นประมาณ 3,614 ล้านบาท มีเงินกู้ยืม
หุ้นกู้แปลงสภาพและดอกเบี้ยจ่ายบางส่วนที่ผิดนัดชำระตามสัญญาประมาณ 15,031
ล้านบาท ปัจจัยเหล่า นี้มีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัท
ด้าน NSM ปี 2540-2541 ขาด ทุนสุทธิ 1,294.54 ล้านบาท และ 1,578.60 ล้านบาท
ตามลำดับ สินทรัพย์หมุนเวียน 5,174.36 ล้านบาท และ 796 ล้านบาท มีหนี้สินหมุนเวียน
21,529.46 ล้านบาท และ 31,479.46 ล้านบาท มีภาระดอกเบี้ยจ่าย 624.39 ล้านบาท
และ 2,509.78 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากการตลาดและราคาสินค้าลดลงอย่างมาก และระดับการผลิตเหล็กรีดร้อนที่เริ่มการผลิตในปี
2541 ไม่เป็นไปตามเป้า
ในเดือนธันวาคม 2541 บริษัทฯ หยุดการผลิตชั่วคราวเนื่องจาก เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตได้รับความเสียหายจากฟ้าผ่า
ทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องในการดำเนินงาน และไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินในประเทศที่ครบกำหนดชำระแล้ว
และการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นกู้ในต่างประเทศ ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาของการออกหุ้นกู้
ซึ่งมีผล ให้บริษัทถูกจำกัดการใช้เงินที่ได้มาจากการออกหุ้นกู้
ถ้าหากดูรายละเอียดหนี้สิน พบว่าประมาณ 90% ของยอดหนี้ หรือประมาณ 28,873
ล้านบาท เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้สามารถเรียกคืนได้ทันที แม้ว่าสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาบริษัทจะมีเงินสดเหลืออยู่ในธนาคาร
80 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ได้ถูกจำกัด และกันไว้สำหรับชำระดอกเบี้ยและหลักทรัพย์สูงถึง
31.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทางออกของสวัสดิ์ จึงไม่มีทางเลือกอื่นๆ นอกจากหยุดการผลิต ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งเลวร้ายมาก
ขนาดที่ผู้ตรวจสอบบัญชีของบริษัทบันทึกไว้ในหมายเหตุงบการเงินสิ้นปี 2541
ว่าไม่ขอให้ความเห็นในงบการเงินเนื่องจากความสามารถในการสร้างรายได้ของบริษัทไม่แน่นอน
เพราะเมื่อหยุดผลิตแล้วโอกาสหาเงินเข้าบริษัทเป็นอันยุติลง
ชันเทคกรุ๊ป ณ 30 มิถุนายน 2540 และ 2541 ขาดทุนสุทธิ 505.73 ล้านบาท และ
939.43 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน
2,419.18 ล้านบาท ซึ่งได้รวมถึงเงินเบิก เกินบัญชีและเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและค้างชำระอยู่
1,609.99 ล้านบาท หนี้สินระยะยาวที่เจ้าหนี้สามารถเรียกชำระคืนได้ทันที 300
ล้านบาท หุ้นกู้แปลงสภาพ 500 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างชำระอยู่ 442.53 ล้านบาท
ปัจจัยเหล่านี้สะเทือนถึงสถานะบริษัท และชวนให้สงสัยว่าบริษัทอาจไม่สามารถชำระหนี้เมื่อครบกำหนด
และมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนเพียงพอต่อการดำเนิน งานในอนาคต
สำหรับเหมราชพัฒนาที่ดิน ใน
ปี 2541 สามารถสร้างกำไรได้ 872.67 ล้านบาท เทียบกับเมื่อปี 2540 ที่ขาดทุนยับเยิน
1,079.53 ล้านบาท ซึ่งเป็นบริษัทเดียวในกลุ่มธุรกิจของสวัสดิ์ ที่ถือว่าสามารถเอาตัวรอดมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา
สามัญหรือไม่ รอปรับหนี้สำเร็จก่อน
อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมแล้วทางรอดในปัจจุบันและความพยายามดำเนินการเพื่อการอยู่รอดของสวัสดิ์
คือ การปรับโครงสร้างหนี้ ล่าสุด ศรีราชาฮาเบอร์ สามารถเจรจาประนอมหนี้ 1,700
ล้านบาท ได้แล้ว ด้วยวิธียืดหนี้ออกไป 13 ปี และแปลง หนี้เป็นทุน สาเหตุที่ดำเนินการเช่นนี้เนื่องจากสวัสดิ์
ต้องการเม็ดเงินใหม่เข้ามา เพราะถ้าหาก การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ยังไม่สำเร็จ
พันธมิตรที่ต้องการ เข้ามาลงทุนรายใหม่อาจจะเหนื่อยฟรี ทางด้าน NSM ก็สามารถปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จแล้ว
ด้วยการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของดอกเบี้ย และแปลงหนี้เป็นทุนในสัดส่วนประมาณ
20%
สำหรับซันเทคกรุ๊ป ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ พร้อมๆ กับ NTS ซึ่งคาดว่าการดำเนินการจะเป็นไปในลักษณะคล้ายๆ
กับ NSM และในวันที่ 30 มิถุนายน 2542 นี้จะมีการเซ็นสัญญา ขั้นสุดท้ายในการปรับโครงสร้างหนี้
NTS จำนวน 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ
แต่ความซับซ้อนหนี้กลุ่มธุรกิจของสวัสดิ์ คือ การตกลงกันให้ได้ เกี่ยวกับแผนธุรกิจที่ลูกหนี้คิดว่าจะดำเนินไปได้ดี
ซึ่งลูกหนี้ได้พยายามที่จะให้ผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามามีส่วนร่วมและพยายามที่จะปรับสินค้าให้ดีกว่าปัจจุบัน
ดังนั้นเจ้าหนี้ต้องเข้าไปประเมินตรวจสอบข้อมูลต่างๆ และเมื่อประเมิน และหาแนวทางการทำธุรกิจต่างๆ
เรียบร้อยแล้ว ต้องมีการจัดโครงสร้างเจรจาเงื่อนไขต่างๆ เพื่อที่จะทำโครงสร้างใหม่ให้สามารถดำเนิน
ต่อไปได้ และยึดหลักการเจรจาต้องเป็นธรรมกับเจ้าหนี้ทุกระดับรวมทั้งลูกหนี้ด้วย
ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง จะต้องออกโรงสู้ศึกครั้งสำคัญอีกรอบ
หลังจากเคยเกิดเมื่อสมัยเขาเริ่มธุรกิจเหล็ก ครั้งนั้นเขาชนะ แต่ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก
ผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไรยังไม่มีคำตอบ แต่ที่แน่ๆ เขาวางปัจจุบันเป็นเดิมพันเพื่อ
เสี่ยงเอาอนาคตซึ่งยังไม่เลือนราง
เป็นความจริงหรือไม่ที่ความล้มเหลวทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจหมายถึงความไร้ค่า
และความสำเร็จกับความ อยู่รอดเป็นสิ่งเดียวกัน แต่สถานการณ์ ในปัจจุบันที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของ
สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง คือ ความขัดแย้งระหว่างความอยู่รอดและความสำเร็จ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การปฏิรูปธุรกิจของเขา
แล้วสวัสดิ์ จะเลือกสิ่งไหน ไม่มีใครทราบ...นอกจากตัวเขาเอง