Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2542
ไพศาล อัศวโสภณ "ยกนามสกุลขึ้นตั้งแล้ว ห้ามเอาลง"             
 


   
search resources

อัศวโสภณ
ไพศาล อัศวโสภณ




ความชอบและมีใจรักเป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดธุรกิจได้ เช่นกรณีของบริษัทอัศวโสภณ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องเสียงยี่ห้อ Bose จากสหรัฐอเมริกา ก็ริเริ่มธุรกิจจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกและกำลังส่งต่อให้รุ่นหลานขึ้นมาร่วมบริหารด้วย ทวี อัศวโสภณ-เป็นผู้บุกเบิกการนำเครื่องเสียงเข้ามาในประเทศไทยและจำหน่ายให้แก่ผู้มีใจรักในเสียงเพลง โดยเริ่มเปิดเป็นกิจการเล็กๆ คล้ายชมรมของผู้รักเสียงเพลง ใช้ชื่อว่า "บริการเสียงไฮ-ไฟ" และในเวลาต่อมารุ่นลูก-ไพศาล อัศวโสภณ ก็ได้ขยายกิจการออกมาจนเติบใหญ่ เพิ่มไลน์ในเรื่องของการออกแบบและดูแลระบบเสียง ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูงโดยได้รับความร่วมมือจาก Bose Corporation USA ซึ่งเป็นพันธมิตรคู่ค้ากันมากว่า 30 ปีเป็นอย่างดี

กว่า 30 ปีที่บริษัทอัศวโสภณ ได้ เป็นตัวแทนผู้จัดจำหน่ายเครื่องเสียงยี่ห้อ Bose จากสหรัฐอเมริกา เส้นทางที่ยาวนานนี้มีเรื่องราวต่างๆ มาก มายให้ศึกษาเป็นแบบอย่าง การจะฝ่าฟันสร้างธุรกิจขึ้นมาให้มั่นคงได้สักอย่างต้องอาศัยพื้นฐาน ทั้งความรักและความรู้ในวิชาชีพหรืองานนั้นๆ บวกกับ sense ในทางการค้า โดยขึ้นอยู่กับประเภทของแต่ละธุรกิจด้วย

อย่างกิจการขายเครื่องเสียงของ ไพศาล อัศวโสภณ เวลานี้ ความซื่อสัตย์และมีสัมมาคารวะดูจะเป็นหัวใจในการทำการค้าของเขา เพราะมันทำ ให้เขาทั้งมีสัมพันธภาพที่ดีกับ Dr.Amar G.Bose ผู้คิดค้นและผลิตเครื่องเสียง ยี่ห้อ Bose รวมทั้ง Mr.Sherwin Greenblat ประธานบริษัท Bose Corporation สหรัฐฯ และฐานลูกค้าผู้ ชื่นชอบเครื่องเสียง Bose ในไทยด้วย

ไพศาลให้สัมภาษณ์แก่ "ผู้จัดการรายเดือน" ถึงเรื่องราวเบื้องหลังการเติบโตของบริษัทอัศวโสภณ ซึ่งคลุกคลีอยู่กับวงการเครื่องเสียงไฮ-เอน และยังขยายไปทำ sound engineer เป็นผู้ออกแบบพัฒนาและดูแลระบบเครื่องเสียงในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา ห้องประชุม ผับ ห้องฟังเพลง กระทั่งงานพิธีการต่างๆ

จุดเริ่มต้นของกิจการนำเข้าเครื่องเสียง ซึ่งว่าไปแล้วก็ต้องถือเป็นผู้ค้าเครื่องเสียงเก่าแก่รายหนึ่งของประเทศในตอนนี้ เริ่มจากสมัยบิดาของ ไพศาลคือ ทวี อัศวโสภณ มีเพื่อนคนหนึ่งทำอิเล็กทรอนิกส์เป็น คิดสร้าง แอมปลิไฟล์และลำโพงเพื่อเอาไว้ฟังเพลง เล่นเครื่องเสียง แต่ทว่าแอมป์ฯ ตัวหนึ่งๆ ต้องใช้เวลานานในการสร้างต้อง แก้ไขหลายครั้งกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการ เขาลงมือสร้างเองทุกอย่างตั้งแต่เครื่องแอมปลิไฟล์ ลำโพง แล้วก็นำมาฟังกัน เองสองคน จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าอยากให้คนอื่นฟังด้วย ทวีและเพื่อนจึง เชิญผู้ที่รักและสนใจในเครื่องเสียงมาฟังที่บ้านของทวี โดยเชิญมาในเวลาหลังทำงาน คือช่วง 2 ทุ่มถึงเที่ยงคืน ให้มาฟังได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการหาแนวร่วมนักฟัง

เมื่อคนได้มาฟังการเล่นเครื่องเสียงแบบนี้ คนก็เริ่มติดใจ เพราะมันดีกว่าฟังจากวิทยุทรานซิสเตอร์ในท้องตลาดมาก คนมาฟังเริ่มอยากได้โน่นนี่ แต่เพื่อนก็ทำไม่ได้ เพราะเครื่องหนึ่งๆ ใช้เวลาหลายเดือน ทวีจึงคิดว่าน่าจะหาเครื่องเสียงที่คนอยากฟังและก็ขายได้ด้วย ก็พอดีว่าทวีได้เห็นโฆษณา Shernwood ในแม็กกาซีน ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเครื่องเสียงใหม่ เห็น spec แล้วก็สั่งเข้ามา และก็ชอบคุณภาพเสียง อีกทั้งยังเป็นที่ถูกใจของคนที่มาฟังด้วย

นี่คือจุดเริ่มของธุรกิจ เมื่อคนฟังชอบใจ ทวีจึงสั่งของเข้ามาครั้งละ 2-3 เครื่อง แล้วขายให้แก่ผู้ที่สั่งไว้ เมื่อจำนวนขายมีมากขึ้น ทวีจึงคิดว่าน่าจะ ทำให้เป็นกิจจะลักษณะ ก็เลยติดต่อขอ เป็นตัวแทนสั่งเข้ามาจำหน่าย และย้าย จากบ้านออกมาหาพื้นที่เช่าทำเป็นร้านค้า ที่สี่พระยาเมื่อประมาณปี 1956 หรือ 2499

แม้จะทำเป็นร้านเครื่องเสียงมีห้องแอร์และโชว์รูมแล้ว แต่ปรากฏว่าเจ้าของก็ไม่ได้อยู่บริหาร เพราะไปทำงานประจำด้านอื่นๆ แต่ให้ญาติมาคอย บริการลูกค้า เพียงแค่ว่าเปิดเครื่องให้ฟัง ให้ข้อมูลบางอย่าง แต่หากลูกค้าถามมากๆ เข้าก็ตอบไม่ได้ ต้องมาหลัง 2 ทุ่มแล้วถามเอาจาก ทวี เจ้าของร้านเอง

ตอนนั้นไพศาลยังเป็นนักเรียนอยู่ ส่วนพี่ชายก็ยังเป็นนักเรียนที่ร.ร. อัสสัม คอมเมิร์ซ (เอซีซี) อย่างไรก็ดี ทวีมองว่าการขายเครื่องเสียงยังจะต้อง มีการให้บริการหลังการขาย คือเรื่องการซ่อมแซมด้วย จึงให้พี่ชายของไพศาลไปเรียนเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ในตอนเย็นที่ร.ร.โทรทัศน์วิทยา ซึ่งเปิดสอนซ่อมวิทยุกับทีวี และมีแผนจะส่งเขาไปฝึกอบรมเรื่องเครื่องเสียง ที่ Shernwood

เมื่อเรียนจบ พี่ชายของไพศาล ก็เดินทางไปฝึกงานที่ Shernwood ในชิคาโกทันที ใช้เวลาถึง 2 ปี เมื่อพี่ชายไพศาลใกล้จะจบคอร์สการฝึกงาน ไพศาลก็เรียนจบมัธยม 8 และเตรียมตัวสอบเอ็นทรานซ์เพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา

ไพศาลเล่าว่าเขามีความมุ่งมั่นที่จะเรียนในคณะวิศวฯมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือคณะสถาปัตย์ฯ โดย ต้องการสอบเข้าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้น จึงเลือกแค่ 2 คณะแต่ ปรากฏว่าสอบไม่ติดเลย

ไพศาลจึงเคว้งมาก เขาได้ติด ต่อไปยังพี่ชายเพื่อให้สอบถามว่าเขาจะไปฝึกงานด้วยจะได้ไหม ซึ่งทาง Shernwood ตอบตกลง แต่ไพศาลก็มีปัญหาว่าเขาไม่ได้เรียนเกี่ยวกับ อิเล็กทรอนิกส์มาก่อน บิดาจึงหาเพื่อน มาติวเข้มวิชานี้ตั้งแต่เช้าถึงเย็นไม่มีวันหยุดเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม จากนั้นเขา จึงเดินทางไปฝึกงานได้

เขาไม่ได้ฝึกงานอย่างเดียว แต่ ได้ไปสมัครเรียนระดับวิทยาลัยด้วย ใช้เวลาเรียนในตอนกลางคืน เมื่อฝึกงานจบแต่ยังเรียนไม่จบ เขาเสียดายการเรียนจึงขวนขวายเรียนต่อจนจบ ได้ปริญญาตรีทางอิเล็กทรอนิกส์มาจนได้ ใช้เวลาฝึกงานและเรียนตั้งแต่ปี 1963-1967 แล้วจึงกลับมาเริ่มทำงานที่ร้าน บริการเสียงไฮไฟ ของบิดา

จังหวะที่เขากลับมาทำงานนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของกิจการทีเดียว เพราะพื้นที่ร้านค้าที่เช่ามา เจ้าของจะ เอาคืน บิดามีความคิดว่าจะเอาอย่างไร เลิกทำ หรือจะหาทำเลใหม่เดินหน้าต่อ แต่แนวทางหลังจะมีน้ำหนักมากกว่า เพราะลูกชาย 2 คนก็ไปฝึกงานมาแล้ว จะเลิกทำไม แต่พวกเขามีปัญหาที่ใหญ่ กว่าคือไม่มีเงินทุนในการเดินหน้ากิจการ ต่อเลย

ทวีเป็นเพื่อนนักเรียนกับอุเทน เตชะไพบูลย์ที่ ร.ร.เผยอิง ไพศาลเล่า ว่า "คุณอุเทนท่านใจดี ท่านบอกว่าทำ มาถึงตรงนี้ คนเริ่มรู้จักบริการเสียงอยู่ แล้ว ก็น่าจะทำต่อ ถามคุณพ่อผมว่าต้องการเงินเท่าไหร่ จะช่วย คือให้ยืม คุณพ่อบอกว่าเวลานี้ปัญหาคือเรื่องสถานที่ เจ้าของจะเอาคืน คุณอุเทนก็ให้เงินก้อนหนึ่งมาเพื่อซื้อที่ ซึ่งมีจำนวนมากกว่าที่เราต้องการ เราจึงมีแนวคิดว่าน่าจะสร้างเป็นตึกแถว เก็บที่ต้องการใช้ไว้แล้วที่เหลือก็ขายไป"

เมื่อได้แนวทางมาเช่นนี้ ปรากฏ ว่าทวีเริ่มนอนไม่หลับ เพราะไม่มีประสบการณ์เรื่องปลูกตึกขายมาก่อน แต่ว่าทวีมีประสบการณ์มากในเรื่องการ เป็นนายหน้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น การติดต่อกับหน่วยงานราชการต่างๆ กรมที่ดิน กระทรวง อำเภอ ดังนั้นแม้ว่าจะขายตึกยากมาก ใครต่อเท่าไหร่ ก็ขายให้ แต่ในที่สุดก็สามารถขายได้หมด โดยขายให้กับพรรคพวกเพื่อนฝูง

เมื่อจบปัญหาเรื่องตึกแถว กิจการค้าขายก็ดีขึ้น มีลูกค้ามากขึ้น บริษัทมีสินค้าหลายยี่ห้อนอกไปจาก Shernwood ก็มีสินค้าไฮ-เอน อย่าง Marantz, AR ซึ่งทำตลาดกันมากกว่า 10 ปี แต่แล้วทวีเพิ่งมารู้ความจริงในภายหลังว่าผู้ค้าอื่นๆ ก็สั่งเครื่องเสียงยี่ห้อเหล่านี้เข้ามาด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสามชัย, วิชัยพาณิช, ไออีซี เป็น ต้น คือมีอยู่ทั่วไปรวมแล้วประมาณ 4-5 แห่ง

ทวีจึงสอบถามไปยังต่างประเทศ ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมมีการ supply ของให้ผู้ค้ารายอื่นๆ ซึ่งทางออฟฟิศในต่างประเทศก็ตอบกลับมาว่าเพราะไทย เป็นตลาดเล็กมาก เขาต้องการจะรู้ว่าใครจะทำตลาดให้เขาได้ดีกว่า จึงอนุ-ญาตให้มีคนขายหลายราย

ทวีไม่พอใจวิธีค้าขายแบบนี้มาก เขากากบาทยี่ห้อทั้งสองออกจากชั้นเครื่องเสียงของตัว และสั่งให้ลูกชายหาสินค้าที่มีคุณภาพดีกว่าเหนือกว่าเข้ามาขายแทน แม้ว่า 6 เดือนให้หลังผู้ผลิต AR จะติดต่อกลับมาว่าจะให้ทวีเป็นผู้แทนจำหน่ายรายเดียว แต่ทวีก็ไม่สนใจ เพราะเห็นว่าเหตุการณ์เช่นนี้คงเกิดขึ้นในอนาคตอีก กอปรกับ ในจังหวะนั้นคือปี 1968 ไพศาลเริ่มติดต่อไปที่ Bose ขอเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายทั้งที่ Bose เพิ่งเริ่มกิจการค้าขายจริงๆ จังๆ ก่อนหน้านั้นเพียงปีเดียวคือตั้งแต่เมื่อปี 1967

Bose ตอบไพศาลกลับมาว่าเขาไม่พร้อมที่จะส่งสินค้าออกมาจำหน่าย ในต่างประเทศ ฝ่ายไพศาลก็เห็นว่ากิจการของตนเองอาจจะเป็น "รายเล็ก" เกินไป Bose จึงไม่สนใจ จึงเจรจาขอให้เพื่อนฝูงที่ชอบพอกันที่ Shernwood ช่วยติดต่ออีกแรงหนึ่ง ซึ่งปรากฏว่าผลที่ได้ก็เหมือนเดิม คือฝ่าย Bose ไม่พร้อมจริงๆ อย่างเช่น สินค้าสำหรับใช้กับไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ ก็ยังไม่ได้ผลิตขึ้นมา เป็นต้น นอกจากนี้ Bose ยังมีนโยบายว่าต้องการให้สินค้าที่เพิ่งเริ่มผลิตขึ้นมาจำหน่ายจำกัดเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทสามารถดูแลลูกค้าได้ทั่วถึง ก่อนที่จะขยายไปยังตลาดต่างประเทศ

เหตุผลเช่นนี้ทำให้ทวีประทับใจ Bose มากเพราะเห็นว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีความรับผิดชอบสูงมาก ทวีจึงตัดสินใจรอ Bose

ครั้นกลางปี 1969 ผู้ส่งออกสิน ค้า Bose จึงติดต่อมายังทวี บอกว่าพร้อมที่จะส่งสินค้าออกมาจำหน่ายในต่างประเทศแล้ว ซึ่งสินค้า Bose ตัว แรกที่เข้ามาเมืองไทยผ่านช่องทางนี้คือ ลำโพง 901 เมื่อมาถึงเมืองไทย สมาชิก อัศวโสภณทั้งหลายได้ฟังเสียงจากลำโพงนี้ก็พอใจมากและคิดว่าสินค้าตัว นี้น่าจะทำตลาดแทน AR ได้ พวกเขาจึงตอบตกลงและสั่งสินค้าตามเงื่อนไขของ Bose ทุกประการ

ไพศาลย้อนความหลังในครั้งนั้นว่า "น่าจะเรียกว่า เฮง ก็ได้ในช่วงนั้น เพราะผู้ส่งออกของ Shernwood ก็ติดต่อมาหาเราเหมือนกัน บอกว่ามีโรงงานที่ทำแอมปลิไฟล์และพรีแอมป์ฯ ที่เขาคิดว่าเหนือกว่าแต่แพงกว่ามาร๊านซ์ เยอะ เพราะทีมงานทั้งหมดมาจากวิศวกรทั้งนั้น"

ดังนั้นพรีแอมป์ฯ ยี่ห้อ SAE จึงเข้ามาในตลาดเครื่องเสียงไทย ซึ่งในตอนนั้นก็เท่ากับไพศาลมีทั้งลำโพง แอมป์ พรีแอมป์ ครบชุด เป็นสินค้าคุณภาพดีราคาสูงเข้ามาวางจำหน่าย จังหวะนั้นเองที่ทวีเห็นว่าน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงชื่อเสียงเรียงนาม ของกิจการให้มีความเหมาะสมกว่าที่ใช้ชื่อ "บริการเสียงไฮไฟ" เผื่อเอาไว้ประมูล งานที่ไม่เกี่ยวกับเครื่องเสียงด้วย

ไพศาลจึงบอกบิดาว่าให้เอานาม สกุลขึ้นตั้งเลย เขาให้เหตุผลว่า การใช้นามสกุลตั้งเป็นบริษัทนี่เท่ากับเป็นการ ผูกมัดตระกูลให้ทำกิจการนั้นๆ ด้วยความรับผิดชอบ และประการต่อมาเขาดูตัวอย่างจากห้างกมลสุโกศล ซึ่ง มาจากชื่อนายห้างกมล นามสกุลสุโกศล เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากในตอนนั้น เป็นตัวแทนของยีอีด้วย ดังนั้นจึงตกลงกันได้ว่าให้ใช้นามสกุล

ทวีกล่าวว่า "หากเอาขึ้นตั้งแล้ว ห้ามเอาลงเด็ดขาด" นั่นเป็นปี 1969 ที่เริ่มเป็นบริษัทอัศวโสภณ และลูกหลานก็รับปากด้วยว่าจะไม่เอาลง

ไพศาลเล่าอย่างอารมณ์ดีเกี่ยวกับการทำธุรกิจกับพันธมิตรคือ Bose ว่ามีความรับผิดชอบสูงมาก ให้การดูแลสินค้าหลังการขายดีมาก เช่นกรณี 901 ซึ่งมีตัว equalizer เล็กๆ ตัวหนึ่ง ที่เล่นคู่ด้วย หลังจากที่ไพศาลเป็นตัวแทนอยู่ประมาณเกือบปี เครื่องมีปัญหา ทุกเครื่อง คือหลังจากเปิดเครื่องเล่นไปประมาณ 1 ชั่วโมง จะมีเสียง "ตี่" ดัง ตลอดเวลา โดยไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร แม้ปิดเครื่องแล้วเล่นใหม่ไปอีก 1 ชั่วโมงก็จะเกิดเสียงนี้ขึ้นมาอีก เป็นเหมือน cycle ที่ต้องเกิด

ไพศาลรายงานให้ Bose ในสหรัฐฯ ทราบ แล้วทาง Bose ก็ส่งรายการมาให้ทางนี้ตรวจสอบว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ก็ยังไม่พบ ในที่สุด ดร.Bose ได้เดินทางมาดูสาเหตุด้วยตัวเอง ซึ่งเขาตรวจสอบอยู่หลายชั่วโมงก็สามารถพบสาเหตุ แต่ยังไม่บอก ให้ฝ่ายไพศาลทราบ ทว่าให้จับตาดูอาการของเครื่องหลังจากที่ดร.Bose แก้ไขเรียบร้อย

3 เดือนผ่านไป ฝ่าย Bose จึงอธิบายมายังไพศาลว่าจุด ground แท่นที่ใช้ตาไก่ย้ำไว้นั้น ดร.Bose คิด ว่ามันเกิดปฏิกิริยากับอากาศ ทำให้เป็น ground ที่ไม่สนิทขึ้นมา แต่การที่ไม่เกิดอาการเสียง "ตี่" นี้แต่แรกเมื่อเปิดเครื่อง เพราะยังไม่เกิดปฏิกิริยากับอากาศหรือเกิดสนิมอากาศ แต่หลังจากเปิดเครื่องไว้หนึ่งชั่วโมงจึงเกิดอาการ

ดร. Bose แก้ปัญหาด้วยการ ขูดผิวตรงแท่นให้มัน และบัดกรีลงที่แท่นเลย เพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาดังกล่าวอีก และการเปลี่ยนแปลงตรงนี้หรือ modification นี้จะอยู่ในสายการ ผลิต 901 รุ่นใหม่ทั้งหมด

เหตุการณ์นี้ทำให้ทวีประทับใจมากว่า Bose เป็นบริษัทที่เอาใจใส่ผลิตภัณฑ์และมีความรับผิดชอบต่อลูกค้ามาก เขารู้สึกดีใจว่าได้พันธมิตรคู่ค้าที่ดีทำให้มีกำลังใจในการผลักดันสินค้า Bose ในตลาดเมืองไทยอย่าง มาก

ไพศาลเองก็ประทับใจ Bose เช่นเดียวกับบิดา เขาทำงานเคียงคู่กับ Bose มาจนตอนนี้เป็นเวลา 30 กว่าปีแล้ว "เผลอแพล็บเดียวเราเป็นตัวแทน ให้ Bose 30 ปีแล้ว ขณะที่โรงงานของ Bose มีอายุ 35 ปี" ไพศาลกล่าว

ไพศาลมีความคุ้นเคยกับ Bose มาก เขากล่าวถึง Mr.Greenblat ประธานฯ ว่า "คนนี้เป็นพนักงานหมายเลข 1 ของ Bose และเป็นลูกศิษย์ที่ดร.Bose ถ่ายทอดวิชาให้มากที่สุด เอามาทำงานด้วยจนสามารถ ไต่เต้าขึ้นเป็น President ของบริษัท รองจากดร. Bose ซึ่งตอนนี้อายุ 70 กว่าแล้ว"

ส่วน SAE ที่ทำเรื่องแอมป์ฯกันนั้น ในที่สุดก็มาแตกกันไปหลังจากที่ฝ่าย SAE มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารและนโยบายการทำตลาด แต่กับ Bose นั้นสามารถทำได้ต่อเนื่องยาวนาน ไพศาลให้เหตุผลว่าเป็นเพราะ Bose มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เช่น หลายปีก่อน Bose พัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาตัวหนึ่งใช้ในการออกแบบเสียง มีชื่อว่า ModelerTM ซึ่งไพศาลก็นำมาใช้หลังจากได้รับการฝึกอบรมจาก Bose

แต่ปรากฏว่าหลังจากประกาศเปิดตัวซอฟต์แวร์ ModelerTM ได้ไม่นาน ก็มีผู้ลอกเลียนแบบทำซอฟต์แวร์ ออกมาเหมือน ModelerTM แม้จะมีความคมชัดน้อยกว่า แต่ก็สามารถใช้ออกแบบระบบเสียงได้ ซึ่งเหตุการณ์ นี้เป็นบทเรียนแก่ Bose อย่างมากในการพัฒนาสินค้าตัวต่อๆ มา

Bose เริ่มพัฒนาซอฟต์แวร์อีกตัวหนึ่งเพื่อใช้ในการทดลองฟังก่อน ติดตั้งจริง เพราะงานออกแบบระบบเสียงนั้น แม้จะคำนวณออกมาแล้ว มีภาพให้ดูก็ตาม แต่เมื่อติดตั้งอุปกรณ์ จริง อาจจะไม่ได้เสียงตามที่ต้องการ ที่จะได้จริงก็ต้องฟังซึ่งก็เท่ากับต้องติดตั้งเครื่องมือลงไปแล้ว แต่ซอฟต์แวร์ตัวนี้จะช่วยให้ได้ฟังเสียงก่อนติดตั้งจริง ซึ่ง ซอฟต์แวร์ตัวนี้คิดสำเร็จเมื่อ 8 ปีที่แล้ว

เมื่อได้ซอฟต์แวร์นี้มาทาง Bose ก็มาทาบทามคนที่ทำงานดีไซน์เสียงทั้งหลายทั่วโลกที่เป็นคนของเขา และเป็นผู้จัดจำหน่ายอย่างไพศาลที่ทำงานทางด้านนี้เพื่อที่ต้องการถ่ายทอดแต่ Bose จะมีเงื่อนไขเยอะมาก เช่น ต้องเก็บเป็นความลับ บอกใครไม่ได้ จะไม่ให้ใช้จนกว่าจะได้รับการอนุญาต แต่จะเริ่มฝึกอบรมที่สหรัฐฯ 5 วันเต็มๆ แต่ ให้ไป 1 อาทิตย์

ไพศาลเห็นประโยชน์ของการฝึกอบรมมาก เขาจึงตกลงร่วมในโปรแกรมนี้ เดินทางไปฝึกพร้อมกับเพื่อนร่วมงานอีกคน อบรมกันตั้งแต่ 8.00-17.00 น. มีพักทานกาแฟ ส่วนอาหารเย็น ทานตอน 19.00 น.โดยมีวิทยากรมาบรรยายซ้ำลงไปอีก ก่อนที่จะเข้าคอร์สนี้ต้องมีการเซ็นสัญญาว่าจะเก็บรักษาความลับนี้ไว้

หลังอบรมเสร็จ จะมีการสัมภาษณ์โดยทีมวิศวกร และให้ทุกคนเก็บเป็นความลับ ทั้งนี้เขาไม่ต้อง การให้ซอฟต์แวร์ตัวใหม่นี้ที่ชื่อว่า AuditionerTM มีใครลอกเลียนแบบได้ หากผู้เข้าอบรมต้องการนำไปใช้เพื่อปิดรายการขายหรือการประมูลงานใด ต้องมาบอกกล่าวขออนุมัติกันเป็นกรณีๆ ไป

ไพศาลพอใจกับระบบการทำงานของ Bose และมีความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ค่ายนี้มาก ตัวเขาเองก็ได้รับ การสนับสนุนจาก Bose ในหลายรูป แบบและมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันมาช้านาน ไพศาลได้รับการแต่งตั้งจาก Bose ให้เป็น Field Engineer คนหนึ่งของ Bose มีการอบรมเพิ่มวิชาการให้ทุกระยะ 6 เดือน แต่ไม่ได้กินเงินเดือนของ Bose

ไพศาลเล่าว่ามีตัวแทนจัดจำหน่ายใน 3 ประเทศที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้าเป็น Field Engineer ไม่ได้กิน เงินเดือนแต่ได้รับการฝึกอบรม คือ ไทย สิงคโปร์ และสเปน นอกจากนี้ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย อย่างไต้หวัน ซึ่งก็มียอดขายเยอะกว่าไทย แต่ไม่ได้แต่งตั้ง

เหตุผลก็เพราะไต้หวันอยู่ใกล้ จีนแผ่นดินใหญ่มาก และซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ที่เข้าไปมักถูกลอกเลียนแบบใน ระยะเวลาอันสั้น Bose ต้องการชะลอ การเลียนแบบออกไปให้นานเท่าที่จะทำได้ จึงจัดระบบแบบปิดเช่นที่กล่าวมา

ไพศาลต้องการถ่ายทอดความรู้ของเขาให้คนรุ่นหลังสืบทอดงานด้าน การออกแบบระบบเสียง ซึ่งเขาริเริ่มงานด้านนี้มาตั้งแต่กลับจากสหรัฐฯ ตอน นั้นเขาออกแบบระบบเสียงโดยไม่มีอุปกรณ์อะไรช่วยเหมือนอย่างในปัจจุบัน ตอนนี้เขาจึงเริ่มจัดให้พนักงานออกแบบ 2 คนของเขาไปรับการอบรมที่ออสเตร-เลีย ซึ่งทำให้เขาได้ซอฟต์แวร์ออกแบบ เสียงเบสที่จะยิงระยะทางไกลอย่างที่ใช้ในสนามราชมังคลากีฬาสถานมาใช้ ขณะที่ไต้หวันยังไม่ได้ซอฟต์แวร์ตัวนี้มาใช้เลย

ระบบของ Bose ทำให้ไพศาลไม่สามารถคุยรายละเอียดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าทึ่งของ Bose ได้ ต้องรอให้ทางบริษัทแม่ไฟเขียวก่อนจึงจะสามารถทำได้

นอกจากนี้ก็มีผลิตภัณฑ์อีกตัว หนึ่งที่ดร.Bose เป็นผู้ค้นคว้าด้วยตัว เอง ทำวิจัยมาแล้ว 12 ปี ต้องใช้เวลา ทำตลาดทั้งหมด 8 ปี ตอนนี้เหลือ เวลาอีก 5 ปี ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ไพศาลก็ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ทีม วิศวกร Bose ก็พูดไม่ได้ ไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเสียง แต่เป็นสิ่งที่คนไม่คิดว่าจะมีมันเกิดขึ้นมาในโลกได้

ตัวไพศาลเวลานี้ได้ซึมซับเอาวัฒนธรรมของ Bose Corporation มาไว้เต็มตัว และก็ได้สร้างผลงานการ ออกแบบระบบเสียงที่สำคัญไว้หลายจุด เช่น สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถานที่ใช้ทำพิธีเปิด-ปิดการแข่งขันกีฬา เอเชี่ยนเกมส์(มูลค่า 28 ล้านบาท), ระบบเสียงที่วัดธรรมกาย และระบบเสียงที่สนามกีฬา 700 ปี "เชียงใหม่เกมส์" จังหวัดเชียงใหม่ ที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ปี 2539

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us