อิทธิวัฒน์ ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อดีเจที่ผ่านร้อนผ่านหนาว คลุกคลีอยู่ในวงการวิทยุมากว่า
30 ปี จากผู้ช่วยดีเจ มาเป็นเจ้าของรายการวิทยุชื่อดัง บัดนี้เขากำลังก้าวไปเป็นเจ้าของธุรกิจเคเบิลทีวี
ระบบอินเตอร์แอคทีฟ จากการร่วมทุนกับบริษัทผู้ให้บริการในประเทศอังกฤษ
และหากสำเร็จ อิทธิวัฒน์จะเดินไปสู่ก้าวที่สองของการเป็นเจ้าของ "สื่อ"
ทีวี และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ
อิทธิวัฒน์มักสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้กับวิทยุ ตั้งแต่ไนท์สปอต ที่เป็นยุคของเพลงฝรั่งยอดฮิตและสร้างดีเจชื่อดังเกิดขึ้นมากมาย
มาสู่มีเดียพลัส เป็นยุคของธุรกิจ วิทยุที่เคยทำกันแบบมือสมัครเล่น มาสู่การวางฟอร์แมท
รายการวิทยุที่เป็นโครงสร้างเดียวกัน แทนที่จะเป็นการสร้างความโดดเด่นจากตัวดีเจ
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่ทำเงินหลายร้อยล้านบาท
อิทธิวัฒน์เดินจากมีเดียพลัสมาพร้อมกับเงินก้อนใหญ่ที่ได้จากการขายหุ้นให้กลุ่มวัฏจักร
พร้อมกับพกพาไอเดียใหม่ๆ ของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อสารทันสมัย ที่จะเป็นอาวุธลับในการพัฒนาและแพร่กระจาย
"สื่อ" วิทยุในรูปแบบใหม่ๆ
เขาเริ่มต้นธุรกิจครั้งใหม่กับกลุ่มสำนักงานทรัพย์สินฯ พันธมิตรที่มีความพร้อมทั้งเงินทุน
และสื่อ เพราะเพิ่งประมูลโทรทัศน์เสรี ในนามสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิ เคชั่นได้หมาดๆ
และได้แตกขยายธุรกิจมีเดีย และโทรคมนาคมออกไปอย่างมากมาย
แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อสยามทีวีฯ เกิดปัญหาขัดแย้งภายในอย่างหนัก
จนต้องยุบทิ้งบริษัทไปหลาย แห่งเหลือไว้เพียงแค่ธุรกิจทีวี และสื่อสารไม่กี่แห่ง
อิทธิวัฒน์ จึงหวนกลับมาสร้างธุรกิจวิทยุตามถนัดอีกครั้ง ทำในนามของ บริษัทบรอดคาสติ้ง
เน็ทเวิร์ค ประเทศไทย หรือ บีเอ็นที บริหารสถานีเพลงไทยและฝรั่ง 4 คลื่น
การสร้างบีเอ็นทีในครั้งนี้แม้จะไม่หวือหวาเหมือนสมัยไนท์สปอต หรือมีเดียพลัส
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยเหมือนในอดีต แต่คลื่นทั้ง
4 ประคับประคองตัวเองไปได้ ด้วยสไตล์และทีมงานเดิมตั้งแต่สมัยไนท์สปอต และมีเดียพลัสที่กลับมาร่วมงานดังเดิม
ภายใต้การนำของ ม.ร.ว.รุจยาภา อาภากร และ วนิดา ทัก-ษินาภินันท์
บีเอ็นที ยังมีธุรกิจหลักอีกขาหนึ่ง นั่นก็คือ การผลิตรายการทีวีป้อนให้กับยูบีซีเคเบิลทีวี
ที่มีอยู่ 3 รายการ คือ ชาแนลวีไทยแลนด์ ซึ่งเป็นรายการเพลงที่ร่วมทุนกับนิวส์คอร์ปอเรชั่นของรูเพิร์ต
เมอร์ดอค เจ้าพ่อสื่อ และแฟชั่นทีวี เป็นรายการแฟชั่นจากประเทศฝรั่งเศส และล่าสุดคือการผลิตข่าวป้อนให้กับช่องข่าวของยูบีซี
อิทธิวัฒน์ ยังคงเฝ้ารอการพัฒนา "สื่อ" และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
ที่จะมีต่อการพัฒนาสื่อทั้งหลาย ไม่ว่าวิทยุ โทรทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
เพราะนี่คือสิ่ง ที่เขาเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้คืออำนาจต่อรองใหม่ของธุรกิจสื่อในอนาคต
การร่วมทุนกับบริษัทเอล์มสเดล เจ้าของเคเบิลทีวีระบบอินเตอร์แอคทีฟ ที่ชื่อบริการว่า
เยสวีดีโอ จากประเทศอังกฤษ จึงเป็นการต่อยอดความฝันของอิทธิวัฒน์ ที่แปรจากการเป็นผู้ผลิตรายการมาเป็นเจ้าของ
"สื่อ" เคเบิลทีวี เคเบิลทีวี ที่บริษัทไทยอินเตอร์แอคทีฟ เทเลวิชั่น ซึ่งเป็นชื่อของบริษัทร่วมทุนระหว่างบีเอ็นทีและเอล์มสเดลจะให้บริการในครั้งนี้
ไม่ใช่เคเบิลทีวีในระบบปัจจุบันที่เป็นการส่งทางเดียว แต่เป็นระบบอินเตอร์แอคทีฟ
ที่จะให้บริการในลักษณะของวีดีโอออนดีมานด์ นั่นก็คือ สมาชิกที่ใช้บริการจะเลือกซื้อรายการภาพยนตร์
เพลง จะหยุดภาพเดินหน้าหรือถอยหลังเหมือนเล่นวีดีโอ เลือกเล่นเกม เลือกซื้อสินค้าได้ตามที่ต้องการ
หรือแม้แต่การท่องอินเตอร์ เน็ตได้อย่างเสรี
บริษัทเอล์มสเดลมีเดีย ทดลองให้บริการดังกล่าวแก่ลูกค้าเมืองคาร์ดีฟ ประเทศอังกฤษ
เป็นเวลา 6 เดือน และไทยจะเป็นแห่งที่สองที่เอล์มสเดลจะทดลองออกอากาศ เดือนกันยายน
และเปิดให้ลูกค้าทดลองใช้ในเดือนพฤศจิกายน แต่จะเริ่มทำตลาดจริงๆ ในปีหน้า
คาดว่าจะมีลูกค้าประมาณ 30,000 ราย
ทอม เครสเนอร์ ประธานและหัวหน้าฝ่ายบริหารของเยสเทเลวิชั่น อธิบายว่า องค์ประกอบสำคัญ
คือ อุปกรณ์ SET TOP BOX แบบความเร็วสูง รายการภาพยนตร์เกมต่างๆ ที่น่าสนใจ
และที่ขาดไม่ได้ก็คือ เครือข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง ซึ่งเมืองไทยมีพร้อมในเรื่องเหล่านี้
ทั้งนี้ลูกค้าที่ต้องการใช้บริการจะต้องติดตั้งเซ็ททอป บ็อกส์ซึ่งบริษัทจะให้ฟรี
แต่จะต้องจ่ายค่ารายการที่เลือกดู ซึ่งอยู่ระหว่างวิจัยว่าควรจะเป็นอัตราเท่าใดที่คนไทยจะรับได้
เอล์มสเดลมีเดีย จะรับผิดชอบในเรื่องการจัดหาเซ็ท ทอปบ็อกส์ และรายการจากต่างประเทศ
ส่วนบีเอ็นทีจะทำหน้าที่ด้านการตลาดและจัดหารายการในไทย
"เวลานี้เรามีรายการในมือแล้ว 10,000 ชัวโมง เป้าหมายของเราไม่ใช่การซื้อรายการจากต่างประเทศ
แต่เป็นรายการท้องถิ่นของไทย จากผู้ผลิต กันตนา เจเอสแอล มีเดียออฟมีเดียส์
รวมทั้งที่บีเอ็นทีที่ผลิตอยู่ ซึ่งรายการเหล่า นี้จะป้อนกลับให้กับเยสเทเลวิชั่นไปฉายในต่างประเทศได้ด้วย"
ส่วนบริการอินเตอร์เน็ตนั้นจะเป็นเฟสต่อไป ซึ่งจะเป็นการลงทุน 3 ฝ่ายระหว่างบีเอ็นที
เอล์มสเดลมีเดีย และ บริษัทเอเซียอินโฟร์เน็ต ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในเครือของทีเอในการให้บริการ
ซึ่งลูกค้าที่ใช้บริการไม่ต้องมีเครื่อง คอมพิวเตอร์พีซี แต่จะต้องติดตั้งเซ็ททอปบ็อกส์ที่บริษัทจัดหามาให้เพื่อต่อเชื่อมเข้ากับโครงข่ายอินเตอร์เน็ต
พันธมิตรคนสำคัญของอิทธิวัฒน์ที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ เอเซียมัลติมีเดีย
บริษัทลูกของเทเลคอมโฮลดิ้ง ที่ให้บริการเคเบิลใยแก้วนำแสงสำหรับบริการเคเบิล
ในช่วงหลายปีมานี้ จะเห็นได้ว่าอิทธิวัฒน์อาศัยยุทธ วิธีสร้างพันธมิตรธุรกิจ
เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านทุนและ พลังเทคโนโลยีมาตลอด และเทเลคอมโฮลดิ้งก็คือหนึ่งในคำตอบของอิทธิวัฒน์ในห้วงเวลานับจากนี้
"บริการนี้จะไม่ใช่คู่แข่งของยูบีซีเคเบิลทีวี แต่เป็นบริการเสริมให้กับยูบีซีเท่านั้น
เพราะการตลาดจะทำในลักษณะ เสริมซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ ลูกค้าเดิมของยูบีซีสามารถบอกรับบริการของเยสเทเลวิชั่นได้ในราคาพิเศษ
เช่นเดียวกับลูกค้าของเยสเทเลวิชั่นที่สามารถบอกรับบริการของยูบีซีจะได้ราคาพิเศษเช่นเดียวกัน"
และนี่คือคำ ตอบที่ทำให้บีเอ็นทีเป็นเอกชนรายเดียว ที่หาญกล้าเปิดให้บริการเคเบิลทีวีเป็น
รายที่สองของตลาด แถมยังเกิดขึ้นท่าม กลางภาวะเศรษฐ กิจตกต่ำอย่างหนัก
ยูบีซี เป็นพันธมิตรที่บีเอ็นทีผูกสัมพันธ์มานาน ในฐานะของผู้ผลิตรายการให้กับยูบีซีมานาน
ตั้งแต่ยังเป็นยูทีวี ความสัมพันธ์ของทั้งสองจึงเป็นไปในทำนองน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
งานนี้หากไม่ได้ไฟเขียวจากยูบีซี โอกาสที่บีเอ็นทีจะเกิดย่อมไม่ง่ายเช่นกัน
"ยูบีซีเขาให้บริการอินเตอร์แอคทีฟไม่ได้ เพราะทำได้เฉพาะลูกค้าที่ใช้เครือข่ายไฟเบอร์ออพติกเท่านั้น
แต่ลูกค้าที่ใช้ดาวเทียม หรือดีเอสทีวีทำไม่ได้ ยูบีซีก็เลยมุ่งไปที่บริการส่งทางเดียว"
หน้าที่นี้จึงตกเป็นของบีเอ็นทีไป และเป็นไปแบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า
การที่อิทธิวัฒน์ ได้เอล์มสเดลมีเดียมาร่วมลงทุนเปิดให้บริการเคเบิลทีวีในไทย
ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการมีข่ายสายไฟเบอร์ออพติก ที่เอเซียมัลติมีเดียยอมเปิดไฟเขียว
ให้เช่าใช้บริการ
ทำนองเดียวกัน ยูบีซีเอง ก็กำลังถูกโจมตีอย่างหนัก ว่าผูกขาดรายเดียวในตลาด
หนำซ้ำยังขออนุมัติขึ้นราคาค่าบริการอีก การเปิดทางให้บีเอ็นทีเป็นผู้ให้บริการเคเบิลทีวี
ได้ชื่อว่ามีคู่แข่งอีกราย แม้ในทางปฏิบัติทั้งสองจะช่วยกันทำตลาดก็ตาม ที่สำคัญเอเซียมัลติมีเดียยังมีรายได้จากค่าเช่าข่ายสายที่ให้เยสเทเลวิชั่นเช่าใช้
การแถลงข่าวเปิดตัวให้บริการเคเบิลทีวี แบบอินเตอร์ แอคทีฟ ก็มีขึ้นก่อนหน้าที่บอร์ดอ.ส.ม.ท.จะอนุมัติให้ยูบีซีขึ้นราคาเพียงวันเดียวเท่านั้น
จะว่าไปแล้วการลงทุนของบีเอ็นทีในครั้งนี้ก็ไม่ต้องเสี่ยง มาก เพราะเงินทุนส่วนใหญ่
เป็นเรื่องของอุปกรณ์เซ็ททอป บ็อกส์ ซึ่งเอล์มสเดลจะเป็นคนรับผิดชอบ เครือข่ายก็เช่าใช้
หากบริการนี้ได้รับการตอบรับด้วยดี อิทธิวัฒน์จะก้าวไปสู่การเป็นเจ้าของเคเบิลทีวี
อินเตอร์แอคทีฟรายแรกของไทย
และเป็นก้าวไปสู่การเป็นเจ้าของ "สื่อ" ที่มีเทคโนโลยี เป็นอาวุธลับ ที่เขาใฝ่ฝันมานาน