Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2542








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2542
ตะวันขึ้นที่ช่อง 3 ยุคทองของมาลีนนท์รุ่น 2             
 

   
related stories

6 ทายาท "มาลีนนท์"

   
www resources

โฮมเพจ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3

   
search resources

บีอีซี เวิลด์, บมจ.
สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อ.ส.ม.ท.
ประวิทย์ มาลีนนท์
วิชัย มาลีนนท์




ยี่สิบกว่าปีที่แล้ว วิชัย มาลีนนท์ ต้องต่อสู้อย่างหนักกับการรักษาช่อง 3 จากบริษัทที่เกือบเข้าขั้นล้มละลาย วันนี้ ช่อง 3 กลับถูกจัดชั้นให้เป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ภายใต้การบริหารงานของมาลีนนท์รุ่นที่ 2 เพียงเพราะวันนี้ช่อง 3 เรียนรู้ที่จะบริหารเงิน คู่กับบริหารรายการเท่านั้นหรือ !?

เรื่องโดย ไพเราะ เลิศวิราม

สิบกว่าปีที่แล้ว "ผู้จัดการรายเดือน" เคยนำเสนอเรื่องราวความเป็นไปของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวการต่อสู้อย่างหนักของวิชัย มาลีนนท์ ในการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 3

โทรทัศน์เป็นธุรกิจสัมปทานที่รัฐเป็นเจ้าของ ต้องอาศัยสายสัมพันธ์ของผู้มีอำนาจในแต่ละยุค การต่ออายุ สัญญาแต่ละครั้งต้องใช้เงินจำนวนมาก และเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยการลงทุนอย่างหนักในช่วงเริ่มต้น เพื่อใช้ขยายเครือข่ายการส่งสัญญาณให้ครอบ คลุมไปทั่วประเทศ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้วิชัยจึงต้องผ่านวิกฤติทางการเงินมาแล้วหลายครั้งหลายหน

ช่วงเริ่มก่อตั้งนี้เอง ที่ทำเอาบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ต้องเกือบล้มละลาย จากการที่วิชัยต้อง วิ่งหาเงินทุนมาสร้างช่อง 3 การล้มของเอเซียทรัสต์ ฐานที่มั่นทางการเงินของ ช่อง 3 ที่วิชัยเอาช่อง 3 ไปผูกเอาไว้ และจากการกู้ยืมเงินจากแบงก์กรุงเทพ มากกว่า 1,200 ล้านบาทเพื่อมาใช้ขยาย เครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตามข้อกำหนดในการต่ออายุสัมปทานครั้งที่ 3 ไปอีก 30 ปี เป็นเหตุให้ชาตรี โสภณพนิช ต้องเข้ามานั่งเป็นประธานของบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์

ปีนี้ช่อง 3 เพิ่งจัดงานครบรอบ 28 ปีที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทคไปไม่นาน และเป็นงานที่ช่อง 3 ต้องจัดเป็นประจำ ทุกปี และคงทำให้วิชัยมีโอกาสหวนนึก ถึงความหลังไปพร้อมๆ กับได้นั่งดูความ สำเร็จของช่อง 3 อย่างเงียบๆ ตาม สไตล์ของวิชัยที่ทำงานแบบ LOW PROFILE มาตั้งแต่ไหนแต่ไร

ในวัย 81 ปีของวิชัย ยังคงมาทำงานที่อาคารวานิชเกือบทุกวัน แต่ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการบริหารงานในช่อง 3 เหมือนกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพราะวิชัยได้ลูกๆ 6 คนที่ส่งไปเรียนต่อต่างประเทศกลับมาช่วยงาน และแบ่งหน้าที่กันไปบริหารตามถนัด

และนับได้ว่าเป็นช่วงที่ช่อง 3 ก้าวกระโดดไปไกลกว่าเดิมมากนัก ช่อง 3 ในวันนี้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ รายได้รวมของบีอีซีเวิลด์ ในปี 2541 ลดลง 18% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ผล กำไรสุทธิไตรมาสแรกของปี 2542 ยังลดต่ำกว่าไตรมาสเดียวกัน 133 ล้านบาท ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากยอดโฆษณา รวมของโทรทัศน์ลดลง

แต่ฐานะการเงินรวมของบริษัทก็ยังจัดว่าแข็งแกร่ง มีสินทรัพย์รวม 8,428 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในรูป ของเงินสด และเงินฝากสถาบันการเงิน

ในระหว่างที่คนอื่นๆ กำลังวิ่งวุ่นอยู่กับปัญหาหนี้สินหลังฟองสบู่ แต่ช่อง 3 และตระกูลมาลีนนท์ ถูกจัดอันดับอย่างไม่เป็นทางการว่าเป็นบริษัทที่ร่ำรวยที่สุดในเวลานี้ และยังอยู่ในฐานะของ "ผู้ซื้อ" อีกด้วย

ประวิทย์ มาลีนนท์ และผู้บริหารของบีอีซีเวิลด์ (มหาชน) มักต้องตอบคำถามว่า จะลงทุนในกิจการใดในช่วงกิจการดีราคาถูกขายอย่างเกลื่อนตลาด

จะว่าไปแล้ว ความสำเร็จของช่อง 3 ไม่ใช่เรื่องจะมองข้ามไปได้

ข้อแรก - ตระกูลมาลีนนท์เริ่ม รู้แล้วว่า การบริหารเงินอย่างถูกวิธีเป็น เรื่องสำคัญไม่แพ้การบริหารซอฟต์แวร์รายการ

ช่อง 3 เป็นสถานีโทรทัศน์ช่องเดียวในเวลานี้ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในนามของบริษัทบีอีซีเวิลด์ (มหาชน) จำกัด ทำให้ช่อง 3 ต้องเรียนรู้การบริหารเงินมากกว่าเดิม

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ในครั้ง นั้นก็กลายเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้ช่อง 3 สามารถลืมตาอ้าปากชั่วข้ามคืน

บีอีซีเวิลด์ มีเงินสดที่ระดมมาได้จากตลาดหลักทรัพย์หลายพันล้านบาท และเงินจำนวนนี้ถูกนำไปล้างหนี้สินที่ติดค้างอยู่กับธนาคารกรุง-เทพ และบริษัทในเครือ 1,200 ล้านบาท ซึ่งกู้ยืมมาเพื่อขยายเครือข่ายไปทั่วประเทศ

ช่อง 3 จึงกลายเป็นบริษัทปลอด หนี้เป็นครั้งแรก และไม่เพียงไม่เป็นหนี้สินเท่านั้น แต่ยังมีเงินสดเหลืออยู่ในบัญชีถึง 2,000 ล้านบาท และเงินจำนวนนี้ถูกเก็บใส่บัญชีธนาคารรวมกับ กำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นทุกปี จนเพิ่มเป็น 4,000 ล้านบาทในปี 2541 เฉพาะรายได้จากดอกเบี้ยอย่างเดียวปีละ 500 ล้านบาท

"เวลานั้นช่อง 3 เองก็ขยายเครือ ข่ายไปแล้วทั่วประเทศ ไม่มีภาระที่ต้องลงทุนหนักๆ อีก ต้องถือว่าเป็นช่วงที่ดีมากๆ ของช่อง 3" ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร แอสเซท พลัส กล่าว

จะว่าไปแล้ว งานนี้ผู้ที่มีบทบาท อย่างมาก ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับ ดร.ก้องเกียรติ เป็นที่ปรึกษาในการนำบริษัทบีอีซีเวิลด์ จดทะเบียน และยังคงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการเงินที่วิชัย ให้ความไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่งจนถึงทุกวันนี้

ทฤษฎีว่าด้วยการลงทุนในธุรกิจของดร.ก้องเกียรติ ก็คือการให้ธุรกิจเหล่านี้จะต้องโฟกัสธุรกิจหลักที่ตัวเองถนัดเท่านั้น ต้องไม่ขยายการลงทุนแบบไร้ทิศทาง เพราะจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินรวม ถึงการตัดสินใจของนักลงทุน

กลุ่มชินวัตร เป็นอีกหนึ่งในลูกค้าของแอสเซส พลัส ดร.ทักษิณ ชินวัตร เคยใช้บริการของดร.ก้องเกียรติ อยู่บ่อยๆ ดีลสำคัญๆ ของกลุ่มชินวัตร ผ่านมือของแอสเซท พลัสมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับไอบีซีในการรวมกิจการกับยูบีซี

จะเห็นได้ว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ชินวัตรจะมุ่งเน้นสร้างความชัดเจนในการลงทุนธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับโครงสร้างล่าสุด ชิน-วัตรจะเป็นโฮลดิ้งคอมปานีทำหน้าที่ลงทุนอย่างเดียว ส่วนเอไอเอสจะมุ่งไปที่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ชินวัตรแซทเทิ่ล ไลท์ จะทำเฉพาะธุรกิจดาวเทียมไทยคม

วิชัย มีลูกถึง 6 คน การขยาย ธุรกิจเป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจครอบ ครัว ที่จะมองหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

ประชา มาลีนนท์ ลูกชายคนที่สาม เป็นผู้มีส่วนอย่างมากในการลง ทุนธุรกิจใหม่ของช่อง 3 ทั้งที่เป็นการลงทุนของบีอีซีเวิลด์ และของตระกูลมาลีนนท์

ประวิทย์บอกว่า ช่อง 3 โชคดีที่ไม่มีการขยายงานบุ่มบ่าม ไม่ได้จับธุรกิจหลายๆ เรื่องพร้อมกัน การลงทุนของช่อง 3 ในแต่ละปีจะตกประมาณ 800 ล้านบาท ไม่เกินพันล้าน ทำให้ช่อง 3 มีกำไรสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี

"จุดแข็งของช่อง 3 คือ การมีเงินในบัญชี 4 พันล้าน เพราะเป็นเงินที่ระดมทุนมาจากตลาดหลักทรัพย์ และกำไรสะสมของบริษัท ก็ถือว่าเป็นโชค ที่เงินจำนวนนี้ก็ยังไม่ได้ถูกใช้" ฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินกล่าว

พูดง่ายๆ ก็คือ แม้ว่าช่อง 3 จะ มีเงินเหลือจากการระดมทุนในตลาด หลักทรัพย์ แต่หากช่อง 3 ไม่ระมัด ระวังการใช้เงิน เอาเงินไปขยายลงทุนแบบไม่ลืมหูลืมตาเหมือนกับหลายบริษัท ที่อาจต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ ในเวลานี้

4-5 ปีที่แล้ว ช่อง 3 เคยเข้าร่วมประมูลโครงการทีวีเสรี ระบบยูเอชเอฟแต่ไม่ได้รับเลือก และในยุคที่แสงชัย สุนทรวัฒน์ นั่งเป็นผู้อำนวย การอ.ส.ม.ท. เรียกว่าเป็นยุคผ่าตัดอ.ส.ม.ท.ในช่วงนั้นเองช่อง 3 ได้คิดขยับขยายธุรกิจด้านบรอดคาสติ้งออกไปอย่างมาก

ช่อง 3 ได้ยื่นขอสัมปทานโครงการสำคัญๆ กับอ.ส.ม.ท.และได้มาถึง 3 โครงการ คือ เคเบิลทีวี โครงการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และบริการอัพ ลิงค์-ดาวลิงค์สัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม

แต่จนถึงวันนี้ทั้ง 3 โครงการยักษ์ใหญ่นี้ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น

และนับว่าโชคของช่อง 3 ที่ตัด สินใจระงับการลงทุนในธุรกิจเคเบิลทีวี หลังจากส่งเรื่องไปให้แอสเซท พลัสศึกษาผลดีผลเสียของโครงการ และคำตอบที่ได้คือ ให้ยกเลิกโครงการนี้เสีย

"เราตัดสินใจ ยอมเสียค่าปรับไป 20 กว่าล้านคืนสัมปทานให้อ.ส.ม.ท. เพราะเวลานั้น หากจะทำก็ต้องลงทุนด้านเครือข่าย และในช่วงนั้นทุก อย่างมันปิดหมด ดาวเทียมก็ยิงไม่ได้เคเบิลใยแก้วก็วางไม่ได้ ระบบ MMDS ก็ไม่มีคลื่นความถี่ให้ และถึงมี เราก็ไม่พร้อมที่จะลงทุนเครือข่ายเองเพราะ ลงทุนแล้วก็ไม่คุ้ม"

เป็นเรื่องที่ประวิทย์ และผู้บริหารของช่อง 3 ยังออกมาเล่าให้ "ผู้สื่อข่าว" ฟังกันอยู่บ่อยๆ เพราะหากช่อง 3 ไม่ตัดสินใจคืนสัมปทานไปเสีย ยังไม่รู้ว่าช่อง 3 จะตกอยู่ในสภาพไหน

เพราะปัญหาขาดทุนของไอบีซี และยูทีวี จนต้องรวมกิจการกัน และกลุ่มชินวัตรตัดสินใจถอนตัวจากธุรกิจ นี้ไปในที่สุด

และเป็นโชคอีกเหมือนกันที่ โครงการที่เหลืออีก 2 โครงการยังไม่คืบ หน้าหลังการตายของ แสงชัย สุนทร-วัฒน์ และล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้ยื่นครม.ให้ยกเลิกโครงการอัพลิงค์-ดาวน์ลิงค์แล้ว

ช่อง 3 ไม่มีนโยบายสร้างอาคาร สำนักงานใหญ่ ยกเว้นสถานีห้องส่งที่หนองแขมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ทำไว้กับอ.ส.ม.ท.ที่ช่อง 3 จะต้องสร้าง ขึ้นและส่งมอบให้เป็นทรัพย์สินของ อ.ส.ม.ท.ที่ผ่านมาช่อง 3 เช่าใช้อาคารวานิชริมถนนเพชรบุรีตัดใหม่ใช้เป็นสำนักงานใหญ่มาตลอด จนคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าอาคารแห่งนี้มีช่อง 3 เป็น เจ้าของ

"ตอนแรกช่อง 3 ก็คิดว่าจะสร้างอาคารสำนักงานของตัวเองเพราะ มีที่ดินอยู่บนถนนพระราม 9 เป็นของตระกูลมาลีนนท์ที่ซื้อไว้นานแล้ว แต่คณะกรรมการของบริษัทตัดสินใจเด็ดขาดมาตั้งแต่ปี 2539 แล้วว่า จะไม่ลงทุนอาคารด้วยบริษัทบีอีซีเวิลด์ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของบริษัท แต่จะเป็น การลงทุนของตระกูลมาลีนนท์เอง ซึ่งเราจะทำไปช้าๆ ตามภาวะเศรษฐกิจ" ฉัตรชัย เทียมทอง เล่า

เป็นเรื่องที่ดร.ก้องเกียรติ ก็ให้ความเห็นไว้ว่า ช่อง 3 ไม่มีความจำเป็นต้องสร้างอาคารสำนักงานเพราะ ไม่ได้ส่งผลในเรื่องรายได้ให้กับบีอีซีเวิลด์ เพราะมูลค่าของธุรกิจโทรทัศน์ไม่ได้อยู่ที่ อาคาร แต่อยู่ที่ซอฟต์แวร์รายการ การ ลงทุนสร้างอาคารจะกลับเป็น การสร้างภาระในเรื่องการลงทุนให้กับบีอีซีเวิลด์ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อโครงสร้างการเงินของ บริษัท และอาจส่งผลต่อราคาหุ้นในอนาคต

ในระหว่างที่อาคารสำนักงานแห่ง ใหม่ของตระกูลมาลีนนท์ ต้องใช้เงินลงทุน 1,500 ล้านบาท ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 15 ไร่ ริมถนนพระราม 9 ที่ตระกูลมาลีนนท์ซื้อทิ้งเอาไว้ยังสร้างไม่เสร็จ ช่อง 3 จะย้ายไปยังสำนักงานแห่งใหม่อาคาร ของห้างสรรพสินค้าเอ็มโพเรี่ยมถนนสุขุมวิทแทน เพราะสัญญาที่ช่อง 3 ทำไว้กับอาคารวานิชจะหมดลงในเดือน กรกฎาคม

เงื่อนไขของ ช่อง 3 จะเลือกลงทุนในธุรกิจที่ "ซินเนอยี" หรือเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจเดิมเท่านั้น และนี่คือที่มาของการที่บีอีซีเวิลด์ ไปซื้อหุ้น 20% ในซีวีดี จากนั้นก็ซื้อหุ้นจากบริษัท เทโร ผู้ประกอบธุรกิจจัดคอนเสิร์ต

"ช่อง 3 เรามีรายการอยู่แล้ว ก็ เอารายการไปอัดใส่วิดีโอป้อนให้กับ ซีวีดีไปเช่า หรือขาย ส่วนร้านซีวีดี ช่อง 3 จะนำไปโฆษณาผ่านทีวีให้ ส่วนเทโร ที่เราไปลงทุนเพราะเราอยาก ได้รายการกีฬา ไปเป็นสปอนเซอร์ให้ทีมฟุตบอล"

แต่ดูเหมือนจังหวะการลงทุนของช่อง 3 จะไม่ดีนัก เพราะปีที่แล้วซีวีดีต้องเจอปัญหาขาดทุนไป 224 ล้านบาทจากหนี้เสีย และสินค้าค้างสต็อก หลังจากตัดหนี้เสียและสินค้าค้างสต็อกในปีที่แล้วไปหมดแล้ว ก็คาดว่าผลประกอบการในปีนี้จะดีขึ้น

นอกจากนี้ช่อง 3 ยังไปลงทุนในเทโรเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ทำธุรกิจจัดคอนเสิร์ต และเพลง ที่ยังไม่เห็นผลในเรื่องของรายได้ รวมทั้งสร้างภาพยนตร์เป็นเรื่องแรกในปีที่แล้ว ที่แม้ว่าช่อง 3 จะยืนยันในเรื่องรายได้ แต่ คนในวงการทีวีกลับมองว่า งานนี้ช่อง 3 ไม่คุ้มเท่าที่ควร

และแม้ว่าจะเจ็บตัวจากธุรกิจเหล่านี้บ้าง แต่ก็ยังถือว่า ไม่เจ็บหนักหากตัดสินใจลงทุนโครงการใหญ่ๆ อย่างเคเบิลทีวี

"เรายังคงสนใจจะลงทุนในธุรกิจ บรอดคาสติ้ง และในส่วนของเอ็นเตอร์ เทนเม้นท์ เราเชื่อว่า เรามีศักยภาพดีกว่าคนอื่น แต่ว่าไม่มีความจำเป็นต้อง รีบร้อนทำเวลานี้ อย่างเคเบิลทีวี แนวโน้มธุรกิจเหล่านี้ต้องมา แต่จะช้าจะเร็วเท่านั้น เราไม่จำเป็นต้องรีบ ไม่เหมือนกับทีวี ที่เราเห็นช่อง 7 ได้ประโยชน์อย่างมาก จากการที่เขาเริ่มก่อน แต่เคเบิลทีวีมันไม่มีประโยชน์ เราลงทุนแน่ แต่ต้องรอจังหวะ" ฉัตรชัย กล่าวไว้อย่างชัดเจน เมื่อถูกถามถึงการลงทุนใหม่ๆ

ที่สำคัญ ฉัตรชัย ย้ำว่า การลงทุนของช่อง 3 ไม่ใช่จะมีเฉพาะ M & A (MERGER AND ACQUISITIONS) เหมือนอย่างที่ทุกคนอยากจะเห็น

ข้อสอง - การเป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด

ด้วยโครงสร้างธุรกิจโทรทัศน์ของเมืองไทยเป็นธุรกิจสัมปทานกึ่งผูกขาด จะเป็นส่วนเอื้ออำนวยให้กับช่อง 3 ได้ไม่น้อย

ในไทยมีสถานีโทรทัศน์ทั้งหมด 6 ช่อง คือ 3, 5, 7, 9, 11 และไอทีวี จะว่าไปแล้วตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมามีเพียงช่อง 3 และช่อง 7 เท่านั้นที่บริหารงานโดยเอกชน และการได้สัมปทานมาของช่อง 7 และช่อง 3 ก็ล้วนเกิดมาจากสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในยุคที่ เมืองไทยยังปกครองโดยทหารที่เกิดขึ้นมานานแล้ว

ไอทีวี จึงเป็นสถานีโทรทัศน์เกิดใหม่เพียงแห่งเดียวในรอบ 30 ปีที่ ได้รับสัมปทานจากสำนักนายกรัฐมนตรี

ด้วยความที่เป็นธุรกิจกึ่งผูกขาด นี้เอง ที่วิชัยยอมกัดฟันสู้ และยอมตัดทิ้งธุรกิจอื่นๆ หันมาโฟกัสที่ธุรกิจโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว เพราะเขารู้ดีว่า เมื่อผ่านพ้นการลงทุนอย่างหนักในช่วง แรกๆ ที่ต้องติดตั้งสถานีเพื่อให้รับชมได้ทั่วประเทศได้แล้ว ช่วงที่เหลือก็คือ การเก็บเกี่ยวรายได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

อันที่จริงแล้ว ธุรกิจโทรทัศน์และโทรศัพท์มือถือไม่แตกต่างกันนัก ทั้งในรูปแบบของการลงทุน และการเป็นสัมปทานกึ่งผูกขาด ทำให้มีเอกชน เพียง 2 รายเท่านั้นที่มีบทบาทอย่างมาก ในตลาด

เช่นเดียวกับ ธุรกิจโทรทัศน์ ด้วยความคล่องตัวของการบริหารงาน และการทำแผนการตลาด ยอดบิลลิ่งโฆษณาทีวีส่วนใหญ่จะเป็นของช่อง 7 ตามมาด้วยช่อง 3

ข้อสาม - สู้ที่ซอฟต์แวร์รายการ

การมาช้ากว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ทำให้ช่อง 3 ต้องเสียเปรียบช่อง 7 ในหลายๆ เรื่อง

"เริ่มตั้งแต่หน่วยงานต้นสังกัดที่ให้สัมปทาน ข้อได้เปรียบของช่อง 7 ก็คือ การเป็นสถานีโทรทัศน์ของทหาร ทำให้ช่อง 7 เลือกไปตั้งเสาอากาศถ่ายทอดสัญญาณบนยอดเขา ซึ่งมันมีผลต่อสัญญาณที่ส่งไป เพราะยิ่งตั้งเสาได้สูง หรืออยู่บนยอดเขา จะทำให้สัญญาณที่ส่งออกไปชัดเจนมากขึ้น" แหล่งข่าว เล่า

ช่อง 7 ก็อาศัยกลยุทธ์ทางด้านเครือข่ายมาสร้างความได้เปรียบทางการตลาดให้เหนือกว่าคู่แข่ง ด้วยการสร้างเครือข่ายให้บริการครอบคลุมไปทั่วประเทศ และป้อนด้วยรายการให้ครอบคลุมคนดูในระดับกว้างในต่างจังหวัดทั่วประเทศ

ช่อง 3 ไม่เพียงแต่มีเครือข่ายที่น้อยกว่าช่อง 7 คลื่นความถี่ที่ได้รับมาเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่สุดในสถานีโทรทัศน์ทั้งหมด ซึ่งทำให้สัญญาณที่ส่งออกไปไม่ชัดเจน เป็นสิ่งที่ช่อง 3 ต้องแก้ปัญหากันมาหลายปี

แต่ทันทีเมื่อช่อง 3 จัดการแก้ปัญหาเหล่านี้ ด้วยการเร่งสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และแก้ปัญหาในเรื่องความชัดเจนของสัญญาณ รวมทั้งความพร้อมในเรื่องของเงินทุนจากที่เคยจับแต่ตลาดชั้นกลางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่อง 3 ก็หัน มาเปิดแนวรบกับช่อง 7 ที่ครองแชมป์ เรตติ้งคนดูอย่างจริงจัง

ประวิทย์ และผู้บริหารของช่อง 3 รู้ดีว่าธุรกิจโทรทัศน์ต้องแข่งขันกันด้วยซอฟต์แวร์รายการ ไม่ใช่เครือข่ายเหมือนในอดีตแล้ว

ช่อง 3 ใช้เงินลงทุนในธุรกิจปีละ 800 ล้านบาท เป็นค่าซอฟต์แวร์รายการถึง 600 ล้านบาท ปรับปรุงเครือข่าย 200 ล้านบาท

นี่คือสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้น้ำหนักกับการสร้างซอฟต์ แวร์รายการที่จะเป็นหัวใจสำคัญ ของการแพ้ชนะในการแข่งขันระหว่างสถานีโทรทัศน์ด้วยกัน

ในขณะที่ช่อง 7 จะผูกขาดอยู่กับดาราวีดีโอ และกันตนา เป็นเจ้าประจำผูกขาดการผลิตละครป้อนให้ แต่ช่อง 3 กลับใช้วิธีเปิดกว้าง ให้มีผู้จัดละคร และผู้กำกับหลากหลาย เพราะสิ่งที่จะได้ตามมาในอนาคต ก็คือ ช่อง 3 จะมีซอฟต์แวร์รายการให้เลือกหลากหลาย

ช่อง 3 สร้างแรงจูงใจ ไม่ใช้ระบบขายเวลาให้ผู้จัด แต่ใช้วิธีแบ่งรายได้จากโฆษณา หรือเรียกว่าระบบ ไทม์แชริ่ง เพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้ผู้จัดที่มีไอเดียดีแต่ไม่มีเงินทุน วิธีนี้จะไม่เห็นผลในระยะสั้น เพราะช่อง 3 จะไม่มีรายได้จากค่าเช่าที่เป็นรายได้ตายตัว แต่วิธีนี้จะส่งผลในระยะยาว เพราะ นี่คืออาวุธสำคัญที่ทำให้ช่อง 3 มี ซอฟต์แวร์รายการดีๆ และหลากหลาย เอาไว้ต่อกรกับช่องอื่นๆ

"เราสร้างพันธมิตรมาตลอด เราให้โอกาสคน เราสร้างคน อันนี้เป็น จุดแข็งที่สำคัญที่ทุกคนยอมรับ" ฉัตรชัย เทียมทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน สะท้อนความเห็น

และนี่เอง คือ ยุทธวิธีที่ทำให้ช่อง 3 ใช้ความหลากหลายของซอฟต์ แวร์ละครจากผู้จัดมากหน้าหลายตาในการเปิดศึกในช่วงไพรม์ไทม์กับ ช่อง 7 ที่เคยครองแชมป์ตลอดกาล จนทำให้เรตติ้งของช่อง 3 สามารถสูสีกับช่อง 7 ได้

ในบางครั้งการสร้างพันธมิตรของช่อง 3 ก็ต้องรอคอยอย่างอดทน เช่น รายการกีฬา ที่ยังเป็นจุดอ่อนของช่อง 3 ที่ยังไม่สามารถเอาชนะช่อง 7 โดยเฉพาะในเรื่องฟุตบอล ซึ่ง ประวิทย์ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่คนดูต้อง การ และช่อง 3 ยังขาดอยู่ ซึ่งช่อง 3 ก็ใช้วิธีสนับสนุนทีมฟุตบอลของไทย ตั้งแต่ช่วงแรกๆ เพื่อหวังว่า ในระยะยาวจะเก็บเกี่ยวจากประโยชน์จากการรอคอยอย่างอดทนนี้

ทุกๆ ปี ประวิทย์ และทีมผู้บริหารของช่อง 3 จะเดินทางไปดูเครือข่ายทุกจังหวัด แบ่งออกเป็นภาคๆ พร้อมกับสำรวจตลาดคนดูไปในตัว

"ช่อง 3 เราได้ชื่อว่า ปรับผังรายการบ่อยมาก เราปรับกันทุกๆ 3 เดือน และจะปรับใหญ่ทุกๆ เดือนกรกฎาคมของทุกปี" ประวิทย์กล่าว

ช่อง 3 ให้ความสำคัญกับการปรับผังรายการให้สอดคล้องกับคนดูมาก ผังรายการของช่อง 3 จึงมีความยืดหยุ่นอย่างมาก และเมื่อเร็วๆ นี้ช่อง 3 นำการเซ็นสัญญากับผู้จัดรายการมาใช้เป็นครั้งแรก หลังจากใช้สัญญาใจมานาน และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงช่อง 3 ก็โดนข้อครหาว่าถอดรายการไปโดยไม่บอกล่วงหน้า

แต่การเปิดศึกของช่อง 3 บวก กับวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ทำให้ช่อง 7 หัน มาปรับปรุงตัวเองในหลายๆ ด้านด้วย การเปิดให้มีผู้จัดละครหน้าใหม่ เอาระบบไทม์แชร์ริ่งมาใช้เป็นครั้งแรก

จะเห็นได้ว่า รูปแบบรายการของช่อง 3 และช่อง 7 ในช่วงไพรม์ ไทม์ไม่ได้แตกต่างกัน คือตั้งแต่หลังข่าวภาคค่ำ ไปจนถึง 5 ทุ่ม เริ่มด้วยละครหลังข่าว ที่ขยายไปกลุ่มคนดูระดับ MASS มากขึ้น และตามด้วยรายการเกมส์โชว์ไปจนถึง 5 ทุ่ม และนี่เองที่ทั้งสองช่องต่างก็ผลัดกันรุกผลัดกันรับมาตลอด

ประวิทย์ ก็พูดเสมอว่า การผลิตละครของช่อง 3 เวลานี้ ก็เหมือน กับการวางตลาดสินค้าใหม่ๆ ที่ต้องทำอยู่ตลอดเวลา ทุกๆ 2 เดือน

"เวลานี้เราสร้างเวลาขึ้นมาได้แล้ว เพียงแต่ซอฟต์แวร์เราใส่แต่ละวันแข็งพอหรือเปล่า ภาพรวมเวลานี้ไปได้ อย่าง ละคร ทุก 2 เดือนเปลี่ยนครั้งหนึ่ง การตอบสนองจากคนดูจะเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา บางเรื่องก็ดีบางเรื่องก็ไม่ดี คนดูจะสวิงมากเลย อย่างเกมส์โชว์ เรตติ้งไม่มีใครครอง อยู่ที่แขกรับเชิญ อยู่ที่ความน่าสนใจของแต่ละวัน มันไม่เหมือนเมื่อก่อน เป็นแชมป์ขึ้นคาน" ประวิทย์ กล่าว

วิกฤติเศรษฐกิจนี้ ช่อง 3 ต้อง เรียนรู้มากขึ้นก็คือ การต้องหารายได้อื่นๆ มาทดแทนในส่วนรายได้ที่หดหาย ไป จากภาวะตลาดโฆษณาที่หายไป รวมทั้งดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง

รายได้รวมในแต่ละปีของบีอีซีเวิลด์ มาจากโฆษณาทีวี 95-98% ซึ่งในปี 2541 ยอดรายได้รวมโฆษณาทีวีลดลงถึง 30% เป็นสัญญาณอันตรายที่ผู้บริหารช่อง 3 ตระหนักดี

วิธีการแก้ปัญหาของช่อง 3 ก็คือ การยืดเวลาละครหลังข่าวภาคค่ำ ซึ่งเป็นช่วงไพรม์ไทม์ออกไปอีก 15 นาที จะทำให้มีเวลาโฆษณาเพิ่มขึ้นอีก 3 นาที นั่นก็หมายความว่าช่อง 3 จะมีเงินรายได้เพิ่มขึ้น 300 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 10% ของรายได้รวม

นอกจากนี้ช่อง 3 ต้องหันมาใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์รายการที่มีอยู่ในมือให้มากขึ้น

"นี่คือ โอกาสที่เราจะทำรายได้เพิ่มจากสิ่งที่เรามีอยู่ในมือของเราเอง" ปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัทยูแอนด์ไอ สะท้อน

ปราโมทย์ เป็นผู้บริหารที่ใกล้ชิดกับประชามากที่สุดคนหนึ่ง เขารับหน้าที่ในการดูแลธุรกิจใหม่ๆ ของช่อง 3 นอกเหนือจากธุรกิจวิทยุ เขาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการทีวีบี 3 เน็ทเวิร์ค เป็น การร่วมทุนของช่อง 3 กับทีวีบีแห่งฮ่อง-กง พันธมิตรเก่าแก่ของช่อง 3 เพื่อผลิตและจัดหารายการป้อนให้กับเครือข่ายโทรทัศน์ เคเบิลทีวี ในไทยและประเทศอื่นๆ

ทีวีบี 3 เน็ทเวิร์ค ซึ่งเป็นแหล่ง ผลิตซอฟต์แวร์ที่สำคัญ เมื่อบวกรวมกับซอฟต์แวร์รายการของช่อง 3 เอง ที่ผลิตไว้แต่ยังไม่ได้แพร่ภาพ รวมทั้งที่แพร่ภาพไปแล้ว รวมทั้งหมดประมาณ 3,000 ชั่วโมง ที่พร้อมจะขายให้กับยูบีซีเคเบิลทีวี

ปราโมทย์บอกว่า หากประเมิน ตามราคาตลาดทั่วไปแล้ว ซอฟต์แวร์เหล่านี้จะมีราคาชั่วโมงละ 500-1,000 เหรียญสหรัฐ นั่นก็หมายความว่าช่อง 3 มีซอฟต์แวร์ในมือ มีมูลค่า 1.5 ล้าน เหรียญสหรัฐ-3 ล้านเหรียญสหรัฐ

สิ่งที่ช่อง 3 ทำก็คือ ใช้ซอฟต์ แวร์ที่มีอยู่เหล่านี้ขายรายการเหล่านี้ป้อนให้กับยูบีซีทั้ง 1 ช่องรายการ

"เราเสนอเขาว่า จะขอทำเป็นช่องของเราเลย จะมีทั้งละคร หนังไทย และหนังจีน ที่เราได้ลิขสิทธิ์มา แต่ก็อยู่ระหว่างเจรจา ว่าจะแบ่งผลประโยชน์ กันยังไง และเขาก็ต้องไปคิดว่าเขาจะทำหรือไม่ เพราะเขาต้องลงทุนใหม่" ปราโมทย์เล่า

วันนี้ช่อง 3 เรียนรู้แล้วว่า บางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องมีเครือข่าย แต่ก็สามารถเป็นส่วนร่วมในธุรกิจเคเบิลทีวีนี้ได้

นี่คือ ส่วนหนึ่งของการเรียนรู้แก้ปัญหาเรื่องรายได้ภายใต้วิกฤติการณ์ เศรษฐกิจของช่อง 3

อนาคตข้างหน้าก็คือ การเป็นผู้นำในธุรกิจทีวีอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้ว่าเวลานี้เรตติ้งจะยังเป็นรองช่อง 7

"เรายังมีเวลาเก็บเกี่ยวอีกยาวไกล แม้ว่าเรายังไม่สามารถเป็นนัมเบอร์ วันในเวลานี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าในอนาคตเราจะไปถึงจุดนั้นไม่ได้ ช่อง 3 ทำทุกอย่างไม่ได้หวังผลระยะสั้น แต่เรามองไกล"

เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ อนาคต

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us