ในปีพ.ศ.2540 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจของเมืองไทยตกต่ำอย่างหนัก
แต่ปรากฏว่าเป็นปีที่บริษัทประมูลงานศิลปะเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี รายใหญ่ของโลก
2 รายจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีความคิดเห็น ที่ตรงกันว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเข้ามาเปิดสาขาอย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่เมืองไทย
ด้วยเหตุผลสำคัญ ที่ว่าในช่วงเวลาแห่งความกดดันทางการเงินนี้ ส่งผลให้เศรษฐีหลายคนเริ่มเอางานเก่าแก่ของรักของหวง
หรือของหายาก ที่มีค่าบางชิ้นออกมาประมูลขาย ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้คนที่ยังมีเงินอีกหลายคนอยากไขว่คว้ามาเป็นสมบัติส่วนตัว
คริสตี้ส์ ได้เข้ามาเปิดตัวบริษัทคริสตี้ส์ ประเทศไทย ก่อนโดยมีทีมงาน
3 สาวฝ่ายไทยเป็นผู้บริหารคือ เยาวณี นิรันดร ปัญญชลี เพ็ญชาติ และทิวาลักษณ์
เจียรวนนท์ โดยตั้งสำนักงานใหญ่ ที่ศูนย์การค้าเพนนินซูล่าพลาซ่า
ส่วนโซเทบีส์ ประเทศไทย (SOTHEBY'S) มีริก้า ดีล่า สาวสวยลูกครึ่งฟิลิปปินส์-ญี่ปุ่น
ซึ่งมีครอบครัวอยู่ในเมืองไทยเป็นผู้รับผิดชอบ โดยตอนแรกเธอมองแค่เพียงว่าน่าจะเป็นงานพาร์ทไทม์ ที่ทำเงินได้อย่างดี
แต่ต่อมากลับเป็นงาน ที่ใหญ่ขึ้น และต้องใช้เวลาเต็มที่
ทั้ง 2 บริษัท มีประวัติศาสตร์ของความเก่าแก่พอๆ กัน มีสินค้า ที่จะนำออกมาประมูลเหมือนๆ
กันเช่น ภาพเขียน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ เครื่องเงิน รวมทั้งมีเป้าหมายของกลุ่มลูกค้าในแวดวงเดียวกัน
ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีความสามารถในการหาของที่ดีที่สุดมาทำการประมูลเท่านั้น
แต่จะแตกต่างกันบ้างตรง ที่ว่า คริสตี้ส์ ประเทศไทย มีเป้าหมายหลักในการจัดงานประมูลในประเทศไทยอย่างน้อยปีละครั้ง
โดยเมื่อปี 2541 ได้เข้าไปรับจัดงานประมูล ให้กับทางปรส. ส่วนปี 2542 ได้จัดงานประมูลภาพเขียน
และหนังสือหายาก ขึ้นเป็นครั้งแรก และสามารถทำยอดขายรวมทั้งสิ้นประมาณ 40
ล้านบาท และในเดือนกรกฎาคมปี 2543 นี้ทางบริษัทได้วางแผนที่จะจัดงานใหญ่ประมูลภาพเขียน
และหนังสือหายาก อย่างปีที่แล้วอีกครั้ง
ในปี 2542 การทำราคาในการประมูลภาพเขียน และหนังสือหายากของคริสตี้ส์
ซึ่งทำยอดรวม 40 กว่าล้านบาทนั้น ได้ตอกย้ำให้ผู้บริหารมั่นใจว่า ยังมีคนที่มีเงินเก็บ และพร้อม ที่จะจ่ายให้กับความสุขทางใจอีกมากดูได้จากภาพส่วนใหญ่ ที่ประมูลได้ไปทำราคาได้สูงกว่าราคาประเมิน ที่วางไว้แทบทั้งนั้น
เฉพาะแค่ภาพของบรมจารย์ทางด้านศิลป ทวี นันทขว้าง, ถวัลย์ ดัชนี เพียง 3
ภาพก็ทำราคา ได้ถึง 6,325,000 บาทเข้าไปแล้ว หรือหนังสือหายาก ที่ทำรายได้สูงสุดอย่างเช่นหนังสือเกี่ยวกับบันทึกการเดินทาง เพื่อสำรวจประเทศต่างๆ
ในแถบอินโดจีน ของ "การนีเยร์" ซึ่งพิมพ์ขึ้นในปารีสเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1873
โดยทำราคาได้ 1,265,000 บาท
ส่วนบริษัทโซเทบีส์นั้น ถึงจะมีสาขาในประเทศไทย แต่ก็ยังไม่มีแผนการที่จะทำการเปิดประมูลในเมืองไทย
เพราะทางบริษัทแม่มองว่าตลาดยังไม่ใหญ่พอ ในจำนวนสาขา 46 ประเทศของโซเทบีส์นั้น
จะเปิดทำการประมูลเพียง 19 ประเทศเท่านั้น เอง
ดังนั้น งานของริก้า ซึ่งเป็นตัวแทนในเมืองไทยก็คือ การขายแค็ตตาล็อกของสินค้า ที่จะทำการประมูลในประเทศต่างๆ
ซึ่งลูกค้าก็จะดูหน้าตา และรายละเอียดของสินค้าได้จากแค็ตตาล็อกดังกล่าว
หากสนใจรายการไหนขอราย
ละเอียดเพิ่มเติมได้ ในแค็ตตาล็อกทุกเล่มจะมี Absentee Bid Form สำหรับคนที่ไม่ได้บินไปประมูลเอง
ให้กรอกรายละเอียดในนั้น ว่าต้องการของรายการไหนราคาเท่าไหร่ โดยราคาขั้นต้นต้องไม่ต่ำกว่า ที่กำหนดไว้
งานประมูลครั้งต่อไปของโซเทบีส์ จะจัดขึ้น ที่กรุงลอนดอนในวันที่ 8 กุมภาพันธ์
และประมาณกลางเดือน
มีนาคม 2543 โดยจะเป็นสินค้าทางด้านจิวเวลรี่ ทั้ง 2 ครั้ง
ทั้งริก้า และเยาวณีต่างมั่นใจว่าเมื่อคนไทยเข้าใจ และคุ้นเคยกับการประมูล
ตลาดของการประมูลในเมืองไทยจะคึกคักยิ่งกว่านี้แน่นอนเหมือนกัน เพราะเพียงแค่ระยะเวลา
2 ปีแห่งการทำธุรกิจ ก็สามารถทำรายได้ได้ดีทุกครั้ง