ยูนิไบรด์ก่อกำเนิดขึ้นในปี 2537 จากการที่ โสภณ-สุพัตรา หลายชูไทย ได้เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมชุดวิวาห์ในประเทศ
ทั้งที่แต่เดิมครอบครัวหลายชูไทยได้เริ่มต้นทำธุรกิจชุดวิวาห์ เพื่อการส่งออกเป็นหลักมานานนับ
10 ปี อันเป็นการต่อยอดธุรกิจของโรงเรียนสอนตัดเสื้อธรรมรัตน์ ซึ่งเป็นของมารดาของสุพัตรา
ผู้เป็นทายาท สาวคนเดียวที่มารดาตั้งความหวังให้สานต่อธุรกิจชุดวิวาห์ โดยงานทางด้านส่งออกใช้ชื่อบริษัทว่า
"เอไทย ยูนิเทรด" ดำเนินธุรกิจส่งออก ในลักษณะของ OEM คือ ผลิตชุดวิวาห์ตามแบบที่กำหนดมา
และส่วนใหญ่จะเป็นงานฝีมือที่ใช้ความละเอียดอ่อน ประณีต เน้นการปักฉลุลวดลายต่างๆ
ลงบนผืนผ้า ซึ่งจะผลิตเพียงไม่กี่ชุดเท่านั้น ทำให้ราคาของชุดในกลุ่มนี้จะค่อนข้างสูงและเน้นที่กลุ่มลูกค้าระดับ
B+ ขึ้นไป
ต่อมา อเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักได้ประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคหันมาคำนึงถึงราคาสินค้ากันมากขึ้น
และในช่วงนั้นเองที่ทำให้ประเทศจีน และไต้หวัน ผงาดขึ้น จากการผลิตชุดวิวาห์ที่มีราคาถูกลง
เนื่องจากการผลิตของจีนและไต้หวันเป็นลักษณะ MASS ที่มีการผลิตจำนวนมากๆ
และมีกรรมวิธีการผลิตที่ไม่ละเอียด ซับซ้อน ทำให้ชุดวิวาห์ที่ประดับด้วยลูกไม้อย่างง่ายๆ
กลับ กลายเป็นที่นิยมในตลาด ในขณะที่ตลาดชุดวิวาห์ที่เน้นการตกแต่งที่ประณีตก็หดตัวลงอย่างรวดเร็ว
ยิ่งไปกว่านั้น ประกอบกับความที่เป็นคนรุ่นใหม่ของครอบครัวหลายชูไทย ทำให้แนวคิดในการดำเนินธุรกิจไม่ประสานกับความคิดแบบอนุรักษนิยมของมารดา
สุพัตราและสามีจึงได้ตัดสินใจแยกตัวออกมาดำเนินธุรกิจเอง
"เราเริ่มทำชุดวิวาห์ส่งออกตั้งแต่สมัยที่อยู่กับโรงเรียน สอนตัดเสื้อธรรมรัตน์
ซึ่งพอเราเริ่มมาทำเราก็ต้องการปรับปรุง ให้ดีขึ้น แต่ความเห็นไม่ตรงกัน
เราก็เลยคิดว่าแยกออกมาทำเองดีกว่า ประกอบกับ หากอยู่ที่ธรรมรัตน์ต่อไปก็มีปัญหา
เรื่องสถานที่ที่คับแคบ และบังเอิญเรามาได้ที่ดินที่สุขาภิบาล 2 แห่งนี้
ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนมุสลิมที่มีฝีมือในการทำงานปักฉลุที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย"
สุพัตราเล่า และในช่วงที่เธอและสามีตัดสินใจแยกตัวออกมาจากธรรมรัตน์ ภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยกำลังเริ่มเกิดปัญหา
ในเรื่องของค่าแรงที่สู้จีนหรือไต้หวันไม่ได้ ประกอบกับในแง่ของแบรนด์ที่ผู้ส่งออกไทยเองยังไม่มีการสร้างแบรนด์ขึ้น
มาสู้กับแบรนด์อินเตอร์ นี่คือจุดอ่อนของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา แต่ตอนนี้เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ผู้ส่งออกทั้งหลายเริ่มให้ความสำคัญกับแบรนด์ของตัวเองมากขึ้น และ "ยูนิไบรด์"
ก็เป็นแบรนด์หนึ่งที่ออกไปสู่สายตาชาวโลกแล้ว เพียงแต่รอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จ
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะสร้างแบรนด์ของสินค้าไทยให้มีความแข็งแกร่งทัดเทียมแบรนด์สากล
การพัฒนาแบรนด์ ต้องอาศัยกระบวนการทางเวลาที่เป็นไปตามขั้นตอน จะข้ามขั้นไม่ได้
ดังนั้นในระหว่างนี้สิ่งที่ผู้ส่งออกจะทำได้ก็คือ พยายามค้นหาเอกลักษณ์และพยายามขายเอกลักษณ์ออกไปสู่ตลาดโลก
อย่างเช่นในกรณีของยูนิไบรด์ที่พยายามขาย ความเป็นชุดวิวาห์ที่ประณีต และแสดงความเป็นไทย
ออกสู่ ตลาดสากล ด้วยการสร้างความรู้สึกร่วมว่า "หากจะใช้ชุด
วิวาห์ผ้าไหมที่เป็นลายปักฉลุหรือแฮนด์เมดจะต้องนึกถึงชุด วิวาห์ของเมืองไทย"
แต่ถ้าเป็นตลาดในประเทศ จะเน้นที่ความหลากหลาย ไม่เจาะจงไปที่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
ปัจจุบันยูนิไบรด์ได้หันมาให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศมากขึ้น โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึง
70% จากเดิมที่มีเพียง 30% ซึ่งยูนิไบรด์ได้แบ่งความต้องการชุดวิวาห์ตามรสนิยมของเจ้าสาวไทยออกเป็น
3 กลุ่มคือ สไตล์ยุโรป ที่เน้นความเรียบหรู, สไตล์อเมริกัน ที่เน้นตามแฟชั่นที่ทันสมัยและสไตล์โอเรียลทอล
ซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมผ้าไหมที่ตกแต่งด้วยงานฝีมือ ปักฉลุลวดลาย หรือการปักมุกเลื่อมทอง
อลังการ ซึ่งทางยูนิไบรด์มีคอลเลกชั่นชุดวิวาห์ไว้ตอบสนอง ความต้องการของลูกค้าคนไทยได้ครบทุกกลุ่ม
นอกจากนั้น ยูนิไบรด์ยังมีบริการ EXCLUSIVE DESIGN สำหรับเจ้าสาวที่มีความฝันและจินตนาการชุดวิวาห์
เป็นของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร เป็นชุดวิวาห์ที่พิเศษสุด แทบจะเรียกได้ว่ามีชุดเดียวในโลก
และบริการ CUSTOMER MODIFY คือ เมื่อเจ้าสาวมาเห็นชุดที่ร้านแล้ว อยากจะดัดแปลง
หรือแต่งเติมเพิ่มขึ้นตามความต้องการของเจ้าสาว ทางร้านก็จะทำให้ใหม่ ซึ่งกรณีนี้ก็จะทำให้เกิดชุดวิวาห์ในรูปแบบใหม่ขึ้นมาอีก
ซึ่งอัตราค่าเช่าชุดของยูนิไบรด์จะอยู่ที่ประมาณ 7,900 บาทต่อชุด สำหรับผ้าทั่วไป
และ 10,000 บาทขึ้นไปสำหรับ ผ้าลูกไม้ฝรั่งเศส และถ้าเป็นการเช่าตัด เมื่อใช้ชุดเสร็จแล้ว
ก็นำมาคืนร้านจะอยู่ที่ประมาณ 12,000 - 20,000 บาท ส่วน ถ้าลูกค้าต้องการซื้อชุดกลับไปเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองราคา
ก็จะเพิ่มขึ้นตามรูปแบบที่ตัดเย็บออกมา
สำหรับการแข่งขันเชิงธุรกิจ ยูนิไบรด์จะเน้นที่ความหลากหลาย โดยพยายามหนีในเรื่องของดีไซน์
1 สเต็ปไปข้างหน้าอยู่เสมอ เนื่องจากทุกวันนี้ยูนิไบรด์ได้รับผลกระทบ จากการถูกลอกเลียนแบบ
"คู่แข่งที่สำคัญจริงๆ แล้วเป็นตัวเราเอง ปัจจุบันเจ้าสาวส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกชุดวิวาห์
โดยไม่ได้เอาราคามาเป็นเครื่องตัดสิน แต่ยึดเอาความพอใจเป็นหลัก ฉะนั้นการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นจึงไม่น่ากลัวเท่ากับ
การที่เราไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะส่งผลต่อยอดขายของเราโดยตรงด้วย"
เป็นมุมมองของนักธุรกิจหนุ่ม
"อุตสาหกรรมชุดวิวาห์จะสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
ยกเว้นแต่ว่าจะเกิดสงคราม" คำกล่าวนี้ดูจะตรงกับสุภาษิตไทยโบราณที่ว่า "น้ำซึมบ่อทราย"
มาก เนื่องจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรง กับยอดขายชุดวิวาห์เท่ากับผลกระทบที่เกิดจากโหราศาสตร์
โดยตั้งแต่มีการลดค่าเงินบาทในปี40 เป็นต้นมา คู่รักก็ยังคงแต่งงานสร้างครอบครัวกันตามปกติ
เพียงแต่อาจจะมีการคำนึงถึงการใช้จ่ายอย่างประหยัดมาก ขึ้น และปีที่ย่ำแย่ที่สุดของธุรกิจชุดวิวาห์นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ค่าเงินบาทมาก็คือในปี41
ซึ่งเป็นปีเสือ และเป็นปีที่คู่รักไม่นิยมแต่งงานกันเท่าที่ควร ดังนั้นยอดขายอาจจะลดลงไปบ้าง
แต่สำหรับปี42 นี้เป็นปีส่งท้ายศตวรรษที่ 20 กำลังจะก้าวสู่คริสต์ศตวรรษใหม่
คู่รักจึงนิยมลงเอยกันในปีนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ของความรักในปีค.ศ.2000 หรือปีมังกรทอง