Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2542
ทวิช ธนะชานันท์ กับงานการเงินที่รักยิ่ง             
 


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารกสิกรไทย

   
search resources

ธนาคารกสิกรไทย, บมจ.
ทวิช ธนะชานันท์
Banking and Finance




ทวิช ธนะชานันท์ เป็นลูกหม้ออีกคนของโรงเรียนกสิกรไทย ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจากยุคเฟื่องฟูของวาณิชธนกิจ มาถึงยุคเจียมเนื้อเจียมตัวของชาววาณิชฯ ทั้งหลาย เขาโชคดีที่อยู่ในองค์กรที่มีกรอบระเบียบการทำงานที่โปร่งใส และมีจรรยาบรรณ เขาจึงหลุดพ้นจากการล่มสลายมาได้อย่างหวุดหวิด หากคนเก่งอย่างเขาอยู่ในสถาบันการเงินอื่นที่เคยโด่งดังในอดีต เขาก็อาจจะเป็นหนึ่งในบรรดา "เหยื่อ" ของฟองสบู่เหล่านั้นด้วยก็เป็นได้

ทวิช จบปริญญาตรีสาขาวิศวะคอมพิวเตอร์ จากสถาบันเทคโนโลยี่พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จากนั้นก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานตั้งแต่ปี 2530 กับธนาคารกสิกรไทยในฝ่ายคอมพิวเตอร์ การทำงานในช่วงปีแรกของเขายังคงอยู่ในสายที่เรียนมาโดยตรงแต่จากนั้น 1 ปีถัดไป เขาสอบชิงทุนธนาคารฯ ไปศึกษาต่อปริญญาโท ที่สหรัฐอเมริกาสาขาบริหารธุรกิจ หรือ เอ็มบีเอ ซึ่งนับเป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกๆ ที่ทำให้เอ็มบีเอกลายเป็นสาขาสุดฮิตของเด็กไทยในรุ่นต่อๆ มา และในปี'33 เขากลับมาใช้ทุน โดยเริ่มต้นที่งานฝ่ายบริหารเงินได้ประมาณ 2 ปี ก็ถูกดึงตัวให้มาช่วย บุญทักษ์ หวังเจริญ ก่อตั้งฝ่ายวาณิชธนกิจขึ้นมา พร้อมกับเพื่อนนักเรียนทุนรุ่นเดียวกันอีก 4-5 คน ที่ปัจจุบันกระจายไปฝังตัวอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ที่ถือเป็นหัวใจของธนาคารฯ ในปัจจุบัน

"พอผมจบวิศวะ ผมรู้สึกว่า ผมไม่อยากเรียนต่อหรือทำงานด้านวิศวะแล้ว ผมขอทำงานแบงก์ทำงานเกี่ยวกับตัวเลขสนุกกว่า" เป็นความคิดของทวิชเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ซึ่งหากพิจารณาแล้ว ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขาเลย จากการที่เปลี่ยนเป้าของชีวิตจากวิศวกรหนุ่มกลายมาเป็นนักการเงินหนุ่ม เนื่องจากพื้นฐานที่แข็งแกร่งทางด้านการศึกษาที่เขานับได้ว่าเป็น "คนเก่ง" คนหนึ่ง เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า การเป็นนักเรียนทุนกสิกร ไม่ใช่เรื่องหมูถ้าไม่เก่งจริง และอีกประเด็นหากจะมองว่า เขาเป็นลูกชายคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้อง 4 คน ที่เดินตามรอยของชวลิต ธนะชานันท์ อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ มือการเงินชั้นครู ผู้เป็นพ่อก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกแต่อย่างไร และปัจจุบันเขาได้เติบโตอยู่ในสายงานวาณิชธนกิจ ตำแหน่งล่าสุดที่เขารับผิดชอบคือ ผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจ เป็นการยืนยันว่า ทวิชคิดไม่ผิดที่เลือกเดินมาบนถนนการเงินสายนี้

ร่วม 10 ปี ของบทบาทหน้าที่ในสายงานวาณิชธนกิจ ทวิชเป็นคนหนึ่งที่รับรู้ถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นในวงการวาณิชธนกิจของเมืองไทย นับตั้งแต่ยุคเฟื่องฟูจนถึงยุคที่เรียกได้ว่าเกือบจะล่มสลายในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันบทบาทของวาณิชธนกิจเริ่มจะมีขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เศรษฐกิจโดยรวมเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น แต่การกลับมาของวาณิชธนกิจครั้งนี้ต้องไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน

"เหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีตเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับวันนี้ คือ ทุกคนจะทำงานเป็นมืออาชีพและมีความเป็นสากลมากขึ้น ปีที่แล้วคนซื้อเจ็บมาก คนทำก็เจ็บ คำว่า "หุ้นกู้" กลายเป็นของต้องห้าม ไม่มีใครกล้าซื้อ แต่ปีนี้แนวโน้มดีขึ้น คนเริ่มกลับมาซื้อใหม่ แต่ทุกคนต้องทำการบ้านเพิ่มมากขึ้น คนทำต้องมีข้อมูลของสถานะบริษัทนั้นๆ อย่างแท้จริง พร้อมที่จะตอบคำถามแก่นักลงทุนได้ทุกคำถาม นักลงทุนเองก็ต้องพยายามถามเพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุดในการตัดสินใจลงทุน บริษัทที่ออกก็ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส" เป็นมุมมองของชายหนุ่มคนนี้ที่ให้ความสำคัญกับ "การทำการบ้าน" ของฝ่ายวาณิชธนกิจ นับตั้งแต่การทำ Due Diligence การวิเคราะห์พยากรณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลถูกต้องครบถ้วนและโปร่งใสมากที่สุด ถึงแม้เขาจะทราบว่า การทำ Due Diligence คือการตอบคำถามของข้อมูล ณ วันนี้ แต่ตราสารหนี้ส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป แม้ว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าบริษัทผู้กู้จะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยก็ขอให้คนทำได้ "ทำการบ้าน" ณ ก่อนวันที่ออกอย่างแท้จริง

ธุรกรรมของฝ่ายวาณิชธนกิจของธนาคารพาณิชย์ถูกทางการจำกัดอยู่เพียงแค่การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดหนี้เท่านั้น ไม่สามารถข้ามไปทำในตลาดหุ้นได้โดยตรง ดังนั้นสินค้าหลักที่ฝ่ายวาณิชของธนาคารกสิกรไทยมีไว้บริการลูกค้าก็คือ "ตราสารหนี้" โดยมีหน้าที่หลักในตลาดแรกคือ การเป็น Underwriter ออกแบบโครงสร้างของตราสารหนี้ให้เหมาะสมกับผู้กู้และนักลงทุน รวมถึงการรับประกันการจำหน่าย ขณะเดียวกันก็ยังมีบริการหลังการขายคือทำหน้าที่เป็น market maker ในตลาดรองด้วย

ปีนี้เรียกได้ว่าเป็นปีทองของตราสารหนี้ จากระยะเวลาเพียง 4 เดือน ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา มูลค่าตราสารหนี้มีร่วมๆ 200,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งแตกต่างจากปีที่แล้วที่มีมูลค่ารวมทั้งปีเพียงแค่ 10,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้สืบเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องได้ ทำให้ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ บริษัทต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องการเงินทุน จึงหันมาระดมทุนด้วยวิธีการออกตราสารหนี้มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ บทบาทการทำงานของวาณิชธนากรทั้งหลายต้องเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน และต้องเป็นการทำงานที่ระมัดระวังมากขึ้น

"ในโลกของตราสารหนี้ Underwriter หรือที่ปรึกษาในการออก หุ้นกู้ไม่ได้เป็นคนฝันหรือเป็นคนกำหนดว่า หุ้นกู้จะออกมามีหน้าตาอย่างไร แต่สิ่งที่เราทำคือ การยืนอยู่ตรงกลางระหว่างคนมีเงินกับคนอยากกู้เงิน เราจะต้องคำนึงถึงลูกค้าทั้ง 2 ข้างเสมอ เพราะเงินไม่ใช่เงินของเรา ไม่ใช่ของแบงก์ แต่เป็นเงินของลูกค้า ฉะนั้นเราต้องดูว่า เงื่อนไขอะไรที่คนมีเงินต้องการ เราต้องเข้าใจว่าคนซื้อต้องการอะไร อยากได้อะไร เมื่อเราสร้างหุ้นกู้ให้ถูกใจคนซื้อเขาก็อยากซื้อในราคาที่ดี แต่ถ้าเราสร้างอะไรที่เขาไม่อยากซื้อ เขาก็ไม่ซื้อ นี่คือกติกาของตลาดเสรี" ทวิชเล่า

เขายกตัวอย่างที่มาของหุ้นกู้โครงสร้างที่มีอยู่ในตลาด เช่น "หุ้นกู้ธรรมดา" เป็นหุ้นกู้ที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ส่วนใหญ่ออกโดยบริษัทที่มีชื่อเสียง นักลงทุนรู้จักกันดี และมีสถานะทางธุรกิจค่อนข้างแข็งแกร่งถ้าเป็นกรณีของบริษัทที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ที่นักลงทุนบอกว่า โครงการนี้เสี่ยงเกินไป โครงสร้างหุ้นกู้ที่จัดให้คนซื้อสบายใจที่สุด ก็เป็นในรูปของ"หุ้นกู้มีประกัน" หรือหากตลาดหุ้นฟื้นตัวดี นักลงทุนต้องการจะมีส่วนในการถือหุ้นของบริษัทด้วย ก็จะออกมาในรูปของ "หุ้นกู้ควบวอร์แรนต์"

ตัวบ่งชี้ที่จะบอกสถานะความเสี่ยงของหุ้นกู้แต่ละตัวก็คือ "เรตติ้งหรือการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ" ในอดีตเรตติ้งจะค่อนข้างมีความสำคัญมากในการพิจารณาเลือกลงทุนของนักลงทุน ดังนั้นบริษัทผู้ออกก็จำเป็นต้องไปจ้างผู้เชี่ยวชาญให้มาประเมินสถานะบริษัทของตัวเอง แต่ในช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นวิกฤติของเรตติ้งไปด้วยคือ บริษัทต่างๆ ถูกลดอันดับเรตติ้งกันระนาว แต่ปัจจุบันเริ่มจะกระเตื้องขึ้นบ้างแล้ว หลังจากที่มูดี้ส์ และเอส แอนด์พีทบทวนการจัดอันดับเรตติ้งของประเทศไทยใหม่

แต่กระนั้นความสำคัญของเรตติ้งดูเหมือนจะลดน้อยลง บริษัทต่างๆ สามารถออกตราสารหนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเรตติ้ง ซึ่งที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากกฎหมายไทยระบุว่า บริษัทที่ออกตราสารหนี้จำหน่ายชนิดเจาะจงนักลงทุนสถาบัน หรือที่เรียกว่า Private Placement ไม่จำเป็นต้องมีการจัดอันดับ ยกเว้นบริษัทที่ต้องการจำหน่าย ตราสารหนี้แก่นักลงทุนรายย่อยทั่วไป จึงจะจำเป็นต้องมีการจัดอันดับ

เท่าที่ผ่านมาสถิติการออกตราสารหนี้ในระยะ 4 เดือนแรกของปีนี้ เป็นการออกของธนาคารพาณิชย์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งธนาคารเหล่านี้ก็มีการจัดอันดับอยู่แล้ว และยิ่งกว่านั้นคือเป็นการจำหน่ายให้แก่นักลงทุนสถาบัน ไม่ใช่นักลงทุนรายย่อย "เรตติ้ง" จึงไม่ใช่สิ่งจำเป็น

อย่างไรก็ตาม บริษัทใดที่มีการจัดอันดับไว้ จะเป็นการช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนได้ง่ายมากขึ้น ว่าบริษัทผู้ออกตราสารหนี้นั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงไรในการชำระคืนเงิน เมื่อครบอายุตราสารหนี้ และอัตราผลตอบแทนควรจะอยู่ที่เท่าไร และในแง่ของผู้ออกเองก็มีต้นทุนที่ต่ำลงด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอันดับของแต่ละบริษัท

"สำหรับลูกค้าเรา ส่วนใหญ่ออกขายแก่นักลงทุนสถาบัน ฉะนั้นกติการะบุว่า ไม่จำเป็นต้องมี และการจัดอันดับแต่ละครั้งต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นหากเราเห็นว่าลูกค้าเราสามารถออกได้เลย เราก็คิดว่าเรตติ้งไม่จำเป็น เพราะระยะเวลาในการออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่มีจำกัด หน้าต่างนี้เปิดเร็วและปิดเร็วมาก" ทวิช กล่าวชี้แจง

โดยปกติระยะเวลาของการออกตราสารหนี้ดีลหนึ่งจะใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์ โดยใน 6 สัปดาห์นี้ จะมีการทำงานเริ่มตั้งแต่การศึกษาข้อมูลของลูกค้าที่ต้องการออกตราสารหนี้ หรือการทำ Due Diligence งานด้านเอกสารและข้อมูลสำหรับชี้แจงนักลงทุน พร้อมทั้งมีการสำรวจตลาดว่ามีดีมานด์-ซัปพลายมากน้อยเพียงใด ภาวะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของแบงก์เป็นเท่าไร เงินเฟ้อเป็นเท่าไร รวมแม้กระทั่งตลาดอื่นที่นักลงทุนสามารถเอาเงินไปลงทุนได้ เช่น ตลาดหุ้น เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วน จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนของการกำหนดราคา

"ตลาดจะเป็นตัวกำหนดอัตราดอกเบี้ยว่าควรจะเป็นเท่าไร ตามสภาพความเสี่ยงของบริษัทและสภาพเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ใช่ฝ่ายวาณิชเป็นคนกำหนดเอง และไม่มีสูตรอะไรที่ลึกล้ำ แต่กว่าจะได้ออกมาว่าเป็นที่อัตราเท่าไร เราต้องทำการบ้านกันหนักมาก" ปัจจุบันภาครัฐได้พยายามสร้าง Bench mark ให้ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล จึงเป็นการช่วยให้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ง่ายขึ้น

นอกจากกระบวนการทำการบ้านข้างต้นของฝ่ายวาณิชธนกิจแล้ว Timing ยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการออกตราสารหนี้ด้วย หากออกในจังหวะไม่ดีก็ไม่สามารถออกได้ เนื่องจากตลาดตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซึ่งทวิชได้ยกตัวอย่างกรณี "หุ้นกู้ของปูนซิเมนต์ไทย" มูลค่า 10,000 ล้านบาท ที่ออกไปเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาว่า ในช่วงที่หุ้นกู้ของปูนใหญ่จะออกนั้น จะมีตราสารหนี้ล็อตใหญ่ของธนาคารพาณิชย์จ่อคิวรออยู่ ได้แก่ สลิปของธนาคารกรุงศรีอยุธยา มูลค่า 40,000 ล้านบาท แคปของธนาคารกรุงเทพ มูลค่าอีก 40,000 ล้าน และปูนใหญ่จะออกอีก 10,000 ล้าน มูลค่าเพียงเดือน เดียวมีตราสารหนี้ขนาดใหญ่เกือบแสนล้านออกมาขาย แล้วคนซื้อมีเงินพอหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องหมูแน่

แต่ทวิชและทีมงานได้ประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าจากประสบการณ์การออกสลิปของธนาคารกสิกรไทยว่า มูลค่า 40,000 ล้านบาทที่ออกมานั้น จำหน่ายให้แก่ผู้ฝากเงินของแบงก์สูงถึง 30,000 ล้านบาท ฉะนั้นธนาคารอื่นก็คงจะใช้วิธีเดียวกัน และหากเป็นเช่นนั้นก็จะเหลือมูลค่าหุ้นกู้ที่ออกมาขายในตลาดภายในเดือนนั้นประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเพียงพอกับเม็ดเงินของนักลงทุนที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งรวมถึงผู้ฝากเงินที่มีเงินซื้อตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปด้วย ทวิชและทีมงานจึงได้แนะนำกับปูนใหญ่ผู้เป็นลูกค้าว่าให้ลุยออกไปเลยอย่าลังเล เพราะตลาดเปลี่ยนเร็วมาก และพวกเขารับประกันว่าขายได้แน่ ในที่สุดปูนใหญ่สามารถระดมเงินได้ถึง 14,000 ล้านบาท เกินกว่ามูลค่าที่ต้องการออกจริง

"เราห่วงว่า ตลาดจะอิ่มตัวเร็วแค่ไหน และเราไม่สามารถบอกได้ว่า เดือนนี้คือเดือนดี เดือนนี้คือเดือนไม่ดี สิ่งที่เราแนะนำลูกค้าคือ ให้ลูกค้าเตรียมพร้อมไว้อยู่เสมอ ถ้าตลาดเปิดเราก็สามารถออกได้ทันที ถ้าตลาดปิดเราก็เก็บของรอ และปรับปรุงโครงสร้างใหม่ที่เหมาะสม แต่ถ้าลูกค้าบางรายไม่เตรียมการไว้ พอตลาดเปิดก็เข้าไม่ทัน ก็พลาดโอกาสอย่างน่าเสียดาย" ทวิชกล่าว ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ต้องผ่านกระบวนการทำการบ้านอย่างหนักมาแล้ว

สำหรับแผนและเป้าหมายในปีนี้ของฝ่ายวาณิชธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย ยังคงมุ่งเน้นที่การออกตราสารหนี้ ให้แก่ลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชนภาครัฐคือ การเข้าไปประมูลพันธบัตรของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจต่างๆ ส่วนภาคเอกชนก็ต้องพยายามสร้างผลงาน เพื่อดึงมาร์เก็ตแชร์ให้ได้มากที่สุด

"ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราทำงานได้ค่อนข้างดี ได้ปูนใหญ่มา 14,000 ล้านบาท เอ็กซิมแบงก์อีก 5,000 ล้านบาท แค่ 2 รายนี้ ก็เกือบ 20,000 ล้านแล้ว ไม่รวมรายเล็กๆ อีก ซึ่งถ้าเทียบกับหุ้นกู้เอกชนที่ออกมาในต้นปีมีทั้งหมดประมาณ 140,000 ล้านบาท แต่เป็นของธนาคารพาณิชย์ไปแล้วเกือบแสนล้าน เฉพาะที่เราทำ 2 ตัวก็เกือบ 20,000 ล้านบาท มาร์เก็ตแชร์ก็เกือบ 50% แล้ว" ทวิชชี้แจงอย่างภูมิใจกับผลงาน

ทั้งหมดนี้คือมุมมองวิถีคิดและกระบวนการทำงานของชายหนุ่มนาม ทวิช ธนะชานันท์ ลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นของตระกูลธนะชานันท์

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us