Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2542
ความเครียดกับนายกชวน             
โดย ธีรภาพ วัฒนวิจารณ์
 





ในอาชีพของผมมักจะมีคนมาขอปรึกษา โดยเรื่องที่ผู้มาปรึกษาก็มักจะชอบบอกว่าเป็นปัญหา หรือเป็นเรื่องของคนอื่นที่รู้จักกัน มีน้อยคนที่จะมาพูดคุยตรงๆ ว่า มาปรึกษาเรื่องของตนเองหรือ คนใกล้ชิด แต่ไม่ว่าจะมาด้วยเรื่องของใครก็ตามส่วนใหญ่มักจะลงท้ายว่า กว่าจะตัดสินใจมาคุยด้วย ก็ต้องคิดแล้วคิดอีกอยู่หลายรอบ กลัวคนอื่นที่ไม่เข้าใจจะมองว่าตนเองเป็นบ้า หรือเป็นโรคจิต สิ่งเหล่า นี้สะท้อนถึงทัศนคติของคนในสังคมที่กลัวจิตแพทย์ และมองปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องน่าอับอาย

ตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้ที่เห็นได้ชัดเจน ก็คงจะเป็นเรื่องที่ท่านนายกชวนตอบปฏิเสธความหวังดี ของลูกน้องท่านที่เป็นอธิบดีกรมสุขภาพจิต ในกรณีที่เสนอแนะว่าท่านน่าจะเครียดจากภาระงานต่างๆ และเสนอจะตั้งทีมที่ปรึกษาทางด้านสุขภาพจิตให้กับนายก ผมเองฟังแล้วยังแปลกใจที่ท่านอธิบดีเสนอเช่นนั้น ที่แปลกใจนั้นไม่ใช่ผมมองท่านนายกชวนว่าเป็นโรคเครียดจนต้องมีทีมสุขภาพจิต และก็ไม่ได้มองว่าท่านนายกจะมีสุขภาพจิตดีกว่าคนไทยอีกหลายสิบล้านคน ที่กำลังแบกหนี้กันหลังอานอยู่ในขณะนี้ ที่แปลกใจก็คือ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกำลังทำในสิ่งที่สังคมบ้านเราไม่ยอมรับอย่าง น้อยสองประการ คือ การพูดเป็นนัยว่าบุคคลนั้นกำลังมี หรือจะมีปัญหาสุขภาพจิต และอีกประการหนึ่งคือ การกระทำในลักษณะของผู้น้อยแนะนำผู้ใหญ่

ผลของการกระทำในสิ่งที่ผิดวิสัยปกติของอธิบดีกรมสุขภาพจิต คือ คำตอบที่นายกชวนตอบกลับมาว่า "ท่านคงกลัวว่าผมจะเป็นบ้า" หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบไป แต่ผมเดาว่าขณะนี้อธิบดีกรมสุขภาพจิตน่าจะเครียดมากกว่านายกชวน

หลายคนอาจจะมองว่า คำตอบนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่าการตอบปฏิเสธ ด้วยความมั่นใจในตัว เองของนายก แต่สำหรับคนที่ทำงานทางด้านสุขภาพจิตแล้ว ผมเชื่อว่า คำตอบนี้หมายถึง ความไม่พอใจในสิ่งที่เสนอ และความไม่ยอมรับและเข้าใจปัญหาสุขภาพจิตอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าต้องสนทนา กับจิตแพทย์ หรือทีมงานสุขภาพจิต ก็คือคนบ้า หรือคนอ่อนแอที่ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

ที่จริงแล้วหากนายกชวนจะปฏิเสธความหวังดีของอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายกชวนสามารถตอบได้หลายวิธี มากกว่าคำตอบแบบนี้ คำตอบลักษณะนี้แสดงถึง "อาการหลุด" ของคนที่ควบคุมตัวเองได้ดีอย่างนายกชวน ซึ่งในระยะหลังท่านแสดงอาการหลุดออกมาบ่อยๆ การที่คนเราแสดงอะไร เปลี่ยนไปจากบุคลิกเดิมนั้น เราอาจมองได้สองแบบ คือ บุคลิกที่เห็นมาตลอดนั้นไม่ใช่ของจริง หรือ สิ่งที่เห็นว่าหลุดนั้นหลุดจริงๆ ผมเชื่อว่ากรณีของนายกนั้นเป็นประการหลังซึ่งเกิดจากภาระมากมายที่ประสบอยู่ และผมเองก็ยินดีด้วยซ้ำหากนายกเครียด เพราะนั่นหมายความว่า ผู้บริหารประเทศของเราจริงจัง กับการแก้ปัญหาที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่

ปัญหาส่วนใหญ่ที่เราพบในการทำงานทางด้านสุขภาพจิต คือ คนทั่วไปไม่ค่อยยอมรับว่าในบางขณะของชีวิต เราทุกคนมีโอกาส มีความเป็นไปได้ที่จะเครียด หรือทุกข์กับชีวิต ปัญหาที่มักจะแก้ไขได้ยากก็เพราะการที่คนเราไม่ค่อยจะยอมรับนี่เอง จนปัญหาสะสม หรือทับซ้อนกันจนเกิดปัญหาอื่นตามมา และทำให้ยากที่จะแก้ไข

รูปธรรมที่เห็นชัดถึงการปฏิเสธเรื่องทางจิตของคนทั่วไป คือ พ่อแม่มักจะสะดวก และเต็มใจที่จะพาลูกไปพบจิตแพทย์ เพื่อปรึกษาปัญหาการเรียน ปัญหาการเข้ากับเพื่อน หรือการปรับตัวที่โรงเรียน รวมไปถึงปัญหาการอิจฉาระหว่างลูก แต่ผู้ปกครองน้อยคนนักที่จะมองเห็น และยอมรับว่าในหลายๆ ครั้งปัญหาเหล่านั้นเกิดจากวิธีการเลี้ยงดูบุตรที่แตกต่างกัน หรือปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน และพ่อแม่เองก็สะดวกใจที่จะได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาว่าจะจัดการกับลูกอย่างไร ในขณะที่อึดอัด หรือไม่ค่อยจะยอมทำตามเมื่อผู้ให้คำปรึกษาแนะนำว่าควรจะปรับปรุง หรือแก้ไขตนเองที่จุดใด เพราะสิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองป่วย หรือเป็นฝ่ายผิด

ถึงแม้นายกชวนจะไม่ค่อยพอใจกับข้อแนะนำของอธิบดีกรมสุขภาพจิต และคณะพรรคประชาธิปัตย์จะมองว่าเป็นข้อเสนอแนะที่ไม่สมควรพิจารณา แต่ผมกลับมองว่าพฤติกรรมของอธิบดีกรมสุขภาพจิตในครั้งนี้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อคนไทย และแวดวงสุขภาพจิต อีกทั้งการกระทำนี้ยังช่วยให้คนทั่วไปเกิดความสนใจ ปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคุณหมออีกท่าน ที่ได้รับตำแหน่งนางสาวไทย เพราะท่านอธิบดีได้เน้นถึงสิ่งที่เป็นสัญญาณเบื้องต้นของการเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต นั่นคือ เรื่องของความเครียด และเป็นความเครียดที่มีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยที่สุดในคนวัยนี้ นั่นคือ ปัญหาความเครียดจากการทำงาน

ความเครียดเกิดขึ้นรอบๆคนเรา เมื่อเราเกิดมาเราก็ต้องเผชิญความเครียดมาตั้งแต่เกิด บางคนมองว่าคนเราเครียดตั้งแต่ก่อนเกิดเสียด้วยซ้ำ นั่นคือความเครียดจากมารดาสามารถส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ได้ แพทย์จึงมักจะแนะนำสตรีในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ให้หมั่นดูแลสุขภาพจิตของตนเองด้วย ในอีกด้านหนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นตัวบอกเราว่าชีวิตคนเราไม่มีทางที่จะปฏิเสธความเครียดได้

ความเครียดคือภาวะที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายทั้งทางกายและจิตใจ อาจจะมีคนเข้าใจผิดว่าความเครียดเกิดจากการต้องเผชิญ หรือรับผิดชอบสิ่งต่างๆ มากมาย นั่นก็เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่เราเรียกว่า overstress แต่ที่จริงแล้วการขาดแรงกระตุ้น หรืออยู่ภายใต้ภาวะที่ไม่มีแรงกดดันก็เป็นความเครียดแบบหนึ่ง เราเรียกว่า understress ผลของมันจะไม่ค่อยเห็นชัดเจนนัก เพราะผลที่เกิดขึ้นมักจะออกมาในลักษณะของความเบื่อ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ บรรดาเด็กวัยรุ่นที่หันไปหายาเสพย์ติด หรือการแข่งรถบนถนน ที่บรรดาผู้ปกครองต่างก็บอกว่าไม่มีปัญหาในครอบครัว แต่ทำไมลูกจึงติดยา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการเลี้ยงดูที่ดีจนเกินไป จนขาดความเครียดในชีวิต แต่ไปเกิดความเครียดแบบ understress เกิดความรู้สึกเบื่อ วัยรุ่นจึงพยายามแสวงหาความตื่นเต้นในชีวิตในรูปแบบดังกล่าว

ความเครียดมักจะก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในแง่ของจิตใจนั้นสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจน ก็คือ ความรู้สึกตึงเครียด ไม่ผ่อนคลาย จริงจัง ขาดอารมณ์ขัน รวมถึงความรู้สึกวิตกกังวล และอาจจะตามมาด้วยปัญหาการนอน อ่อนเพลียง่าย จิตใจไม่แจ่มใส ประสิทธิภาพในการทำงาน หรือการดำเนินชีวิตลดลง มีปัญหากับคนรอบข้าง

ทางร่างกายนั้น มักจะมีอาการไม่สบายตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการปวด เช่น ปวดศีรษะ หรือปวดหลัง ปวดต้นคอ และไหล่ เจ็บป่วยบ่อยๆ และหายช้า เนื่องจากภูมิต้านทานที่ลดลง โรค ทางกายที่เป็นอยู่เดิมมักจะแย่ลงในช่วงที่เกิดความเครียด รวมถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด

อย่างไรก็ตามความเครียดไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เหมือนอย่างที่หลายคนกลัว และกังวลว่าจะเสียภาพพจน์หากยอมรับว่าตนมีความเครียดเกิดขึ้น ที่จริงแล้วในชีวิตที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงความเครียด ความเครียดจึงเป็นสัญญาณเตือนให้เราทราบว่า เรากำลังจะเผชิญหน้ากับปัญหา หรือปัญหาที่เราเผชิญอยู่นั้นยังไม่หมดไป ความเครียดจึงเป็นเครื่องมือตามธรรมชาติในการระแวดระวังอันตราย และคอยส่งสัญญาณให้เรามีการเตรียมพร้อม

การมีความเครียดไม่ได้หมายความว่าคนที่มีจะเป็นคนอ่อนแอ เผชิญชีวิต หรือสู้กับปัญหาต่างๆ ไม่ได้ อาจจะมีคนมองว่าตามหน้าหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย ที่มีข่าวการฆ่าตัวตายปรากฎขึ้นเป็นประจำนั้น ล้วนแต่มีการนำเสนอว่าเกี่ยวข้องกับความเครียด ซึ่งอันที่จริงแล้วความเครียดอาจจะทำให้คนเราทุกข์ แต่สิ่งที่ทำให้คนเราตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้น คือ ความรู้สึกสิ้นหวังและไม่เห็นทางออกของปัญหาต่างหาก ดังนั้นความทุกข์จากความเครียดจึงไม่จำเป็นจะต้องจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย หากแต่ว่าคนที่ฆ่าตัวตายนั้นมีความทุกข์ และความเครียดที่หาทางออกไม่ได้

หากนายกชวนยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาท่านเกิดความเครียด และพยายามหาทางจัดการกับมัน น่าจะเป็นการยอมรับที่ท่านทำได้ง่ายกว่าปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งท่านจะเป็นนายแบบทำให้คนไทยหันมาสนใจปัญหาสุขภาพจิตกันมากขึ้น และใส่ใจกับความเครียดที่คนอื่นทำให้กับเรา และตัวเราเองสร้างให้กับคนอื่น รวมถึงการทำให้คนในสังคมใส่ใจกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ไม่ใช่คิดกันแต่เพียงจะอยู่ให้ได้นานมากที่สุด หรือตายช้าที่สุด คนจะได้กล้าพูดถึงปัญหาของตนเองมากขึ้น ไม่ใช่ไปพบแพทย์เพื่อบอกว่า เพื่อนของผมมีปัญหาแบบนี้จะทำอย่างไร ถ้าหากคนใส่ใจกับปัญหาความเครียดมากขึ้น ผมเชื่อแน่ว่าปัญหาสังคมต่างๆ น่าจะบรรเทาลงไปบ้างไม่มากก็น้อย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us