หากกล่าวถึงบริษัทข้ามชาติที่รุก คืบเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยโดยถือโอกาสวิกฤติเศรษฐกิจเป็นบันไดไต่เต้าให้เจริญรุ่งเรือง
ที่คุ้นหูกันมาก คือ โกลด์แมน แซกส์ และเยนเนอรัล อิเลคทริค(จีอี) โดย ในสายตาคนไทยสำหรับสองยักษ์ใหญ่
คือการพยายามครอบงำกิจการ ที่ได้รับบาดเจ็บจากพิษเศรษฐกิจแต่ มีอนาคตในระยะยาว
ซึ่งฝ่ายโกลด์ แมนแซกส์ บริษัทวาณิชธนกิจแห่งนี้จะมุ่งเน้นในสิ่งที่คิดว่าเป็นชิ้นส่วนที่ขาดหายไป
ก็คือ การเพิ่มประสิทธิ ภาพให้แก่ภาคการจัดการสินทรัพย์และสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตนเอง
สังเกตได้จากการเข้าร่วมประมูลสินทรัพย์จาก ปรส. ที่โกลด์แมน แซกส์ ได้สัดส่วนไปชนิดที่คู่แข่งกระทำได้เพียงแค่ความอิจฉา
ขณะที่ จีอี รุกคืบในลักษณะลงทุนโดยตรงมากกว่าจากที่เคยเป็นผู้นำเข้ากลายมาเป็นผู้ผลิต
มรดกทางประวัติศาสตร์ของจีอี มีจุดเริ่มต้นย้อนหลังไปถึงสมัยโทมัส เอ.
เอดิสัน ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ และผลิตกระแสไฟฟ้าในทศวรรษ 1870 และ 1880 ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท
เอดิสัน อิเลคทริค ในปี 2421 ต่อมาปี 2435 ได้ มีการรวมกิจการบริษัท เอดิสัน
อิเลคทริค กับบริษัททอม สัน-ฮุสตัน อิเลคทริคเข้าด้วยกัน และกลายมาเป็นบริษัทเยนเนอรัล
อิเลคทริค(จีอี) ในปัจจุบันที่เจริญรุ่งเรืองมาอย่าง ต่อเนื่อง และขยายการลงทุนไปมากกว่า
100 ประเทศทั่วโลก มีธุรกิจอยู่ในมือ 12 ธุรกิจ ล่าสุดปี 2541 สร้างรายได้
100,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3,768,750 ล้านบาท โดย 43% ของรายได้รวมหรือ
42,800 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นรายได้จากการลงทุนนอกสหรัฐอเมริกา
ยุทธศาสตร์การเติบโตของจีอีโดยการขยายกิจการทั่วโลก เน้นขยายฐานธุรกิจของบริษัทในเอเชีย
กระจายฐานผลิตสินค้าและชิ้นส่วนประกอบออกไปทั่วโลก และกระจายการสรรหาบุคลากรที่มีคุณภาพออกไปทั่วโลก
เพื่อผลักดันธุรกิจของตัวเองเข้าสู่สหัสวรรษที่ 3 ซึ่งแนวทางเหล่านี้ไม่เกินความเป็นจริงที่จีอีจะไขว่คว้าและตอกย้ำคำกล่าว
ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของจีอี จอห์น เอฟ. เวลช์ "เราอยากจะให้คุณภาพเป็นสิ่งพิเศษ
มีคุณค่าต่อลูกค้าและสำคัญต่อความสำเร็จของลูกค้า จนกระทั่งผลิตภัณฑ์ของเรากลายเป็นทางเลือกเดียวที่มีคุณค่าอย่างแท้จริงของพวกเขา"
การรุกคืบของจีอีในเอเชียโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจังมาเป็นเวลากว่า
10 ปีแล้ว โดยในปี 2541 สามารถสร้างรายได้ให้บริษัทแม่มากกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
มีโรงงานผลิตและศูนย์บริการกระจายอยู่ 15 แห่งทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยกลยุทธ์ที่จีอีนำมาใช้ในการขยายธุรกิจ คือ ความเชื่อในการแสวงหาพันธมิตรในช่วงวิกฤติทางเศรษฐกิจ
เห็นได้จากในช่วงต้นทศวรรษ 1990 จีอีเข้าไปลงทุนในยุโรป เริ่มจากยอดขายเพียง
6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไม่ถึง 10 ปีต่อมายอดขายเติบโตขึ้นเป็น 25,000
ล้านเหรียญสหรัฐ หรือช่วงกลางทศวรรษ 1990 ประเทศเม็กซิโกกำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
หลายบริษัทตัดสินใจระงับหรือลดขนาดการลงทุน แต่จีอีประกาศเร่งลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ผลที่ออกมา คือ กอบโกยผลกำไรอย่างงามเมื่อเศรษฐกิจเม็กซิโกฟื้น
ในภูมิภาคเอเชียนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐ
กิจจีอีได้ทำสัญญากับคู่ค้าในธุรกิจประกันชีวิต หัวรถจักร และอี-คอมเมิร์ซ
ในฟิลิปปินส์ ทำสัญญาธุรกิจบัตรเครดิตและบริการซ่อมบำรุงฝูงบินในออสเตรเลีย
สัญญาจัดหาคอมเพรสเซอร์ในจีน ให้เช่าเครื่องบินในมาเลเซีย หรือช่วงปลายปีที่ผ่านมาจีอีทำสัญญาซื้อกิจการในญี่ปุ่น
15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในช่วงปี 2541 จีอี ซื้อกิจการบริษัทอื่นจำนวน
108 บริษัท ใช้เงินลงทุนประมาณ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และการลงทุนส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จ
มีเพียง 2-3 กิจการเท่านั้นที่การดำเนินการต่ำกว่าความคาดหวัง ยุทธศาสตร์เหล่านี้จีอีเชื่อมั่นใน
"การลงทุนเพื่ออนาคต"
สำหรับประเทศไทยจีอีเข้ามาสัมผัสกับชีวิตของคนไทยนับล้านทั้งทางตรง และทางอ้อมในทศวรรษ
1960 เริ่มจากทำหน้าที่ดูแลด้านการขายและบริการเครื่องยนต์อากาศยานและหัวรถจักร
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของจีอีในประเทศไทยมีตั้งแต่ "ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ" เพราะไม่เพียงแต่จีอีจะขยายธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น
โครงการระดับกลางและเล็กก็ ให้ความสำคัญ ล่าสุดได้สร้างโรงงานผลิตเม็ดเทอร์โมพลาสติกวิศวกรรม
มูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ (750 ล้าน บาท) ด้วยกำลังการผลิต 30,000 เมตริกตันต่อปี
เริ่มผลิตในกลางปี 2543 โดยให้บริษัทในเครือ คือ จีอี พลาสติกส์ เป็นผู้ดำเนินการหลังจาก
20 ปีที่ผ่านมา เป็นเพียงบริษัทจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกเท่านั้น และการตัดสินใจสร้างโรงงานครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของจีอี
พลาสติกส์ เพราะประมาณ 3 ปีที่แล้วเคยมีแผนสร้างโรงงานผลิตผงพลาสติกแต่ได้ระงับโครงการไปชั่วคราว
"การตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกแห่งใหม่ขึ้นในไทยถือว่าสอดคล้องกับ นโยบายสนับสนุนกลยุทธ์การเติบโตระดับโลกของบริษัท
และเป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าสอดคล้องกับ ความมุ่งมั่นของไทยที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
และทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกที่ได้รับแรงผลักดันจากเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำนำหน้า
แม้ว่าจะเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้นในเอเชีย แต่จีอียังคงเชื่อมั่นในอนาคตของไทย
ทั้งนี้นโยบายเศรษฐกิจเสรีที่เปิดกว้างของรัฐบาลไทย และการสนับสนุนของบีโอไอมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ต่อการตัดสินใจลงทุนในไทย" ชิพ ฮิลส์ กรรมการผู้จัดการจีอี พลาสติกส์ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กล่าว
เหตุผลที่จีอี พลาสติกส์ตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานแห่งนี้ในไทยเนื่องจากเป็นบริษัทที่ลงทุน
เพื่ออนาคตลูกค้าในประเทศได้ช่วยให้ธุรกิจของจีอีเติบโตขึ้นในอัตราเฉลี่ยมากกว่า
20% ต่อปีมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และใน ปี 2541 จีอี พลาสติกส์มียอดขายในไทยประมาณ
1,575 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตพวกเขาคาดหมายว่าบริษัท ยังคงเติบโตในอัตราไม่ต่ำกว่าตัวเลข
2 หลักไปอีกหลายปีข้างหน้า
"ความสำเร็จของจีอี พลา-สติกส์ในไทยเป็นผลมาจากกลยุทธ์การทำงานใกล้ชิด
กับลูกค้าเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกให้ได้ตามความต้อง การของลูกค้า โรงงานแห่งนี้จะช่วยให้เราสามารถลดเวลาส่งมอบผลิต
ภัณฑ์แก่ลูกค้าให้สั้นลง และทำให้สามารถตอบสนองต่อลูกค้าได้ทันท่วงที เพื่อเผชิญกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นโดยไม่คาดฝัน"
ศรัณย์ สังขะตะวรรธน์ ผู้จัดการจีอี พลา-สติกส์ ประจำประเทศไทย กล่าว
ดังนั้นการขยายธุรกิจของจีอีจะให้ความสำคัญในเรื่องของเวลาและการตัดสินใจ
โดยเฉพาะในเรื่อง ของสถานที่ ประเทศ หรือผลิตภัณฑ์ ที่ถูกต้อง ถือได้ว่าองค์กรยักษ์ใหญ่แห่งนี้มีสายตากว้างไกล
เนื่องจาก สิ่งที่เขาเลือกมักจะถูกต้องและเป็นผู้ชนะเสมอ และการที่จีอีเลือกลงทุนในไทยครั้งนี้หมายความว่าไทยเป็นผู้ชนะ
ในหมู่ประเทศผู้แพ้ทั้งหลายในช่วงตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์เป็นต้นมา และจากการที่บริษัทข้ามชาติตัดสินใจลงทุนในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว
เชื่อว่าถ้ามีการลงทุนโดยตรงในอุตสาหกรรมมากขึ้นการฟื้นตัว ทางด้านเศรษฐกิจของไทยน่าจะเกิดขึ้นเร็วและเป็นจริง...แต่อย่าชะล่าใจ